Loading AI tools
เรือเดินสมุทร จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาร์เอ็มเอส คาร์เพเทีย (อังกฤษ: RMS Carpathia) เป็นเรือจักรไอน้ำโดยสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกของบริษัทคูนาร์ดไลน์ สร้างโดยอู่ต่อเรือสวอนฮันเตอร์แอนด์วิกแฮม ริชาร์ดสัน ในเมืองวอลเซนด์ ประเทศอังกฤษ
เรืออาร์เอ็มเอส คาร์เพเทีย | |
ประวัติ | |
---|---|
สหราชอาณาจักร | |
ชื่อ | คาร์เพเทีย (Carpathia) |
ตั้งชื่อตาม | เทือกเขาคาร์เพเทียน |
เจ้าของ | คูนาร์ดไลน์ |
ท่าเรือจดทะเบียน | ลิเวอร์พูล |
เส้นทางเดินเรือ |
|
อู่เรือ | สวอนฮันเตอร์, วอลเซนด์, ประเทศอังกฤษ [1] |
Yard number | 274 |
ปล่อยเรือ | 10 กันยายน 1901 |
เดินเรือแรก | 6 สิงหาคม 1902 |
สร้างเสร็จ | กุมภาพันธ์ 1903 |
Maiden voyage | 5 พฤษภาคม 1903 |
บริการ | 1903–1918 |
หยุดให้บริการ | 17 กรกฎาคม 1918 |
รหัสระบุ |
|
ความเป็นไป | อับปางโดยตอร์ปิโดสามลูกจากเรือดำน้ำอู-55 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1918 |
หมายเหตุ | มีชื่อเสียงจากการช่วยเหลือผู้โดยสารกว่า 700 คนจากเหตุการณ์เรืออาร์เอ็มเอส ไททานิกอับปางในปี ค.ศ. 1912 |
ลักษณะเฉพาะ | |
ประเภท: | เรือเดินสมุทร |
ขนาด (ตัน): |
|
ความยาว: | 558 ฟุต (170 เมตร) |
ความกว้าง: | 64 ฟุต 6 นิ้ว (19.66 เมตร) |
กินน้ำลึก: | 34 ฟุต 7 นิ้ว (10.54 เมตร) |
ดาดฟ้า: | 7 |
ระบบขับเคลื่อน: |
|
ความเร็ว: |
|
ความจุ: |
|
เรือคาร์เพเทียออกเดินทางครั้งแรกในปี ค.ศ. 1903 จากเมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ไปยังเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา และยังคงให้บริการบนเส้นทางดังกล่าวอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่จะถูกย้ายไปให้บริการในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในปี ค.ศ. 1904 ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1912 เรือลำนี้ได้กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากเรืออาร์เอ็มเอส ไททานิก (RMS Titanic) ของบริษัทไวต์สตาร์ไลน์ซึ่งเป็นคู่แข่ง หลังจากชนกับภูเขาน้ำแข็งและอับปางลงในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ เรือคาร์เพเทียได้แล่นฝ่าทุ่งน้ำแข็งและเดินทางมาถึงจุดเกิดเหตุเพียงสองชั่วโมงหลังจากเรือไททานิกอับปางลง โดยได้รับการยกย่องจากผู้คนทั่วไปว่าเป็น "วีรบุรุษไททานิก" (Titanic's Hero) หลังจากที่ลูกเรือได้ทำการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจำนวน 705 คนจากเรือชูชีพของเรือไททานิก
เรือคาร์เพเทียอับปางลงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1918 หลังจากถูกเรือดำน้ำอู-55 (SM U-55) ของเยอรมันยิงตอร์ปิโดใส่สามครั้งนอกชายฝั่งทางใต้ของไอร์แลนด์ ส่งผลให้มีลูกเรือเสียชีวิต 5 นาย
ชื่อของเรือลำนี้ได้มาจากเทือกเขาคาร์เพเทียน ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรปกลาง[2]
ในช่วงปี ค.ศ. 1900 บริษัทคูนาร์ดไลน์ต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันที่รุนแรงจากบริษัทไวต์สตาร์ไลน์ของอังกฤษ และบริษัทนอร์ทด็อยท์เชอร์ล็อยท์ (นอร์ทเจอร์มันลอยด์) และฮัมบูร์กอเมริกาไลน์ (ฮาพาค) ของเยอรมัน เรือโดยสารขนาดใหญ่ที่สุดของบริษัทคูนาร์ด ณ ปี ค.ศ. 1898 ได้แก่ อาร์เอ็มเอส คัมปาเนีย (RMS Campania) และอาร์เอ็มเอส ลูเคเนีย (RMS Lucania) โดยทั้งสองลำมีชื่อเสียงทั้งในด้านขนาดและความเร็ว มีระวางบรรทุกรวม 12,950 ตันกรอส (GRT) และเคยครอบครองรางวัลบลูริบบันด์ ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับเรือที่ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้เร็วที่สุด[3] ทว่า เรือโดยสารลำใหม่ของบริษัทนอร์ทด็อยท์เชอร์ล็อยท์ คือ เอสเอส ไคเซอร์วิลเฮ็ล์มแดร์โกรเซอ (SS Kaiser Wilhelm der Große) ได้แย่งรางวัลบลูริบบันด์ไปจากพวกเขาในปี ค.ศ. 1897 ขณะเดียวกันบริษัทไวต์สตาร์ไลน์ก็ได้วางแผนจะนำเรือโดยสารลำใหม่ขนาด 17,000 ตันคือ อาร์เอ็มเอส โอเชียนิก (RMS Oceanic) เข้าให้บริการ คูนาร์ดได้ทำการปรับปรุงฝูงเรือของตนในช่วงเวลานั้น โดยการสั่งสร้างเรือโดยสารขนาดใหญ่รุ่นใหม่ 3 ลำ ได้แก่ เอสเอส ไอเวอร์เนีย, ซักโซเนีย และคาร์เพเทีย[4]
