Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บ้านผีปอบ เป็นภาพยนตร์ไทย ประเภทหนังผีประเภทผสมความตลกขบขัน ที่มีการสร้างถึง 14 ภาคตั้งแต่ปี 2532−2554[1] ถือเป็นภาพยนตร์ไทยที่มีภาคต่อมากที่สุด[2] เป็นหนังที่นำเอาตัวละครผีปอบ มาจากนวนิยายชุด ภูตผีปีศาจไทย เรื่อง ผีปอบ ในเล่ม ปีศาจของไทย ของนักเขียนและจิตรกรชั้นครูผู้ล่วงลับคือครู เหม เวชกร มาเป็นต้นแบบ ส่วนชื่อ ทองคำ ซึ่งเป็นชื่อของ ปอบยายทองคำ มาจากชื่อของ 1 ในตัวละครหลักของนวนิยายชุดนี้
ความประสบความสำเร็จในภาคแรก ๆ ทำให้มีการสร้างภาคต่อ ๆ มา และกลายเป็นภาพยนตร์สยองขวัญผสมเบาสมอง โดยเน้นความตลกเบาสมองเสียมากกว่า แต่ก็ทำให้ ปอบหยิบ โด่งดังและเป็นที่รู้จักอย่างดี ในภาพยนตร์จะมีวิธีการหนีผีแปลกๆ แบบหนีลงตุ่ม วิ่งหนีขึ้นต้นไม้ เหาะข้ามคลอง หรือแม้กระทั่ง แกล้งผีปอบต่าง ๆ นานา เช่น ทาสีทำเป็นประตูลวง เป็นต้น หรือตัวผีปอบเองก็มีวิธีวิ่งไล่จับคนแปลกๆเช่น เช่น ขี่บั้งไฟ ขี่มอเตอร์ไซค์ ใช้พัดสันกำแพงเป็นต้น โดยมีณัฐนี สิทธิสมาน ที่ได้ฉายานามว่า เจ้าแม่ผีปอบ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ ซีรีส์ภาพยนตร์เรื่อง บ้านผีปอบ
ในภาคแรกผู้รับบทผีปอบคือ สุชาดา อีแอม และ ตัวละคร ปอบหยิบ เริ่มมีตั้งแต่ภาคที่ 2 รับบทโดย ณัฐนี สิทธิสมาน บ้านผีปอบภาคที่ 5 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น พันธุ์ผีปอบ 34 เนื่องจากภาคนี้ ณัฐนี สิทธิสมาน ไม่ได้เล่น และบ้านผีปอบข้ามภาค 12 ไป เนื่องจากถือเคล็ดว่าไม่เป็นหนังโหล กลายเป็นภาคที่ 13
ภาพยนตร์เรื่อง บ้านผีปอบ 2 (ปี 2533) ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2558[3]
ในช่วงที่ตลาดหนังไทยยังพอไปได้ แต่ยังไม่ค่อยดี บริษัทกรุ๊ฟโฟร์ ที่มีทีมงานอยู่ไม่กี่คนได้รวมตัวกันเพื่อจะสร้างหนัง ซึ่งคิดว่าหนังผีน่าจะเป็นทางออกที่น่าจะประสบความสำเร็จได้ มีความเสี่ยงน้อยที่สุด โดยช่วยกันหาเงินมาทำหนัง เรื่องหนึ่งใช้เงินประมาณ 4 แสนกว่าบาท โดยประเด็นที่เลือกคือผีปอบ เพราะเคยมีหนังผี กระสือ หรือ แม่นาคพระโขนง และคิดว่าการนำเสนอเรื่องผีปอบที่ชาวบ้านเล่าลือกันมากในแถบภาคอีสานเป็นสิ่งใหม่และไม่มีใครทำมาก่อน[4] บริษัทกรุ๊ฟโฟร์ติดต่อให้ สายยนต์ ศรีสวัสดิ์ มารับหน้าที่เขียนบทและกำกับภาพยนตร์ โดยวางให้ณัฐนี สิทธิสมาน มารับบทปอบตั้งแต่ภาคแรก แต่ได้ตอบปฏิเสธไปเพราะยังไม่มีคิวว่าง[2]
