สุลต่านอาเหม็ดที่ 1 (ตุรกีออตโตมัน: احمد اول Aḥmed-i evvel; ตุรกี: I. Ahmed; เมษายน ค.ศ. 1590 – 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1617) ทรงเป็นสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน ตั้งแต่ ค.ศ. 1603 จวบจนเสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 1617 รัชสมัยของพระองค์เป็นที่จดจำจากการยุติประเพณีปลงพระชนม์พระราชอนุชา นับแต่รัชสมัยของพระองค์เป็นต้นไป เหล่าสุลต่านออตโตมันจะไม่มีรับสั่งให้ประหารพระราชอนุชาของพระองค์เองในทันทีที่ขึ้นครองราชย์อีก[2] สุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ยังทรงเป็นที่รู้จักจากการที่ทรงมีรับสั่งให้สร้างมัสยิดสีฟ้า หนึ่งในมัสยิดที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศตุรกีด้วย

ข้อมูลเบื้องต้น อาเหม็ดที่ 1 احمد اول, สุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน พระองค์ที่ 14 (ปาดิชาห์) ...
อาเหม็ดที่ 1
احمد اول
เคาะลีฟะฮ์แห่งออตโตมัน
อะมีร์ อัล-มูมินิน
เกเซอร์ อีรุม
ผู้อารักขามัสยิดศักดิ์สิทธิ์ทั้งสอง
พระสาทิสลักษณ์ของสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 วาดโดยคอนสแตนติน คาปิดากลี
สุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน พระองค์ที่ 14 (ปาดิชาห์)
ครองราชย์22 ธันวาคม ค.ศ. 1603 – 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1617
พิธีคาดพระขรรค์23 ธันวาคม ค.ศ. 1603
ก่อนหน้าสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 3
ถัดไปสุลต่านมุสตาฟาที่ 1
พระราชสมภพเมษายน ค.ศ. 1590(1590-04-00)
พระราชวังมานิสสา มานิสสา จักรวรรดิออตโตมัน
สวรรคต22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1617(1617-11-22) (27 ปี)
พระราชวังโทพคาปึ คอนสแตนติโนเปิล จักรวรรดิออตโตมัน
ฝังพระศพมัสยิดสีฟ้า อิสตันบูล
คู่อภิเษกโกเซม ซุลตัน
มาฟีรูซ ฮาตุน
พระราชบุตรดู ด้านล่าง
พระนามเต็ม
ชาห์ อาเหม็ด บินห์ เมห์เหม็ด ฮัน[1]
ราชวงศ์ออตโตมัน
พระราชบิดาสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 3
พระราชมารดาฮาดัน ซุลตัน
ศาสนาซุนนี
ทูกรา
ปิด

พระราชประวัติ

สุลต่านอาเหม็ดที่ 1 อาจจะเสด็จพระราชสมภพในเดือนเมษายน ค.ศ. 1590[3][4] ณ พระราชวังมานิสสา ในเมืองชื่อเดียวกัน โดยทรงพระราชสมภพในขณะที่สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 3 พระราชบิดายังดำรงพระราชอิสยยศเป็นเจ้าชาย (เซชาห์เด) และผู้ว่าการเขตซันจักแห่งมานิสสา พระราชมารดาของพระองค์คือฮาดัน ซุลตัน หลังจากที่สุลต่านมูรัตที่ 3 พระราชอัยกาเสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 1595 พระราชบิดาของพระองค์ก็เสด็จเข้าสู่กรุงคอนสแตนติโนเปิลและได้ขึ้นครองราชย์เป็นสุลต่าน จากนั้นสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 3 ก็ทรงมีรับสั่งให้ประหารเหล่าพระราชอนุชาของพระองค์เอง ซึ่งร่วมไปถึงพระราชอนุชาต่างพระมารดาด้วย เซชาห์เดมาห์มุด ผู้เป็นพระเชษฐาของสุลต่านอาเหม็ดเองก็ทรงถูกพระราชบิดาสั่งประหารเช่นกันในวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1603 ก่อนที่สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 3 จะเสด็จสวรรคตตามไปในวันที่ 22 ธันวาคม ปีเดียวกันนั้นเอง พระศพของเซชาห์เดมาห์มุดถูกฝังเคียงข้างพระมารดาของพระองค์ในหลุมพระศพ (Mausoleum) แยกต่างหากในมัสยิดเซชาห์เด ภายในกรุงคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ทรงสร้างขึ้น

