สนามกีฬาซิตีออฟแมนเชสเตอร์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สนามกีฬาซิตีออฟแมนเชสเตอร์ (อังกฤษ: City of Manchester Stadium) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ สนามกีฬาอัลติฮัด (อังกฤษ: Etihad Stadium) ด้วยเหตุผลตามชื่อผู้สนับสนุน[1] หรือในบางครั้งอาจเรียกว่า คอมส์ (CoMS) หรือ อีสต์แลนส์ (Eastlands)[10][11] เป็นสนามกีฬาในเมืองแมนเชสเตอร์ เป็นสนามกีฬาเหย้าของสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี เป็นสนามกีฬาใหญ่เป็นอันดับ 5 ของทีมพรีเมียร์ลีก และใหญ่เป็นอันดับ 12 ในสหราชอาณาจักร มีจำนวนที่นั่ง 47,805 ที่[2][7]
สนามกีฬาซิตีออฟแมนเชสเตอร์ เมื่อกุมภาพันธ์ 2016 | |
ชื่อเดิม | สนามกีฬาเอติฮัด[1] |
---|---|
ที่ตั้ง | สปอร์ตซิตี, ถนนโรว์สลีย์ แมนเชสเตอร์, M11 3FF |
พิกัด | 53°28′59″N 2°12′1″W |
เจ้าของ | สภาเทศบาลเมืองแมนเชสเตอร์ |
ผู้ดำเนินการ | สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี |
ความจุ | 47,805 – ฟุตบอลภายในประเทศ (2011–)[2] 47,726 – ฟุตบอลจัดโดยยูฟ่า[3] 60,000 – คอนเสิร์ต[4] และ มวย[5] 38,000 – กีฬาเครือจักรภพ 2002[6] |
ขนาดสนาม | 105 × 68 เมตร (115 × 74 หลา)[7] |
พื้นผิว | เดสโซกราสมาสเตอร์ |
การก่อสร้าง | |
ลงเสาเข็ม | ธันวาคม ค.ศ. 1999[8] |
เปิดใช้สนาม | 25 กรกฎาคม ค.ศ. 2002 (ใช้เป็นสนามแข่งกรีฑา) 10 สิงหาคม ค.ศ. 2003 (ใช้เป็นสนามแข่งฟุตบอล) |
ต่อเติม | ค.ศ. 2002–2003 |
งบประมาณในการก่อสร้าง | 112 ล้านปอนด์ (ก่อสร้างเป็นสนามแข่งกรีฑา)[9] 22 ล้านปอนด์ (ดัดแปลงเป็นสนามฟุตบอล)[9] 20 ล้าน (กรอบอาคารสนามฟุตบอล)[9] |
สถาปนิก | อารัป (ออกแบบสถาปัตยกรรม) เคเอสเอสอาร์คิเทกส์ (ออกแบบกรอบอาคาร) |
ผู้รับเหมาหลัก | บ. เลียงคอนสตรักชัน (ก่อสร้างเริ่มต้น) เลียงโอรูร์ก (ดัดแปลงสนาม) บ.วัตสันสตีล (โครงสร้างเหล็ก) |
การใช้งาน | |
แมนเชสเตอร์ซิตี (ค.ศ. 2003–ปัจจุบัน) จัดการแข่งขันกีฬาอื่น ๆ กีฬาเครือจักรภพ 2002 ยูฟ่าแชมเปียนชิปหญิง 2005 ยูฟ่าคัปนัดตัดสิน ค.ศ. 2008 ริกกี แฮตตัน vs. ควน ลัซกาโน (ชิงแชมป์สมาคมมวยโลก 2008) ดูเพิ่ม: คอนเสิร์ตสำคัญ |
เดิมทีสนามกีฬามีวัตถุประสงค์สำหรับเป็นสนามแข่งกีฬาหลักในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2000 ที่สหราชอาณาจักรพลาดการประมูลไป[12] จนได้ชนะการประมูลในการแข่งขันกีฬาเครือจักรภพ 2002 หลังจบการแข่งขันได้ลดความจุสนามจาก 80,000 คน ไปเป็น 50,000 คน สนามแห่งนี้ก่อสร้างโดยเลียงคอนสตรักชัน ด้วยงบประมาณ 112 ล้านปอนด์[9][13] โดยออกแบบโดยอารัปสปอร์ต[14]