ในภาคแรกได้งบประมาณในการสร้างน้อยมาก ใช้เวลาถ่ายทำที่สุพรรณบุรีเพียง 7 วัน และใช้นักแสดงหน้าใหม่เกือบทั้งหมด ในภาคต่อมาเริ่มมีเงินทุนมากขึ้น มีเวลาถ่ายทำมากขึ้น ตั้งแต่ 10-20 วัน จนภาค 13 ใช้เวลาถ่ายทำถึง 2 เดือน [4]
โครงเรื่องของภาพยนตร์เรื่อง บ้านผีปอบ จะคงโครงเรื่องเดิม ๆ ไว้ คล้าย ๆ กันทุกภาค แต่จะเปลี่ยนมุกตลกต่าง ๆ เนื้อเรื่องหลักคือ กลุ่มแพทย์จากกรุงเทพฯ ที่มารักษาชาวบ้าน เจอเหตุการณ์แปลกๆในหมู่บ้าน อันเนื่องมาจากการอาละวาดของผีปอบ ชาวบ้านก็ต่างหาวิธีจับผีปอบ แต่สุดท้ายก็โดนผีปอบอาละวาดกลับ โดยลักษณะจุดเด่นของบ้านผีปอบคือ การวิ่ง ไล่หนีกันระหว่าง ผีปอบ และตัวละครในเรื่อง[4]
มุกตลกที่ถือเป็นภาพจำของภาพยนตร์เรื่องนี้ อาทิ มุกหนีผีลงตุ่ม ซึ่งเริ่มมีในภาค 2 และต่อมาเป็นมุกขายในแทบทุกภาค มุกนี้เกิดขึ้นจากการไปดูสถานที่ถ่ายทำเขียนบทที่จังหวัดสุพรรณบุรี และสังเกตเห็นตุ่มดินที่ทุกบ้านใช้เพื่อเก็บน้ำ โดยเริ่มคิดจากเทคนิคการถ่ายทำ หากให้คนลงไปสิบคน คงเป็นไปไม่ได้ จึงใช้เทคนิคทางด้านภาพ ซึ่งสมัยนั้นยังไม่ใช้เทคนิคนี้มากเท่าไร[5]
ในแต่ละภาคจะมีผีปอบอย่างน้อย 1 คนที่คอยปั่นป่วนชาวบ้านเสมอ ในภาคแรกปอบคือ ยายทองคำ (รับบทโดย สุชาดา อีแอม) มีเอกลักษณ์ตรงใบหน้าที่ดุร้าย ไม่ค่อยมีอารมณ์ขันมากนักสำหรับภาคแรก (ยายทองคำกลับมาอีกครั้งในภาค 11) คนต่อมาคือ ยายหยิบ หมอผีประจำหมู่บ้าน ผู้เล่นของและคุณไสย จนกลายเป็น ปอบหยิบ (รับบทโดย ณัฐนี สิทธิสมาน) ซึ่งปรากฏตัวครั้งแรกในภาค 2 ลักษณะท่าทางยังคงความน่ากลัวอยู่ จนภาค 3 ที่ปรับให้เพิ่มความตลกขบขันจนได้รับเสียงตอบรับที่ดี ปอบหยิบมีเอกลักษณ์คือ ท่าหยิบ ที่ได้แรงบันดาลใจจากไก่ต้ม ส่วนในภาค 8 ปอบหยิบจะหายไป และมีปอบคนใหม่ คือ ผีปอบฝรั่งชื่อ แอน (รับบทโดย วิกกี้ สาริกบุตร) เนื่องจากเปลี่ยนผู้กำกับจาก ศรีสวัสดิ์ ที่กำกับมาตลอด 7 ภาค มาเป็น ธงทอง แต่ก็ล้มเหลว จนปอบหยิบต้องกลับมาอีกครั้งในภาค 9 เป็นต้นมา[4]
ปี | ชื่อภาค | ปอบ | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
2532 | บ้านผีปอบ | ปอบทองคำ | เปิดตัวปอบทองคำ |
2532 | บ้านผีปอบ 2 | ปอบหยิบ ปอบกระดึง | เปิดตัวปอบหยิบ, ใช้มุขหลบในตุ่มเป็นครั้งแรก |
2533 | บ้านผีปอบ 3 | ปอบหยิบ ปอบหมอผีคล้าย | เปลี่ยนนางเอกจาก ตรีรัก รักการดี เป็น รักษ์สุดา สินวัฒนา, เกียรติ กิจเจริญ (ซูโม่กิ๊ก) รับบทเป็นพระรอง เรื่องบ้านผีปอบ (3−7) อย่างเต็มตัว |
2534 | บ้านผีปอบ 4 | ปอบหยิบ ปอบหมอผีคล้าย | เปิดตัวบุญชอบ (กฤษณ์ ศุกระมงคล), มุข กระโดดถอยกลับ โดยเทคนิค ภาพ Auto Reverse ใช้ในภาคนี้[6], มุข ทาสีทำเป็นประตูลวง, ปอบหยิบ ไถล สเก็ตบอร์ด |