การครองราชย์

พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ขณะมีพระชนมายุ 13 พรรษาใน ค.ศ. 1603 ภายหลังจากการสวรรคตของพระราชบิดา โดยที่ซาฟิเยห์ ซุลตัน พระราชอัยกี (ย่า) ผู้ทรงอิทธิพลของพระองค์ยังคงทรงพระชนม์อยู่ เคานต์อเล็กซานเดอร์แห่งมอนเตเนโกร หรือรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่ายะห์ยา (Yahya) ผู้อ้างตัวว่าเป็นพระปิตุลา (อา) ของพระองค์พยายามจะชิงบัลลังก์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จและในท้ายที่สุดก็เสียชีวิตลงที่เมืองโครตอร์ (Kotor) บริเวณริมชายฝั่งของประเทศมอนเตเนโกรปัจจุบัน สุลต่านอาเหม็ดทรงยุติประเพณีปลงพระชนม์พระราชอนุชาที่ทำสืบต่อกันมาในรัชกาลก่อน ๆ เมื่อขึ้นครองราชย์ และไม่ได้มีรับสั่งให้ประหารมุสตาฟา ผู้เป็นพระราชอนุชา หากแต่ทรงส่งมุสตาฟาให้ไปประทับ ณ พระราชวังเก่าในเมืองบาเยซิด (Bayezit) พร้อมกับซาฟิเยห์ ซุลตัน ผู้เป็นพระราชอัยกี การที่ทรงทำเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะตัวพระองค์เองยังทรงพระเยาว์และไม่มีพระราชโอรส มุสตาฟาจึงทรงเป็นรัชทายาทเพียงพระองค์เดียวของราชบัลลังก์ออตโตมัน การมีรับสั่งให้ประหารพระราชอนุชาของพระองค์เองจะทำให้เกิดวิกฤติการสืบราชสันตติวงศ์ได้ ดังนั้นมุสตาฟาจึงได้รับการละเว้น[2]

ในช่วงแรกของการครองราชย์ สุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ทรงมีท่าที่แน่วแน่และมุ่งมั่น ซึ่งต่อมาถูกหักล้างโดยพฤติกรรมของพระองค์เองในภายหลัง[ต้องการอ้างอิง] สงครามในฮังการี และเปอร์เซีย ซึ่งดำเนินควบคู่ไปกับการขึ้นครองราชย์ของพระองค์จบลงด้วยผลที่ไม่สู้ดีนัก เกียรติภูมิของจักรวรรดิยิ่งเสื่อมลงหลังจากการลงนามในสนธิสัญญาซิสวาตูรุค (Treaty of Zsitvatorok) เมื่อ ค.ศ. 1606 ซึ่งยุติการเรียกเก็บบรรณาการรายปีจากออสเตรียของจักรวรรดิลง ภายหลังจากความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในสงครามกับจักรวรรดิซาฟาวิด ผู้เป็นอริ ซึ่งนำโดยพระเจ้าชาห์อับบาสมหาราช ทำให้จักรวรรดิออตโตมันต้องยกจอร์เจีย อาเซอร์ไบจาน และดินแดนกว้างใหญ่อื่นในบริเวณเทือกเขาคอเคซัสที่ยึดมาได้ในสงครามออตโตมัน–ซาฟาวิด (ค.ศ. 1578–90) คืนให้แก่เปอร์เซีย ตามสนธิสัญญานาชู พาชา ใน ค.ศ. 1612 เส้นพรมแดนใหม่ถูกวาดขึ้นตามแบบพรมแดนในสนธิสัญญาสันติภาพอามัสยาที่ตกลงกันไว้เมื่อ ค.ศ. 1555[5]

สงครามออตโตมัน-ซาฟาวิด (ค.ศ. 1604–06)

สงครามออตโตมัน-ซาฟาวิด เริ่มขึ้นก่อนที่สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 3 พระราชบิดาของพระองค์จะเสด็จสวรรคตเล็กน้อย เมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว สุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ทรงแต่งตั้งซิกาลาซาด ยูซุฟ ซินัน พาชา (Cigalazade Yusuf Sinan Pasha) เป็นแม่ทัพคุมกองทัพตะวันออก กองทัพดังกล่าวออกเดินทางจากกรุงคอนสแตนติโนเปิลในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1604 ซึ่งถือว่าไม่ทันการณ์แล้ว และเมื่อกองทัพดังกล่าวเดินทางมาถึงแนวรบตะวันออกในวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1604 กองทัพซาฟาวิด สามารถยึดเยเรวานได้ และทำการบุกเข้าไปในเอยาเลต์คารส์แล้ว การบุกของฝ่ายซาฟาวิดถูกหยุดลงได้ที่อาคัลท์ชิกเค ซินัน พาชาตัดสินใจตั้งทัพอยู่ในเมืองวานในฤดูหนาว แม้สภาพอากาศจะเอี้ออำนวย แต่ต่อมาก็ออกเดินทัพไปยังแอร์ซูรุม เพื่อหยุดยั้งการโจมตีของซาฟาวิดที่กำลังจะเกิดขึ้น ทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นภายในกองทัพ นับว่าปีนั้นเป็นปีที่ไม่ประสบความสำเร็จนักสำหรับฝ่ายออตโตมัน[6]

