Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แนวคิดวิวัฒนาการเกี่ยวกับความซึมเศร้า (อังกฤษ: Evolutionary approaches to depression) เป็นความพยายามของนักจิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการที่จะใช้ทฤษฎีวิวัฒนาการเพื่อเข้าใจปัญหาของความผิดปกติทางอารมณ์ (mood disorder) คือ แม้ว่าความซึมเศร้าจะพิจารณาว่าเป็นการทำหน้าที่ผิดปกติของร่างกาย แต่ว่า มันไม่ได้เพิ่มขึ้นตามอายุเหมือนกับความผิดปกติทางกายอื่นมักจะเป็น ดังนั้น นักวิจัยบางพวกจึงสันนิษฐานว่า ความผิดปกติมีรากฐานทางวิวัฒนาการ เหมือนกับทฤษฎีทางวิวัฒนาการของโรคอื่น ๆ รวมทั้งโรคจิตเภทและโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว แต่ว่าจิตวิทยาและจิตเวชโดยทั่วไปไม่ยอมรับคำอธิบายทางวิวัฒนาการของพฤติกรรม และดังนั้น คำอธิบายต่อไปนี้จึงเป็นเรื่องขัดแย้ง
โรคซึมเศร้าเป็นเหตุความพิการระดับแรก ๆ ทั่วโลก และในปี 2543 เป็นภาระโรค (ตาม DALY) เป็นอันดับ 4 ในบรรดาโรคต่าง ๆ และเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการฆ่าตัวตาย[1] จึงเข้าใจได้ว่าทำไมโรคซึมเศร้าจึงจัดเป็นโรค คือเป็นการทำหน้าที่ผิดปกติที่สำคัญของสมอง
แต่ว่า ในกรณีโดยมาก อัตราความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยมีอัตราต่ำในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ต้น ๆ และมีอัตราสูงสุดในคนสูงวัย.[2] รูปแบบเช่นนี้เข้ากับทฤษฎีทางวิวัฒนาการเกี่ยวกับการมีอายุมากขึ้น ซึ่งสมมุติว่า การคัดลักษณะสืบสายพันธุ์ที่ทำงานผิดปกติออกโดยธรรมชาติ จะลดลงตามอายุ เพราะว่ามีโอกาสน้อยลงเรื่อย ๆ ที่จะรอดชีวิตและมีอายุมากขึ้น
ตรงข้ามกับรูปแบบเช่นนี้ ความชุกของโรคซึมเศร้าสูงในทุกกลุ่มอายุ รวมทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่วัยต้นที่สุขภาพอย่างอื่นดีทุกอย่าง ยกตัวอย่างเช่น งานศึกษาประชากรสหรัฐงานหนึ่งพบว่า ความชุกในระหว่าง 12 เดือนของโรคสูงสุดในช่วงอายุที่ต่ำสุด คือ ระหว่าง 15-24 ปี[3] ความชุกระดับสูงของโรคซึมเศร้ายังเป็นเรื่องแปลกเทียบกับความชุกของความปัญญาอ่อน โรคออทิซึม และโรคจิตเภท ซึ่งมีความชุกเป็น 1 ใน 10 หรือน้อยยิ่งกว่านั้นเทียบกับโรคซึมเศร้า[4]
ความสามัญและความคงยืนของลักษณะสืบสายพันธุ์เช่นกับโรคซึมเศร้าที่มีผลลบมากในเบื้องต้นของชีวิตเป็นเรื่องยากที่จะอธิบาย แม้ว่าอัตราโรคติดเชื้อก็สูงในเยาวชนเหมือนกัน แต่ว่าโรคซึมเศร้าเชื่อว่าไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ จิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการ และการประยุกต์ใช้ในการแพทย์เชิงวิวัฒนาการ เสนอว่า พฤติกรรมและสภาพจิตรวมทั้งสภาวะที่ดูเหมือนจะเป็นโทษเช่นความซึมเศร้า อาจจะเป็นการปรับตัวที่มีประโยชน์ของบรรพบุรุษมนุษย์ ซึ่งช่วยเพิ่มความเหมาะสมของบุคคลหรือว่าของญาติ[5][6][7][8] เช่น มีการอ้างว่า ความซึมเศร้าชั่วชีวิตของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ อับราฮัม ลินคอล์น เป็นแหล่งความชาญฉลาดและความเข้มแข็งของเขา[9] มีกระทั่งนักวิชาการที่อ้างว่า "เราไม่ได้หมายให้มีความสุขเป็นปกติตามธรรมชาติ" และดังนั้น ภาวะความซึมเศร้าจึงเป็นเรื่องปกติทางวิวัฒนาการ[10]
