Remove ads
เรือเดินสมุทรชั้นโอลิมปิก จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เอชเอ็มเอชเอส บริแทนนิก (อังกฤษ: HMHS Britannic; /brɪˈtænɪk/) เดิมคือ อาร์เอ็มเอส บริแทนนิก (อังกฤษ: RMS Britannic) เป็นเรือเดินสมุทรสัญชาติอังกฤษลำที่สามและลำสุดท้ายในกลุ่มเรือเดินสมุทรชั้นโอลิมปิกของสายการเดินเรือไวต์สตาร์ และเป็นเรือลำที่สองของบริษัทที่ใช้ชื่อบริแทนนิก เรือลำนี้เป็นเรือฝาแฝดของอาร์เอ็มเอส โอลิมปิกและไททานิก เดิมทีมีจุดประสงค์ให้เป็นเรือโดยสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก แต่ต่อมาได้ถูกดัดแปลงเป็นเรือพยาบาลในปี ค.ศ. 1915 จนกระทั่งอับปางลงใกล้กับเกาะเคีย ในทะเลเอเจียน ประเทศกรีซ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1916 ซึ่งขณะนั้นเรือลำนี้ถือเป็นเรือพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เรือพยาบาลหลวง (เอชเอ็มเอชเอส) บริแทนนิก | |
ประวัติ | |
---|---|
สหราชอาณาจักร | |
ชื่อ | เอชเอ็มเอชเอส บริแทนนิก (HMHS Britannic) |
เจ้าของ | ไวต์สตาร์ไลน์ |
ผู้ให้บริการ | ราชนาวี |
ท่าเรือจดทะเบียน | ลิเวอร์พูล, สหราชอาณาจักร |
Ordered | 1911 |
อู่เรือ | ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ, เบลฟาสต์, ไอร์แลนด์เหนือ |
Yard number | 433[1] |
ปล่อยเรือ | 30 พฤศจิกายน 1911 |
เดินเรือแรก | 26 กุมภาพันธ์ 1914 |
สร้างเสร็จ | 12 ธันวาคม 1915 |
บริการ | 23 ธันวาคม 1915 |
หยุดให้บริการ | 21 พฤศจิกายน 1916 |
ความเป็นไป | อับปางหลังจากชนกับทุ่นระเบิดใต้น้ำที่ตั้งโดยเรือดำน้ำ SM U-73 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 ใกล้กับเกาะเคีย ในทะเลอีเจียน 37°42′05″N 24°17′02″E |
ลักษณะเฉพาะ | |
ชั้น: | โอลิมปิก |
ขนาด (ตัน): | 48,158 ตันกรอส |
ขนาด (ระวางขับน้ำ): | 53,200 ตัน |
ความยาว: | 882 ฟุต 9 นิ้ว (269.1 เมตร) |
ความกว้าง: | 94 ฟุต (28.7 เมตร) |
ความสูง: | 175 ฟุต (53 เมตร) จากกระดูกงูเรือถึงปลายปล่องไฟ |
กินน้ำลึก: | 34 ฟุต 7 นิ้ว (10.5 เมตร) |
ความลึก: | 64 ฟุต 6 นิ้ว (19.7 เมตร) |
ดาดฟ้า: | 10 |
ระบบพลังงาน: |
|
ระบบขับเคลื่อน: | 3 × ใบจักร ทำจากสัมฤทธิ์ สองเพลานอกมีสามพวง ไม่มีครอบดุม ส่วนเพลากลางมีสี่พวง มีกรวยครอบดุม |
ความเร็ว: |
|
ความจุ: | 3,309 |
บริแทนนิกถูกปล่อยลงน้ำไม่นานก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจะปะทุขึ้น เรือลำนี้ถูกออกแบบมาให้ปลอดภัยที่สุดในบรรดาเรือทั้งสามลำ โดยมีการปรับเปลี่ยนการออกแบบระหว่างการก่อสร้างจากบทเรียนที่ได้จากการอับปางของเรือไททานิก เรือถูกเก็บไว้ที่อู่เรือของฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟในเบลฟาสต์เป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะถูกเรียกตัวให้รับราชการเป็นเรือพยาบาลในปี ค.ศ. 1915 และ 1916 โดยให้บริการระหว่างสหราชอาณาจักรและดาร์ดะเนลส์
เช้าวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 บริแทนนิกได้ชนกับทุ่นระเบิดใต้น้ำของกองทัพเรือจักรวรรดิเยอรมันใกล้กับเกาะเคีย ประเทศกรีซ และอับปางลงหลังจากนั้นเพียง 55 นาที ทำให้มีผู้เสียชีวิต 30 คนจากจำนวนผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 1,066 คน ต่อมาผู้รอดชีวิตทั้ง 1,036 คนถูกช่วยเหลือขึ้นจากน้ำและเรือชูชีพ บริแทนนิกจึงเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดที่อับปางในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[3]
หลังจบสงคราม ไวต์สตาร์ไลน์ได้รับการชดเชยจากการสูญเสียบริแทนนิกด้วยการมอบเรือเอสเอส บิสมาร์ค (SS Bismarck) ให้เป็นส่วนหนึ่งของการค่าปฏิกรรมสงคราม และต่อมาได้นำเรือลำนี้เข้าประจำการในนามอาร์เอ็มเอส มาเจสติก (RMS Majestic)
ซากเรือถูกค้นพบและสำรวจโดยฌัก กุสโต ในปี ค.ศ. 1975 เรือลำนี้เป็นเรือโดยสารขนาดใหญ่ที่สมบูรณ์ที่สุดที่จมอยู่ใต้ทะเลในโลก[4] ต่อมาในปี ค.ศ. 1996 เรือลำนี้ถูกซื้อโดยไซมอน มิลส์ นักประวัติศาสตร์ทางทะเล และยังคงเป็นเจ้าของอยู่ในปัจจุบัน
บริแทนนิกมีขนาดเดิมใกล้เคียงกับเรือแฝดทั้งสองลำ แต่ขนาดของมันถูกปรับเปลี่ยนขณะยังอยู่ในระหว่างการสร้างหลังจากเกิดเหตุการณ์เรือไททานิกอับปาง ด้วยระวางบรรทุกรวม 48,158 ตัน บริแทนนิกจึงมีพื้นที่ภายในมากกว่าเรือแฝด แต่ก็ยังไม่ถือเป็นเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น เพราะเรือเอสเอส วาเทอร์แลนด์ (SS Vaterland) ของเยอรมันถือครองตำแหน่งนี้อยู่ด้วยระวางบรรทุกรวมที่สูงกว่าอย่างมาก[5]
เรือชั้นโอลิมปิกขับเคลื่อนด้วยระบบผสมผสานของเครื่องจักรไอน้ำแบบขยายแรงดันสามช่วง 2 เครื่อง ซึ่งขับเคลื่อนใบจักรซ้ายและขวาโดยตรง กับกังหันไอน้ำแรงดันต่ำที่ใช้ไอน้ำที่ระบายออกมาจากเครื่องจักรลูกสูบทั้งสองเครื่องเพื่อขับเคลื่อนใบจักรกลาง ทำให้เรือสามารถแล่นได้เร็วสุดที่ 23 นอต[6]
บริแทนนิกมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับเรือแฝดของตน แต่หลังจากเกิดภัยพิบัติของเรือไททานิกและการสอบสวนที่ตามมา ก็มีการเปลี่ยนแปลงการออกแบบหลายอย่างในเรือชั้นโอลิมปิกที่เหลือ สำหรับบริแทนนิก การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำก่อนการเปิดตัวตัวเรือได้แก่ การเพิ่มความกว้างของตัวเรือเป็น 94 ฟุต (29 เมตร) เพื่อสร้างตัวเรือสองชั้นบริเวณห้องเครื่องยนต์และห้องหม้อไอน้ำ และการยกผนังกั้นห้อง 6 แนวจากทั้งหมด 15 แนวขึ้นมาถึงดาดฟ้า B นอกจากนี้ยังได้เพิ่มขนาดของกังหันไอน้ำเป็น 18,000 แรงม้า (13,000 กิโลวัตต์) จากเดิมที่เป็น 16,000 แรงม้า (12,000 กิโลวัตต์) ที่ติดตั้งในเรือลำก่อนเพื่อชดเชยการเพิ่มความกว้างของตัวเรือ ห้องผนึกน้ำบริเวณกลางเรือได้รับการปรับปรุง ทำให้เรือยังสามารถลอยน้ำได้แม้จะมีน้ำท่วมถึง 6 ห้อง[7]
