Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรเบิร์ต ฮันเตอร์ (อังกฤษ: Robert Hunter; 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2335 – 7 กันยายน พ.ศ. 2391) เป็นพ่อค้าชาวบริติช สหราชอาณาจักรเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เข้ามาตั้งร้านค้าในอาณาจักรรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2368 ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช[1] ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อได้ทูลเกล้าฯ ถวาย ปืนคาบศิลา จำนวน 1,000 กระบอก ขณะที่ไทยมีกรณีพิพาทกับเจ้าอนุวงศ์ แห่งเมืองเวียงจันทน์เเละมีเรือชื่อว่าเอ็กเพรสซึ่งจะนำเข้ามาขายให้รัชกาลที่3
หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช (โรเบิร์ต ฮันเตอร์) | |
---|---|
ฮันเตอร์ ประมาณปี 2363–2383 | |
เกิด | 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2335 กลาสโกว์ เเค้วนสก๊อตแลนด์ ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ |
เสียชีวิต | 7 กันยายน พ.ศ. 2391 (55 ปี) กลาสโกว์ สก๊อตแลนด์ สหราชอาณาจักร |
สัญชาติ | บริติช (สหราชอาณาจักร) |
อาชีพ | พ่อค้า นักการทูต |
ฮันเตอร์ หรือที่คนไทยร่วมสมัยเรียกว่า นายหันแตร เป็นพ่อค้าที่เข้ามาตั้งห้างในกรุงรัตนโกสินทร์ชื่อ "โรงสินค้าบริเตน" (The British Factory) ส่วนคนไทยร่วมสมัยเรียกว่า ห้างหันแตร นับได้ว่าเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ เขายังเป็นบุคคลที่นำตัวอิน-จัน แฝดสยามชาวไทยเดินไปแสดงตัวที่สหรัฐ
ฮันเตอร์ นับได้ว่าเป็นชาวตะวันตกที่สามารถพูดภาษาไทยและเข้าใจคนไทยได้เป็นอย่างดี และมีความรู้จักกับขุนนางในราชสำนักคนสำคัญหลายคน
ชีวิตส่วนตัวได้สมรสกับหญิงไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่บ้านกุฎีจีน มีชื่อว่า แองเจลิน่า โดยมีชื่อภาษาไทยว่าทรัพย์ เชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์รุ่นที่สี่ เรียกกันอย่างยกย่องว่า ท่านผู้หญิงทรัพย์ เธอเป็นผู้นำชุมชนกระดีจีน(ชุมชนกุฎีจีน)[2][3]
แต่นายฮันเตอร์มีพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง เช่น เคยเสนอขายพรมให้แก่ราชสำนัก โดยที่ไม่ได้สั่ง แต่ราชสำนักไม่ซื้อก็เกิดความไม่พอใจ หรือมักลักลอบค้าฝิ่นจากอังกฤษโดยซ่อนมากับสินค้าประเภทอื่น ทั้งที่กฎหมายไทยในเวลานั้นประกาศห้ามสูบฝิ่น เพื่อส่งเสริมศีลธรรมที่ดีงาม หลายครั้งเมื่อถูกตรวจพบ นายฮันเตอร์ก็มักอ้างเพื่อให้เห็นแก่ความสัมพันธ์ระหว่างชาติ หรือไม่ก็ขู่ว่าจะนำเรื่องไปฟ้องต่อทางการสหราชอาณาจักรให้นำเรือรบมาปิดปากอ่าวไทย เป็นต้น
ต่อมา สหายชาวต่างชาติของนายฮันเตอร์คนหนึ่งได้ทดลองยิงปืนคาบศิลา ในบริเวณที่วัด พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ไม่พอใจ ได้เข้าไปห้ามปรามแต่ก็ไม่ฟัง พระสงฆ์จึงทำร้ายสหายของนายฮันเตอร์ด้วยการตีที่ศีรษะจนแตก ทางการไทยสอบสวน โดยมีองค์ประธานคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศ เจ้าฟ้ามงกุฎ สมมติเทวาวงศ์พงษ์อิศรกษัตริย์) ผลการสอบสวนพบว่า พระสงฆ์ไทยผิด จึงโปรดฯ ให้ลงโทษด้วยการให้นั่งสมาธิกลางแดดครึ่งวัน ยังความไม่พอใจแก่นายฮันเตอร์เพราะต้องการให้ลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต
