Loading AI tools
มังงะ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เซนต์เซย่า (ญี่ปุ่น: 聖闘士星矢; โรมาจิ: Seinto Seiya; ทับศัพท์: เซนโตะเซยะ) เป็นชื่อของหนังสือการ์ตูน ซึ่งแต่งขึ้นโดย มาซามิ คูรูมาดะ ซึ่งใช้กลุ่มดาวม้าบินมาเป็นตัวเอกของเรื่อง เนื่องจากม้าบินกำลังอยู่ในท่าทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ตรงกับภาพลักษณ์ของตัวเอกที่เขาได้คิดไว้นั่นเอง โดยมีเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กหนุ่ม 5 คนที่เรียกว่า เซนต์ (saint) ต่อสู้โดยใช้ร่างกายของตนเองเป็นอาวุธเพื่อปกป้องคิโดะ ซาโอริ ผู้เป็นอวตารของเทพีอาเทน่า และต่อสู้กับทัพศัตรูแห่งความชั่วร้าย ในโลกร่วมสมัยที่มีบรรยากาศของเทพปกรณัมกรีก
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
เซนต์เซย่า | |
聖闘士星矢 | |
---|---|
ชื่อภาษาอังกฤษ | Saint Seiya หรือ Knights of the Zodiac |
แนว | แอคชั่น, แฟนตาซี |
มังงะ | |
เขียนโดย | มาซามิ คูรูมาดะ |
สำนักพิมพ์ | สำนักพิมพ์ชูเอฉะ สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ |
อนิเมะ | |
กำกับโดย | โคโซ โมริชิตะ (ตอนที่ 1-73) คาซึฮิโตะ คิคุจิ (ตอนที่ 74-114) |
สตูดิโอ | โตเอแอนิเมชัน |
ในประเทศญี่ปุ่น เซนต์เซย่าลงตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในนิตยสารโชเน็นจัมป์รายสัปดาห์ ของสำนักพิมพ์ชูเอฉะ และออกเป็นหนังสือรวมเล่มจำนวน 28 เล่มจบ ส่วนในประเทศไทย สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจได้รับสิทธิ์ในการตีพิมพ์ฉบับรวมเล่ม นอกจากภาคหลักแล้ว เซนต์เซย่ายังได้รับการแต่งภาคเสริมขึ้นอีกหลายภาคด้วยกัน ได้แก่ ภาค Episode G , Next Dimension และ The Lost Canvas
เซนต์เซย่าถูกสร้างขึ้นในรูปแบบของอนิเมะ และออกฉายครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2529 โดยบริษัท โตเอแอนิเมชัน ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีจนได้ออกอากาศติดต่อกันนานเกือบ 3 ปี นอกจากนี้ยังได้แพร่ภาพทางโทรทัศน์ในประเทศต่าง ๆ อีกหลายประเทศ ทั้งในแถบเอเชียด้วยกัน เช่น ประเทศจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ประเทศแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา ละตินอเมริกา รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งมีการนำเซนต์เซย่ามาออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2531 ทางไทยทีวีสีช่อง 3 โดยใช้ชื่อว่า "เซย่า เทพบุตรหมัดดาวหาง" จากนั้นก็ได้ออกอากาศซ้ำอีกในปี พ.ศ. 2547 ทางสถานีโทรทัศน์ยูบีซี (ทรูวิชั่นส์ ในปัจจุบัน) และมีการนำออกวางจำหน่ายในรูปแบบวีซีดีโดย บริษัท การ์ตูนอินเตอร์ จำกัด ด้วย นอกจากนี้เซนต์เซย์ย่ายังได้รับการดัดแปลงเป็นสื่อในรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ภาพยนตร์ ละครเวที เกม และของเล่นต่าง ๆ
ในขณะที่ มาซามิ คุรุมาดะ กำลังวางเค้าโครงเนื้อเรื่องของผลงานเรื่องใหม่อยู่ เขาก็ได้พบภาพของ "ฝนดาวตกสิงโต" เข้า ฝนดาวตกจำนวนมหาศาลที่ตกลงมาจากท้องฟ้านั้น ดูคล้ายกับลักษณะของเซนต์มาก คุรุมาดะจึงคิดจะออกแบบให้ตัวเอกของเรื่องเป็นราศีสิงห์ แต่หลังจากได้ค้นข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติม เขาก็พบกลุ่มดาวม้าบิน ซึ่งม้าบินหรือเพกาซัสที่กำลังอยู่ในท่าทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ตรงกับภาพลักษณ์ของตัวเอกที่คุรุมาดะกำหนดเอาไว้เป็นอย่างมาก เขาจึงตัดสินใจเลือกเพกาซัสให้เป็นกลุ่มดาวประจำตัวเอก และนำลักษณะของฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต (Leonids) มาเป็นต้นแบบของท่าไม้ตายของตัวเอก แล้วคุรุมาดะก็ตั้งชื่อให้กับตัวเอกของเรื่องว่า "เซย่า"[1]
เมื่อวางเค้าโครงเรื่องเสร็จ คุรุมาดะก็เลือกกลุ่มดาวขึ้นมา 10 กลุ่มดาว (จากทั้งหมด 88 กลุ่มดาว) และกำหนดให้เป็นบรอนซ์เซนต์ทั้ง 10 คน ส่วนกลุ่มดาวอื่นๆ ที่เหลืออีก 78 กลุ่มดาว ก็ได้รับการออกแบบให้เป็นเซนต์ในระดับต่างๆ ซึ่งมีความสามารถที่แตกต่างกันไป[1]
เซนต์เซย่าเป็นหนึ่งในผลงานที่ตีพิมพ์ออกมาในช่วงยุคทองของนิตยสารจัมป์รายสัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการ์ตูนดังๆ ในยุค'80 ตีพิมพ์อยู่หลายเรื่อง เช่น ดราก้อนบอล ฤทธิ์หมัดดาวเหนือ คินนิคุแมน โรงเรียนลูกผู้ชาย และซิตี้ฮันเตอร์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มนักรบเด็กหนุ่มห้าคน (เซนต์) ซึ่งต่อสู้โดยใช้ร่างกายของตนเองเป็นอาวุธ ในโลกร่วมสมัยที่มีบรรยากาศของเทพปกรณัมกรีก เด็กหนุ่มทั้งห้าคนนี้ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ปกป้อง คิโดะ ซาโอริ ผู้เป็นอวตารของเทพีอาเทน่า เทพีแห่งปัญญาและสงคราม และต่อสู้กับทัพศัตรูแห่งความชั่วร้าย ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงจากทั้งผู้ชมที่เป็นผู้ชายและผู้หญิง ต่อมาเมื่อถูกสร้างเป็นอนิเมะออกอากาศทางโทรทัศน์ ก็มีกระแสตอบรับที่ดีจนได้ออกอากาศติดต่อกันนานเกือบ 3 ปี ส่งผลให้สินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวกับเซนต์เซย่า เช่น วิดีโอภาพยนตร์การ์ตูน ซอฟต์แวร์เกม หุ่นฟิกเกอร์และหุ่นเหล็กในรูปแบบต่างๆ ที่ผลิตโดยบริษัทบันไดในช่วงนั้น ได้รับความนิยมและขายดีเป็นอย่างมากทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ[2][3][4] ยิ่งไปกว่านั้นในปัจจุบันยังได้มีการผลิตของเล่นที่เรียกว่า เซนต์คลอธมิธ ซึ่งเป็นเหมือนกับหุ่นแอคชันฟิกเกอร์รุ่นปรับปรุงใหม่ออกมาวางจำหน่ายอีกด้วย
