สาธารณรัฐตะวันออกไกล
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สาธารณรัฐตะวันออกไกล (รัสเซีย: Дальневосто́чная Респу́блика, ДВР, อักษรโรมัน: Dalnevostochnaya Respublika, DVR) บางครั้งเรียกว่า สาธารณรัฐชีตา เป็นรัฐเอกราชแต่ในนามที่ดำรงอยู่ตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 1920 ถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1922 ในพื้นที่ตะวันออกสุดของรัสเซียตะวันออกไกล แม้ว่าจะมีเอกราชแต่ในนาม แต่ด้วยส่วนใหญ่อยู่ในการควบคุมของสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย (รัสเซียโซเวียต) รัฐจึงเปรียบเสมือนเป็นรัฐกันชนระหว่างรัสเซียโซเวียตและดินแดนที่ญี่ปุ่นยึดครองในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซีย ค.ศ. 1917–1922 โดยมีประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐ คือ อะเลคซันดร์ ครัสโนชิโอคอฟ
สาธารณรัฐตะวันออกไกล Дальневосточная Республика Dalnevostochnaya Respublika | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
1920–1922 | |||||||||||||
| |||||||||||||
สถานะ | รัฐหุ่นเชิดและรัฐกันชนของสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย | ||||||||||||
เมืองหลวง | เวียร์ฮเนอูดินสค์ (ถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1920) ชีตา | ||||||||||||
ภาษาทั่วไป | รัสเซีย | ||||||||||||
การปกครอง | สาธารณรัฐสังคมนิยม | ||||||||||||
ประธานรัฐบาล | |||||||||||||
• 1920–1921 | อะเลคซันดร์ ครัสโนชิโอคอฟ | ||||||||||||
• 1921–1922 | นีโคไล มัตเวเยฟ | ||||||||||||
นายกรัฐมนตรี | |||||||||||||
• 1920 | อะเลคซันดร์ ครัสโนชิโอคอฟ | ||||||||||||
• 1920–1921 | บอริส ชุมยัซกี | ||||||||||||
• 1921 | ปิออตร์ นีคีโฟรอฟ | ||||||||||||
• 1921–1922 | นีโคไล มัตเวเยฟ | ||||||||||||
• 1922 | ปิออตร์ โคโบเซฟ | ||||||||||||
ประวัติศาสตร์ | |||||||||||||
• ก่อตั้ง | 6 เมษายน 1920 | ||||||||||||
• สิ้นสุด | 15 พฤศจิกายน 1922 | ||||||||||||
|
สาธารณรัฐตะวันออกไกลครอบคลุมพื้นที่ของดินแดนซาไบคัลสกี แคว้นอามูร์ แคว้นปกครองตนเองยิว ดินแดนฮาบารอฟสค์ และดินแดนปรีมอร์เยของประเทศรัสเซียในปัจจุบัน (ในอดีตคือ แคว้นทรานส์ไบคัลและอามูร์ รวมถึงดินแดนปรีมอร์เย) เมืองหลวงของสาธารณรัฐเริ่มแรกอยู่ที่เวียร์ฮเนอูดินสค์ (ปัจจุบันคืออูลัน-อูเด) แต่ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1920 มีการย้ายเมืองหลวงมาที่ชีตา
กองทัพแดงเข้ายึดครองวลาดีวอสตอคเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1922 จากนั้นสามสัปดาห์ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 สาธารณรัฐตะวันออกไกลจึงถูกผนวกรวมเข้ากับรัสเซียโซเวียต
สาธารณรัฐตะวันออกไกลก่อตั้งขึ้นในช่วงท้ายของสงครามกลางเมืองรัสเซีย ซึ่งในระหว่างสงครามกลางเมือง เมืองและนครต่าง ๆ ในรัสเซียตะวันออกไกลอยู่ภายใต้การควบคุมของทางการท้องถิ่นที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลฝ่ายขาวไซบีเรียของอะเลคซันดร์ คอลชัค และกองทัพญี่ปุ่นที่เข้าบุกครองประเทศ เมื่อญี่ปุ่นถอนกำลังพลออกจากแคว้นทรานส์ไบคัลและอามูร์ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1920 เป็นผลให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองในบริเวณนี้