ใน ค.ศ. 1605 ซินัน พาชาออกเดินทัพโดยตั้งเป้าว่าจะเข้ายึดเมืองแทบรีซ แต่กองทัพก็เสียกระบวนเมื่อโกเซ เซเฟอร์ พาชา (Köse Sefer Pasha) เบย์เลอเบย์แห่งแอร์ซูรุม ตัดสินใจเดินทัพแยกต่างหากจากขบวนของซินัน พาชา ส่งผลให้ถูกฝ่ายซาฟาวิดจับเป็นเชลย กองทัพออตโตมันถูกตีแตกพ่ายที่อูร์เมีย และจำต้องล่าถอยไปยังเมืองวานและต่อมาไปที่ดียาร์เบกีร์ ขณะที่ตั้งทัพอยู่ที่ดียาร์เบกีร์นี้เอง ซินัน พาชาก็ก่อการกบฏขึ้นด้วยการสั่งประหารแคนบูลาทูกลู ฮูเซยิน พาชา (Canbulatoğlu Hüseyin Pasha) เบย์เลอเบย์แห่งอะเลปโป ผู้เดินทางมาเป็นกำลังเสริม ด้วยข้ออ้างว่าเขาเดินทางมาถึงช้าเกินไป ซินัน พาชาเสียชีวิตลงหลังจากนั้นไม่นาน และกองทัพซาฟาวิดก็สามารถเข้ายึดกันจา ชีร์วันและชาห์มากีในอาเซอร์ไบจานได้[6]

สงครามกับราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค (ค.ศ. 1604–06)

สงครามสิบสามปี ระหว่างจักรวรรดิออตโตมันกับรัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค ได้ดำเนินมาเป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษแล้ว ณ เวลาที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ มหาเสนาบดีมัลคอก อะลี พาชา (Malkoç Ali Pasha) เคลื่อนทัพออกจากกรุงคอนสแตนติโนเปิลไปยังแนวรบตะวันตกในวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1604 เขาเดินทางไปถึงเบลเกรด แต่ต่อมาก็ล้มป่วยและเสียชีวิตลงที่นั้น จึงทำให้โซคูลูซาดาซ ลาลา เมห์เหม็ด พาชา (Sokolluzade Lala Mehmed Pasha) ได้รับการแต่งตั้งเป็นมหาเสนาบดีและแม่ทัพของกองทัพตะวันตกแทนที่มัลคอก ภายใต้การบังคับบัญชาของโซคูลูซาดาซ ลาลา เมห์เหม็ด พาชา กองทัพตะวันตกสามารถยึดแป็ชต์และวาค (Vác) กลับคืนมาได้ แต่ล้มเหลวในการยึดเอซเตอร์กอม เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยและมีการต่อต้านจากเหล่าทหารในกองทัพ การปิดล้อมเมืองจึงต้องยุติลง ในขณะเดียวกันอิชต์วาน บอซคาย เจ้าชายแห่งทรานซิลเวเนีย ผู้กำลังต่อสู้เพื่อประกาศเอกราชจากการปกครองของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค ซึ่งตัวพระองค์เคยให้การสนับสนุน ได้ส่งผู้เดินสาส์นมายังจักรวรรดิออตโตมันเพื่อขอความช่วยเหลือ เมื่อได้รับคำมั่นแล้วว่าจะได้รับการช่วยเหลือ กองกำลังของพระองค์จึงเดินทางไปรวมกับกองทัพออตโตมันที่ตั้งทัพอยู่ในเบลเกรด ด้วยความช่วยเหลือจากฝ่ายทรานซิลเวเนีย กองทัพออตโตมันจึงสามารถเข้าปิดล้อมและยึดเมืองเอซเตอร์กอมได้ในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1605 ฝ่ายเจ้าชายอิชต์วานเองก็สามารถยึดโนวีซามคี (Nové Zámky ภาษาตุรกีเรียกว่าอุรวาร์ [Uyvar]) ได้ด้วยความช่วยเหลือจากฝ่ายออตโตมัน ในขณะที่กองทัพภายใต้การนำของทรียาคี ฮะซัน พาชา (Tiryaki Hasan Pasha) สามารถยึดเวสปริม (Veszprém) และพาโลตา (Palota) ได้ ด้านซาร์ฮอร์ส อีบราฮิม พาชา (Sarhoş İbrahim Pasha) เบย์เลอเบย์แห่งนาซกอนิซา (Nagykanizsa ภาษาตรุกีเรียกคานิจี [Kanije]) ได้เข้าโจมตีภูมิภาคอิสเตรียของออสเตรีย[6]

