Remove ads
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระปรมาภิไธย (พระ+ปรม+อภิไธย แปลว่า ชื่ออันประเสริฐยิ่ง)[1] หมายถึง พระนามของพระมหากษัตริย์ราชเจ้า ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ หลังจากที่ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 1 และใช้มาจนถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน
แต่เดิมนั้นพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีรัชกาลที่ 1-3 นั้น ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยของพระองค์เองโดยขึ้นต้นว่า “สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี” และมีสร้อยพระนามเหมือนกันทั้ง 3 รัชกาล ราษฎรจึงต้องสมมตินามแผ่นดินเอาเองเมื่อกล่าวถึงพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล ในสมัยรัชกาลที่ 3 ราษฎรได้เรียกนามแผ่นดินรัชกาลที่ 1 ว่า "แผ่นดินต้น" รัชกาลที่ 2 ว่า "แผ่นดินกลาง" รัชกาลที่ 3 ว่า "แผ่นดินนี้" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ไม่ทรงโปรดการออกนามแผ่นดินดังกล่าว เนื่องจากทรงเกรงว่าต่อไปราษฎรจะเรียกรัชกาลของพระองค์ว่า "แผ่นดินปลาย" หรือ "แผ่นดินสุดท้าย" อันเป็นอัปมงคล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระมหากษัตริย์สองรัชกาลแรก ประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม องค์หนึ่งถวายพระนามว่า "พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" อุทิศถวายสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชรัชกาลที่ 1 และอีกองค์หนึ่งถวายพระนามว่า "พระพุทธเลิศหล้าสุราไลย" (ต่อมารัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ถวายสร้อยพระนามใหม่ว่า "พระพุทธเลิศหล้านภาไลย") อุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถรัชกาลที่ 2 และโปรดเกล้าฯ ให้เรียกนามแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ทั้งสองรัชกาลตามนามพระพุทธรูปทั้งสององค์นี้[2]
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงมีพระราชดำริว่าพระนามของพระมหากษัตริย์สืบไปภายหน้าควรใช้แตกต่างกันทุกรัชกาล เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการออกนามแผ่นดินเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว จึงทรงถวายพระนามแก่สมเด็จพระบูรพกษัตริย์รัชกาลก่อนหน้าพระองค์ทั้งสามรัชกาลดังนี้[3]
นอกจากนี้ยังทรงกำหนดหลักการเฉลิมพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ตามลำดับรัชกาล โดยรัชกาลที่เป็นเลขคี่ให้ใช้คำว่า "ปรมินทร" รัชกาลเลขคู่ให้ใช้คำว่า "ปรเมนทร" เป็นเครื่องหมายสังเกต พระนามพระมหากษัตริย์ไทยตามหลักพระราชนิยมดังกล่าวตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมามีดังนี้
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีโดยใช้คำนำหน้าพระนามว่า "รามาธิบดีศรีสินทร" ทุกรัชกาล เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459[6] ดังนี้
ส่วนในภาคภาษาอังกฤษนั้น โปรดเกล้าฯ ให้ใช้คำว่า "Rama" แล้วตามด้วยหมายเลขลำดับรัชกาลแบบเลขโรมันตามธรรมเนียมยุโรป
แต่เมื่อรัชกาลที่ 7 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระองค์ได้ทรงประกาศให้การใช้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์กลับไปเป็นตามแบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ 4 เช่นเดิม เว้นแต่พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ยังคงใช้ว่าพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ และใช้มาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การใช้คำว่า "Rama" ในภาคภาษาอังกฤษ แล้วตามด้วยหมายเลขลำดับรัชกาลเพื่อสื่อถึงพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ยังคงใช้สืบมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ได้มีการเฉลิมพระปรมาภิไธยของพระองค์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก[7] ว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว"[8] นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการเฉลิมพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีโดยใช้หลักพระราชนิยม "ปรมินทร-ปรเมนทร" ในรัชกาลที่ 4 และหลักพระราชนิยม "รามาธิบดีศรีสินทร" ในรัชกาลที่ 6 ร่วมกัน
อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยบูรพกษัตริย์ในราชวงศ์จักรีเพื่อถวายพระราชสมัญญานาม "มหาราช" ดังนี้
การทรงลงพระปรมาภิไธยในเอกสารสำคัญต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ไทย เริ่มปรากฏหลักฐานครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏหลักฐานการลงพระปรมาภิไธยในแต่ละรัชกาลดังนี้
พระปรมาภิไธยย่อ คือ การย่อพระปรมาภิไธยให้เหลือเพียง 3 ตัวอักษร โดยส่วนมาก มักใช้เป็น ตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ และ ตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธี และงานเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสสำคัญต่าง ๆ [11] ดังนี้
รัชกาลที่ | พระนามย่อ | พระนามเต็ม |
---|---|---|
1 | จปร | มหาจักรีบรมนาถ ปรมราชาธิราช |
2 | อปร | มหาอิศรสุนทร ปรมราชาธิราช |
3 | จปร | มหาเจษฎาบดินทร ปรมราชาธิราช |
4 | มปร | มหามงกุฎ ปรมราชาธิราช |
5 | จปร | มหาจุฬาลงกรณ์ ปรมราชาธิราช |
6 | วปร | มหาวชิราวุธ ปรมราชาธิราช |
7 | ปปร | มหาประชาธิปก ปรมราชาธิราช |
8 | อปร | มหาอานันทมหิดล ปรมราชาธิราช |
9 | ภปร | มหาภูมิพลอดุลยเดช ปรมราชาธิราช |
10 | วปร | มหาวชิราลงกรณ ปรมราชาธิราช[12] |
ในกรณีที่อักษรย่อพระปรมาภิไธยของบางพระองค์ซ้ำกัน จะมีการระบุหมายเลขประจำรัชกาลกำกับข้างท้ายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งในตราอักษรย่อพระปรมาภิไธยประจำพระองค์โดยปกติจะระบุหมายเลขประจำรัชกาลไว้ที่ระหว่างกรรเจียกจรของพระมหาพิชัยมงกุฎ
อนึ่ง พระมหากษัตริย์บางพระองค์อาจทรงใช้อักษรพระปรมาภิไธยย่อมากกว่า 1 แบบ เช่น รัชกาลที่ 5 ทรงใช้พระปรมาภิไธยย่อ ส.พ.ป.ม.จ.5 และ จ.จ.จ. เป็นต้น และแม้ดวงตราอักษรพระปรมาภิไธยย่อที่ใช้ตัวอักษรเดียวกันสำหรับพระมหากษัตริย์รัชกาลเดียวกัน ก็อาจมีการประดิษฐ์ดวงตราเพื่อใช้งานในหลากหลายรูปลักษณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนขึ้นอยู่กับพระราชนิยมส่วนพระองค์
พระบรมนามาภิไธย หมายถึง พระนามเดิมของพระมหากษัตริย์ ก่อนจะเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ [1]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.