เพื่อแน่ใจว่าจะไม่ใช่โครงการที่เสี่ยง แมนเชสเตอร์ซิตีจึงตัดสินใจรับสนามกีฬาแห่งนี้แทนที่สนามกีฬาเก่า เมนโรด ทันทีที่การแข่งขันจบลง ก็ได้มีการเพิ่มที่นั่งลดหลั่นเจาะลงไปในลู่วิ่งเดิม[15] การปรับปรุงนี้ทางสภาเทศบาลเมืองแมนเชสเตอร์จ่ายไป 22 ล้านปอนด์[9][13] และแมนเชสเตอร์ซิตีจ่ายเพิ่มอีก 20 ล้านปอนด์[9][13] และเพิ่มที่จำหน่ายเครื่องดื่ม ร้านอาหาร และพื้นที่สันทนาการอื่น สโมสรย้ายเข้ามาใช้สนามแห่งใหม่ระหว่างช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 2003
นอกจากแข่งขันกีฬาแล้ว ยังใช้จัดนัดแข่งขันยูฟ่าคัพ 2008 นัดการแข่งขันฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ นัดแข่งขันรักบี้ระหว่างประเทศ แข่งขันมวย และคอนเสิร์ตอีกหลายคอนเสิร์ต[16]
ชื่อสนาม ซิตีออฟแมนเชสเตอร์ ตั้งชื่อโดยสภาเทศบาลเมืองแมนเชสเตอร์ ก่อนที่การก่อสร้างจะเริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1999[8] แต่ก็มีการใช้ชื่ออื่นอีกหลายชื่อ อีสต์แลนด์ เป็นชื่อเรียกสถานที่ก่อสร้างและสนามกีฬา ก่อนที่จะตั้งชื่อว่า สปอร์ตซิตี และ คอมส์ ตามลำดับ และเป็นชื่อที่ใช้ประจำ[1] สำหรับสนามกีฬาและโครงการกีฬาทั้งหมด ใช้ชื่อว่า สปอร์ตซิตี[17] ส่วนชื่อ ซิตีออฟแมนเชสเตอร์ (City of Manchester Stadium) จะย่อเขียนย่อว่า CoMS และภาษาพูดเรียกว่า เดอะบลูแคมป์ ล้อมาจากชื่อสนามกัมนอว์ ของสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา[18] หลังจากที่อาบูดาบียูไนเต็ดกรุปเข้าดูแลสโมสรในปี ค.ศ. 2008 ผู้สนับสนุนบางคนเรียกชื่อสนามติดตลกว่า มิดเดิลอีสต์แลนด์[19]
ภายใต้การดูแลของเจ้าของใหม่ สโมสรได้เจรจาสัญญาเช่าใหม่กับสภาเทศบาลเมืองในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2010 โดยเช่าสถานที่เป็นระยะเวลา 250 ปี และขอเพิ่มสิทธิ์ในการใช้ชื่อ[9] ในการแลกเปลี่ยนกับค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นมาก[13][20] โดยขอเปลี่ยนชื่อสนามมาเป็น สนามกีฬาอัลติฮัด ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2011 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการสนับสนุนสโมสรเป็นเวลา 10 ปี บนชุดกีฬาที่ปักชื่อ สายการบินเอติฮัด[1] ข้อตกลงนี้รวมถึงชื่อของสนามกีฬาด้วย[21] รวมถึงแผนการย้ายสโมสรเยาวชนและสิ่งอำนวยความสะดวกในการฝึกซ้อม ไปยังที่แห่งใหม่ คือ วิทยาลัยเอติฮัด ที่อยู่ใกล้กับสนาม[22]
แผนการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ในเมืองแมนเชสเตอร์เริ่มมีขึ้นก่อนปี ค.ศ. 1989 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เมืองประมูลในการเป็นผู้จัดการโอลิมปิกฤดูร้อน 1996 สภาเทศบาลเมืองแมนเชสเตอร์ได้เสนอการประมูลแบบสนามกีฬา 80,000 ที่นั่ง บริเวณพื้นที่สีเขียวทางตะวันตกของแมนเชสเตอร์ แต่การประมูลก็ตกไปเมื่อแอตแลนตาได้เป็นเมืองเจ้าภาพ อีก 4 ปีต่อมา สภาเทศบาลฯ ก็ได้ยื่นประมูลเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 2000 แต่ครั้งนี้มุ่งตำแหน่งสนามกีฬาไปที่รกร้างทางตะวันออกของศูนย์กลางเมือง 1.6 กิโลเมตร (0.99 ไมล์) บริเวณเหมืองร้างแบรดฟอร์ดโคลเลียรี[23] หรือรู้จักในชื่อ อีสต์แลนส์ การเปลี่ยนสถานที่ของสภาเทศบาลฯ เกิดจากการออกกฎหมายผลักดันในการบูรณะเขตเมือง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายโครงการ รัฐบาลมีส่วนในการหาเงินและทำความสะอาดสถานที่ของอีสต์แลนส์ ในปี ค.ศ. 1992[14]
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1993 สภาเทศบาลฯ ได้เปิดประมูลรับแบบของสนามกีฬา 80,000 ที่นั่ง อีกแบบ[12] โดยได้บริษัทอารัป เป็นผู้ดูแลงาน บริษัทได้ช่วยเลือกอีสต์แลนด์เป็นสถานที่ก่อสร้างด้วย ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1993 กำหนดให้ซิดนีย์เป็นเมืองเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ในปีต่อมาแมนเชสเตอร์ได้เสนอแบบเดียวให้กับโครงการปรับปรุงเมืองในช่วงสหัสวรรษ มิลเลนเนียมคอมมิสชัน โดยเสนอชื่อเป็น "มิลเลนเนียมสเตเดียม" แต่โครงการนี้ก็ตกไป ต่อมาสภาเทศบาลฯ ยังคงเสนอประมูลเจ้าภาพกีฬาเครือจักรภพ 2002 เป็นอีกครั้งที่ได้เสนอในพื้นที่เดิม และผังแบบจากการประมูลโอลิมปิกฤดูร้อน 2000 และครั้งนี้ก็ประมูลสำเร็จ ในปี ค.ศ. 1996 แบบสนามกีฬาเดียวกันนี้ที่ใช้ในการแข่งขันกับสนามกีฬาเวมบลีย์ ในการหาทุนในการสร้างสนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่[24] แต่งบก็ถูกใช้ในการพัฒนาเวมบลีย์แทน
สนามกีฬาได้วางศิลาฤกษ์โดยนายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1999[8] และเริ่มก่อสร้างในเดือนมกราคม ค.ศ. 2000[25] สนามกีฬาออกแบบโดยอารัป และก่อสร้างโดยเลียงคอนสตรักชัน ด้วยงบประมาณราว 112 ล้านปอนด์[9][13] โดยได้มาจากสปอร์ตอิงแลนด์ 77 ล้านปอนด์ และที่เหลือเป็นการหารายได้จากสภาเทศบาลฯ[26] สำหรับการแข่งขันกีฬาเครือจักรภพ แถวที่นั่งเดี่ยวชั้นล่าง จะวิ่งไปรอบลู่วิ่งทั้ง 3 ด้าน ส่วนแถวที่นั่งชั้นบนจะวิ่งไป 2 ด้าน มีอัฒจันทร์ชั่วคราวไม่มีหลังคาคลุมที่ปลายสุด มีที่นั่งสำหรับการแข่งขันนี้ราว 38,000 ที่นั่ง[6][27]