Thumb
พระสาทิสลักษณ์ของสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ศิลปะจุลจิตรกรรมออตโตมัน

กระนั้น ด้วยความที่กบฏเซลารี (Celali rebellions) ในอนาโตเลียทวีความรุนแรงขึ้นยิ่งกว่าที่เป็นมา และการประสบความพ่ายแพ้ในแนวรบตะวันออก เมห์เหม็ด พาชาจึงถูกเรียกตัวมายังคอนสแตนติโนเปิล และเสียชีวิตลงในขณะที่กำลังเตรียมตัวออกเดินทางไปยังแนวรบตะวันออก คูยูคู มูรัด พาชา (Kuyucu Murad Pasha) จึงเป็นผู้ทำหน้าที่เจรจาในสนธิสัญญาซิสวาตูรุค ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยการยกเลิกการเก็บเงินบรรณาการจำนวน 30,000 ดูกัตจากออสเตรีย และการยอมรับว่าจักรพรรดิของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คมีสถานะเท่าเทียมกับสุลต่านออตโตมัน กบฏจาลารีถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฝ่ายออตโตมันยอมรับเงื่อนไขเหล่านี้ สนธิสัญญานี้นับเป็นตัวบ่งบอกว่าการขยายตัวของจักรวรรดิออตโตมันในยุโรปได้สิ้นสุดลงแล้ว[6]

กบฏเซลารี

ความไม่พอใจในผลลัพธ์ของสงครามกับราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค การจัดเก็บภาษีอย่างหนัก กอปรกับความอ่อนแอในการปราบปรามของกองทัพออตโตมัน ทำให้รัชสมัยของพระองค์กลายเป็นจุดสูงสุดของการกบฏเซลารี ทาวิลี อาเหม็ด (Tavil Ahmed [tr]) ก่อกบฏขึ้นไม่นานหลังจากสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์ และสามารถเอาชนะนาชู พาชา และเคเดฮันห์ อะลี พาชา (Kecdehan Ali Pasha) เบย์เลอเบย์แห่งอนาโตเลีย ใน ค.ศ. 1605 ทาวิลี อาเหม็ด ได้รับการเสนอตำแหน่งเบย์เลอเบย์แห่งชาห์ริซอร์ แลกกับการยุติการกบฏ แต่ไม่นานหลังจากนั้นเขาก็เข้ายึดฮาร์พุต เมห์เหม็ด บุตรชายของเขาได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการแบกแดด ด้วยการปลอมแปลงฟิมาน (พระราชโองการ) และสามารถเอาชนะกองกำลังที่นาชู พาชาส่งมาเพื่อปราบปรามเขาได้[6]

ในขณะเดียวกัน แคนบูลาทูกลู อะลี พาชา ได้ทำการรวมกำลังกับเอมีร์มานุกกลู ฟารุดดิน (Ma'noğlu Fahreddin) แห่งลัทธิดรูเซ (Druze) เพื่อทำลายกองกำลังของเซฟุกกลู ยูซุฟ (Seyfoğlu Yusuf) เอมีร์แห่งตริโปลี ต่อมาอะลีได้เข้ายึดครองบริเวณอาดานา พร้อมตั้งกองทัพและออกเหรียญกษาปณ์ของตนเอง กองกำลังของเขาสามารถตีกองทัพของฮูเซยิน พาชา เบย์เลอเบย์แห่งอะเลปโปที่พึ่งได้รับการแต่งตั้งแตกพ่ายไปได้ ส่งผลให้มหาเสนาบดีบอสเนียก เดอร์วิช พาชา (Boşnak Dervish Mehmed Pasha) ถูกประหารชีวิตจากความอ่อนแอของเขาในการปราบปรามพวกเซลารี คูยูคู มูรัด พาชา ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นมหาเสนาบดีต่อจากเขาสามารถปราบปรามกองทัพกบฏจำนวน 30,000 นายในซีเรียลงได้ในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1607 ด้วยความยากลำบาก แต่ก็ได้ผลเด็ดขาด ขณะเดียวกัน เขาก็ทำทีให้อภัยพวกกบฏในอนาโตเลีย และทำการแต่งตั้งคาเลนเดโรกลู (Kalenderoğlu) ผู้นำการกบฏในบริเวณมานิสสาและบูร์ซา เป็นซันจักเบย์แห่งอังการา แบกแดดก็ถูกยึดคืนมาได้ใน ค.ศ. 1607 เช่นกัน แคนบูลาทูกลู อะลี พาชา ได้หลบหนีไปยังคอนสแตนติโนเปิลและขอพระราชทานอภัยโทษจากสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 พระองค์ทรงแต่งตั้งเขาไปปกครองตีมีชวารา และต่อมาไปปกครองเบลเกรด แต่ภายหลังเขาก็ถูกประหารโดยมีสาเหตุจากการปกครองที่ผิดพลาดของเขา ณ ที่นั้น ขณะเดียวกัน คาเลนเดโรกลูก็ไม่สามารถเดินทางเข้าเมืองอังการาได้เพราะชาวเมืองไม่ยินยอม เขาจึงก่อกบฏขึ้นอีกครั้ง ซึ่งถูกปราบปรามโดยกองกำลังของมูรัด พาชา ท้ายที่สุดคาเลนเดโรกลูได้หลบหนีไปยังเปอร์เซีย จากนั้นมูรัด พาชาจึงปราบปรามการกบฏขนาดเล็กในบริเวณอนาโตเลียตอนกลาง และกำราบผู้นำคนอื่น ๆ ของพวกเซลารีด้วยการเชิญให้พวกเขาให้มารับราชการในกองทัพ[6]

