ตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน หรือ ตระกูลภาษาอินเดีย-ยุโรป (อังกฤษ: Indo-European languages) ประกอบด้วยภาษาหลักและภาษาย่อยรวม 443 ภาษา (ตามการประมาณของ SIL) ที่พูดโดยคนประมาณ 3 พันล้านคน ซึ่งรวมถึงตระกูลภาษาหลัก ๆ ของยุโรป และเอเชียตะวันตก ซึ่งจัดอยู่ในตระกูลใหญ่ ภาษาปัจจุบันที่อยู่ในตระกูลใหญ่นี้ มีเช่น ภาษาเบงกอล ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาฮินดี ภาษาโปรตุเกส ภาษารัสเซีย และภาษาสเปน (แต่ละภาษามีคนพูดมากกว่า 100 ล้านคน)
ตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน | |
---|---|
ภูมิภาค: | แต่เดิมใช้ในพื้นที่หลายส่วนของเอเชียและส่วนใหญ่ของยุโรป ปัจจุบันใช้กันทั่วโลก มีเจ้าของภาษาประมาณ 3.2 พันล้านคน |
การจําแนก ทางภาษาศาสตร์: | หนึ่งในตระกูลภาษาที่มีผู้พูดมากที่สุดในโลก |
ภาษาดั้งเดิม: | อินโด-ยูโรเปียนดั้งเดิม |
กลุ่มย่อย: |
|
ISO 639-2 / 5: | ine |
กลอตโตลอก: | indo1319[1] |
การกระจายของภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียนปัจจุบันภายในถิ่นกำเนิด (คือยูเรเชีย):
ภาษานอกตระกูลอินโด-ยูโรเปียน
|
ประวัติศาสตร์
ความเป็นไปได้ของต้นกำเนิดร่วมของภาษาต่าง ๆ เหล่านี้ เสนอเป็นครั้งแรกโดยเซอร์วิลเลียม โจนส์ ซึ่งได้สังเกตเห็นความเหมือนกันระหว่างภาษาที่เก่าแก่ที่สุด 4 ภาษาที่รู้จักในยุคนั้น คือ ภาษาละติน ภาษากรีก ภาษาสันสกฤต และภาษาเปอร์เซีย การเปรียบเทียบภาษาเหล่านี้ และภาษาเก่าแก่อื่น ๆ อย่างมีระบบ โดยฟรานซ์ บอปป์ สนับสนุนทฤษฎีนี้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักวิชาการเคยเรียกภาษากลุ่มนี้ว่า "ภาษากลุ่มอินโด-เจอร์แมนิก" (Indo-Germanic) หรือ "อารยัน" (Aryan) อย่างไรก็ดี เมื่อปรากฏชัดเจนว่า ความคล้ายคลึงนี้ มีอยู่ในภาษาของยุโรปส่วนใหญ่ จึงได้เปลี่ยนชื่อให้ครอบคลุมมากขึ้นเป็น อินโด-ยูโรเปียน (Indo-European) ตัวอย่างเช่น มีความคล้ายคลึงกันอย่างมากระหว่างภาษาสันสกฤตกับภาษาย่อยของภาษาลิทัวเนียและภาษาลัตเวียที่พูดในสมัยก่อน
ภาษาบรรพบุรุษที่เป็นต้นกำเนิด (ที่ได้สืบสร้างขึ้นมาใหม่) เรียกว่าภาษาอินโด-ยูโรเปียนดั้งเดิม (Proto-Indo-European, PIE) มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นถิ่นกำเนิด (เรียกว่า "อัวร์ไฮมาท" — Urheimat) ที่ตั้งที่เป็นไปได้มากที่สุดในปัจจุบันคือที่ราบทางเหนือของทะเลดำและทะเลแคสเปียน (ตามทฤษฎีของเคอร์แกน) หรืออานาโตเลีย (ตามทฤษฎีของโคลิน เร็นฟริว) ผู้ที่สนับสนุนทฤษฎีของเคอร์แกนสักจะตั้งอายุของภาษาต้นกำเนิดเป็นประมาณ 4,000 ปีก่อน ค.ศ. ส่วนผู้ที่สนับสนุนทฤษฎีของถิ่นกำเนิดในอานาโตเลียมักจะกำหนดอายุของภาษานี้เป็นช่วงหลายสหัสวรรษก่อนหน้านี้ (อินโด-ฮิตไทต์)
กลุ่มย่อย
กลุ่มย่อยต่าง ๆ ของตระกูลอินโด-ยูโรเปียนรวมถึง (ตามลำดับตามประวัติศาสตร์ของการปรากฏครั้งแรก) :
