Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อีมนาลามูร์ (ฝรั่งเศส: Hymne à l'amour; "เพลงสดุดีความรัก") เป็นเพลงภาษาฝรั่งเศสซึ่งเอดิต ปียัฟ แต่งคำร้องและขับร้อง และมาเกอริต มอโน แต่งทำนอง เพลงนี้แต่งขึ้นใน ค.ศ. 1949 และบันทึกเสียงในปีถัดมาให้แก่บริษัทโคลัมเบีย
"อีมนาลามูร์" | |
---|---|
ซิงเกิลโดยเอดิต ปียัฟ | |
วางจำหน่าย | 1950 |
แนวเพลง | ช็องซง |
ความยาว | 3:27 |
ค่ายเพลง | ปาเต-มาร์กอนี |
ผู้ประพันธ์ดนตรี | มาเกอริต มอโน |
ผู้ประพันธ์เนื้อเพลง | เอดิต ปียัฟ |
เพลงนี้ได้รับการแปลต่อเป็นหลายภาษา ได้แก่ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
บทเพลงต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสนั้น เอดิต ปียัฟ แต่งคำร้องและขับร้อง และมาเกอริต มอโน แต่งทำนอง เอดิตแต่งเพลงนี้ให้แก่มาร์แซล แซร์ด็อง นักมวยซึ่งเป็นคนรักของเธอ[1] อย่างไรก็ดี ในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1949 ขณะเดินทางจากปารีสมานิวยอร์กเพื่อมาพบเธอ มาร์แซลเสียชีวิตลงในเหตุการณ์เครื่องบินสายการบินแอร์ฟร็องส์ เที่ยวบิน 009 ชนภูเขาจนผู้โดยสารทั้งหมดถึงแก่ความตาย ต่อมาเอดิตจึงบันทึกเสียงเพลงนี้ในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1950[1] เพลงนี้บรรจุอยู่ในอัลบัมเพลงของเอดิตหลายอัลบัม คือ เอดิตปียัฟ (ค.ศ. 1953), เลอตูร์เดอช็องเดดิตปียาฟาลอแล็งปียา นูว์เมโรเดอ (ค.ศ. 1956) และ เลอตูร์เดอช็องเดดิตปียาฟาลอแล็งปียา นูว์เมโรทรัว (ค.ศ. 1958)
เอดดี คอนสแตนติน ศิษย์ของเอดิต แปลเพลง "อีมนาลามูร์" เป็นภาษาอังกฤษ ให้ชื่อว่า "ฮิมน์ทูเลิฟ" และเอดิตบันทึกเสียงเพลงนี้เองเพื่อบรรจุไว้ในอัลบัม ลาวีอ็องโรส/เอดิตปียัฟซิงส์อินอิงลิช (ค.ศ. 1956)[2] ต่อมาซินดี ลอเปอร์ บันทึกเสียงเพลงนี้บรรจุไว้ในอัลบัม แอตแลสต์ (ค.ศ. 2003)[3]
เพลง "อีมนาลามูร์" ยังได้รับการดัดแปลงเป็นภาษาอังกฤษอีกฉบับหนึ่ง ชื่อว่า "อิฟยูเลิฟมี (รีลลีเลิฟมี)" มีจอฟฟรีย์ พาร์ซันส์ เป็นผู้แต่งคำร้อง และเคย์ สตาร์ เป็นผู้บันทึกเสียงใน ค.ศ. 1954 ฉบับของเคย์นี้ติดอันดับ 4 ในผังของ บิลบอร์ด ว่าด้วยอันดับเพลงที่มียอดขายดีในร้านและได้รับการเปิดจากดีเจมากที่สุด[4] ทั้งติดอันดับ 20 ในผังของ บิลบอร์ด ว่าด้วยเพลงยอดนิยมตามยอดขายปลีกประจำปี ค.ศ. 1954 และติดอันดับ 20 ในผังของ บิลบอร์ด ว่าด้วยเพลงยอดนิยมตามการเปิดของดีเจประจำปี ค.ศ. 1954[5]