มีการจัดตั้งรัฐบาลส่วนกลางชุดใหม่ขึ้นที่ชีตาเพื่อปกครองสาธารณรัฐตะวันออกไกลต่อจากญี่ปุ่น[1] ในช่วงแรกของการจัดตั้ง สาธารณรัฐตะวันออกไกลครอบคลุมพื้นที่บริเวณเวียร์ฮเนอูดินสค์เท่านั้น แต่ในฤดูร้อน ค.ศ. 1920 รัฐบาลโซเวียตของดินแดนอามูร์ได้ยินยอมที่จะรวมเข้ากับสาธารณรัฐ
สาธารณรัฐตะวันออกไกลจัดตั้งขึ้นภายหลังจากอสัญกรรมของคอลชัคได้สองเดือน โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโซเวียตรัสเซียอย่างเงียบ ๆ ซึ่งทางการโซเวียตมองสาธารณรัฐว่าเป็นรัฐกันชนระหว่างรัสเซียโซเวียตกับญี่ปุ่น[2] สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจยินยอมให้มีรัฐบาลใหม่ในภูมิภาค โดยมีสมาชิกประมาณ 4,000 คน เชื่อว่าสามารถยึดอำนาจได้ด้วยสิทธิของพรรค[3] อย่างไรก็ดี วลาดีมีร์ เลนิน และผู้นำพรรคคนอื่น ๆ ในมอสโก กังวลว่าทหารญี่ปุ่นประมาณ 70,000 นาย และทหารอเมริกันอีก 12,000 นาย จะมองว่าการกระทําดังกล่าวเป็นการยั่วยุ ซึ่งอาจกระตุ้นการโจมตีเพิ่มเติมที่สาธารณรัฐโซเวียตมิอาจรับมือได้[3]
เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1920 กองกำลังรบนอกประเทศอเมริกันในไซบีเรียภายใต้บัญชาของนายพลวิลเลียม เอส. เกรฟส์ ได้ถอนกำลังพลไปจากไซบีเรีย เหลือเพียงกองทัพญี่ปุ่นเท่านั้นที่ยังคงอยู่ในภูมิภาค[4] อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความสมดุลพื้นฐานสำหรับรัฐบาลบอลเชวิคในมอสโก ที่ยังคงมองว่าการก่อตั้งสาธารณรัฐตะวันออกไกลเป็นเหมือนดังสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ในตะวันออก ทําให้ระบอบการปกครองมีพื้นที่หายใจที่จําเป็นที่จะช่วยให้สามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการทหารได้[5]
เมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1920 มีการจัดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญอย่างเร่งรีบ ณ เมืองเวียร์ฮเนอูดินสค์ พร้อมทั้งประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐตะวันออกไกล โดยสัญญาว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของสาธารณรัฐจะรับประกันการเลือกตั้งโดยเสรีภายใต้หลักการของสากล เที่ยงตรง และมีสิทธิออกเสียงเท่าเทียมกัน รวมถึงการลงทุนระหว่างประเทศในสาธารณรัฐจะได้รับการสนับสนุนด้วย[3]
ในช่วงปลาย ค.ศ. 1920 เมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคต่างไม่เต็มใจยอมรับสาธารณรัฐตะวันออกไกลที่อยู่ในการควบคุมของนักสังคมนิยมสายกลาง[2] ความรุนแรง ความโหดร้าย และการตอบโต้ยังคงปะทุเป็นระยะ ๆ เป็นเวลา 18 เดือน[2] ตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในดินแดนชินฮันชอนของชาวเกาหลี ที่ซึ่งพลเรือนเกาหลีถูกสังหารหมู่โดยทหารญี่ปุ่น [6]
ญี่ปุ่นตกลงที่จะรับรองรัฐกันชนใหม่ในการสงบศึกกับกองทัพแดง ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1920 และละทิ้งการช่วยเหลือพื้นที่รัสเซียโอครายีนาของอะตามันกรีโกรี เซมิโอนอฟ[3] โดยในเดือนตุลาคม เซมิโอนอฟถูกขับไล่จากฐานกำลังหลักของเขาในชีตา และเมืองหลวงของสาธารณรัฐจึงยัายมาที่เมืองนี้[2]
