พระราชวังพญาไท
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชวังพญาไท หรือ วังพญาไท ตั้งอยู่ที่ริมคลองสามเสน ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น พระราชทานนามให้ว่า "พระตำหนักพญาไท" หรือ "วังพญาไท" ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นพระราชวังพญาไทในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชวังพญาไท | |
---|---|
พระที่นั่งพิมานจักรีในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 | |
ชื่อเดิม | พระตำหนักพญาไท วังพญาไท |
ที่มา | ทุ่งพญาไท |
ข้อมูลทั่วไป | |
สถานะ | เปลี่ยนสภาพ |
ประเภท | พระราชวัง |
สถาปัตยกรรม | ผสมผสาน |
ที่ตั้ง | แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี |
เมือง | กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ไทย |
เริ่มสร้าง | พ.ศ. 2452 |
ปรับปรุง | พ.ศ. 2468 |
เจ้าของ | กองทัพบกไทย |
เว็บไซต์ | |
phyathaipalace | |
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า |
ประวัติ
วังพญาไท เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่เสด็จทอดพระเนตรการทำนา การปลูกผักและการเลี้ยงสัตว์ วังนี้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักเป็นที่ประทับ รวมถึงส่วนพื้นที่ด้านตรงข้ามกับพระตำหนัก โปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ทำนา รวมทั้ง โรงนา ขึ้นเพื่อประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญหลายครั้ง ณ วังพญาไท
วังพญาไทใช้เป็นที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในระยะเวลาอันสั้น เพราะเมื่อหลังจากมีการขึ้นเรือนใหม่ได้เพียงไม่กี่เดือนก็สวรรคต และในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทูลเชิญสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชมารดา มาประทับที่พระราชวังแห่งนี้ด้วย จนกระทั่งสวรรคตเมื่อปี 2463 หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงรื้อพระตำหนักพญาไท เหลือไว้เพียง พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ซึ่งเป็นท้องพระโรง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งใหม่หลายพระองค์ด้วยกัน รวมทั้งได้รับการสถาปนาวังเป็น พระราชวังพญาไท[1] รัชกาลที่ 6 เสด็จฯ มาประทับที่พระราชวังนี้โดยตลอดจนปีสุดท้ายแห่งรัชกาลทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการตัดต้นไม้ใหญ่เพื่อสร้างพลับพลา ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นคล้ายซากศพ โดยทรงได้กลิ่นพระองค์เดียว ประกอบกับมีพระราชประสงค์ให้พระหน่อประสูติในพระมหามณเฑียร จึงเสด็จฯ จากพระราชวังพญาไทไปประทับในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน และ โปรดให้พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ตามเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง จนกระทั่งสวรรคต
พระราชวังพญาไท ยังเคยเป็นที่ประทับของ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในช่วงมีพระครรภ์พระหน่อ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา และเป็นที่พำนักของ พระสุจริตสุดา พระสนมเอก อีกด้วย
สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของพระราชวังพญาไทในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้แก่ ดุสิตธานี หรือเมืองประชาธิปไตยแบบอังกฤษ ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นเมืองจำลองขึ้น เพื่อทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งปัจจุบันไม่มีเหลือให้เห็นแล้ว