เพลง "อิฟยูเลิฟมี (รีลลีเลิฟมี)" ยังได้รับการบันทึกเสียงจากแมรี ฮอปกิน ใน ค.ศ. 1976 ฉบับนี้ติดอันดับ 32 ในผังซิงเกิลสหราชอาณาจักร[6]
เซลีน ดิออน ขับร้องเพลง "อีมนาลามูร์" จากระเบียงหอไอเฟลเพื่อปิดพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 ที่ปารีสในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 2024[7] การขับร้องของเซลีนได้รับเสียงชื่นชมจากสาธารณชน[8][9][10] และได้รับการระบุว่าเป็นการแสดงครั้งประวัติศาสตร์[11]
เพลง "อีมนาลามูร์" ได้รับการดัดแปลงเป็นฉบับภาษาญี่ปุ่น ชื่อว่า "อาอิโนะซังกะ" มีโทกิโกะ อิวาตานิ เป็นผู้แต่งคำร้อง และฟูบูกิ โคชิจิ เป็นผู้บันทึกเสียงใน ค.ศ. 1951 เมื่อออกเป็นซิงเกิลรวมกับเพลงอื่นแล้ว มียอดขายราวสองล้านชุด และได้รับความนิยมจนกลายเป็นเพลงประจำตัวของฟูบูกิ[12] เพลงฉบับนี้ยังได้รับการนำไปขับร้องใหม่จากเคโกะ มาซูดะ เพื่อบรรจุลงอัลบัม อาอิโชกะ ใน ค.ศ. 2014[13][14]
เพลง "อีมนาลามูร์" ยังได้รับการขับร้องใหม่จากฮิการุ อูตาดะ ใน ค.ศ. 2010 ให้ชื่อว่า "อีมนาลามูร์ (อาอิโนะแอนเทม)"[15] ชื่อ "อาอิโนะแอนเทม" นี้ปรากฏแต่เฉพาะฉบับของฮิการุ ส่วนฉบับอื่น ๆ ในภาษาญี่ปุ่นใช้ชื่อ "อาอิโนะซังกะ" เหมือนฉบับของฟูบูกิข้างต้น[12] ฉบับของฮิการุนี้ติดอันดับ 5 ในในผังเพลงอะดัลต์คอมเทมโพรารีของ บิลบอร์ด[16] อันดับ 7 ในผังเจแปนฮอต 100 ของ บิลบอร์ด และอันดับ 19 ใน 100 อันดับแรกของผังอาร์ไอเอเจดิจิทัลแทร็ก
อัตสึโกะ มาเอดะ ขับร้องเพลง "อาอิโนะซังกะ" ในภาพยนตร์เรื่อง ทูดิเอนด์ออฟดิเอิร์ท (ค.ศ. 2019) ซึ่งตั้งชื่อเรื่องตามเนื้อเพลง[17]
เพลง "อาอิโนะซังกะ" ยังได้รับการขับร้องในพิธีปิดโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ที่โตเกียวเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 2021 ผู้ขับร้องคือมิเลต[18]
เพลง "อิฟยูเลิฟมี (รีลลีเลิฟมี)" ซึ่งเป็นฉบับภาษาอังกฤษของเพลง "อีมนาลามูร์" ได้รับการดัดแปลงเป็นฉบับภาษาไทย ชื่อว่า "ถ้ารักฉันจริง" มีสุรพล โทณะวณิก เป็นผู้แต่งคำร้อง และสวลี ผกาพันธุ์ เป็นผู้บันทึกเสียง[11]
เพลงนี้เป็นแกนกลางนวนิยายแนวอัตชีวประวัติของอาน วียาแซมสกี เรื่อง อีมน์ซาลามูร์ (ค.ศ. 1996) ซึ่งได้รับรางวัลมอริส เฌินวัว ประจำปีดังกล่าว[19]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.