คำถามยอดนิยม
ไทมไลน์
แชท
มุมมอง

การสักยันต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การสักยันต์
Remove ads

การสักยันต์ เป็นการสักที่ต่างจากการสักทั่วไปที่มุ่งเน้นเรื่องความสวยงามหรือเพื่องานศิลปะ แต่การสักยันต์มีจุดประสงค์หลักในเรื่องของความเชื่อทางไสยศาสตร์ เช่น จะทำให้มีโชค แคล้วคลาด ปลอดภัย อยู่ยงคงกระพัน และพ้นจากอันตรายต่าง ๆ โดยมีความเชื่อว่า รูปแบบลายสักหรือยันต์แต่ละชนิดจะให้คุณที่ต่างกัน[1] และผู้ที่ได้รับการสักยันต์จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่แต่ละสำนักกำหนดไว้ เช่น ห้ามด่าบิดามารดา ห้ามลบหลู่ครูอาจารย์ เป็นต้น[2]

Thumb
การสักยันต์ลงบนแผ่นหลัง
Remove ads

ศัพทมูลวิทยา

การสัก คือ การเอาเหล็กแหลมแทงลงด้วยวิธี การหรือเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ กัน ใช้เหล็กแหลมจุ้มหมึกหรือน้ำมันแทงที่ผิวหนังให้เป็นอักขระ เครื่องหมายหรือลวดลาย ถ้าใช้หมึกเรียกว่าสักหมึก ถ้าใช้น้ำมันเรียกว่าสักน้ำมัน[1] ส่วนคำว่า "ยันต์" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า ยันต์คือตารางหรือลายเส้นเป็นตัวเลข อักขระหรือรูปภาพที่เขียน สัก หรือแกะสลักลงบนแผ่นผ้า ผิวหนัง ไม้ โลหะ เป็นต้น ถือว่าเป็นของขลัง เช่น ยันต์ตรีนิสิงเห ยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ เรียกเสื้อหรือผ้าเป็นต้นที่มีลวดลายเช่นนั้นว่า เสื้อยันต์ ผ้ายันต์ เรียกกิริยาที่ทำเช่นนั้นว่า ลงเลข ลงยันต์[3]

Remove ads

ประวัติ

สรุป
มุมมอง

ที่มา

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่ายันต์ต่าง ๆ พวกที่นับถือนิกายตันตระซึ่งนับถือในทิเบตและเป็นสาขาหนึ่งของสาขามหายานเป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้น แล้วนำมาสอนในพม่าก่อนที่จะเข้าสู่ไทย[4] ขณะที่เลขยันต์ ปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ทั้งจากหลักฐานทางโบราณวัตถุและจารึกต่าง ๆ ระบบเลขยันต์นี้มีการบันทึกอย่างเป็นระบบในสมุดไทย (สมุดข่อย) ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เอกสารเหล่านี้ยังตกทอดมาสู่ยุคปัจจุบัน การนำระบบเลขยันต์นำมาใช้งานในหลายรูปแบบรวมถึงการสักไว้ตามร่างกาย[5] การสักยันต์ในไทยนิยมเขียนด้วยภาษาบาลี อักษรขอมไทย ด้วยความเชื่อว่าเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์[6]

อยุธยา

หลักฐานการสักในประเทศไทยนั้น ในอดีตข้าราชการของไทยจะทำตำหนิที่ข้อมือคนในบังคับซึ่งเป็นหน้าที่ของแผนกทะเบียนเป็นผู้บันทึกและรวบรวมสถิติชาย สันนิษฐานว่า การทำเครื่องหมายลงบนร่างกายนี้อาจมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ[1][7] ขณะที่ในวัฒนธรรมล้านนา การสักลาย (สักขาลาย) เชื่อว่าเมื่อสักลงไปแล้วจะทำให้มีโชคลาภ แคล้วคลาด ปลอดภัย อยู่ยงคงกระพัน และพ้นจากอันตรายต่าง ๆ[8] ปรากฏหลักฐานเช่น ท้าวขาก่าน เจ้าเมืองฝาง (ถึง พ.ศ. 2016) เจ้าเมืองน่าน (พ.ศ. 2017–2020) และเจ้าเมืองเชียงแสน (เริ่ม พ.ศ. 2021) ปรากฏนามอันเนื่องด้วยท่านสักหมึกขาลายลงไปถึงน่อง มีลวดลายที่โดดเด่นเป็นรูปพญานาคและดอกไม้ ชาวเมืองจึงเรียกว่า "ท้าวขาก่าน"[9]

