Remove ads
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุมาสู (ค.ศ. 208 - 23 มีนาคม ค.ศ. 255)[1][2][3] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ซือหม่า ชือ (จีน: 司馬師; พินอิน: Sīmǎ Shī; ) ชื่อรอง จื่อ-ยฺเหวียน (จีน: 子元; พินอิน: Zǐyuán) เป็นขุนพลและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน ในปี ค.ศ. 249 สุมาสูช่วยสุมาอี้ผู้เป็นบิดาในการโค่นล้มโจซองผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของจักรพรรดิโจฮอง ทำให้ตระกูลสุมากลายเป็๋นผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ สุมาสูสืบทอดอำนาจหลังจากสุมาอี้เสียชีวิตในปี ค.ศ. 251 สุมาสูยังคงยึดกุมอำนาจได้อย่างเหนียวแน่น เมื่อจักรพรรดิโจฮองคิดการจะโค่นอำนาจสุมาสูในปี ค.ศ. 254 สูมาสูจึงชิงปลดจักรพรรดิโจฮองออกและตั้งโจมอที่เป็นพระญาติขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน ภายหลังสุมาสูเสียชีวิตในปี ค.ศ. 255 อำนาจถูกส่งผ่านไปยังสุมาเจียวผู้เป็นน้องชาย และในท้ายสุดสุมาเอี๋ยนบุตรชายของสุมาเจียวได้ชิงบัลลังก์วุยก๊กและสถาปนาราชวงศ์จิ้นขึ้นมา
สุมาสู (ซือหม่า ชือ) | |
---|---|
司馬師 | |
ภาพวาดของสุมาสูสมัยราชวงศ์ชิง | |
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊ก | |
ดำรงตำแหน่ง 7 กันยายน ค.ศ. 251 – 23 มีนาคม ค.ศ. 255 | |
กษัตริย์ | โจฮอง โจมอ |
ก่อนหน้า | สุมาอี้ |
ถัดไป | สุมาเจียว |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ค.ศ. 208[1] |
เสียชีวิต | 23 มีนาคม ค.ศ. 255 (47 ปี)[2] นครสฺวี่ชาง มณฑลเหอหนาน |
คู่สมรส |
|
บุตร | บุตรสาวห้าคน |
บุพการี |
|
ชื่อรอง | จื่อ-ยฺเหวียน (子元) |
สมัญญานาม | จักรพรรดิจิ่ง (景皇帝 จิ่งหฺวางตี้) |
หลังจากสุมาเอี๋ยนขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิ พระองค์ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของสุมาสูผู้เป็นพระปิตุลาในการวางรากฐานราชวงศ์จิ้น พระองค์จึงพระราชทานสมัญญานามเป็นเกียรติให้สุมาสูเป็น จักรพรรดิจิ่ง (景皇帝 จิ่งหฺวางตี้) และมีนามวัดว่า ชื่อจง (世宗)