นอกจากนี้ เซนต์เซย่า ยังได้สร้างอิทธิพลให้แก่การ์ตูนญี่ปุ่นในยุคต่อมาอย่าง ซามูไรทรูปเปอร์ ที่สร้างโดยซันไรส์ ในปี พ.ศ. 2531 และศึกเทพสวรรค์ ชูราโตะ ที่สร้างโดยทัตสึโนโกะ ในปี พ.ศ. 2532 ซึ่งแนวเรื่องของผลงานทั้ง 2 ที่กล่าวมา ต่างก็เน้นในด้านการต่อสู้และมิตรภาพของเหล่าเด็กหนุ่มที่สวมชุดเกราะ โดยรูปแบบของเกราะจะแยกชิ้นส่วนมาประกอบเข้ากับร่างกายเช่นเดียวกับในเรื่องเซนต์เซย่า[4][5]
ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากในประเทศไทยแล้ว เซนต์เซย่ายังได้ไปแพร่ภาพทางโทรทัศน์ในประเทศต่างๆ อีกหลายประเทศ ทั้งในแถบเอเชียด้วยกัน เช่น ประเทศจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และอีกฟากของทวีปอย่างแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมไปถึงลาตินอเมริกา โดยถึงแม้ว่าในแถบยุโรปจะมีความเข้มงวดเกี่ยวกับฉากต่อสู้ที่มีความรุนแรงในเรื่อง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เซนต์เซย์ย่าเสื่อมความนิยมลงแต่อย่างใด เพราะหลังจากที่แพร่ภาพจบชุด ยังถูกนำกลับมาฉายใหม่อีกหลายครั้ง ส่วนที่ประเทศเม็กซิโกในแถบละตินอเมริกา ก็ได้มีการแพร่ภาพเรื่องเซนต์เซย่าถึง 14 ครั้งด้วยกัน[4]
และจากการถูกนำไปแพร่ภาพในหลายๆ ประเทศ ทำให้ชื่อเรื่อง เซนต์เซย่า ได้รับการตั้งขึ้นใหม่ตามภาษาและวัฒนธรรมของบางประเทศ เช่น ช่องการ์ตูนเน็ตเวิร์กในสหรัฐอเมริกาใช้ชื่อว่า "Knights of the Zodiac" ภาษาฝรั่งเศสใช้ชื่อว่า "Les Chevaliers du Zodiaque" ภาษาอิตาลีใช้ชื่อว่า "I Cavalieri dello zodiaco" ภาษาโปรตุเกสใช้ชื่อว่า "Os Cavaleiros do Zodíaco" ภาษาโปแลนด์ใช้ชื่อว่า "Rycerze Zodiaku" เป็นต้น
เนื้อเรื่องของเซนต์เซย่านั้น ในฉบับมังกะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ภาค ด้วยกัน ได้แก่ ภาคศึก12 ราศีภาคโพไซดอน และภาคฮาเดส แต่ในอนิเมะนั้น ได้เพิ่มภาคแอสการ์ดเข้ามา ซึ่งเป็นภาครอยต่อระหว่าง ภาคศึก 12 ราศีและภาคโพไซดอน และภายหลังได้เพิ่มเนื้อเรื่องต่อออกไปอีกในภาควิญญาณแห่งโกลด์ นอกจากนี้ ยังได้มีการแต่งเนื้อเรื่องเพิ่มขึ้นมาในภายหลังอีกหลายภาคด้วยกัน สำหรับเนื้อเรื่องย่อของภาคต่าง ๆ มีดังนี้
ณ แซงทัวรี่ อาเทน่ากลับมาเกิดใหม่ตามยุคสมัย เคียวโก(แอเรียส ชิออน)จึงจัดการเลือกให้ 1 ในโกลด์เซนต์มาเป็นเคียวโก ซึ่งตัวเต็งคือ ไอโอลอสกับซากะ แต่ซากะที่กลัวถึงอีกบุคลิกในตัวจึงหนีหายสาปสูญไป ทำให้ไอโอลอสเป็นผู้ถูกเลือก แต่ไอโอลอสก็ปฏิเสธ วันหนึ่ง ที่สตาร์ฮิล ซากะไปถามสาเหตุจากเคียวโก จนรู้ว่าเคียวโกเกรงกลัวถึงจิตใจชั่วร้ายในตัวซากะ ทำให้ซากะฆ่าเคียวโกกับสวมรอย หวังฆ่าอาเทน่า แต่ไอโอลอสช่วยไว้ทัน แต่ก็ถูกไล่ล่าจนเสียชีวิต ก่อนตายได้ฝากอาเทน่าและชุดคล็อธซาจิทาเรียสไว้กับคิโด มิสึมาสะเป็นผู้ดูแล เนื้อเรื่องหลังจากนั้นของภาคแซงค์ทัวรี่ อาจจะแบ่งย่อย ๆ ได้เป็น
ภาคศึกอัศวินแห่งแอสการ์ด เป็นเนื้อเรื่องที่แต่งขึ้นมาสำหรับภาคอนิเมะ ไม่มีในมังงะ โดยเนื้อเรื่องเริ่มขึ้นหลังเสร็จสิ้นจากศึก 12 ปราสาทแห่งแซงค์ทัวรี่ โดยโพราลิส ฮิลด้า ผู้ปกครองแคว้นแอสการ์ด ผู้ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเทพเจ้าโอดีน ถูกอำนาจของ "แหวนนีเบอลุง" เข้าครอบงำ ซึ่งทำให้ฮิลด้ามีความต้องการที่จะครอบครองแซงค์ทัวรี่และพื้นพิภพทั้งหมด โดยมีก็อดวอริเออร์ทั้ง 7 เป็นผู้คุ้มครอง โดยอาเทน่าได้เดินทางมายังแอสการ์ดเนื่องจากรับรู้ถึงสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น และได้เสียสละตนทำหน้าที่ยับยั้งการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก เพื่อช่วยโลกและอาเทน่าพวกเซย่าจึงต้องรวบรวมโอดีนแซฟไฟร์ซึ่งจะได้มาโดยการกำจัดเหล่าก็อดวอริเออร์ทั้ง 7 คน เพื่อนำมาใช้ถอดแหวนนีเบอลุงออกจากนิ้วของฮิลด้าให้ได้ภายในเวลาครึ่งวัน หลังจากที่พวกเซย่าสามารถโค่นก็อดวอริเออร์ทั้ง 7 คนและรวบรวมโอดีนแซฟไฟร์ครบ 7 เม็ดแล้ว เซย่าก็ได้ใช้โอดีนแซฟไฟร์ปลุก "ชุดโอดีนโร้บ" ขึ้นและใช้ดาบของโอดีนโร้บทำลายแหวนนีเบอลุงที่นิ้วของฮิลด้าได้สำเร็จ โดยที่แท้จริงแล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้นเป็นแผนของเจ้าสมุทรโพไซดอนนั่นเอง[10]
ด้วยอำนาจของเทพสมุทรโพไซดอนได้ทำให้เกิดฝนตกอย่างหนักจนน้ำท่วมทั่วโลก เพื่อกำจัดมนุษย์ และสร้างยูโธเปียขึ้นปกครองมาใหม่อีกครั้ง เพื่อยุติภัยพิบัติครั้งนี้ อาเทน่าจึงได้เดินทางไปพบโพไซดอนที่วิหารใต้ท้องมหาสมุทร และได้เสียสละตัวเองเข้าไปในเสาเมนเบรดวินเนอร์เพื่อรองรับน้ำฝนจากบนโลกให้มาตกภายในเสานี้เท่านั้น พวกเซย่าที่ฟื้นตัวจากโคม่า ได้คลอธใหม่ที่อาบเลือดโกลด์เซนต์ จึงต้องช่วยอาเทน่าให้ออกมาจากเสาเมนเบรดวินเนอร์ให้ได้ก่อนที่อาเทน่าจะจมน้ำตาย โดยการกำจัดเหล่ามารีเนอร์ทั้ง 7 คน รวมทั้งโค่นเสาค้ำมหาสมุทรที่เหล่ามารีเนอร์คุ้มครองอยู่ด้วย โดยใช้อาวุธของชุดคล็อธไลบร้า พอโค่นมารีเนอร์กับทำลายเสาค้ำมหาสมุทรทั้ง 7 ต้นได้แล้ว จึงบุกเข้าไปยังวิหารโพไซดอนเพื่อทำลายเสาเมนเบรดวินเนอร์ แต่ถูกโพไซดอนขัดขวางไว้ ซึ่งเหล่าโกลด์เซนต์ได้ส่งชุดคล็อธซาจิททาเรียส ชุดคล็อธไลบร้า และชุดคล็อธอควอเรียสมาช่วยเหลือ พวกเซย่าได้รวมรวบพลังไปยังลูกธนูของซาจิททาเรียสแล้วยิงเข้าใส่จูเลี่ยน โซโลสำเร็จทำให้โพไซดอนในตัวตื่นขึ้นมา หลังจากนั้นก็ได้เข้าทำลายเสาเมนเบรดวินเนอร์และช่วยเหลืออาเทน่าได้สำเร็จ อาเทน่าจึงใช้คนโทกักวิญญาณของโพไซดอนไว้อีกครั้งหนึ่ง[11]