การเปลี่ยนแปลงภายนอกที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการติดตั้งโครงเหล็กปล่อยเรือชูชีพขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "เดวิทแบบโครงเหล็ก" (gantry davit) ซึ่งขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า แต่ละตัวสามารถปล่อยเรือชูชีพได้ 6 ลำซึ่งเก็บไว้บนโครงเหล็กดังกล่าว โดยเรือถูกออกแบบมาให้มีทั้งหมด 8 ตัว แต่มีการติดตั้งจริงเพียง 5 ตัวเท่านั้นก่อนที่บริแทนนิกจะเข้าประจำการในสงคราม ส่วนที่เหลือจึงใช้เดวิทแบบเวลิน (welin-type davit) ซึ่งบังคับด้วยมือเช่นเดียวกับไททานิกและโอลิมปิก[8][9]
เรือชูชีพเพิ่มเติมสามารถเก็บไว้ใกล้กับเดวิทบนหลังคาห้องพักลูกเรือได้ และเดวิทแบบโครงเหล็กสามารถยื่นไปถึงเรือชูชีพอีกฝั่งหนึ่งของเรือได้หากไม่มีปล่องไฟใดบัง การออกแบบนี้จะทำให้สามารถปล่อยเรือชูชีพทั้งหมดได้แม้ว่าเรือจะเอียงจนไม่สามารถปล่อยเรือชูชีพฝั่งตรงข้ามกับด้านที่เอียงได้ก็ตาม แต่ในความเป็นจริงเดวิทแบบโครงเหล็กหลายตัวถูกติดตั้งใกล้กับปล่องไฟ ทำให้จุดประสงค์นี้เป็นไปไม่ได้ ลิฟต์ซึ่งเดิมหยุดที่ดาดฟ้า A สามารถขึ้นไปถึงดาดฟ้าเรือบดได้แล้ว[10] เรือลำนี้มีเรือชูชีพทั้งหมด 48 ลำ โดยแต่ละลำสามารถจุคนได้อย่างน้อย 75 คน ดังนั้นเรือชูชีพทั้งหมดจึงสามารถจุคนได้อย่างน้อย 3,600 คนซึ่งสูงกว่าความจุสูงสุดของเรือที่ 3,309 คน
ในปี ค.ศ. 1907 เจ. บรูซ อิสเมย์ ผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัทไวต์สตาร์ และลอร์ดพีร์รี ประธานคณะกรรมการอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ ในเบลฟาสต์ ได้ตัดสินใจสร้างเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ 3 ลำที่มีขนาดใหญ่โตเกินกว่าใครจะเทียบได้ เพื่อแข่งขันกับเรือลูซิเทเนียและมอริเทเนียของบริษัทคูนาร์ดโดยไม่ได้เน้นเรื่องความเร็ว แต่เน้นไปที่ความหรูหราและความปลอดภัยแทน[11] ชื่อของเรือทั้งสามลำซึ่งได้แก่ โอลิมปิก ไททานิก และบริแทนนิก นั้นได้รับการพิจารณาและตั้งขึ้นในภายหลัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อถึงขนาดอันมโหฬารและความยิ่งใหญ่ของเรือเหล่านี้ ซึ่งสอดคล้องกับชื่อที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเทพปกรณกรีก[12]
การสร้างเรือโอลิมปิกและไททานิกเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1908 และ 1909 ตามลำดับ[13] ขนาดของเรือทั้งสองลำนั้นใหญ่โตมากจนจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "แอร์โรลแกนทรี" (arrol gantry) เพื่อให้คลุมพื้นที่สร้างทั้งสองแห่ง ทำให้สามารถสร้างเรือสองลำได้ในเวลาเดียวกัน[14] เรือทั้งสามลำถูกออกแบบให้มีความยาว 270 เมตร และมีขนาดใหญ่กว่า 45,000 ตันกรอส ความเร็วที่ออกแบบไว้คือประมาณ 22 นอต ซึ่งต่ำกว่าเรือลูซิเทเนียและมอริเทเนีย แต่ยังคงสามารถเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์[15]
แม้ว่าเรื่องนี้ไวต์สตาร์ไลน์และฮาร์แลนด์แอนด์โวลฟ์จะปฏิเสธมาโดยตลอด[10][16] แต่แหล่งข้อมูลบางแห่งอ้างว่าบริแทนนิกนั้นเดิมทีมีชื่อว่า ไจแกนติก (Gigantic) แต่ภายหลังก็ได้เปลี่ยนชื่อเพื่อไม่ให้แข่งขันหรือสร้างการเปรียบเทียบกับเรือไททานิก[17][1] มีแหล่งข้อมูลหนึ่งเป็นโปสเตอร์ของเรือที่มีชื่อไจแอนติกอยู่ด้านบน[18] แหล่งข้อมูลอื่น ๆ ได้แก่ หนังสือพิมพ์อเมริกันในเดือนพฤศจิกายน 1911 ที่ระบุว่าไวต์สตาร์สั่งสร้างเรือชื่อไจแกนติก รวมถึงหนังสือพิมพ์อื่น ๆ ทั่วโลกทั้งในช่วงการสร้างและทันทีหลังจากที่ไททานิกอับปาง[19][20][21][22]
ทอม แมกคลัสกี อดีตผู้จัดการคลังเอกสารและนักประวัติศาสตร์ประจำบริษัทฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ ได้ให้ข้อมูลว่าตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติงาน 'ตนไม่เคยพบเห็นเอกสารอย่างเป็นทางการใด ๆ ที่ระบุหรือเสนอชื่อ "ไจแกนติก" ให้กับเรือลำที่สามในชั้นโอลิมปิก[23][24] มีการเพิ่มเติมรายละเอียดบางอย่างลงในสมุดบันทึกคำสั่งด้วยลายมือ ซึ่งลงวันที่เดือนมกราคม 1912 แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นเพียงการอ้างถึงความกว้างของเรือที่กำลังสร้างอยู่เท่านั้น ไม่ใช่ชื่อของเรือแต่อย่างใด[24]
กระดูกงูของบริแทนนิกถูกวางในวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1911 ณ อู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนด์โวลฟ์ ในเบลฟาสต์ บนลาดที่โอลิมปิกเคยใช้มาก่อน โดยมีการปล่อยโอลิมปิกลงน้ำไปก่อนหน้านั้น 13 เดือน และเรือชื่ออาร์ลันซาก็ถูกปล่อยลงน้ำไปก่อนหน้านั้น 7 วัน[9] เรือลำนี้มีกำหนดเข้าประจำการในช่วงต้นปี 1914[25] เนื่องจากการปรับปรุงที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ภัยพิบัติของไททานิก บริแทนนิกจึงไม่ได้ถูกปล่อยลงน้ำจนถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 1914[26] ซึ่งมีการบันทึกภาพเหตุการณ์พิธีปล่อยเรือพร้อมกับการติดตั้งปล่องไฟ[27] มีการกล่าวสุนทรพจน์หลายครั้งต่อหน้าสื่อมวลชน และจัดงานเลี้ยงฉลองเนื่องในโอกาสการปล่อยเรือ[28] หลังจากนั้นการติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องจักรต่าง ๆ บนเรือจึงเริ่มขึ้น ในเดือนกันยายนบริแทนนิกได้เข้าสู่อู่แห้งเพื่อทำการติดตั้งใบจักร[29]
การนำพื้นที่ก่อสร้างเดิมของเรือโอลิมปิกมาใช้ซ้ำช่วยประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายของอู่ต่อเรือ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องเตรียมพื้นที่ก่อสร้างใหม่ที่มีขนาดใกล้เคียงกับสองลำแรก ก่อนที่บริแทนนิกจะเริ่มให้บริการข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ระหว่างนิวยอร์กและเซาแทมป์ตัน สงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็ได้ปะทุขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914 ทันทีที่เกิดสงคราม อู่ต่อเรือทุกแห่งที่มีสัญญากับกระทรวงทหารเรือได้รับความสำคัญในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ สัญญาพลเรือนทั้งหมดรวมถึงบริแทนนิกก็ถูกชะลอลง[30]