ความสัมพันธ์ระหว่างนายฮันเตอร์กับทางการไทยขาดสะบั้นลง เมื่อทางไทยจะทำการรบกับโครชินไชน่า (เวียดนาม) นายฮันเตอร์ได้เสนอขายปืนคาบศิลาจำนวน 200 กระบอก และต้องการให้ทางไทยซื้อให้หมด ทั้งที่ทางการไทยต้องการเพียง 100 กระบอกเท่านั้น และยังยัดเยียดขายเรือกลไฟที่ขึ้นสนิมอีกลำหนึ่ง ที่ชื่อ เอ็กเพรส (Express) โดยเรือลำนี้แล่นมาจากเมืองท่าลิเวอร์พูลพร้อมกัปตันชื่อ พี.บราวน์ แม้คนไทยในเวลานั้นจะฮือฮาเพราะไม่เคยเห็น "เหล็กลอยน้ำได้" อย่างเช่นเรือกลไฟมาก่อน แต่นายฮันเตอร์ได้เสนอขายในราคา 67,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทางไทยมองว่าเป็นการขายที่ไม่ชอบธรรม ประกอบกับพฤติกรรมของนายฮันเตอร์ในระยะหลังที่มักแสดงออกถึงการไม่แสดงความเคารพต่อไทยซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ เช่น เมื่อขายเรือกลไฟไม่ได้ นายฮันเตอร์ได้ประกาศว่าจะนำไปขายให้โครชินไชน่าซึ่งเป็นคู่กรณีของไทยแทน จึงได้เนรเทศนายฮันเตอร์พร้อมกับภรรยาให้ออกนอกราชอาณาจักรและห้ามกลับเข้ามาอีกตลอดชีวิตไปในปี พ.ศ. 2387 โดยได้เดินทางไปที่สิงคโปร์ด้วยเรือเอ็กเพรสนี่เอง รวมระยะเวลาที่นายฮันเตอร์อยู่ในเมืองไทยทั้งหมด 18 ปี
แต่ก็ได้มีบันทึกโดยชาวตะวันตกด้วยกันเอง ที่บันทึกไว้ว่า นายฮันเตอร์ก็ยังได้กลับมาที่เมืองไทยมากกว่า 1 ครั้ง แต่เป็นการเข้ามาเพื่อสะสางสัมภาระของตนที่เหลืออยู่และจัดแจงธุระต่าง ๆ ก่อนที่จะจากไปโดยถาวรในที่สุด
หลังจากถูกเนรเทศจากเมืองไทย นายฮันเตอร์ได้เดินทางกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่ สก็อตเเเลนด์ ประเทศสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นบ้านเกิด จนกระทั่งเสียชีวิตที่บ้านในเขตลิลลี่แบงค์ เมืองกลาสโกว์ เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2391[4] บุตรชายของนายฮันเตอร์ชื่อ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ จูเนียร์ (Robert Hunter, Jr.) ยังคงอยู่ในเมืองไทยหลังจากบิดาถูกเนรเทศ เนื่องจากมีความสัมพันธ์ที่ดีกับราชสำนักไทยมากกว่าบิดา[5] เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2408 ศพได้ฝังไว้ที่สุสานโปรเตสแตนต์กรุงเทพ[6] จดหมายเหตุบางกอกรีคอร์เดอร์ของหมอบรัดเลย์ระบุว่า "ณ วันพุทธ เดือนห้า แรมเก้าค่ำ ปีฉลู สัพตศก, มิศเตอโรเบิดหันแตร, ผู้เป็นล่ามแลเสมียน, ในเจ้าพระยาศรีสุริย์วงษ ถึงอนิจกำม์ที่บ้านเขา. มีข่าวว่าถึงแก่กำม์เพราะกินสุรา"[7]
ภาพยนตร์ไทยแนวย้อนยุค–โรแมนติกคอเมดีที่ร่วมทุนสร้างระหว่างค่ายจีดีเอชและบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น เรื่อง บุพเพสันนิวาส 2 ออกฉายเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 มีตัวละครหนึ่งชื่อ "หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช" หรือ "นายห้างหันแตร" รับบทโดยแดเนียล เฟรเซอร์[8][9][10]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.