Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตะคริว (อังกฤษ: cramp) เป็นการหดเกร็งของกล้ามเนื้อโดยไม่ตั้งใจและไม่คลายตัวออกตามปกติ มักเป็นตามแขนและขา แม้ปกติจะเป็นชั่วคราวและไม่เป็นอันตราย แต่ก็อาจทำให้เจ็บปวดทรมาน ทำให้กล้ามเนื้อที่เป็นปัญหาขยับไม่ได้เหมือนกับเป็นอัมพาต หากเกิดขึ้นระหว่างขับรถหรือว่ายน้ำ อาจก่ออุบัติเหตุและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ปกติจะเริ่มอย่างกะทันหัน เป็นไม่กี่นาที แต่ก็อาจนานเป็นวินาที ๆ นาที ๆ หรือชั่วโมง ๆ อาจเกิดที่กล้ามเนื้อโครงร่างหรือกล้ามเนื้อเรียบ ตะคริวที่กล้ามเนื้อโครงร่างอาจมีเหตุจากความล้าหรือขาดอิเล็กโทรไลต์ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม หรือแมกนีเซียม ดังในนักกีฬาที่ออกกำลังหนักหรือมากเกินไป ตะคริวที่กล้ามเนื้อเรียบอาจเกิดเพราะมีประจำเดือนหรือกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ตะคริวขาตอนกลางคืนมักเกิดกับผู้สูงอายุหรือหญิงมีครรภ์
การหดเกร็งกล้ามเนื้อปกติเริ่มจากกระแสประสาทที่ส่งมาจากสมองผ่านเซลล์ประสาทในระหว่าง ๆ ไปถึงกลุ่มเซลล์ในกล้ามเนื้อ ทำให้เซลล์ปล่อยไอออนแคลเซียมจาก sarcoplasmic reticulum (SR) ซึ่งเป็นหน่วยเก็บแคลเซียม แคลเซียมก็จะทำให้เส้นใยฝอยกล้ามเนื้อ (myofibrils) หดเกร็งโดยใช้พลังงานจากอะดีโนซีนไตรฟอสเฟต (ATP) ในขณะเดียวกัน SR ก็จะดูดแคลเซียมคืนผ่านปัมพ์แคลเซียมแบบเร็ว (sodium-calcium exchanger) เซลล์แต่และตัวในกล้ามเนื้อจะหดเกร็งอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น การหดเกร็งโดยรวมจะแรงกว่าถ้ากล้ามเนื้อทั้งหมดหดเกร็ง ซึ่งต้องอาศัยกระแสประสาทมากกว่าและการทำงานของกลุ่มเซลล์อื่น ๆ ในกล้ามเนื้อ เมื่อกระแสประสาทหยุดลง แคลเซียมก็จะหยุดไหลออกจาก SR แล้วกล้ามเนื้อก็จะคลายตัว
ปัมพ์แคลเซียมแบบเร็วทำงานโดยอาศัยเกรเดียนต์ของโซเดียมคือโซเดียมจะไหลออกจาก SR โดยแลกเปลี่ยนกับแคลเซียมที่ไหลกลับเข้า SR และปัมพ์โซเดียม-โพแทสเซียมจะเป็นตัวรักษาเกรเดียนต์ของโซเดียม การขาดโซเดียมจะทำให้เกรเดียนต์ของโซเดียมแรงไม่พอให้ทำงานเป็นปัมพ์แคลเซียม ดังนั้น ไอออนแคลเซียมก็จะคงอยู่ในเส้นใยฝอยกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อไม่คลายตัวและทำให้เป็นตะคริว แต่ในที่สุดตะคริวก็จะคลายลงอาศัยปัมพ์แคลเซียมแบบช้า (plasma membrane Ca2+ ATPase) ซึ่งได้พลังงานมาจาก ATP ไม่ใช่จากเกรเดียนต์ของโซเดียม และปัมพ์แคลเซียมกลับเข้าไปในหน่วยเก็บ[ต้องการอ้างอิง]
ตะคริวก็สามารถเกิดด้วยถ้ากล้ามเนื้อไม่คลายตัวเพราะใยไมโอซิน (myosin fiber) ไม่หลุดออกจากใยแอกติน (actin filament) อย่างสิ้นเชิง ในกล้ามเนื้อโครงร่าง ระดับ ATP ต้องมากพอเพื่อให้ส่วนปลายของใยไมโอซินเข้าต่อกับใยแอกติน หรือหลุดออกจากใยแอกติน ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อหดตัวหรือคลายตัว ถ้า ATP ไม่พอ ส่วนปลายของใยไมโอซินก็จะคงยึดอยู่กับใยแอกติน ดังนั้น กล้ามเนื้อจึงต้องใช้เวลาสร้าง ATP ขึ้นมาใหม่ก่อนที่ใยไมโอซินจะหลุดออกจากใยแอกตินแล้วทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้