ทางการทหารเรือได้เกณฑ์เรือจำนวนมากเพื่อมาใช้เป็นเรือพาณิชย์ลาดตระเวนติดอาวุธหรือเรือขนส่งทหาร กระทรวงทหารเรือได้จ่ายค่าเช่าเรือให้แก่บริษัทเจ้าของ แต่ความเสี่ยงในการสูญเสียเรือจากปฏิบัติการทางทหารนั้นสูงมาก เรือโดยสารขนาดใหญ่จึงไม่ได้ถูกนำมาใช้ในทางทหารในช่วงแรก เนื่องจากเรือขนาดเล็กนั้นง่ายต่อการควบคุมและใช้งานมากกว่า โอลิมปิกกลับไปยังเบลฟาสต์เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1914 ขณะที่การก่อสร้างบริแทนนิกยังคงดำเนินไปอย่างล่าช้า[30]
ความต้องการเรือขนส่งขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วน เนื่องจากการปฏิบัติการทางเรือถูกขยายไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1915 บริแทนนิกได้ทำการทดสอบจอดเทียบท่าของเครื่องยนต์เสร็จสิ้น และเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าประจำการฉุกเฉินภายในเวลาเพียงสี่สัปดาห์ เดือนเดียวกันนี้ยังเกิดการสูญเสียเรือโดยสารพลเรือนขนาดใหญ่ลำแรกเมื่อเรืออาร์เอ็มเอส ลูซิเทเนีย (RMS Lusitania) ของคูนาร์ดไลน์ถูกเรือดำน้ำเยอรมัน SM U-20 ยิงตอร์ปิโดโจมตีใกล้ชายฝั่งไอร์แลนด์[31]
เดือนต่อมา กระทรวงทหารเรือตัดสินใจนำเรือโดยสารขนาดใหญ่ที่เพิ่งเกณฑ์มาดัดแปลงเป็นเรือขนส่งทหารเพื่อใช้ในการทัพกัลลิโพลี (หรือที่เรียกว่าการทัพดาร์ดะเนลส์) เรือลำแรกที่ออกเดินทางคือ อาร์เอ็มเอส มอริเทเนีย (RMS Mauretania) และอาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย (RMS Aquitania) ของคูนาร์ดไลน์ เนื่องจากการยกพลขึ้นบกที่กัลลิโพลีประสบความล้มเหลวอย่างย่อยยับและมีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมากขึ้น จึงเห็นได้ชัดว่ามีความจำเป็นต้องใช้เรือพยาบาลขนาดใหญ่เพื่อรักษาและอพยพผู้บาดเจ็บ เรืออาควิเทเนียจึงถูกเปลี่ยนแปลงบทบาทเป็นเรือพยาบาลในเดือนสิงหาคม (โดยเรือโอลิมปิกจะเข้ามาแทนที่ในฐานะเรือขนส่งทหารในเดือนกันยายน) จากนั้นในวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1915 บริแทนนิกก็ถูกเกณฑ์มาปฏิบัติหน้าที่เป็นเรือพยาบาลจากสถานที่เก็บรักษาในเบลฟาสต์[ต้องการอ้างอิง]
เรือถูกทาสีใหม่เป็นสีขาวทั้งลำ พร้อมกับสัญลักษณ์กาชาดสีแดงขนาดใหญ่และแถบสีเขียวแนวนอน และถูกเปลี่ยนชื่อเป็น เอชเอ็มเอชเอส บริแทนนิก (เรือพยาบาลหลวงบริแทนนิก)[30] และอยู่ภายใต้การบัญชาการของกัปตันชาลส์ อัลเฟรด บาร์ทเลตต์[32] ภายในเรือมีเตียงผู้ป่วย 3,309 เตียง และห้องผ่าตัดหลายห้อง พื้นที่ส่วนกลางของดาดฟ้าชั้นบนถูกเปลี่ยนเป็นห้องสำหรับผู้บาดเจ็บ ห้องโดยสารบนดาดฟ้า B ถูกใช้เป็นที่พักของแพทย์ ห้องอาหารชั้นหนึ่งและห้องรับรองชั้นหนึ่งบนดาดฟ้า D ถูกเปลี่ยนเป็นห้องผ่าตัด สะพานเดินเรือชั้นล่างถูกใช้สำหรับรองรับผู้บาดเจ็บเล็กน้อย[32] อุปกรณ์ทางการแพทย์ถูกติดตั้งเสร็จสิ้นในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1915[30]
เมื่อบริแทนนิกได้รับการตรวจสอบและประกาศว่ามีความพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์ ณ ท่าเรือลิเวอร์พูลแล้วในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1915 ทางการจึงได้จัดสรรคณะแพทย์ประจำเรือซึ่งประกอบด้วยพยาบาลหญิง 101 นาย นายทหารชั้นประทวน 336 นาย และนายทหารชั้นสัญญาบัตร 52 นาย รวมถึงลูกเรืออีก 675 นาย[32] วันที่ 23 ธันวาคม เรือได้ออกเดินทางจากลิเวอร์พูลมุ่งหน้าสู่ท่าเรือมูโดรส บนเกาะเลมนอส ในทะเลอีเจียน เพื่อไปรับทหารที่ป่วยและบาดเจ็บกลับมา[33] เรือลำนี้ได้ร่วมเดินทางในเส้นทางเดียวกันกับเรือลำอื่น ๆ อีกหลายลำ รวมถึงเรือมอริเทเนีย, อาควิเทเนีย[34] และโอลิมปิก[35] ต่อมาไม่นาน เรือสตาเทนดัมก็ได้เข้าร่วมเดินทางด้วย[36] เรือแวะพักที่เนเปิลส์เพื่อเติมเสบียงถ่านหินก่อนจะเดินทางต่อไปยังมูโดรส เมื่อกลับมาก็ได้ทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลลอยน้ำนอกชายฝั่งไอล์ออฟไวต์เป็นเวลาสี่สัปดาห์[37]
การเดินทางครั้งที่สามของบริแทนนิกมีขึ้นระหว่างวันที่ 20 มีนาคม ถึง 4 เมษายน ค.ศ. 1916 ในเดือนมกราคมก่อนหน้านั้นทางการได้สั่งอพยพทหารออกจากพื้นที่ดาร์ดะเนลส์[38] วันที่ 6 มิถุนายน 1916 บริแทนนิกสิ้นสุดภารกิจทางทหารและเดินทางกลับไปยังเบลฟาสต์เพื่อเข้ารับการปรับปรุงเป็นเรือโดยสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก รัฐบาลอังกฤษจ่ายเงินชดเชยให้ไวต์สตาร์ไลน์เป็นจำนวนเงิน 75,000 ปอนด์สำหรับการปรับปรุงดังกล่าว การปรับปรุงเรือดำเนินการอยู่หลายเดือนก่อนที่จะถูกเรียกกลับไปปฏิบัติหน้าที่ทางทหารอีกครั้ง[39]
กระทรวงทหารเรือมีคำสั่งให้บริแทนนิกกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเรือพยาบาลอีกครั้งในวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1916 และเรือได้ออกเดินทางกลับไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นครั้งที่สี่ในวันที่ 24 กันยายนปีเดียวกัน[40] ในวันที่ 29 กันยายน เรือลำนี้ได้เผชิญพายุอย่างรุนแรงขณะมุ่งหน้าไปยังเนเปิลส์ แต่ก็สามารถผ่านพ้นมาได้โดยไร้ความเสียหาย[41] เรือเดินทางกลับเซาแทมป์ตันในวันที่ 9 ตุลาคม จากนั้นจึงได้ทำการเดินทางครั้งที่ห้าซึ่งได้เกิดเหตุการณ์กักตัวลูกเรือเมื่อมาถึงมูโดรสเนื่องจากเกิดโรคอาหารเป็นพิษ[42]
ชีวิตบนเรือดำเนินไปตามกิจวัตรประจำวัน เวลา 6:00 น. ผู้ป่วยจะถูกปลุกและทำความสะอาดสถานที่ อาหารเช้าเสิร์ฟเวลา 6:30 น. จากนั้นกัปตันจะเดินตรวจเรือเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อย อาหารกลางวันเสิร์ฟเวลา 12:30 น. และชายามบ่ายเวลา 4:30 น. ระหว่างมื้ออาหารจะมีการรักษาผู้ป่วย และผู้ป่วยที่ต้องการออกไปเดินเล่นก็สามารถทำได้ เวลา 20:30 น. ผู้ป่วยเข้านอน และกัปตันจะเดินตรวจเรืออีกครั้ง[33] มีการจัดชั้นเรียนทางการแพทย์สำหรับฝึกอบรมพยาบาล[43]
หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการขนส่งผู้ป่วยและทหารที่บาดเจ็บไปยังเขตสงครามตะวันออกกลางและกลับสู่สหราชอาณาจักรเป็นจำนวน 5 ครั้ง บริแทนนิกได้ออกเดินทางจากเซาแทมป์ตันมุ่งหน้าสู่เลมนอสเมื่อเวลา 14:23 น. ของในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 นับเป็นการเดินทางครั้งที่ 6 ไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน[32] เรือแล่นผ่านยิบรอลตาร์ราวเที่ยงคืนของวันที่ 15 พฤศจิกายน และเดินทางถึงเนเปิลส์ในเช้าวันที่ 17 พฤศจิกายน เพื่อหยุดพักเติมถ่านหินและน้ำตามปกติ ซึ่งเป็นการสำเร็จภารกิจขั้นแรก[44]
พายุได้กักเรือไว้ที่เนเปิลส์จนกระทั่งบ่ายวันอาทิตย์ กัปตันบาร์ทเล็ตต์จึงตัดสินใจใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาที่พายุสงบลงชั่วคราวเดินเรือต่อ ทะเลกลับมาปั่นป่วนอีกครั้งเมื่อเรือออกจากท่า รุ่งเช้าวันถัดมาพายุสงบลงและเรือก็แล่นผ่านช่องแคบเมสซีนาโดยไม่มีปัญหาใด ๆ ต่อมาในเช้าตรู่ของวันที่ 21 พฤศจิกายน บริแทนนิกแล่นด้วยความเร็วเต็มกำลังเข้าสู่ช่องแคบเคีย ระหว่างแหลมซูนิโอ (จุดใต้สุดของแค้วนแอตติกา ซึ่งเป็นแคว้นที่กรุงเอเธนส์ตั้งอยู่) กับเกาะเคีย[44]
บนเรือมีผู้โดยสารทั้งหมด 1,066 คน ประกอบด้วยลูกเรือ 673 นาย เสนารักษ์ทหารบก 315 นาย พยาบาล 77 นาย และกัปตันเรืออีก 1 นาย[45]
เวลา 08:12 น. ตามเวลาตะวันออกของยุโรป บริแทนนิกสั่นสะเทือนจากแรงระเบิดหลังจากชนกับทุ่นระเบิดใต้น้ำ[47] ทุ่นระเบิดเหล่านี้ถูกฝังไว้ในช่องแคบเคียในวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 1916 โดยเรือดำน้ำ SM U-73 ภายใต้การบังคับบัญชาของกัปตันกุสตาฟ ซีส
ปฏิกิริยาในห้องอาหารเกิดขึ้นทันที แพทย์และพยาบาลต่างรีบวิ่งไปยังตำแหน่งของตน แต่ผู้โดยสารส่วนอื่น ๆ ที่อยู่ห่างจากจุดที่ระเบิดออกไปนั้นรู้สึกถึงแรงระเบิดน้อยกว่ามาก จึงเข้าใจผิดคิดว่าเรือชนกับเรือลำเล็ก ขณะนั้นกัปตันบาร์ทเลตต์และรองกัปตันฮิวม์อยู่บนสะพานเดินเรือ และความร้ายแรงของสถานการณ์ก็ปรากฏให้เห็นในไม่ช้า[48] การระเบิดเกิดขึ้นทางด้านกราบขวาของเรือ[48] ระหว่างห้องเก็บสินค้าที่ 2 และ 3 แรงระเบิดสร้างความเสียหายให้กับผนังกั้นห้องระหว่างห้องเก็บสินค้าที่ 1 กับส่วนหัวเรือ[47] ห้องผนึกน้ำสี่ห้องแรกถูกน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว[47] อุโมงค์เชื่อมระหว่างห้องพักพนักงานห้องเครื่องที่หัวเรือกับห้องหม้อไอน้ำที่ 6 ได้รับความเสียหายอย่างหนัก และน้ำก็กำลังไหลเข้าไปในห้องหม้อไอน้ำดังกล่าว[47]
กับตันบาร์ทเลตต์สั่งปิดประตูกั้นน้ำ ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ และสั่งให้ลูกเรือเตรียมเรือชูชีพ[47] ทันทีที่มีการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน (SOS) ออกไป เรือลำอื่น ๆ หลายลำในบริเวณนั้นก็ได้รับสัญญาณ รวมถึงเรือหลวงสเกิร์จ (HMS Scourge) และเรือหลวงเฮโรอิก (HMS Heroic) แต่บริแทนนิกไม่ได้รับการตอบกลับใด ๆ เพราะทั้งบาร์ทเลตต์และผู้ควบคุมวิทยุบนเรือไม่ทราบว่าแรงระเบิดครั้งแรกทำให้สายอากาศที่ขึงระหว่างเสากระโดงเรือขาดเสียหาย ทำให้เรือสามารถส่งสัญญาณวิทยุออกไปได้ แต่ไม่สามารถรับสัญญาณกลับมาได้"[49]
นอกจากประตูกั้นน้ำที่เสียหายในอุโมงค์ของพนักงานห้องเครื่องแล้ว ประตูกั้นน้ำระหว่างห้องหม้อไอน้ำที่ 6 และ 5 ก็ไม่สามารถปิดสนิทได้[47] จึงทำให้น้ำไหลเข้าไปในห้องหม้อไอน้ำที่ 5 มากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะนี้บริแทนนิกถึงขีดจำกัดของการถูกน้ำท่วมแล้ว โดยเรือจะยังคงลอยนิ่งอยู่ได้หากมีห้องผนึกน้ำอย่างน้อย 6 ห้องถูกน้ำท่วม มีผนังกั้นห้องห้าแนวที่ยกสูงขึ้นไปถึงดาดฟ้า B[50] มาตรการเหล่านี้ถูกนำมาใช้หลังจากเกิดโศกนาฏกรรมเรือไททานิก (ไททานิกสามารถลอยน้ำอยู่ได้ด้วยห้องผนึกน้ำเพียง 4 ห้องแรกเท่านั้น)[51]
ผนังกั้นห้องที่สำคัญถัดไปคือระหว่างห้องหม้อไอน้ำที่ 5 และ 4 ที่ประตูกั้นน้ำยังคงสภาพดี และควรจะสามารถรับประกันความปลอดภัยของเรือได้ อย่างไรก็ตาม มีช่องหน้าต่างเปิดอยู่ตามแนวดาดฟ้าชั้นล่างด้านหน้าเรือ ซึ่งจมลงใต้ระดับน้ำภายในเวลาไม่กี่นาทีหลังเกิดการระเบิด เนื่องจากพยาบาลได้เปิดช่องหน้าต่างเหล่านี้เพื่อระบายอากาศในห้องผู้ป่วย ซึ่งขัดกับคำสั่งที่ได้รับไว้ เมื่อเรือเอียงมากขึ้นเรื่อย ๆ น้ำก็สูงขึ้นมาถึงระดับนี้และเริ่มไหลเข้าทางท้ายเรือ ผ่านผนังกั้นห้องระหว่างห้องหม้อน้ำที่ 5 และ 4 ประกอบกับมีน้ำท่วมห้องผนึกน้ำมากกว่าหกห้อง บริแทนนิกจึงไม่สามารถลอยน้ำอยู่ได้อีกต่อไป[51]
บนสะพานเดินเรือ กัปตันบาร์ทเลตต์กำลังพิจารณาถึงวิธีการที่จะช่วยให้เรือรอด เพียง 2 นาทีหลังเกิดการระเบิด ห้องหม้อไอน้ำที่ 5 และ 6 ก็ต้องอพยพผู้คนออกอย่างเร่งด่วน ภายในเวลาประมาณ 10 นาที บริแทนนิกก็อยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงกับไททานิกใน 1 ชั่วโมงหลังชนกับภูเขาน้ำแข็ง 15 นาที บานหน้าต่างที่เปิดอยู่บนดาดฟ้า E ก็จมอยู่ใต้น้ำ ด้วยน้ำที่ไหลเข้าสู่ส่วนท้ายเรือจากผนังกั้นห้องระหว่างห้องหม้อไอน้ำที่ 4 และ 5 บริแทนนิกจึงเอียงไปทางกราบขวาอย่างรวดเร็วและรุนแรง[52]
บาร์ทเลตต์สั่งให้เลี้ยวเรือไปทางขวามุ่งหน้าสู่เกาะเคียเพื่อพยายามนำเรือไปเกยตื้น แรงดันจากการเอียงไปทางขวาของบริแทนนิกและน้ำหนักของหางเสือทำให้การควบคุมเรือด้วยกำลังของตัวเรือเองเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น และอุปกรณ์ควบคุมทิศทางก็ถูกแรงระเบิดทำลายไป ทำให้ไม่สามารถควบคุมเรือด้วยใบจักรได้อีกต่อไป กัปตันสั่งให้ขับเคลื่อนเพลาใบจักรด้านซ้ายด้วยความเร็วที่สูงกว่าด้านขวา ซึ่งช่วยให้เรือเคลื่อนที่ไปยังเกาะเคีย[52]
ขณะเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์ก็เตรียมพร้อมอพยพ บาร์ทเลตต์ได้สั่งให้เตรียมเรือชูชีพ แต่เขาไม่ได้อนุญาตให้ปล่อยเรือชูชีพลงสู่ทะเล ก่อนการอพยพ ทุกคนได้นำสิ่งของมีค่าที่สุดของตนติดตัวไปด้วย บาทหลวงประจำเรือเก็บคัมภีร์ไบเบิลของท่านกลับมา ผู้ป่วยและพยาบาลจำนวนน้อยบนเรือถูกเรียกมารวมตัวกัน พันตรีแฮโรลด์ พรีสต์ลีย์ ได้รวบรวมหน่วยเสนารักษ์กองทัพบกขึ้นมาประจำการที่ท้ายดาดฟ้า A และได้ทำการตรวจสอบห้องโดยสารต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีผู้ใดหลงเหลืออยู่[52]
ขณะที่บาร์ทเลตต์ยังคงพยายามอย่างสุดกำลังในการควบคุมเรือ บริแทนนิกก็เอียงลงเรื่อย ๆ ด้วยความกลัวว่าเรือจะเอียงมากจนไม่สามารถปล่อยเรือชูชีพได้ ลูกเรือบางส่วนจึงตัดสินใจปล่อยเรือชูชีพโดยไม่รอคำสั่ง[52] เจ้าหน้าที่ชั้นสาม แฟรนซิส ลอส์ ได้สั่งให้ปล่อยเรือชูชีพสองลำลงสู่ทะเลทางกราบซ้ายของเรือโดยไม่ได้รับอนุญาต เรือเหล่านั้นถูกดูดเข้าหาใบจักรที่ยังคงหมุนและโผล่พ้นน้ำอยู่บางส่วน บาร์ทเลตต์สั่งให้หยุดเครื่องยนต์ แต่ก่อนที่คำสั่งจะมีผล เรือทั้งสองลำก็ถูกดูดเข้าไปในใบจักรซึ่งทำลายเรือทั้งสองลำจนพังยับเยินและทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 30 คน[51] บาร์ทเลตต์สามารถหยุดเครื่องยนต์ได้ก่อนที่เรือชูชีพลำอื่นจะสูญเสียไปอีก[53]
ในเวลา 08:50 น. ผู้โดยสารและลูกเรือส่วนใหญ่ได้อพยพออกจากเรือโดยใช้เรือชูชีพที่ปล่อยลงไปได้สำเร็จ 35 ลำ ณ จุดนี้ บาร์ทเลตต์สรุปว่าอัตราการจมของบริแทนนิกช้าลงแล้ว เขาจึงสั่งหยุดการอพยพและสั่งให้เครื่องยนต์เริ่มทำงานใหม่ ด้วยความหวังว่าจะยังสามารถนำเรือไปเกยตื้นได้[54] เวลา 09:00 น. บาร์ทเลตต์ได้รับแจ้งว่าอัตราการรั่วเข้าของน้ำเพิ่มขึ้นสูงขึ้นเนื่องจากเรือเคลื่อนที่ไปข้างหน้า และน้ำได้ท่วมถึงดาดฟ้า D แล้ว เมื่อตระหนักว่าไม่มีหวังจะถึงฝั่งทันเวลา บาร์ทเลตต์จึงสั่งหยุดเครื่องยนต์เป็นครั้งสุดท้าย และส่งสัญญาณเสียงยาวสองครั้งด้วยหวูดไอน้ำ ซึ่งเป็นสัญญาณให้สละเรือ[55] น้ำท่วมถึงสะพานเดินเรือ เขาและผู้ช่วยกัปตันไดก์ก็เดินออกไปบนดาดฟ้าแล้วกระโดดลงไปในน้ำ ว่ายไปยังเรือพับได้ลำหนึ่ง จากนั้นจึงดำเนินการประสานงานปฏิบัติการช่วยเหลือต่อไป[56]
บริแทนนิกค่อย ๆ เอียงข้างไปทางขวาอย่างช้า ๆ ปล่องไฟถล่มลงมาทีละอันตามลำดับขณะที่เรือจมลงอย่างรวดเร็ว เมื่อท้ายเรือโผล่พ้นน้ำ หัวเรือได้ชนกับก้นทะเลเนื่องจากความยาวของบริแทนนิกยาวกว่าความลึกของน้ำ จึงทำให้การชนครั้งนั้นสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อส่วนหัวเรือ ก่อนที่เรือจะอับปางลงอย่างสมบูรณ์ในเวลา 09:07 น. หรือ 55 นาทีหลังจากการระเบิด[55] ไวโอเล็ต เจสซอป (ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์เรือไททานิกอับปาง และเคยอยู่บนเรือโอลิมปิกขณะชนกับเรือหลวงฮอว์ก) ได้บรรยายถึงวินาทีสุดท้ายว่า[57]
หัวเรือค่อย ๆ จมลงเล็กน้อย จากนั้นก็จมต่ำลงอีกและต่ำลงเรื่อย ๆ เครื่องจักรบนดาดฟ้าตกลงไปในทะเลราวกับของเล่นเด็ก จากนั้นเรือก็ดิ่งลงอย่างน่าสะพรึงกลัว ท้ายเรือโผล่ขึ้นเหนือน้ำสูงหลายสิบเมตร ก่อนจะหายไปในความลึกพร้อมเสียงคำรามสุดท้าย เสียงดังกึกก้องไปทั่วผืนน้ำอย่างรุนแรงเกินจะจินตนาการ
เมื่อบริแทนนิกอับปางลง เรือลำนี้ก็ได้กลายเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดที่อับปางในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเป็นเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดที่อับปางลงในโลก[58]
เมื่อเทียบกับไททานิก การช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากเรือบริแทนนิกนั้นได้เปรียบกว่าในสามด้านได้แก่ อุณหภูมิของน้ำที่สูงกว่า (20 องศาเซลเซียส (68 องศาฟาเรนไฮต์)[60] เทียบกับ −2 องศาเซลเซียส (28 องศาฟาเรนไฮต์)[61] ของไททานิก), เรือชูชีพพร้อมใช้งานมากกว่า (สามารถปล่อยเรือชูชีพได้สำเร็จ 35 ลำ และยังคงลอยอยู่ได้[62] เทียบกับ 20 ลำของไททานิก[63]) และการช่วยเหลืออยู่ใกล้กว่า (เรือช่วยเหลือมาถึงภายในเวลาไม่ถึงสองชั่วโมงหลังจากส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือครั้งแรก[62] เทียบกับสามชั่วโมงครึ่งของไททานิก[64])
ผู้แรกที่มาถึงที่เกิดเหตุคือชาวประมงจากเกาะเคีย ซึ่งกำลังแล่นเรือคาอิก และได้ช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจำนวนมากขึ้นจากน้ำ[65] เวลา 10:00 น. เรือหลวงสเกิร์จได้พบเห็นเรือชูชีพลำแรก และได้ทำการหยุดเรือเพื่อให้การช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจำนวน 339 คนภายในระยะเวลา 10 นาทีต่อมา เรือหลวงเฮโรอิกได้เดินทางมาถึงก่อนหน้านั้นไม่กี่นาที และได้ทำการอพยพผู้รอดชีวิตจำนวน 494 คนขึ้นเรือ[66] มีผู้รอดชีวิตประมาณ 150 คนที่สามารถไปถึงเกาะโคริสเซีย ซึ่งแพทย์และพยาบาลที่รอดชีวิตจากบริแทนนิกกำลังพยายามช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ โดยใช้ผ้ากันเปื้อนและชิ้นส่วนของเสื้อชูชีพทำเป็นผ้าพันแผล บริเวณท่าเรือเล็ก ๆ ที่รกร้างนั้นทำหน้าที่เป็นห้องผ่าตัดชั่วคราว[ต้องการอ้างอิง]
เรือหลวงสเกิร์จและเฮโรอิกไม่มีพื้นที่บนดาดฟ้าที่จะรับผู้รอดชีวิตเพิ่มได้อีก จึงได้ออกเดินทางไปยังไพรีอัส พร้อมส่งสัญญาณแจ้งให้ทราบว่ายังมีผู้รอดชีวิตเหลืออยู่ที่เกาะโคริสเซีย ต่อมาเรือหลวงฟ็อกซ์ฮาวด์ได้เดินทางมาถึงในเวลา 11:45 น. และหลังจากที่ได้ทำการค้นหาบริเวณโดยรอบแล้ว ก็ได้เข้าจอดเทียบท่าในท่าเรือเล็กในเวลา 13:00 น. เพื่อให้การช่วยเหลือทางการแพทย์และรับผู้รอดชีวิตที่เหลือขึ้นเรือ[66] เวลา 14.00 น. เรือหลวงฟอร์ไซท์เดินทางมาถึง เรือหลวงฟ็อกซ์ฮาวด์ออกเดินทางไปยังไพรีอัสในเวลา 14.15 น. ขณะที่เรือหลวงฟอร์ไซท์ยังคงอยู่เพื่อจัดการพิธีฝังศพจ่าวิลเลียม ชาร์ป เสนารักษ์ทหารบก ซึ่งเสียชีวิตจากการบาดเจ็บบนเกาะเคีย ผู้รอดชีวิตอีกสองคนเสียชีวิตบนเรือหลวงเฮโรอิก และอีกหนึ่งคนบนเรือลากจูงโกลิอัทของฝรั่งเศส ทั้งสามคนได้รับการฝังด้วยเกียรติยศทางทหารในสุสานทหารเรือและกงสุลเมืองไพรีอัส[67] ผู้เสียชีวิตคนสุดท้ายคือ จี. ฮันนีคอตต์ ซึ่งเสียชีวิตที่โรงพยาบาลรัสเซียที่ไพรีอัส ไม่นานหลังจากการจัดพิธีศพ[ต้องการอ้างอิง]
จากจำนวนผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 1,066 คนบนเรือ มีผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์อับปางถึง 1,036 ราย อย่างไรก็ตาม มีผู้เสียชีวิตจำนวน 30 ราย[68] แต่มีเพียง 5 รายที่ถูกนำมาประกอบพิธีฝัง ส่วนผู้เสียชีวิตที่เหลืออีก 25 รายไม่สามารถกู้ร่างขึ้นมาได้ จึงได้มีการจัดสร้างอนุสรณ์เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้สูญเสีย ณ เทสซาโลนีกี (อนุสรณ์มิครา) และกรุงลอนดอน นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวอีกจำนวน 38 รายแบ่งเป็นลูกเรือ 18 ราย และเสนารักษ์ทหารบกอีก 20 ราย[69] ผู้รอดชีวิตได้รับการช่วยเหลือให้พักอาศัยอยู่ในเรือหลวงที่จอดเทียบท่าอยู่ที่ท่าเรือไพรีอัส ขณะที่พยาบาลและเจ้าหน้าที่ถูกส่งไปพักที่โรงแรมแยกต่างหากในฟาเลรอน ชาวกรีกและเจ้าหน้าที่จำนวนมากเข้าร่วมพิธีศพ ผู้รอดชีวิตถูกส่งกลับบ้าน และมีเพียงไม่กี่คนที่เดินทางถึงสหราชอาณาจักรก่อนวันคริสต์มาส[70]
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2006 มิคาอิล มิคาอิลลาคิส นักวิจัยที่ศึกษาเรือบริแทนนิกได้ค้นพบว่าหนึ่งในหลุมศพที่ไม่มีชื่อ 45 หลุม ในสุสานใหม่ของชาวอังกฤษในเฮอร์มูโปลิสบนเกาะซีรอส บรรจุร่างของทหารที่เก็บมาจากโบสถ์แอกตริอัส ที่ลิวาได (ชื่อเดิมของโคริสเซีย) ไซมอน มิลส์ นักประวัติศาสตร์ทางทะเล ได้ติดต่อไปยังคณะกรรมการสุสานทหารแห่งเครือจักรภพ (Commonwealth War Graves Commission) จากการสืบค้นเพิ่มเติมพบว่าทหารผู้นี้เป็นผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เรือบริแทนนิกอับปาง และศพของเขาได้รับการลงทะเบียนในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1919 ในนามของ "สิบโทสตีเวนส์"[71]
เมื่อมีการย้ายศพไปยังสุสานใหม่ที่เกาะซีรอสในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1921 พบว่าไม่มีบันทึกใดเกี่ยวข้องกับชื่อนี้กับการสูญเสียของเรือ และหลุมศพถูกจดทะเบียนว่าไม่สามารถระบุตัวตนได้ มิลส์ได้ให้หลักฐานว่าชายคนนี้อาจเป็นจ่าสิบโทชาร์ป และคดีนี้ได้รับการพิจารณาโดยสำนักงานบุคลากรและทหารผ่านศึก[71] หลุมศพใหม่ของชาร์ปได้ถูกสร้างขึ้น และคณะกรรมการฯ ได้ทำการแก้ไขข้อมูลในฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน[72]
การออกแบบของบริแทนนิกเผยให้เห็นถึงเจตนาในการสร้างเรือให้มีความหรูหราเหนือกว่าเรือลำอื่นในชั้นเดียวกัน เพื่อเป็นการแข่งขันทางธุรกิจกับเรือเอสเอส อิมเพอเรเตอร์, เอสเอส วาเทอร์แลนด์ และอาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย มีการจัดเตรียมห้องพักจำนวนเพียงพอสำหรับผู้โดยสารที่แบ่งออกเป็นสามชั้น ไวต์สตาร์ไลน์คาดการณ์ว่าฐานลูกค้าของตนจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ดังนั้นคุณภาพของชั้นสาม (ซึ่งออกแบบมาสำหรับผู้อพยพ) จึงลดลงเมื่อเทียบกับเรือลำอื่นในชั้นเดียวกัน ในขณะที่คุณภาพของชั้นสองกลับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้จำนวนลูกเรือที่วางแผนไว้ยังเพิ่มขึ้นจากประมาณ 860–880 คนบนเรือโอลิมปิกและไททานิก เป็น 950 คนบนบริแทนนิก[73]
คุณภาพของชั้นหนึ่งได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยมีการเพิ่มพื้นที่สำหรับเด็ก เนื่องจากเด็ก ๆ เริ่มเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มลูกค้าที่ต้องให้ความสำคัญ ดังนั้นจึงมีการสร้างห้องเล่นสำหรับเด็กบนดาดฟ้าชั้นเรือบด[74] ชั้นหนึ่งของบริแทนนิกมีบันไดใหญ่ที่โอ่อ่าตระการตาเช่นเดียวกับเรือแฝดทั้งสองลำ แต่สิ่งอำนวยความสะดวกของบริแทนนิกนั้นหรูหราอลังการยิ่งกว่า โดยมีราวบันไดที่แกะสลักอย่างวิจิตรบรรจง แผงตกแต่งที่ประณีต และออร์แกนขนาดใหญ่[75] ดาดฟ้า A ของเรือถูกออกแบบมาเพื่อรองรับผู้โดยสารชั้นหนึ่งโดยเฉพาะ ภายในประกอบด้วยห้องรับรอง ร้านกาแฟริมระเบียง 2 ห้อง ห้องสูบบุหรี่ และห้องอ่านหนังสือ[76] ดาดฟ้า B ประกอบด้วยร้านทำผม สำนักงานไปรษณีย์ และห้องชุดสุดหรู (parlour suites) ที่ออกแบบใหม่ ซึ่งในแผนการสร้างเรียกว่าซาลูน (saloon)[77] "สิ่งเพิ่มเติมที่สำคัญที่สุดคือการเพิ่มห้องน้ำส่วนตัวในห้องโดยสารชั้นหนึ่งเกือบทุกห้อง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในเรือเดินสมุทร ซึ่งบนเรือโอลิมปิกและไททานิก ผู้โดยสารส่วนใหญ่ต้องใช้ห้องน้ำรวม[78]
สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ได้ถูกติดตั้งไว้ก่อนแล้ว แต่ถูกนำออกไปในภายหลังเนื่องจากเรือถูกแปลงเป็นเรือพยาบาล และไม่เคยถูกติดตั้งใหม่เนื่องจากเรืออับปางก่อนที่จะได้เข้าประจำการในเส้นทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ดังนั้นสิ่งอำนวยความสะดวกที่วางแผนไว้จึงถูกยกเลิก ทำลาย นำไปใช้ใหม่ในเรือลำอื่น เช่น โอลิมปิก หรือมาเจสติก หรือไม่เคยถูกใช้งานเลย[30] ในบรรดาสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ มีเพียงบันไดใหญ่และห้องเล่นสำหรับเด็กเท่านั้นที่ติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ ส่วนใต้โดมกระจกนั้นมีผนังสีขาวอยู่เหนือบันไดชั้นหนึ่ง แทนที่จะเป็นนาฬิกาและภาพวาดขนาดใหญ่