สมมติฐานดังต่อไปนี้พยายามกำหนดประโยชน์ของความซึมเศร้าที่มีค่าสูงกว่าความเสียหายของมัน แต่ว่า สมมติฐานเหล่านี้ไม่ใช่ว่าต้องเข้ากันได้ และอาจจะอธิบายลักษณะ เหตุ และอาการของโรคซึมเศร้าต่าง ๆ กัน[11]
เหตุผลหนึ่งที่เชื่อว่าความซึมเศร้าเป็นโรคก็คือว่า มันเป็นเหตุของความเจ็บปวดและความเครียดทางใจอย่างยิ่ง แต่ความเจ็บปวดทางกายก็เป็นทุกข์เหมือนกัน ถึงกระนั้น มันก็ยังมีหน้าที่ทางวิวัฒนาการคือบอกสิ่งมีชีวิตว่า มันกำลังได้รับความเสียหาย เพื่อจูงใจให้ออกจากสถานการณ์นั้น และเรียนรู้เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ก่อความเสียหายในอนาคต
ตามสมมติฐานความเจ็บปวดทางใจ อารมณ์ซึมเศร้าคล้ายกับความเจ็บปวดทางกาย คือ มันบอกผู้ที่มีว่า สถานการณ์ปัจจุบันเช่นการเสียเพื่อน เป็นภัยต่อความเหมาะสมทางชีวภาพ ซึ่งจะจูงใจผู้ที่มีให้หยุดกิจกรรมที่นำมาสู่สถานการณ์เช่นนี้ และถ้าเป็นไปได้ ให้เรียนรู้หลีกเลี่ยงสถานการณ์เช่นเดียวกันในอนาคต
ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้มักจะเพ่งความสนใจไปที่อารมณ์หดหู่/ซึมเศร้า และพิจารณาโรคซึมเศร้าว่าเป็นส่วนสุดของอารมณ์ที่ทำหน้าที่ผิดปกติ และไม่ใช่เป็นลักษณะพิเศษที่ต่างหากจากอารมณ์ซึมเศร้า เพราะว่า นอกจากภาวะสิ้นยินดี ความเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้อื่นรวมทั้งการเคลื่อนไหวช้า การรับประทานและการนอนผิดปกติ การสูญอารมณ์ทางเพศ ล้วนแต่เป็นลักษณะการตอบสนองต่อความเจ็บปวดทางกายด้วย ในคนซึมเศร้า เขตสมองที่มีบทบาทรับรู้ความเจ็บปวดทางกาย เช่น anterior cingulate cortex และ prefrontal cortex ข้างซ้าย จะทำงานมากขึ้น ซึ่งทำให้สมองสามารถแสดงความคิดแบบลบที่เป็นนามธรรม เสมือนกับตัวก่อความเครียดทางกายต่อส่วนอื่น ๆ ของสมอง[12][13][14][15][16][17][18][19][20][21]
แบบจำลองหยุดพฤติกรรม (Behavioral shutdown model) อ้างว่า ถ้าสิ่งมีชีวิตเผชิญหน้ากับความเสี่ยงหรือค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ารางวัลที่ได้จากกิจกรรมนั้น ๆ กลยุทธ์ทางวิวัฒนาการที่ดีที่สุดอาจจะเป็นการถอนตัวออกจากสถานการณ์นั้น ๆ แบบจำลองนี้เสนอว่าความเจ็บปวดทางใจ โดยเหมือนกับความเจ็บปวดทางกาย ทำหน้าที่ให้มีการปรับตัวที่มีประโยชน์ อารมณ์ไม่ดีต่าง ๆ รวมทั้ง ความผิดหวัง ความเศร้า ความโศก ความกลัว ความวิตกกังวล ความโกรธ และความรู้สึกผิดอธิบายว่าเป็น "กลยุทธ์ทางวิวัฒนาการที่ช่วยให้ระบุและหลีกเลี่ยงปัญหาเฉพาะอย่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องทางสังคม" ความซึมเศร้ามีลักษณะสัมพันธ์กับภาวะสิ้นยินดีและการไม่มีแรง และผู้ที่มีจะเลี่ยงทำอะไรเสี่ยง และมองอะไรในเชิงลบในแง่ร้ายมากกว่า เพราะว่าต้องป้องกันความเสียหายเพิ่มขึ้น แม้ว่าแบบจำลองนี้จะมองความซึมเศร้าว่าเป็นปฏิกิริยาแบบปรับตัว แต่ไม่ได้แสดงว่า เป็นประโยชน์ในสังคมทุกวันนี้ และแสดงว่า วิธีการรักษาความซึมเศร้าแก้อาการแทนเหตุ และจำเป็นต้องแก้ปัญหาสังคมที่เป็นเหตุ[22]