เหตุให้เป็นตะคริวรวมทั้ง[1] การคู้เกิน/การงอเกิน อวัยวะขาดออกซิเจน (hypoxia) อุณหภูมิเปลี่ยนเร็วเกิน ขาดน้ำ หรือภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ อาจเป็นอาการหรือภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์, โรคไต, โรคไทรอยด์, ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ, ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ, ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ, restless legs syndrome, หลอดเลือดดำขอด[2] และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง[3]
ตั้งแต่ปี 1965 หรือก่อนหน้านั้น นักวิจัยได้สังเกตว่า ตะคริวที่ขาและ restless legs syndrome อาจมีเหตุจากมีอิซูลินมากเกิน ซึ่งบางครั้งเรียกว่า ภาวะอินซูลินในเลือดเกิน[4]
ปกติกล้ามเนื้อโครงร่างจะอยู่ในอำนาจจิตใจ กล้ามเนื้อโครงร่างที่เป็นตะคริวบ่อยที่สุดก็คือน่อง ต้นขา และอุ้งเท้า ซึ่งมักเกิดเมื่อออกแรงมากและอาจเจ็บมาก แต่ก็สามารถเกิดเมื่ออยู่เฉย ๆ สบาย ๆ คนที่มีประมาณ 40% จะรู้สึกเจ็บกล้ามเนื้อมาก อาจใช้การอวัยวะนั้นไม่ได้ และอาจเจ็บหลายวันกว่าจะหาย
ตระคริวขาตอนกลางคืนที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจจิตใจจะเกิดที่น่อง ฝ่าเท้า หรือกล้ามเนื้ออื่น ๆ ตอนกลางคืน หรือเมื่อกำลังพักผ่อนอยู่แม้จะเกิดน้อยกว่า อาจเป็นชั่วครู่จนถึงหลายนาที แต่อาจยังเจ็บแม้หลังตะคริวหยุดหรือกล้ามเนื้อคลายตัวแล้ว คนสูงอายุมีบ่อยกว่า[5] แต่ก็เกิดค่อนข้างบ่อยกับเด็กวัยรุ่นและบางคนเมื่อกำลังออกกำลังกายตอนกลางคืน นอกจากจะเจ็บแล้ว ตะคริวขาตอนกลางคืนอาจทำให้เป็นทุกข์และวิตกกังวล[6]
เหตุยังไม่ชัดเจน อาจเป็นเพราะขาดน้ำ ขาดเกลือแร่บางอย่าง (คือแมกนีเซียม โพแทสเซียม แคลเซียม และโซเดียม แม้หลักฐานจะไม่ชัดเจน)[7][8][9] และกล้ามเนื้อขาดเลือดเพราะนั่งนอนในท่าเดียวนาน ตะคริวตอนกลางคืน (เป็นที่น่องเกือบทั้งหมด) ในระยะตั้งครรภ์หลัง ๆ เป็นเรื่อง "ปกติ"[10] แต่จะเจ็บต่าง ๆ กันเริ่มตั้งแต่เบา ๆ จนถึงหนัก
การสะสมกรดแล็กติกอาจจุดชนวน แต่ก็มักเกิดเมื่อกำลังออกกำลังกายหรือออกแรงที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ปัจจัยทางการแพทย์ที่สัมพันธ์กับตะคริวขารวมทั้งโรคหัวใจร่วมหลอดเลือด การล้างไต โรคตับแข็ง การตั้งครรภ์ และคลองไขกระดูกสันหลังที่เอวตีบ (lumbar canal stenosis) โรคที่ต้องวินิจฉัยแยกรวมทั้ง restless legs syndrome, ขากะเผลก (claudication), กล้ามเนื้ออักเสบ และโรคเส้นประสาทส่วนปลาย (peripheral neuropathy) โดยแยกอาศัยการสอบประวัติคนไข้และตรวจร่างกายอย่างละเอียด[9]
การยืดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว การนวดเบา ๆ การยืน การเดิน การอาบน้ำอุ่นอาจช่วยระงับตะคริว[11] ถ้าเป็นที่น่อง การดัดนิ้วโป้งขึ้นไปทางด้านหลัง (เช่น เหยียดเข่าและกระดกปลายเท้าขึ้น หรือยืนกดปลายเท้ากับพื้น หรืองอเข่าและโน้มตัวไปข้างหน้า) จะช่วยยืดกล้ามเนื้อ และในบางกรณีจะบรรเทาอาการได้ทันที การประคบด้วยน้ำอุ่นอาจช่วยได้โดยเฉพาะที่กล้ามเนื้อท้อง มีหลักฐานจำกัดในการทานแมกนีเซียม แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ carisoprodol (ยาคลายกล้ามเนื้อ) หรือวิตามินบี12 เพื่อบรรเทาอาการ[9] ไม่แนะนำให้ทานควินินเพื่อรักษาตะคริวขาตอนกลางคืนเพราะอาจแพ้จนถึงตายและเกิดภาวะเกล็ดเลือดน้อย อาการต่าง ๆ รวมทั้งภาวะหัวใจเสียจังหวะ, cinchonism[A] และ hemolytic-uremic syndrome[B] ยังอาจเกิดถ้าทานมาก[9]