ในวรรณคดี ขุนช้างขุนแผน ได้กล่าวถึงการสักเพื่อเป็นเครื่องรางของขลังสำหรับตัวผู้สักได้แก่ การสักของแสนตรีเพชรกล้า ซึ่งเป็นทหารเอกของพระเจ้าเชียงใหม่[10] อีกตอนหนึ่งของวรรณกรรมเรื่องเดียวกัน ตอนที่ขุนไกรบิดาของขุนแผนถูกสั่งประหารชีวิตด้วยการตัดหัวจากรับสั่งของพระพันวษา ด้วยเหตุผลที่พระพันวษาเสด็จล่าควายป่า แต่แล้วควายนั้นแตกตื่นวิ่งเข้ามาถึงที่ประทับ จึงทำให้ต้องโทษอาญาแผ่นดิน แต่เมื่อเพชฌฆาตได้ตัดคอขุนไกรปรากฏว่าไม่เป็นไรอันเป็นผลมาจากคาถาอาคมจากยันต์ที่ได้สักคงกระพันหนังเหนียวได้

รัตนโกสินทร์ถึงปัจจุบัน

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏนามอาจารย์สักผู้มีชื่อเสียงอย่าง อาจารย์ปลั่ง วัดสังเวช, อาจารย์ทองปักษ์ใต้, อาจารย์เชือก วัดตะเคียน, อาจารย์ฮะ วัดน้อยหิรัญรูจี ธนบุรี, อาจารย์หนู ถนนสุโขทัย ซึ่งได้สักพระวรกายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์[11]

Thumb
การสักยันต์ที่วัดบางพระ จังหวัดนครปฐม

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดความนิยมเรื่องการสักยันต์ เพราะมีพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงในการสักยันต์ในยุคนั้นได้แก่ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า และหลวงปู่ทอง วัดราชโยธา ในกรุงเทพมหานคร เป็นต้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดความนิยมสักโดยอาจารย์ฆราวาส ความนิยมในเลขยันต์และการสักยันต์มีมาเรื่อย ๆ[12]

ในสมัยปัจจุบันการสักยันต์ของไทยได้รับความนิยมจากชาวต่างประเทศมากขึ้น มีบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายคนต้องมาสักยันต์ที่ประเทศไทย เช่น แองเจลินา โจลี, สตีเวน ซีกัล, บรุก ชีลส์, ไรอัน ฟิลลิปปี รวมถึงโอลิเวอร์ ไซกส์ ชาวต่างชาติที่นิยมมาสักยันต์ในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มที่เชื่อในพุทธคุณ ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนและชาวฮ่องกง ซึ่งมักจะเน้นสักยันต์ที่ส่งเสริมเสน่ห์เมตตามหานิยม ค้าขายดี เช่น ยันต์จิ้งจก กวางเหลียวหลัง อีกกลุ่มนิยมลวดลายอักขระ ส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป ซึ่งมักจะนิยมสักยันต์ประเภทอยู่ยงคงกระพัน เช่น เสือเผ่น หนุมานเชิญธง กลุ่มนี้มองการสักยันต์เป็นงานศิลปะ[13]

Remove ads

ขั้นตอนการสัก

การสักของไทยมีขั้นตอนและระเบียบที่ซับซ้อน ทั้งผู้เป็นอาจารย์สักและผู้ถูกสัก มีการลงคาถาอาคม มีพิธีที่นอกเหนือจากการสัก ก่อนการสักหมึกมีพิธีการคือ ตั้งขึ้น หรือ ขึ้นครู (ยกครู) มีสิ่งสักการะเช่น ดอกไม้ ธูปเทียน หมาก เมี่ยง หรือบุหรี่ อาจารย์สักทำพิธีขึ้นครู อ่านโอมคาถารับเป็นลูกศิษย์ บอกแก่ผีครู ลูกศิษย์เปลื้องผ้าเพื่อสัก[11] การสักยันต์ลงอักขระเลขยันต์มีอยู่ 2 อย่าง คือ การสักน้ำมัน ส่วนมากจะใช้น้ำมันจันทร์หอมแช่ว่านหรือน้ำมันงาขาว บางสำนักจะผสมน้ำมันช้างตกมัน น้ำมันเสือโคร่ง[14] ระหว่างสักมีการท่องคาถากำกับเหล็กจาร

