Remove ads
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ในชีววิทยาของเซลล์ ออร์แกเนลล์ (อังกฤษ: organelle) เป็นหน่วยย่อยพิเศษซึ่งเปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่เฉพาะอย่าง ซึ่งโดยปกติจะอยู่ภายในเซลล์ คำว่า ออร์แกเนลล์ (organelle) มาจากแนวความคิดที่ว่า โครงสร้างเล็ก ๆ ในเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเซลล์ เปรียบเหมือนกับ อวัยวะ (organ) ของร่างกาย โดยการเติมคำปัจจัย -elle (เป็นส่วนเล็ก ๆ) เพื่อแสดงว่าเป็นอวัยวะขนาดจิ๋วของเซลล์ ออร์แกเนลล์พบได้ทั้งแบบที่แยกต่างหากจากไซโทซอลด้วยเยื่อหุ้มลิพิด เรียกว่าออร์แกเนลล์ที่มีเยื่อหุ้ม และแบบที่ไม่มีเยื่อหุ้มลิพิดล้อมรอบ โดยยังคงคุณสมบัติเป็นหน่วยทำงาน (functional unit) อยู่ เรียกว่าออร์แกเนลล์ที่ไม่มีเยื่อหุ้ม นอกจากนี้ แม้ว่าหน่วยทำงานจะอยู่ภายนอกเซลล์ ก็อาจถือเป็นออร์แกเนลล์ได้เช่นกัน เช่น ซิเลีย แฟลเจลลัม อาร์คีลลัม และไตรโคซิส
ชีววิทยาเซลล์ | |
---|---|
เซลล์สัตว์ | |
องค์ประกอบของเซลล์สัตว์โดยทั่วไป:
|
ออร์แกเนลล์ | |
---|---|
รายละเอียด | |
การออกเสียง | /ɔːrɡəˈnɛl/ |
ส่วนหนึ่งของ | Cell |
ตัวระบุ | |
ภาษาละติน | organella |
MeSH | D015388 |
TH | H1.00.01.0.00009 |
FMA | 63832 |
ศัพท์ทางกายวิภาคของจุลกายวิภาคศาสตร์ |
การระบุออร์แกเนลล์สามารถทำได้ด้วยการส่องภายใต้กล้องจุลทรรศน์ และยังสามารถแยกให้บริสุทธิ์ได้โดยวิธีการกระบวนการปั่นแยกเซลล์ (cell fractionation) ออร์แกเนลล์มีหลายประเภท ซึ่งสังเกตได้ชัดเจนในเซลล์ยูแคริโอต ออร์แกเนลล์ยังหมายรวมถึงโครงสร้างที่ประกอบขึ้นเป็นระบบเอนโดเมมเบรน (เช่น เยื่อหุ้มนิวเคลียส, ร่างแหเอนโดพลาซึม, และกอลไจแอปพาราตัส) และโครงสร้างอื่น ๆ เช่น ไมโทคอนเดรียและพลาสติด ในขณะที่โพรแคริโอตไม่มีออร์แกเนลล์แบบที่มีในยูแคริโอต โพรแคริโอตบางชนิดมีไมโครคอมพาร์ทเมนต์ที่มีเปลือกโปรตีนหุ้มอยู่ เชื่อว่าเป็นออร์แกเนลล์ในยุคแรก ๆ[1] และยังมีหลักฐานว่าพบโครงสร้างที่มีเยื่อหุ้มอีกด้วย[2]
ในทางชีววิทยา organ ถูกนิยามว่าเป็นหน่วยทำงานที่อยู่ภายในสิ่งมีชีวิต[3] ในเชิงเปรียบเทียบ อวัยวะในร่างกายกับโครงสร้างย่อย ๆ ของเซลล์นั้นมีความแตกต่างชัดเจน
ในช่วงทศวรรษที่ 1830 Félix Dujardin ได้หักล้างทฤษฎีของเอเรินแบร์ค ที่กล่าวว่าจุลินทรีย์มีอวัยวะเหมือนกับในสัตว์หลายเซลล์ เพียงแต่มีขนาดที่เล็กกว่ามาก[4]
