Loading AI tools
สภาล่างในรัฐสภาสหราชอาณาจักร จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สภาสามัญชน[2][c] (อังกฤษ: House of Commons) เป็นสภาล่างของรัฐสภาสหราชอาณาจักร และประชุม ณ พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เช่นเดียวกับสภาขุนนางซึ่งเป็นสภาสูง
คณะสามัญชนผู้ทรงเกียรติแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือในที่ประชุมรัฐสภา The Honourable the Commons of the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland in Parliament assembled | |
---|---|
รัฐสภาชุดที่ 59 | |
ตราสัญลักษณ์สภาสามัญชน | |
ธงสภาสามัญชน | |
ประเภท | |
ประเภท | เป็นส่วนหนึ่งของรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร |
ผู้บริหาร | |
เซอร์ ลินด์เซย์ ฮอยล์ ตั้งแต่ 4 พฤษจิกายน ค.ศ. 2019 | |
รองประธานสภา | นัส กานี, อนุรักษนิยม ตั้งแต่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 |
ผู้นำสภาสามัญชน | ลูซี พาวเวลล์, แรงงาน ตั้งแต่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 |
เซอร์ อลัน แคมป์เบลล์, แรงงาน ตั้งแต่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 | |
ผู้นำสภาเงา | คริส ฟิลิป, อนุรักษนิยม ตั้งแต่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 |
ประธานวิปฝ่ายค้าน | สจวต แอนดรูว์, อนุรักษนิยม ตั้งแต่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 |
โครงสร้าง | |
สมาชิก | 650 |
กลุ่มการเมือง | รัฐบาลในสมเด็จฯ
|
ระยะวาระ | ไม่เกินห้าปี[b] |
การเลือกตั้ง | |
แบ่งเขตคะแนนสูงสุด | |
การเลือกตั้งครั้งล่าสุด | 4 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 |
การเลือกตั้งครั้งหน้า | ก่อน 15 สิงหาคม ค.ศ. 2029 |
การกำหนดเขตเลือกตั้ง | ทุก ๆ 8 ปี เสนอโดยคณะกรรมการเขตเลือกตั้ง |
ที่ประชุม | |
ห้องประชุมสภาสามัญชน พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ นครเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร | |
เว็บไซต์ | |
House of Commons |
สภาสามัญชนมีสมาชิกรัฐสภา (Member of Parliament; MP) 650 คน ได้รับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดเพื่อเป็นตัวแทนของแต่ละเขต และดำรงตำแหน่งจนมีการยุบสภาโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการยุบและเรียกประชุมรัฐสภา ค.ศ. 2022
สภาสามัญชนแห่งอังกฤษเริ่มมีวิวัฒนาการตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 13 และ 14 โดยในปี ค.ศ. 1707 หลังจากประเทศอังกฤษเข้าร่วมสหภาพทางการเมืองกับสกอตแลนด์ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "สภาสามัญชนแห่งบริเตนใหญ่" ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เมื่ออังกฤษเข้าร่วมสหภาพทางการเมืองกับไอร์แลนด์จึงกลายเป็น "สภาสามัญชนแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์" จากปี ค.ศ. 1800 นั้น "สหราชอาณาจักร" เริ่มหมายถึง สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ และกลายเป็นสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือเมื่อเสรีรัฐไอริชประกาศอิสรภาพในปี ค.ศ. 1922 ทำให้สภาสามัญชนได้ชื่อที่คงอยู่จนถึงปัจจุบัน
ภายใต้พระราชบัญญัติรัฐสภา ค.ศ. 1911 และ ค.ศ. 1949 นั้น ได้ลดอำนาจของสภาขุนนางที่สามารถปัดตกร่างกฎหมายได้ ให้เหลืออำนาจในการยับยั้งกฎหมายชั่วคราวเท่านั้น
รัฐบาลขึ้นตรงต่อสภาสามัญชนแต่เพียงผู้เดียว และนายกรัฐมนตรีสามารถดำรงตำแหน่งตราบใดที่ยังสามารถรักษาความไว้วางใจของเสียงข้างมากในสภาได้
แม้ว่าในทางกฎหมายสภาสามัญชนไม่ได้เลือกนายกรัฐมนตรีนั้น แต่โดยธรรมเนียมปฏิบัตินายกรัฐมนตรีขึ้นตรงกับสภาสามัญชน จึงต้องได้รับการสนับสนุนจากสภาด้วย ดังนั้นจุดยืนของพรรคการเมืองในสภาจึงมีผลต่อการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีอย่างมีนัยยะสำคัญ ดังนั้นหากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่างลง พระมหากษัตริย์จึงแต่งตั้งผู้ที่ได้รับการสนับสนุนของสภา หรือผู้ที่มีแนวโน้มได้รับการสนับสนุนของสภาซึ่งโดยปกติคือหัวหน้าของพรรคที่มีที่นั่งมากที่สุดในสภา และหัวหน้าพรรคที่มีที่นั่งลำดับรองจะได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าฝ่ายค้าน โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1963 นั้น นายกรัฐมนตรีเป็นสมาชิกสภาสามัญชนโดยธรรมเนียม มิได้แต่งตั้งจากสภาขุนนาง
สภาอาจแสดงเจตนารมณ์ว่าไม่สนับสนุนรัฐบาลโดยการไม่สนับสนุนญัตติไว้วางใจ หรือโดยการผ่านญัตติไม่ไว้วางใจ ญัตติทั้งสองมีการใช้ถ้อยคำแตกต่างกัน เช่น "...โดยที่สภานี้ไม่มีความไว้วางใจในรัฐบาลในสมเด็จฯ" มีร่างกฎหมายหลายประเภทในอดีตที่ถือว่าเกี่ยวข้องกับความไว้วางใจด้วย ถึงแม้ว่าไม่มีการกล่าวถึงอย่างโจ่งแจ้งก็ตาม โดยมักเป็นร่างกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาล อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปียังถือว่าเป็นพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับความไว้วางใจในรัฐบาล เมื่อสภาไม่ไว้วางใจในรัฐบาลอีกต่อไป นายกรัฐมนตรีย่อมต้องลาออกจากตำแหน่ง หรือขอให้พระมหากษัตริย์ยุบรัฐสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไป
ก่อนปี ค.ศ. 2011 รัฐสภาอาจดำรงวาระได้ไม่เกิน 5 ปี แต่นายกรัฐมนตรีสามารถเลือกให้มีการยุบสภาก่อนครบวาระได้โดยรับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตั้งแต่มีการตราพระราชบัญญัติการยุบและเรียกประชุมรัฐสภา ค.ศ. 2022 หรือก่อนหน้านั้นคือพระราชบัญญัติกำหนดวาระรัฐสภา ค.ศ. 2011 ได้มีการกำหนดให้รัฐสภาดำรงวาระ 5 ปี แต่สมาชิกรัฐสภาจำนวน 2 ใน 3 ของจำนวนที่นั่งรัฐสภาทั้งหมด (ไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่าจะมีที่นั่งว่างลงหรือมีสิทธิออกเสียงหรือไม่) สามารถเห็นชอบให้มีการเลือกตั้งทั่วไปได้ หรือการผ่านญัตติไม่ไว้วางใจที่ไม่มีการผ่านญัตติไว้วางใจภายใน 14 วันหลังจากนั้น (ซึ่งอาจจะเป็นการไว้วางใจรัฐบาลชุดเดิมหรือชุดใหม่ก็ได้) ซึ่งหากใช้กลไกสุดท้ายที่กล่าวมา รัฐบาลสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้โดยไม่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป หากอิงตามข้อมูลในวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 2022 นั้น นายกรัฐมนตรี 4 คนจาก 11 คนล่าสุดนั้นได้รับตำแหน่งโดยตรงหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป ส่วนคนอื่น ๆ ได้รับตำแหน่งจากการลาออกของนายกรัฐมนตรีคนก่อน[d]
