อำเภอ (อักษรโรมัน: Amphoe) เป็นหน่วยการปกครองระดับที่สองในประเทศไทย ลำดับรองมาจากจังหวัด จัดตั้งขึ้นโดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มีนายอำเภอ เป็นหัวหน้าปกครอง โดยในแต่ละอำเภอจะแบ่งส่วนย่อยออกเป็น ตำบล

ในปัจจุบันประเทศไทยมี 878 อำเภอใน 76 จังหวัด ซึ่งไม่รวม 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการบริหารกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2515 จำนวนอำเภอในจังหวัดมีจำนวนต่างกันออกไป ตั้งแต่ 3 อำเภอของจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดภูเก็ต ไปจนถึง 32 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา จำนวนประชากรในแต่ละอำเภอก็มีจำนวนต่างกันไปอีกเช่นกัน เช่น อำเภอเกาะกูด (จังหวัดตราด) มีประชากรเพียง 2,450 คน (พ.ศ. 2557) ขณะที่ อำเภอเมืองสมุทรปราการมีประชากรถึง 525,982 คน อำเภอเกาะสีชัง (จังหวัดชลบุรี) เป็นอำเภอที่มีพื้นที่น้อยที่สุดเพียง 17 ตารางกิโลเมตร ขณะที่อำเภอที่มีพื้นที่มากที่สุด ซึ่งมีประชากรเบาบาง มีภูมิประเทศเป็นภูเขา และมีขนาดใหญ่กว่าจังหวัดบางจังหวัด ได้แก่ อำเภออุ้มผาง (จังหวัดตาก) มีพื้นที่ถึง 4,325.4 ตารางกิโลเมตร

ชื่อของอำเภอต่าง ๆ มักจะไม่ซ้ำกัน ยกเว้นกรณีของอำเภอเฉลิมพระเกียรติ โดยได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอำเภอกรณีพิเศษใน 5 จังหวัด โดยไม่ผ่านการเป็นกิ่งอำเภอ มีการประกาศจัดตั้งขึ้นเมื่อ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2539 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี[1]

การบริหารงาน

Thumb
ที่ว่าการอำเภอเมืองพิษณุโลก

การบริหารงานอำเภอ มีนายอำเภอ เป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชา และมีหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอที่กระทรวง กรมส่งมาประจำในอำเภอ และปลัดอำเภอ เป็นผู้ช่วยในการปฏิบัติหน้าที่ มีที่ทำการอยู่ที่ "ที่ว่าการอำเภอ"

นายอำเภอ

นายอำเภอ เป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ประเภทอำนวยการ ระดับสูง (ระดับ 9) มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับบัญชาส่วนราชการในอำเภอ และกำกับดูแลการบริหารงานของเทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลในสังกัด

การบรรจุและแต่งตั้งนายอำเภอ จะใช้วิธีการสอบคัดเลือกปลัดอำเภอหรือเทียบเท่า (ระดับชำนาญการพิเศษ) เพื่อเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนนายอำเภอ สังกัดวิทยาลัยการปกครอง เป็นเวลาราว 5 เดือน จากนั้นจึงเรียกบรรจุแต่งตั้งตามลำดับผลการเรียนที่สอบได้

ปลัดอำเภอ

ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครอง) เป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ (ระดับ 3-5) ระดับชำนาญการ (ระดับ 6-7) จนถึงระดับชำนาญการพิเศษ (ระดับ 8) มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยปฏิบัติงานของนายอำเภอ

การบรรจุและแต่งตั้งปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครอง) ระดับปฏิบัติการ จะใช้วิธีการเปิดสอบแข่งขันจากบุคคลทั่วไปที่มีคุณวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ บริหารรัฐกิจ หรือสาขาอื่นๆ ที่กำหนดให้สมัครได้ ส่วนปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครอง) ระดับชำนาญการพิเศษ หรือเรียกว่า "ปลัดอาวุโส" จะใช้วิธีการสอบคัดเลือกเพื่อประเมินเข้าสู่ตำแหน่ง

ที่ว่าการอำเภอ

การบริหารงานของอำเภอตั้งอยู่ในอาคารสำนักงานที่เรียกว่า ที่ว่าการอำเภอ ซึ่งนับเป็นศูนย์กลางของแต่ละอำเภอ ดังนั้น การวัดระยะทางจากถนนก็จะวัดจากที่ว่าการอำเภอเป็นหลัก ที่ว่าการอำเภอมักจะตั้งอยู่ในชุมชนที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอ เพื่อให้กลุ่มประชากรในชุมชนที่มีอยู่มากสามารถเดินทางมาติดต่อได้สะดวก

