Loading AI tools
ภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2566 กำกับโดย ทวีวัฒน์ วันทา จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธี่หยด (อังกฤษ: Death Whisperer; Tee Yod) เป็นภาพยนตร์ไทยแนวสยองขวัญเหนือธรรมชาติ ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2566 กำกับโดย ทวีวัฒน์ วันทา นำแสดงโดย ณเดชน์ คูกิมิยะ, เดนิส เจลีลชา คัปปุน, รัตนวดี วงศ์ทอง, กาจบัณฑิต ใจดี, พีระกฤตย์ พชรบุณยเกียรติ, ณัฐชา นีน่า เจสซิกา พาโดวัน, อริศรา วงษ์ชาลี และ ปรเมศร์ น้อยอ่ำ[2] ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อ ธี่หยด...แว่วเสียงครวญคลั่ง ของกฤตานนท์[3] สร้างโดย เมเจอร์ จอยน์ ฟิล์ม และ บีอีซีเวิลด์ อันเป็นกิจการร่วมค้าของ บีอีซีเวิลด์ (ช่อง 3) และ เอ็ม สตูดิโอ[4] โดยเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ถูกถ่ายทำเพื่อเข้าฉายในระบบไอแมกซ์ทั้งระบบ ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2515 ที่เด็กสาวในหมู่บ้านห่างไกลในอำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรีที่เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา
ธี่หยด | |
---|---|
ใบปิดภาพยนตร์ | |
กำกับ | ทวีวัฒน์ วันทา |
บทภาพยนตร์ | สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ ธรรมณันน์ จุฬาบริรักษ์ |
สร้างจาก | ธี่หยด...แว่วเสียงครวญคลั่ง โดย กฤตานนท์ |
อำนวยการสร้าง | ณฤทธิ์ ยุวบูรณ์ |
นักแสดงนำ | |
ดนตรีประกอบ | เทิดศักดิ์ จันทร์ปาน |
เพลงประกอบ | ธี่เดินทางกลับมา – กานต์ เดอะพาร์กินสัน โปรดเถิดดวงใจ – ทูล ทองใจ |
บริษัทผู้สร้าง | เมเจอร์ จอยน์ ฟิล์ม และ บีอีซีเวิลด์ โดย บีอีซีเวิลด์ และ เอ็ม สตูดิโอ |
ผู้จัดจำหน่าย | เอ็ม พิคเจอร์ส |
วันฉาย | 26 ตุลาคม 2566 |
ความยาว | 121 นาที |
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
ทุนสร้าง | 100 ล้านบาท[1] |
ทำเงิน | 198.7 ล้านบาท (กรุงเทพฯ ปริมณฑล และเชียงใหม่) 502 ล้านบาท (ทั่วประเทศ) |
ต่อจากนี้ | ธี่หยด 2 |
ภาพยนตร์นั้นประสบความสำเร็จอย่างมากในการเข้าฉายในประเทศไทย ได้รับการประกาศสร้างเป็นจักรวาลภาพยนตร์ธี่หยด โดยจะเริ่มที่ ธี่หยด 2 ภาคต่อโดยตรงของภาพยนตร์ และภาคต่อแยกของตัวละครยักษ์ในอนาคต
พ.