ปรากฏการณ์ที่สัมพันธ์กับแบบจำลองนี้ก็คือ ความรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้แบบเรียนรู้ (learned helplessness) ในสัตว์ทดลอง การมีประสบการณ์สูญการควบคุมหรือพยากรณ์เหตุการณ์ได้ มีผลเป็นสภาวะที่คล้ายกับโรคซึมเศร้าในมนุษย์ ซึ่งก็คือ ถ้าตัวก่อความเครียดที่ควบคุมไม่ได้และหยุดไม่ได้ เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลาเพียงพอ หนูทดลองจะมีลักษณะรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้แบบเรียนรู้ ซึ่งแชร์ลักษณะทางพฤติกรรมและทางจิตกับความซึมเศร้าในมนุษย์ สัตว์ทดลองจะไม่พยายามรับมือกับปัญหา แม้ว่าจะย้ายให้ไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ไร้ตัวก่อความเครียด และถ้าจะพยายามนาน ๆ ครั้งเพื่อรับมือปัญหาที่สำเร็จผลในสถานการณ์ใหม่ ตัวขัดขวางทางความรู้คิดที่คงยืนโดยระยะยาวจะป้องกันไม่ให้เห็นการกระทำนั้นว่ามีประโยชน์ และกลยุทธ์การรับมือเช่นนั้นก็จะไม่ทำนาน จากมุมมองทางวิวัฒนาการ ความรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้แบบเรียนรู้ช่วยเก็บแรงไว้ ซึ่งช่วยเมื่อมนุษย์อยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ เช่นความเจ็บป่วย หรือฤดูแล้ง แต่ว่า สำหรับมนุษย์ปัจจุบันที่ความซึมเศร้าปรากฏเหมือนความรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้แบบเรียนรู้ ก็จะปรากฏเป็นการเสียแรงจูงใจและการบิดเบือนด้านชีวิตที่ควบคุมไม่ได้ด้านหนึ่งให้กลายเป็นตัวแทนของชีวิตทุกด้าน เป็นเรื่องเหตุที่มีจริง ๆ กับผลทางใจที่ไม่สมเหตุผล[23]
สมมติฐานนี้เสนอว่า ความซึมเศร้าเป็นการปรับตัวที่ให้ตั้งความใส่ใจสนใจต่อปัญหาที่ซับซ้อนเพื่อจะวิเคราะห์และแก้ไข[24]
วิธีหนึ่งที่ความซึมเศร้าเพิ่มความสนใจในปัญหา ก็คือก่อความครุ่นคิด ความซึมเศร้าทำให้เกิดการทำงานใน ventrolateral prefrontal cortex (PFC ส่วนล่างด้านข้าง) ฝั่งซ้าย ซึ่งเพิ่มการควบคุมการใส่ใจ และรักษาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาในความจำใช้งาน (working memory) และดังนั้น คนซึมเศร้าจึงครุ่นคิดพิจารณาถึงเหตุผลของปัญหาปัจจุบัน ความรู้สึกผิดหรือเสียดายที่สัมพันธ์กับความซึมเศร้าก็ทำให้พิจารณาและวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีตเพื่อกำหนดว่าทำไมจึงเกิดขึ้น และทำอย่างไรจึงจะป้องกันได้[24] แต่ว่า การครุ่นคิดเพิ่มโอกาสให้เกิดความซึมเศร้า[25]