เนื้อเรื่องของภาคฮาเดสนั้นเริ่มต้นจากพลังของอาเทน่าที่ใช้ผนึกเหล่าสเป็คเตอร์ไว้หลังจากการต่อสู้ในสงครามศักดิ์สิทธิ์เมื่อ 243 ปีก่อนนั้น ได้เสื่อมลง ซึ่งทำให้เหล่าสเป็คเตอร์ภายใต้การนำของฮาเดส เทพเจ้าแห่งยมโลก (โลกหลังความตาย) ฟื้นคืนชีพกลับมาอีกครั้ง เนื้อเรื่องหลังจากนั้นของภาคศึกเทพเจ้าฮาเดส อาจแบ่งย่อยได้ ดังนี้
ในภาคนี้จะดำเนินเรื่องต่อจากภาคฮาเดสบทอินเฟอร์โน่ และดำเนินพร้อมกับบทเอลิเชี่ยน โดยภาคนี้เหล่าโกลด์เซนต์จะรับบทเป็นตัวละครหลักโดยมีเลโอ ไอโอเลีย เป็นพระเอก โดยเรื่องเริ่มขึ้นหลังจากเหล่าโกลด์เซนต์ทั้ง 12 เสียชีวิตจากการยิงศรทองระเบิดหน้ากำแพงวิปโยคเพื่อเปิดทางให้พวกเซย่าผ่านไป พวกเขาก็ถูกคืนชีพโดยฝีมือใครบางคนที่มาโผล่แอสการ์ด โดยพวกเขาทุกคนต้องหาคำตอบว่าถูกคืนชีพมาเพื่ออะไร เกิดอะไรขึ้นกับที่แอสการ์ด โดยภาคนี้จะแสดงให้เห็นถึงการร่วมต่อสู้ร่วมกันของเหล่าโกลด์เซนต์ทั้ง 12
นอกจากนี้ ยังมีการแต่งเนื้อเรื่องขึ้นมาใหม่ในช่วงหลัง โดยเนื้อเรื่องที่แต่งขึ้นมาใหม่นี้ จะเป็นการกล่าวถึงช่วงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการดำเนินเรื่องในภาคหลัก ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
ดูบทความหลักที่ ตัวละครในเซนต์เซย่า
ตัวละครหลักของเซนย์เซย์ย่านั้น ได้แก่ อาเทน่าและเซนต์แห่งอาเทน่า โดยเซนต์แห่งอาเทน่าแต่ละคนนั้นจะมีกลุ่มดาวคุ้มครองประจำตัวและมีจำนวน 88 คนเท่ากับจำนวนกลุ่มดาวบนท้องฟ้า[15] สามารถแบ่งแยกออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ บรอนซ์เซนต์ ซิลเวอร์เซนต์ และโกลด์เซนต์ เซนต์แห่งอาเทน่ามีหน้าที่ปกป้องอาเทน่า ซึ่งทรงรังเกียจการใช้อาวุธ ดังนั้น เหล่าเซนต์จึงต้องพยายามฝึกฝนร่างกายของตนเพื่อใช้เป็นอาวุธแทน โดยหมัดของเซนต์นั้นสามารถแหวกฟ้าและการเตะของเซนต์นั้นก็สามารถทลายพื้นดินได้เช่นกัน[15]
เกราะของนักรบในเนื้อเรื่อง ที่นักรบประจำเทพฝ่ายไหนใส่กัน แต่ในกรณีเทพไม่จำเป็นต้องใส่เกราะก็มีพลังมากอยู่แล้ว ถึงกับมีเกราะเป็นเหมือนเสื้อผ้า แต่เทพบางองค์ใส่เกราะออกรบจะมีพลังมากก็มี โดยทุกชุดเกราะส่วนหัวคือหน้ากากหรือมงกุฎคือประดับเท่านั้น มีหรือไม่ก็ได้
เครื่องป้องกันร่างกายของเหล่าเซนต์แห่งอาเทน่า ปกติจะมีรูปร่างต้นแบบแตกต่างกันไปตามลักษณะของกลุ่มดาว แต่พอถึงเวลาทำการต่อสู้ คลอธจะทำปฏิกริริยาเมื่อเจ้าของเร่งคอสโมใส่ตัวคลอธแยกชิ้นส่วนออกมาประกอบเป็นเกาะเข้ากับร่างของเจ้าของ ประสิทธิผลของคลอธจะขึ้นอยู่กับพลังคอสโมของเซนต์ผู้ใช้แต่ละคนด้วย อ้างอิงได้จากตอนที่เซย่าสวมคลอธครั้งแรกแล้วบ่นว่า เป็นเกราะที่ไม่มีประโยชน์ใช้ป้องกันอะไรไม่ได้เลย จนมารีนให้เร่งพลังคอสโม จึงสามารถสะบัดหลุดจากการจับกุมของเหล่าทหารแห่งแซงค์ทัวรี่ได้ เมื่อถอดคลอธออกจากตัว คลอธจะกลับมารวมตัวกันกับมีกล่องคลอธปิดเอาไว้
โดยปกติแล้ว ถ้าหากคลอธได้รับความเสียหายเล็กน้อยจากการต่อสู้ ก็จะซ่อมแซมตัวเองได้ ทว่าหากได้รับความเสียหายอย่างหนักก็แตกหักจนซ่อมตัวเองไม่ได้ = พลังในการฟื้นฟูตัวเองของคลอธนั้นหายไปแล้ว แต่ก็เป็นสื่อเร่งคอสโมโจมตีได้เหมือนเดิม แต่ด้วยว่าตอนคลอธปกตินิดนึง แค่ต้องเร่งคอสโมให้แรงกว่าเดิมเท่านั้น ซึ่งการจะให้คลอธมีพลังฟื้นตัวอีกที กับคลอธที่พังถูกซ่อมแซมอีกครั้ง คือ จำต้องใช้เลือดจำนวนมากของเซนต์(อ้างอิงจากตอนที่ชิริวเอาคลอธไปให้มูซ่อม)แต่ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว แค่บริจาคเลือดเซนต์(เฉพาะเซนต์เต็มตัวหรือผู้สืบทอดเท่านั้น แต่เซนต์ฝึกหัดไม่ได้)ออกมา 1 ถุง ราดใส่คลอธพัง กับให้พวกช่างซ่อมคลอธทำการซ่อมตีรูปขึ้นมาใหม่ คลอธถูกซ่อมจนมีรูปลักษณ์ใหม่นิดหน่อย กับมีพลังคอสโมเพิ่มขึ้น แต่การซ่อมคลอธที่สูญเสียพลังการฟื้นตัว จะใช้เวลาเกือบชม. แต่ถ้าสาหัสจนพังไปแล้วเป็นแค่คลอธพังสื่อของคอสโม ต้องใช้เวลานาน
แต่สำหรับคลอธฟีนิกซ์คือข้อยกเว้น แค่ 1 ในบรรดาคลอธทั้งหมด ซ่อมแซมและฟื้นฟูสภาพได้เอง แม้จะถูกทำลายจนแหลกเป็นผุยผง(แต่คนสวมมีขีดจำกัดเหมือนเดิม)
ถ้าคลอธที่พังได้รับเลือดจากเซนต์ที่ยศสูงกว่า เช่น บรอนซ์คลอธได้รับเลือดจาก ซิลเวอร์หรือโกลด์เซนต์ คลอธจะเปลี่ยนสีไปตามเลือดของเซนต์ยศนั้นคือ ซิลเวอร์คือสีเงิน โกลด์คือสีทอง เเซนต์สวมคลอธนั้นอยู่ตอนนั้นเร่งคลอสโมถึงขีดสุด สีคลอธจะเปลี่ยนสี อย่างบรอนต์คลอธอาบเลือดซิลเวอร์หรือโกลด์ เร่งคอสโมระดับเซเวนเซนต์ สีจะเปลี่ยนเป็นเงินหรือทอง กับมีคุณสมบัติเกือบเท่าคลอธยศสูงของจริง(มีฤทธิ์แค่ชั่วคราวเฉพาะตอนสวมเท่านั้น)
แต่พอคลอธนั้นได้รับเลือดของอาเทน่า แม้แค่นิดนึง(ที่จริงไม่ต้องให้อาทีน่ากรีดเลือดก็ได้ แค่อาทีน่าบริจาคเลือดสัก 1 ถุงนำเศษเลือดไปสาดใส่คลอธแค่นิดเดียว หรือแค่เศษเลือด คลอธจะฟื้นตัวแม้ว่าจะพังเสียหายเกินไปก็จะฟื้นฟูทันที คลอธนั้นประสานกับเซนต์ที่เร่งคอสโมระดับเอ้กเซน จะทำให้เปลี่ยนเป็นก๊อดคลอธได้ แต่พอถอดคลอธออกเมื่อไหร่จะคลายตัวทันที เป็นคลอธที่แตกร้าวดังเดิม(ก่อนซ่อมด้วยเลือดอาเทน่า)แต่ก็เร่งคอสโมถึงระดับเอ้กกเซนต์ให้เป็นก็อดคลอธได้ตลอดตอนใช้เท่านั้น แต่ถ้าผ่านไป 200 กว่าปี(พลังจากเลือดอาเทน่ายุคนั้นจะหมดอายุ)จนอาเทน่ากลับมาเกิดใหม่ ต้องได้รับเลือดของอาเทน่าใหม่อีกทีกับเร่งคอสโมระดับเอ้กเซนส์ถึงจะเป็นก๊อดคลอธได้