ศ. 2515 เกิดเหตุเด็กสาวในหมู่บ้านห่างไกลในจังหวัดกาญจนบุรีเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา เมื่อได้ยินเสียงชวนขนหัวลุก “ธี่หยด… ธี่หยด…” ในยามราตรี หลังจากยักษ์ปลดประจำการเขาได้รับโทรเลขด่วนจากประพันธ์ นายทหารที่สนิทผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจาก บุญเย็น ผู้เป็นมารดาว่าให้รีบกลับมาบ้าน หลังจากที่มีข่าวเด็กสาวตายอย่างน่าสยดสยองแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว หยาดสัมผัสได้ถึงภัยเร้นลับที่คืบคลานเข้ามาในหมู่บ้าน และแย้มน้องสาวของเธอเริ่มมีอาการแปลก ๆ หลังจากเจอหญิงชุดดำลึกลับระหว่างกลับจากโรงเรียน อาการของแย้มทรุดลงเรื่อย ๆ พร้อมท่าทีประหลาดอย่างหาคำตอบไม่ได้ ทุกคืนแย้มจะตื่นขึ้นและหันมามองยี่ หยาดพยายามจับผิดแย้มว่าเป็นอะไร แต่ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงธี่หยดหยาดก็จะสลบลงไปและไม่รู้สึกอะไรเลยจนถึงเช้า
ยักษ์ ยศ และยอด พี่ชายทั้งสามคนเริ่มสังเกตเห็นถึงอาการผิดปกติของแย้ม และพยายามจะร่วมจับผิดด้วย คืนหนึ่งยักษ์ตัดสินใจนั่งเฝ้าทั้งคืนจนได้เริ่มได้ยินเสียงธี่หยด ยักษ์กำลังจะสลบลงแต่เขาเอามือไปอิงไฟให้รู้สึกตื่น ทันใดนั้นยักษ์จึงหยิบปืนไล่ยิงผีไปทั่วไร่ ทุกคนตกใจกับปฏิกิริยาของยักษ์ และมุ่งหาคำตอบว่าแย้มหายไปไหน จนกระทั่งยศและยอดเจอแย้มนอนสลบอยู่ใกล้กอไผ่ ทั้งสองจึงรีบนำแย้มกลับมาบ้านพร้อมกับให้นอนพักรักษาตัว วันต่อมาประพันธ์นำหมอผีเข้ามาที่บ้าน หมอผีที่เห็นอาการของแย้มก็รู้ได้ทันทีว่าผีที่เข้าสิงแย้มเป็นผีที่เล่นกับจิตใจคน และมันตั้งใจยึดร่างของแย้มเพราะเป็นร่างที่มีพลังทิพย์สูง หรือก็คือร่างที่เจ้าของร่างเคยเกือบเสียชีวิตมาแล้วแต่รอดฟื้นกลับมาได้ บุญเย็นจึงรู้ทันทีว่าที่แย้มตกเป็นเป้าหมาย เพราะตอนเด็กแย้มเคยเป็นไข้มาลาเรียและเกือบเอาชีวิตไม่รอด หมอผีจึงไล่หาต้นตอของเหม็นในบ้านจนไปเจอเข้ากับกอไผ่ที่เฮียฮั่งผู้เป็นบิดารักมาก หมอผีสั่งให้โค่นกอไผ่ทิ้งและก็ได้พบกับของเหม็นที่ผีได้มาคายทิ้งไว้ หมอผีจึงสั่งให้ยักษ์เผาของพวกนี้ทั้งหมด เมื่อสิ้นฤทธิ์ไฟ แย้มจึงสลบลงแต่ยังอยู่ในอาการโคม่า หมอผีจึงได้สั่งให้รีบพาตัวแย้มไปยังโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด แต่คนขับรถต้องเป็นคนจิตแข็ง ยักษ์จึงต้องรับหน้าที่ขับรถพาแย้มไปส่งโรงพยาบาลให้ไวที่สุด ก่อนที่ผีจะตามมาทวงร่างแย้มคืน
ระหว่างทางแย้มกลับถูกผีชุดดำสิงเข้าอีกครั้ง คราวนี้ผีชุดดำร่ายมนต์ตั้งใจให้ยักษ์หลับในเพื่อที่จะได้ขับรถชนจนเสียหลัก ผีชุดดำจึงเผยว่าใจจริงเธอไม่ได้ตั้งใจเอาร่างแย้ม แต่ตั้งใจเอาร่างน้องคนเล็กซึ่งก็คือยี่มากกว่า แต่เพราะเล่นกับแย้มแล้วสนุก มันจึงเลือกที่จะยึดร่างแย้มไปเป็นตัวตายตัวแทนของยายช่วยแทนยี่ ยักษ์เห็นท่าไม่ดีเลยตัดสินใจเอามีดแทงแขนแย้มให้เลือดออก พริบตาที่มีดแทงลงที่แขนของแย้ม ผีชุดดำก็ร้องให้อย่างบ้าคลั่งก่อนหลุดออกจากร่างแย้ม บัดนี้ผีชุดดำไม่สามารถยึดร่างแย้มได้อีกต่อไป เพราะร่างแย้มสิ้นซึ่งพลังทิพย์แล้ว ยักษ์จึงได้โอกาส เอาปืนที่ใส่กระสุนอาคมยิงใส่ผีชุดดำจนสลายไป