Karl August Möbius นักสัตววิทยาชาวเยอรมัน (1884) ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนแรก[5][6][7]ที่เปรียบโครงสร้างระดับเซลล์ว่าเทียบเคียงกับอวัยวะขนาดจิ๋ว ด้วยการใช้คำว่า organula (พหูพจน์ของ organulum ซึ่งเป็น diminutive form ของ organum ในภาษาละติน)[8] ในเชิงอรรถซึ่งตีพิมพ์ในการแก้ไขของวารสารฉบับถัดมา เขาให้เหตุผลว่าเขาเสนอให้เรียก"อวัยวะ"ของสิ่งมีชีวิตที่มีเซลล์เดียวว่า "organella" เนื่องจากเป็นเพียงส่วนที่ก่อตัวขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของเซลล์ ซึ่งแตกต่างจาก"อวัยวะ"ในสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ [8][9]
นักชีววิทยาเซลล์ส่วนใหญ่ถือว่าออร์แกเนลล์ มีความหมายเหมือนกันกับส่วนการทำงานภายในเซลล์ (cellular compartments) ซึ่งเป็นบริเวณที่ถูกหุ้มด้วยเยื่อหุ้มลิพิด โดยเป็นเยื่อหุ้มชั้นเดียวหรือสองชั้นก็ได้ กระนั้นนักชีววิทยาเซลล์บางกลุ่มก็ให้คำจำกัดความว่าออร์แกเนลล์คือส่วนการทำงานที่บรรจุกรดดีออกซีไรโบนิวคลีอิก (DNA) เป็นของตัวเอง อันเป็นผลจากการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจุลชีพอื่นที่เข้ามาอาศัยภายในเซลล์ตามทฤษฎีเอ็นโดซิมไบโอติก[10][11][12]
หากใช้การนิยามอย่างหลังจะมีออร์แกเนลล์เพียงสองประเภทเท่านั้น ได้แก่ ออร์แกเนลล์ที่มีดีเอ็นเอของตัวเอง และประเภทที่มีต้นกำเนิดจากแบคทีเรียเอนโดซิมไบโอติก:
มีข้อเสนอว่าออร์แกเนลล์อื่น ๆ ก็มีต้นกำเนิดตามทฤษฎีเอนโดซิมไบโอซิสเช่นกัน เพียงแต่ว่าไม่ได้บรรจุดีเอ็นเอของตัวเอง (ดังเห็นได้จากแฟลเจลลา - ดู วิวัฒนาการของแฟลเจลลา)
คำจำกัดความที่สองที่มีความจำกัดน้อยกว่าของออร์แกเนลล์คือ โครงสร้างที่มีเยื่อหุ้ม อย่างไรก็ตามแม้จะใช้คำจำกัดความนี้ บางส่วนของเซลล์ที่แสดงว่าเป็นหน่วยทำงานอย่างเห็นได้ชัดก็ไม่ถือว่าเป็นออร์แกเนลล์ ดังนั้นการใช้"ออร์แกเนลล์"เพื่ออ้างถึงโครงสร้างที่ไม่มีเยื่อหุ้มเช่นไรโบโซมจึงเป็นเรื่องปกติและเป็นที่ยอมรับ[14][15][16] ด้วยเหตุนี้จึงมีตำราจำนวนมากแบ่งประเภทระหว่างออร์แกเนลล์ที่'มีเยื่อหุ้ม'และ'ไม่มีเยื่อหุ้ม'[17] ออร์แกเนลล์ที่ไม่มีเยื่อหุ้มเซลล์หรือที่เรียกว่าสารชีวโมเลกุลเชิงซ้อนขนาดใหญ่ ประกอบกันเป็นโมเลกุลมหภาคที่มีการปรับเปลี่ยนไปทำหน้าที่เฉพาะอย่าง แต่ยังคงไม่มีเยื่อหุ้ม โดยอาจเรียกได้ว่าเป็นออร์แกเนลล์ที่ประกอบขึ้นจากโปรตีน(proteinaceous organelles) ดังเช่นโครงสร้างต่อไปนี้ :
กลไกที่ออร์แกเนลล์ที่ไม่มีเยื่อหุ้มดังกล่าวสามารถก่อตัวและรักษาความสมบูรณ์ เปรียบได้กับการการแยกเฟสของเหลว-ของเหลว[18]