ออร์แกนฟิลฮาร์โมนิกเวลท์ มีแผนจะติดตั้งบนบริแทนนิก แต่ด้วยเหตุการปะทุของสงคราม เครื่องดนตรีชิ้นนี้จึงไม่สามารถเดินทางจากเยอรมนีมายังเบลฟาสต์ได้[30] หลังสงคราม ออร์แกนชิ้นนี้ไม่ได้ถูกเรียกคืนโดยฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ เนื่องจากบริแทนนิกอับปางลงก่อนจะได้เข้าประจำการในเส้นทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก นอกจากนี้ไวต์สตาร์ไลน์ก็ไม่ต้องการติดตั้งออร์แกนชิ้นนี้บนเรือโอลิมปิกหรือมาเจสติก เป็นเวลานานที่ผู้คนเชื่อว่าออร์แกนชิ้นนี้สูญหายหรือถูกทำลายไปแล้ว[30]
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2007 ช่างผู้บูรณะออร์แกนเวลท์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์เครื่องดนตรีอัตโนมัติ (Museum für Musikautomaten) ที่ซีเวน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ค้นพบว่าชิ้นส่วนหลักของเครื่องดนตรีชิ้นนี้มีลายเซ็นของช่างสร้างออร์แกนชาวเยอรมันระบุว่า "บริแทนนิก" (Britanik)[79] ภาพถ่ายของภาพวาดในใบปลิวของบริษัท ซึ่งพบในมรดกของเวลท์ที่พิพิธภัณฑ์ออกุสทีนาร์ในไฟรบวร์ค เป็นหลักฐานยืนยันว่าออร์แกนชิ้นนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อติดตั้งบนบริแทนนิก ต่อมาพบว่า เวลท์ได้ขายออร์แกนนี้ให้กับเจ้าของส่วนบุคคลในชตุทการ์ทเป็นรายแรก ในปี 1937 ออร์แกนนี้ได้ถูกย้ายไปยังห้องแสดงคอนเสิร์ตของบริษัทแห่งหนึ่งในวิปเปอร์ฟูร์ท และในที่สุดก็ถูกซื้อโดยผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เครื่องดนตรีอัตโนมัติแห่งสวิตเซอร์แลนด์ในปี 1969 ซึ่งในขณะนั้นพิพิธภัณฑ์ยังไม่ทราบประวัติของออร์แกนนี้เลย[80][81] พิพิธภัณฑ์ได้ดูแลรักษาออร์แกนให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ และยังคงนำไปใช้ในการบรรเลงทั้งแบบอัตโนมัติและแบบบรรเลงด้วยมือ
ซากเรือเอชเอ็มเอชเอส บริแทนนิกตั้งอยู่ที่พิกัด 37°42′05″N 24°17′02″E ในระดับความลึกประมาณ 400 ฟุต (122 เมตร)[4] ถูกค้นพบในวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1975 โดยฌัก กุสโต ซึ่งเป็นผู้สำรวจ[82][73] ระหว่างการถ่ายทำการสำรวจ กุสโตได้ทำการสัมภาษณ์ผ่านกล้องกับผู้ที่รอดชีวิตจากเรือหลายคนรวมถึงชีลา แมกเบธ มิตเชลล์[83] ในปี 1976 กุสโตได้เข้าไปสำรวจซากเรือพร้อมกับนักดำน้ำของเขาเป็นครั้งแรก[84] เขาแสดงความเห็นว่าเรือน่าจะถูกจมด้วยตอร์ปิโดเพียงลูกเดียว โดยอาศัยความเสียหายของแผ่นเหล็กของเรือเป็นหลักฐาน[85]
ซากเรือนอนตะแคงทางกราบขวา ซ่อนบริเวณที่ถูกระเบิดจากทุ่นระเบิดไว้ มีรูโหว่ขนาดใหญ่ใต้ดาดฟ้าหน้าเรือ หัวเรือเสียรูปอย่างรุนแรงและยึดติดกับตัวเรือด้วยส่วนที่เหลืออยู่เพียงบางส่วนของดาดฟ้า C ห้องพักลูกเรือบริเวณหัวเรือยังคงสภาพดี โดยมีรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ ที่ยังคงมองเห็นได้อย่างชัดเจน ส่วนห้องเก็บสินค้านั้นพบว่าว่างเปล่า[84]
เครื่องจักรหน้าเรือและเครนยกสินค้าสองตัวที่ตั้งอยู่บนดาดฟ้าหน้าเรือยังคงสภาพดี เสากระโดงหน้างอและนอนอยู่บนพื้นทะเลใกล้กับซากเรือ พร้อมกับรังกาที่ยังติดอยู่ ระฆังที่เคยเชื่อว่าสูญหายไปนั้นได้ถูกค้นพบในระหว่างการดำน้ำสำรวจในปี ค.ศ. 2019 โดยระฆังหลุดออกจากเสากระโดงและปัจจุบันจมอยู่ใต้พื้นทะเลตรงตำแหน่งใต้รังกาพอดี ปล่องไฟที่ 1 พบห่างจากดาดฟ้าเรือบดเพียงไม่กี่เมตร ส่วนปล่องไฟที่ 2 3 และ 4 อยู่ในบริเวณเศษซากเรือ (ซึ่งอยู่ด้านท้ายเรือ)[84] มีเศษถ่านหินกระจัดกระจายอยู่ข้างซากเรือ[86]
กลางปี ค.ศ. 1995 ในการสำรวจที่ถูกบันทึกเป็นภาพโดยรายการ NOVA ดร.โรเบิร์ต บัลลาร์ด ผู้โด่งดังจากการค้นพบซากเรือไททานิกในปี 1985 และเรือประจัญบานบิสมาร์คของเยอรมันในปี 1989 ได้เดินทางไปยังซากเรือบริแทนนิกโดยใช้โซนาร์สแกนด้านข้างที่ทันสมัย ภาพถ่ายถูกเก็บรวบรวมมาจากยานพาหนะควบคุมระยะไกล แต่ยังไม่มีการเข้าไปสำรวจภายในซากเรือ บัลลาร์ดพบว่าปล่องไฟของเรือทั้งหมดอยู่ในสภาพที่ดีอย่างน่าประหลาดใจ และความพยายามในการค้นหาสมอทุ่นระเบิดล้มเหลว[87]
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1996 ซากเรือถูกซื้อโดยไซมอน มิลส์ ผู้ซึ่งได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรือลำนี้อยู่ 2 เล่ม คือ บริแทนนิก – ไททันลำสุดท้าย และ ตัวประกันสู่โชคชะตา[88]
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1997 ทีมนักดำน้ำนานาชาติ นำโดยเควิน เกอร์ ได้ใช้เทคนิคการดำน้ำลึกด้วยแก๊สผสมแบบเปิดวงจร (open-circuit trimix diving) เพื่อลงไปสำรวจและบันทึกภาพซากเรือในรูปแบบวิดีโอดิจิทัล ดีวี (DV digital video format) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ในขณะนั้น[87]
ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1998 ทีมนักดำน้ำอีกกลุ่มหนึ่งได้ทำการสำรวจซากเรืออีกครั้ง[89][90] โดยใช้ยานพาหนะขับเคลื่อนใต้น้ำ ทีมนักดำน้ำได้ดำลงไปสำรวจซากเรือเป็นจำนวนมาก และได้ภาพถ่ายจำนวนมากที่มากกว่าครั้งไหน ๆ มาก่อน รวมถึงวิดีโอของเครื่องสั่งจักร 4 ตัว พังงา และเครื่องควบคุมหางเสือระยะไกลบนห้องกัปตัน[91]
ในปี ค.ศ. 1999 นักดำน้ำจาก GUE ซึ่งเชี่ยวชาญในการดำน้ำในถ้ำและสำรวจมหาสมุทร ได้นำทีมดำน้ำครั้งแรกในการสำรวจบริเวณที่ลึกเข้าไปในซากเรือบริแทนนิกอย่างละเอียด วิดีโอจากการสำรวจครั้งนี้ได้ถูกเผยแพร่ไปยังช่องรายการชื่อดังระดับโลกอย่างเนชั่นแนลจีโอกราฟิก บีบีซี ฮิสทรี และดิสคัฟเวอรี[92]
ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2003 คณะสำรวจนำโดยคาร์ล สเปนเซอร์ ได้ดำน้ำลงไปสำรวจซากเรือ[93] นี่เป็นการสำรวจครั้งแรกที่นักดำน้ำทุกคนใช้เครื่องช่วยหายใจแบบวงจรปิด (Closed Circuit Rebreather หรือ CCR) นักดำน้ำเลห์ บิชอป นำภาพถ่ายชุดแรกจากภายในซากเรือกลับมา และริช สตีเวนสัน คู่ดำน้ำของเขาได้ค้นพบว่าประตูกั้นน้ำหลายบานเปิดอยู่ มีการตั้งข้อสันนิษฐานว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเนื่องจากทุ่นใต้น้ำระเบิดตรงกับช่วงเปลี่ยนเวรยาม หรืออาจเป็นไปได้ว่าแรงระเบิดทำให้บานประตูเสียหาย บิล สมิธ ผู้เชี่ยวชาญด้านโซนาร์ ตรวจพบสมอทุ่นระเบิดใต้น้ำจำนวนหนึ่งรอบซากเรือ ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกของเรือดำน้ำ SM U-73 ของเยอรมันที่ระบุว่าบริแทนนิกอับปางลงเพราะทุ่นระเบิดเพียงลูกเดียว และความเสียหายรุนแรงขึ้นเนื่องจากช่องหน้าต่างและประตูกั้นน้ำเปิดอยู่ การสำรวจของสเปนเซอร์ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลกเป็นเวลาหลายปีโดยช่องเนชั่นแนลจีโอกราฟิก และช่อง 5 ของสหราชอาณาจักร[94]