นอกจากนี้ คลอธยังสามารถพัฒนาได้ด้วยการรับเอาเลือดที่ประกอบด้วยพลังคอสโมของเหล่าเซนต์ในระดับต่างๆ เช่น คลอธที่ใช้ในศึกอัสการ์ด ที่มีความสามารถเทียบเท่าเกราะทอง เนื่องจากได้รับเลือดของเหล่าโกลด์เซนต์ รวมถึงเกราะแห่งเทพ(ก็อดคลอธ)ในศึกเจ้านรกที่เอลิเชี่ยน ที่พัฒนาขึ้นจากเลือดของอาเทน่า รวมทั้งยังมีคลอธของเทพีอาเทน่าเอง
ดูเพิ่ม เซนต์เซย่า ภาค The Lost Canvas จ้าวนรกฮาเดส
เซนต์เซย่าฉบับหนังสือการ์ตูนชุดแรกนั้น มาซามิ คุรุมาดะ เป็นผู้แต่งเซนต์เซย่าและวาดลายเส้นด้วยตัวเอง เขาตั้งใจที่จะให้เซนต์เซย่าเป็นผลงานชิ้นเอกของตัวเอง[15] โดยเซนต์เซย่าเริ่มลงตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารโชเน็นจัมป์รายสัปดาห์ สำนักพิมพ์ชูเอฉะ[17] และออกจำหน่ายเป็นหนังสือฉบับรวมเล่ม รวมทั้งสิ้น 28 เล่มจบ ซึ่งสามารถแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ภาค ได้แก่ ภาคแซงค์ทัวรี่ ภาคโปเซดอน และภาคฮาเดส ในประเทศไทย เซนต์เซย่าได้ตีพิมพ์เล่มแรก เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2543 และเล่มสุดท้ายสำหรับการตีพิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2549[18] โดยสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ เป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์จากสำนักพิมพ์ชูเอฉะเพื่อจัดทำเซนต์เซย่าในรูปแบบภาษาไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย[15]
หลังจากประสบความสำเร็จจากเซนต์เซย์ย่าชุดแรกแล้ว มาซามิ คุรุมาดะ ได้แต่ง "เซนต์เซย่า Episode G" ขึ้นมา ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อสู้ของเหล่าโกลด์เซนต์กับพวกไททัน โดยระยะเวลาของภาคนี้จะย้อนกลับไป 7 ปี นับจากยุคของเซย่า โดยมี เลโอ ไอโอเลีย โกลด์เซนต์ราศีสิงห์ เป็นพระเอกของเรื่อง ความหมายของ G ในตอนนี้นั้น คือ Gold saint นั่นเอง[19] ถึงแม้ว่าเนื้อเรื่องของเซนต์เซย่าในตอนนี้จะแต่งขึ้นโดยมาซามิ คุรุมาดะ แต่ผู้ที่วาดลายเส้นนั้น คือ เมกุมุ โอคาดะ จึงทำให้ลายเส้นของภาคนี้ต่างออกไปจากภาคที่แล้ว ส่วนสาเหตุในการเปลี่ยนผู้วาดนั้นไม่ทราบอย่างแน่ชัด ซึ่งเมกุมุ โอคาดะได้กล่าวถึงการที่เขารับหน้าที่ในการวาดลายเส้นสำหรับเซนต์เซย่า Episode G ว่า เขารู้สึกดีใจมาก เพราะนึกไม่ถึงว่านักเขียนคนอื่นจะได้เขียน และนับเป็นครั้งแรกที่เขาได้เขียนการ์ตูนโดยไม่ต้องคิดพลอตเรื่อง[20] อย่างไรก็ตาม ลายเส้นของเมกุมุ โอคาดะก็ได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นลายเส้นที่ออกแนวผู้หญิงมาก แต่ด้วยเนื้อหาและลายเส้นที่วาดได้ละเอียดก็ทำให้ภาคนี้ได้รับความนิยมที่ดีขึ้น[19] เซนต์เซย่า Episode G ตีพิมพ์ในประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2546 สำหรับในประเทศไทย สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจเป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์จากสำนักพิมพ์อาคิตะ เพื่อจัดทำเซนต์เซย์ย่าในรูปแบบภาษาไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย[20] ปัจจุบัน (เม.ย. 2551) ตีพิมพ์ออกมาแล้วเป็นจำนวน 4 เล่ม
นอกจาก เซนต์เซย่า Episode G แล้ว มาซามิ คุรุมาดะ ยังได้แต่งเซนต์เซย่าตอนใหม่อีก ได้แก่ เซนต์เซย่า ภาค The Lost Canvas จ้าวนรกฮาเดส โดยมีชิโอริ เทชิโรงิ เป็นผู้วาดลายเส้น ซึ่งเทชิโรงิได้กล่าวความรู้สึกเมื่อได้รับทราบว่าตนเองจะได้เป็นผู้วาดเซนต์เซย่าภาคนี้ว่า "ในตอนที่มีการพูดถึงงานนี้ ฉันถึงกับร้องไห้ออกมาและก็โทรศัพท์ไปหาเพื่อน เนื่องจากรู้ว่าตนเองจะได้เขียนเรื่องเซนต์เซย่า แถมคุณคุรุมาดะยังมาหาด้วยตัวเองเลยด้วย ในชีวิตฉันคงจะไม่มีงานใดพิเศษสุดเท่ากับงานชิ้นนี้อีกแล้ว"[21] สำหรับเนื้อหาของตอนนี้จะกล่าวถึงเหตุการณ์สงครามศักดิ์สิทธิ์ระหว่างอาเทน่ากับฮาเดสเมื่อ 243 ปีก่อน โดยได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2550 สำหรับในประเทศไทย สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจเป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์จากสำนักพิมพ์อาคิตะเพื่อจัดทำเซนต์เซย่าในรูปแบบภาษาไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย[21]
นอกจากฉบับหนังสือการ์ตูนที่มีการรวมเล่มออกมาแล้วดังที่กล่าวมา มาซามิ คุรุมาดะ ยังได้แต่ง "เซนต์เซย่า Next Dimension" ขึ้นมาอีกภาค และเป็นผู้วาดลายเส้นเอง โดยเซนต์เซย่าในภาคนี้ได้กล่าวถึงเหตุการณ์การต่อสู้ระหว่างพวกเซย่าและฮาเดส ซึ่งทำให้ฮาเดสนึกถึงเหตุการณ์เมื่อ 243 ปีก่อน ว่าเขาได้เคยพบกับเซนต์เพกาซัสมาก่อนแล้วนั่นเอง ในประเทศญี่ปุ่น เซนต์เซย่า Next dimension ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกลงในลงนิตยสารการ์ตูน โชเน็นแชมเปี้ยน ฉบับที่ 22-23 และตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารฉบับเดียวกันเป็นระยะ ๆ[22] สำหรับในประเทศไทย สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจเป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์ในรูปแบบภาษาไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ปัจจุบันพิมพ์ออกมาทั้งหมดในไทยถึงเล่มที่ 5 เล่ม (เป็น 4 สีทั้งเล่ม ราคาเล่มละ 150 บาท) ปัจจุบันที่ญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นๆออกถึงเล่ม 10 (ส่วนในไทยคาดว่าจะ..ไม่ได้พิมพ์ต่อแล้ว...)