เซลล์ยูแคริโอตมีโครงสร้างที่ซับซ้อน และตามความหมายจะถูกจัดระเบียบบางส่วนภายในที่ล้อมรอบด้วยเยื่อหุ้มไขมันที่มีลักษณะคล้ายกับเยื่อหุ้มเซลล์ ออร์แกเนลล์ขนาดใหญ่เช่นนิวเคลียสและแวคิวโอลสามารถมองเห็นได้ง่ายด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง ออร์แกเนลล์ดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในการค้นพบทางชีววิทยาครั้งแรกที่เกิดขึ้นหลังจากการประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์
เซลล์ยูแคริโอตบางเซลล์อาจไม่ได้มีออร์แกเนลล์ครบทั้งหมดที่แสดงตามตารางด้านล่าง สิ่งมีชีวิตบางชนิดไม่พบกระทั่งออร์แกเนลล์ที่สามารถพบได้เป็นปกติในสิ่งมีชีวิตอื่น เช่น ไมโทคอนเดรีย[19] นอกจากนี้ยังมีข้อยกเว้นบางประการเกี่ยวกับจำนวนเยื่อหุ้มออร์แกเนลล์ที่ระบุไว้ในตารางด้านล่าง (เช่นบางส่วนที่ระบุว่ามีเยื่อหุ้มสองชั้นบางครั้งก็พบเป็นชั้นเดียวหรือสามชั้น) นอกจากนี้จำนวนของออร์แกเนลล์แต่ละชนิดที่พบในเซลล์จะแตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับการทำงานของเซลล์นั้น
ออร์แกเนลล์ | คุณสมบัติหลัก | โครงสร้าง | สิ่งมีชีวิต | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|
เยื่อหุ้มเซลล์ | แยกภายในของเซลล์ออกจากสภาพแวดล้อมภายนอก (extracellular space) | ของเหลวที่กระจายตัวในสองมิติ | ยูแคริโอตทั้งหมด | |
ผนังเซลล์ | ประกอบด้วยเพปทิโดไกลแคน มีความแข็งทำให้เซลล์คงรูปร่างไว้ได้ ช่วยให้ออร์แกเนลล์อยู่ภายในเซลล์และป้องกันไม่ให้เซลล์แตกออกจากการเปลี่ยนแปลงความดันออสโมติก | เซลลูโลส | พืช โพรทิสต์ สิ่งมีชีวิตเคลปโตพลาสติก | |
คลอโรพลาสต์ (พลาสติด) | การสังเคราะห์ด้วยแสง ดักจับพลังงานจากแสงแดด | โครงสร้างที่มีเยื่อหุ้มสองชั้น | พืช โพรทิสต์ สิ่งมีชีวิตเคลปโตพลาสติก | มีดีเอ็นเอของตัวเอง ตามทฤษฎีเชื่อว่าถูกกลืนกินโดยบรรพบุรุษของเซลล์ยูแคริโอต (endosymbiosis) |
ร่างแหเอนโดพลาซึม | การแปลและการจัดรูปร่างโปรตีนใหม่ (ร่างแหเอนโดพลาซึมแบบหยาบ) สังเคราะห์สารพวกลิพิด (ร่างแหเอนโดพลาซึมแบบเรียบ) | โครงสร้างที่มีเยื่อหุ้มชั้นเดียว | ยูแคริโอตทั้งหมด | ร่างแหเอนโดพลาซึมแบบหยาบมีไรโบโซม |
แฟลเจลลัม | การเคลื่อนไหว การรับรู้ | โปรตีน | ยูแคริโอตบางชนิด | |
กอลไจแอปพาราตัส | คัดแยก บรรจุ และดัดแปลงโปรตีน | โครงสร้างที่มีเยื่อหุ้มสองชั้น | ยูแคริโอตทั้งหมด | cis-face (ด้านนูน) ปกคลุมด้วยไรโบโซม มีลักษณะเป็นถุงแบน ๆ trans-face (ด้านเว้า) มีลักษณะเป็นท่อ |
