คำถามยอดนิยม
ไทมไลน์
แชท
มุมมอง

มณี สิริวรสาร

อาจารย์ นักสังคมสงเคราะห์ และนักเขียนชาวไทยเชื้อสายอังกฤษ (พ.ศ. 2458-2542) จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มณี สิริวรสาร
Remove ads

คุณหญิงมณี สิริวรสาร หรือเดิมคือ หม่อมมณี ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา[2] มีชื่อแต่แรกเกิดว่า มณี บุนนาค[3] หรือ มณี เซเนียร์ บุนนาค (อักษรโรมัน: Mani Xenier Bunnag[1][4]; เกิด: 22 กันยายน พ.ศ. 2458 — ถึงแก่อนิจกรรม: 27 กันยายน พ.ศ. 2542) อาจารย์และนักสังคมสงเคราะห์ชาวไทย อดีตพระสุณิสาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ด้วยท่านเคยสมรสกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระราชโอรสบุญธรรมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[5]

ข้อมูลเบื้องต้น เกิด, เสียชีวิต ...
Remove ads

และเธอเป็นผู้เขียนหนังสือ ชีวิตเหมือนฝัน ซึ่งเป็นหนังสือที่บรรยายเหตุการณ์ช่วงปลายพระชนม์ชีพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไว้ค่อนข้างละเอียด[5] คุณหญิงมณียังได้รับพินัยกรรม ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นที่ดิน 10 ไร่ บริเวณถนนเพลินจิต ปัจจุบันคือ มณียาเซ็นเตอร์ และโรงแรมเรอเนสซองซ์ ราชประสงค์[6]

Remove ads

ประวัติ

สรุป
มุมมอง

ชีวิตตอนต้นและการศึกษา

คุณหญิงมณีมีชื่อแต่แรกเกิดว่ามณี เซเนียร์ บุนนาค เกิดที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นธิดาของอำมาตย์ตรี พระยาราชานุประพันธ์ (เปีย บุนนาค) เอกอัครราชทูตไทยประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เกิดแต่ภรรยาชื่อ ดอรีส วินดั้ม สตรีชาวอังกฤษ[3] (ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของคุณหญิงมณี ระบุนามมารดาว่า ดอริส เกรซ เฟลโต้ พาวเวอร์ ราชานุประพันธ์)[7] คุณหญิงมณีเป็นหลานปู่ของเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) มีพี่ชายร่วมบิดามารดาเพียงคนเดียว คือ อุทัย ภานุวงศ์[3] และมีพี่ชายและพี่สาวต่างมารดา 10 คน[8]

พ.ศ. 2460 เมื่อพระยาราชานุประพันธ์ (เปีย บุนนาค) พาครอบครัวกลับประเทศไทย ได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านที่ได้รับพระราชทานที่ถนนสี่พระยา ซอยแพรกบ้านใน หลังวัดมหาพฤฒาราม (วัดตะเคียน)

หลังจากบิดาถึงแก่อนิจกรรมได้เข้าเรียนต่อเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนเซนต์แมรีส์ เอส.พี.จี. ซึ่งเป็นโรงเรียนมิชชันนารีนิกายโปรเตสแตนต์ มีอาจารย์ใหญ่เป็นชาวอังกฤษ เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาแล้ว ได้สอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนได้เพียง 2 ปี พ.ศ. 2478 สอบชิงทุนของ ก.พ. (คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ในแผนกอักษรศาสตร์ ได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ และสอบเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

สมรสครั้งแรก

มณีพบรักกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต หรือนามที่ทรงแนะนำตัวแก่มณีว่า "เจรี่"[9] ที่ศึกษาอยู่ในสหราชอาณาจักรเหมือนกัน ความสัมพันธ์ของทั้งสองจึงนำไปสู่การหมั้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2481[10] และมีพิธีเสกสมรสจัดขึ้นที่สถานทูตไทยในกรุงลอนดอน โดยมีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงเป็นองค์ประธาน[11] เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2481[12] ด้วยเหตุนี้มณีจึงได้ลาออกจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดหลังจากร่ำเรียนมาได้สองปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงลงพระปรมาภิไธยในธนาณัติชำระเงินค่าทุนการศึกษาของหม่อมมณีแก่รัฐบาลไทย เพราะหม่อมมณียังไม่ใช้ทุนคืน[13]