เซนต์เซย่าได้รับการสร้างเป็นอนิเมะ โดยบริษัทโตเอแอนิเมชัน และออกอากาศทางสถานีทีวีอาซาฮี ทุกวันเสาร์ เวลา 19.00 - 19.30 น. ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2529 ถึง 1 เมษายน พ.ศ. 2532[23] มีความยาวตอนละ 20 นาทีโดยประมาณ[24] เซนต์เซย่าฉบับโทรทัศน์นั้น แบ่งเป็น 5 ภาคด้วยกัน ได้แก่ ภาค 1 เซนต์แห่งอาเทน่า (ตอนที่ 1-22) ภาค 2 นักรบเกราะเงิน (ตอนที่ 23-40) ภาค 3 ปราสาท 12 ราศี (ตอนที่ 41-74) ภาค 4 อัศวินแห่งแอสการ์ด (ตอนที่ 75-99) และภาค 5 เจ้าสมุทรโพไซดอน (ตอนที่ 100-114) รวม 114 ตอนจบ โดยเนื้อเรื่องหลักนั้นนำมาจากฉบับหนังสือการ์ตูน แต่ได้เพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนเข้าไป โดยเฉพาะภาค "อัศวินแห่งแอสการ์ด" นั้นเป็นภาคที่แต่งขึ้นใหม่ ซึ่งไม่มีในเซนต์เซย่าฉบับหนังสือการ์ตูน นอกจากนี้ชุดคล็อธของเซนต์บางคน เช่น เหล่าบรอนซ์เซนต์ ยังมีความแตกต่างจากฉบับหนังสือการ์ตูน
สำหรับประเทศไทย เซนต์เซย่าเคยออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อปี พ.ศ. 2531 โดยใช้ชื่อว่า "เซย่า เทพบุตรหมัดดาวหาง" ซึ่งได้ออกอากาศซ้ำหลายครั้งทางช่อง 3 ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ก็ได้มีการนำมาออกอากาศซ้ำอีกครั้งทางสถานีโทรทัศน์ยูบีซี หรือ ทรูวิชั่นส์ ในปัจจุบัน และออกวางจำหน่ายในรูปแบบวีซีดีโดยบริษัท การ์ตูนอินเตอร์ จำกัด จำนวน 57 แผ่นจบ[25] ต่อมาได้มีการผลิตและออกวางจำหน่ายอีกครั้งในรูปแบบ DVD โดย DEX คาดว่าจะมีจำนวน 23 แผ่นจบ[26]
เซนต์เซย่าฉบับโทรทัศน์ แบ่งออกเป็นภาคต่าง ๆ รวม 114 ตอน ซึ่งมีรายชื่อดังต่อไปนี้[27]
|
|
|
นอกจากฉบับที่ออกฉายทางโทรทัศน์แล้ว เซนต์เซย่า ยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูนสำหรับฉายในโรงภาพยนตร์ด้วย จนถึงปัจจุบัน เซนต์เซย่าฉบับภาพยนตร์ออกฉายแล้วจำนวน 5 ภาค โดยภาคสงครามเทพีอีริส ปริศนาแอปเปิ้ลทองคำ เป็นฉบับภาพยนตร์ที่มีการออกฉายเป็นภาคแรกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 และฉบับภาพยนตร์ล่าสุด คือ ภาคโหมโรงสู่ภาคสวรรค์ ซึ่งออกฉายเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547[24] อย่างไรก็ตาม เนื้อเรื่องของฉบับภาพยนตร์ใน 4 ภาคแรก ได้แก่ ภาคสงครามเทพีเอริส ปริศนาแอปเปิ้ลทองคำ ภาคสงครามเทพเจ้าโอดีนแห่งแอสการ์ด ภาคสงครามสุริยเทพอาเบล และภาคสงครามครั้งสุดท้าย ความทะเยอทะยานของลูซิเฟอร์นั้นไม่ได้แต่งขึ้นโดยมะซะมิ คุรุมะดะ เรื่องราวและตัวละครต่าง ๆ จึงอาจจะมีความขัดแย้ง และไม่ต่อเนื่องกับรายละเอียดของเซนต์เซย่าฉบับหนังสือการ์ตูน แต่ภาคโหมโรงสู่ภาคสวรรค์นั้น เป็นฉบับภาพยนตร์ภาคเดียวที่แต่งขึ้นโดยมะซะมิ คุรุมะดะ เป็นการเกริ่นถึงเรื่องราวภายหลังจากสงครามศักดิ์สิทธิ์กับฮาเดสเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีการคาดหมายว่า การที่มะซะมิ คุรุมะดะ แต่งภาพยนตร์ฉบับนี้ขึ้นมานั้น เขาอาจจะแต่งเซนต์เซย่าในภาคต่อไป คือ ภาคสวรรค์ หรือ Tenkai hen ขึ้นมาในภายหน้านั่นเอง[24] เซนต์เซย่าฉบับภาพยนตร์นั้น มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
เซนต์เซย่าฉบับภาพยนตร์ ภาคสงครามเทพีอีริส ปริศนาแอปเปิ้ลทองคำ (ญี่ปุ่น: 聖闘士星矢 劇場版; โรมาจิ: Seinto Seiya Gekijōban) หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Legend of the Golden Apple ออกฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2530[24] มีเนื้อหาเกี่ยวกับ "เอริส เทพีแห่งความชั่วร้าย" ซึ่งต้องการกำจัดอาเทน่า และทำลายโลก ได้เข้าสิงร่างของ "เอรี่" ผู้ดูแลสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า และได้ปลุกเหล่าเซนต์ขึ้นมา 5 คน ได้แก่ ออร์เฟอุสแห่งกลุ่มดาวพิณ หยางแห่งกลุ่มดาวโล่ มายาแห่งกลุ่มดาวลูกธนู จากัวร์แห่งกลุ่มดาวนายพราน และไครส์แห่งกลุ่มดาวกางเขนใต้ เพื่อการคืนชีพอย่างสมบูรณ์ของเอริส เอริสได้ลักพาตัวของอาเทน่ามาเพื่อดูดเอาพลังชีวิตของอาเทน่าโดยใช้แอบเปิ้ลทองคำ หลังจากนั้น พวกเซย่าจึงเดินทางมาช่วยเหลืออาเทน่า โดยได้ทำลายแอปเปิ้ลทองคำ ทำให้เอริสสลายไปในที่สุด[28]