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1920 การประชุมสมัชชาชั่วคราวแห่งชาติตะวันออกไกลจัดขึ้นในวลาดีวอสตอค โดยที่ประชุมได้รับรองรัฐบาลที่ชีตา และกําหนดวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1921 เป็นวันเลือกตั้งใหม่สําหรับสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐตะวันออกไกล[3] รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เขียนและประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ส. 1921 ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญสหรัฐเป็นอย่างมาก[3]
อย่างไรก็ตาม พวกนิยมการเมืองฝ่ายขวาปฏิเสธแนวคิดสาธารณรัฐประชาธิปไตยแบบอ่อน ๆ ในรัสเซียตะวันออกไกล ทำให้เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1921 รัฐประหารของกองทัพขาวจึงเกิดขึ้นในวลาดีวอสตอค โดยมีกองกำลังยึดครองของญี่ปุ่นอยู่เบื้องหลัง[2] วงล้อมของกองทัพญี่ปุ่นช่วยป้องกันการกบฏ และมีการจัดตั้งระบอบใหม่ในชื่อ "รัฐบาลชั่วคราวปรีอามูร์เย"[7] ในแคว้นปรีมอร์เย ไม่นานหลังจากการยึดอำนาจ กรีโกรี เซมิโอนอฟ จึงพำนักอยู่ที่วลาดีวอสตอคและพยายามประกาศตนเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเคยเป็นความพยายามที่ล้มเหลว เนื่องจากญี่ปุ่นได้ทอดทิ้งเขา[8]
รัฐบาลชั่วคราวปรีอามูร์เยใหม่พยายามที่จะระดมกําลังต่อต้านบอลเชวิคต่าง ๆ ไปที่กองกำลังของตน (ซึ่งสำเร็จเพียงเล็กน้อย)[9] ผู้นำของรัฐบาลใหม่เป็นสองพี่น้องนักธุรกิจชาววลาดีวอสตอค ได้แก่ สปีรีดอน เมียร์คูลอฟ และนีโคไล เมียร์คูลอฟ พบว่าตนเองกำลังโดดเดี่ยว โดยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน กองทัพญี่ปุ่นได้ประกาศว่าจะถอนกําลังทหารทั้งหมดออกจากไซบีเรียภายในสิ้นเดือนตุลาคม [9] และในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1922 รัฐสภาได้ขับไล่พี่น้องเมียร์คูลอฟ พร้อมกับแต่งตั้งนายพลมีฮาอิล ดีเตริคส์ ผู้ซึ่งเคยประจำการในหน่วยทหารเชโกสโลวัก เป็นผู้นำเผด็จการทหาร[9]
เมื่อญี่ปุ่นถอนทหารออกจากประเทศในฤดูร้อน ค.ศ. 1922 กบฏรัสเซียขาวจึงเริ่มตื่นตระหนก กองทัพแดงที่แอบแฝงเป็นกองทัพประชาชนปฏิวัติแห่งสาธารณรัฐตะวันออกไกล เคลื่อนพลไปทางตะวันออก ส่งผลให้ชาวรัสเซียหลายพันคน รวมถึงดีเตริคส์และกองทหารที่เหลือของเขา อพยพออกจากประเทศเพื่อหลบหนีระบอบการปกครองใหม่[2] กองทัพสาธารณรัฐตะวันออกไกลพิชิตวลาดีวอสตอคได้สำเร็จเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1922 สมรภูมิหลักของสงครามกลางเมืองรัสเซียจึงเป็นอันสิ้นสุดลง
เมื่อสิ้นสุดสงครามกลางเมือง รัสเซียโซเวียตผนวกสาธารณรัฐตะวันออกไกลเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922[3] รัฐบาลสาธารณรัฐได้ยุบเลิกลงและโอนอํานาจกับอาณาเขตทั้งหมดให้กับรัฐบาลบอลเชวิคในมอสโก[9]
