Remove ads
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเจดีย์ยอดทอง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ในตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก
วัดเจดีย์ยอดทอง | |
---|---|
เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมแห่งเดียวในพิษณุโลก | |
ที่ตั้ง | ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดเจดีย์ยอดทองสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19–20 โดยมีหลักฐานสำคัญ คือ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม เป็นเจดีย์สุโขทัยองค์เดียวที่พบในพิษณุโลก สันนิษฐานว่า สร้างในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท) คราวเสด็จมาครองเมืองพิษณุโลกและได้มีการบูรณะกันต่อมาตลอดสมัยสุโขทัยสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์[1] ต่อมาเป็นวัดร้าง และได้รับตั้งเป็นวัดที่มีพระสงฆ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520[2] วัดเจดีย์ยอดทองได้รับการบูรณะประมาณปี พ.ศ. 2533–2534 โดยดำเนินการบูรณะเฉพาะเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ส่วนฐานวิหารด้านทิศตะวันออกอยู่ด้านใต้อาคารไม้ของวัด กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานครั้งแรก ใน พ.ศ. 2479 ในชื่อว่า วัดยอดทอง ต่อมาได้ประกาศขอบเขตที่ดินโบราณสถานวัดยอดทองในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 124 ง ประกาศ ณ วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2544 รวมเนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน 90 ตารางวา ที่ชื่อว่าวัดเจดีย์ยอดทองนั้น ที่ยอดของเจดีย์อาจจะเป็นทองหรือหุ้มทองมาก่อนก็ได้
เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์มีฐานกว้างประมาณ 9 เมตร สูง 21 เมตร เฉพาะที่ยอดทรงดอกบัวตูมนั้น ได้เห็นรอยกระเทาะของปูนทำให้แลเห็นการเสริมยอดโดยการพอกปูนเพิ่มที่ยอดแหลมของดอกบัว มีแนวกำแพงล้อมรอบขนาดกว้าง 14.50 เมตร ยาว 14.50 เมตร ฐานกำแพงกว้าง 50 ซม. ก่ออิฐถือปูน มีทางเข้าทางทิศเหนือและทิศใต้ ขนาดกว้าง 1 เมตร ปรากฏซุ้มจระนำทั้งสี่ทิศ ซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืน ส่วนพระเศียร พระวรกายและพระกรหักหายไป ด้านหน้าเจดีย์เป็นวิหาร พบฐานอาคารก่อด้วยอิฐ ขนาดยาว 25 เมตร กว้าง 10 เมตร ฐานสูงประมาณ 30 ซม. แนวฐานส่วนใหญ่อยู่ใต้อาคารมุงสังกะสีของวัด และมีคูน้ำล้อมรอบ กว้างประมาณ 90 เมตร ยาว 100 เมตร บริเวณด้านทิศเหนือค่อนข้างตื้นเขิน เพราะไม่ได้ดำเนินการขุดลอกชั้น ทิศใต้ถูกปรับเพื่อเป็นบ่อเลี้ยงปลาของวัด ส่วนทิศตะวันออกและทิศตะวันตกถูกถมไประหว่างการปรับปรุงสภาพวัด[3]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.