Remove ads
ภาพยนตร์ไทย พ.ศ. 2553 กำกับโดย อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลุงบุญมีระลึกชาติ (อังกฤษ: Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives, ฝรั่งเศส: Oncle Boonmee, celui qui se souvient de ses vies antérieures) เป็นภาพยนตร์ไทยนอกกระแส ออกฉายครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ร่วมอำนวยการสร้าง เขียนบทและกำกับโดยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งเป็นผลงานเรื่องที่ 6 ของเขา ภาพยนตร์ได้รับรางวัลปาล์มทองคำ จากงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 63 นับเป็นภาพยนตร์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลนี้ [1]
ลุงบุญมีระลึกชาติ | |
---|---|
กำกับ | อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล |
เขียนบท | อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล |
อำนวยการสร้าง | ไซมอน ฟิลด์ คีธ กริฟฟิธส์ ชาร์ลส เด ม็อกซ์ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ฮานส์ ว. เกซเซนเดอร์เฟอร์ ลูอิส มินาร์โร ไมเคิล เวเบอร์ |
นักแสดงนำ | ธนภัทร สายเสมา เจนจิรา จันทร์สุดา ศักดิ์ดา แก้วบัวดี |
กำกับภาพ | สยมภู มุกดีพร้อม |
ตัดต่อ | ลี ชาตะเมธีกุล |
ดนตรีประกอบ | โคะอิฌิ ชิมิซุ |
บริษัทผู้สร้าง | คิก เดอะ แมชชีน อิลลูมิเนชัน ฟิล์ม |
ผู้จัดจำหน่าย | เดอะ แมทช์ แฟคทอรี |
วันฉาย | 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 (เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 63) |
ความยาว | 114 นาที |
ประเทศ | ไทย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน |
ภาษา | ไทย / อีสาน / ลาว |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
ภาพยนตร์ได้ผู้ร่วมทุนเพิ่มจากสเปน (Seta) อังกฤษ (Illuminations Films) ฝรั่งเศส (Anna Sanders) และเยอรมนี (Fernsehproduction และ Match Factory) กับทุนสร้าง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 35 ล้านบาท โดยบริษัทแมทช์แฟคตอรี่ จากกสเปนเป็นผู้จัดจำหน่ายระหว่างประเทศ และบริษัท ZDF และ Arte ถือลิขสิทธิ์ในเยอรมนี[2]
ภาพยนตร์มีเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องเชิงเหนือจริง การนั่งสมาธิ สะกดจิต และระลึกชาติ โดยกล่าวถึงลุงบุญมีที่กำลังล้มป่วยด้วยอาการไตวาย บุญมีรู้ว่าตนเองจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่ถึง 48 ชั่วโมง และเชื่อว่าความเจ็บป่วยที่เป็นอยู่อาจเกี่ยวกับกรรมที่เขาเคยฆ่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ตายไปหลายราย เขาถูกภรรยาที่ตายไปมาหลอกหลอนในสภาพผู้บริบาลรักษา ลูกชายที่หายสาบสูญไปนานก็กลับมาจากป่าในสภาพที่คล้ายลิง เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ลุงบุญมีสามารถระลึกชาติได้ และติดตามไปยังสถานที่ที่เกี่ยวของกับอดีตชาติของเขา ก่อนจะเสียชีวิตไปพร้อม ๆ กับการสนทนาถึงเรื่องราวของชีวิตตนเอง ที่กินเวลานานหลายร้อยปี
อภิชาติพงศ์ได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานนี้จากแหล่งใหญ่สองแหล่ง คือ การเดินทางไปยังตำบลนาบัว อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม แล้วได้พบกับชาวบ้านที่ผ่านช่วงเวลาที่รัฐบาลทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในช่วง พ.ศ. 2508 - พ.ศ. 2525 และหนังสือ คน ระลึกชาติ เขียนโดยพระศรีปริยัติเวที แห่งวัดป่าแสงอรุณ จังหวัดขอนแก่น[3] มีเนื้อหาเกี่ยวกับประสบการณ์การระลึกชาติของนายบุญมี ผู้เคยเกิดเป็นนายพราน เป็นเปรต เป็นควายเป็นวัว ก่อนจะมาเกิดเป็นคนในภพชาตินี้ ซึ่งขณะที่เขาได้อ่านหนังสือเรื่องนี้บุญมีได้เสียชีวิตไปแล้ว โดยหนังสือเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนบทให้เขาเรื่องเนื้อหาและโครงสร้าง ส่วนเนื้อเรื่องในภาพยนตร์เขากล่าวว่าเป็นเรื่องที่เขาคิดขึ้นเอง[4][5] โดยเนื้อเรื่องและการออกแบบงานสร้างเขาได้รับแรงบันดาลใจจากรายการโทรทัศน์สมัยก่อนและการ์ตูนไทย ที่มักมีเนื้อเรื่องง่าย ๆ และเต็มไปด้วยองค์ประกอบเรื่องที่เหนือธรรมชาติ[5]