สุมาสูเกิดในปี ค.ศ. 208[1] เป็นบุตรชายคนโตของสุมาอี้และจาง ชุนหฺวา (張春華) เมื่อสุมาสูอยู่ในวัยเยาว์เป็นที่รู้จักในเรื่องความความประพฤติและสติปัญญาที่ดีเลิศ ทำให้ขึ้นมามีชื่อเสียงเทียบเท่ากับแฮเฮาเหียนและโฮอั๋น ครั้งหนึ่งโฮอั๋นถึงกับเคยกล่าวไว้ว่า "บุคคลเดียวที่สามารถประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในใต้ฟ้าอาจเป็นซือหม่า จื่อ-ยฺเหวียน[a]" ระหว่างปี ค.ศ. 237 ถึง ค.ศ. 239 สุมาสูได้รับแต่งตั้งเป็นทหารม้ามหาดเล็ก (散騎常侍 ซ่านฉีฉางชื่อ) และได้รับการเลื่อนยศเป็นผู้พิทักษ์ทัพกลาง (中護軍 จงฮู่จวิน)
ภรรยาคนแรกของสุมาสูคือเซี่ยโหว ฮุย (夏侯徽) เสียชีวิตในปี ค.ศ. 234 สุมาสูมีบุตรสาวที่เกิดกับเซี่ยโหว ฮุยทั้งหมด 5 คนด้วยกัน สาเหตุการเสียชีวิตของเซี่ยโหว ฮุยนั้นเป็นที่ถกเถียง ชีวประวัติของเซี่ยโหว ฮุยในจิ้นชูระบุว่าเซี่ยโหว ฮุยในที่สุดก็ตระหนักรู้ว่าสามีไม่ได้ภักดีต่อวุยก๊ก สุมาสูจึงเริ่มระแวงเซี่ยโหว ฮุยมากขึ้นเพราะความสัมพันธ์ทางครอบครัวของเซี่ยโหว ฮุยที่มีต่อราชตระกูลโจแห่งวุยก๊ก ในปี ค.ศ. 234 เซี่ยโหว ฮุยเสียชีวิตเพราะถูกวางยาพิษ[4] ในจือจื้อทงเจี้ยนเข่าอี้ (资治通鉴考异) ซือหม่า กวางแสดงความกังขาต่อเรื่องราวนี้ โต้แย้งว่า ณ จุดนี้ สุมาอี้เพิ่งได้รับความไว้วางพระทัยจากจักรพรรดิโจยอย และไม่ได้แสดงท่าทีถึงความไม่จงรักภักดี ลูกชายของสุมาอี้ก็ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ภักดีเช่นกัน ซือหม่า กวางจึงไม่ได้รวมเรื่องราวนี้ในจือจื้อทงเจี้ยน[5]
เมื่อสุมาอี้เริ่มวางแผนก่อรัฐประหารโค่นอำนาจโจซอง ในจิ้นชูระบุว่าสุมาอี้ได้ปรึกษาเรื่องแผนการกับสุมาสู แต่ไม่ได้รวมสุมาเจียวน้องชายของสุมาสูมาร่วมปรึกษาด้วย (แม้ว่าซือหม่า กวางมีความเห็นว่าเรื่องไม่น่าเป็นเช่นนั้น และระบุไว้ในจือจื้อทงเจี้ยนว่าสุมาอี้วางแผนก่อรัฐประหารร่วมกันกับทั้งสุมาสูและสุมาเจียว) สุมาเจียวรวมกลุ่มคนผู้ภักดี 3,000 คนโดยไม่ให้โจซองและพรรคพวกรู้ และเมื่อสุมาอี้เริ่มดำเนินแผนในปี ค.ศ. 249 สุมาสูก็สามารถเรียกคนเหล่านั้นมาเข้าร่วมในการก่อรัฐประหารได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อสุมาอี้โค่นล้มโจซองและขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของจักรพรรดิโจฮองแต่เพียงผู้เดียว ก็จะมอบบรรดาศักดิ์ให้สุมาสูเป็นฉางผิงเซียงโหว (長平鄉侯) มีศักดินา 1,000 ครัวเรือน ต่อมาไม่นานก็แต่งตั้งให้สุมาสูเป็นขุนพลรักษาพระราชวัง (衛將軍 เว่ย์เจียงจฺวิน) สุมาสูกลายเป็นผู้ช่วยของสุมาอี้ผู้บิดา แม้ว่าจะไม่มีบันทึกถึงผลงานของสุมาสูในช่วงเวลานี้ หลังสุมาอี้เสียชีวิตในปี ค.ศ. 251 สุมาสูเข้ารับตำแหน่งสืบต่อจากบิดาโดยไม่มีการต่อต้าน หลังจากที่ก่อนหน้านั้นในปีเดียวกันสุมาอี้ได้ปราบกบฏของหวาง หลิง (王淩) และสังหารหมู่ตระกูลหวาง (王) หรือตระกูลอองและพรรคพวก