อำเภอเมือง

อำเภอเมือง เป็นอำเภอพิเศษ มีลักษณะคล้ายกับเมืองหลวงของจังหวัด จะเป็นที่ตั้งของหน่วยงานสำคัญระดับจังหวัด (รวมทั้งศาลากลางจังหวัดด้วย) อำเภอเมืองจึงมักจะมีความเจริญ และประชากรหนาแน่นกว่าอำเภออื่น ๆ ในภาษาราชการ อำเภอเมืองในแต่ละจังหวัดจะต้องเรียกชื่อโดยมีชื่อจังหวัดต่อท้าย เช่น อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอเมืองมุกดาหาร อำเภอเมืองร้อยเอ็ด อำเภอเมืองมหาสารคาม อำเภอเมืองขอนแก่น เป็นต้น ประชากรในบางจังหวัด จะไม่นิยมเรียกอำเภอเมืองของตนว่าอำเภอเมือง แต่มักจะเรียกชื่อจังหวัดนั้น ๆ แทน เช่น ไปขอนแก่น สำหรับคนในจังหวัดขอนแก่น ย่อมหมายถึง เดินทางไปอำเภอเมืองของจังหวัดขอนแก่น (หรืออาจเรียกชื่ออื่นในท้องถิ่นแทน) เช่น โคราชหรือบ้านดอน[ต้องการอ้างอิง]

เดิมอำเภอที่ตั้งจังหวัดบางแห่งไม่มีคำว่า เมือง อยู่ในชื่อ ในขณะที่บางอำเภอที่ไม่ได้เป็นอำเภอที่ตั้งจังหวัด จะมีคำว่า เมือง อยู่ในชื่อด้วย เช่น อำเภอเมืองพิมาย จังหวัดนครราชสีมา จนต่อมาในปี พ.ศ. 2481 อำเภอที่ตั้งจังหวัดได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอเมือง ในขณะที่อำเภอที่เหลือที่ไม่ใช่ที่ตั้งจังหวัดได้เปลี่ยนโดยเอาคำว่า เมือง ออกจากชื่อ[2] ปัจจุบัน มีเพียงจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่อำเภอที่ตั้งตัวจังหวัดไม่ใช้คำว่า อำเภอเมือง ได้แก่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งตัวจังหวัดตั้งอยู่ที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา (เดิมชื่ออำเภอรอบกรุง ต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอกรุงเก่าใน พ.ศ. 2460[3][4] และเปลี่ยนมาใช้ชื่ออำเภอพระนครศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2500[5])

ส่วนใหญ่อำเภอเมืองจะเป็นอำเภอที่มีประชากรมากที่สุดในจังหวัด โดยหน่วยงานสำคัญของจังหวัดก็จะตั้งอยู่ในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดนี้ด้วย ยกเว้นในบางจังหวัดเช่น อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีการเจริญเติบโตรวดเร็วกว่าอำเภอเมืองสงขลา หรือ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากมีการเชื่อมโยงการคมนาคมที่ดี และเป็นย่านเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยังมีอำเภอที่ไม่ใช่อำเภอที่ตั้งจังหวัด แต่มีคำว่า เมือง อยู่ในชื่อ ได้แก่ อำเภอเมืองจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ,[6][7] อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง,[8][9] อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา[10][11] และอำเภอเมืองสรวง จังหวัดร้อยเอ็ด[12][13] ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเมื่อระหว่างปี พ.ศ. 2516 และ พ.ศ. 2538

กิ่งอำเภอ

กิ่งอำเภอ เป็นส่วนราชการที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐไปปฏิบัติงานประจำอยู่ มีฐานะเป็นส่วนย่อยของอำเภอ แต่ใหญ่กว่าตำบล โดยอำเภอหนึ่ง ๆ อาจแบ่งพื้นที่ออกเป็นกิ่งอำเภอได้ตามความจำเป็นในการปกครอง และในเวลาต่อมา หากกิ่งอำเภอหนึ่ง ๆ มีชุมชนและชุมนุมการค้าหนาแน่นหรือมีสภาพเจริญขึ้นกว่าเดิมมาก ก็จะมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะกิ่งอำเภอนั้นขึ้นเป็นอำเภอ อำเภอในประเทศไทยที่ตั้งขึ้นในสมัยหลังมานี้จึงมักจะผ่านการเป็นกิ่งอำเภอมาก่อน มีไม่กี่แห่งที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นอำเภอทันที

ในปี พ.ศ. 2550 ได้มีการยกฐานะกิ่งอำเภอทั้งหมดขึ้นเป็นอำเภอทั้งหมด[11] จึงทำให้ประเทศไทยในขณะนี้ไม่มีเขตการปกครองในระดับกิ่งอำเภอ

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

Wikiwand in your browser!

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.

Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.