นายกรัฐมนตรีย่อมลาออกทันทีหากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลร่วมได้หรือจัดให้มีข้อตกลงไว้วางใจและสนับสนุนพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือหากมีการผ่านญัตติไม่ไว้วางใจ หรือโดยเหตุผลส่วนตัว ซึ่งหากมีการลาออก ผู้ที่ได้รับตำแหน่งต้องเป็นผู้ที่สามารถได้รับความไว้วางใจจากเสียงส่วนมากในสภาได้ แต่หากสภาอยู่ในสภาวะปริ่มน้ำ โดยธรรมเนียมผู้ที่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือผู้ที่เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ของพรรคที่อดีตนายกรัฐมนตรีสังกัด ในปัจจุบันพรรคการเมืองใหญ่ ๆ มักนิยมเขียนธรรมนูญพรรคให้มีวิธีการเลือกหัวหน้าพรรคใหม่โดยตายตัว[e]ก่อนปี ค.ศ. 1965 พรรคอนุรักษนิยมไม่มีกลไกเลือกหัวหน้าพรรคใหม่อย่างเป็นทางการ ในปี ค.ศ. 1957 เมื่อแอนโทนี อีเดนลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยที่ไม่ได้แนะนำผู้ที่ให้มาแทนที่เขานั้น พรรคไม่สามารถเลือกผู้ให้เป็นหัวหน้าพรรคต่อได้ สมเด็จพระราชินีนาถจึงต้องแต่งตั้งแฮโรลด์ แมคมิลแลนเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรี
โดยธรรมเนียม รัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาสามัญชนหรือสมาชิกสภาขุนนาง โดยมีไม่กี่คนที่เป็นบุคคลภายนอก แต่ถึงกระนั้นก็ได้เข้าสภาผ่านการเลือกตั้งซ่อมหรือการแต่งตั้งให้เป็นขุนนาง โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1902 นายกรัฐมนตรีทุกคนเป็นสมาชิกสภาสามัญชน โดยไม่ได้เป็นอย่างนั้นเพียงช่วงเดียวคือเมื่อช่วงระหว่างสมัยประชุมหน้าร้อนปี ค.ศ. 1963 เมื่ออเล็ก ดักลาส-โฮม (เอิร์ลแห่งโฮมที่ 14 ณ เวลานั้น) ออกจากสถานะการเป็นขุนนางสามวันหลังจากเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ การเปิดสมัยประชุมรัฐสภาถูกเลื่อนออกไปเพื่อรอผลการเลือกตั้งซ่อมที่เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งในขณะนั้นเสียชีวิต แต่เขาก็ชนะการเลือกตั้งตามคาด โดยชนะด้วยสัดส่วนคะแนนเสียงสูงที่สุดในสกอตแลนด์ภายในพรรคของเขา ซึ่งถ้าหากเขาไม่ชนะ ก็ต้องลาออกตามหน้าที่ทางรัฐธรรมนูญ
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 รัฐมนตรีเกือบทั้งหมดมาจากสภาสามัญชน ยกเว้นสามตำแหน่งที่ผูกพันกับสภาขุนนาง
มีขุนนางดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีเพียงไม่กี่ครั้ง (ยกเว้น ลอร์ดปริวีซีล ประธานฝ่ายตุลาการอังกฤษ และผู้นำสภาขุนนาง) ในกาลปัจจุบัน ซึ่งมีตัวอย่างที่สำคัญ เช่น ปีเตอร์ แคริงตัน ลอร์ดแคริงตันที่ 6 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979 ถึงปี ค.ศ. 1982 เดวิด แคเมอรอน อดีตนายกรัฐมนตรีที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เดวิด ยัง ลอร์ดยังแห่งแกรฟแฮม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงจัดหางานในปี ค.ศ. 1985 ลอร์ดแมนเดลสันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธุรกิจ ลอร์ดอโดนิสดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บารอนเนสอาโมสดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนานานาชาติ บารอนเนสมอร์แกนแห่งโคตส์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และลอร์ดโกล์ดสมิธแห่งริชมอนด์พาร์คที่กำลังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อสิ่งแวดล้อม อาหาร และกิจการชนบท และรัฐมนตรีเพื่อการพัฒนานานาชาติ
เนื่องจากสมาชิกสภาสามัญชนขึ้นตรงกับสภาสามัญชนและมาจากการเลือกตั้งไม่เหมือนกับสมาชิกสภาขุนนางที่มาจากการแต่งตั้งหรือการตกทอดแห่งตำแหน่ง จึงทำให้รัฐมนตรีมีความรับผิดชอบต่อสภา นายกรัฐมนตรีสามารถแต่งตั้งและไล่รัฐมนตรีออกได้ตามอัธยาศัย แต่ในทางกฎหมายผู้ที่แต่งตั้งและไล่รัฐมนตรีออกคือองค์อธิปัตย์
สภาสามัญชนสามารถตรวจสอบรัฐบาลผ่านคณะกรรมาธิการต่าง ๆ และการตั้งกระทู้ถามต่อนายกรัฐมนตรี และอาจมีการตั้งกระทู้ถามต่อรัฐมนตรีในโอกาสอื่น โดยการตั้งกระทู้ถามต่อนายกรัฐมนตรีมีขึ้นเป็นระยะเวลาครึ่งชั่วโมงในวันพุธทุกสัปดาห์ การตั้งคำถามต้องเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ในรัฐบาลของรัฐมนตรี ต้องไม่เกี่ยวกับการกระทำในฐานะหัวหน้าพรรค หรือในฐานะสมาชิกรัฐสภา โดยธรรมเนียมนั้น ประธานสภาจะเลือกให้สมาชิกรัฐสภาฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านถามคำถามผลัดกัน สมาชิกรัฐสภาอาจตั้งกระทู้ถามเป็นลายลักษณ์อักษรได้เช่นกัน
ในความเป็นจริงแล้วการตรวจสอบรัฐบาลในทางนี้ไม่ค่อยเป็นผล เนื่องจากมีการใช้ระบบเลือกตั้งแบ่งเขตคะแนนสูงสุด ทำให้พรรคฝ่ายรัฐบาลมีเสียงข้างมากอย่างล้นหลาม อีกทั้งรัฐมนตรีและกระทรวงต่าง ๆ ใช้กลวิธีปกป้องตัวเองโดยการแบ่งงานสำคัญ ๆ ไปยังบุคคลที่สาม ถ้ารัฐบาลมีเสียงข้างมากอย่างล้นหลาม ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเจรจากับพรรคอื่นแต่อย่างใด แต่ว่าการตรวจสอบจากคณะกรรมาธิการเฉพาะมักมีผลมากกว่า
พรรคการเมืองใหญ่ในปัจจุบันมักมีการควบคุมจนสมาชิกรัฐสภาภายในพรรคทำสิ่งใด ๆ ตามที่ตนเองอยากกระทำได้ยากมาก มีสมาชิกรัฐสภาในพรรครัฐบาลจำนวนหนึ่งที่ได้รับเงินเดือนจากการดำรงตำแหน่งในรัฐบาล ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 รัฐบาลแพ้ญัตติไว้วางใจสามครั้งด้วยกัน โดยแพ้ 2 ครั้งในปี ค.ศ. 1924 และครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1979 แต่ว่าการที่สมาชิกรัฐสภาผู้น้อยภายในพรรคขู่ว่าจะไม่สนับสนุนก็สามารถทำให้รัฐบาลต้องยอมจำนนในบางเรื่อง (เช่นเรื่องโรงพยาบาลมูลนิธิช่วงสมัยรัฐบาลร่วมแคเมอรอน-เคลก และเรื่องการจ่ายค่าเล่าเรียนเพิ่มเติม การจัดสรรงบประมาณเพื่อเงินบำนาญสำหรับผู้ที่ได้ผลกระทบจากบริษัทล้มเหลวภายใต้รัฐบาลพรรคแรงงาน) และในบางคราวก็มีร่างพระราชบัญญัติที่ต้องตกไปเนื่องจากมีสมาชิกรัฐสภาผู้น้อยไม่ลงคะแนนเสียงเห็นชอบด้วย เช่น พระราชบัญญัติก่อการร้าย ค.ศ. 2006
ในทางกฎหมายนั้น สภาสามัญชนมีอำนาจฟ้องร้องรัฐมนตรี (หรือผู้ใดก็ตามแม้มิได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง) ทางอาญาได้ โดยจัดให้มีการดำเนินการในสภาขุนนาง และตัดสินว่ามีความผิดจริงเมื่อสมาชิกสภาขุนนางกึ่งหนึ่งเห็นด้วย แม้ว่าอำนาจนี้จะไม่ได้ใช้มาเป็นเวลานานแล้ว แต่สภาสามัญชนได้ใช้อำนาจอื่น ๆ เพื่อตรวจสอบรัฐบาลเช่นญัตติไม่ไว้วางใจ การฟ้องร้องโดยสภาขุนนางครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อมีการฟ้องร้องเฮนรี ดันดาส ไวสเคาท์ที่ 1 แห่งเมลวิลล์ในปี ค.ศ. 1806
ร่างพระราชบัญญัติอาจมีการเสนอในสภาใดก็ได้ แต่ร่างพระราชบัญญัติที่มีความสำคัญมักเสนอในสภาสามัญชน พระราชบัญญติรัฐสภาให้อำนาจสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติอยู่กับสภาสามัญชน ทำให้ร่างพระราชบัญญัติบางประเภทสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของสภาขุนนาง สภาขุนนางมิอาจยับยั้งร่างพระราชบัญญัติการเงิน (ร่างพระราชบัญญัติที่ประธานสภาเห็นว่าเกี่ยวข้องเพียงแต่เรื่องการภาษีหรืองบประมาณแผ่นดินแต่อย่างเดียว) เกิน 1 เดือนได้ อีกทั้งมิสามารถยับยั้งร่างพระราชบัญญัติอื่น ๆ เกินสมัยประชุมสองสมัย หรือเป็นเวลา 1 ปีปฏิทิน ทั้งนี้ ข้อบังคับเหล่านี้บังคับเฉพาะร่างพระราชบัญญัติที่เสนอในสภาสามัญชนเท่านั้น และการขยายวาระสภาสามัญชนต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาขุนนาง
โดยธรรมเนียมที่มีปฏิบัติมาก่อนออกพระราชบัญญัติรัฐสภาอีกนั้น สภาสามัญชนเป็นสภาเดียวที่สามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับภาษีและงบประมาณรายจ่ายได้ นอกจากนี้สภาขุนนางมิสามารถแก้ไข้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายได้ และแก้ไขร่างพระราชบัญญัติอื่น ๆ ให้มีมาตราเกี่ยวกับการเงินหรืองบประมาณรายจ่ายมิได้เช่นกัน แต่สภาสามัญชนมักยกเว้นธรรมเนียมนี้เพื่อให้ขุนนางสามารถแก้ไขกฎหมายด้วยเนื่อหาที่มีผลทางการเงินได้ และโดยธรรมเนียมซัลส์เบอร์รีนั้น สภาขุนนางมิอาจยับยั้งร่างพระราชบัญญัติที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคำแถลงนโยบายทางการเมืองของพรรครัฐบาลได้ และเนื่องจากสภาขุนนางถูกจำกัดอำนาจทั้งในทางธรรมเนียมปฏิบัติและในทางกฎหมาย ทำให้สภาสามัญชนเป็นสภาที่อำนาจสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด
โดยส่วนใหญ่แล้วนั้น ลักษณะต่าง ๆ ของรัฐสภาสหราชอาณาจักรในปัจจุบันมีจุดเริ่มต้นจากรัฐสภาอังกฤษ แต่สนธิสัญญาสหภาพและพระราชบัญญัติสหภาพทั้งสองฉบับที่ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญานั้นทำให้มีรัฐสภาแห่งบริเตนใหญ่เพื่อมาแทนที่รัฐสภาอังกฤษและรัฐสภาสกอตแลนด์ โดยเพิ่มสมาชิกรัฐสภา 45 คนและขุนนาง 16 คนเพื่อเป็นการให้สกอตแลนด์มีเสียงในสภา หลังจากนั้นได้มีพระราชบัญญัติร่วมว่าด้วยสหภาพ ค.ศ. 1800 ทำให้รัฐสภาไอร์แลนด์ถูกยกเลิกและเพิ่มสมาชิกรัฐสภาจากไอร์แลนด์จำนวน 100 คน ทำให้เกิดรัฐสภาสหราชอาณาจักรแห่งบริเตนและไอร์แลนด์เหนือ
คำว่า common หรือ commune ในภาษาอังกฤษสมัยกลางซึ่งนำมาจาก commune ในภาษาแองโกล-นอร์มัน มีความหมายว่า "เป็นสาธารณะ" หรือ "โดยทั่วไป" เมื่อใช้เป็นคำวิเศษณ์ และเมื่อใช้เป็นคำนามจะมีความหมายว่า "องค์กรของบุคคลใด ๆ ซึงเป็นชุมชนหรือมีความคล้ายคลึงกัน" เมื่อใช้เป็นคำพหูพจน์มีความหมายว่า "ประชาชนทั่วไป หรือบุคคลที่อยู่ชนชั้นต่ำกว่าเมื่อเทียบกับผู้มียศถาบรรดาศักดิ์"[3] ซึ่งคำนี้ยังมีการใช้ในปัจจุบัน โดยมีรูปแบบเป็นวลีภาษาแองโกล-นอร์มันว่า soit baillé aux communes (let it be sent to the commons; ให้ได้ส่งไปยังสภาสามัญชน) เมื่อมีการส่งร่างพระราชบัญญัติจากสภาสามัญชนไปยังสภาขุนนาง[4]
ในปี ค.ศ. 1920 นักประวัติศาสตร์ อัลเบิร์ต พอลลาร์ด มีมุมมองที่แตกต่างเกี่ยวกับต้นกำเนิดของคำนี้ เขาเห็นด้วยว่า commons มีต้นกำเนิดมาจาก commune ในภาษาแองโกล-นอร์มัน แต่เห็นว่ามีความหมายที่เกี่ยวข้องกับการรวมกลุ่มของประชาชนหรือการแบ่งเขตเทศมณฑล[5] ทั้งนี้ พจนานุกรมภาษาอังกฤษออกซ์ฟอร์ดสามารถยืนยันได้แค่ความหมายที่พอลลาร์ดสนับสนุนตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และ 20 เป็นต้นไป และไม่ได้มีการกล่าวถึงแหล่งที่อ้างถึงความหมายอื่นในช่วงยุคกลางตอนปลาย นั่นคือช่วงเวลาที่มีการจัดตั้งสภาสามัญชนนั่นเอง[6]
การออกแบบที่ประชุมสภาขุนนางในปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากการใช้โบสถ์เซนต์สตีเฟนในพระราชวังเวสต์มินสเตอร์เป็นที่ประชุมเดิม[7]
ทรงสี่เหลี่ยมของห้องประชุมนั้นออกแบบตามรูปร่างเดิมของโบสถ์ และได้จัดให้มีที่นั่งในรูปแบบเดียวกับที่นั่งสำหรับคณะประสานเสียงในโบสถ์ ให้ฝ่ายรัฐบาลและผ่ายค้านหันหน้าเข้าหากัน การจัดที่นั่งแบบนี้จึงทำให้เข้ากับรูปแบบการเมืองรัฐสภาในอังกฤษที่พรรคการเมืองปฏิบัติเป็นปรปักษ์ต่อกัน[8]
ที่นั่งฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้านห่างกัน 3.96 เมตร (13 ฟุต) หรือความยาวประมาณดาบสองเล่ม แต่มีการคาดเดาว่าเป็นแค่การออกแบบเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เนื่องจากมิได้มีการอนุญาตให้นำอาวุธเข้าสู่ห้องประชุมมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว[9][10]
สภาสามัญชนผ่านช่วงเวลาแห่งการปฏิรูปที่สำคัญในช่วงศตวรรษที่ 19 เนื่องจากมีความผิดปกติในการแทนเสียงเขตเลือกตั้งที่เกิดจากการไม่ได้เปลี่ยนแปลงเส้นแบ่งเขตตั้งแต่ปี ค.ศ. 1660 จึงทำให้เมืองหลายเมืองที่ความสำคัญค่อย ๆ ลดหลั่นลงไปยังคงได้รับสิทธิ์ตามประเพณีโบราณว่าสามารถเลือกตั้งสมาชิกสองคนได้ ร่วมถึงเขตเลือกตั้งที่ไม่เคยมีความสำคัญอยู่แล้วเช่นแกตตัน[11]
หนึ่งในเขตเลือกตั้งที่ไม่เหมาะสม (rotten borough) นี้คือ โอลด์ซารัม ที่มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 6 คนเลือกสมาชิกรัฐสภา 2 คนและเขตดันวิชที่พื้นที่ส่วนใหญ่หายไปเพราะการกัดเซาะชายฝั่ง ในเวลาเดียวกันนั้น เมืองใหญ่เช่นแมนเชสเตอร์ไม่ได้สมาชิกรัฐสภาเป็นของตนเองโดยเฉพาะ แต่ผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งในขณะนั้นสามารถเลือกที่นั่งตามเทศมณฑลได้ และยังมีเขตเลือกตั้งใต้อิทธิพลที่ควบคุมโดยเจ้าของที่ดินและขุนนางที่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้รับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภาเสมอ[ต้องการอ้างอิง]
สภาสามัญชนพยายามแก้ไขความผิดปกติเหล่านี้โดยการผ่านร่างพระราชบัญญัติปฏิรูปในปี ค.ศ. 1831 ซึ่งในตอนแรกสภาขุนนางมีความประสงค์ไม่อยากให้ร่างกฎหมายผ่าน แต่ต้องยอมให้ผ่านเพราะนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ชาลส์ เกรย์ เอิร์ลเกรย์ที่ 2 ขู่ว่าจะขอให้พระเจ้าวิลเลียมที่ 4แต่งตั้งขุนนางที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปจนชนะเสียงสมาชิกสภาขุนนางเดิมให้ขาด เพื่อป้องกันการนี้ไม่ให้เกิดขึ้น สภาขุนนางจึงยอมผ่านกฎหมายในปี ค.ศ. 1832 โดยพระราชบัญญัติปฏิรูป ค.ศ. 1832 หรือที่เรียกว่า "พระราชบัญญัติปฏิรูปครั้งใหญ่" ยกเลิกเขตเลือกตั้งที่ไม่เหมาะสม กำหนดเกณฑ์การเลือกตั้งให้เหมือนกันหมดทุกเขตเลือกตั้ง จัดให้มีสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้แทนเมืองที่มีประชากรมาก แต่ยังคงความผิดปกติไว้อยู่บางประการ[12]
ในปีต่อ ๆ มาสภาสามัญชนเริ่มขยายอำนาจตนให้มากขึ้น และอิทธิพลของสภาขุนนางลดลงเนื่องจากวิกฤตที่เกิดจากร่างพระราชบัญญัติปฏิรูปจนทำให้อำนาจของสมาชิกสภาขุนนางลดลง สภาขุนนางเริ่มไม่ค่อยประสงค์ปัดตกร่างพระราชบัญญัติที่สภาสามัญชนเห็นชอบด้วยเสียงจำนวนมาก จึงกลายเป็นหลักการทางการเมืองที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่ารัฐบาลต้องการแค่ความไว้วางใจจากสภาสามัญชนเท่านั้น[ต้องการอ้างอิง]
การปฏิรูปนั้นมีต่อมาเรื่อย ๆ ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 โดยมีพระราชบัญญัติปฏิรูปปี ค.ศ. 1867 ที่ผ่อนผันข้อกำหนดการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้สิทธิ์เลือกตั้งในเขตเลือกตั้งบุรีต่าง ๆ ลดจำนวนสมาชิกรัฐสภาในเขตเลือกตั้งที่มีประชากรน้อย และเพิ่มจำนวนสมาชิกรัฐสภาสำหรับเมืองเกิดใหม่ทั้งหลาย พระราชบัญญัติการแทนราษฎร ค.ศ. 1884 ขยายจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งโดยการผ่อนผันข้อกำหนดการเป็นเจ้าของที่ดินในเขตเทศมณฑล พระราชบัญญัติแบ่งที่นั่งใหม่ ค.ศ. 1885 เปลี่ยนเขตที่มีสมาชิกรัฐสภาแทนหลายคนเป็นสมาชิกรัฐสภาแทนคนเดียวเกือบทั้งหมด[13]