ตะคริวกล้ามเนื้อเรียบอาจเป็นอาการของเยื่อบุมดลูกต่างที่ (endometriosis) หรือปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ และก็อาจเกิดกับสตรีในช่วงมีประจำเดือน (Menstrual cramps หรือ Period cramps) ด้วย
ยาหลายอย่างอาจเป็นเหตุให้เป็นตะคริวขาตอนกลางคืน รวมทั้ง[9][12]
ในบรรดาผลข้างเคียงต่าง ๆ statin อาจทำให้ปวดกล้ามเนื้อและเป็นตะคริวด้วย ส่วน raloxifene เป็นยาที่ทำให้ขาเป็นตะคริวบ่อยมาก ปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มโอกาสผลข้างเคียงเหล่านี้รวมทั้งการออกกำลังกาย อายุ เป็นหญิง ประวัติว่าเป็นตะคริว และโรคไทรอยด์
นักกีฬาที่ใช้ statins เกือบถึง 80% มีปัญหาทางกล้ามเนื้อ รวมทั้งตะคริว[13] แต่กลุ่มประชากรปกติที่ใช้ยาในอัตราร้อยละ 10-25 จะมีปัญหา[14][15] ในบางกรณี ผลที่ไม่ต้องการจะหายไปถ้าใช้ยา statin แบบอื่น ๆ แต่เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจถ้าอาการยังคงยืนเพราะอาจแย่ลงเป็นปัญหาหนักขึ้น การทานโคเอนไซม์คิว10 อาจช่วยเลี่ยงผลที่ไม่ต้องการ แต่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานพอว่าช่วยแก้ปัญหาโรคกล้ามเนื้อหรือปวดกล้ามเนื้อ[16]
การยืดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว การนวด และการดื่มน้ำให้มาก อาจช่วยแก้ปัญหาตะคริวธรรมดา[17] ถ้าเป็นตะคริวเพราะออกแรง ขาดน้ำและเกลือเพราะเสียเหงื่อมาก แล้วเกิดภาวะอิเล็กโทรไลต์ไม่สมดุล (โดยหลักคือโซเดียม แต่ไม่มีผลสำหรับแคลเซียม แมกนีเซียม และโพแทสเซียม) การดื่มน้ำและการได้เกลือจะทำให้ดีขึ้น[18]
ควินินน่าจะมีประสิทธิผล แต่เพราะผลข้างเคียงที่มี จึงใช้ต่อเมื่อวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล[19] วิตามินบี, naftidrofuryl, lidocaine และแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ก็อาจได้ผลด้วย[19] งานวิจัยได้แสดงว่า น้ำแตงกวาดองอาจมีประโยชน์เพราะมีโซเดียมและอิเล็กโทรไลต์สูง[20] ยาคลายกล้ามเนื้อ cyclobenzaprine มีผลป้องกันตะคริวกล้ามเนื้อ แม้ข้อมูลจะแสดงว่า ผลจะลดลงเมื่อทานเป็นเวลาหลายอาทิตย์[ต้องการอ้างอิง]
ก่อนเล่นกีฬา การเตรียมอบอุ่นร่างกาย การดัดกาย การยืดเส้นยืดสาย การเตรียมตัวเตรียมใจให้ดี การดื่มน้ำให้พอและการรักษาดุลอิเล็กโทรไลต์ คือดื่มน้ำและเกลือแร่ทดแทนให้เพียงพอ น่าจะช่วยป้องกันตะคริวกล้ามเนื้อ[17] ไม่ควรอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิกะทันหัน หลีกเลี่ยงอากาศเย็นมาก ผู้สูงอายุไม่ควรเปลี่ยนอิริยาบถเร็วเกิน หากเป็นบ่อย ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแก้ไข
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.