ยักษ์พาแย้มมาส่งที่โรงพยาบาลได้สำเร็จ อาการของแย้มดีขึ้นตามลำดับ ครอบครัวดีใจที่ได้แย้มคนเดิมกลับมา และหวังว่าเรื่องร้ายๆ ทั้งหมดจะจบลง แต่แล้วในคืนวันที่หมอกำลังจะให้แย้มออกจากโรงพยาบาล หยาดกลับได้ยินเสียงธี่หยดขึ้นมาอีกครั้ง แย้มลุกขึ้นนั่ง พร้อมถอนฟันฝากหยาดไว้หนึ่งซี่ และบอกว่าบัดนี้หมดเวลาของเธอแล้ว หยาดตกใจเล็กน้อยกับคำพูดของแย้ม เพราะนั่นทำให้เธอรู้ทันทีว่าที่นั่งอยู่ข้างหน้าคือผีชุดดำที่กำลังมาบอกลาหยาด สิ้นคำพูดแย้มก็ล้มลงและชักดิ้นชักงอก่อนเสียชีวิตไปในที่สุด
หลังงานศพของแย้มจบลง ยักษ์เดินทางกลับไปยังจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง เขาใช้ขวานที่เตรียมมาด้วย ฟาดลงไปที่ศาลเพียงตาแบบไม่มีการลังเล และจุดไฟเผาไปพร้อมกัน ยักษ์ได้แต่หวังแค่ว่า ผีชุดดำจะหายไปกับสิ่งที่เขาทำตอนนี้ ถ้าไม่เช่นนั้น เขาต้องเป็นฝ่ายไล่ล่าผีนั่นจนกว่าจะตายไปข้างหนึ่ง
ธี่หยด สร้างจากเรื่องสยองขวัญที่โพสต์บนพันทิป เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งมีความคิดเห็นมากกว่า 2,000 ความเห็น และส่งต่อกว่า 130,000 ครั้ง เรื่องนี้ถูกเขียนใหม่เป็นนวนิยายที่ออกในปี 2560 โดยผู้เขียนคนเดียวกัน เพียงไม่กี่เดือนก่อนที่หนังจะเข้าฉายก็มีการเล่าอีกครั้งในรายการ The Ghost Radio รายการผียอดนิยมบนโลกออนไลน์ กฤตนนท์ ผู้เขียนอ้างว่าเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับครอบครัวแม่ของเขาในอดีตตอนที่เธออายุ 15 ปี ในจังหวัดกาญจนบุรี[5][4][6]
คำว่า “ธี่หยด” มาจากหญิงสาวลึกลับในชุดดำ ซึ่งยังคงลึกลับทั้งความหมายและที่มาทางภาษา มีคนแนะนำว่าอาจเป็นภาษามอญ อย่างไรก็ตาม ดร.องค์ บรรจุน ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและวัฒนธรรมมอญกล่าวว่าคำนี้ไม่มีความหมาย นอกจากนี้ตัวเขาเองไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อนและหากมีคำใดที่มีการออกเสียงใกล้เคียงที่สุด ออกเสียงว่า แตะ โหยด แปลว่า ยักเอว[7]
ทวีวัฒน์ วันทา ผู้กำกับยอมรับว่าเขาเอาสไตล์การหลอกหลอนมาจากเรื่อง ผีอมตะ (1981) เป็นผีที่หัวเราะเยาะคนดูและมีวิธีหลอกหลอนคนอย่างบ้าคลั่ง
ภาพยนตร์เรื่องนี้จัดพิธีบวงสรวงที่สตูดิโอช่อง 3 หนองแขม เมื่อวันจันทร์ที่ 24 เมษายน 2566 และเริ่มถ่ายทำคิวแรกในวันพุธที่ 26 เมษายน ก่อนที่วันที่ 9 สิงหาคม 2566 ทางทีมผู้สร้างได้เผยแพร่โปสเตอร์ของภาพยนตร์ออกมาให้ชมกัน[4] ในวันพุธที่ 6 กันยายน 2566 มีการปล่อยทีเซอร์แรกให้ชมและเปิดเผยรายชื่อนักแสดงอย่างเป็นทางการ[8][5]
