Remove ads
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศรชัย เมฆวิเชียร (2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 - ) เป็นนักร้องลูกทุ่งชายเสียงดี และมีหน้าตาที่ดีเข้ามาเสริมความโด่งดัง รวมทั้งมีผลงานเพลงเป็นที่นิยมและรู้จักของแฟนเพลงมากมาย เขาเป็นศิษย์เอกอีกคนของครูฉลอง ภู่สว่าง และโด่งดังอย่างมากจากเพลง “ อ้อนจันทร์ และ “พายงัด “
ศรชัย เมฆวิเชียร | |
---|---|
ไฟล์:ศรชัย เมฆวิเชียร.jpg | |
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 ยง ปราบไชยโจร |
อาชีพ | นักร้อง นักแสดง |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2518-ปัจจุบัน |
สังกัด | เสียงสยามแผ่นเสียงเทปกรุงไทยออดิโอ |
ศรชัย เมฆวิเชียร ผู้มีใบหน้าละม้ายคล้ายคลึง ยอดชาย เมฆสุวรรณ ยอดพระเอกดังแห่งยุคอีกคน มีชื่อจริงว่า ยง ปราบไชยโจร เป็นชาว อ.จักราช จ.นครราชสีมา เข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่งไทยเหมือนกับนักร้องอีกหลายคนในยุคนั้น คือการตระเวนประกวดตามเวทีประกวดต่างๆจนเป็นที่รู้จักของวงการประกวดทั่วภาคอีสาน รวมทั้งเคยได้ร้องเพลงของศรคีรี ศรีประจวบ ที่โทรทัศน์ช่อง 5 ขอนแก่น จนไม่มีเวทีในภูมิภาคให้ขึ้นประกวดมากนัก
ต่อเมื่อมีคนชวนไปขึ้นร้องเพลงในงานวันเกษียณอายุพ่อของ อ.พรศักดิ์ จันทร์สีสุข ซึ่งรู้จักกับ สุเทพ วงศ์กำแหง นักร้องลูกกรุงชื่อดัง จึงออกปากฝากฝังให้สุเทพ วงศ์กำแหง ดูช่องทางการเป็นนักร้องให้ แต่สุเทพ วงศ์กำแหง ซึ่งอยู่ในวงการลูกกรุง ไม่กว้างขวางในวงการลูกทุ่ง จึงไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก ศรชัย เมฆวิเชียรจึงต้องเดินหน้าการประกวดร้องเพลงต่อไป
ต่อมา ศรชัย เมฆวิเชียรมีโอกาสมาประกวดร้องเพลงที่เสียงสามยอด หลังวัดลาดพร้าว งานนี้เขาได้ที่ 2 เพราะร้องคร่อมจังหวะ อันเป็นจุดอ่อนสำคัญในการร้องเพลงของเขา จากนั้นศรชัยก็มาศึกษาเรื่องดนตรีกับครูฉลอง การะเกด และแดน สนธยา ที่ทำวง“ พัทยานายก “ พร้อมกับทำงานในอู่ซ่อมรถ
การทำงานที่อู่ซ่อมรถ ทำให้ศรชัย เมฆวิเชียร ได้เจอกับครูฉลอง ภู่สว่าง ครูเพลงชื่อดังแห่งยุคโดยบังเอิญ เนื่องจากรถของครูเกิดมาเสียแถวนั้นระหว่างที่จะไปแสดงดนตรีที่ต่างจังหวัด เพื่อนรุ่นพี่ที่แผนกช่างเครื่องยนต์ของอู่เห็นว่าข้างรถเขียนว่า “วงดนตรีฉลอง ภู่สว่าง ก็เลยมาตามและพาไปฝาก แต่ครูก็ไม่รับโดยบอกกับศรชัย เมฆวิเชียรว่า “มีงานทำอย่างนี้ดีแล้ว ไม่เสี่ยง” อีก 3 วันต่อมา ครูฉลอง ภู่สว่าง มารับรถที่อู่ เพื่อนของศรชัย เมฆวิเชียร ก็พาไปฝากอีกครั้ง คราวนี้ ครูฉลอง ภู่สว่าง ลองให้ร้องเพลง “คิดถึงพี่ไหม “ ของศรคีรี ศรีประจวบให้ฟัง หลังร้องจบครูก็ตกลงใจที่จะไม่รับ แต่ภรรยาของครู ที่ตามมาด้วยเกิดติดใจน้ำเสียง และเลยให้ครูรับเขาไว้
เมื่อมาอยู่กับครูฉลอง ภู่สว่าง ที่ช่วยแก้ไขปัญหาการร้องคร่อมจังหวะให้เขาได้แล้ว ครูก็แต่งเพลงให้เขา ครูฉลอง ภู่สว่างนั้นถนัดในแนวเพลงต่อว่าผู้หญิง แต่เห็นว่า ศรชัย เมฆวิเชียรมีหน้าตาหล่อเหลา ไม่เหมาะกับเพลงต่อว่าผู้หญิง ก็เลยแต่งเพลงแนวหวานให้ ก็เลยมอบเพลง “จูบไม่หวาน” ที่แต่เดิมกะจะแต่งให้ ชินกร ไกรลาศ ส่วนเพลงสร้างชื่อของเขานั้น ได้แก่เพลง “ลำดวนลืมดง” และเพลง ” ทหารเกณฑ์ผลัด 2 “ ก่อนจะมาดังอย่างสุดๆกับ “อ้อนจันทร์” และ”พายงัด “
สำหรับชื่อ ศรชัย เมฆวิเชียร นั้น หลวงพ่อสุด วัดกาหลง และหลวงพ่อวัดช่องลมเป็นคนตั้งให้ โดยเลียนแบบมาจากชื่อ ยอดชาย เมฆสุวรรณ [1]
ศรชัย เมฆวิเชียร พักอยู่หลังวัดลาดพร้าว และยังคงรับงานร้องเพลงอยู่เหมือนเดิม โดยมีโรคไตเป็นโรคประจำตัว กระทั่งวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ศรชัย เมฆวิเชียร ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินมรดกอีสานจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น[2]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.