Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สติกซ์ (อังกฤษ: Styx) เดิมชื่อ S/2012 (134340) 1[ก] หรือ P5 เป็นดาวบริวารขนาดเล็กของดาวพลูโต ประกาศการค้นพบเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 นับเป็นดวงจันทร์ดวงที่ 5 ของดาวพลูโตเท่าที่มีการค้นพบจนถึงปัจจุบัน ถัดจากการค้นพบดวงจันทร์ดวงที่สี่ของดาวพลูโต (ชื่อว่า เคอร์เบอรอส) ประมาณหนึ่งปี โดยดวงจันทร์ดวงนี้ถูกตรวจพบจากชุดภาพถ่ายจำนวน 9 ชุดจากกล้องถ่ายภาพสนามกว้าง 3 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ภาพทั้ง 9 ชุดดังกล่าว ถ่ายในเดือนมิถุนายน วันที่ 26 27 29 และเดือนกรกฎาคม วันที่ 7 และ 9 พ.ศ. 2555[3]
ภาพการค้นพบดวงจันทร์สติกซ์ (จุด Styx ในภาพ) จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ถ่ายเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2555 | |
การค้นพบ | |
---|---|
ค้นพบโดย: | Showalter, M. R. และคณะ |
ค้นพบเมื่อ: | 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555 (ยืนยัน 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555) |
หลักการค้นพบ: | ถ่ายภาพโดยตรง |
ลักษณะของวงโคจร | |
รัศมีวงโคจรเฉลี่ย: | ≈ 46,400 กิโลเมตร (29,000 ไมล์)[1] |
ความเยื้องศูนย์กลาง: | ≈ 0 |
คาบการโคจร: | 20.2 ± 0.1 วัน[2] |
ความเอียง: | ≈ 0 |
ดาวบริวารของ: | ดาวพลูโต |
ลักษณะทางกายภาพ | |
เส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย: | 10–24 กิโลเมตร (6–15 ไมล์)[3] |
โชติมาตรปรากฏ: | 27.0 ± 0.3[2] |
ดวงจันทร์ดวงนี้คาดว่ามีรูปทรงบิดเบี้ยว เส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 10–24 กิโลเมตร ซึ่งค่าประมาณนี้ได้จากการหาความส่องสว่างปรากฏ และค่าสัมประสิทธิ์การสะท้อนแสงของดาว (albedo) ที่มีค่าประมาณ 0.35 และ 0.04 จากขอบด้านบนและขอบด้านล่างของดาวตามลำดับ[2] ดวงจันทร์ดวงนี้เคลื่อนที่รอบดาวพลูโตโดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางวงโคจรประมาณ 58,000 ไมล์ อยู่ห่างจากดาวพลูโตประมาณ 26,000 ไมล์ (42,000 กิโลเมตร)[1] ซึ่งระยะทางนี้ทำให้สติกซ์มีวงโคจรอยู่ระหว่างคารอนและนิกซ์ และยังมีระนาบวงโคจรใกล้เคียงกับดวงจันทร์ดวงอื่น ๆ ของดาวพลูโต[2] มีการสันนิษฐานว่าดวงจันทร์ของดาวพลูโตอาจเกิดจากการชนกันของวัตถุในแถบไคเปอร์กับดาวพลูโตในอดีต[4]
โครงการสำรวจที่นำไปสู่การค้นพบดวงจันทร์ดวงนี้ เป็นหนึ่งในแผนเตรียมการไปถึงดาวพลูโตของยานอวกาศนิวฮอไรซันส์ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเดินทาง จากการค้นพบดวงจันทร์ที่มีขนาดเล็กดวงใหม่นี้ทำให้ทีมงานตระหนักถึงความเสี่ยงต่อการพุ่งชนยานอวกาศของเทห์ฟ้าต่าง ๆ โดยเฉพาะวัตถุที่มีขนาดเล็กยากต่อการตรวจจับ
ชื่อของดวงจันทร์ สติกซ์ (Styx) ตั้งตามชื่อเทพีแห่งแม่น้ำและชื่อของแม่น้ำในยมโลกตามเทพปกรณัมกรีก ชื่อนี้ได้รับการเห็นชอบโดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล และประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 พร้อมกับดวงจันทร์อีกดวง เคอร์เบอรอส (Kerberos) ซึ่งเดิมชื่อ S/2011 (134340) 1 หรือ P4[5][6]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.