ต่อมาในวันจันทร์ที่ 25 กันยายน 2566 เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และ ไอแมกซ์ คอร์ปอเรชั่น ร่วมกับ เมเจอร์ จอยน์ ฟิล์ม ร่วมกันประกาศเปิดตัวภาพยนตร์ที่จะเข้าฉายในระบบไอแมกซ์ อย่างเป็นทางการ ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำโดยใช้กล้องเฉพาะที่ได้รับการรับรองจากไอแมกซ์ และส่งไปรีมาสเตอร์ด้วยเทคโนโลยี IMAX DMR เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์ และกรุงศรีไอแมกซ์ ทั้ง 7 สาขาอย่างเป็นทางการในประเทศไทย[9]
ต่อมาในวันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน 2566 ช่อง 3 และ เอ็ม สตูดิโอ ได้จัดพิธีบวงสรวงและแถลงข่าวเปิดตัวภาพยนตร์ ณ ลานหน้าอาคารมาลีนนท์ทาวเวอร์ (ช่อง 3)[10]
งานกาล่ารอบปฐมทัศน์สำหรับเรื่อง ธี่หยด จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ก่อนฉายทั่วประเทศ 2 วัน ที่ Infinity Hall ชั้น 5 สยามพารากอน โดยมีนักแสดงและทีมงานเข้าร่วมงานกันพร้อมเพรียง[11] ภายในงานแม่ของกฤตนนท์ (หยาดในภาพยนตร์) เจ้าของเรื่องก็มาร่วมงานด้วย[12]
เข้าฉายวันแรกวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2566 กวาดรายได้ 39 ล้านบาท ขึ้นแท่นหนังไทยที่ทำรายได้เปิดตัวสูงสุดแห่งปี[13] ก่อนจะทำรายได้ 100 ล้านบาทภายใน 3 วัน[14] และหลังเข้าฉายได้เพียง 5 วัน ก็ทำรายได้ไปแล้ว 300 ล้านบาท ขึ้นแท่นหนังไทยทำรายได้เร็วที่สุดแห่งปี[15][1] ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในสิงคโปร์เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมโดยมี Golden Village และ Killermud Films เป็นผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์[16] และยังเข้าฉายในมาเลเซียและบรูไนโดย mm2 Entertainment และ Shanghai Pictures เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 และในฟิลิปปินส์โดย Pioneer Films เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์[17][18] ต่อมาสร้างสถิติเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลอันดับที่ 9 ในกรุงเทพ ปริมณฑล และเชียงใหม่
หลังจากที่หนังเข้าฉายได้ประมาณหนึ่งเดือนและทำเงินได้มากมาย ทางช่อง 3 และเมเจอร์จอยน์ฟิล์มเจ้าของลิขสิทธิ์จึงจัดโปรโมชั่นลดราคาตั๋วเหลือเพียง 69 บาท และในระบบไอแมกซ์ เหลือเพียง 99 บาทเท่านั้น[19]
ในสิงคโปร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคำวิจารณ์ที่หลากหลาย เชอร์ลีน อึ้ง จาก The New Paper เขียนว่า "ภาพยนตร์มีจังหวะที่ดีผสมผสานการเล่าเรื่องที่น่าสนใจและตัวละครที่น่าจดจำ"[16] ในขณะที่ Douglas Tseng จาก 8 Days เปรียบเทียบภาพยนตร์เรื่องนี้กับภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องอื่น ๆ ที่ออกฉายในสิงคโปร์[20]
วันที่ 10 เมษายน 2567 ภาพยนตร์เรื่องธี่หยดได้นำมาลงในรูปแบบดิจิตอลสตรีมมิ่งโดยรับชมผ่านทางเน็ตฟลิกซ์[21]