2534 | บ้านผีปอบ' 34 (ภาค 5) | สร้างโดยทีมงานอื่น ใช้ชื่อว่า บ้านผีปอบ' 34 และเมื่อทีมงานบ้านผีปอบ 1−4 มาสร้างภาคต่อ ก็ข้ามไปภาคที่ 6 เลย โดยถือว่าภาคนี้เป็นภาคที่ 5 เพื่อไม่ให้ผู้ชมสับสน ภาคนี้มีเนื้อเรื่องใหม่หมด เปลี่ยนปอบเป็น มณีรัตน์ วัยวุฒิ,มุขเอาของออกจากป้ายโฆษณา | |
2534 | บ้านผีปอบ 6 | ปอบหยิบ | ปอบหยิบกลับมา พร้อมอุปกรณ์จับผีปอบแบบพิสดารมากมาย เปลี่ยนจากกลุ่มตลกกลิ่นสี เป็น ซูโม่สำอาง อย่าง ซูโม่โค้ก (สมชาย เปรมประภาพงศ์) และ ซูโม่เอ๋ (เกรียงไกร อมาตยกุล) ร่วมด้วย สุเทพ ประยูรพิทักษ์, ภาคนี้ ธงชัย ประสงค์สันติ ไม่ได้แสดง, มุข ปอบหยิบบินได้ด้วยพัดสันกำแพง |
2535 | บ้านผีปอบ 7 | ปอบหยิบ | ไล่จับผีปอบถึงเขาพระวิหาร, ธงชัย ประสงค์สันติ กลับมาแสดงนำอีกครั้ง, ภาคสุดท้ายของ เกียรติ กิจเจริญ |
2535 | บ้านผีปอบ 8 | ปอบแอน (ปอบฝรั่ง) | สมาชิกในทีมวิจัยผีปอบ คือ แอน โดนผีปอบเข้าสิง, กลุ่มตลก กลิ่นสี (กาละแม, ซานโต๊ส, ชลิต) กลับมาร่วมแสดงในซีรีส์บ้านผีปอบ อีกครั้ง, ศุภกร อุดมชัย และ ท้วม ทรนง มาร่วมกลุ่มวิ่งหนีผีปอบด้วย |
2536 | บ้านผีปอบ 9 | ปอบหยิบ, ปอบแอน (ปอบฝรั่ง) | ปอบหยิบสร้างความอลหม่านในกรุงเทพฯ เพราะหลุดหลงกับทีมนักวิจัยผีปอบ ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง, กล้วย เชิญยิ้ม มาร่วมแสดงอยู่ในแก๊งวิ่งหนีผีปอบเช่นกัน, ตลกอาวุโส สงัด เหงือกงาม กลับมาเล่นเป็น ลุงบิลลี่ อีกครั้งในภาคนี้, มุกวิ่งเข้าไปหลบในทีวี |
2536 | บ้านผีปอบ 10 | ปอบหยิบ | มีของเล่นประเภทจรวด, วิ่งหนีปอบหยิบรอบบริเวณที่ฉาย หนังกลางแปลง, มุกขึ้นรถชาวบ้านพอถึงที่หมายแล้วคิดเงิน |
2537 | บ้านผีปอบ 11 | ปอบหยิบ ปอบทองคำ | ปอบทองคำฟื้นคืนชีพ ขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะภาพวาดในหนังสือการ์ตูน บ้านผีปอบ , หม่ำ จ๊กมก และ น้อย โพธิ์งาม มาร่วมแสดงอยู่ในแก๊ง วิ่งหนีผีปอบ เป็นภาคแรก ในภาคนี้, มี อ.อู๊ดดี้- ชัยณรงค์ อริยะประเสริฐ นักวาดภาพชื่อดัง จากรายการ มาตามนัด รับบทเป็นนักเขียนการ์ตูน เรื่อง บ้านผีปอบ |
2537 | บ้านผีปอบ 13 | ปอบหยิบ ปอบดี้ (ผีปอบเขมร) | ข้ามภาคที่ 12 ไปเลย โดยให้เหตุผลว่า เพื่อไม่ให้เป็นผีโหลๆ ภาคนี้มีนักแสดงและทุนสร้างมากขึ้น,ผีปอบอาละวาดหนักขึ้น โดยที่ชาวบ้านได้แต่สงสัยว่านอกจากปอบหยิบแล้ว ใครเป็นผีปอบที่ออกอาละวาดอีกบ้าง, มุกวิ่งหนีลงตุ่มกลับมาใช้ในภาคนี้ |