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาตและหม่อมมณี มีพระโอรสด้วยกัน 2 คน ซึ่งผู้สืบสันดานได้รับพระราชทานนามสกุล ศักดิเดชภาณุพันธ์ ณ อยุธยา คือ

  1. หม่อมราชวงศ์เดชนศักดิ์ ศักดิเดชภาณุพันธ์ (เกิด กลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2482[14]) สมรสกับสมคิด ศักดิเดชภาณุพันธ์ ณ อยุธยา[15] (สกุลเดิม มีทองแสน)[7] มีบุตร 1 คน คือ
    1. หม่อมหลวงศักดิเดชน์ ศักดิเดชภาณุพันธ์
  2. หม่อมราชวงศ์ทิม ศักดิเดชภาณุพันธ์[16][17][18] (ชื่อเดิม หม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์; เกิด 19 เมษายน พ.ศ. 2485) สมรสครั้งที่สองกับศิริกาญจน์ ศักดิเดชภาณุพันธ์ ณ อยุธยา[19] (สกุลเดิม ศรีกาญจนา) มีบุตร 2 คน และบุตรบุญธรรม 1 คน[20] คือ
    1. ศีกัญญา ศักดิเดชภาณุพันธ์ (บุตรบุญธรรมซึ่งเกิดจากศิริกาญจน์กับอดีตสามี)[21]
    2. หม่อมหลวงศรุศักดิ์ ศักดิเดชภาณุพันธ์[22]
    3. หม่อมหลวงเพ็ทรา ศักดิเดชภาณุพันธ์ (ชื่อเดิม หม่อมหลวงศิริณี)

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต ทำงานกับบริษัท A.T.A. ทำหน้าที่ขับเครื่องบิน และเป็นเสรีไทยในประเทศอังกฤษอีกด้วย จนทำให้พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาตสิ้นพระชนม์เนื่องจากทรงขับเครื่องบิน และเครื่องตกที่ประเทศสก๊อตแลนด์ในระหว่างที่ทรงปฏิบัติหน้าที่

สมรสครั้งที่สอง

หลังการสิ้นพระชนม์ของพระภัสดาคนแรก ปีถัดมาหม่อมมณีได้เข้าเสกสมรสครั้งที่สองกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภัสสรวงศ์ ซึ่งเป็นพระเชษฐาร่วมครรโภทรของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต มีพระธิดาเพียงคนเดียว คือ

  1. หม่อมราชวงศ์อรมณี นิเวศน์มรินทร์ หรือ คุณหญิงออร่า (เกิด 10 ตุลาคม พ.ศ. 2486) สมรสครั้งแรกกับ พันตำรวจโท จุมพล นิลวัฒนานนท์[23] และครั้งที่สองกับวัฒนา นิเวศน์มรินทร์ มีบุตรจากการสมรสครั้งแรกสองคน และครั้งที่สองหนึ่งคน[7]

และในปี พ.ศ. 2490 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภัสสรวงศ์ได้พาครอบครัวกลับประเทศไทย เมื่อหม่อมมณีกลับมาอยู่ประเทศไทย ได้ไปทำงานในตำแหน่งอาจารย์พิเศษสอนภาษาอังกฤษที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามคำเชิญชวนของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตรซึ่งเป็นอาจารย์หัวหน้าภาควิชาในขณะนั้น หลังจากหย่ากับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภัสสรวงศ์แล้ว จึงลาออกจากอาจารย์พิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาสร้างบ้านหลังใหม่อยู่ที่ถนนเพลินจิต รับงานแปลบทความภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษให้กับสำนักงานข่าวสารอเมริกัน

