Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นาวาเอก พระยาวิชิตชลธี ร.น. (23 ตุลาคม 2433 – 27 มิถุนายน 2501) มีนามเดิมว่า ทองดี สุวรรณพฤกษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ อดีตรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตราชองครักษ์เวร และนายทหารพิเศษประจำกองทัพเรือ
พระยาวิชิตชลธี (ทองดี สุวรรณพฤกษ์) | |
---|---|
ผู้บัญชาการทหารเรือ | |
ดำรงตำแหน่ง 5 สิงหาคม 2476 – 1 ธันวาคม 2476 | |
ก่อนหน้า | พระยาปรีชาชลยุทธ (วัน จารุภา) |
ถัดไป | พลเรือตรี พระยาวิจารณจักรกิจ (บุญรอด สวาทะสุข) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 23 ตุลาคม พ.ศ. 2433 จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 27 มิถุนายน พ.ศ. 2501 (67 ปี) |
คู่สมรส | คุณหญิงเจิม วิชิตชลธี |
บุตร | นาวาอากาศเอก ชิดชัย สุวรรณพฤกษ์ (บุตรบุญธรรม) |
บุพการี |
|
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | ไทย |
ยศ | นาวาเอก |
เกิดเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2433 ที่ตำบลบ้านลาดขมิ้น อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดพระนคร (ปัจจุบันคือ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร) เป็นบุตรคนที่ 11 จากทั้งหมด 12 คนของ นายกร่าง และ นางผึ้ง สุวรรณพฤกษ์
ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับคุณหญิงเจิม วิชิตชลธี แต่ไม่มีบุตรธิดาด้วยกันจึงรับบุตรบุญธรรมมาอุปการะดูแลคือ นาวาอากาศเอก ชิดชัย สุวรรณพฤกษ์ อดีตรองเจ้ากรมสารบรรณทหารอากาศ และอดีต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2
นาวาเอก พระยาวิชิตชลธี จบการศึกษาจากโรงเรียนวัดทรงประมูล (ปัจจุบันถูกรื้อทิ้งไปแล้ว) โรงเรียนวัดราชบพิธ และโรงเรียนโฆษิตสโมสร
จากนั้นจึงได้เข้าเป็นนักเรียนนายเรือเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2448 จบการศึกษาและเข้าประจำการเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2451 รุ่นเดียวกับพระยาศรยุทธเสนี (กระแส ประวาหะนาวิน)
นาวาเอก พระยาวิชิตชลธี ประดับยศ ว่าที่เรือตรีผู้ช่วย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2451 และได้รับพระราชทานยศ เรือตรีผู้ช่วย เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2452 [1] ได้รับพระราชทานยศ เรือโท เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2454 [2] ต่อมาขณะที่ท่านเป็น ผู้บังคับการเรือตอร์ปิโด ๓ ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น ราชองครักษ์เวร เมื่อวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2454[3]
ในวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ เรือเอก[4] พร้อมกับรับพระราชทานนามสกุล สุวรรณพฤกษ์ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2457 เป็นลำดับที่ ๑๖๖๗ [5] และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงเริงกลางสมร ศักดินา ๘๐๐ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2457 ในขณะที่ท่านเป็น ผู้บังคับการกองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๓ [6]
ต่อมาท่านได้รับพระราชทานยศ นาวาตรี เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2460[7] ยศ นาวาโท เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2462[8] จากนั้นท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระเริงกลางสมร ศักดินา ๑๐๐๐ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2464[9] และได้รับพระราชทานยศ นาวาเอก เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2466[10] ต่อมาท่านได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชองครักษ์เวรอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับ พลเรือตรี พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) เมื่อวันที่ 28 เมษายน ศกเดียวกัน[11]
ในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2467 ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวิชิตชลธี ศักดินา ๑๕๐๐[12] ต่อมาท่านซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมชุมพลทหารเรือ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้รั้งตำแหน่งหรือรักษาราชการในปัจจุบันในตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพเรือแทนนาวาเอก พระยาหาญกลางสมุทร์ (บุญมี พันธุมนาวิน) ที่ไปรั้งตำแหน่งผู้บัญชาการกรมชุมพลทหารเรือเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467[13]
ต่อมาในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นราชองครักษ์เวรอีกวาระหนึ่ง[14] จากนั้นท่านจึงได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้รั้งตำแหน่งเจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2470[15] กระทั่งได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2472[16] จากนั้นท่านจึงได้ย้ายไปรั้งตำแหน่ง ผู้บัญชาการกองทัพเรือ แทน พลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ ที่ไปดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2474[17] และในวันที่ 11 ธันวาคม ศกเดียวกัน ท่านก็ได้กลับมารับตำแหน่งเจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือแทน พลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ ที่ไปรั้งตำแหน่งแม่ทัพเรือ[18] นอกจากนี้ยังได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งราชองครักษ์เวรอีกวาระหนึ่งเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2474[19]
หลังจากการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้ 12 วันคือในวันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ท่านก็ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ[20] จากนั้นในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2476 ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ สืบต่อจากพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ ที่ได้โอนย้ายไปรับราชการที่กระทรวงมหาดไทย โดยมีนาวาโท หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) เป็นรองผู้บัญชาการทหารเรือ และนาวาโท หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) เป็นเสนาธิการทหารเรือ[21] แต่หลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง 4 เดือน นาวาเอก พระยาวิชิตชลธี ก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2476 เนื่องจากป่วยทุพพลภาพ[22]
ต่อมาในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2491 ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายทหารพิเศษประจำกองทัพเรือ[23]
นาวาเอก พระยาวิชิตชลธี ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น รัฐมนตรี พร้อมกับ เรือเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ในสมัยรัฐบาล พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2476 ซึ่งนับเป็นตำแหน่งรัฐมนตรีสมัยแรกของท่าน[24] แต่หลังจากดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้เพียง 4 เดือนท่านก็ขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 เนื่องจากป่วยทุพพลภาพ[25]
กระทั่งวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือ 3 วันหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นาวาเอก พระยาวิชิตชลธี ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ในสมัยรัฐบาล พันตรี ควง อภัยวงศ์[26] แต่ได้พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 เนื่องจากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนเรียบร้อยแล้ว
ต่อมาในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยรัฐบาล พันตรี ควง อภัยวงศ์ อีกเช่นกัน[27] แต่ดำรงตำแหน่งได้เพียงเดือนเศษก็ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจาก พันตรีควง และคณะรัฐมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งทั้งคณะเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อในวันเดียวกัน[28] และหลังจากนั้นท่านก็มิได้ยุ่งเกี่ยวกับวงการเมืองอีกเลย
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.