แทนที่จะพยายามฟื้นฟูชื่อเสียงอย่างเต็มที่ด้วยการใช้เงินเพิ่มเติมที่จำเป็นในการสั่งซื้อเรือโดยสารที่มีความเร็วเพียงพอที่จะยึดรางวัลบลูริบบันด์คืนจากเรือไคเซอร์วิลเฮ็ล์มแดร์โกรเซอของเยอรมัน หรือมีขนาดใหญ่พอที่จะเทียบเคียงกับเรือโอเชียนิก บริษัทคูนาร์ดได้พยายามเพิ่มผลกำไรสูงสุดเพื่อรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอที่จะป้องกันการเข้าซื้อกิจการใด ๆ โดยกลุ่มบริษัทเดินเรือคู่แข่งอย่างบริษัท อินเตอร์เนชันแนลเมอร์แคนไทล์มารีน จำกัด (International Mercantile Marine Co.)[ต้องการอ้างอิง]
เรือใหม่ทั้งสามลำนั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาให้มีความเร็วสูงมากนัก เนื่องจากมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับผู้โดยสารที่เป็นผู้อพยพ ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดต้นทุนด้านเชื้อเพลิงได้อย่างมาก เรือทั้งสามลำนี้ทำหน้าที่เป็นทั้งเครื่องมือและแบบอย่างที่ทำให้คูนาร์ดสามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายใหญ่ได้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไวต์สตาร์ไลน์ ซึ่งเป็นบริษัทหลักของ IMM[5]
เรือคาร์เพเทียเป็นเรือที่ออกแบบดัดแปลงมาจากเรือชั้นไอเวอร์เนีย โดยมีความยาวสั้นกว่าเรือต้นแบบในชั้นเดียวกันประมาณ 40 ฟุต (12 เมตร) เช่นเดียวกับเรือรุ่นก่อนหน้า การออกแบบของเรือลำนี้เน้นตัวเรือที่ยาว โครงสร้างส่วนบนที่ต่ำและสมดุลดี พร้อมทั้งเสากระโดงสี่ต้นที่ติดตั้งเครน ซึ่งช่วยให้สามารถขนถ่ายสินค้าปริมาณมากได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเรือเดินสมุทรทั่วไป[6]
อาร์เอ็มเอส คาร์เพเทีย ถูกสร้างขึ้นโดยบริษัท ซี. เอส. สวอนแอนด์ฮันเตอร์ (C. S. Swan & Hunter) ณ อู่ต่อเรือในเมืองวอลเซนด์ ประเทศอังกฤษ เพื่อให้บริการแก่บริษัทเรือกลไฟคูนาร์ด (Cunard Steamship Company) หรือคูนาร์ดไลน์ โดยจะทำการเดินเรือระหว่างเมืองลิเวอร์พูลและบอสตันร่วมกับเรือไอเวอร์เนียและซักโซเนีย[7] กระดูกงูของเรือลำนี้ได้ถูกวางลงในวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1901[8] และได้ถูกปล่อยลงน้ำในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1902 โดยมีนางสาววัตสัน บุตรสาวของรองประธานบริษัทคูนาร์ดไลน์เป็นผู้ทำพิธีตั้งชื่อ[9] เรือลำนี้ได้ผ่านการทดสอบเดินเรือในการเดินทางจากแม่น้ำไทน์ไปยังแม่น้ำเมอร์ซีย์ระหว่างวันที่ 22 ถึง 25 เมษายน ค.ศ. 1903[10]
ณ ขณะที่ปล่อยเรือ เรือลำนี้ถูกระบุว่ามีความยาว 558 ฟุต (170 เมตร)[8] กว้าง 64 ฟุต 3 นิ้ว (19.58 เมตร) และมีระวางบรรทุกรวม 12,900 ตัน[11] เมื่อเรือคาร์เพเทียก่อสร้างแล้วเสร็จสิ้น ระวางบรรทุกรวมของเรือก็ได้เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 13,500 ตัน[8] เรือลำนี้ถูกออกแบบให้มีดาดฟ้าเหล็กสมบูรณ์ 4 ชั้น ดาดฟ้าท้องเรือเหล็กในห้องเก็บสินค้าหมายเลข 1 และ 2 และดาดฟ้าสะพานยาว 290 ฟุตสำหรับผู้โดยสาร ห้องรับรอง และห้องพัก โดยมีดาดฟ้าเรือบดตั้งอยู่เหนือดาดฟ้าสะพานโดยตรง[7] ณ ขณะที่ปล่อยเรือลงน้ำ มีการกล่าวอ้างว่าเรือลำนี้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง 200 คน ชั้นสาม 600 คน และสินค้าแช่แข็งจำนวนมาก[7][11] เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ความจุของเรือลำนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1,700 คน[8]