เปิดใช้ครั้งแรกในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาเครือจักรภพ 2002 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 2002 โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชทานสุนทรพจน์และเปิดพิธีแข่งขัน[28] โดยในการแข่งขัน 10 วัน สนามกีฬาใช้จัดการแข่งขันกรีฑาและรักบี้ฟุตบอล 7 คน เกิดสถิติในการแข่งขันครั้งนี้อาทิ เขย่งก้าวกระโดดหญิง และวิ่ง 5000 เมตรหญิง[29]
หลังจากประสบความสำเร็จในการจัดแข่งขันกีฬาในกีฬาเครือจักรภพ 2002 แนวคิดที่จะเปลี่ยนสนามกีฬามาเป็นสนามฟุตบอลนั้นก็ได้รับเสียงวิจารณ์จากนักกีฬาอย่าง โจนาทาน เอดเวิดส์ และเซบาสเตียน โค[30] เนื่องจากสหราชอาณาจักรขาดแคลนสนามแข่งขันกรีฑา สภาเทศบาลฯ ตั้งใจไว้ว่าจะคงลู่วิ่งไว้และจะติดตั้งที่นั่งที่ถอดได้หลังจากการแข่งขันกีฬาเครือจักรภพ[31] โดยข้อเสนอที่ได้รับอนุญาต มีที่นั่งราว 60,000 ที่นั่ง แต่ต้องใช้งบประมาณราว 50 ล้านปอนด์[32] เมื่อเปรียบเทียบกับงบ 22 ล้านปอนด์[9][13] สำหรับการรื้อลู่วิ่งและมีความจุเพียง 48,000 ที่นั่ง บริษัทสถาปนิก อารัป เชื่อว่าจากในประวัติศาสตร์นั้น แสดงให้เห็นว่า การเก็บลู่วิ่งสำหรับการปรับเปลี่ยนมาเป็นสนามฟุตบอล โดยมากแล้วลู่วิ่งจะไม่ค่อยได้ใช้งาน และไม่เหมาะสมกับสนามฟุตบอล และยกตัวอย่างสนามอย่างเช่น สตาดีโอเดลเลอัลปี และสนามโอลิมปิก สเตเดียม มิวนิก ที่ทั้งสโมสรฟุตบอลยูเวนตุสและบาเยิร์น มิวนิก ได้ย้ายมายังสนามกีฬาแห่งใหม่ไม่ถึง 40 ปีหลังใช้งานต่อ[33] สภาเทศบาลฯ ไม่อยากให้เกิดโครงการที่ดูแลรักษายาก ดังนั้น เพื่อให้สนามกีฬามีอายุการใช้งานในด้านงบการเงิน จึงดำเนินงานเพิ่มเติมโดยเปลี่ยนสนามและลู่วิ่งมาเป็นสนามกีฬาฟุตบอล
ได้มีการรื้อลู่วิ่งออกและนำไปใช้ในสนามกีฬาแห่งอื่น[34] ได้มีการทำชั้นระดับดินให้ต่ำลงมาเพื่อให้สามารถเพิ่มที่นั่งได้ และรื้ออัฒจันทร์ชั่วคราวออก แทนที่ด้วยโครงสร้างถาวร ในรูปแบบการออกแบบคล้ายกันบริเวณปลายของทิศใต้ งานนี้ใช้เวลาในการทำงานเกือบปี และเพิ่มที่นั่งอีก 10,000 ที่นั่ง[6] สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีได้ใช้สนามกีฬาแห่งนี้เป็นสนามกีฬาเหย้าเมื่อเริ่มฤดูกาล 2003–04 ใช้งบประมาณในการปรับปรุงสนามเกินงบไป 40 ล้านปอนด์ โดยปรับเปลี่ยนในส่วนทางเดิน สนามแข่ง และที่นั่ง ที่ได้งบประมาณมาจากสภาเทศบาล 22 ล้านปอนด์[9][13] และเพิ่มที่จำหน่ายเครื่องดื่ม ร้านอาหาร และพื้นที่สันทนาการอื่น งบประมาณส่วนนี้มาจากสโมสร ใช้งบ 20 ล้านปอนด์[9][13]