เซนต์เซย่าฉบับภาพยนตร์ ภาคสงครามเทพเจ้าโอดีนแห่งแอสการ์ด (ญี่ปุ่น: 神々の熱き戦い; โรมาจิ: Kamigami no Atsuki Tatakai) หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า The Heated Battle of the Gods ออกฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2531[24] มีเนื้อหาเกี่ยวกับ การหายตัวไปของเฮียวกะ หลังจากเดินทางไปยังแอสการ์ด ดินแดงแห่งขั้วโลกเหนือ อาเทน่าและพวกเซย่าจึงเดินทางไปยังแอสการ์ด โดยได้เข้าพบกับ “โดลบาล ผู้ปกครองแห่งแอสการ์ด” เพื่อถามหาข่าวของเฮียวกะ ระหว่างนั้น อาเทน่าได้รู้ถึงเจตนาของโดลบาลว่าต้องการจะครอบครองแซงชัวรี่และโลก ดังนั้น โดลบาลจึงจับอาเทน่าไปตรึงไว้ที่รูปปั้นของเทพโอดีน เพื่อช่วยอาเทน่าพวกเซย่าจึงได้ต่อสู้กับเหล่าก็อดวอริเออร์ หรือเหล่านักรบแห่งแอสการ์ด แต่สุดท้ายโดลบาลก็ถูกกำจัดลง และดินแดนแอสการ์ดก็กลายเป็นดินแดนที่มีความอบอุ่นอีกครั้ง[29]
เซนต์เซย่าฉบับภาพยนตร์ ภาคสงครามสุริยเทพอาเบล (ญี่ปุ่น: 真紅の少年伝説; โรมาจิ: Shinku No Shōnen Densetsu) หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Legend of Crimson Youth ออกฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2531[24] มีเนื้อหาเกี่ยวกับ "อาเบล เทพแห่งสุริยะ" ผู้เป็นเสมือนพี่ชายของอาเทน่า ซึ่งต้องการให้โลกกลับมาสู่ยุคของเทพเจ้าอีกครั้งหนึ่ง เมื่ออาเทน่ารู้ถึงจุดประสงค์ของอาเบลก็พยายามขัดขวางเจตนาของอาเบลเพียงลำพังโดยการขับไล่พวกเซย่าไม่ให้มาเกี่ยวข้องกับตน แต่อาเทน่าก็ถูกอาเบลสังหารเสียก่อน พวกเซย่ารู้สึกว่ามีอะไรแอบแฝงอยู่จึงได้เดินทางมายังวิหารแห่งสุริยเทพ และต้องช่วยอาเทน่าให้ได้ก่อนที่วิญญาณของอาเทน่าจะเดินทางไปสู่หลุมดำนิรกาล เซย่า ชิริว เฮียวกะ ชุน และอิคคิ ได้ต่อสู้กับเหล่าโคโรน่าเซนต์ และเหล่าโกลด์เซนต์ที่ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งโดยอำนาจของอาเบล ในที่สุด ด้วยพลังคอสโม่ของพวกเซย่าจึงสามารถปลุกอาเทน่าขึ้นมาอีกครั้ง และสังหารอาเบลลงได้โดยใช้ลูกศรทองคำแห่งชุดคลอธซาจิททาเรียส [30]
เซนต์เซย่าฉบับภาพยนตร์ ภาคสงครามครั้งสุดท้าย ความทะเยอทะยานของลูซิเฟอร์ (ญี่ปุ่น: 最終聖戦の戦士たち; โรมาจิ: Saishū Seisen No Senshi Tachi) หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Warriors of the Final Holy Battle ออกฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2532[24] มีเนื้อหาเกี่ยวกับ "ลูซิเฟอร์ บุตรแห่งเทพเจ้า" ที่มีความชั่วร้ายจนถูกลงโทษให้ไปอยู่ในนรก แต่ฟื้นคืนชีพกลับขึ้นมาอีกครั้งโดยพลังของเอริส อาเบล และโพไซดอน เพื่อต้องการครอบครองโลกและสังหารอาเทน่า ลูซิเฟอร์และ 4 เทพอสูร เดินทางมายังแซงทัวรี่ พร้อมทั้งได้โจมตีเหล่าโกลด์เซนต์และพวกเซย่าจนได้รับบาดเจ็บ อาเทน่าจึงตัดสินใจเดินทางไปยังวิหารของลูซิเฟอร์เพียงลำพังเพื่อใช้ชีวิตของตนปกป้องโลกเอาไว้ พวกเซย่าจึงเดินทางไปช่วยโดยต่อสู้กับเหล่า 4 เทพอสูร และสามารถกำจัดลูซิเฟอร์ลงได้ [31]
เซนต์เซย่าฉบับภาพยนตร์ ภาคโหมโรงสู่ภาคสวรรค์ (ญี่ปุ่น: 天界編 序奏~overture~; โรมาจิ: Tenkai-hen Josō~overture~) หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Heaven Chapter ~ Overture ออกฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547[24] มีเนื้อหาเกี่ยวกับ เหล่าเทพเจ้าแห่งสวรรค์ซึ่งไม่พอใจที่เหล่าเซนต์แห่งอาเทน่าบังอาจโค่นล้มบรรดาเทพต่าง ๆ ลง ดังนั้นจึงส่ง "อาร์เทมิส เทพแห่งดวงจันทร์" พร้อมนักรบแห่งแองเจิ้ล ลงมายังโลกมนุษย์เพื่อกำจัดเซนต์แห่งอาเทน่า อาเทน่าซึ่งไม่ต้องการให้พวกเซย่าต้องต่อสู้อีกครั้งจึงได้ยกการปกครองพื้นปฐพีให้อาร์เทมิส พร้อมทั้งยอมรับการลงทัณฑ์จากสวรรค์แทนเหล่าเซนต์แห่งอาเทน่า หลังจากนั้น เหล่าเซนต์แห่งอาเทน่าก็เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของแซงชัวรี่ที่เกิดขึ้น และได้เข้าต่อสู้กับเหล่าแองเจิ้ลเพื่อช่วยเหลืออาเทน่า อาร์เทมิสซึ่งพบว่าอาเทน่าต้องการขัดขืนคำสั่งสวรรค์โดยการแอบช่วยเหลือพวกเซย่า จึงต้องการสังหารอาเทน่าเสีย แต่เซย่าได้เข้ามาขัดขวาง และทันใดนั้น "อะพอลโล เทพแห่งดวงอาทิตย์" ก็ปรากฏตัวขึ้นมา[32]
ปี พ.ศ. 2545 เซนต์เซย่า ถูกนำมาสร้างเป็นอนิเมะอีกครั้งในรูปแบบโอวีเอ โดยนำเอาเนื้อเรื่องฉบับการ์ตูนตั้งแต่เล่มที่ 19 -28 มาสร้างและออกฉายทางสถานีโทรทัศน์เคเบิล สกายเพอร์เฟกต์ทีวี โดยใช้ชื่อว่า "เซนต์เซย่า เดอะฮาเดสแชปเตอร์ แซงก์ทัวรี่" ซึ่งเป็นเรื่องราวในช่วงแรกของภาคเจ้านรกฮาเดส มีความยาว 13 ตอน ต่อมา ในปี พ.ศ. 2548 ทางโตเอแอนิเมชันก็สร้างภาคต่อตามมาในชื่อว่า "เซนต์เซย่า เดอะฮาเดสแชปเตอร์ อินเฟอร์โน่" ครึ่งแรกมีความยาว 6 ตอน ส่วนครึ่งหลัง สร้างขึ้นและออกอากาศในช่วงปลายปี พ.ศ. 2549 โดยมีความยาว 6 ตอนเช่นเดียวกัน สำหรับภาคสุดท้าย "เซนต์เซย่า เดอะฮาเดสแชปเตอร์ เอลิเชียน" ก็มีความยาว 6 ตอน และออกอากาศในเดือนมีนาคม - สิงหาคม พ.ศ. 2551[33] ซึ่งถือเป็นการปิดฉากภาคฮาเดสอย่างสมบูรณ์