เนื่องจากความรุนแรงของกบฏเซลารีได้แพร่กระจายไปทั่ว ผู้คนจำนวนมากได้หนีออกจากหมู่บ้านของตน และมีหมู่บ้านหลายแห่งถูกทำลาย ผู้นำทหารบางรายได้อ้างสิทธิ์ว่าหมู่บ้านที่ถูกทิ้งร้างเหล่านี้เป็นทรัพย์สินของตน ทำให้รัฐบาลขาดรายได้จากการเก็บภาษี ในวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1609 สุลต่านอาเหม็ดทรงออกเอกสารรับรองสิทธิ์ของราษฎรผู้ลี้ภัยการกบฎมาจากภูมิลำเนาของตน จากนั้นพระองค์จึงเริ่มประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อนำผู้คนเหล่านี้กลับไปตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านที่ถูกทิ้งร้างอีกครั้ง[6]

สงครามออตโตมัน-ซาฟาวิด สันติภาพและสงครามครั้งใหม่

Thumb
คำแปลสองภาษา (ฝรั่งเศสและตุรกี) ของข้อสรุปฝรั่งเศส-ออตโตมัน ที่ตกลงกันระหว่างสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 และพระเจ้าอ็องรีที่ 4 ใน ค.ศ. 1604 ตีพิมพ์โดยฟร็องซัว ซาเวลี เดอ เบอรเวส เมื่อ ค.ศ. 1615[7]

นาชู พาชา ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นมหาเสนาบดีคนใหม่ ไม่ต้องการที่จะทำสงครามกับฝ่ายซาฟาวิดต่อไป พระเจ้าชาห์อับบาสมหาราช เองก็ทรงส่งพระราชสาสน์มาว่าพระองค์ต้องการที่จะลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเพื่อยุติสงครามเช่นกัน ในวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1612 สนธิสัญญานาชู พาชา ได้รับการลงนาม โดยมีเงื่อนไขว่า พระเจ้าชาห์อับบาสจะต้องส่งผ้าไหมจำนวน 200 ทบ ไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นประจำทุกปี ดินแดนทั้งหมดที่จักรวรรดิออตโตมันได้มาระหว่างสงครามเมื่อคราว ค.ศ. 1578–1590 กลับไปเป็นของเปอร์เซีย และทำให้พรมแดนกลับไปมีขนาดเท่ากับพรมแดนใน ค.ศ. 1555[6]

ทว่าสันติภาพก็มาสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1615 เมื่อพระเจ้าชาห์อับบาสทรงไม่ส่งผ้าไหมจำนวน 200 ทบมาให้อย่างที่ตกลงไว้ ในวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1615 มหาเสนาบดีโอคูซ เมห์เหม็ด พาชา ได้รับมอบหมายให้เตรียมการโจมตีเปอร์เซีย เขาเลื่อนเวลาโจมตีออกไปเป็นปีถัดมา ทำให้ฝ่ายซาฟาวิดมีเวลาเตรียมตัวและเข้าโจมตีกันจาได้ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1616 โอคูซ พาชา ออกเดินทางจากอะเลปโปพร้อมกองทัพขนาดใหญ่และเดินทัพไปยังเยเรวาน แต่เขาก็ไม่สามารถยึดเมืองได้และต้องล่าถอยไปยังแอร์ซูรุม โอคูซ พาชาจึงถูกถอดออกจากตำแหน่ง และถูกแทนที่โดยดามัต ฮาลี พาชา (Damat Halil Pasha) ฮาลี พาชาเดินทางไปยังดียาร์เบกีร์ในฤดูหนาว ในขณะที่คานิเบ็ค กิเรย์ ข่านแห่งไครเมีย ทำการโจมตีบริเวณแกนแจ นากชิวาน และ จูลฟา[6]