ไมโทคอนเดรีย | การผลิตพลังงานจากปฏิกิริยาออกซิเดชันของกลูโคสและการปลดปล่อยพลังงานจากอะดีโนซีนไตรฟอสเฟต | โครงสร้างที่มีเยื่อหุ้มสองชั้น | ยูแคริโอตส่วนใหญ่ | องค์ประกอบของ คอนไดรโอม มีดีเอ็นเอของตัวเอง ตามทฤษฎีเชื่อว่าถูกกลืนกินโดยบรรพบุรุษของเซลล์ยูแคริโอต (endosymbiosis)[20] |
นิวเคลียส | การบำรุงรักษา DNA ควบคุมกิจกรรมทั้งหมดของเซลล์ การถอดรหัส RNA | โครงสร้างที่มีเยื่อหุ้มสองชั้น | ยูแคริโอตทั้งหมด | มีจีโนมจำนวนมาก |
แวคิวโอล | การจัดเก็บ การขนส่ง ช่วยรักษาภาวะธำรงดุล | โครงสร้างที่มีเยื่อหุ้มชั้นเดียว | ยูแคริโอต | |
ไมโทคอนเดรีย และพลาสติดทั้งหลายรวมถึงคลอโรพลาสต์ มีเยื่อหุ้มสองชั้นและดีเอ็นเอของตัวเอง ตามทฤษฎีเอ็นโดซิมไบโอติก เชื่อว่ามีต้นกำเนิดมาจากโพรแคริโอตที่เข้ารุกรานเซลล์ หรืออาจถูกเซลล์เจ้าบ้านกลืนกินเข้าไปอย่างไม่สมบูรณ์
ออร์แกเนลล์ / โมเลกุลมหภาค | คุณสมบัติหลัก | โครงสร้าง | สิ่งมีชีวิต |
---|---|---|---|
อะโครโซม | ช่วยให้อสุจิหลอมรวมกับไข่ | โครงสร้างที่มีเยื่อหุ้มชั้นเดียว | สัตว์ส่วนใหญ่ |
ออโตฟาโกโซม | เวสิเคิลที่กักเก็บไซโตพลาสซึมและออร์แกเนลล์ที่จะทำการย่อยสลาย | โครงสร้างที่มีเยื่อหุ้มสองชั้น | ยูแคริโอตทั้งหมด |
เซนทริโอล | จุดยึดสำหรับไซโทสเกเลตัน แบ่งเซลล์โดยการสร้างเส้นใยสปินเดิล | โปรตีนไมโครทิวบูล | สัตว์ |
ซิเลีย | การเคลื่อนไหว การพัดโบกสาร การส่งสัญญาณในช่วงวิกฤติของการพัฒนาตัวอ่อน[21] | โปรตีนไมโครทิวบูล | สัตว์ โพรติสต์ พืชไม่กี่ชนิด |
ไนโดซิสต์ | ปล่อยเข็มพิษ | ขดของท่อกลวง | ไนดาเรีย |
อายสปอตแอพพาราตัส | ตรวจจับแสง ทำให้เกิดโฟโตแท็กซิสได้ | สาหร่ายสีเขียว และสิ่งมีชีวิต เซลล์เดียวที่สังเคราะห์ด้วยแสงได้ เช่น ยูกลีนอยด์ | |
ไกลโคโซม | กระบวนการไกลโคไลซิส | โครงสร้างที่มีเยื่อหุ้มชั้นเดียว | โพรโทซัวบางชนิดเช่น Trypanosomes |
ไกลออกซิโซม | การเปลี่ยนไขมันเป็นน้ำตาล | โครงสร้างที่มีเยื่อหุ้มสองชั้น | พืช |
ไฮโดรเจโนโซม | การผลิตพลังงานและไฮโดรเจน | โครงสร้างที่มีเยื่อหุ้มชั้นเดียว | ยูแคริโอตเซลล์เดียวไม่กี่ชนิด |
ไลโซโซม | การสลายโมเลกุลขนาดใหญ่ (เช่นโปรตีนและโพลีแซ็กคาไรด์) | โครงสร้างที่มีเยื่อหุ้มชั้นเดียว | สัตว์ |
เมลาโนโซม | การจัดเก็บเม็ดสี | โครงสร้างที่มีเยื่อหุ้มชั้นเดียว | สัตว์ |
ไมโทโซม | เป็นไปได้ว่ามีบทบาทในการประกอบคลัสเตอร์ของเหล็ก–กำมะถัน (Fe–S) | โครงสร้างที่มีเยื่อหุ้มชั้นเดียว | ยูแคริโอตเซลล์เดียวจำนวนน้อย |
ไมโอไฟบริล | การหดตัวของเซลล์กล้ามเนื้อ | มัดเส้นใย | สัตว์ |