อีกวิธีหนึ่งที่ความซึมเศร้าเพิ่มสมรรถภาพในการสนใจต่อปัญหาก็คือลดตัวกวนสมาธิ ยกตัวอย่างเช่น ภาวะสิ้นยินดีที่บ่อยครั้งสัมพันธ์กับความซึมเศร้า ลดความต้องการที่จะร่วมกิจกรรมที่ให้รางวัลในระยะสั้น และช่วยให้ตั้งความสนใจที่เป้าหมายระยะยาว นอกจากนั้นแล้ว ความเปลี่ยนแปลงทางจิต-การเคลื่อนไหวอื่น ๆ เช่น การชอบอยู่คนเดียว การลดความอยากอาหาร และการนอนไม่หลับ ก็ช่วยลดตัวกวนสมาธิด้วย ยกตัวอย่างเช่น การนอนไม่หลับช่วยให้คิดวิเคราะห์ปัญหา โดยไม่ให้การนอนขัดจังหวะกระบวนการเช่นนั้น เช่นเดียวกัน การชอบอยู่คนเดียว การไม่ทำอะไร ๆ และการไม่อยากอาหารล้วนแต่กำจัดตัวกวนสมาธิ เช่น ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การต้องหาทางไปที่ต่าง ๆ[24] และการพูดจา ซึ่งล้วนแต่เป็นตัวขัดจังหวะสิ่งต้องพิจารณา[26]
ความซึมเศร้า โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบัน อาจจะไม่ใช่เป็นการปรับตัวที่ดี แม้ว่าสมรรถภาพในการรู้สึกเจ็บหรือประสบกับความซึมเศร้า จริง ๆ เป็นกลไกป้องกันตัวที่เป็นการปรับตัว[27] เพราะว่าเมื่อ "จุดชนวนง่ายเกินไป รุนแรงไป หรือคงยืนอยู่นาน" ก็จะกลายเป็น "สิ่งที่ควบคุมได้ไม่ดี"[27] ในกรณีเช่นนี้ แม้กลไกป้องกันตัวก็สามารถกลายเป็นโรคได้ เช่น "ความเจ็บปวดที่ยาวนานและการเสียน้ำ จากอาการท้องร่วง" ความซึมเศร้า ซึ่งอาจจะเป็นกลไกป้องกันตัวคล้าย ๆ กัน อาจกลายเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ไม่ดีเช่นกัน[28]
ดังนั้น โดยไม่เหมือนกับทฤษฎีทางวิวัฒนาการอื่น ๆ ทฤษฎีนี้มองความซึมเศร้าว่าเป็นการปรับตัวสุดขั้วแบบผิดพลาด เป็นอะไรที่มีประโยชน์ถ้ามีน้อยกว่า โดยเฉพาะก็คือ ทฤษฎีหนึ่งพุ่งความสนใจไปที่ลักษณะบุคลิกภาพ neuroticism (ความไม่เสถียรทางอารมณ์) คือ ระดับ neuroticism ที่ต่ำอาจเพิ่มความเหมาะสมของบุคคลในกระบวนการต่าง ๆ แต่ที่มากเกินไปอาจลดความเหมาะสม เช่น โรคซึมเศร้าที่ซ้ำ ๆ ดังนั้น กระบวนการวิวัฒนาการก็จะคัดเลือกปริมาณที่ดีที่สุด และคนโดยมากจะมี neuroticism ใกล้ ๆ ระดับนี้ แต่ว่า ความแตกต่างทางพันธุกรรมเกิดขึ้นใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา และดังนั้น บางคนก็จะมี neuroticism ในระดับสูงซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อความซึมเศร้า[11]
ทฤษฎีลำดับชั้น (Rank theory) เป็นสมมติฐานว่า ถ้าบุคคลกำลังต่อสู้เพื่อลำดับฐานะในสังคมและกำลังแพ้อย่างชัดเจน ความซึมเศร้าจะทำให้บุคคลนั้นยอมจำนน แล้วยอมรับฐานะที่ด้อยกว่า การทำเช่นนี้ป้องกันไม่ให้บุคคลเสียหายอย่างไม่จำเป็น ในกรณีนี้ ความซึมเศร้าจะช่วยรักษาลำดับชั้นทางสังคม ทฤษฎีนี้เป็นกรณีพิเศษของทฤษฎีที่กว้าง ๆ กว่าที่สืบมาจากสมมติฐานความเจ็บปวดทางใจ (psychic pain hypothesis) ว่า ปฏิกิริยาทางการรู้คิดที่ก่อความซึมเศร้าในปัจจุบันมาจากกลไกที่ช่วยให้มนุษย์ประเมินว่าตนกำลังพยายามวิ่งหาเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้หรือไม่ และถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะช่วยจูงใจให้เลิก[14][29]