ญี่ปุ่นยังคงครอบครองเกาะซาฮาลินตอนเหนือไว้จนถึง ค.ศ. 1925 เพื่อเป็นการชดเชยสำหรับกรณีนีโคลาเยฟสค์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ทหารและพลเมืองญี่ปุ่นราว 700 คน ที่เมืองนีโคลาเยฟสค์-นา-อามูร์เยในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ค.ศ. 1920[4] แรงจูงใจสำหรับการชดเชยนี้ปฏิเสธความจริงที่ว่าการตอบโต้ของญี่ปุ่นสําหรับการกระทําของรัสเซียได้คร่าชีวิตชาวรัสเซียไปมากกว่าสองถึงสามเท่า[4]
สาธารณรัฐตะวันออกไกลครอบคลุมพื้นที่ 4 แคว้นของอดีตจักรวรรดิรัสเซีย (แคว้นทรานส์-ไบคัล แคว้นอามูร์ แคว้นภาคพื้นสมุทร และตอนเหนือของเกาะซาฮาลิน[1] ซึ่งเป็นพรมแดนหลักของภูมิภาคทรานส์ไบคัลและแมนจูเรียนอก พรมแดนของสาธารณรัฐทอดยาวตามแนวชายฝั่งตะวันตกของทะเลสาบไบคาล พาดผ่านพรมแดนทางตอนเหนือของมองโกเลียและแมนจูเรียไปจนถึงทะเลญี่ปุ่นและทะเลโอค็อตสค์
มีการประมาณพื้นที่ทั้งหมดของสาธารณรัฐตะวันออกไกลไว้ราว 730,000 ตารางไมล์ (1,900,000 ตารางกิโลเมตร) และมีประชากรอยู่ที่ 3.5 ล้านคน[1] ประมาณ 1.62 ล้านคนเป็นชาวรัสเซีย และอีก 1 ล้านคนเป็นชาวเอเชียที่มีเชื้อสายบรรพบุรุษจากประเทศจีน ญี่ปุ่น มองโกเลีย และเกาหลี[1]
สาธารณรัฐตะวันออกไกลเป็นพื้นที่ที่มีแร่จำนวนมาก รวมถึงยังเป็นดินแดนที่ผลิตทองคําได้ประมาณหนึ่งในสามของทองคําทั้งหมดในรัสเซีย และยังเป็นแหล่งผลิตดีบุกแห่งเดียวของประเทศอีกด้วย[1] แร่สํารองอื่น ๆ ของสาธารณรัฐตะวันออกไกล ได้แก่ สังกะสี เหล็ก และถ่านหิน[1]
อุตสาหกรรมประมงในอดีตแคว้นภาคพื้นสมุทรก็มีจำนวนมากเช่นกัน โดยมีปริมาณการทำประมงมากกว่าไอซ์แลนด์ และเป็นแหล่งชุกชุมของปลาเฮร์ริง ปลาแซลมอน และปลาสเตอร์เจียน[1] นอกจากนี้ สาธารณรัฐยังมีทรัพยากรป่าไม้ที่กว้างขวาง รวมถึงสนเขา เฟอร์ เซดาร์ พอปลาร์ และเบิร์ช ที่มีพื้นที่เก็บเกี่ยวทั้งหมด 120 ล้าน เอเคอร์ (490,000 ตารางกิโลเมตร)[1]
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1922 มีการจัดระเบียบกองทัพน้อยไรเฟิลบาลากันสค์ที่ 104 เช้ากับกองพันไรเฟิลทรานส์ไบคัลที่ 1 ของกองทัพประชาชนปฏิวัติแห่งสาธารณรัฐตะวันออกไกล โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาชายแดนฝั่งแมนจูเรีย และในระหว่างวันที่ 4 ถึง 25 ตุลาคม กองพันได้เช้าไปมีส่วนร่วมในปฏิบัติการปรีมอร์เยเพื่อพิชิตกองทัพขาวในแคว้นอามูร์ กองกำลังส่วนสุดท้ายของขบวนการขาวในตะวันออกไกล ในช่วงปฏิบัติการ กองพันไรเฟิลทรานส์ไบคัลที่ 1 สามารถเข้ายึดโกรเดโคโว นีคอลสค์-อุสซูรีสค์ และวลาดีวอสตอค
กองทัพโซเวียตที่ 5 จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งของคณะกรรมการบริหารกลางรัสเซียทั้งปวงแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซียเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 โดยเปลี่ยนชื่อจากกองทัพประชาชนปฏิวัติแห่งสาธารณรัฐตะวันออกไกล กองพันไรเฟิลทรานส์ไบคัลที่ 1 จึงอยู่ภายใต้คำสั่งนี้ด้วยเหมือนกันและประจำการอยู่ที่วลาดีวอสตอค กองพันเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นกองพันไรเฟิลแปซิฟิกที่ 1 (รัสเซีย: 1-я Тихоокеанская стрелковая дивизия) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 เพื่อเป็นการระลึกถึงความปราชัยของกองทัพขาวบนชายฝั่งแปซิฟิก[10][11]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.