สุมาสูปกครองราชสำนักอย่างมีประสิทธิภาพและยุติธรรม สั่งให้ขุนนางทุกคนแนะนำผู้มีความสามารถ กำหนดลำดับชั้นยศ ดูแลผู้ยากไร้และเด็กกำพร้า และจัดการกับกิจการด้านบุคลากรที่ล่าช้า
ไม่นานหลังจากสุมาอี้เสียชีวิต จักรพรรดิโจฮองทรงแต่งตั้งสุมาสูให้ดำรงตำแหน่งมหาขุนพลผู้สงบทัพ (撫軍大將軍 ฝู่จฺวินต้าเจียงจฺวิน)[6] ในปลายปี ค.ศ. 251 เตงงายเจ้าเมืองเฉิงหยาง (城陽) ถวายฎีกาถึงราชสำนักโดยทูลว่าชนเผ่าซฺยงหนูภายใต้การปกครองของหลิว เป้าขึ้นมามีแข็งแกร่งมากเกินไป จึงเสนอวิธีการให้มอบตำแหน่งและบำเหน็จแก่ชนเผ่าซฺยงหนูภายใต้หลิว เป้า (劉豹) เพื่อแบ่งแยกและลดทอนความแข็งแกร่งลง จากนั้นจึงให้ชนเผ่าซฺยงหนูตั้งถิ่นฐานในที่ห่างไกลจากราษฎรชาวจีนฮั่น รวมถึงให้ความการศึกษาแก่ชนเผ่าซฺยงหนูในด้านวัฒนธรรมประเพณีแบบจีนฮั่น สุมาสูเห็นด้วยข้อเสนอนี้ของเตงงาย[7]
เมื่อประมาณต้นปี ค.ศ. 252 สุมาสูได้เลื่อนยศเป็นมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน)[8] รวมถึงได้รับตำแหน่งเป็นขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) ทำให้สุมาสูมีอำนาจควบคุมทหารทั้งในและนอกราชวัง สุมาสูยังได้รับตำแหน่งเป็นผู้กำกับกิจการสำนักราชเลขาธิการ (錄尚書事 ลู่ช่างชูชื่อ)
ครั้งหนึ่งมีผู้เสนอกับสุมาสูให้แก้ไขกฎหมาย สุมาสูตอบว่า "กวีเคยสรรเสริญผู้ที่ 'ปฏิบัติตามหลักการของฟ้าและดูราวกับว่าไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตนเอง' ขนบธรรมเนียมและกฎหมายที่กำหนดขึ้นโดยบรรพชนแห่งสามราชวงศ์ควรจะปฏิบัติตาม หากไม่มีสงคราม ก็ไม่ควรเร่งปฏิรูป"
สุมาสูเป็นนักการเมืองและนักบริหารผู้มีความสามารถ แต่ก็ยังต้องจะพิสูจน์เกียรติคุณทางทหารของตนให้ได้โดยเร็ว ในช่วงปลายปี ค.ศ. 252 สุมาสูเปิดการโจมตีครั้งใหญ่ต่อง่อก๊กซึ่งซุนกวนจักรพรรดิผู้ก่อตั้งเพิ่งสวรรคต และจักรพรรดิองค์ปัจจุบันคือซุนเหลียงภายใต้การสำเร็จราชการแทนโดยจูกัดเก๊ก จูกัดเก๊กสามารถเอาชนะทัพของสุมาสูที่นำโดยสุมาเจียวได้ในการโจมตีครั้งใหญ่ในยุทธการที่ตังหิน แต่สุมาสูยังคงวางตัวได้ดีโดยการยอมรับความผิดพลาดอย่างถ่อมตน และเลื่อนขั้นให้กับขุนพลที่เคยคัดค้านการทำศึก ในปี ค.