สมมติฐานนี้คล้ายกับทฤษฎีลำดับชั้นทางสังคม แต่ให้ความสำคัญต่อการหลีกเลี่ยงการถูกกีดกันออกจากลุ่มสังคม แทนเรื่องการต่อสู้เพื่อสถานะทางสังคม ประโยชน์ทางความเหมาะสมในการสร้างความสัมพันธ์แบบช่วยเหลือกันและกัน เป็นเรื่องที่ชัดเจนมานานแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยไพลสโตซีน การช่วยเหลือกันและกันเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อออกหาอาหารและได้การป้องกันจากสัตว์ล่าเหยื่อ[11]
ดังนั้น ความซึมเศร้าจึงมองว่า เป็นปฏิกิริยาปรับตัวที่เลี่ยงความเสี่ยงการถูกกีดกันจากสังคม ที่จะมีผลวิกฤติต่อความสำเร็จในการอยู่รอดและการสืบพันธุ์ของบรรพบุรุษมนุษย์ หลักฐานทางกลไกและทางปรากฏการณ์วิทยาของความซึมเศร้าแสดงว่า ภาวะซึมเศร้าจากอ่อนไปถึงกลาง (หรือว่า ภาวะ "บรรทัดฐาน") ช่วยรักษาความยอมรับทางสังคมผ่านลักษณะที่คาบกัน 3 อย่าง คือ
ตามมุมมองนี้ กรณีรุนแรงของโรคซึมเศร้าที่กำหนดโดยเกณฑ์วินิจฉัยทางคลินิก สะท้อนถึงกลไกที่เกิดการปรับตัวผิดหรือควบคุมได้ไม่ดี ซึ่งอาจจะมีเหตุโดยส่วนหนึ่งจากความไม่แน่นอนและการแข่งขันในโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน
เหตุผลอีกอย่างที่ความซึมเศร้าเชื่อว่าเป็นโรคก็เพราะว่าอาการหลักบางอย่าง เช่น การสูญความสนใจในกิจกรรมทุกอย่าง มีราคาสูงมากสำหรับผู้ที่มี แต่นักชีววิทยาและนักเศรษฐศาสตร์ได้เสนอว่า การส่งสัญญาณที่มีราคาสูงสามารถส่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เมื่อมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ในเหตุการณ์ไม่ดีแบบรุนแรงในชีวิตดังเช่นที่เกี่ยวข้องกับความซึมเศร้า (เช่น ความตาย การหย่าร้าง) สัญญาณเรื่องความจำเป็น/ความต้องการที่มีราคาน้อย เช่นการร้องไห้ อาจไม่ได้รับความเชื่อถือถ้าคนอื่น ๆ ในสังคมมีผลประโยชน์ที่ขัดกัน
อาการของโรคซึมเศร้า เช่น การสูญความสนใจในกิจกรรมทุกอย่างและความคิดพฤติกรรมฆ่าตัวตาย เป็นสิ่งที่มีราคาสูง แต่เป็นดังที่ทฤษฎีการส่งสัญญาณราคาแพงกำหนด และราคาจะแตกต่างกันสำหรับบุคคลที่อยู่ในภาวะต่าง ๆ และสำหรับบุคคลที่ไม่จำเป็นต้องได้การช่วยเหลือจริง ๆ ราคาทางความเหมาะสมของโรคซึมเศร้าสูงมากเพราะว่าเป็นภัยต่อประโยชน์ที่กำลังได้อยู่แล้ว แต่สำหรับบุคคลที่จำเป็นจริง ๆ ราคาทางความเหมาะสมของโรคจัดว่าต่ำ เพราะว่าบุคคลไม่ได้ประโยชน์อะไรมากมายอยู่แล้ว ดังนั้น บุคคลที่จำเป็นอย่างแท้จริงเท่านั้นที่จะสามารถสู้ราคาของโรคซึมเศร้าได้ ดังนั้น โรคซึมเศร้าจึงทำหน้าที่ส่งสัญญาณเกี่ยวกับความจำเป็นที่จริงใจและเชื่อถือได้
ยกตัวอย่างเช่น บุคคลที่กำลังทุกข์เพราะการสูญเสียอย่างรุนแรง เช่น การเสียชีวิตของคู่สมรส บ่อยครั้งจำเป็นต้องได้ความช่วยเหลือจากคนอื่น ทฤษฎีพยากรณ์ว่า บุคคลดังกล่าวที่มีความขัดแย้งไม่มากกับบุคคลอื่นในสังคมจะประสบเพียงแค่ความเศร้าโศกเสียใจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นวิธีส่งสัญญาณต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่น เทียบกับการพยากรณ์ว่า บุคคลที่ขัดแย้งกับบุคคลอื่น ๆ มากในสังคม จะประสบถึงโรคซึมเศร้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นวิธีส่งสัญญาณ "อย่างเชื่อถือได้" ถึงความจำเป็นจะได้ความช่วยเหลือจากคนอื่นผู้อาจตั้งข้อสงสัย[31][32]