แม้จะเป็นเรือโดยสารขนาดกลางที่ออกแบบมาเพื่อรองรับผู้โดยสารชั้นสองและชั้นสามเป็นหลัก เรือคาร์เพเทียก็ยังคงมีการตกแต่งภายในที่สะดวกสบายและถือเป็นมาตรฐานของเรือโดยสารในยุคนั้น ห้องรับประทานอาหารได้รับการตกแต่งด้วยสีครีมและทอง ซึ่ง "เข้ากันได้ดีกับเบาะนั่งที่หรูหราและเฟอร์นิเจอร์ไม้มะฮอกกานี รวมถึงม่านสีทองเก่าที่บังช่องหน้าต่าง"[6] และถูกปิดทับด้วยโดมกระจกสีที่อยู่ใต้พัดลมไฟฟ้าเพื่อระบายอากาศ ที่พักชั้นสองยังมีห้องสูบบุหรี่ที่กรุด้วยไม้วอลนัตบริเวณท้ายเรือ และห้องสมุดที่ออกแบบอย่างสวยงามบริเวณส่วนหน้าของดาดฟ้าสะพาน (ชั้น A) หลังการปรับปรุงในปี ค.ศ. 1905 พื้นที่เหล่านี้จะได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นที่พักชั้นหนึ่ง ที่พักชั้นสามบนเรือคาร์เพเทียนั้นถือว่ามีคุณภาพสูงอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับมาตรฐานในยุคนั้น ห้องรับประทานอาหารชั้นสามมีพื้นที่เท่ากับความกว้างของเรือ และสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 300 คน โดยมีผนังกรุด้วยไม้โอ๊กขัดเงาและแผงประกบผนังไม้สัก[6] ชั้นสามยังมีห้องสูบบุหรี่และห้องสตรีซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าห้องรับประทานอาหารบนดาดฟ้าชั้นบน (ชั้น C) ติดกับทางเดินปิด (หรือพื้นที่โล่ง) คล้ายกับการออกแบบของเรือไอเวอร์เนียและซักโซเนีย[6] ห้องพักของเจ้าหน้าอยู่บริเวณส่วนหน้าของเรือบนดาดฟ้าสะพาน (ชั้น A) เหนือห้องสูบบุหรี่และห้องสตรีชั้นสาม ในขณะที่ห้องพักของกัปตันนั้นอยู่บนดาดฟ้าเรือบดใต้สะพานเดินเรือโดยตรง[ต้องการอ้างอิง]
ดาดฟ้าชั้นล่างของเรือคาร์เพเทียมีระบบระบายอากาศที่ดี โดยใช้ช่องระบายอากาศบนดาดฟ้าควบคู่ไปกับพัดลมไฟฟ้า ระบบระบายอากาศได้รับการออกแบบมาเพื่อบังคับให้อากาศบริสุทธิ์ผ่านหม้อน้ำแบบขดลวด ซึ่งสามารถเติมน้ำเย็นในช่วงฤดูร้อนหรือไอน้ำในช่วงฤดูหนาว เพื่อทำความร้อนและทำความเย็นให้กับเรือตามสภาพอากาศที่เหมาะสม[12] แม้เรือลำนี้จะติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่างอย่างครบครันด้วยหลอดไฟมากกว่า 2,000 ดวง แต่เมื่อเริ่มให้บริการ มีการติดตั้งตะเกียงน้ำมันสำรองไว้ในห้องโดยสารทุกห้องเผื่อกรณีไฟฟ้าดับ[6]
เรือคาร์เพเทียมีหม้อไอน้ำแบบปลายเดี่ยว 7 ตัว ติดตั้งระบบลมเป่าแบบฮาวเดิน[11] ทำงานที่แรงดัน 210 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (1,400 กิโลปาสกาล)[7] ซึ่งป้อนไอน้ำให้กับชุดเครื่องจักรไอน้ำสี่สูบ สี่ข้อเหวี่ยงแบบขยายสี่ช่วงจำนวน 2 เครื่อง สร้างโดยบริษัท วอลเซนด์ สลิปเวย์แอนด์เอ็นจิเนียริง จำกัด (Wallsend Slipway and Engineering Company, Ltd.) เมืองวอลเซนด์ ประเทศอังกฤษ[12] มีกระบอกสูบขนาด 26 นิ้ว (0.66 เมตร), 37 นิ้ว (0.94 เมตร), 53 นิ้ว (1.3 เมตร), และ 76 นิ้ว (1.9 เมตร) พร้อมระยะชัก 54 นิ้ว (1.4 เมตร)[7][11] กำลังเครื่องยนต์ที่มีอยู่ช่วยให้สามารถทดสอบความเร็วได้ตามเป้าหมายที่ 15.5 นอต (17.8 ไมล์ต่อชั่วโมง; 28.7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)[11]
เรือคาร์เพเทียออกเดินทางครั้งแรกในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1903 จากเมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ[8] ไปยังเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา และได้ให้บริการเดินเรือระหว่างนครนิวยอร์ก[13] กับท่าเรือต่าง ๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อาทิ ยิบรอลตาร์ แอลเจียร์ เจโนวา เนเปิลส์ ตรีเยสเต และฟีอูเม[14]