นักแสดง | รับบท |
---|---|
ณเดชน์ คูกิมิยะ | ยักษ์ |
เดนิส เจลีลชา คัปปุน | หยาด |
รัตนวดี วงศ์ทอง | แย้ม |
กาจบัณฑิต ใจดี | ยศ |
พีระกฤตย์ พชรบุณยเกียรติ | ยอด |
ณัฐชา นีน่า เจสซิกา พาโดวัน | ยี่ |
อริศรา วงษ์ชาลี | บุญเย็น (แม่) |
ปรเมศร์ น้อยอ่ำ | เฮียฮั่ง (พ่อ) |
องอาจ เจียมเจริญพรกุล | จ่าปพันธ์ |
พอเจตน์ แก่นเพชร | ลุงพุฒิ |
มานิตา ชอบชื่น | ผีชุดดำ |
จำปา แสนพรม | ยายช่วย |
ในการให้สัมภาษณ์กับรายการโหนกระแส ทวีวัฒน์ วันทา บอกว่าภาคต่อมีความเป็นไปได้มาก นอกจากนี้ตัวหนังเองก็ดูเหมือนจะสื่อความหมายเดียวกัน ฉากจบแสดงให้เห็นว่ายักษ์บุกเข้ามาทำลายศาลพระภูมิที่พังทลายและต้นไม้ใหญ่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้หญิงชุดดำ ก่อนจะพูดปิดท้ายว่า “มึงกับกูต้องได้เจอกันอีกแน่ ๆ” พร้อมกับเห็นผู้หญิงชุดดำด้วยดวงตาทั้งสองข้างของเขาเอง[6]
ในวันที่ 31 มกราคม 2567 ณเดชน์ คูกิมิยะ ผู้รับบท ยักษ์ ได้ให้สัมภาษณ์ภายในงานอีเว้นท์ว่า ธี่หยด ภาค 2 ได้เตรียมเปิดกล้องถ่ายทำภายในเดือนมีนาคม โดยณเดชน์ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าเขาได้เข้าไปพูดคุยกับ แป๊ป ณฤทธิ์ ยุวบูรณ์ โปรดิวเซอร์และ คุ้ย ทวีวัฒน์ วันทา ผู้กำกับภาพยนตร์ เมื่อช่วงปลายปีที่แล้วหลังจากที่ภาพยนตร์ภาคแรกประสบความสำเร็จว่าอยากจะทำภาคสองต่อ เพราะคิดว่าคนดู บางคนก็รู้สึกหมั่นไส้อีผีชุดดำ อยากจะรู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ล้างแค้นและเป็นใครมาจากไหนเดี๋ยวภาคสองก็คงจะมีเล่าตรงนี้ และก็จะมีเข้าไปคุยกับผู้ใหญ่ ถึงดีเทลและเรื่องราวในภาคนี้ต่อ[22]
ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ได้มีการบวงสรวงเอาฤกษ์ภาพยนต์ธี่หยด 2 ณ สตูดิโอช่อง 3 หนองแขม ก่อนเริ่มถ่ายทำจริงในต้นเดือนมีนาคม พ.ศ.2567 โดยมีผู้จัด ผู้กำกับ ทีมงานและนักแสดงหลักจากภาคแรกนำโดย ณเดชน์ คูกิมิยะ, เดนิส เจลีลชา คัปปุน, รัตนวดี วงศ์ทอง, กาจบัณฑิต ใจดี และ พีระกฤตย์ พชรบุณยเกียรติ มาร่วมงานครั้งนี้[23]
ภาพยนตร์ ธี่หยด 2 มีกำหนดเข้าฉายวันที่ 10 ตุลาคม 2567
เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องธี่หยดมีชื่อว่า "ธี่เดินทางกลับมา" ประพันธ์คำร้องโดยณรงค์วิทย์ เตชะธนะวัฒน์ ส่วนทำนองและการเรียบเรียงเสียงประสานเป็นของปรเมศวร์ เหมือนสนิท โดยได้นิภัทร์ กำจรปรีชา มือกีตาร์และนักร้องนำของวงเดอะพาร์กินสัน เป็นผู้ถ่ายทอด[24] รวมถึงมีการนำบทเพลง โปรดเถิดดวงใจ ของทูล ทองใจ มาใช้ประกอบภาพยนตร์ด้วย เนื่องมาจากอิงตามนวนิยายที่เป็นโครงเรื่อง บุญเย็นผู้เป็นมารดานั้นเป็นแฟนคลับตัวยงของ ทูล ทองใจ และทุกเช้าเธอมักจะเปิดวิทยุเพื่อฟังบทเพลงของทูลโดยเฉพาะ