ความซึมเศร้าไม่ใช่มีราคาสูงต่อผู้มีเท่านั้น แต่เป็นภาระสำคัญต่อครอบครัว เพื่อน และสังคมทั่วไป ซึ่งเป็นเหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่มองภาวะว่าเป็นโรค และถ้าผู้ซึมเศร้ามีความจำเป็น/ความต้องการที่ยังไม่ได้รับ ก็อาจจะต้องให้แรงจูงใจกับบุคคลอื่นเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
ทฤษฎีการต่อรอง (Bargaining theory) เรื่องความซึมเศร้าคล้ายกับทฤษฎีการส่งสัญญาณอย่างจริงใจ และทฤษฎีการเปลี่ยนสถานะ (niche change) หรือการหาหนทางทางสังคม (social navigation) ซึ่งจะเป็นทฤษฎีที่กล่าวต่อไป เป็นทฤษฎีที่สืบมาจากทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการนัดหยุดงาน โดยเพิ่มองค์อีกอย่างหนึ่งต่อทฤษฎีการส่งสัญญาณอย่างจริงใจ คือความเหมาะสมของผู้ที่เป็นหุ้นส่วนทางสังคมโดยทั่วไปจะสัมพันธ์กัน
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อภรรยาเกิดความซึมเศร้าและให้ความสนใจต่อลูกน้อยลง ความเหมาะสมของสามีก็จะเกิดความเสี่ยงด้วย ดังนั้น อาการโรคซึมเศร้าไม่เพียงแต่เป็นสัญญาณต้องการความช่วยเหลือที่มีราคาสูงที่แสดงถึงความจริงใจ แต่ยังเป็นแรงกดดันหุ้นส่วนทางสังคมให้ตอบสนองต่อความจำเป็นเพื่อป้องกันความเหมาะสมของตนเองไม่ให้ลดลง[19][31][33]
สมมติฐานการเปลี่ยนวิถีชีวิตเฉพาะ (niche change hypothesis) และการหาทางทางสังคม (social navigation hypothesis)[32][34] รวมสมมติฐานการครุ่นคิดเพื่อวิเคราะห์และสมมติฐานการต่อรองโดยเสนอว่า ความซึมเศร้า ที่กำหนดทางปฏิบัติการว่าเป็นอาการผสมของภาวะสิ้นยินดี และการเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้าหรือความไม่สงบทางกายใจ เป็นระยะเวลานาน ช่วยให้เห็นข้อบังคับทางสังคมที่ขัดขวางโปรเจ็กต์เพิ่มความเหมาะสมที่สำคัญของตนอย่างชัดเจน
ในขณะเดียวกัน การแสดงอาการโรคให้เห็น ซึ่งลดสมรรถภาพของคนซึมเศร้าในการทำกิจพื้นฐานของชีวิตประจำวัน ก็เป็นตัวส่งสัญญาณทางสังคมเกี่ยวกับความจำเป็นหรือความต้องการ โดยมีราคาสูงซึ่งเป็นตัวบ่งความจริงใจ และท้ายสุด สำหรับหุ้นส่วนทางสังคม (เช่นสามีภรรยา) ที่คิดว่า ไม่คุ้มที่จะตอบสนองต่อความต้องการ อาการซึมเศร้ายังมีศักยภาพช่วยเคี่ยวเข็ญเอาสิ่งที่ต้องยอมให้หรือประนีประนอมให้ อำนาจอันยิ่งใหญ่ของความซึมเศร้าอยู่ที่มันช่วยลดสิ่งของและบริการที่ผู้ซึมเศร้าต้องให้กับหุ้นส่วนเนื่องจากข้อตกลงทางสังคม-เศรษฐกิจที่มีอยู่ก่อนแล้ว