ในปี ค.ศ. 1908 รัฐบาลพรรคเสรีนิยมภายใต้ เอช. เอช. แอสควิท เสนอแผนงานสวัสดิการสังคมหลายอย่าง รวมถึงการแข่งขันในทางอาวุธ ทำให้รัฐบาลต้องเก็บภาษีมากขึ้น ในปี 1909 สมุหคลัง เดวิด ลอยด์ จอร์จ เสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย "ของประชาชน" (People's Budget) ซึ่งเล็งที่จะเก็บภาษีเจ้าของที่ดินที่ร่ำรวยเพิ่มเติม ร่างนี้ต้องตกไปเพราะสภาขุนนางที่เต็มไปด้วยสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมไม่เห็นชอบ ทำให้รัฐบาลต้องลาออก
การเลือกตั้งทั่วไปที่ตามมาทำให้เกิดรัฐสภาเสียงปริ่มน้ำ แต่แอสควิทยังคงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้โดยได้รับการสนับสนุนจากพรรคเล็ก แอสควิทเสนอให้ลดอำนาจของสภาขุนนางอย่างมาก หลังจากการเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1910 รัฐบาลแอสควิทสามารถผ่านกฎหมายจำกัดอำนาจของสภาขุนนาง หลังจากที่แอสควิทขู่จะแต่งตั้งขุนนาง 500 คนจากพรรคของตนเพื่อให้ร่างกฎหมายผ่านได้อย่างแน่นอน
พระราชบัญญัติรัฐสภา ค.ศ. 1911 จึงได้บังคับใช้ และทำลายความเท่าเทียมในอำนาจของทั้งสองสภา สภาขุนนางอาจยับยั้งร่างพระราชบัญญัติได้ชั่วคราวเป็นเวลามากสุดเท่ากับสมัยประชุมสภา 3 สมัยหรือ 2 ปีปฏิทินเท่านั้น (ลดเหลือสมัยประชุม 2 สมัยหรือ 1 ปีปฏิทินในพระราชบัญญัติรัฐสภา พ.ศ. 1949) หลังจากมีการผ่านกฎหมายเหล่านี้ สภาสามัญชนจึงกลายเป็นสภาที่มีอำนาจเหนือกว่าในรัฐสภา
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 รัฐมนตรีได้รับเงินเดือน ส่วนสมาชิกรัฐสภาอื่น ๆ ไม่ได้รับเงินเดือน ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งส่วนใหญ่มีรายได้จากภาคเอกชนอยู่แล้ว และมีส่วนไม่กี่คนที่พึ่งพาการสนับสนุนทางการเงินจากผู้สนับสนุนที่ร่ำรวย สมาชิกรัฐสภาพรรคแรงงานช่วงแรก ๆ ได้รับเงินเดือนจากสหภาพแรงงาน แต่สภาขุนนางตัดสินว่าการรับรายได้เช่นนี้ผิดกฎหมายในปี ค.ศ. 1909 จึงมีการผ่านข้อมติสภาสามัญชนในปี ค.ศ. 1911 เพื่อเริ่มให้มีจ่ายเงินเดือนให้สมาชิกรัฐสภา
ในปี ค.ศ. 1918 ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 30 ปีที่เป็นเจ้าของที่ดินและผู้ชายอายุมากกว่า 21 ปีที่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินสามารถเลือกตั้งได้ หลังจากนั้นมีการกฎหมายผ่านกฎหมายเพื่อให้ผู้หญิงสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็นสมาชิกรัฐสภาได้ในอายุ 21 ปี ซึ่งในปีนั้นมีผู้หญิงคนเดียวที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภาคือคอนสแตนส์ มาร์เคียวิกส์ สมาชิกพรรคซินน์เฟน แต่เนื่องจากซินเฟนน์มีนโยบายไม่เข้าร่วมประชุมรัฐสภาที่เวสต์มินสเตอร์ เธอจึงไม่เคยได้เข้าประชุมสภาแต่อย่างใด[14]
ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ค.ศ. 2009 มีการเปิดเผยการเบิกค่าใช้จ่ายทุจริตโดยสมาชิกรัฐสภา ซึ่งทำให้เกิดเรื่องอื้อฉาวครั้งใหญ่และทำให้สาธารณชนสูญเสียความไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริตของสมาชิกรัฐสภา[15] ซึ่งทำให้ประธานสภาถูกบีบบังคับให้ลาออกเป็นครั้งแรกในรอบ 300 ปี[16][17]
ในปี ค.ศ. 2011 มีการทำประชามติว่าจะให้เปลี่ยนจากการเลือกตั้งแบบระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดเป็นการลงคะแนนแบบหลายรอบในทันทีหรือไม่ ซึ่งผลของประชามติออกมาว่าประชาชนไม่เห็นด้วย 67.9% โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 42% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด
รัฐบาลร่วมพรรคอนุรักษนิยม-เสรีประชาธิปไตยผ่านพระราชบัญญัติกำหนดวาระสภาตายตัว ค.ศ. 2011 ซึ่งโอนอำนาจจัดให้มีการเลือกตั้งก่อนครบวาระจากนายกรัฐมนตรีไปยังรัฐสภา โดยกำหนดให้สมาชิกรัฐสภาต้องเห็นด้วยกับญัตติให้มีการเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ซึ่งเทรีซา เมย์ได้ใช้กลไกนี้ครั้งแรกเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งก่อนครบวาระในปี ค.ศ. 2017[18]
ในปี ค.ศ. 2019 สมาชิกรัฐสภาใช้คำสั่งประจำที่ 24 (เป็นกลไกทางสภาที่ทำให้เปิดอภิปรายฉุกเฉินได้) เพื่อคุมวาระการประชุมในวันถัดไป และผ่านกฎหมายโดยรัฐบาลไม่ต้องเห็นชอบ กระบวนการที่ผิดธรรมดานี้ทำได้โดยการยื่นญัตติแก้ไข "ญัตติในทางเป็นกลาง" ซึ่งเป็นถ้อยแถลงการณ์ที่ไม่มีผลทางกฎหมายของรัฐสภาหลังจากอภิปรายเสร็จแล้ว วิธีการใหม่ในถูกใช้ในการผ่านพระราชบัญญัติสหภาพยุโรป (ถอนตัว) ค.ศ. 2019 ในเดือนมีนาคม และพระราชบัญญัติหมายเลข 2 ในเดือนกันยายน ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับเกี่ยวข้องกับเบร็กซิต[19]
ในปี 2020 มีการบังคับใช้ข้อบังคับการประชุมเพิ่มเติมเพื่อให้มีการประชุมแบบผสมผสานได้ ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ โดยมีการจำกัดให้สมาชิกรัฐสภาอยู่ในห้องประชุมได้คราวละ 50 คน การเว้นระยะห่างทางกายภาพและการเข้าร่วมประชุมทางไกล[20] การประชุมแบบผสมผสานยกเลิกในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2021[21]
ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020 รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมเผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติกำหนดวาระรัฐสภาตายตัว (ยกเลิก) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นร่างพระราชบัญญัติการยุบและเรียกประชุมรัฐสภาเมื่อเสนอต่อสภาสามัญชนในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021[22] ซึ่งยกเลิกพระราชบัญญัติกำหนดวาระรัฐสภาตายตัวทั้งหมด และคืนพระราชอำนาจการยุบรัฐสภาเมื่อนายกรัฐมนตรีร้องขอ และบัญญัติว่ารัฐสภาหมดวาระหลังจาก 5 ปี และให้มีการเลือกตั้ง 25 วันทำการหลังจากรัฐสภาหมดวาระ[23] ร่างพระราชบัญญัติได้รับพระบรมราชานุญาตเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2022 กลายเป็นพระราชบัญญัติการยุบและเรียกประชุมรัฐสภา[24]
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 ทุกเขตการเลือกตั้งมีสมาชิกรัฐสภาเป็นตัวแทน 1 คน ทั้งนี้ยังมีการแบ่งประเภทระหว่างเขตเลือกตั้งแบบบุรี (borough) และเขตเลือกตั้งแบบเทศมณฑล (county) ซึ่งมีผลต่อจำนวนเงินที่ผู้ลงสมัครเลือกตั้งสามารถใช้ในการหาเสียงได้ และชื่อเรียกเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งจะไม่เหมือนกัน มีคณะกรรมการเขตเลือกตั้งที่อิสระและถาวร 4 คณะสำหรับประเทศอังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือเพื่อกำหนดเส้นแบ่งเขตการเลือกตั้ง โดยคณะกรรมการจะศึกษาการแบ่งเขตใหม่ทุก ๆ 8 ถึง 12 ปี และอาจมีการศึกษาระหว่างกาลด้วย ในการแบ่งเขตนั้น คณะกรรมการต้องยึดหลักการแบ่งเขตขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหลักตามกฎหมาย เว้นแต่ว่าถ้าการยึดตามนั้นจะทำให้มีการแบ่งจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ยุติธรรม สภาสามัญชนต้องรับรองการแบ่งเขตของคณะกรรมการเขตเลือกตั้ง แต่มิสามารถแก้ไขให้เป็นการอื่นได้ ในปัจจุบันสหราชอาณาจักรมี 650 เขต โดยประเทศอังกฤษมี 533 เขต ประเทศเวลส์มี 40 เขต สกอตแลนด์มี 59 และไอร์แลนด์เหนือมี 18 เขต
การเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นเมื่อมีการยุบรัฐสภา ในอดีตนั้นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกเวลาที่ให้มีการยุบสภา (ดูส่วน ความสัมพันธ์กับรัฐบาล) แต่เมื่อมีพระราชบัญญัติกำหนดวาระรัฐสภา ค.ศ. 2011 บังคับใช้จึงทำให้รัฐสภาหมดวาระภายใน 5 ปี ยกเว้นถ้าสภาไม่ไว้วางใจในรัฐบาลหรือผ่านญัตติให้มีการเลือกตั้งก่อนครบวาระด้วยความเห็นชอบของสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 2 ใน 3[25] หรือถ้ามีการผ่านพระราชบัญญัติมอบอำนาจพิเศษเช่นในปี ค.ศ. 2019 ซึ่งลบล้างพระราชบัญญัติกำหนดวาระรัฐสภาเป็นการชั่วคราว ครั้งแรกที่มีการใช้พระราชบัญญัติมอบอำนาจพิเศษคือเมื่อสมาชิกรัฐสภาเลือกให้มีการเลือกตั้งก่อนครบวาระในเดือนมิถุนายนปี ค.ศ. 2017
แม้ว่าพระราชบัญญัติกำหนดวาระรัฐสภาจะถูกยกเลิกไปเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2022 นั้น พระราชบัญญัติการยุบและเรียกประชุมรัฐสภา ค.ศ. 2022 ที่มาแทนนั้นก็ยังคงให้รัฐสภาหมดวาระภายใน 5 ปี นับตั้งแต่เริ่มสภาชุดใหม่วันแรก
การเลือกตั้งในครั้งที่ผ่าน ๆ มาหลายทศวรรษได้จัดขึ้นในวันพฤหัส ซึ่งตัวคณะกรรมการการเลือกตั้งเองก็ไม่แน่ใจว่าเหตุใดจึงกำหนดให้เป็นวันนี้ แต่มีข้อสันนิธานว่าเป็นเหตุที่ปรากฏในปี ค.ศ. 1931 ว่าจัดขึ้นให้ตรงกับวันที่มีตลาดนัดเพื่อให้การเลือกตั้งสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางเข้าไปในตัวเมืองทำได้ง่ายขึ้น[26]
ผู้สมัครเลือกตั้งต้องส่งเอกสารเสนอชื่อที่ลงนามโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างน้อย 10 คนและชำระค่าธรรมเนียม 500 ปอนด์ (ประมาณ 21,500 บาท) ซึ่งจะได้คืนถ้าผู้สมัครได้คะแนนอย่างน้อย 5% ของคะแนนทั้งหมด ที่ต้องมีค่าธรรมเนียมนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ที่สมัครเพื่อความตลกคะนอง และไม่ให้รายชื่อผู้สมัครยาวเกินไปเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนสับสันจนทำให้เสียงแตก เขตเลือกตั้งยังถูกเรียกว่าเขตที่นั่งอีกด้วย เนื่องจากเขตเลือกตั้งหนึ่งเขตสามารถเลือกสมาชิกรัฐสภาได้ 1 คนภายใต้ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด โดยผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดแต่ไม่จำเป็นต้องถึงกึ่งหนึ่งของเสียงทั้งหมดเป็นผู้ชนะ เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สมาชิกสภาขุนนาง และนักโทษมิอาจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาได้ ผู้ที่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งต้องเป็นพลเมืองสหราชอาณาจักร หรือเป็นผู้ถือสัญชาติบริเตน ดินแดนโพ้นทะเลของบริเตน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ หรือประเทศในเครือจักรภพ โดยผู้ถือสัญชาติบริติชอาจเลือกตั้งได้เป็นเวลา 15 ปีหลังจากที่ไม่ได้พำนักอยู่ในสหราชอาณาจักร การใช้สิทธิ์เพื่อเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภามากกว่า 1 เขตถือว่าเป็นความผิดทางอาญา แต่ก่อนปี ค.ศ. 1948 ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเนื่องจากมีการเลือกตั้งหลายเขตได้โดยดูจากการเป็นเจ้าหรืออาศัยอยู่ในที่พักพิงใดก็ตาม รวมถึงการใช้สิทธิ์ในเขตเลือกตั้งมหาวิทยาลัยถ้าเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนั้น ๆ
เมื่อได้รับการเลือกตั้งแล้ว สมาชิกรัฐสภาย่อมดำรงตำแหน่งจนถึงการยุบรัฐสภาครั้งถัดไป แต่ถ้าสมาชิกตายลงหรือขาดคุณสมบัติ (ดูส่วน คุณสมบัติ) ในการเป็นสมาชิกรัฐสภา ที่นั่งของสมาชิกรัฐสภาผู้นั้นย่อมว่างลง ทั้งนี้สภาสามัญชนมีอำนาจในการขับไล่สมาชิกออกได้ แต่อำนาจนี้จะใช้ต่อเมื่อสมาชิกนั้นประพฤติมิชอบร้ายแรงหรือกระทำสิ่งที่เป็นความผิดทางอาญาเท่านั้น ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม ที่นั่งที่ว่างลงจะทำให้มีการเลือกตั้งซ่อมตามมา โดยใช้วิธีการเดียวกับการเลือกตั้งทั่วไป คำว่า "สมาชิกรัฐสภา" โดยขนบธรรมเนียมในปัจจุบันนั้นให้หมายถึงสมาชิกสภาสามัญชน โดยสมาชิกเหล่านี้สามารถใช้อักษรท้ายนามว่า "MP" ได้
นับแต่วันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2022 สมาชิกรัฐสภามีรายได้ 84,144 ปอนด์[27] (ประมาณ 3.6 ล้านบาท) ต่อปี และอาจรับรายได้จากตำแหน่งอื่นก็ได้ เช่นตำแหน่งประธานสภา อีกทั้งสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ยังเรียกเก็บค่าชดเชยที่เกี่ยวกับกิจของสมาชิกต่าง ๆ เช่นค่าว่าจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ ค่าเดินทาง ฯลฯ และถ้าสมาชิกรัฐสภามีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตพื้นที่กรุงลอนดอน สมาชิกนั้นสามารถเรียกเก็บค่าชดเชยการเช่าที่อยู่อาศัยในกรุงลอนดอนได้
การเป็นสมาชิกรัฐสภามีคุณสมบัติหลายประการ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปี (อายุขั้นต่ำเคยเท่ากับ 21 ปี จนกระทั่งมีการแก้ไขโดยบท 17 แห่งพระราชบัญญัติบริหารจัดการการเลือกตั้ง ค.ศ. 2007) และต้องเป็นพลเมืองสหราชอาณาจักร ดินแดนโพ้นทะเลของบริเตน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ หรือประเทศในเครือจักรภพ โดยคุณสมบัติที่ว่ามาเกิดขึ้นเนื่องจากการตราพระราชบัญญัติสัญชาติบริติช ค.ศ. 1981 ซึ่งในอดีตคุณสมบัติมีความรัดกุมมากกว่านี้ภายใตพระราชบัญญัติการสืบราชสันตาไปรษณียากร การติวงศ์ ค.ศ. 1701 ที่ให้พลเมืองโดยกำเนิดสามารถเป็นสมาชิกรัฐสภาได้เท่านั้น สมาชิกสภาขุนนางมิอาจเป็นสมาชิกสภาสามัญชนในเวลาเดียวกันได้ และมิสามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งรัฐสภาได้ (เหมือนกับที่พระมหากษัตริย์มิสามารถเลือกตั้งได้) อย่างไรก็ตามสมาชิกสภาขุนนางสามารถร่วมการประชุมสภาสามัญชนได้ แตกต่างจากพระมหากษัตริย์ซึ่งมิสามารถเข้าห้องประชุมได้เด็ดขาด
ผู้ใดที่ถูกคำสั่งจำกัดเนื่องจากล้มละลาย (ในประเทศอังกฤษและเวลส์เท่านั้น) ถูกศาลตัดสินให้เป็นบุคคลล้มละลาย (ในไอร์แลนด์เหนือเท่านั้น) หรือถูกยึดทรัพย์สินเพื่อใช้หนี้ (ในสกอตแลนด์เท่านั้น) มิสามารถดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาได้ ก่อนหน้านี้สมาชิกที่ถูกกักขังภายใต้พระราชบัญญัติสุขภาพจิต ค.ศ. 1983 เป็นเวลามากกว่า 6 เดือนจะพ้นสภาพการเป็นสมาชิกถ้ามีแพทย์ 2 คนให้ความเห็นต่อประธานสภาสามัญชนว่าสมาชิกดังกล่าวป่วยเป็นโรคทางจิต แต่การทำให้พ้นสภาพในทางนี้ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติสุขภาพจิต (การเลือกปฏิบัติ) ค.ศ. 2011 อีกทั้งยังมีบรรทัดฐานทางกฎหมายจารีตประเพณีจากศตวรรษที่ 18 ว่าคนหนวกใบ้ไม่สามารถเป็นสมาชิกรัฐสภาได้[28] ถึงแม้ไม่มีการบรรทัดฐานนี้นำมาใช้ในทางปฏิบัติในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาก็ตาม