ในปี ค.ศ. 2006 มีการจัดส่งคณะสำรวจใต้น้ำ โดยได้รับการสนับสนุนด้านการเงินและการบันทึกภาพจากช่องฮิสทรี ซึ่งได้รวบรวมนักดำน้ำที่มีทักษะ 14 คน เพื่อร่วมกันค้นหาสาเหตุที่ทำให้บริแทนนิกจมลงอย่างรวดเร็ว[94] หลังจากเตรียมการเรียบร้อยแล้ว ทีมดำน้ำก็ได้ดำลงไปสำรวจซากเรือในวันที่ 17 กันยายน เวลาอันน้อยนิดที่เหลืออยู่ต้องถูกตัดสั้นลงเมื่อตะกอนดินลอยขึ้นมา ทำให้ทัศนวิสัยเป็นศูนย์ นักดำน้ำทั้งสองคนรอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด การดำน้ำครั้งสุดท้ายนั้นมีแผนจะสำรวจห้องหม้อไอน้ำของบริแทนนิก แต่แล้วก็พบว่าการถ่ายภาพภายในซากเรือลึกเข้าไปขนาดนั้น จะเป็นการฝ่าฝืนใบอนุญาตที่ได้รับจากกรมโบราณคดีใต้น้ำ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้กระทรวงวัฒนธรรมกรีก
เนื่องจากอุปสรรคด้านภาษาทำให้หน่วยงานปฏิเสธคำร้องขอฉุกเฉินในครั้งนั้น ส่งผลให้คณะสำรวจไม่สามารถระบุสาเหตุของการจมอย่างรวดเร็วได้ แต่ได้บันทึกภาพวิดีโอเป็นเวลานานหลายชั่วโมงและรวบรวมข้อมูลสำคัญไว้ กรมโบราณคดีใต้น้ำได้ตระหนักถึงความสำคัญของภารกิจนี้ในภายหลัง และได้เชิญชวนให้กลับมาสำรวจซากเรืออีกครั้งภายใต้เงื่อนไขที่ผ่อนปรนกว่าเดิม
วันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 2009 คาร์ล สเปนเซอร์ ซึ่งกลับมาดำน้ำถ่ายทำซากเรือบริแทนนิกเป็นครั้งที่สาม ได้เสียชีวิตในประเทศกรีซ เนื่องจากอุปกรณ์เกิดปัญหาขณะถ่ายทำซากเรือให้กับเนชั่นแนลจีโอกราฟิก[95]
ในปี ค.ศ. 2012 ในการสำรวจที่จัดโดยอเล็กซานเดอร์ โซทีริอู และพอล ลิจเนน นักดำน้ำที่ใช้เครื่องช่วยหายใจแบบรีบรีเทอร์ได้ดำน้ำลงไปติดตั้งและเก็บอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ใช้เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อม เพื่อเปรียบเทียบอัตราการกัดกร่อนของเหล็กของบริแทนนิกเมื่อเทียบกับเรือไททานิก[96]
วันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 2019 ทิม ซาวิลล์ นักดำน้ำเทคนิคชาวอังกฤษ เสียชีวิตระหว่างการดำน้ำที่ระดับความลึก 393 ฟุต (120 เมตร) บนซากเรือบริแทนนิก[97]
เนื่องจากต้องยุติบทบาทในช่วงสงคราม ไม่เคยได้ให้บริการเชิงพาณิชย์ และมีผู้เสียชีวิตน้อย บริแทนนิกจึงไม่ได้รับความโด่งดังเท่ากับเรือไททานิก หลังจากถูกสาธารณชนลืมเลือนไปนาน ในที่สุดบริแทนนิกก็กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งเมื่อซากเรือถูกค้นพบ[98] ชื่อของบริแทนนิกถูกนำมาใช้อีกครั้งโดยไวต์สตาร์ไลน์ เมื่อได้นำเรือเอ็มวี บริแทนนิก (MV Britannic) เข้าประจำการในปี ค.ศ. 1930 เรือลำนี้ถือเป็นเรือลำสุดท้ายที่ได้ใช้ธงประจำบริษัท ก่อนที่จะปลดระวางในปี ค.ศ. 1960[99]
หลังจากเยอรมนีพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่งและยอมจำนนตามสนธิสัญญาแวร์ซาย เยอรมนีได้มอบเรือโดยสารบางลำเป็นค่าปฏิกรรมสงครามเพื่อชดเชยเรือลำอื่น ๆ ที่สูญเสียไปในสงคราม โดยสองลำถูกมอบให้กับไวต์สตาร์ไลน์ เรือลำแรกชื่อบิสมาร์คถูกเปลี่ยนชื่อเป็นมาเจสติก มาแทนที่บริแทนนิก ส่วนลำที่สองชื่อโคลัมบัส ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นโฮเมริก[100]
จอร์จ เพอร์แมน ผู้รอดชีวิตคนสุดท้าย เสียชีวิตในวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 2000 ก่อนอายุครบ 100 ปีเพียงไม่กี่วัน ในขณะที่เรือกำลังอับปาง เขาเป็นลูกเสืออายุ 15 ปีที่ทำงานอยู่บนบริแทนนิก และเป็นคนที่อายุน้อยที่สุดบนเรือ[101]
การอับปางของบริแทนนิกถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์ในปี ค.ศ. 2000 เรื่อง "บริแทนนิค" นำแสดงโดยเอ็ดเวิร์ด แอตเทอร์ตัน, อแมนดา ไรอัน, แจ็กเกอลีน บิสเซต และจอห์น ริส-เดวีส์ ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องสมมติที่กล่าวถึงสายลับชาวเยอรมันที่ก่อวินาศกรรมเรือ เนื่องจากบริแทนนิกกำลังลักลอบขนส่งอาวุธ
สารคดีของบีบีซี 2 เรื่อง 'Titanic's Tragic Twin – the Britannic Disaster' หรือในชื่อไทยว่า 'โศกนาฏกรรมของบริแทนนิก – พี่น้องคู่กรรมของไททานิก' ได้ออกอากาศเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 2016 โดยมีเคท ฮัมเบิล และแอนดี ทอร์เบต เป็นผู้ดำเนินรายการ สารคดีนี้ได้นำเสนอภาพยนตร์ใต้น้ำล่าสุดของซากเรือ และได้สัมภาษณ์ญาติของผู้รอดชีวิต[102]
สารคดีสืบสวนทางประวัติศาสตร์เรื่อง 'ปริศนาของบริแทนนิก' ออกฉายในปี ค.ศ. 2017 โดยมีริชาร์ด โคห์เลอร์ นักสำรวจทางทะเล เป็นผู้ดำเนินการสืบสวนการเดินทางครั้งสุดท้ายของเรือลำนี้[ต้องการอ้างอิง]
นวนิยายเรื่อง The Deep ของอัลมา แคตซู ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2020 นั้นมีฉากหลังอยู่บนบริแทนนิกและเรือไททานิก ซึ่งเป็นเรือแฝดกัน และมีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับเหตุการณ์อับปางของเรือทั้งสองลำ[103]
เรือไจแกนติก เป็นฉากหลักที่ปรากฏในเกมไขปริศนาหนีห้องชื่อ '999: Nine Hours, Nine Persons, Nine Doors' ที่ออกวางจำหน่ายในปี ค.ศ. 2009 นั้นได้อ้างอิงถึงบริแทนนิก ซึ่งเป็นเรือแฝดของเรือไททานิกที่ถูกดัดแปลงให้เป็นเรือพยาบาล[104]
ไปรษณียบัตรของอาร์เอ็มเอส บริแทนนิก | ||||
---|---|---|---|---|
|
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.