ปี | รางวัล | สาขา | ผู้ได้รับการเสนอชื่อ | ผลการตัดสิน |
---|---|---|---|---|
2566 | SUPERSTAR MAYA IDOL AWARDS 2023 | SUPERSTAR ROOKIE | รัตนวดี วงศ์ทอง | ชนะ |
2567 | Asia Top Awards 2024[25] | รางวัลนักแสดงดาวรุ่ง (Rising Star) | กาจบัณฑิต ใจดี | ชนะ |
กินรีทองมหาชน ครั้งที่9[26] | นักแสดงภาพยนตร์ชายดาวรุ่งแห่งปี | กาจบัณฑิต ใจดี | ชนะ | |
รางวัลสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ครั้งที่ 13 | ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม | ธี่หยด | เสนอชื่อเข้าชิง | |
นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | ณเดชน์ คูกิมิยะ | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม | เดนิส เจลีลชา คัปปุน | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
KAZZ AWARDS 2024[27] | Hottest Film Awards | ธี่หยด | ชนะ | |
รางวัลพิฆเนศวร ครั้งที่ 12 [28] | นักแสดงดาวรุ่งหญิงยอดเยี่ยม | เดนิส เจลีลชา คัปปุน | ชนะ | |
นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม | รัตนวดี วงศ์ทอง | ชนะ | ||
รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 32 | รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม | ธี่หยด | เสนอชื่อเข้าชิง | |
รางวัลออกแบบงานสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง | |||
MAYA TV AWARDS 2024[29] | ดาราสมทบชายยอดเยี่ยม สาขาภาพยนตร์ | กาจบัณฑิต ใจดี | ชนะ | |
ดาราสมทบหญิงยอดเยี่ยม สาขาภาพยนตร์ | เดนิส เจลีลชา คัปปุน | ชนะ | ||
รางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 32 [30] | รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | ณเดชน์ คูกิมิยะ | เสนอชื่อเข้าชิง | |
รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม | อริศรา วงษ์ชาลี | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม | ธี่หยด | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
รางวัลบันทึกเสียงและผสมเสียงยอดเยี่ยม | ธี่หยด | ชนะ | ||
รางวัลเพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | ธี่เดินทางกลับมา | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
รางวัลออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม | ธี่หยด | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
รางวัลเทคนิคพิเศษการแต่งหน้ายอดเยี่ยม | ธี่หยด | ชนะ | ||
HOWE AWARDS 2024 | HOWE HOTTEST FILM AWARD 2024 | ธี่หยด | เสนอชื่อเข้าชิง | |
DailynewsAwards2024[31] | D-Movie Actor | ณเดชน์ คูกิมิยะ | ชนะ |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.