แม้จะขาดความรวดเร็วและความหรูหราอลังการแบบเรือโดยสารด่วน และไม่มีที่พักชั้นหนึ่งจนกระทั่งปี ค.ศ. 1905 แต่เรือคาร์เพเทียก็ได้สร้างชื่อเสียงอย่างรวดเร็วในฐานะเรือที่สะดวกสบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพอากาศเลวร้าย เนื่องมาจากอัตราส่วนความกว้างต่อความยาวที่ค่อนข้างกว้าง การใช้ครีบใต้ท้องเรือ และการไม่มีแรงสั่นสะเทือนที่มักพบในเครื่องยนต์ที่มีกำลังสูง[6][12] เรือลำนี้ได้รับความนิยมอย่างมากจากทั้งนักท่องเที่ยวและผู้อพยพ ในช่วงฤดูร้อน เรือคาร์เพเทียจะให้บริการเดินเรือระหว่างลิเวอร์พูลและนครนิวยอร์กเป็นหลัก ส่วนในช่วงฤดูหนาวจะเดินทางจากนครนิวยอร์กไปยังบริเวณเมดิเตอร์เรเนียน[8]
หลังจากที่บริษัทคูนาร์ดได้ร่วมมือกับบริษัทเอเดรีย (Adria) แห่งราชอาณาจักรฮังการีในปี ค.ศ. 1904 เรือคาร์เพเทียก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ขนส่งผู้อพยพชาวฮังการี[15][16] ด้วยเหตุนี้ เรือคาร์เพเทียจึงได้รับการปรับปรุงใหม่ในปี ค.ศ. 1905 ทำให้มีความจุเพิ่มขึ้นจาก 1,700 คนเป็น 2,550 คน ห้องโดยสารชั้นสามขนาดเล็กส่วนใหญ่ถูกปรับเปลี่ยนเป็นห้องนอนรวมขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มพื้นที่พักชั้นหนึ่งในบริเวณที่เคยเป็นชั้นสอง[8] ภายในปี ค.ศ. 1912 น้ำหนักของเรือได้เพิ่มขึ้นเป็น 13,600 ตัน[17] และมีกำลังการรองรับผู้โดยสารได้ถึง 2,450 คน โดยแบ่งเป็นผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นสอง 250 คน และผู้โดยสารชั้นสาม 2,200 คน[17] ในปี ค.ศ. 1912 เรือลำนี้มีลูกเรือประมาณ 300 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่ 6 นาย[17] และมีเรือชูชีพ 20 ลำ[17]
เรือคาร์เพเทียออกเดินทางจากนครนิวยอร์กในวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1912 มุ่งหน้าไปยังเมืองฟิอูเม จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (ปัจจุบันคือเมืองริเยกา ประเทศโครเอเชีย) ขณะนั้นบนเรือมีลูกเรือประมาณ 240 คน ซึ่ง 1 ใน 4 เป็นชาวโครเอเชีย ผู้โดยสารชั้นหนึ่งมีจำนวน 128 คน ชั้นสอง 50 คน และชั้นสาม 565 คน[18]
ในบรรดาผู้โดยสารบนเรือลำนี้มีคอลิน แคมป์เบล คูเปอร์ จิตรกรชาวอเมริกัน และเอ็มมา ภรรยา, ฟิลิป เมาโร นักเขียน, ลูอิส พาล์มเมอร์ สกิดมอร์ และคาร์ลอส ฟาเยตต์ เฮิร์ด นักข่าว พร้อมด้วยภรรยาของพวกเขา เอมิลี วินตัน สกิดมอร์ และแคเทอรีน คอร์เดล เฮิร์ด, ดร. แฟรนซิส เอช. แบล็กมาร์ ช่างภาพ และชาลส์ เอช มาร์แชล ซึ่งมีหลานสาวสามคนเดินทางอยู่บนเรือไททานิก นอกจากนี้ยังมีผู้โดยสารคนสำคัญอีกหลายคน ได้แก่ โฮป บราวน์ เชพิน บุตรสาวคนเล็กที่กำลังฮันนีมูนของรัสเซล บราวน์ อดีตผู้ว่าการรัฐโรดไอแลนด์, ชาลส์ เอ็ม. ฮัตชิสัน สถาปนิกชื่อดังจากเมืองพิตต์สเบิร์ก พร้อมด้วย ซู อีวา รูล ภรรยา ซึ่งเป็นน้องสาวของเวอร์จิล รูล ผู้พิพากษาแห่งศาลอุทธรณ์เมืองเซนต์หลุยส์ รวมถึงหลุยส์ แมนส์ฟีลด์ อ็อกเดน และ ออกัสตา เดวิส อ็อกเดน ภรรยา ทายาทรุ่นหลานของอเล็กซานเดอร์ เอช. ไรซ์[ต้องการอ้างอิง]
ในคืนวันที่ 14 เมษายน แฮโรลด์ คอตแทม พนักงานวิทยุโทรเลขของเรือคาร์เพเทียได้พลาดการรับข้อความก่อนหน้านี้จากเรือไททานิก เนื่องจากขณะนั้นเขากำลังอยู่บนสะพานเดินเรือ[19] หลังจากสิ้นสุดกะงานในเวลาเที่ยงคืน เขายังคงติดตามสัญญาณวิทยุต่อไปก่อนเข้านอน และได้รับข้อความจากสถานีชายฝั่งเคปค็อด รัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งระบุว่ามีการส่งข้อความส่วนตัวถึงเรือไททานิก เขาคิดว่าการกระทำของตนจะเป็นประโยชน์ จึงได้ส่งข้อความไปยังเรือไททานิกในเวลา 00:11 น. ของวันที่ 15 เมษายน ว่าเคปค็อดมีข้อความสำหรับเรือไททานิก ในการตอบกลับนั้นเขาได้รับสัญญาณขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจากเรือไททานิก ซึ่งระบุว่าเรือได้ชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งและต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและทันที[19]