ยันต์ลักษณะต่าง ๆ

สรุป
มุมมอง
Thumb
ยันต์เก้ายอด
Thumb
ยันต์แปดทิศ เชื่อว่ามีคุณทางด้านเมตตา อยู่ยงคงกระพัน คุ้มครองทิศทั้งแปด

วัตถุประสงค์การสักยันต์เพื่อเป็นเครื่องรางของขลัง ปรากฏเป็นคาถาบาลีที่เป็นอักษรขอมที่ถือเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ โดยผูกเป็นรูปทรงและลวดลายต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความขลังและศักดิ์สิทธิ์ คุณค่าการป้องกันยังขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่สักด้วยเช่น ยันต์มหาอุตม์สักที่หน้าอกเพื่อคุ้มครองป้องกัน ยันต์ธนูมือสักที่หลังมือเพื่อสามารถทำอันตรายฝ่ายศัตรูได้ ยันต์นารายณ์แปลงรูปสักที่หน้าอกหรือหลังเพื่อช่วยการหลบหนี หรือยันต์แปดทิศสักที่หน้าอกเพื่อคุ้มครองอันตราย เป็นต้น ส่วนรูปสักต่าง ๆ อย่างสัตว์ เทพเจ้า เทวดา เพื่อแสดงอำนาจอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ที่เหนือกว่าความเป็นมนุษย์ธรรมดา[11]

ลักษณะยันต์และความหมายของยันต์ ต่อไปนี้เป็นชื่อยันต์บางส่วน[15]

  • ยันต์รัตนตรัย มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ การชนะศัตรู เมตตามหานิยม
  • ยันต์พุทธคุณ มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ คุ้มกันสารพัดภัย แคล้วคลาดจากอันตราย
  • ยันต์มหาศิริมงคล มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ เป็นมงคลยิ่งนัก และคุ้มภัยอันตรายทั้งปวง
  • ยันต์มหาสาวัง มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ กันและแก้สารพัดโรคภัยอันตราย
  • ยันต์มหาอุด มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ คงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม
  • ยันต์ห้ายอด มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ คุ้มกันภัยและอันตรายทั้งปวง
  • ยันต์ตะกรุดโทน มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ กันอันตรายจากอาวุธทุกชนิด
  • ยันต์โภคทรัพย์ มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ ทําให์มีเงินพอกพูนขึ้น
  • ยันต์พญาหงส์ทอง มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ เมตตามหานิยมเป็นเสน่ห์ ทําให้คนรัก
  • ยันต์พญาหนุมาน มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ อยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม
  • ยันต์พุดซ้อน หรือ ยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ ถือเป็นมหายันต์สูงสุดกว่ายันต์ทั้งปวง
  • ยันต์กันสะกด มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ กันภัย กันอันตรายจากโจรผู้ร้าย
  • ยันต์หนุนดวง หรือ ยันต์โภคทรัพย์ห้าแถว มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ แถวแรกเป็นคาถาเมตตามหานิยมแถวที่สองเป็นคาถาหนุนดวงชะตา แถวที่สามเป็นคาถาแห่งความสําเร็จ แถวที่สี่เป็นคาถาราศีประจําตัว แถวที่ห้าเป็นคาถามหาเสน่ห์
  • ยันต์เก้ายอด หมายถึง คุณวิเศษของพระพุทธเจ้าทั้งเก้าประการ ดีในการป้องกันศาสตราวุธทั้งหลาย
  • ยันต์แปดทิศ มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ มีสรรพคุณทางด้านเมตตา อยู่ยงคงกระพัน และคุ้มครองทิศทั้งแปด
  • ยันต์พญากาน้ำ มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ มีไว้ค้าขายทางน้ำ
  • ยันต์ราหูอมจันทร์ มีความหมาย เรื่องของความเชื่อ ช่วยหนุนดวงชะตา โดยการเปลี่ยนเรื่องร่ายให้กลายเป็นเรื่องดี และต่อต้านสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ
Remove ads

อ้างอิง

Loading content...

ดูเพิ่ม

Loading related searches...

Wikiwand - on

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Remove ads