การพระราชทานสิทธิพิเศษแก่ชาวต่างประเทศ และสนธิสัญญาทางการค้า

สุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ทรงทำการต่อสนธิสัญญาการค้ากับอังกฤษ ฝรั่งเศส และเวนิส และทรงทำสนธิสัญญาทางการค้าฉบับแรกกับสาธารณรัฐดัตช์ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1612 นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ขยายสิทธิพิเศษ ที่พระราชทานให้แก่ฝรั่งเศส ให้ครอบคลุมไปถึงพ่อค้าชาวสเปน รากูซา เจนัว อังโกนา และฟลอเรนซ์ด้วย โดยพ่อค้าจากชาติเหล่านี้สามารถเข้ามาทำการค้าขายได้โดยการใช้ธงฝรั่งเศส[6]

พระราชกรณียกิจด้านสถาปัตยกรรมและการศาสนา

Thumb
แผ่นจารึกของสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ที่มัสยิดอันนะบะวี แสดงตำแหน่งของประตูบับ อัล-ทอว์บา (Bab al-Tawba)

สุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ทรงเป็นผู้สร้างมัสยิดสีฟ้า ซึ่งถือกันว่าเป็นสถาปัตยกรรมเอก (Magnum opus) ของสถาปัตยกรรมออตโตมัน[ต้องการอ้างอิง] โดยตั้งอยู่ตรงข้ามกับฮาเกียโซเฟีย สุลต่านอาเหม็ดเสด็จไปในพิธีเริ่มการก่อสร้างพร้อมกับอีเต้อ (Pickaxe) ทองคำ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงการเริ่มก่อสร้างมัสยิด เหตุวุ่นวายเกือบจะเกิดขึ้นเมื่อพระองค์ทรงพบว่ามัสยิดสีฟ้ามีจำนวนหออะซาน (Minarets) เท่ากับจำนวนหออะซานของมัสยิดใหญ่ประจำมักกะฮ์ ทำให้พระองค์กริ้วและเสียพระทัยเป็นอันมาก จนกระทั่งชัยคุลอิสลาม (Shaykh al-Islām: ตำแหน่งเทียบเท่าจุฬาราชมนตรี) ถวายคำแนะนำให้พระองค์ทรงสร้างหออะซานที่มัสยิดใหญ่ประจำมักกะฮ์เพิ่มอีกหนึ่งหอ เหตุการณ์จึงคลี่คลายลง

Thumb
มัสยิดสีฟ้า

สุลต่านอาเหม็ดทรงมีส่วนร่วมอย่างมากในการบรูณะใหญ่ครั้งที่สิบเอ็ดของกะอ์บะฮ์ซึ่งเสียหายจากการถูกน้ำท่วม พระองค์ทรงส่งช่างฝีมือจากคอนสแตนติโนเปิลไปทำการซ่อมแซมรางน้ำทองคำ ซึ่งช่วยไม่ให้น้ำฝนกักขังอยู่บนหลังคาของกะอ์บะฮ์ นอกจากนี้ในรัชสมัยของพระองค์ยังมีการนำตะข่ายเหล็กไปติดไว้ในบ่อซัมซัมที่นครเมกกะ โดยติดตั้งไว้ลึกจากระดับผิวน้ำ 3 ฟุต การติดตั้งตะข่ายนี้เป็นผลมาจากที่มีเหล่าผู้สติไม่สมประกอบกระโดดลงไปในบ่อ โดยพวกเขาเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการตายเยี่ยงวีรบรุษ

ในเมดีนา นครของพระศาสดามุฮัมมัด แท่นเทศน์อันใหม่ซึ่งทำจากหินอ่อนสีขาวที่ทำในเมืองคอนสแตนติโนเปิลถูกนำมาตั้งในมัสยิดอันนะบะวีแทนที่แท่นเทศน์เดิมที่ทรุดโทรมลง นอกจากนี้ สุลต่านอาเหม็ดยังทรงสร้างมัสยิดเพิ่มอีกสองแห่งในย่านอึสคือดาร์ ในพื้นที่ฝั่งเอเชียของคอนสแตนติโนเปิล ทว่าไม่มีมัสยิดหลังใดเหลือรอดมาจนถึงปัจจุบันเลย

สุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ทรงมีเครื่องยอด (Crest) ที่แกะสลักเป็นรูปรอยเท้าของนบีมุฮัมมัด ซึ่งพระองค์จะทรงฉลองเครื่องยอดนี้ทุกวันศุกร์และวันรื่นเริงต่าง ๆ การกระทำของพระองค์นับเป็นแบบอย่างของการแสดงความนอบน้อมต่อพระศาสดามากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ออตโตมัน ข้างในเครื่องยอดนั้นบรรจุบทกวีที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น ความว่า:

"หากข้าสามารถสวมใส่เจ้าไว้ได้ตลอดเวลา ดั่งผ้าโพกหัว หากข้าสามารถพกพาเจ้าไว้บนศีรษะได้ตลอดเวลา ดั่งมงกุฎ รอยเท้าของพระศาสดามุฮัมมัด ซึ่งมีสัดส่วนที่งดงามหมดจดยิ่ง อาเหม็ดเอ๋ย ไปเถิด เชิญเจ้าไล้ใบหน้ากับฝ่าเท้าแห่งกุหลาบนั้นหนา"

พระอุปนิสัย

สุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ทรงเป็นที่รู้จักจากพระปรีชาสามารถในกีฬาฟันดาบ การประพันธ์บทกวี การทรงม้า และสามารถตรัสหลายภาษาได้อย่างคล่องแคล่ว

พระองค์ยังทรงเป็นนักกวี ทรงพระราชนิพันธ์โคลงสั้นและงานเขียนเกี่ยวกับการเมืองไว้หลายชิ้นด้วยกัน โดยทรงใช้พระนามแฝงว่า "บาติ" (Bahti) ทรงอุปถัมภ์นักวิชาการ นักอักษรวิจิตร (Calligrapher) และคนเคร่งศาสนาหลายราย อีกทั้งยังทรงมีรับสั่งให้บรรดานักอักษรวิจิตรจัดทำหนังสือ แก่นสารประวัติศาสตร์ (The Quintessence of Histories) นอกจากนี้พระองค์ยังพยายามที่จะบังคับใช้กฎหมายอิสลามและธรรมเนียมต่าง ๆ ให้สอดคล้องกัน ทรงนำกฎห้ามดื่มเครื่องดื่มมึนเมากลับมาใช้ใหม่ รวมถึงข้อบังคับว่าด้วยการเข้าร่วมละหมาดวันศุกร์ และการให้ทานแก่คนยากไร้อย่างถูกวิธี

สวรรคต

Thumb
หลุมฝังพระศพตรุเบของสุลต่านอาเหม็ดที่ 1

สุลต่านอาเหม็ดที่ 1 เสด็จสวรรคตจากพระโรคไข้รากสาดใหญ่ และมีพระโลหิตออกในพระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) ในวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1617 ณ พระราชวังโทพคาปึ ในกรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ในมัสยิดสีฟ้า เซชาห์เดมุสตาฟา พระราชอนุชาของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อเป็นสุลต่านมุสตาฟาที่ 1 พระราชโอรสสามพระองค์ของสุลต่านอาเหม็ดได้เสวยราชสมบัติในภายหลัง ได้แก่: สุลต่านออสมันที่ 2 (ครองราชย์ ค.ศ. 1618–22) สุลต่านมูรัดที่ 4 (ครองราชย์ ค.ศ. 1623–40) และสุลต่านอีบราฮิม (ครองราชย์ ค.ศ. 1640–48)