ดังนั้น ความซึมเศร้าอาจจะเป็นการปรับตัวทางสังคมที่มีประโยชน์โดยเฉพาะในการจูงใจหุ้นส่วนทางสังคมต่าง ๆ พร้อม ๆ กันเพื่อช่วยผู้ซึมเศร้าให้เริ่มความเปลี่ยนแปลงเพิ่มความเหมาะสมที่สำคัญในชีวิตด้านสังคม-เศรษฐกิจ มีสถานการณ์มากมายที่นี่อาจจะจำเป็นในชีวิตสังคมมนุษย์ เริ่มตั้งแต่การสูญเสียสถานะหรือพันธมิตรคนสำคัญที่ทำให้วิถีชีวิตแบบเฉพาะ (niche) ในปัจจุบันให้ผลตอบแทนน้อยเกินไป จนกระทั่งถึงการมีไอเดียใหม่ ๆ เพื่อเลี้ยงชีพ ที่จำเป็นต้องมีวิถีชีวิตเฉพาะแบบใหม่
ส่วนสมมติฐานการหาทางทางสังคมเน้นว่า มนุษย์สามารถติดกับอยู่ในเครือข่ายสัญญาการให้และการรับที่จำกัดเกินไป และบางครั้ง นี้จำเป็นต้องเปลี่ยนโดยพื้นฐานมากเกินไปที่จะคุยกันตามธรรมดาได้ และในการรักษาความซึมเศร้า สมมติฐานนี้ตั้งความสงสัยในข้อสมมุติของผู้รักษาว่า เหตุปกติของความซึมเศร้าสัมพันธ์กับกระบวนการความคิดที่บิดเบือนความจริงโดยเป็นการปรับตัวผิด หรือมาจากเรื่องภายในล้วน ๆ อื่น สมมติฐานจึงเรียกร้องให้วิเคราะห์พรสวรรค์และความฝันของผู้ซึมเศร้าแทน และให้กำหนดข้อจำกัดทางสังคมที่เกี่ยวข้อง (โดยเฉพาะในมุมมองกว้าง ๆ ไม่ใช่เป็นประเด็นเดี่ยว ๆ) แล้วจึงบำบัดโดยให้ฝึกแก้ปัญหาทางสังคมที่ทำได้จริง ๆ เป็นการบำบัดที่ออกแบบเพื่อคลายข้อจำกัดเหล่านั้นพอที่จะให้ผู้ซึมเศร้าก้าวต่อไปในชีวิตภายใต้สัญญาทางสังคมที่ดีกว่าเดิมได้[32][34] แต่ว่าทฤษฎีนี้สร้างข้อขัดแย้งมาก[20]
มีสมมติฐานว่า ความซึมเศร้าเป็นการปรับตัวทางวิวัฒนาการเพราะว่ามันช่วยป้องกันการติดเชื้อสำหรับทั้งผู้ซึมเศร้าและญาติ[35][36]
เบื้องต้นก็คือ อาการของความซึมเศร้า เช่น การไม่ทำอะไรและความเฉื่อยชา สนับสนุนผู้มีให้พักผ่อน แรงที่เก็บโดยวิธีเช่นนี้สำคัญมาก เพราะว่าการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านการติดเชื้อมีราคาค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างเช่น จะต้องมีเมแทบอลิซึมที่เพิ่มขึ้นถึง 10% แค่จะเปลี่ยนอุณหภูมิร่างกายเพียง 1℃ (ที่เป็นการตอบสนองต่อการติดเชื้อ)[37] ดังนั้น ความซึมเศร้าจึงช่วยให้รักษาและให้พลังงานแก่ระบบภูมิคุ้มกันอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้นแล้ว ความซึมเศร้ายังป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้นโดยไม่สนับสนุนให้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมหรือกิจกรรมที่อาจมีผลเป็นการแลกเปลี่ยนการติดเชื้อ ยกตัวอย่างเช่น การสูญความสนใจในกิจกรรมทางเพศจะป้องกันไม่ให้แลกเปลี่ยนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และคล้ายคลึงกัน มารดาที่ซึมเศร้าอาจจะปฏิสัมพันธ์กับลูก ๆ ของตนน้อยกว่า และลดโอกาสที่ลูกจะติดเชื้อจากมารดา[35] และอย่างสุดท้ายก็คือ การไร้ความอยากอาหารที่สัมพันธ์กับความซึมเศร้าอาจลดการได้ปรสิตจากอาหาร[35]