นัดแข่งขันฟุตบอลครั้งแรกของสนาม เป็นนัดกระชับมิตรระหว่างแมนเชสเตอร์ซิตีกับบาร์เซโลนา เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 2003 โดยแมนเชสเตอร์ซิตีชนะ 2–1 โดยนีกอลา อาแนลกาเป็นคนยิงประตูแรกในการเปิดสนามแห่งนี้[35][36]
ส่วนการแข่งขันแรกในระบบการแข่งขัน เกิดขึ้นถัดจากนั้น 4 วัน ในถ้วยยูฟ่าคัพ ระหว่างแมนเชสเตอร์ซิตีกับทีมจากเวลส์พรีเมียร์ลีก สโมสรฟุตบอลเดอะนิวเซนส์ โดยแมนเชสเตอร์ซิตีชนะ 5–0 โดยเทรเวอร์ ซินแคลร์เป็นผู้ยิงประตูแรกในนัดการแข่งขันแรกในระบบการแข่งขันของสนามแห่งนี้[37] เมื่อเริ่มฤดูกาลในพรีเมียร์ลีก แมนเชสเตอร์ซิตีเป็นทีมเยือน ดังนั้นนัดการแข่งขันที่บ้านนัดแรกของสนามแห่งนี้มีขึ้นวันที่ 23 สิงหาคม[38] ผลการแข่งขันเสมอกับสโมสรฟุตบอลพอร์ตสมัท 1–1 โดยยาคูบู ยิงประตูแรกของสนามกีฬาแห่งนี้ในการแข่งขันลีก[39]
จนถึงวันนี้ สถิติผู้เข้าชมมากสุด อยู่ที่ 47,408 คน[40] ในนัดการแข่งขันในพรีเมียร์ลีก เจ้าบ้านแข่งกับสโมสรฟุตบอลนิวคาสเซิลยูไนเต็ด เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 2011[41] การแข่งขันครั้งนี้ยังสร้างสถิติใหม่ให้กับสโมสรและพรีเมียร์ลีก คือ แมนเชสเตอร์ซิตีเป็นทีมแรกที่ชนะ 11 เกม จาก 12 เกมแรกของฤดูกาลในพรีเมียร์ลีก[42]
เมื่ออยู่ในขั้นตอนการพัฒนา สภาเทศบาลเมืองแมนเชสเตอร์ต้องการโครงสร้างที่เป็นจุดสังเกตที่ยั่งยืน ที่สามารถเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิรูป ที่ครั้งหนึ่งในสถานที่ก่อสร้าง แบรดฟอร์ดโคลเลียรี เคยเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหนัก เช่นเดียวกับให้ผู้ชมเห็นแนวสายตาที่สวยงามในบรรยากาศของสนามกีฬา[43] บริษัทอารัปได้ "ออกแบบสนามกีฬาให้ดูคุ้นเคย ไม่ข่ม เป็นสนามกีฬาต่อสู้ที่รวมบรรยากาศของสโมสรฟุตบอลไว้" โดยพื้นสนามแข่งอยู่ลึกลงไป 6 เมตรจากระดับพื้นดิน และมีรูปแบบบรรยากาศสนามกีฬาโรมันและมีแอมฟิเทียร์เตอร์[43]
ภายนอกสนาม สร้างความโดดเด่นโดยเสากระโดง 12 ต้นที่พยุงหลังขาของสนามที่มีรูปทรงเหมือนห่วงยาง โดยใช้ระบบสายเคเบิล ซึ่งแตกต่างจากสนามกีฬาอื่นที่มักใช้ระบบเสา-คาน รับน้ำหนัก โดยสายเคเบิลได้ยึดติดเข้ากับเสากระโดง 12 ต้น รอบทั้งสนาม และมีคานค้ำหลังคาและแป รับหลังคาอื่น นอกจากนั้นยังมีเสากระโดงยังเพิ่มความสวยงาม ซึ่งมีความสูงสูงสุดที่ 75 เมตร (246 ฟุต) เข้าถึงที่นั่งชั้นบนโดยมีทางลาดรูปร่างกลม ที่มีส่วนบนสุดเป็นรูปทรงกรวย มีรูปร่างคล้ายหอคอย โดยมีเสากระโดง 8 ต้น (จาก 12 ต้น) ที่รับน้ำหนักของโครงสร้างหลังคา[44]