พระราชวงศ์

คู่อภิเษก
  • โกเซม ซุลตัน
  • มาฟีรูซ ฮาตุน
พระราชโอรส
  • สุลต่านออสมันที่ 2 สุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน (เสด็จพระราชสมภพ: 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1604 ณ พระราชวังโทพคาปึ กรุงคอนสแตนติโนเปิล ถูกปลงพระชนม์: 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1622 โดยเหล่าทหารจานิสซารี และคารา ดาวูด พาชา ณ พระราชวังโทพคาปึ กรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ในมัสยิดสีฟ้า) ประสูติแต่มาฟีรูซ ฮาตุน[8][9]
  • เซชาห์เดเมห์เหม็ด (ประสูติ: ค.ศ. 1605 ณ พระราชวังโทพคาปึ กรุงคอนสแตนติโนเปิล ถูกปลงพระชนม์: 12 มกราคม ค.ศ. 1621 ตามพระราชบัญชาของสุลต่านออสมันที่ 2 พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ในมัสยิดสีฟ้า) ประสูติแต่โกเซม ซุลตัน[10]
  • สุลต่านมูรัดที่ 4 สุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน (เสด็จพระราชสมภพ: 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1612 ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล สวรรคต: 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1640 ณ พระราชวังโทพคาปึ กรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ในมัสยิดสีฟ้า) ประสูติแต่โกเซม ซุลตัน[8][11][12][13]
  • เซชาห์เดบาเยซิด (ประสูติ: พฤศจิกายน ค.ศ. 1612 ถูกปลงพระชนม์: 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1635 ตามพระราชบัญชาของสุลต่านมูรัดที่ 4 ณ พระราชวังโทพคาปึ กรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ในมัสยิดสีฟ้า) ประสูติแต่มาฟีรูซ ฮาตุน[8][9]
  • เซชาห์เดสุลัยมาน (ประสูติ: ค.ศ. 1613 ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล ถูกปลงพระชนม์: 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1635 ตามพระราชบัญชาของสุลต่านมูรัดที่ 4 ณ พระราชวังโทพคาปึ กรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ในมัสยิดสีฟ้า) ประสูติแต่โกเซม ซุลตัน[8][9][12]
  • เซชาห์เดเซลิม (ประสูติ: ค.ศ. 1613 ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล ถูกปลงพระชนม์: 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1635 ตามพระราชบัญชาของสุลต่านมูรัดที่ 4 ณ พระราชวังโทพคาปึ กรุงคอนสแตนติโนเปิล[ต้องการอ้างอิง] พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ในมัสยิดสีฟ้า) ประสูติแต่โกเซม ซุลตัน[14]
  • เซชาห์เดฮูเซยิน (ประสูติ: พฤศจิกายน ค.ศ. 1614 ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล สิ้นพระชนม์: หลัง ค.ศ. 1622 ณ พระราชวังโทพคาปึ กรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 3 ในมัสยิดใหญ่อายาโซฟยา) ประสูติแต่มาฟีรูซ ฮาตุน[8][9]
  • เซชาห์เดคาซิม (ประสูติ: ค.ศ. 1614 ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล ถูกปลงพระชนม์: 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1638 ณ พระราชวังโทพคาปึ กรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 3 ในมัสยิดใหญ่อายาโซฟยา) ประสูติแต่โกเซม ซุลตัน[8][11][12][13]
  • สุลต่านอีบราฮิม สุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน (เสด็จพระราชสมภพ: 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1615 ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล ถูกปลงพระชนม์: 18 สิงหาคม ค.ศ. 1648 ณ พระราชวังโทพคาปึ กรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านมุสตาฟาที่ 1 ในมัสยิดใหญ่อายาโซฟยา) ประสูติแต่โกเซม ซุลตัน[8][11][12][13]
พระราชธิดา
  • เกฟเฮอร์เฮน ซุลตัน (ประสูติ: ประมาณ ค.ศ. 1608 สิ้นพระชนม์: ค.ศ. 1660 พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ในมัสยิดสีฟ้า) ประสูติแต่โกเซม ซุลตัน[15][16]
  • ไอเช ซุลตัน (ประสูติ: ค.ศ. 1605 หรือ 1608 สิ้นพระชนม์: ค.ศ. 1657 ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ในมัสยิดสีฟ้า) ประสูติแต่โกเซม ซุลตัน[15]
  • ฟัตมา ซุลตัน (ประสูติ: ประมาณ ค.ศ. 1607 สิ้นพระชนม์: ค.ศ. 1670 ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ในมัสยิดสีฟ้า) ประสูติแต่โกเซม ซุลตัน [12][16]
  • ฮันซาเด ซุลตัน (ประสูติ: ค.ศ. 1607 สิ้นพระชนม์: 23 กันยายน ค.ศ. 1650 ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอีบราฮิมในมัสยิดใหญ่อายาโซฟยา) ประสูติแต่โกเซม ซุลตัน[16]
  • อทิเค ซุลตัน (ประสูติ: ค.ศ. 1613 สิ้นพระชนม์: ค.ศ. 1674 พระศพถูกฝังที่หลุมพระศพสุลต่านอีบราฮิมในมัสยิดใหญ่อายาโซฟยา) [17][18]
  • อบิเด ซุลตัน (Abide Sultan [tr]) (ประสูติ: ค.ศ. 1618 ไม่ทราบปีที่สิ้นพระชนม์) อภิเษกสมรสใน ค.ศ. 1642 กับ โคคา มูซา พาชา

สิ่งสืบทอด

ทุกวันนี้ สุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ทรงเป็นที่รู้จักโดยส่วนใหญ่จากการที่เป็นผู้สร้างมัสยิดสีฟ้า (รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า "มัสยิดสุลต่านอาเหม็ด") หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของสถาปัตยกรรมอิสลาม ปัจจุบัน พื้นที่โดยรอบตัวมัสยิดในเขตฟาติฮ์ ถูกเรียกว่า "สุลต่านอาเหม็ด" (Sultanahmet) พระองค์เสด็จสวรรคตที่พระราชวังโทพคาปึในกรุงคอนสแตนติโนเปิล พระศพของพระองค์ได้รับการฝังอยู่ในหลุมพระศพที่อยู่ภายนอกมัสยิดอันโด่งดังแห่งนี้

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

เอคิน คอก นักแสดงชาวตุรกีรับบทเป็นสุลต่านอาเหม็ดที่ 1 ในภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ปี 2015 เรื่อง มูเตเซม ยูซึล:โกเซม

ดูเพิ่ม

  • ยุคเปลี่ยนผ่านของจักรวรรดิออตโตมัน
  • การทัพคาร์ติลและคากเฮติของพระเจ้าชาห์อับบาสมหาราช

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

Wikiwand in your browser!

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.

Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.