ผู้ใดที่กระทำความผิดอาญาฐานกบฏไม่สามารถเป็นสมาชิกรัฐสภาได้เว้นแต่ถูกจำคุกจนพ้นโทษหรือได้รับการพระราชทานอภัยโทษ และผู้ใดที่ต้องจำคุกมากกว่า 1 ปีไม่สามารถเป็นสมาชิกรัฐสภาได้เช่นกันตามพระราชบัญญัติการแทนราษฎร ค.ศ. 1981 สมาชิกรัฐสภาที่ต้องจำคุกมากกว่า 1 ปีย่อมพ้นจากการเป็นสมาชิกรัฐสภา สมาชิกในเซเนดด์ (สภาเวลส์) และสภาไอร์แลนด์ถูกกำหนดให้ขาดคุณสมบัติตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 มาตรา 159 บท 2 แห่งพระราชบัญญัติการแทนราษฎร ค.ศ. 1983 เคยกำหนดห้ามมิให้ผู้ใดที่ทำความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 10 ปี แต่ข้อกำหนดนี้ได้ยกเลิกไปแล้วในปี ค.ศ. 2001 สิ่งที่ทำให้บุคคลขาดคุณสมบัติอื่น ๆ อีกหลายประการได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการขาดคุณสมบัติสภาสามัญชน ค.ศ. 1975 ได้แก่ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางตุลาการ ข้าราชการ และผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความถึงรัฐมนตรีแม้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
มีการใช้บทบัญญัติที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐบางตำแหน่งมิสามารถดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาได้เพื่อหลีกเลี่ยงข้อมติที่ได้ตกลงกันในปี ค.ศ. 1623 ว่าสมาชิกรัฐสภาไม่สามารถลาออกจากตำแหน่งได้ โดยถ้ามีสมาชิกประสงค์ที่จะลาออกนั้น เขาสามารถขอให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นจางวางและปลัดดูแลเขตพื้นที่ที่ไม่มีอยู่แล้ว แต่ตำแหน่งยังมีอยู่เพราะไม่เคยมีการยกเลิกตำแหน่ง จึงทำให้ตำแห่งเหล่านี้ไม่มีอำนาจหน้าที่ใด ๆ ทั้งสิ้น โดยปกติจะต้องขอสมุหพระคลัง (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) ให้แต่งตั้ง และโดยธรรมเนียมรัฐมนตรีมิอาจปฏิเสธการแต่งตั้งได้เมื่อได้รับการทาบถามจากสมาชิกที่ต้องการลาออก
เมื่อรัฐสภาเริ่มวาระใหม่ สภาสามัญชนจะเลือกสมาชิกของตนคนหนึ่งเพื่อเป็นเจ้าพนักงานนำการประชุม เรียกว่าประธานสภา หากประธานสภาประสงค์ที่จะดำรงตำแหน่งต่ออีกวาระ สภาสามารถเลือกให้บุคคลนั้นดำรงตำแหน่งต่อได้โดยการผ่านญัตติธรรมดา แต่ถ้ามิได้เป็นอย่างนั้น ก็จะมีการเลือกตั้งประธานสภาใหม่โดยลงคะแนนเสียงลับ ในทางพิธีนั้นว่าที่ประธานสภาจะยังไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากองค์อธิปัตย์ มีรองประธานสามคนคอยช่วยเหลือประธานสภา ซึ่งรองประธานสภาผู้ที่อาวุโสที่สุดจะได้รับชื่อตำแหน่งว่าประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาวิธีการจัดหารายได้ โดยชื่อตำแหน่งเหล่านี้มาจากคณะกรรมาธิการพิจารณาวิธีการจัดหารายได้ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการที่รองประธานสภาเคยเป็นผู้นำการประชุม ถึงแม้ว่าคณะกรรมาธิการนี้จะถูกยกเลิกไปแล้วในปี ค.ศ. 1967 แต่ตำแหน่งก็ยังมีการคงไว้อยู่ตามเดิม ประธานสภาและรองประธานสภาต้องเป็นสมาชิกสภาสามัญชนเท่านั้น
เวลานำการประชุมนั้น ประธานและรองประธานสภาจะใส่ชุดดั้งเดิมตามประเพณี และประธานสภาอาจใส่วิกด้วย แต่ประธานสภา เบ็ตตี บูธรอยด์ เริ่มละเลิกธรรมเนียมนี้ ตามด้วยไมเคิล มาร์ติน และ จอห์น เบอร์โคว์ ซึ่งจอห์น เบอร์โคว์เลือกที่จะไม่ใส่ชุดดั้งเดิมของประธานสภาด้วย แต่ใส่เสื้อคลุมทับชุดสูทแทน ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารย์จากเบ็ตตี บูธรอยด์
ประธานหรือรองประธานสภานำการประชุมจากเก้าอี่ที่ด้านหน้าของห้องประชุม โดยออกัสตัส พิวจินเป็นผู้ออกแบบเก้าอี้ ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาได้ทำต้นแบบเก้าอี้ในโรงเรียนกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่เบอร์มิงแฮม โดยเก้าอี้มีชื่อเรียก Sapientia (เป็นภาษาละตินแปลว่า "ปัญญา") ซึ่งเป็นที่นั่งสำหรับผู้อำนวยการโรงเรียน ประธานสภายังเป็นประธานคณะกรรมาธิการสภาสามัญชนซึ่งดูแลการดำเนินงานภายในสภา และประธานสภายังควบคุมการอภิปรายโดยขานชื่อสมาชิกที่ให้อภิปรายได้ สมาชิกที่เห็นว่ามีการกระทำผิดขัดข้อบังคับสภาสามารถประท้วงกับประธานได้ ซึ่งประธานย่อมมีคำวินิจฉัยที่ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ ประธานสภาอาจสั่งให้มีการลงโทษสมาชิกที่กระทำผิดข้อบังคับ และยังเป็นผู้เลือกว่าให้อภิปรายญัตติเสนอให้แก้ไขใด จึงทำให้ประธานสภาสามัญชนมีอำนาจกว่าประธานสภาขุนนางที่ไม่สามารถสั่งลงโทษหรือเลือกญัตติได้อย่างมาก โดยธรรมเนียมนั้น ประธานและรองประธานไม่สังกัดพรรคการเมืองและเป็นกลาง ไม่เข้าร่วมกิจกรรมของพรรคการเมืองใด ๆ และไม่ลงคะแนนเสียง เว้นว่าถ้าคะแนนเสียงเสมอกัน ในกรณีนั้นประธานสภาก็จะลงคะแนนเสียงตามกฎของเดนิสัน โดยธรรมเนียมประธานสภาที่ประสงค์ดำรงตำแหน่งในฐานะสมาชิกสภาต่อจะไม่มีพรรคการเมืองเสนอรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง และประธานสภาเป็นกลางแม้จะไม่เป็นสมาชิกสภาสามัญชนแล้วก็ตาม
เลขาธิการสภาสามัญชนเป็นทั้งที่ปรึกษาสูงสุดเกี่ยวกับประเด็นวิธีดำเนินการต่าง ๆ และเป็นผู้บริหารสูงสุดของสภาสามัญชน โดยเป็นเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาเสียเอง เลขาธิการเป็นผู้ให้คำแนะนำประธานเกี่ยวกับข้อบังคับและวิธีดำเนินการของสภา ลงนามคำสั่งและประกาศทางการ และลงนามและสลักหลังร่างกฎหมาย เลขาธิการยังเป็นประธานคณะกรรมการการบริหารซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าแผนกทั้งหกของสภา ผู้ที่เป็นรองเลขาธิการเรียกว่าผู้ช่วยเลขาธิการ พนักงานเจ้าหน้าที่อีกตำแหน่งหนึ่งคือซาร์เจินต์แอตอามส์ (serjeant-at-arms) ซึ่งมีหน้าที่รักษากฎหมาย ระเบียบ และความปลอดภัยในสภา ซาร์เจินต์แอตอามส์นั้นยังถือคทาทางพิธีอีกด้วย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจและอำนาจแห่งสภาสามัญชน เข้าไปในห้องประชุมสภาทุกวัน โดยประธานสภาเดินตามหลัง และวางคทาลงบนโต๊ะก่อนการประชุมทุกครั้ง อีกทั้งยังมีหัวหน้าบรรณารักษ์ห้องสมุดสภาสามัญชน ซึ่งเป็นหน่วยงานสำหรับการค้นคว้าข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลของสภา
สภาสามัญชนมีที่ประชุม ณ พระราชวังเวสต์มินสเตอร์เหมือนกับสภาขุนนาง ห้องประชุมของสภาสามัญชนมีการตกแต่งเล็กน้อยและมีการใช้สีเขียวเป็นหลัก ไม่เหมือนกับห้องประชุมสภาขุนนางที่มีการตกแต่งค่อนข้างเยอะและใช้สีแดงเป็นหลัก สภาสามัญชนมีที่นั่งของสมาชิกทั้งสองฝั่งของห้องประชุมโดยมีช่องทางเดินแบ่งระหว่างกลาง การแบ่งที่นั่งแบบนี้เป็นการออกแบบตามโบสถ์เซนต์สตีเฟน ซึ่งเคยเป็นที่ประชุมสภาสามัญชนจนกระทั่งโบสถ์ถูกทำลายเพราะไฟไหม้ในปี ค.ศ. 1834 เก้าอี้ของประธานสภาอยู่ที่ขอบหนึ่งของห้องประชุม และมีโต๊ะประจำสภาซึ่งมีการวางคทาไว้ เลขาธิการทั้งหลายนั่งตรงโต๊ะใกล้ ๆ กับประธานสภา เพื่อเมื่อเวลาต้องแนะนำประธานสภาต่อวิธีการดำเนินการจะสามารถทำได้อย่างสะดวก