สมรสครั้งที่สามและบั้นปลาย

ต่อมาหม่อมมณีได้กลับไปพักที่ประเทศอังกฤษเพื่อเยี่ยมมารดาและบุตรที่ศึกษาอยู่ที่นั่น ได้ทำงานในตำแหน่งหัวหน้าแผนกส่งวิทยุกระจายเสียงภาคภาษาไทยให้สถานีวิทยุบีบีซีอยู่ประมาณ 1 ปี จึงกลับเมืองไทย พ.ศ. 2503 ได้เข้าพิธีสมรสใหม่กับพลตรี นายแพทย์ ปชา สิริวรสาร และใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันถึง 23 ปี มีบุตรบุญธรรมด้วยกันสองคนคือ ภาณุพล และภาณินี สิริวรสาร ซึ่งเป็นบุตรของหม่อมราชวงศ์อรมณีที่เกิดกับสามีคนแรก[24] จนนายแพทย์ ปชาถึงแก่กรรม เมื่อ พ.ศ. 2526

คุณหญิงมณีถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็งปอดเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 ณ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กรุงเทพมหานคร สิริอายุ 84 ปี[25]

Remove ads

ชีวิตส่วนตัว

คุณหญิงมณีเมื่อครั้งเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เคยมีใจโอนอ่อนที่จะเข้ารีตไปนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก แต่ถูกพระยาราชานุประพันธ์ผู้บิดาทัดทานอย่างแข็งขันและบังคับให้ลาออกจากโรงเรียนเดิมเสีย หลังการมรณกรรมของบิดา คุณหญิงมณีได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์แมรีส์ เอส.พี.จี. คุณหญิงมณีได้ตัดสินใจเข้ารีตนิกายโปรเตสแตนต์ ตามที่ครูผู้สอนให้คำแนะนำให้กอปรกับความศรัทธาในพระเยซูของเธอ แต่ต่อมาภายหลังคุณหญิงมณีเห็นว่าความคิดเดิมของตนนั้นงมงาย จึงเปลี่ยนกลับมานับถือศาสนาพุทธตามเดิม และปฏิบัติตนตามคำสอนทางพุทธศาสนาเรื่อยมา[26]

Remove ads

งานสาธารณประโยชน์

คุณหญิงมณีและพลตรีนายแพทย์ ปชา สิริวรสารได้บริจาคทรัพย์สร้างตึกผู้ป่วยด้วย โรคหู คอ จมูก เป็นอาคาร 4 ชั้น มีห้องผ่าตัดทันสมัย มอบให้แก่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ชื่อตึกว่า "ตึกศักดิเดชน์" ทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ มาทรงทำพิธีเปิดตึกนี้ เมื่อ พ.ศ. 2514 ต่อมาได้บริจาคทรัพย์ส่วนหนึ่งร่วมสร้างโรงพยาบาลพระปกเกล้า ที่จังหวัดจันทบุรี และมอบเงินให้แก่กรมแพทย์ทหารบก จำนวน 1 ล้านบาทเป็นทุนจัดตั้งมูลนิธิ "ศักดิเดชน์" เพื่อจัดหาเครื่องมือแพทย์และใช้ในการดูแลบำรุงรักษาอาคารด้วย จัดตั้งมูลนิธิถวายไว้ที่วัดราชบพิธ เพื่อใช้ดอกผลเป็นปัจจัย 4 ถวายพระสงฆ์โดยสมทบทุนทุกปี ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้คุณหญิงมณียังได้ช่วยงานด้านสังคมสงเคราะห์ตามสมาคมสตรีต่าง ๆ และเป็นกรรมการอยู่หลายสมาคม ทั้งยังช่วยหาเงินปลูกสร้างอาคารให้กับมูลนิธิสตรีอุดมศึกษาจนเป็นผลสำเร็จและยังใช้เป็นอาคารที่ทำงานของมูลนิธิฯ และสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทยอยู่จนถึงปัจจุบันนี้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อ้างอิง

Loading content...
Loading related searches...

Wikiwand - on

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Remove ads