ในประเทศไทย "เซนต์เซย่า เดอะฮาเดสแชปเตอร์ แซงก์ทัวรี่" ได้รับลิขสิทธิ์และวางจำหน่ายโดย บริษัท การ์ตูนอินเตอร์ จำกัด ส่วน "เซนต์เซย่า เดอะฮาเดสแชปเตอร์ อินเฟอร์โน" และ "เซนต์เซย่า เดอะฮาเดสแชปเตอร์ เอลิเชียน" ได้รับลิขสิทธิ์และวางจำหน่ายโดย DEX
ตอนที่ | เดอะฮาเดสแชปเตอร์ แซงก์ทัวรี่1 | เดอะฮาเดสแชปเตอร์ อินเฟอร์โน2 | เดอะฮาเดสแชปเตอร์ เอลิเชี่ยน2 |
---|---|---|---|
1 | จุดเริ่มต้นของสงครามศักดิ์สิทธิ์ครั้งใหม่ | ข้ามแม่น้ำอาเครอน | การต่อสู้เพื่อไปสู่เอลิเชี่ยน |
2 | ผู้โหยไห้ทั้งสาม | ห้องพิพากษาที่เงียบงัน | เทพมรณะและเทพนิทรา |
3 | เงาของผู้รุกราน | เซนต์ในตำนาน ออร์เฟ่ | กำลังเสริมสีทอง |
4 | การไถ่บาปของบุรุษครึ่งเทพ | รีเควี่ยมอันแสนเศร้าของออร์เฟ่ | ก็อดคลอธแห่งตำนาน |
5 | พบพานเพียงชั่วขณะ | ร่างประทับอันน่าตกตะลึงของฮาเดส | ตื่นขึ้นจากเทพนิยาย |
6 | นักรบรุ่นก่อน | ศึกปะทะ หนทางสู่จูเด็กก้า | สู่โลกที่เปี่ยมด้วยแสงสว่าง |
7 | กลุ่มไหมสีดำ | พระเจ้าลงทัณฑ์ เกรทเทสอีคลิปส์ | |
8 | ช่วงเวลาแห่งความสับสน | อิคคิ หมัดแห่งความรัก | |
9 | สิ้นสุดความภาคภูมิ | อาเทน่า เดิมพันด้วยชีวิต | |
10 | การปะทะของโกลด์เซนต์ | สิ้นหวัง ที่หน้ากำแพงวิปโยค | |
11 | แซงทัวรี่สั่นคลอน | โกลด์คลอธ รวมตัว | |
12 | คลอธของเทพธิดา | ลาก่อน โกลด์เซนต์ | |
13 | รุ่งอรุณแห่งการตัดสิน |
ตัวละคร | ญี่ปุ่น (2529 - 2545) | ญี่ปุ่น (2548 - ปัจจุบัน) | ไทย (ช่อง 3 / ปี 2531) [34] | ไทย (ยูบีซี / ปี 2547) | ไทย (Cartoon Inter) | ไทย (DEX / ปี 2552) |
---|---|---|---|---|---|---|
เพกาซัส เซย่า | โทรุ ฟูรูยะ | มาซากาซุ โมริตะ | พิญโญ สุนวินทรากร | ปิยะ ประวังสุข | ธวัช รัตตะชัย | อิทธิพล มามีเกตุ |
ดราก้อน ชิริว | ฮิโรตากะ ซูซูโอกิ | ทากาฮิโระ ซากูระอิ | นิรุต ณ บางช้าง | นิรุต ณ บางช้าง | ภัคภูมิ ลิ้มมานะสภาพร | มนูญ เรืองเชื้อเหมือน |
ซิกนัส เฮียวกะ | โคอิจิ ฮาชิโมโตะ | ฮิโรอากิ มิอูระ | สัญชัย ปลั่งกมล | ธนกฤต เจนคลองธรรม | ปริญญา กีรกะจินดา | ธนกฤต เจนคลองธรรม |
อันโดรเมด้า ชุน | เรียว โฮริกาวะ | ยูตะ คาสึยะ | นิรุต ณ บางช้าง | สัจจะ กาญจน์นิรันดร์ | ภัทรวุฒิ สมุทรนาวี | |
ฟินิกซ์ อิคคิ | ฮิเดยูกิ โฮริ | คัตสึยูกิ โคนิชิ | สัญชัย ปลั่งกมล | ณรงค์ นามะสนธิ | ปริญญา กีรกะจินดา | ไกวัล วัฒนไกร |
คิโดะ ซาโอริ (อาเทน่า) | เคโกะ ฮัง | ฟูมิโกะ โอริกาซะ | สุธีรา วีรกุล | นงลักษณ์ ฤทธิเรือง | ศรีอาภา เรือนนาค | วิภาดา จตุยศพร |
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2548 ได้มีข่าวออกมาว่า เซนต์เซย่า ภาคศึกเจ้านรกฮาเดส เดอะแชปเตอร์อินเฟอร์โน ที่กำลังจะออกอากาศทางช่องเคเบิล สกายเพอร์เฟกต์ทีวี ในเดือนธันวาคม จะมีการเปลี่ยนตัวผู้ให้เสียงตัวละครหลักทั้ง 6 ได้แก่ เซย่า ชิริว เฮียวกะ ชุน อิคคิ และซาโอริ เป็นนักพากย์ชุดใหม่ทั้งหมด[35] ซึ่งแม้ว่าในขณะนั้น ข่าวจะยังไม่ได้รับการยืนยัน แต่ก็สร้างความไม่พอใจให้แก่แฟน ๆ ของเซนต์เซย์ย่าเป็นอย่างมาก จนเกิดกระแสต่อต้านอย่างหนัก โดยมีแฟนๆ จากทั้งในและต่างประเทศเข้าไปโพสต์ข้อความลง BBS ในโฮมเพจของ โทรุ ฟุรุยะ ผู้พากย์เสียงเซย่าคนเดิม เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการเรียกร้องให้ทางผู้สร้างพิจารณาเรื่องการเปลี่ยนตัวนักพากย์อีกครั้ง โดยให้ความเห็นว่า อย่างน้อยถ้าจะเปลี่ยน ก็จะน่าจะเปลี่ยนหลังจากที่ภาคฮาเดสจบชุดไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีการเปิดเว็บไซต์รวบรวมรายชื่อผู้ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนนักพากย์ในครั้งนี้อีกด้วย[36] แต่ในที่สุดทางเว็บไซต์ของโตเอแอนิเมชัน ก็ได้มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการว่าจะเปลี่ยนตัวนักพากย์ตัวละครหลักทั้ง 6 คนจริง ๆ
และจากกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงของแฟน ๆ ทำให้ มาซามิ คุรุมาดะ ผู้แต่งเรื่อง ต้องออกมาชี้แจงเหตุผลว่า ใจจริงแล้วเขาเองก็อยากให้นักพากย์ชุดเดิมพากย์ต่อไปเหมือนกัน แต่นอกจาก โทรุ ฟุรุยะ ผู้พากย์เสียงเซย่าแล้ว คุณภาพเสียงของนักพากย์ตัวละครหลักอีก 5 คนได้ตกลงไปมาก ฟังดูไม่สดใสเหมือนเก่า ประกอบกับการที่ได้เห็นนักพากย์รุ่นใหม่เข้ามาพากย์เสียงของโกลด์เซนต์บางคนแทนนักพากย์รุ่นเก่า เขาจึงต้องการให้เปลี่ยนนักพากย์ทั้ง 5 คนบ้าง โดยเหลือไว้เพียงแค่ฟุรุยะคนเดียว ซึ่งคุรุมาดะได้พูดคุยกับฟุรุยะเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเชิงเกลี้ยกล่อมหลายครั้งแล้ว แต่ฟุรุยะก็ยังคงยืนยันว่าจะพากย์กับทีมพากย์ชุดเดิมเท่านั้น หากมีการเปลี่ยนตัวนักพากย์ชุดเดิมแม้แต่คนเดียว เขาก็จะไม่ขอพากย์เสียงเซย์ย่าอีกต่อไปเช่นกัน เรื่องนี้จึงทำให้คุรุมาดะรู้สึกหนักใจไม่น้อย แต่สุดท้ายเมื่อทางทีมงานได้มีมติแน่ชัดว่าจะเปลี่ยนตัวนักพากย์หลักทั้ง 5 คน ฟุรุยะจึงขอถอนตัวออกไปด้วยตามที่เขาได้พูดไว้ ทำให้กลายเป็นต้องเปลี่ยนนักพากย์ใหม่หมดทั้งชุด ดังที่ได้กล่าวมา[37]