ต่อมา สมัยรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงปรับปรุงวังพญาไทเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งสำหรับให้ชาวต่างประเทศพัก เปิดเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2468 ตามพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ 6 ที่จะพระราชทานพระราชวังแห่งนี้ให้เป็นโฮเต็ลชั้นหนึ่งของประเทศ ตั้งแต่มีพระราชดำริจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ เพื่อพัฒนาการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ระหว่างนั้น ได้มีการใช้ พระราชวังพญาไทได้เป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของไทย ออกอากาศเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2473 กรมรถไฟดำเนินการโรงแรมวังพญาไทได้ 6-7 ปีก็เลิกกิจการเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2475 เนื่องจากคณะราษฎรต้องการนำวังพญาไทสร้างโรงพยาบาลทหาร จึงพระราชทานวังนี้ให้เป็นสถานพยาบาล ของกองทัพบก และได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มาจนปัจจุบัน
นอกจากนี้ พระราชวังพญาไทยังเคยเป็นสถานที่จัดงานสำคัญหลายวาระ เช่น งานฉลองพระชนมายุ 6 รอบ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2540, การจัดแสดงดนตรีของวง อ.ส.วันศุกร์ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นการแสดงต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550[2], การแข่งขันรายการเกมโชว์ทางโทรทัศน์อัจฉริยะข้ามคืน ล้านที่ 35 รวมทั้งการจัดการแสดงดนตรีต่าง ๆ เช่น ดนตรีคลาสสิก และดนตรีไทย เป็นต้น
ปัจจุบันพระราชวังพญาไทอยู่ในสภาพทรุดโทรมและกำลังอยู่ในระหว่างระดมทุนเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ และจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวร ภายใต้การดำเนินงานของ ชมรมคนรักวัง และ มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
สิ่งก่อสร้างในเขตวังพญาไท
ในปัจจุบัน คงเหลือพระที่นั่งที่สร้างในรัชกาลที่ 5 เพียงองค์เดียว คือ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ และพระที่นั่งที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 คือ พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน พระที่นั่งพิมานจักรี พระที่นั่งศรีสุทธาวาส พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ พระตำหนักเมขลารูจี สวนโรมัน และ ศาลท้าวหิรัญพนาสูร โดยชื่อของพระที่นั่งจะตั้งให้มีความคล้องจองกัน ได้แก่ ไวกูณฐเทพยสถาน พิมานจักรี ศรีสุทธนิวาส เทวราชสภารมย์ อุดมวนาภรณ์ ลักษณะของสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของพระราชวังพญาไทคือหอคอยสูงและหลังคายอดแหลมของพระที่นั่งพิมานจักรี ส่วนภายในมีภาพเขียนแบบปูนเปียกเป็นลวดลายงดงามแบบตะวันตก[3]
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นในภายหลัง เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์หล่อสำริดทรงยืนตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารเทียบรถพระที่นั่งเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่หล่อขึ้นขนาดเท่าองค์จริงทรงเครื่องยศจอมพลทหารบกประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี
อาคารเทียบรถพระที่นั่ง
อาคารเทียบรถพระที่นั่ง ตั้งอยู่ด้านหลังพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นอาคารแบบนีโอคลาสสิคอยู่ด้านหน้าพระที่นั่งพิมานจักรีโดยดาดฟ้าของอาคารเชื่อมกับพระที่นั่งพิมานจักรี ใช้เป็นลานเทียบรถพระที่นั่งและห้องพักของผู้ที่รอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวปัจจุบันทางพระราชวังได้เปิดให้เอกชนเช่าเป็นร้านกาแฟ นรสิงห์ ณ พญาไท
พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน
พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน เป็นพระที่นั่งที่ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของพระที่นั่งพิมานจักรีซึ่งพระที่นั่งทั้งสององค์นี้เชื่อมต่อกันคล้าย ๆ กับเป็นองค์เดียวกันซึ่งเชื่อมต่อด้วยระเบียงลักษณะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น ต่อมาได้ต่อเติมเป็น 3 ชั้นสำหรับเป็นห้องพระบรรทมชั้นล่างด้านหน้าเป็นห้องหกเหลี่ยมซึ่งใช้เป็นห้องรับแขก ด้านหลังเป็นห้องประชุมที่ประกอบไปด้วยห้องนอนมหาดเล็ก โถงบันไดกลางและห้องพักคอย ชั้น 2 และชั้น 3 เป็นห้องส่วนพระองค์
พระที่นั่งพิมานจักรี
พระที่นั่งพิมานจักรี เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระที่นั่งภายในพระราชวังพญาไท สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระที่นั่งก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น โดยมีสถาปัตยกรรมทรงโรมันเนสก์ผสมกับทรงกอธิค[4] โดยจุดเด่นของพระที่นั่งองค์นี้อยู่ที่ยอดโดมสีแดงซึ่งในอดีตใช้สำหรับชักธงมหาราชขึ้นเหนือพระที่นั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับ[5][6] รวมทั้ง บริเวณฝาผนังใกล้กับเพดานและเพดานของพระที่นั่งมีภาพเขียนลายดอกไม้แบบปูนเปียกซึ่งมีความงดงามมากและบานประตูเป็นไม้จำหลักปิดทอง มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อเหนือบานประตูว่า "ร.ร.๖"[7] ซึ่งหมายถึง สมเด็จพระรามราชาธิบดี รัชกาลที่ ๖ พระที่นั่งพิมานจักรีใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระมเหสี ภายในชั้น 1 ประกอบด้วย ห้องเสวย และห้องธารกำนัลซึ่งเป็นห้องสำหรับให้ข้าราชบริพารเข้าเฝ้า ต่อมาเมื่อเปลี่ยนเป็นโฮเต็ลวังพญาไทห้องนี้จึงกลางเป็นห้องอาหาร ชั้นสองเป็นที่ตั้งของท้องพระโรงกลางซึ่งเป็นห้องเสด็จให้เข้าเฝ้าส่วนพระองค์ภายในตกแต่งแบบยุโรป ภายในมีเตาผิงซึ่งด้านบนประดิษฐานพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎซึ่งล้อมรอบด้วยรัศมี ภายในห้องพระบรรทมตกแต่งลายเพดานด้วยจิตรกรรมสีปูนแห้ง เป็นภาพคัมภีร์ในศาสนาพุทธซึ่งจารึกบนใบลาน ภาพรอยพระพุทธบาทและภาพพระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์ นอกจากนี้ยังมีภาพพญามังกรหมายถึงสัญลักษณ์แห่งความเป็นพระราชาและปีพระราชสมภพภายในห้องพระบรรทมมีห้องสรงด้วย ภายในห้องทรงพระอักษรมีตู้หนังสือซึ่งเป็นตู้แบบติดผนังเป็นตู้สีขาวลายทองมีอักษรย่อพระปรมาภิไธยอยู่ ภายในห้องพระบรรทมของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรชายา บนเพดานเขียนลายดอกไม้ส่วนบนผนังเป็นลายนกยูงซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ปัจจุบันเป็นที่จัดแสดง เรือนมหิธร ซึ่งเป็นหนึ่งในอาคารของดุสิตธานี จากห้องที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี มีทางเชื่อมต่อไปยังพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส
พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส
พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งพิมานจักรี เป็นพระที่นั่งก่ออิฐถือปูน 2 ชั้นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กโดยมียอดโดมขนาดเล็กอยู่ด้านบน แต่เดิมใช้เป็นท้องพระโรงประจำพระราชวังแต่ต่อมาใช้เป็นสถานที่รับรองเจ้านายฝ่ายในเนื่องจากมีห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางเรียงกันเป็นกลุ่มโดยเชื่อมต่อกันที่บริเวณโถงกลาง รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบคฤหาสน์ของยุโรปตามแบบโรแมนติกนิยม แต่เดิมพระที่นั่งองค์นี้ชื่อว่าพระที่นั่งลักษมีพิลาส ตั้งตามพระนามของพระนางเธอลักษมีลาวัณ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นพระที่นั่งศรีสุทธนิวาสในปัจจุบัน โดยชั้นล่างประกอบด้วยห้องชุดขนาดใหญ่ ทางตะวันออกเป็นห้องเสวยและห้องรับแขก ถัดไปเป็นโถงบันไดทิศตะวันตกเป็นห้องนอนข้าหลวง ห้องแต่งตัว หัองน้ำและห้องมโหรี ชั้นบนเป็นห้องบรรทม 3 ชุด ด้านตะวันออกและตะวันตกเป็นของเจ้านาย ด้านใต้เป็นของข้าหลวง
พระที่นั่งเทวราชสภารมย์
พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จมาประทับ ณ พระราชวังพญาไท ออกแบบโดยวิศวกรชาวอิตาลี พระที่นั่งองค์นี้มีสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างคลาสสิคและอาร์ตนูโวที่สร้างด้วยโครงสร้างคอนกรีตหน้าตัดหน้าบันทางทิศใต้มีพระปรมาภิไธยย่อ ส.ผ. (เสาวภาผ่องศรี) ทำให้พระที่นั่งองค์นี้มีชื่อเรียกว่าท้องพระโรง ส.ผ. โครงสร้างเป็นไม้ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 12.24 เมตรแบ่งออกเป็น 3 ส่วน โดยช่วงเสาตรงกลางกว้าง 6 เมตร ด้านข้างกว้างข้างละ 3 เมตร ผนังอังคารเป็นประตูที่สามารถเปิดออกได้ทั้งหมด ทำให้มีลักษณะคล้ายกับอาคารโถง ผนังส่วนบนเป็นช่องแสงขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของประตูส่วนล่าง ด้านบนมีระเบียงทางเดินที่ล้อไปตามลักษณะของหลังคาที่มีผังเป็นรูปกากบาทแบบแขนไม่เท่ากัน โดยแกนทางเหนือ ใต้ ยาวกว่า ตะวันออก ตะวันตก ส่วนบนของหลังคาเป็นทรงโดมสถาปัตยกรรมแบบโรมัน ชายคาประดับลวดลายฉลุ พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ ๆ ต่าง ๆ และใช้เป็นสถานที่รับแขกส่วนพระองค์ รวมทั้งใข้เป็นสถานที่แสดงละคร
พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์
พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระที่นั่งไวกูญฐเทพยสถาน เป็นพระที่นั่งก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น เน้นการออกแบบที่เรียบง่าย โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กและมีเหล็กโครงสร้างดัดเป็นแบบอาร์ต นูโว (Art Nouvea) ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาวเน้นประตูทางเข้าและบันไดขนาดใหญ่ตรงกลาง สันนิษฐานว่าการสร้างพระที่นั่งองค์นี้ไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับหมู่พระที่นั่งพิมานจักรี แต่เมื่อใช้เป็นที่ประทับของพระสุจริตสุดาและพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระสนมเอกและพระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 ตามลำดับจึงมีการสร้างทางเชื่อมกับพระที่นั่งไวกูญฐเทพยสถานในชั้นที่ 2 ทำให้สามารถเดินถึงกันกับหมู่พระที่นั่งพิมานจักรีได้ ปัจจุบันไม่เปิดให้เข้าชมเนื่องจากทางโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าใช้พระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ตั้งของศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฏเกล้า
พระตำหนักเมขลารูจี