ศ. 253 หลังสุมาสูเอาชนะจูกัดเก๊ก[9] ในยุทธการครั้งใหญ่ สุมาสูจึงขึ้นมามีชื่อเสียงเลื่องลือ ในขณะที่ชื่อเสียงของจูกัดเก๊กตกต่ำลง (เนื่องจากจูกัดเก๊กไม่ยอมรับความผิดพลาด) และจูกัดเก๊กสิ้นอำนาจในเวลาไม่นาน[10] ในขณะที่อำนาจของสุมาสูกลับยิ่งมั่นคง
ในปี ค.ศ. 254 สุมาสูดำเนินการอย่างรุนแรงเพื่อรวบรวมอำนาจโดยใช้ราชทรัพย์ของจักรพรรดิโจฮอง ฝ่ายโจฮองลอบสมคบกับเสนาบดีลิฮอง (李豐 หลี่ เฟิง) สุมาสูระแวงว่าโจฮองและลิฮองกำลังวางแผนจะล้มล้างตน จึงเรียกลิฮองมาไต่ถาม ลิฮองไม่ยอมเผยสิ่งที่ตนทูลกับจักรพรรดิโจฮอง สุมาสูจึงฟาดลิฮองด้วยด้ามดาบจนเสียชีวิต[11] แล้วกล่าวหาลิฮองและสหายคือแฮเฮาเหียน (夏侯玄 เซี่ยโหว เสฺวียน) และเตียวอิบ (張緝 จาง จี) ในข้อหากบฏ[12] และสั่งให้ประหารชีวิตพวกเขาทั้งหมดรวมถึงครอบครัว[13] จากนั้นจึงบีบบังคับจักรพรรดิโจฮองให้ปลดมเหสีเตียวฮองเฮาที่เป็นบุตรสาวของเตียวอิบออกจากตำแหน่ง[14] การดำเนินการเหล่านี้ทำให้เหล่าขุนนางต่างหวาดกลัวและยอมสยบต่อสุมาสู จักรพรรดิโจฮองกริ้วอย่างมากต่อการเสียชีิวิตของลิฮองและเตียวอิบ ภายหลังในปี ค.ศ. 254 ขุนนางคนสนิทจึงทูลเสนอแผนว่าเมื่อสุมาเจียวน้องชายของสุมาสูมาเยี่ยมพระราชวังก่อนจะไปประจำตำแหน่งป้องกันที่เตียงฮัน ให้จับตัวสุมาเจียวสังหารและยึดกองกำลังของสุมาเจียว จากนั้นจึงใช้กองกำลังนั้นเข้าโจมตีสุมาสู[15] โจฮองทรงรู้สึกวิตกจึงไม่ได้ทำให้ดำเนินตามแผน[16] แต่ข่าวยังคงรั่วไหลล่วงรู้ไปถึงสุมาสู สุมาสูจึงบังคับโจฮองให้สละราชบัลลังก์[17] แต่สุมาสูยังคงไว้ชีวิตโจฮองและตั้งให้กลับมามีฐานันดรศักดิ์เป็นเจอ๋อง (齊王 ฉีหวาง) ซึ่งเป็นฐานันดรศักดิ์ดั้งเดิมก่อนขึ้นครองราชย์ สุมาสูทูลแจ้งต่อกวยทายเฮาผู้เป็นพระมารดาบุญธรรมของโจฮองว่าตนตั้งใจจะตั้งโจกี๋พระอนุชาของจักรพรรดิโจผีผู้เป็นแพเสียอ๋อง (彭城王 เผิงเฉิงหวาง) ให้ขึ้นเป็นจักรพรรดิ กวยทายเฮาโน้มน้าวสุมาสูว่าการทำเช่นนั้นไม่เหมาะสม เพราะโจกี๋เป็นพระปิตุลา (อา) ของโจยอยผู้เป็นพระสวามีของกวยทายเฮา การสืบราชบัลลังก์เช่นนี้จะทำให้โจยอยไร้ทายาท[18] สุมาสูจำต้องคล้อยตามความเห็นของกวยทายเฮา และตั้งให้โจมอขึ้นเป็นจักรพรรดิแทนตามข้อเสนอของกวนทายเฮา[19] โจมอในเวลานั้นอายุเพียง 14 ปีแต่ก็มีชื่อเสียงว่าเป็นผู้มีสติปัญญา กวนทายเฮาอาจเชื่อว่าโจมออาจมีโอกาสตอบโต้ตระกูลสุมาได้