ผู้ที่เป็นสมาชิกรัฐบาลนั่งทางฝั่งขวาของประธานสภา และสมาชิกฝ่ายค้านนั่งทางซ้ายของประธานสภา ข้างหน้าที่นั่งแถวหน้ามีเส้นแดงบนพื้น ซึ่งโดยประเพณีแล้วสมาชิกมิอาจเดินข้ามได้ระหว่างการอภิปราย นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รวมถึงหัวหน้าฝ่ายค้านและหัวหน้าคณะรัฐมนตรีเงานั่งแถวหน้า และเรียกว่า สมาชิกสภาแถวหน้า (frontbencher) ส่วนสมาชิกรัฐสภาอื่น ๆ เรียกว่าสมาชิกสภาแถวหลัง (backbencher) สมาชิกรัฐสภาทุกคนไม่สามารถอยู่ในห้องประชุมได้พร้อมกันทั้งหมด เนื่องจากห้องประชุมรัฐสภามีที่นั่งพอสำหรับสมาชิก 2 ใน 3 เท่านั้น ถ้าอิงตาม โรเบิร์ต โรเจอร์สซึ่งเคยเป็นเลขาธิการสภาสามัญชนนั้น เขาประมาณว่าสภามีที่นั่งพอสำหรับสมาชิก 427 คนเท่านั้น[29] สมาชิกที่มาสายต้องยืนใกล้กับทางเข้าถ้าประสงค์ฟังการอภิปราย การประชุมมีทุกวันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดี โดยบางครั้งอาจมีการประชุมวันศุกร์ด้วยก็ได้ และถ้ามีสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติ สภาอาจประชุมช่วงวันหยุดก็ได้
การประชุมสภาเปิดให้สาธารณชนเข้าชมการประชุมได้ แต่สภาอาจลงมติให้ประชุมลับก็ได้ ซึ่งเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งถ้าเริ่มนับจากปี ค.ศ. 1950 โดยประเพณีดั้งเดิมนั้น สมาชิกที่ประสงค์ให้ประชุมลับสามารถตะโกนว่า "ข้าพเจ้าเห็นคนแปลกหน้า!" (I spy strangers!) เพื่อให้มีการลงมติให้ประชุมลับทันที[30] ในอดีตช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างสภาสามัญชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ค่อยดีนัก สภาใช้วิธีนี้เวลาที่ต้องการให้การอภิปรายเป็นความลับ แต่ในความเป็นจริงแล้วกลไกนี้มักใช้เพื่อทำให้การประชุมติดขัดหรือล่าช้าลงเท่านั้น จึงถูกยกเลิกในปี ค.ศ. 1998 ในปัจจุบันหากสมาชิกประสงค์ให้ประชุมลับ ต้องเสนอญัตติอย่างเป็นทางการเท่านั้น
การอภิปรายที่เป็นสาธารณะมีการบันทึกและเก็บไว้ในแฮนซาร์ด (Hansard) ซึ่งเป็นชื่อของรายงานการประชุมรัฐสภาอังกฤษ มีการติดตั้งไมโครโฟนในห้องประชุมสภาเมื่อมีการออกแบบใหม่ในปี ค.ศ. 1950 และมีการอนุญาตให้ถ่ายทอดการอภิปรายผ่านวิทยุในปี ค.ศ. 1975[31] ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989 ยังมีการถ่ายทอดสดบนโทรทัศน์อีกด้วย โดยมี บีบีซีรัฐสภาเป็นผู้รับผิดชอบ[32]
การประชุมสภาสามัญชนถูกก่อกวนโดยผู้ชุมนุมที่ปาสิ่งของลงไปในห้องประชุมจากที่นั่งดูการประชุมข้างบนเป็นบางครั้ง โดยตัวอย่างวัตถุที่ปามีใบปลิว มูลสัตว์ และระเบิดแก๊สน้ำตาเป็นต้น แม้สมาชิกรัฐสภาเองก็เคยก่อกวนการประชุม เช่นในปี ค.ศ. 1976 ที่สมาชิกรัฐสภาพรรคอนุรักษนิยม ไมเคิล เฮสเซลไทน์ เดินไปยกคทาประจำรัฐสภาและเดินไปยังที่นั่งสมาชิกฝั่งรัฐบาลระหว่างที่มีการอภิปรายอย่างดุเดือด แต่การก่อกวนการประชุมที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือเมื่อพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ก้าวเข้าห้องประชุมรัฐสภาพร้อมทหารเพื่อจับกุมสมาชิกรัฐสภา 5 คนที่ก่อกบฎ โดยการกระทำนี้ถือว่าเป็นการละเมิดเอกสิทธิ์ของสภา จึงทำให้เกิดธรรมเนียมขึ้นว่าพระมหากษัตริย์มิอาจเข้าห้องประชุมสภาสามัญชนได้
ทุกปีนั้น สมัยประชุมสภาเริ่มด้วยรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ซึ่งเป็นพิธีในห้องประชุมสภาขุนนางที่องค์อธิปัตย์แถลงนโยบายทางนิติบัญญัติของรัฐบาลโดยมีสมาชิกจากทั้งสองสภาเป็นพยาน ผู้เบิกคทาดำ (พนักงานเจ้าหน้าที่สภาขุนนาง) มีหน้าที่เบิกสมาชิกรัฐสภาให้ไปฟังคำแถลงที่ห้องประชุมสภาขุนนาง ซึ่งเมื่อคทาดำเดินถึงหน้าห้องประชุมสภาสามัญชน จะมีเจ้าหน้าที่คอยปิดประตูอย่างจัง เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าสภามีสิทธิ์ในการอภิปรายโดยปราศจากสิ่งก่อกวนทั้งปวง พอประตูปิดแล้ว เขาก็จะเคาะประตูด้วยคทาที่ถืออยู่สามครั้ง ประตูจึงเปิดให้เดินเข้าไปแจ้งสมาชิกรัฐสภาได้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงคอยอยู่ หลังจากนั้นสมาชิกก็จะเดินไปยังสภาขุนนางเพื่อฟังพระบรมราชโองการ (King's Speech)
ระหว่างการประชุม สมาชิกอาจพูดได้ต่อเมื่อประธานหรือรองประธานสภาขานชื่อเท่านั้น โดยประเพณีแล้วประธานสภาจะขานชื่อสมาชิกจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านสลับกัน นายกรัฐมนตรี หัวหน้าฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคอื่น ๆ จะได้รับความสำคัญกว่าสมาชิกอื่น อีกทั้งผู้ที่เป็นสมาชิกสภาองคมนตรียังเคยได้รับความสำคัญสูงกว่า แต่การทำให้สภาเหมาะกับกาลปัจจุบันในปี ค.ศ. 1998 ทำให้ยกเลิกธรรมเนียมนี้
การอภิปรายต้องพูดกับประธาน โดยเรียกประธานว่า "Mr Speaker", "Madam Speaker", "Mr Deputy Speaker" หรือ "Madam Deputy Speaker" การพูดถึงสมาชิกอื่นต้องกล่าวถึงในลักษณะบุคคลที่สาม เช่น "สมาชิกผู้ทรงเกียรติเขต[ชื่อเขตเลือกตั้ง]" หรือถ้าเป็นสมาชิกที่อยู่ในสภาองคมนตรีด้วยให้เรียกว่า "สมาชิกผู้ทรงเกียรติมากเขต[ชื่อเขตเลือกตั้ง]" สมาชิกที่อยู่พรรคการเมืองเดียวกันหรือเป็นพันธมิตรต่อกันจะเรียกว่า "เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติของข้าพเจ้า"[33] ผู้ที่รับใช้ราชการทหารในปัจจุบันหรืออดีตให้เรียกว่า "สมาชิกผู้ทรงเกียรติและกล้าหาญ" (สมาชิกที่เป็นทนายความเคยเรียกว่า "สมาชิกผู้ทรงเกียรติและทรงคุณวุฒิ"[34]) แต่เมื่อสมาชิกพูดจริง ๆ อาจไม่เป็นไปตามรูปแบบนี้ก็ได้ เพราะการจำชื่อเขตเลือกตั้งที่เฉพาะเจาะจงทำได้ยาก แต่แฮนซาร์ดจะบันทึกชื่อเขตเลือกตั้งเสมอ ประธานสภาเป็นผู้บังคับใช้กฎ และอาจตักเตือนหรือทำโทษสมาชิกที่ไม่ทำตาม การไม่ทำตามคำสั่งประธานสภาถือเป็นการทำผิดกฎของสภา และอาจทำให้สมาชิกนั้น ๆ ถูกพักไม่ให้ประชุมชั่วคราว ในกรณีที่มีความวุ่นวายอย่างรุนแรง ประธานสภาอาจสั่งพักการประชุมโดยไม่ต้องลงมติได้
คำสั่งประจำแห่งสภาสามัญชนไม่ได้ตั้งกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดเวลาอภิปราย แต่ประธานสภาสามารถสั่งสมาชิกที่อภิปรายวกวนหรือนอกประเด็นให้หยุดอภิปรายได้ เวลาที่กำหนดให้สำหรับการอภิปรายญัตติหนึงมักจำกัดโดยการตกลงเรื่องเวลาแบบไม่เป็นทางการระหว่างพรรค การอภิปรายอาจถูกจำกัดเวลาด้วยญัตติกำหนดเวลา ซึ่งรู้จักกันเป็นทั่วไปในนาม "ญัตติกิโยตีน" อีกทางเลือกหนึ่งคือสภาอาจหยุดการอภิปรายทันทีโดยผ่านญัตติปิดอภิปราย ประธานสภามีอำนาจยับยั้งมิให้ยื่นญัตติได้หากเห็นว่าการปิดอภิปรายจะเป็นการย่ำยีสิทธิ์เสียงข้างน้อย ในปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติเสนอผ่านญัตติกำหนดตารางเวลาซึ่งทั้งสภาเห็นชอบล่วงหน้า ทำให้ไม่ต้องใช้ญัตติกิโยตีน