หลังคาทางทิศใต้ ทิศตะวันออก และอัฒจันทร์ทางทิศตะวันตก ที่มีโครงสร้างภายนอกสร้างแบบสนามกีฬากรีฑา ใช้ระบบสายเคเบิลรับน้ำหนัก ส่วนอัฒจันทร์ชั่วคราวแบบเปิดโล่งทางปลายสุดของทิศเหนือ สร้างล้อมรอบเสากระโดงและยึดติดกับสายเคเบิล ที่รับน้ำหนักของหลังคาอัฒจันทร์ทิศเหนือ[43] หลังจากจบการแข่งขันกีฬาเครือจักรภพ ก็ได้ขุดดินบริเวณลู่วงและสนามลงไป และได้นำอัฒจันทร์กลางแจ้งชั่วคราวทางทิศเหนือออกไป และอัฒจันทร์ทิศเหนือและที่นั่งชั้นล่างก็ได้มีการก่อสร้างปรับปรุงเพื่อเตรียมการสำหรับขุดดิน หลังคาอัฒจันทร์ทิศเหนือเพิ่มคานค้ำหลังคา แป และเพิ่มวัสดุหุ้มตกแต่งอาคาร[43] โดยใช้เวลาการปรับปรุงราว 1 ปี[43] และเพิ่มจำนวนที่นั่งได้อีกราว 10,000 ที่นั่ง[6]
สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักฟุตบอลและเจ้าหน้าที่ อยู่บริเวณชั้นใต้ดิน ใต้อัฒจันทร์ทิศตะวันตก มีครัวที่สามารถรองรับการเสิร์ฟอาหารให้คน 6,000 คน ในวันแข่งขัน มีห้องสื่อมวลชน ห้องเก็บของเจ้าหน้าที่สนาม และห้องกักขังผู้กระทำความผิด[43] ส่วนอุปกรณ์บริการ ครัว สำนักงาน และทางเดิน ออกแบบโดย เคเอสเอสอาร์คิเทกส์ รวมถึงการติดตั้งเคเบิลสื่อสายและระบบการควบคุมการเข้าออกของรถ[43] สนามกีฬายังมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการประชุมและมีใบอนุญาตให้การประกอบพิธีแต่งงานอีกด้วย[45]
เพื่อให้ได้หญ้าที่ดีที่สุดในสนาม จึงมีการออกแบบหลังคาให้หญ้าได้รับแสงอาทิตย์มากที่สุด โดยหลังคาใช้โพลีคาร์บอเนตโปร่งแสง 10 เมตร ที่ส่วนปลายและมุมของหลังคาของสนามกีฬา และมีผนังเจาะรูระบายอากาศ ให้ลมไหลผ่านลงสู่สนามได้[43] มีการติดตั้งระบายน้ำและระบบทำความร้อนใต้พื้นสนามแข่ง เพื่อให้หญ้าเจริญเติบโตได้ดีที่สุด[43]
เมื่อใช้สมาร์ตการ์ดแบบไร้สัมผัส ผู้ชมสามารถเข้าสนามได้เร็วขึ้นกว่าระบบทางเข้าแบบเหล็กหมุนแบบเดิม โดยระบบสามารถรองรับคนได้ถึง 1,200 คนต่อนาทีจากทุกทางเข้าออก[46] มีอุโมงค์บริการใต้สนามกีฬาสำหรับยานพาหนะฉุกเฉินและรถโคชของทีมเยือนให้เข้าสนามได้โดยตรง ส่วนสนับสนุนสนามกีฬาภายในสามารถเข้าถึงร้านอาหาร 6 แบบ โดย มี 2 ร้านที่มีมุมมองเห็นสนามแข่ง และมีที่นั่งชมเกมบนที่นั่งพิเศษ 70 ชุด[7] เหนือที่นั่งชั้นสองทางอัฒจันทร์ทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศตะวันออก
ภายในสนามกีฬามีรูปร่างชามรูปไข่ ด้านยาวมีที่นั่ง 3 ชั้น และมีที่นั่ง 2 ชั้นที่ด้านกว้าง เป็นที่นั่งยาวต่อเนื่อง แต่ละด้านของอัฒจันทร์มีการตั้งชื่อตามรูปแบบทั่วไปของสนามฟุตบอล เริ่มแรกแต่ละด้านของอัฒจันทร์มีชื่อตามทิศ (อัฒจันทร์ทิศเหนือ และ อัฒจันทร์ทิศใต้ ที่ด้านกว้าง และอัฒจันทร์ทิศตะวันออก และอัฒจันทร์ทิศตะวันตก ทีด้านยาว) [47] ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2004 หลังจากได้รับการลงคะแนนเสียงจากแฟนฟุตบอล อัฒจันทร์ทิศตะวันตก เปลี่ยนชื่อมาเป็น อัฒจันทร์โคลิน เบลล์ เพื่อเป็นเกียรติให้กับอดีตนักฟุตบอล[48] อัฒจันทร์ทิศใต้ เปลี่ยนชื่อมาเป็น คีย์ 103 ตามชื่อผู้สนับสนุนตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003-2006[49] ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากแฟนฟุตบอลสำหรับชื่อนี้
บางส่วนของอัฒจันทร์ทิศเหนือออกแบบมาสำหรับเป็นอัฒจันทร์ครอบครัว ที่มากับเด็ก ๆ โดยตั้งชื่อว่า อัฒจันทร์แฟมิลีสแตนด์ แต่ตั้งแต่ฤดูกาล 2010–11 ทั้งหมดของอัฒจันทร์ทิศเหนือก็จัดสรรให้สำหรับเป็นอัฒจันทร์สำหรับครอบครัว ส่วนอัฒจันทร์ทิศตะวันออกเป็นที่รู้จักอย่างไม่เป็นทางการว่า คิปแปกซ์ สอดคล้องกับอัฒจันทร์ที่สนามเมนโรด[50] ส่วนผู้ชมของทีมเยือน จะนั่งที่อัฒจันทร์ทิศใต้
สนามแข่งเป็นไปตามมาตรฐานของยูฟ่า คือ 105 × 68 เมตร (115 × 74 หลา) [7] พื้นสนามเป็นสนามหญ้าจริง ทำให้แข็งแรงยิ่งขึ้นโดยเส้นใยประดิษฐ์ ด้วยการใช้หญ้าเดสโซ[51] ระบบแสงสว่างใช้ไฟ 2000-วัตต์ 218 ดวง[52] บริเวณที่ไม่มีที่นั่งที่แต่ละมุมของสนาม มีช่องระบายอากาศที่ถอดย้ายได้ ให้ลมไหลผ่านลงสนาม[14] สนามกีฬานี้ถือว่าเป็นหนึ่งในสนามกีฬาฟุตบอลอังกฤษที่ดีที่สุด ได้รับการเสนอชื่อ 5 ครั้ง ใน 9 ฤดูกาลล่าสุด ในการเป็นสนามแข่งพรีเมียร์ลีกที่ดีที่สุด และได้รับรางวัลในฤดูกาล 2010–11[53] นอกจากนั้นยังได้รับรางวัลอื่นอีกเช่นกัน[54]
สนามกีฬานี้เป็นศูนย์กลางในสปอร์ตซิตี ที่มีสถานที่แข่งขันกีฬาหลายแห่ง ถัดจากสนามกีฬาคือ แมนเชสเตอร์รีเจียนนอลอารีนา ที่เป็นสนามอุ่นเครื่องกรีฑาในระหว่างการแข่งขันกีฬาเครือจักรภพ และปัจจุบันมีความจุ 6,178 ที่นั่ง เป็นสถานที่จัดการทดสอบกีฬาระดับชาติหลายชนิด และเคยเป็นสนามของทีมสำรองแมนเชสเตอร์ซิตี[55] มีสนามแมนเชสเตอร์เวโลโดรมและเนชันนอลสควอร์ชเซนเตอร์ ที่อยู่ไม่ไกลจากสนามกีฬา ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2006 แมนเชสเตอร์ซิตีมีแผนที่จะก่อสร้างกังหันลม สูง 85 เมตร ออกแบบโดยนอร์แมน ฟอสเตอร์ โดยตั้งใจไว้ว่าจะให้พลังงานแก่สนามกีฬาและบ้านเรือนใกล้เคียง แต่โครงการนี้ก็ตกไป เพราะกลัวว่าน้ำแข็งบนใบพัดอาจเกิดความไม่ปลอดภัยได้[56] ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 ถึง 2009 ได้มีผลงานประติมากรรม บีออฟเดอะแบ็ง ของโทมัส ฮีเทอร์วิก วางอยู่ด้านหน้าของสนามกีฬา สร้างเพื่อเฉลิมฉลองกีฬาเครือจักรภพ 2002 เป็นประติมากรรมที่สูงที่สุดในสหราชอาณาจักร แต่มีปัญหาด้านโครงสร้าง ทำให้ประติมากรรมนี้แตกออกในปี ค.ศ. 2009[57]