คอตแทมนำข้อความและพิกัดไปยังสะพานเดินเรือ ซึ่งในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่เวรเรือต่างแสดงความสงสัยในความจริงจังของสัญญาณขอความช่วยเหลือจากไททานิก[20] ด้วยความวิตกกังวล คอตแทมจึงรีบวิ่งลงบันไดไปยังห้องพักของกัปตัน และปลุกกัปตันอาร์เทอร์ เฮนรี รอสตรอน ซึ่งได้ตักเตือนคอตแทมอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อทราบถึงความจริงจังของข้อความ กัปตันจึงได้ดำเนินการสั่งให้เปลี่ยนทิศทางเรือทันที[21] และจากนั้นจึงสอบถามคอตแธมว่าแน่ใจหรือไม่ว่าเป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือจากเรือไททานิก[21] คอตแทมยืนยันว่าตนได้รับสัญญาณขอความช่วยเหลือจากเรือไททานิก ซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และคอตแทมได้แจ้งตำแหน่งของเรือไททานิก พร้อมทั้งยืนยันอย่างหนักแน่นว่าข้อความดังกล่าวมีความจริงจัง[21] ขณะกำลังแต่งกาย รอสตรอนได้กำหนดทิศทางเรือมุ่งหน้าไปยังเรือไททานิก และได้เรียกหัวหน้าวิศวกรมาสั่งให้เรียกคนตักถ่านหินอีกชุดหนึ่งมาปฏิบัติงาน และให้เร่งเครื่องยนต์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อมุ่งหน้าไปหาเรือไททานิก เนื่องจากเรือลำดังกล่าวอยู่ในวิกฤต[21] รอสตรอนได้ให้การภายหลังว่าระยะทางไปยังเรือไททานิกนั้นอยู่ที่ 58.22 ไมล์ทะเล (67.00 ไมล์; 107.82 กิโลเมตร) และเรือคาร์เพเทียใช้เวลาเดินทางสามชั่วโมงครึ่งในการไปถึงจุดที่เรือไททานิกจมลง ซึ่งเมื่อเดินทางไปถึง เรือไททานิกก็ได้จมลงไปในมหาสมุทรแล้ว[21]
รอสตรอนได้สั่งให้ปิดระบบทำความร้อนและน้ำร้อนของเรือเพื่อนำไอน้ำไปใช้กับเครื่องจักรให้ได้มากที่สุด และได้เพิ่มจำนวนยามสังเกตการณ์เพื่อเฝ้าระวังภูเขาน้ำแข็ง[22][23] เขาได้สั่งให้แพทย์ 3 คนประจำอยู่ในห้องรับประทานอาหารของแต่ละชั้นเพื่อดูแลผู้รอดชีวิตในแต่ละชั้น และให้จัดเตรียมผ้าห่ม บันได และถุงไปรษณีย์ไว้ที่ประตูทางขึ้นลงเรือของแต่ละชั้นสำหรับผู้รอดชีวิต ขณะเดียวกัน คอตแทมได้ส่งข้อความไปยังเรือไททานิกว่าเรือคาร์เพเทียกำลังมุ่งหน้าไปโดยเร็วที่สุด และคาดว่าจะถึงจุดเกิดเหตุภายในเวลา 4 ชั่วโมง หลังจากนี้คอตแทมได้งดส่งสัญญาณใด ๆ เพิ่มเติมอีก เพื่อรักษาเครือข่ายให้โล่งสำหรับสัญญาณขอความช่วยเหลือจากเรือไททานิก[24] เรือคาร์เพเทียเดินทางมาถึงเขตของทุ่งน้ำแข็งในเวลา 02:45 น. และได้ใช้เวลาอีกสองชั่วโมงในการหลบหลีกภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ ขณะที่ก้อนน้ำแข็งขนาดเล็กสีกับตัวเรืออย่างต่อเนื่อง[24][21] เรือคาร์เพเทียเดินทางมาถึงจุดที่ได้รับสัญญาณขอความช่วยเหลือในเวลา 04:00 น. ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งหลังจากที่เรือไททานิกอับปางลงไปแล้ว[25] ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,523 คน เรือคาร์เพเทียได้ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่งในการรับผู้รอดชีวิตจำนวน 705 คนจากเรือชูชีพของไททานิก[26] ผู้รอดชีวิตได้รับผ้าห่มและกาแฟ จากนั้นบริกรจึงพาพวกเขาไปยังห้องรับประทานอาหาร ผู้รอดชีวิตคนอื่น ๆ ได้ขึ้นไปบนดาดฟ้าเพื่อสำรวจมหาสมุทรเพื่อหาสัญญาณใด ๆ ของคนที่พวกเขารัก ตลอดระยะเวลาการช่วยเหลือ ผู้โดยสารของเรือคาร์เพเทียได้ให้ความช่วยเหลือในทุกวิถีทางที่ทำได้ โดยการมอบอาหารและเครื่องดื่มอุ่น ๆ ผ้าห่ม ที่พัก และคำปลอบโยน[27] ในเวลา 09:00 น. ผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายได้ถูกนำขึ้นมาจากเรือชูชีพทั้งหมดแล้ว และรอสตรอนได้ออกคำสั่งให้เรือแล่นออกจากบริเวณดังกล่าว เรือเอสเอส เบอร์มา (SS Birma) ซึ่งอยู่ใกล้เคียงได้เสนอจะส่งเสบียงให้แก่เรือคาร์เพเทีย แต่ถูกผู้ควบคุมวิทยุของเรือคาร์เพเทียบอกให้ "เงียบ" เนื่องจากเรือเบอร์มาไม่ได้ใช้อุปกรณ์วิทยุไร้สายของมาร์โกนี[28]