เมื่อการอภิปรายสิ้นสุดลงแล้ว หรือเมื่อมีการผ่านญัตติปิดอภิปราย จะมีการขอมติต่อญัตติที่อภิปราย โดยสภาจะลงมติโดยวาจาก่อน ซึ่งประธานหรือรองประธานสภาก็จะขอมติ และสมาชิกสามารถตะโกนว่า "Aye!" (เห็นด้วยกับญัตติ) หรือ "No!" (ไม่เห็นด้วยกับญัตติ) หลังจากนั้นเจ้าพนักงานนำการประชุมจะประกาศผล แต่ถ้ามีสมาชิกไม่เห็นด้วยกับผล หรือถ้าผลไม่ชัดเจนนั้น ก็จะมีการลงมติแบบบันทึกคะแนนเรียกว่าการแบ่งแยกเพื่อลงมติ (division) แต่ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่นำการประชุมเชื่อว่าผลลงคะแนนด้วยวาจาชัดเจน สามารถยืนยันผลตามเดิมได้ เมื่อมีการแบ่งแยกเพื่อลงมติ สมาชิกจะเดินเข้าโถงสองโถง (โถงเห็นด้วยและโถงไม่เห็นด้วย) ที่อยู่ทั้งสองฝั่งของห้องประชุม ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยบันทึกชื่ออยู่ สมาชิกที่เห็นควรงดออกเสียงสามารถทำได้โดยการลงคะแนนเสียงทั้งโถงเห็นด้วยและโถงไม่เห็นด้วย ที่โถงทั้งสองมีกรรมการนับคะแนนเสียง 2 คนซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาเช่นกันคอยนับคะแนนเสียง
เมื่อการแบ่งแยกเพื่อลงมติสิ้นสุดลงแล้ว กรรมการนับคะแนนเสียงจะรายงานผลต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นำการประชุม ซึ่งรายงานผลนั้นต่อสภาอีกครั้ง ถ้าผลลงมติเสมอกัน ประธานหรือรองประธานสภาสามารถออกเสียงได้ โดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้วนั้น การลงคะแนนเสียงนี้ต้องทำให้เกิดการอภิปรายเพิ่มเติมถ้าเป็นไปได้ หรือออกเสียงไม่เห็นด้วยในกรณีร่างพระราชบัญญัติที่พิจารณาอยู่ในวาระที่สามเพื่อหลีกเลี่ยงการตัดสินใจโดยไร้เสียงข้างมาก มติเสมอกันเกิดขึ้นได้ยาก โดยมติเสมอกัน 2 ครั้งล่าสุดเกิดห่างกัน 25 ปีระหว่างกรกฎาคมปี ค.ศ. 1993 และเมษายน ค.ศ. 2019 การลงมติทุกครั้งให้องค์ประชุมสภาสามัญชนเท่ากับ 40 คน และให้นับประธานสภากับคณะกรรมการนับคะแนนเสียงรวมด้วย ถ้ามีสมาชิกลงมติน้อยกว่า 40 คน มิอาจใช้ผลมตินั้นได้
ในอดีตนั้น ถ้าสมาชิกต้องการที่จะประท้วงกับประธานเกี่ยวกับข้อบังคับของรัฐสภาระหว่างมีการแบ่งแยกเพื่อลงมตินั้น สมาชิกต้องสวมหมวกเพื่อส่งสัญญาณว่าไม่ได้จะร่วมอภิปราย โดยมีหมวกทรงสูงหุบได้เก็บไว้ในห้องประชุมเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ก่อนที่ธรรมเนียมนี้จะยกเลิกในปี 1998
ผลการลงมติส่วนใหญ่นั้นส่วนใหญ่ทราบผลล่วงหน้า เนื่องจากพรรคการเมืองที่มีคำสั่งให้สมาชิกพรรคลงมติอย่างไร โดยพรรคการเมืองนั้นให้สมาชิกบางคนทำหน้าที่ดูแลให้สมาชิกลงมติตามที่พรรคต้องการ สมาชิกเหล่านี้เรียกว่าวิป สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ไม่ลงมติสวนมติของพรรค เนื่องจากถ้าลงมติสวนอาจมีผลต่อตำแหน่งหน้าที่การงานในพรรค หรืออาจไม่ได้รับเลือกให้เป็นผู้รับสมัครเลือกตั้งของพรรคในการเลือกตั้งครั้งถัดไป รัฐมนตรี รัฐมนตรีผู้น้อยและเลขานุการส่วนตัวประจำรัฐสภาที่ลงมติสวนคำสั่งวิปส่วนใหญ่แล้วต้องลาออก ความเป็นอิสระของสมาชิกรัฐสภาจึงมีต่ำ แต่ก็มี "การกบฎโดยสมาชิกรัฐสภาผู้น้อย" (backbench rebellion) เมื่อสมาชิกรู้สึกไม่พอใจหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายพรรค ตามธรรมเนียมนั้นสมาชิกสามารถลงมติเป็นอื่นได้บ้างถ้าเป็นประเด็นที่ขัดกับผลประโยชน์เขตเลือกตั้งของสมาชิกนั้น ๆ โดยตรง ทั้งนี้พรรคการเมืองอาจประกาศให้มีการลงมติเป็นอิสระได้ ซึ่งเป็นการอนุญาตให้สมาชิกลงมติตามอัธยาศัย การลงมติเกี่ยวกับเรื่องมโนธรรม เช่นการทำแท้งหรือการระวางโทษประหารชีวิต มักให้ลงมติอิสระได้
การจับคู่สมาชิกเกิดขึ้นเมื่อพรรคสองพรรคตกลงที่จะให้สมาชิกไม่ลงมติด้วยกัน ทำให้สมาชิกทั้งสองไม่ต้องเดินทางมายังสภาเพื่อลงมติ[35][36] อีกทั้งยังมีการอนุญาตให้ลาประชุมโดยวิป เพื่อให้เดินทางไปดูแลพื้นที่ของตนหรือเพื่อเหตุอื่น เรียกว่า bisque (บิสก์)[37]
รัฐสภาสหราชอาณาจักรมีการตั้งกรรมาธิการเพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งการพิจารณานั้นทำอย่างละเอียด และอาจมีการแก้ไขด้วย ร่างพระราชบัญญัติที่มีความสำคัญทางรัฐธรรมนูญอย่างมากและมาตรการทางการเงินที่สำคัญบางอย่างจะถูกส่งไปยังกรรมาธิการของรัฐสภาทั้งหมด ซึ่งมีสมาชิกจากทั้งสองสภา และประธานสภาไม่ได้เป็นผู้นำการประชุม แต่เป็นประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาวิธีหารายได้ คณะกรรมาธิการนี้จะประชุมในห้องประชุมสภาสามัญชน
ร่างพระราชบัญญัติส่วนใหญ่ก่อนปี ค.ศ. 2006 พิจารณาโดยคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 16 ถึง 50 คน สัดส่วนสมาชิกในคณะกรรมาธิการมักสะท้อนสัดส่วนพรรคในสภา สมาชิกคณะในกรรมาธิการมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และมีสมาชิกเข้ามาใหม่เวลาคณะกรรมาธิการต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติใหม่ จำนวนคณะกรรมาธิการสามัญไม่ได้จำกัด แต่มักมีแค่ 10 คณะ นานครั้งจะมีร่างพระราชบัญญัติที่ถูกส่งไปยังคณะกรรมาธิการสามัญพิเศษซึ่งสอบสวนและเปิดการนั่งพิจารณาประเด็นที่อยู่ในร่าง ในเดือนพฤษจิกายน ค.ศ. 2006 คณะกรรมาธิการสามัญถูกเปลี่ยนเป็นคณะกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติสาธารณะ
นอกจากนี้สภาสามัญชนยังมีคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำกระทรวงต่าง ๆ ด้วย โดยสัดส่วนสมาชิกในคณะกรรมาธิการเหล่านี้ใช้วิธีแบ่งตามสัดส่วนพรรคเหมือนคณะกรรมาธิการสามัญ เมื่อเปิดสมัยประชุมแรกของรัฐสภานั้น ๆ หรือเมื่อตำแหน่งว่างลงจะมีการเลือกผู้ที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการโดยการลงคะแนนเสียงลับ โดยการแบ่งสัดส่วนตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการจะดูตามขนาดของพรรคการเมือง และมีการตกลงลงคะแนนเสียงให้เป็นไปตามที่ตกลงไว้ล่วงหน้าระหว่างพรรค หน้าที่หลักของคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำกระทรวงคือการตรวจสอบและสอบสวนการทำงานของกระทรวงนั้น ๆ ซึ่งกรรมาธิการอาจเปิดการนั่งพิจารณาและรวบรวมหลักฐานเพื่อให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ร่างพระราชบัญญัติอาจส่งให้คณะกรรมาธิการวิสามัญประจำกระทรวงได้ แต่กลไกนี้ไม่ได้ใช้บ่อยครั้งนัก
มีคณะกรรมาธิการวิสามัญอีกประเภทคือคณะกรรมาธิการภายในซึ่งดูแลการบริหารสภาและบริการต่าง ๆ ที่มีให้แก่สมาชิก คณะกรรมาธิการอื่น ๆ ของสภานั้นมีคณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภาซึ่งมีสมาชิกจากสภาขุนนางด้วย คณะกรรมาธิการมาตรฐานทางจริยธรรมและเอกสิทธิ์ซึ่งพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเอกสิทธิ์ของรัฐสภาหรือความประพฤตของสมาชิกรัฐสภา และคณะกรรมาธิการสรรหาซึ่งสรรหาสมาชิกสำหรับคณะกรรมาธิการอื่น ๆ
ตราเครื่องหมายที่ใช้โดยสภาสามัญชนนั้นประกอบด้วยประตูปราสาทที่มีมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดวางอยู่ข้างบน ในอดีตตรานี้จะแสดงเป็นสีทอง แต่ในปัจจุบันใช้หลากสี ส่วนใหญ่เป็นสีดำหรือสีเขียว
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.