นิวคลีโอลัส | การผลิตองค์ประกอบตั้งของไรโบโซม | โปรตีน–ดีเอ็นเอ–อาร์เอ็นเอ | ยูแคริโอตส่วนใหญ่ |
โอเซลลอยด์ | ตรวจจับแสงและรูปร่างของวัตถุที่ไปสัมผัส ทำให้เกิดโฟโตแท็กซิส | โครงสร้างที่มีเยื่อหุ้มสองชั้น | โพรโตซัวในวงศ์ Warnowiaceae |
พาเรนทีโซม | ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด | ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด | ฟังไจ |
เพอรอกซิโซม | สลายไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่เป็นผลของกระบวนการเมตาบอลิสซึม | โครงสร้างที่มีเยื่อหุ้มชั้นเดียว | ยูแคริโอตทั้งหมด |
โปรทีเอโซม | ย่อยสลายโปรตีนที่เสียหายหรือไม่จำเป็นต่อเซลล์ด้วยกระบวนการโปรตีโอไลซิส | โปรตีนซับซ้อนขนาดใหญ่ | ยูแคริโอตทั้งหมด อาร์เคียทั้งหมด และแบคทีเรียบางชนิด |
ไรโบโซม (80S) | การแปลอาร์เอ็นเอเป็นโปรตีน | อาร์เอ็นเอ - โปรตีน | ยูแคริโอตทั้งหมด |
สเตรสแกรนูล | จัดเก็บเอ็มอาร์เอ็นเอ[22] | ไม่มีเยื่อหุ้ม
(mRNP คอมเพล็กซ์) |
ยูแคริโอตส่วนใหญ่ |
โดเมน TIGER | โปรตีนสำหรับถอดรหัสเอ็มอาร์เอ็นเอ | ไม่มีเยื่อหุ้ม | สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ |
เวสิเคิล | การขนส่งสาร | โครงสร้างที่มีเยื่อหุ้มชั้นเดียว | ยูแคริโอตทั้งหมด |
โครงสร้างอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง:
โพรแคริโอตมีโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อนเท่ายูแคริโอตและครั้งหนึ่งเคยคิดว่าไม่มีโครงสร้างภายในใด ๆ ที่ปิดล้อมด้วยเยื่อลิพิด และยังถูกมองว่ามีการจัดระเบียบภายในน้อยและไม่มีการจัดส่วนการทำงานภายในเซลล์ ความคิดที่ผิดพลาดในช่วงต้นคือความคิดที่พัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 ว่าแบคทีเรียอาจมีรอยพับของเยื่อหุ้มเซลล์ที่เรียกว่าเมโซโซม แต่ต่อมาแสดงให้เห็นว่าเป็นร่องรอยของสารเคมีที่ใช้ในการเตรียมเซลล์สำหรับส่องภายใต้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน[24]
อย่างไรก็ตามมีหลักฐานเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการแบ่งส่วนการทำงานภายในเซลล์โพรแคริโอต แม้จะพบได้น้อยชนิดก็ตาม[2] งานวิจัยหนึ่งแสดงให้เห็นว่าโพรแคริโอตบางชนิดมีไมโครคอมพาร์ทเมนต์ เช่น คาร์บอกซิโซม โครงสร้างย่อยนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 100–200 นาโนเมตรและล้อมรอบด้วยเปลือกโปรตีน[1] นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายของแมกนีโทโซมที่มีเยื่อหุ้มในแบคทีเรีย ซึ่งมีการรายงานใน ค.ศ. 2006[25][26]
