สำเพ็ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สำเพ็งmap

สำเพ็ง หรือ สามเพ็ง[1] (อักษรโรมัน: Sampheng) เป็นย่านการค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ในแขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ อยู่ใกล้กับย่านเยาวราช, ถนนราชวงศ์ และต่อเนื่องไปถึงสะพานหัน, พาหุรัดและวังบูรพา ในพื้นที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร ทั้งนี้สำเพ็งในปัจจุบัน รู้จักกันดีในชื่ออย่างเป็นทางการว่า ซอยวานิช 1 และในช่วงระหว่างสะพานหันถึงถนนจักรวรรดิเรียกว่า ตรอกหัวเม็ด [2]

Thumb
ตลาดสำเพ็งในปัจจุบัน
Thumb
แผนที่ของเขตสัมพันธวงศ์ (สำเพ็งปรากฏอยู่ในชื่อ Wanit 1 Road หรือ Sampheng Road ซึ่งเริ่มมาจากย่านตลาดน้อย ในขณะที่ส่วนที่เป็นย่านการค้าที่คึกคัก จะเริ่มต้นจากบริเวณถนนราชวงศ์ไปจนสิ้นสุดที่ฝั่งถนนจักรเพชร ในเขตพระนคร)

นิรุกติศาสตร์

ที่มาของชื่อ "สำเพ็ง" นั้นไม่มีใครทราบว่ามาจากคำว่าอะไร ได้มีผู้สันนิษฐานไปต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่ามาจากคำว่า "สามแพร่ง"[3], "สามแผ่น" ซึ่งแผ่นย่อมาจากแผ่นดิน[3], "ลำเพ็ง" ซึ่งเป็นชื่อพืช[3], "สามปลื้ม" ซึ่งเป็นชื่อวัด[3], หรือมาคำจีนแต้จิ๋วว่า "ซำเพ้ง" (三平 sam1 pêng5; จีนกลาง: sān píng) แปลตรงตัวได้ว่า "ศานติทั้งสาม"

ในทัศนะของสุจิตต์ วงษ์เทศ นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าคำว่า "สำเพ็ง" เป็นภาษามอญที่แปลว่า "เจ้าขุนมูลนาย" จึงเป็นไปได้ว่าที่นี่เป็นแหล่งอยู่อาศัยของชาวมอญมาก่อน ที่ชาวจีนจะย้ายเข้ามาอยู่[4] ส่วนจิตร ภูมิศักดิ์เห็นว่าเป็นมาจากภาษาเขมร "ซำเปียะลี" (សម្ពលី) แปลว่า แม่สื่อ, แม่เล้า[5] ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ได้เสนอไว้ว่า อาจจะมาจากชื่อคน "เพ็ง" 3 คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ เพียงเท่านั้น

ประวัติ

สรุป
มุมมอง

สำเพ็งเริ่มต้นจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงสถาปนาสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นราชธานีแห่งใหม่แทนที่กรุงธนบุรี ในปี พ.ศ 2325 โดยมีพระบรมมหาราชวังตั้งขึ้นในพื้นที่ ๆ แต่เดิมเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวจีน และโปรดให้ย้ายชุมชนชาวจีนออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่นอกประตูพระนครทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ขนานไปกับลำน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) ไปจนถึงคลองสามเพ็ง หรือสำเพ็ง[1]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจการค้าของชาวจีนที่ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในย่านสำเพ็งเติบโตขึ้นเป็นลำดับ ชาวตะวันตกที่เข้ามาติดต่อการค้ากับสยามประเทศ เรียกขานย่านสำเพ็งว่า "ตลาดจีน" หรือ "Chinese Bazaar" ในบันทึกของมิชชันนารีที่ได้เข้ามาเยี่ยมดูย่านสำเพ็งในปี พ.ศ. 2378 ระบุความไว้ตอนหนึ่งว่า "ตลาดทั้งหมดดูแล้วน่าจะเรียกว่า "เมืองการค้า" (trading town) มากกว่า ที่นี่มีร้านค้ามากมายหลากหลาย ตั้งอยู่บนสองฝั่งฟากถนนยาวราว 2 ไมล์ แต่ด้วยเหตุที่ร้านค้าต่าง ๆ ตั้งอยู่ปะปนกัน เดินเพียงไม่กี่หลาก็สามารถหาซื้อสินค้าประเภทต่าง ๆ ได้ครบตามที่ต้องการ"[1]

และในสมัยนั้น สำเพ็งเต็มไปด้วยร้านค้าตลอดจนซ่องโสเภณีและโรงฝิ่นที่ปลูกติดกันจนแน่นขนัด หลังคาของแต่ละหลังเกยซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดเพลิงไหม้บ่อย ๆ จนมีคำเปรียบเปรยว่าที่นี่ "ไก่บินไม่ตกพื้น"[6] สุนทรภู่รจนาว่า "ถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ แพประจำยอดเรียงเคียงขนาน มีซุ้มซอกตรอกนางจ้างประจาน ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง" (นิราศเมืองแกลง) คำว่า "อีสำเพ็ง" กลายเป็นคำด่าผู้หญิงที่หมายถึง โสเภณี[7]

ปัจจุบัน สำเพ็งเป็นย่านการค้าที่คึกคักมากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร[8] โดยเปิดขายตั้งแต่เวลา 08:00 ถึง 17:00 น. ในเวลากลางวัน[9] และยังในเวลากลางคืนตั้งแต่เวลา 23:00 น. จนล่วงเข้าสู่วันใหม่ในเวลา 01:00 หรือจนถึง 06:00 น. ในยามเช้า[9] โดยสินค้าที่นิยมขาย ได้แก่ กิฟต์ช้อป, เครื่องประดับตกแต่งเสื้อผ้า, เสื้อผ้าแฟชั่น, หมวก, นาฬิกา, ตุ๊กตาหรือของเล่นเด็ก รวมถึงอาหารด้วย เป็นต้น โดยมีทั้งขายปลีกและขายส่ง[2][9][10]

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

Wikiwand in your browser!

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.

Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.