หลังจากพิจารณาทางเลือกเกี่ยวกับสถานที่ลงเรือของผู้รอดชีวิต เช่น กลุ่มเกาะอะโซร์ส (จุดหมายปลายทางที่มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดสำหรับบริษัทคูนาร์ด) และแฮลิแฟกซ์ (ท่าเรือที่ใกล้ที่สุดแม้จะอยู่บนเส้นทางที่มีน้ำแข็งมาก) รอสตรอนได้ปรึกษาหารือกับบรูซ อิสเมย์ และในที่สุดก็ตัดสินใจให้ผู้รอดชีวิตลงเรือที่นครนิวยอร์ก จุดหมายปลายทางเดิมของเรือไททานิก ข่าวเกี่ยวกับภัยพิบัติแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วบนฝั่ง และเรือคาร์เพเทียก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางความสนใจของสื่อมวลชนอย่างเข้มข้นขณะที่แล่นด้วยความเร็วเฉลี่ย 14 นอตมุ่งหน้าไปยังนิวยอร์ก มีการส่งข้อความวิทยุจำนวนมากจากสถานีเคปเรซและสถานีชายฝั่งอื่น ๆ ถึงกัปตันรอสตรอน ซึ่งมาจากญาติของผู้โดยสารเรือไททานิกและนักข่าวที่ต้องการรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อแลกกับเงิน[24] รอสตรอนสั่งห้ามไม่ให้มีการส่งข่าวสารใด ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ไปยังสื่อมวลชนโดยตรง โดยมอบความรับผิดชอบดังกล่าวให้แก่สำนักงานของบริษัทไวต์สตาร์ ขณะเดียวกันก็ได้สั่งให้แจ้งรายละเอียดของเหตุการณ์ไปยังเรืออาร์เอ็มเอส โอลิมปิก (RMS Olympic) ซึ่งเป็นเรือพี่น้องของไททานิกผ่านคอตแทม ในวันพุธที่ 17 เมษายน เรือลาดตระเวนเบา ยูเอสเอส เชสเตอร์ (USS Chester) ได้เริ่มปฏิบัติการคุ้มกันเรือคาร์เพเทียมุ่งหน้าสู่นครนิวยอร์ก ต่อมาคอตแทมได้รับความช่วยเหลือจากแฮโรลด์ ไบรด์ พนักงานวิทยุโทรเลขของเรือไททานิกในการส่งรายชื่อผู้รอดชีวิตชั้นสามไปยังเรือเชสเตอร์ เนื่องด้วยสภาพอากาศเลวร้ายจากพายุฝนฟ้าคะนองและหมอกหนาตั้งแต่เช้ามืดของวันอังคารที่ 16 เมษายน เรือคาร์เพเทียจึงล่าช้าในการเดินทาง และสุดท้ายสามารถเดินทางมาถึงนครนิวยอร์กได้ในช่วงเย็นของวันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1912 ท่ามกลางสายฝนที่ตกหนัก[29]
เรือคาร์เพเทียได้เข้าเทียบท่าที่ท่าเทียบเรือ 59 ของบริษัทไวต์สตาร์ และได้ทำการขนเรือชูชีพจำนวน 13 ลำของเรือไททานิกลงจากเรือ ก่อนจะแล่นต่อไปยังท่าเทียบเรือ 54 ของบริษัทคูนาร์ดเพื่อส่งผู้รอดชีวิตที่เหลือขึ้นฝั่ง
ลูกเรือของเรือคาร์เพเทียได้รับเหรียญตราหลายดวงจากผู้รอดชีวิตสำหรับการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย สมาชิกลูกเรือได้รับเหรียญตราทองแดง เจ้าหน้าที่ได้รับเหรียญตราเงิน และกัปตันรอสตรอนได้รับถ้วยเงินและเหรียญทอง ซึ่งมีนางมาร์กาเรต มอลลี บราวน์ เป็นผู้มอบ รอสตรอนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นอัศวินจากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 และต่อมาได้รับเชิญให้เข้าพบประธานาธิบดีวิลเลียม ฮาวเวิร์ด แทฟต์ ณ ทำเนียบขาว ซึ่งในโอกาสนั้นเขาได้รับเหรียญทองคำรัฐสภา ซึ่งเป็นเกียรติยศสูงสุดที่รัฐสภาสหรัฐจะสามารถมอบให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้[30]
โยสิป คาร์ สัญชาติโครเอเชีย เกิดที่เมืองคริกเวนิกา ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโครเอเชีย ในขณะเกิดเหตุการณ์นั้นเขามีอายุ 18 ปี และทำหน้าที่เป็นพนักงานเสิร์ฟบนเรือคาร์เพเทีย หลังจากเข้าร่วมภารกิจช่วยเหลือ เขาได้เก็บเสื้อชูชีพของเรือไททานิกไว้เป็นที่ระลึก และได้บริจาคให้แก่พิพิธภัณฑ์การเดินเรือและประวัติศาสตร์ชายฝั่งโครเอเชีย ในเมืองริเยกาเมื่อปี ค.ศ. 1938 เสื้อตัวนี้เป็นหนึ่งในเสื้อชูชีพเพียง 5 ตัวที่ได้รับการยืนยันว่ามาจากเรือไททานิก และเป็นตัวเดียวที่ได้รับการอนุรักษ์และจัดแสดงอย่างถาวรในทวีปยุโรป[31]