แม้ด้วยเจตจำนงของกวยทายเฮาและสติปัญญาของจักรพรรดิโจมอ แต่ก็สร้างผลกระทบเพียงเล็กน้อยในการพยายามหยุดยั้งกระแสของอำนาจที่เพิ่มขึ้นของตระกูลสุมา จากการที่สุมาสูปลดโจฮองจึงทำให้ในปี ค.ศ. 225 ขุนพลบู๊ขิวเขียมแม่ทัพประจำเมืองฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคือนครลู่อาน มณฑลอานฮุย) ทางตะวันออก พร้อมด้วยขุนพลบุนขิม (文欽 เหวิน ชิน) ก่อกบฏต่อตระกูลสุมา[20] แต่ก็ถูกกำลังทหารของสุมาสูปราบอย่างรวดเร็ว บู๊ขิวเขียมถูกสังหาร[21] ตระกูลของบู๊ขิวเขียมก็ถูกกวาดล้าง[22] บุนขิมและบุตรชายหนีไปเข้าด้วยง่อก๊ก[23]
อย่างไรก็ตาม การทัพนี้ส่งผลกระทบต่อสุมาสูอย่างมาก สุมาสูกำลังป่วยดวยโรคตาในช่วงเวลาที่บู๊ขิวเขียมและบุนขิมเริ่มก่อกบฏ และสุมาสูเพิ่งได้รับการผ่าตัดตา ในตอนแรกสุมาสูจึงไม่เต็มใจที่จะนำทัพด้วยตนเองและต้องให้สุมาหูผู้อานำทัพไปรบกับบู๊ขิวเขียมและบุนขิม[24] แต่ด้วยการโน้มน้าวของอองซก, เปาต้าน (傅嘏 ฟู่ กู่) และจงโฮย[25] สุมาสูจึงนำทัพด้วยตนเอง[26] ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อชัยชนะเหนือบู๊ขิวเขียม แต่ในระหว่างการจู่โจมครั้งหนึ่งของบุนเอ๋ง (文鴦 เหวิน ยาง) บุตรชายของบุนขิม สุมาสูวิตกกังวลอย่างมาก ถึงขั้นทำให้ตาที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดเกิดอาการกำเริบถลนออกจากเบ้า อาการป่วยของสุมาสูจึงทรุดลงอย่างหนักในเวลาไม่นาน ไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังปราบกบฏได้ สุมาสูก็เสียชีวิตที่ฮูโต๋ (許昌 สฺวี่ชาง; ปัจจุบันคือนครสฺวี่ชาง มณฑลเหอหนาน) โดยสุมาเจียวน้องชายของสุมาสูรับช่วงอำนาจต่อ
บุตรบุตรธรรม: สุมาฮิว บุตรชายคนที่สองของสุมาเจียว
ซือหม่า เลี่ยง | |||||||||||||||||||
ซือหม่า จฺวิ้น (ค.ศ. 113–197) | |||||||||||||||||||
สุมาหอง (ค.ศ. 149–219) | |||||||||||||||||||
สุมาอี้ (ค.ศ. 179–251) | |||||||||||||||||||
สุมาสู (ค.ศ. 208–255) | |||||||||||||||||||
จาง วาง | |||||||||||||||||||
จาง ชุนหฺวา (ค.ศ. 189–247) | |||||||||||||||||||
ชานชื่อแห่งโห้ลาย | |||||||||||||||||||
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.