- กลุ่มภาษาอานาโตเลีย — แขนงที่มีหลักฐานปรากฏเก่าแก่ที่สุด จากช่วงศตวรรษที่ 18 ก่อนคริสตกาล; สูญแล้ว ที่เด่นที่สุดคือภาษาของฮิตไทต์
- กลุ่มภาษาอินโด-อิเรเนียน — รวมถึงภาษาสันสกฤต, มีหลักฐานปรากฏตั้งแต่สหัสวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล, ภาษาอเวสตะ และภาษาเปอร์เซีย
- ภาษากรีก — มีหลักฐานภาษาไมซิเนียนที่ไม่สมบูรณ์ จากศตวรรษที่ 14 ก่อนคริสตกาล; โฮเมอร์ มีอายุในช่วงศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล ดูประวัติศาสตร์ของภาษากรีก
- กลุ่มภาษาอิตาลิก — รวมถึงภาษาละติน รวมถึงภาษาที่สืบมาจากภาษานี้ คือกลุ่มภาษาโรมานซ์ ปรากฏตั้งแต่สหัสวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล
- กลุ่มภาษาเคลต์ — คำจารึกภาษากอลิช (Gaulish) มีอายุตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล; เอกสารภาษาไอริชโบราณจากคริสต์ศตวรรษที่ 6
- กลุ่มภาษาเจอร์แมนิก (รวมถึงภาษาอังกฤษ) — หลักฐานที่ปรากฏครั้งแรกคือคำจารึกอักษรรูนจากประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 2, เอกสารที่มีเรื่องราวที่เก่าแก่ทีสุดเป็นภาษากอทิก, คริสต์ศตวรรษที่ 4
- ภาษาอาร์มีเนีย — มีหลักฐานปรากฏตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 5
- กลุ่มภาษาโทแคเรียน — ภาษาสูญแล้วของชาวโทแคเรียน ปรากฏ 2 ภาษาย่อย มีหลักฐานปรากฏตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6 โดยประมาณ
- กลุ่มภาษาบอลต์-สลาฟ — รวมถึงภาษากลุ่มบอลต์และภาษากลุ่มสลาฟ; กลุ่มภาษาสลาฟมีหลักฐานปรากฏตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6 เอกสารที่เก่าแก่ที่สุดเป็นภาษาสลาวอนิกคริสตจักรเก่า, คริสต์ศตวรรษที่ 9; กลุ่มภาษาบอลต์มีหลักฐานปรากฏตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14
- ภาษาแอลเบเนีย — มีหลักฐานปรากฏตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16; มีการเสนอความสัมพันธ์กับภาษาอิลลีเรีย ดากิอา หรือเทรซ
นอกจาก 10 แขนงที่ได้กล่าวไว้แล้ว ยังมีภาษาอื่น ๆ ที่สูญแล้วที่รู้จักน้อยมาก:
- กลุ่มภาษาอิลลีเรีย, สูญแล้ว ไม่สมบูรณ์ คาดว่าสัมพันธ์กับภาษาเมสซาเปียน มีการเสนอความสัมพันธ์กับภาษาแอลเบเนียบ้าง
- ภาษาเวเนติก, สูญแล้ว ไม่สมบูรณ์ ใกล้เคียงกับอิตาลิก
- ภาษาเมสซาเปียน, สูญแล้ว ไม่สมบูรณ์, ภาษายังอ่านไม่ออก
- ภาษาฟรีเจีย — ภาษาสูญแล้วของฟรีเจียโบราณ, ไม่สมบูรณ์
- ภาษาไปโอเนีย, สูญแล้ว ไม่สมบูรณ์
- ภาษาเทรซ — สูญแล้ว ไม่สมบูรณ์
- ภาษาดากิอา — สูญแล้ว ไม่สมบูรณ์
- ภาษามาซิโดเนียโบราณ ตามปรากฏ ใกล้เคียงกับภาษากรีก ภาษาฟรีเจียน และอาจใกล้เคียงกับภาษาเทรซด้วย
นอกจากนี้ ยังมีภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียนอื่น ๆ ที่ไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ ในปัจจุบัน
อ้างอิง
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.