ปี พ.ศ. 2534 เซนต์เซย่าได้ถูกสร้างเป็นละครเพลงในนามของ "บันไดซูเปอร์มิวสิคัล" ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างบริษัทบันไดและทีวีอาซาฮี โดยมีนักแสดงหลักคือกลุ่มนักร้องวัยรุ่น วง SMAP และวง TOKIO การแสดงละครเพลงชุดนี้จะดำเนินเรื่องโดยใช้เนื้อหาในภาคโพไซดอน และได้เปิดการแสดงตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน พ.ศ. 2534 [38]
เซนต์คลอธซีรีส์ คือ ของเล่นในรูปแบบตุ๊กตาที่นำมาสวมชุดเกราะได้ ผลิตโดยบริษัทบันได ในช่วงปลายของยุค 1980 (ตั้งแต่ พ.ศ. 2523 - พ.ศ. 2532) ลักษณะของของเล่นจะเป็นหุ่นรูปคนที่มีข้อต่ออยู่หลายจุด ทำให้สามารถจัดท่าทางต่าง ๆ ได้ และมีชิ้นส่วนของชุดเกราะซึ่งแยกมาให้เป็นชิ้น ๆ เพื่อประกอบเข้ากับตัวของหุ่น จนมีลักษณะเหมือนกับเซนต์ในภาพยนตร์การ์ตูน อีกทั้งยังสามารถนำชิ้นส่วนของชุดเกราะไปประกอบเป็นรูปลักษณ์ประจำกลุ่มดาวต่าง ๆ ที่เป็นต้นแบบของชุดเกราะนั้น ๆ เหมือนกับในภาพยนตร์การ์ตูนด้วย
บริษัทบันไดได้ออกวางจำหน่ายของเล่นชุดนี้ออกมาหลายตัวด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มบรอนซ์เซนต์ แบล็กเซนต์ สตีลเซนต์ โกลด์เซนต์ ก๊อดวอริเออร์ในภาคแอสการ์ด และมารีนเนอร์ในภาคโพไซดอน ส่วนซิลเวอร์เซนต์มีออกมาวางจำหน่ายเพียงตัวเดียวคือ อีเกิ้ล มารีน[39] ยิ่งไปกว่านั้นในประเทศญี่ปุ่นยังเคยมีการจัดแคมเปญพิเศษ 5 ครั้ง เพื่อแจกของเล่นชุดผลิตจำนวนจำกัด ได้แก่ ชุดโกลด์คลอธซาจิททาเรียสปลอม, กล่องใส่ชุดเซนต์, หุ่นเคียวโกอาเรส พร้อมบัลลังก์, ชุดโอดีนโร้บ และชุดบรอนซ์คลอธเวอร์ชันสีดำ ซึ่งต้องส่งชิ้นส่วนที่อยู่ด้านหลังกล่องของเล่นไปร่วมสนุกกับทางบริษัท โดยทางบริษัทจะใช้วิธีจับสลากหาผู้โชคดีที่จะได้รับรางวัลเหล่านั้น[40] แต่ต่อมาในช่วงยุค 2000 (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2552) บริษัทในประเทศไต้หวันก็ได้ทำการผลิตของเล่นเลียนแบบชุดซาจิททาเรียสปลอม หุ่นเคียวโกอาเรส และชุดโอดีนโร้บ จากแคมเปญพิเศษนี้ออกมาวางจำหน่าย[41]
ภายหลังในช่วงปี พ.ศ. 2547 ของเล่นชุดเซนต์คลอธซีรีส์ ได้ถูกนำมาผลิตซ้ำและออกวางจำหน่ายใหม่อีกครั้งโดยบริษัทบันไดฮ่องกง ส่วนในประเทศไทย มีบริษัทดรีมทอยเป็นตัวแทนจำหน่าย[42]
กาชาปอง คือ หุ่นโมเดลยางขนาดเล็ก ที่ถูกบรรจุอยู่ในภาชนะรูปไข่หรือแคปซูล ซึ่งมีความสวยงามสมจริงในระดับหนึ่ง ของเล่นชนิดนี้มีต้นกำเนิดที่ประเทศญี่ปุ่น[43] เมื่อเราหยอดเหรียญลงในตู้ของเล่นที่บรรจุอยู่ในแคปซูลก็จะร่วงหล่นลงมา ในประมาณปลายปี พ.ศ. 2546 บริษัท บิ๊กวัน ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยอบ่างเป็นทางการโดยได้นำเข้าสินค้าในรูปแบบของตู้กดหยอดเหรียญมาจัดจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำต่างๆ ทั่วประเทศ [43]
ในปี พ.ศ. 2546 บริษัทบันได ได้ผลิตสินค้าของเล่นเซนต์เซย่าในรูปแบบตุ๊กตาสวมชุดเกราะขึ้นมาอีกครั้ง โดยใช้ชื่อว่า "เซนต์คลอธมิธ" ซึ่งเป็นการดัดแปลงและพัฒนาจากของเล่นชุดเก่าอย่างเซนต์คลอธซีรีส์ ทำให้ตัวหุ่นกับชุดเกราะมีความสวยงาม และสมจริงมากขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งเปลี่ยนแปลงรูปแบบกล่องที่ใช้บรรจุใหม่ให้มีลักษณะใกล้เคียงกับกล่องใส่ชุดคลอธของเหล่าเซนต์ด้วย[44] โดยทางบริษัทบันไดยังคงทำการผลิตเซนต์คลอธมิธของตัวละครต่างๆ ในเรื่องมาตลอดจนถึงปัจจุบัน และมีบริษัทดรีมทอยเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย[42]
|
|
|
Excellent Model คือ หุ่นเซนต์เซย์ย่าในรูปแบบของ พีวีซีฟิกเกอร์ ซึ่งถอดประกอบไม่ได้ สูงประมาณ 20 เซนติเมตร [45] ถูกผลิตขึ้นในปี พ.ศ. 2550โดยบริษัท เมการ์เฮาส์ และมีบริษัทดรีมทอยเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย [45] เช่นเดียวกับสินค้า เซนต์คลอธมิธ โดยในช่วงแรกได้กำหนดการวางจำหน่ายชุดแรกในเดือนเมษายน แต่ในตอนหลังได้เลื่อนไปเดือนพฤษภาคม และได้ออกวางจำหน่ายจริงในเดือนมิถุนายน
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.