ภูเขาใต้ทะเลคาร์เพเทีย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มภูเขาใต้ทะเลโฟโก ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแกรนด์แบงส์แห่งนิวฟันด์แลนด์ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ได้รับการตั้งชื่อตามเรือคาร์เพเทีย เนื่องจากบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์เรือไททานิกอับปาง[32]
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เรือคาร์เพเทียถูกใช้ในการขนส่งทหารแคนาดาและอเมริกาไปยังยุโรป[33] และการเดินทางบางเที่ยวของเรือลำนี้ก็อยู่ในขบวนเรือ โดยแล่นออกจากนิวยอร์ก ผ่านแฮลิแฟ็กซ์ ไปยังลิเวอร์พูลและกลาสโกว์[34] ในบรรดาลูกเรือของคาร์เพเทียในช่วงสงครามโลกนั้น มีหนึ่งคนที่โดดเด่นเป็นพิเศษ นั่นคือ แฟรงก์ บักเคิลส์ (Frank Buckles) ซึ่งต่อมาเขาได้กลายเป็นทหารผ่านศึกชาวอเมริกันคนสุดท้ายที่รอดชีวิตจากมหาสงคราม[35] ในช่วงระหว่างที่เรือเข้าประจำการ ปล่องไฟสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์ของสายการเดินเรือคูนาร์ดได้ถูกทาสีเทาเข้มแทนเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในยามสงคราม[36]
วันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1918 เรือคาร์เพเทียได้ออกเดินทางจากลิเวอร์พูลในขบวนเรือเพื่อมุ่งหน้าไปยังบอสตัน โดยมีผู้โดยสารทั้งหมด 57 คน (ชั้นหนึ่ง 36 คน และชั้นสาม 21 คน) และลูกเรืออีก 166 คน ขบวนเรือได้เคลื่อนที่เป็นเส้นทางซิกแซกพร้อมด้วยเรือคุ้มกันตามขั้นตอนการป้องกันการโจมตีจากเรือดำน้ำ[37] เรือคุ้มกันได้ออกจากขบวนเรือในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 17 กรกฎาคม[38] และขบวนเรือถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน เรือคาร์เพเทียได้แล่นต่อไปทางทิศตะวันตกพร้อมด้วยเรืออีก 6 ลำ และด้วยขนาดที่ใหญ่ที่สุดในขบวนเรือจึงได้ทำหน้าที่เป็นเรือธง สามชั่วโมงครึ่งต่อมาในเวลา 09.15 น. ขณะแล่นอยู่ในบริเวณน่านน้ำนอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของบริเตนใหญ่ ได้มีการสังเกตเห็นตอร์ปิโดกำลังวิ่งเข้ามาทางด้านกราบซ้ายของเรือ เครื่องยนต์ถูกเร่งให้เดินเครื่องถอยหลังเต็มกำลังและหางเสือถูกบังคับให้หันขวาสุด แต่ก็สายเกินไปที่จะหลบตอร์ปิโด[37] เรือคาร์เพเทียถูกตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำเอสเอ็ม อู-55 (SM U-55) ของกองทัพเรือจักรวรรดิเยอรมัน ใกล้กับช่องสินค้าหมายเลข 3 ด้านกราบซ้าย ตอร์ปิโดลูกที่สองได้ทะลุเข้าไปในห้องเครื่อง ทำให้ลูกเรือ 3 คนและช่างเครื่อง 2 คนเสียชีวิต และทำให้เรือไม่สามารถหลบหนีได้เนื่องจากเครื่องยนต์ไม่สามารถใช้การได้หลังจากถูกตอร์ปิโดลูกที่สองโจมตี[39] แรงระเบิดได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบไฟฟ้าของเรือคาร์เพเทีย รวมถึงอุปกรณ์วิทยุไร้สาย และเรือชูชีพอีก 2 ลำ[37] ด้วยเหตุนี้ กัปตันวิลเลียม โพรเทโร ซึ่งดำรงตำแหน่งกัปตันเรือคาร์เพเทียมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1916 จึงได้ส่งสัญญาณไปยังเรือลำอื่น ๆ ในขบวนเรือให้ส่งข้อความวิทยุโดยใช้ธง จากนั้นเขาได้สั่งให้ยิงพลุจรวดเพื่อดึงดูดความสนใจของเรือตรวจการณ์ที่อยู่ใกล้เคียง ขบวนเรือที่เหลือได้แล่นออกไปด้วยความเร็วสูงสุดเพื่อหนีเรือดำน้ำ[37]