แต่ว่า ควรจะสังเกตว่า ความเจ็บป่วยแบบเรื้อรังอาจจะมีส่วนเป็นเหตุของความซึมเศร้า ในสัตว์ทดลอง ปฏิกิริยารุนแรงเกินไปของระบบภูมิคุ้มกันเป็นระยะเวลายาวต่อโรคเรื้อรัง มีผลเป็นการผลิตโปรตีน cytokines ระดับสูงขึ้น ซึ่งเป็นตัวควบคุมฮอร์โมนและเป็นโมเลกุลส่งสัญญาณในเซลล์ และปฏิสัมพันธ์กับระบบประสาทที่ใช้สารสื่อประสาทนอร์เอพิเนฟริน โดพามีน และเซโรโทนิน โดยปรากฏเป็นอาการซึมเศร้า การเริ่มต้นของโรคอาจช่วยให้บุคคลฟื้นสภาพจากความเจ็บป่วยโดยทำให้มีวิถีชีวิตที่สงวนตัว ปลอดภัย และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การผลิต cytokines มากเกินระดับที่ดีที่สุดเพื่อตอบสนองโรคเรื้อรังที่เกิดซ้ำ ๆ อาจมีผลเป็นโรคซึมเศร้าและอาการปรากฏทางพฤติกรรมที่โปรโหมตการเก็บรักษาแรง/พลังงานแบบสุด ๆ[38]
สมมติฐานโพรงสมองที่สาม (third ventricle hypothesis) เกี่ยวกับความซึมเศร้าเสนอว่า ชุดพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับความซึมเศร้า (ยืนนั่งอย่างค่อม ๆ การหลีกเลี่ยงการมองตา ความอยากอาหารและเพศสัมพันธ์ที่น้อยลง บวกกับการแยกตัวจากสังคมและการนอนไม่หลับ) ลดสิ่งเร้าที่ชวนให้โจมตีบุคคลซึมเศร้า ในสถานการณ์ทางสังคมที่ไม่เป็นมิตรอย่างเรื้อรัง[39][40][41] และเสนอต่อไปว่า ปฏิกิริยานี้อำนวยโดยการปล่อยสารก่อความอักเสบที่ยังไม่รู้ (น่าจะเป็น cytokine) เข้าไปในโพรงสมองที่สาม หลักฐานที่สนับสนุนแนวคิดเป็นงานศึกษาโดยสร้างภาพในสมอง ที่แสดงโพรงสมองที่สามที่ขยายใหญ่ขึ้นในคนซึมเศร้า[42][43] ซึ่งเป็นตัวชี้ความเสียหายของโครงสร้างประสาทที่อยู่รอบ ๆ โพรงสมอง[44]
จิตวิทยาและจิตเวชคลินิกโดยประวัติแล้วไม่ยอมรับจิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการ[45] จิตแพทย์บางท่านเป็นห่วงว่า นักจิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการพยายามอธิบายความได้เปรียบในการปรับตัวที่ซ่อนเร้น โดยไม่พยายามทำการทดลองเพื่อแสดงหลักฐานอย่างจริงจังในการสนับสนุนข้ออ้างต่าง ๆ[45][46]
แม้ว่าจะมีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมและโรคอารมณ์สองขั้วและโรคจิตเภท แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงอย่างยังไม่ยุติภายในวงการจิตวิทยาคลินิกถึงอิทธิพลและบทบาทอำนวยของปัจจัยทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม[47] ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยทางวิทยาการระบาดแสดงว่า กลุ่มวัฒนธรรมต่าง ๆ อาจมีอัตราวินิจฉัยโรค อาการ และการแสดงออกของความเจ็บป่วยทางจิตใจที่แตกต่างกัน[48] และก็ยังมีการยอมรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับความผิดปกติที่จำกัดเฉพาะต่อวัฒนธรรม[48][49] ซึ่งสามารถมองได้ว่า เป็นความขัดแย้งกันระหว่างแนวคิดเรื่องการปรับตัวทางสิ่งแวดล้อมกับการปรับตัวทางจิตพันธุกรรม[50]
แม้ว่าความผิดปกติทางจิตจะมีลักษณะที่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นการปรับตัวในกระบวนการวิวัฒนาการ แต่โรคเหล่านี้ก็ยังเป็นเหตุแห่งความทุกข์ทางใจอย่างสำคัญต่อบุคคล และมีผลลบต่อเสถียรภาพของความสัมพันธ์ทางสังคม และการทำกิจในชีวิตประจำวันที่เป็นการปรับตัวที่ดี[51]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.