พระตำหนักเมขลารูจี อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งพิมานจักรี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นหนึ่งองค์ที่ริมคลองพญาไทตอนกลางพระราชทานนามว่า พระตำหนักอุดมวนาภรณ์ เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบกระท่อมของยุโรป สร้างด้วยไม้ทั้งหมดตั้งแต่โครงสร้างพื้นและผนัง ผังอาคารมีลักษณะคล้ายกับเรือนไทยโดยมีโถงใหญ่อยู่ตรงกลางและมีเรือนพักอาศัยชั้นเดียวขนาบข้างซ้ายและขวา โดยทิศเหนือเป็นห้องเครื่องและห้องเสวย ทิศใต้เป็นเรือนวางในแนวทแยง ประกอบด้วยห้องทรงเครื่องใหญ่ (ตัดผม) และห้องสรง ติดคลองทิศตะวันตกของห้องโถงเป็นเรือน 2 ชั้น หลังคาจุกตรงกลาง เป็นห้องพระบรรทมมีเฉลียงด้านหน้าลักษณะเด่นของพระตำหนักนี้คือหลังคาที่มีหลายรูปแบบทั้งทรงจั่ว ทรงปั้นหยา ทรงจุกปิรามิด และทรงเพิง หน้าต่างเป็นวงโค้งครึ่งวงกลมขนาดใหญ่ของห้องสรงที่ติดกับคลองพญาไทและกระจกลายเขียนสีรูปนก นกยูง ลายพรรณพฤกษาและเรขาคณิตแบบอาร์ต นูโวและได้เสด็จมาประทับอยู่ชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2463 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นที่ประทับแห่งแรกในพระราชวังแห่งนี้โดยได้ใช้เป็นที่ทรงงานวางโครงการสร้างพระราชมณเฑียรสถานสำหรับประทับถาวรอีกด้วยต่อมา เมื่อการก่อสร้างพระราชมณเฑียรสถานอื่น ๆ ในพระราชวังแห่งนี้แล้วเสร็จและมีพระราชประสงค์ให้พระที่นั่งด้านตะวันออกซึ่งเชื่อมต่อกับพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถานใช้นามว่าพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามพระตำหนักแห่งนี้ใหม่เป็น พระตำหนักเมขลารูจี
ศาลท้าวหิรัญพนาสูร
ศาลท้าวหิรัญพนาสูร เชื่อกันว่าท้าวหิรัญพนาสูร เป็นชายรูปร่างล่ำสันใหญ่โต คอยติดตามป้องกันภยันตรายทั้งปวงให้กับพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ. 2465 เมื่อการสร้างพระราชวังพญาไทสำหรับประทับเป็นการถาวรเสร็จเรียบร้อยแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ช่างหล่อรูปท้าวหิรัญพนาสูรขนาดใหญ่ด้วยทองสัมฤทธิ์มีชฎา เทริดอย่างไทยโบราณ และไม้เท้าเป็นเครื่องประดับยศ มีพระราชพิธีบวงสรวงขอเชิญท้าวหิรัญพนาสูรเข้าสิงสถิต ณ รูปสัมฤทธิ์เพื่อเป็นศาลเทพารักษ์ประจำพระราชวังพญาไท
วิหารพระมหานาคชินะวรวรานุสรณ์มงกุฎราช
วิหารพระมหานาคชินะวรวรานุสรณ์มงกุฎราช เป็นที่ประดิษฐานพระมหานาคชินะวรวรานุสรณ์มงกุฎราชพระพุทธรูปประจำพระราชวังพญาไท สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลอุทิศแด่พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระพุทธรูปองค์นี้จำลองแบบมาจากพระมหานาคชินะ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงสร้างไว้เมื่อครั้งทรงผนวช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก จัดเป็นพระประจำวันเสาร์ ลักษณะเด่นชัด คือ นั่งขัดสมาธิราบ (โยคะสนะ) พระชงฆ์ขวาทับซ้าย เป็นท่านั่งที่สำรวมอิริยาบถ หงายพระหัตถ์วางซ้อนกันบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางทับบนพระหัตถ์ซ้าย มีพญานาคแผ่พังพาน 7 เศียร ตามพุทธประวัติว่าด้วยเหตุการณ์หลังตรัสรู้ใหม่ ๆ พระภูมีพระภาคเจ้าประทับเสวยวิมุติสุข ณ โคนต้นจิก 7 วัน ได้เกิดเมฆใหญู่ผิดฤดูกาล มีฝนตกพรำ เจือด้วยลมหนาวตลอด 7 วัน พญานาคชื่อมุจลินท์ มาวงด้วยขนดรอบพระผู้มีพระภาค 7 รอบ เพื่อป้องกันความหนาวร้อน เหลือบ ยุง
สวนโรมัน
สวนโรมัน สันนิษฐานว่าเป็น 1 ใน 3 พระราชอุทยานของพระราชวังพญาไท จัดแต่งสวนแบบเรขาคณิตประกอบด้วยศาลาในสวนซึ่งเป็นศาลาแบบโรมันศาลาทรงกลมต่าง ๆ มีหลังคาโดมรับด้วยเสาแบบคอรินเทียนขนาบด้วยศาลาแบบโปร่งโล่งไม่มีหลังคาซึ่งกำหนดขอบเขตด้วยเสาแบบเดียวกันกับโดม รองรับคานที่พาดด้านบน ประดับด้วยตุ๊กตาหินอ่อนแบบโรมันบริเวณบันไดทางขึ้นซึ่งต่อเนื่องกับด้านหน้าที่มีสระน้ำขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในแนวเดียวกับโดม
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.