ทุนสร้างภาพยนตร์มาจากบริษัทของอภิชาติพงศ์ ชื่อ คิกเดอะแมชชีน, บริษัทอิลลูมิเนชันส์ของอังกฤษ, บริษัทแอนนาแซนเดอร์สของฝรั่งเศส, บริษัทแมตช์แฟกทอรีและ Geissendörfer Film- und Fernsehproduktion ของเยอรมนี และบริษัทเอ็ดดีเซตาของสเปน[6] ยังได้รับทุนสนับสนุน 3.5 ล้านบาทจากกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไทย[7]
ภาพยนตร์ถ่ายทำในระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 ถึง กุมภาพันธ์ 2553 ที่มีอุปสรรคเรื่องภูมิอากาศ ทั้งที่กรุงเทพและในภาคอีสานของไทย[6] โดยใช้ฟิล์ม 16 มม. ในการถ่ายเนื่องจากเหตุผลด้านทุนและต้องการให้ดูเหมือนภาพยนตร์ไทยสมัยก่อนมากกว่า[7]
ลุงบุญมีระลึกชาติ เป็นส่วนเติมเต็มสุดท้ายของผลงานชุด "ดึกดำบรรพ์" (Primitive) ของอภิชาติพงศ์ ซึ่งนอกจากภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วยังประกอบด้วยงานศิลปะแบบจัดวาง (Installation Arts) ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะตามเมืองใหญ่ทั่วโลก เช่น มูลนิธิเพื่อศิลปะและการสร้างสรรค์แห่งเมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น รวมถึงภาพยนตร์สั้นอีก 2 เรื่อง ได้แก่ "จดหมายถึงลุงบุญมี" และ "ผีนาบัว"[8]
ภาพยนตร์ออกฉายรอบปฐมทัศน์ ในฐานะภาพยนตร์เข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2553[9] ส่วนในประเทศไทย ลุงบุญมีระลึกชาติ มีกำหนดออกฉายเฉพาะโรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีนีมา สาขาดิ เอ็มโพเรี่ยม เพียงแห่งเดียว ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2553 เป็นต้นไป[10] โดยอภิชาติพงศ์ได้แสดงความเห็นต่อการฉายในประเทศไทย ก่อนที่ภาพยนตร์จะได้รับรางวัลว่า "ทุกครั้งที่ออกหนังมา ผมต้องใช้เงินในการประชาสัมพันธ์ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่ามันคุ้มค่าหรือไม่ แต่ผมก็อยากให้ออกฉายที่บ้านเกิดของผม"[11]
ภาพยนตร์ได้รับกระแสตอบรับที่ดี จนเพิ่มรอบออกฉายในอีก 5 สาขาของเครือเอสเอฟ ซึ่งรวมถึงออกฉายในต่างจังหวัดอย่างใน ขอนแก่น บางแสน พัทยาและภูเก็ต[12]
ภาพยนตร์ได้รับรางวัลปาล์มทองคำ จากงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 63 นับเป็นภาพยนตร์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลนี้ คณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลปาล์มทองคำ อย่างทิม เบอร์ตัน และเบนิซิโอ เดล โทโร่ ให้ความเห็นเกี่ยวกับภาพยนตร์ว่า เป็นภาพยนตร์ที่ทำให้พวกเขาเข้าใจประเด็นเรื่องความตายจากมุมมองใหม่แบบ “ตะวันออก”[13]
ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ผู้เข้าร่วมงานแจกรางวัลปาล์มทองคำเช่นกัน ให้ความเห็นว่า "มันโดดเด่นและแตกต่างจาก เรื่องอื่นจริง คือ หนังดีที่นี่ก็เป็นหนังที่ทำดี แต่หนังของเจ้ยเป็นหนังที่เปิดโลกทัศน์ภาพยนตร์และไม่ยึดติดในกรอบเดิม ๆ" และยังพูดถึงการได้รับรางวัลของภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า ตัวเขารวมถึงนักวิจารณ์จาก สื่อต่างประเทศรายอื่นๆยัง ใช้คำว่า unexpected winner หรือ เป็นม้ามืด[14]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.