เมื่อหัวเรือคาร์เพเทียเริ่มจมลงและเอียงไปทางกราบซ้าย โพรเทโรจึงได้ออกคำสั่งให้สละเรือ ผู้โดยสารและลูกเรือที่รอดชีวิตทั้งหมดได้ขึ้นเรือชูชีพทั้ง 11 ลำขณะที่เรือคาร์เพเทียกำลังจมลง[39] มีผู้เสียชีวิต 5 คนจากผู้โดยสารทั้งหมด 223 คนบนเรือ[39] ขณะที่ผู้โดยสารและลูกเรือกำลังทยอยออกจากเรือ กัปตันโพรเทโร หัวหน้าเจ้าหน้าที่ ต้นเรือที่หนึ่งและสอง รวมถึงพลปืนยังคงอยู่บนเรือที่กำลังจม เพื่อดำเนินการทิ้งเอกสารลับทั้งหมดลงสู่ทะเล จากนั้นกัปตันได้ส่งสัญญาณให้เรือชูชีพลำหนึ่งเข้ามาเทียบข้าง และจึงสละลูกเรือพร้อมกับลูกเรือที่เหลือ[37] อู-55 ลอยขึ้นสู่ผิวน้ำและยิงตอร์ปิโดลูกที่สามเข้าใส่เรือบริเวณใกล้ห้องของพลปืน ทำให้เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ซึ่งส่งผลให้เรือคาร์เพเทียจมลง[39] อู-55 เริ่มเข้าใกล้เรือชูชีพ ขณะที่เรือสลุปขนาดเล็กชั้นอมเซเลีย เอชเอ็มเอส สโนว์ดรอป (HMS Snowdrop) เดินทางมาถึงยังพื้นที่เกิดเหตุและได้ขับไล่เรือดำน้ำออกไปด้วยการยิงปืนใหญ่ ก่อนจะทำการรับผู้รอดชีวิตจากเรือคาร์เพเทียในเวลาประมาณ 13:00 น. เรือหลวงสโนว์ดรอปเดินทางกลับถึงลิเวอร์พูลพร้อมด้วยผู้รอดชีวิตในช่วงเย็นของวันที่ 18 กรกฎาคม
เรือคาร์เพเทียอับปางลงในเวลา 11:00 น. ณ พิกัดที่เรือหลวงสโนว์ดรอปบันทึกไว้ที่ 49 องศา 25 ลิปดาเหนือ 10 องศา 25 ลิปดาตะวันตก (49°25′N 10°25′W) ประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาทีหลังจากถูกตอร์ปิโดโจมตี และห่างจากเกาะฟาสต์เน็ตไปทางทิศตะวันตกประมาณ 120 ไมล์ (190 กิโลเมตร) ในช่วงเวลาที่อับปาง เรือคาร์เพเทียเป็นเรือเดินสมุทรลำที่ 5 ของบริษัทคูนาร์ดที่ถูกจมภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ เรือลำอื่น ๆ ที่จมลง ได้แก่ เรืออัสคาเนีย (Ascania) อาวโซเนีย (Ausonia) ดวินสก์ (Dwinsk) และวาเลนเทีย (Valentia) ทำให้เหลือเรือของคูนาร์ดเพียง 5 ลำจากฝูงเรือขนาดใหญ่ก่อนสงคราม[39]
วันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1942 บริษัท อาร์โกซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (Argosy International Ltd.) นำโดยแกรแฮม เจสซอป บุตรชายของคีท เจสซอป นักสำรวจใต้ทะเล และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานใต้น้ำและทางทะเลแห่งชาติ (NUMA) ได้รายงานผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์สและเอพีว่าได้ค้นพบซากเรือคาร์เพเทียในระดับความลึก 600 ฟุต (180 เมตร) ห่างจากแหลมแลนส์เอนด์ไปทางตะวันตก 185 ไมล์ (298 กิโลเมตร)[40] สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้เรือของเขาต้องละทิ้งตำแหน่งก่อนที่เจสซอปจะสามารถตรวจสอบการค้นพบโดยใช้กล้องใต้น้ำได้ ทว่าเมื่อกลับไปยังจุดที่ค้นพบซากเรือดังกล่าวอีกครั้ง พบว่าซากเรือที่พบนั้นเป็นของเรือไอซิส (Isis) ของบริษัทฮัมบูร์กอเมริกาไลน์ (Hamburg-America Line) ที่อับปางลงเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1936[41]
ในปี ค.ศ. 2000 ไคลฟ์ คัสเลอร์ นักเขียนและนักดำน้ำชาวอเมริกันได้ประกาศว่าองค์กรของเขาซึ่งก็คือ NUMA ได้ค้นพบซากเรือคาร์เพเทียที่แท้จริงในฤดูใบไม้ผลิของปีนั้น[42][43] ที่ระดับความลึก 500 ฟุต (150 เมตร)[44] พบว่าเรือคาร์เพเทียจมลงสู่ก้นทะเลในลักษณะตั้งตรง NUMA ระบุตำแหน่งโดยประมาณของซากเรือว่าอยู่ห่างจากเกาะฟาสต์เน็ต ประเทศไอร์แลนด์ ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 120 ไมล์ (190 กิโลเมตร)[45]
ซากเรือคาร์เพเทียเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท พรีเมียร์ เอ็กซิบิชันส์ อิงก์ (Premier Exhibitions Inc.) ซึ่งเดิมคือบริษัท อาร์เอ็มเอส ไททานิก อิงก์ (RMS Titanic Inc.) โดยบริษัทดังกล่าวมีแผนที่จะกู้เอาสิ่งของจากซากเรือดังกล่าวขึ้นมา[44]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.