แบคทีเรียในไฟลัม Planctomycetes ได้แสดงให้เห็นคุณสมบัติการแบ่งหน้าที่การทำงานภายในเซลล์ แบคทีเรียในไฟลัมนี้มีเยื่อหุ้มภายในที่แยกไซโทพลาสซึมออกเป็น paryphoplasm (พื้นที่ชั้นนอกที่ปราศจากไรโบโซม) และ pirellulosome (หรือไรโบพลาสซึม ซึ่งเป็นพื้นที่ชั้นในที่มีไรโบโซม) [27] แอนแอมมอกโซโซมที่มีเยื่อหุ้มถูกค้นพบในแบคทีเรียไฟลัม Planctomycetes พวกที่ออกซิไดส์แอมโมเนียแบบไม่ใช้ออกซิเจน 5 สกุล [28] ใน Gemmata Obscuriglobus มีรายงานว่าพบโครงสร้างคล้ายนิวเคลียสที่ล้อมรอบด้วยเยื่อหุ้มลิพิด[27][29]
คอมพาร์ทเมนทัลลิเซชันเป็นคุณสมบัติของโครงสร้างสำหรับการสังเคราะห์ด้วยแสงในโพรแคริโอต แบคทีเรียสีม่วงมีโครมาโตฟอร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเกิดปฏิกิริยาที่พบบนส่วนที่หวำเข้าไปของเยื่อหุ้มเซลล์[2] แบคทีเรียกำมะถันสีเขียวมีคลอโรโซม ซึ่งเป็นแอนเทนนาคอมเพล็กซ์สำหรับสังเคราะห์ด้วยแสงยึดติดกับเยื่อหุ้มเซลล์ ไซยาโนแบคทีเรียมีเยื่อไทลาคอยด์สำหรับปฏิกิริยาแสง โดยพบว่าเยื่อหุ้มเซลล์และเยื่อหุ้มไทลาคอยด์ดังกล่าวมีลักษณะไม่ต่อเนื่องกัน[2]
ออร์แกเนลล์ / โมเลกุลมหภาค | คุณสมบัติหลัก | โครงสร้าง | สิ่งมีชีวิต |
---|---|---|---|
แอนแอมมอกโซโซม | การออกซิไดส์แอมโมเนียมแบบไม่ใช้ออกซิเจน | เยื่อหุ้มลิพิดแลดเดอเรน | แบคทีเรียสกุล Candidatus ในไฟลัม Planctomycetes |
คาร์บอกซิโซม | การตรึงคาร์บอน | ไมโครคอมพาร์ทเมนต์ที่มีเปลือกโปรตีนหุ้ม | แบคทีเรียบางชนิด |
คลอโรโซม | การสังเคราะห์ด้วยแสง | องค์ประกอบเก็บเกี่ยวแสงที่ติดอยู่บนเยื่อหุ้มเซลล์ | แบคทีเรียกำมะถันสีเขียว |
แฟลเจลลัม | การเคลื่อนไหวในตัวกลาง | เส้นใยโปรตีน | โพรแคริโอตและยูแคริโอตบางชนิด |
แมกนีโตโซม | การวางตัวของเซลล์ต่อสนามแม่เหล็ก | ผลึกอนินทรีย์ เยื่อลิพิด | แบคทีเรียแมกนีโตแท็กติก |
นิวคลีออยด์ | การบำรุงรักษาดีเอ็นเอ การถอดรหัสเป็นอาร์เอ็นเอ | ดีเอ็นเอ-โปรตีน | โพรแคริโอต |
พิลัส | ยึดติดกับเซลล์อื่นในกระบวนการคอนจูเกชัน หรือยึดติดกับพื้นผิวของวัตถุเพื่อการเคลื่อนที่ | รยางค์ลักษณะคล้ายเส้นผมพุ่งออกมาจากเซลล์ โดยมีส่วนโคนฝังอยู่ระหว่างเยื่อหุ้มเซลล์ | เซลล์โพรแคริโอต |
พลาสมิด | การแลกเปลี่ยนดีเอ็นเอ | ดีเอ็นเอแบบวงกลม | แบคทีเรียบางชนิด |
ไรโบโซม (70S) | การแปลอาร์เอ็นเอเป็นโปรตีน | อาร์เอ็นเอ-โปรตีน | แบคทีเรียและอาร์เคีย |
เยื่อหุ้มไทลาคอยด์ | การสังเคราะห์ด้วยแสง | โปรตีนในระบบแสง รงควัตถุ | ไซยาโนแบคทีเรียเกือบทั้งหมด |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.