2551 | บ้านผีปอบ 2008 | ปอบหยิบ | ปอบหยิบกลับมาอีกครั้ง จากการปลุกขึ้นมาของหมอคล้าย (กลศ อัทธเสรี) สร้างความอลหม่านให้ชาวบ้านไปทั่วในรอบ 14 ปี ภาคนี้นับเป็นภาคที่ 14 ของ ซีรีส์บ้านผีปอบ, กล้วย เชิญยิ้ม กลับมาแสดงอีกครั้ง, รวิช ไรวินท์ แจ็ค เชิญยิ้ม และ สมเจต พยัฆโส ร่วมแสดงอยู่ในแก๊งวิ่งหนีผีปอบด้วย, มีทีมนักพากย์พันธมิตร มาพากย์ในบางคน |
2554 | บ้านผีปอบ รีฟอร์เมชั่น | ปอบหยิบ [7] | ปอบหยิบอาละวาดอีกครั้งหลังจากตกหน้าผาหายสาบสูญไป 20 ปีก่อน มีการเสริมในเรื่องของเทคโนโลยีทันสมัย มีนักแสดงตลกจากวงการโฆษณากับทีมนักพากย์พันธมิตร มาร่วมกลุ่มวิ่งหนีผีปอบด้วย, กรุ๊ฟโฟร์กลับมาสร้างอีกครั้ง,ได้ สายยนต์ ศรีสวัสดิ์ ผู้กำกับบ้านผีปอบคนแรกมาช่วยควบคุมงานสร้างอีกด้วย, ปอบหยิบไถลสเก็ตบอร์ดอีกครั้ง |
บ้านผีปอบ เป็นภาพยนตร์เกรดบี ในภาคแรกเวลาฉายจะไม่ค่อยได้รอบพิเศษเหมือนภาพยนตร์เกรดเอ จนในภาคสอง มีบางโรงภาพยนตร์ฉายเพิ่มรอบเที่ยงคืน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของภาคสามและก็ทำเรื่อยมา ซึ่งจากรายได้ที่ฉาย ในกรุงเทพจะได้ไม่มากนัก แต่ในต่างจังหวัดอย่างในภาคอีสานและภาคเหนือหนังประสบความสำเร็จทุกภาค ครั้งหนึ่งขณะถ่ายทำภาค 7 ที่เขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ มีคนมามุงดูการถ่ายทำอยู่มาก และมีคนมาขอลายเซ็นณัฐนี สิทธิสมาน, เกียรติ กิจเจริญ, ธงชัย ประสงค์สันติ สามดารานำในเรื่อง ทั้งคนไทยและกัมพูชากันแน่นขนัด[4]
บ้านผีปอบ มีอิทธิพลต่อภาพยนตร์ในรุ่นหลัง ๆ ที่มักมีสไตล์ที่เลียนแบบหรือล้อเลียนมา อย่างเช่น ในปี 2551 มีภาพยนตร์เรื่อง บ้านผีเปิบ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากบ้านผีปอบ แต่มีเนื้อเรื่องและสไตล์ที่ต่างกัน ตามยุคตามสมัย[8] ในปีเดียวกันภาพยนตร์เรื่อง ว้อ ... หมาบ้ามหาสนุก ที่มีภาพลักษณะชาวบ้านวิ่งหนีหมาบ้า คล้าย ๆ กับบ้านผีปอบ[9] ในปี พ.ศ. 2561 เป็นเอก รัตนเรือง กำกับซีรีส์ทางช่องเอชบีโอ ในโครงการ Folklore คือซีรีส์สยองขวัญ 6 ตอน โดยรวบรวมผู้กำกับจาก 6 ประเทศแถบเอเชีย ที่สะท้อนถึงความเชื่อ ความเร้นลับ อันเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นเฉพาะตัวของแต่ละประเทศ โดยตอนของเป็นเอก ใช้ชื่อว่า "ปอบ" ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก บ้านผีปอบ[10]
นอกจากนั้น ณัฐนี ผู้แสดงเป็นปอบยังได้ปรากฏตัวอยู่ในภาพยนตร์แนวเดียวกันอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนกำจัดปอบ, แม่นาคเจอผีปอบ, ปลุกผีมาจี้ปอบ และ สยองก๋อยส์[2]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.