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2007 มีการประกาศออกมาว่าจะสร้างซูเปอร์คาสิโน แห่งแรกในสหราชอาณาจักร ที่สปอร์ตซิตี[58] แต่โครงการนี้ก็ตกไปอีกเช่นกันหลังจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม สื่อ และกีฬา ปฏิเสธโครงการนี้[59]
ฤดูกาล | ความจุสนาม | ผู้เข้าชมเฉลี่ย | % ของความจุ | อันดับในพรีเมียร์ลีก |
---|---|---|---|---|
2011–12 | 47,805 | 47,028* | 98.3%* | อันดับ 4 สูงสุด เก็บถาวร 2012-02-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน |
2010–11 | 47,726[60] | 45,880 | 96.1% | อันดับ 4 สูงสุด เก็บถาวร 2011-12-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน |
2009–10 | 47,726[60] | 45,512 | 95.4% | อันดับ 3 สูงสุด เก็บถาวร 2012-10-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน |
2008–09 | 47,726[60] | 42,900 | 89.9% | อันดับ 5 สูงสุด เก็บถาวร 2012-10-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน |
2007–08 | 47,726[60] | 42,126 | 88.3% | อันดับ 6 สูงสุด เก็บถาวร 2012-10-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน |
2006–07 | 47,726[60] | 39,997 | 83.8% | อันดับ 6 สูงสุด เก็บถาวร 2012-10-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน |
2005–06 | 47,726[60] | 42,856 | 89.8% | อันดับ 4 สูงสุด เก็บถาวร 2012-10-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน |
2004–05 | 47,726[60] | 45,192 | 94.7% | อันดับ 4 สูงสุด เก็บถาวร 2012-10-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน |
2003–04 | 47,726[60] | 46,834 | 98.1% | อันดับ 4 สูงสุด เก็บถาวร 2012-10-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน |
* จากการแข่งขัน 13 นัดในฤดูกาล (ราว 33%) ของฤดูกาลปัจจุบัน |
ในการแข่งขันกีฬาเครือจักรภพ 2002 คาดว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก[61] และสนามกีฬาได้รับเสียงวิจารณ์ด้านบวก ในเรื่องบรรยากาศและการออกแบบสถาปัตยกรรม[62] สนามได้รับหลายรางวัลด้านการออกแบบ รวมถึงรางวัลจาก สมาคมสถาปนิกอังกฤษ ปี ค.ศ. 2004 ประเภทการออกแบบทั่วไป สำหรับการออกแบบอาคาร[63] และในปี ค.ศ. 2003 ได้รับรางวัลสถาบันวิศวกรโครงสร้าง สาขารางวัลโครงสร้างพิเศษ[64]
ส่วนการตอบรับจากผู้สนับสนุนทีมแมนเชสเตอร์ซิตี แบ่งออกเป็น 2 ขั้ว ด้านหนึ่งไม่เต็มใจจากการย้ายมาจากเมนโรด เพราะมีกิตติศัพท์ว่าเป็นหนึ่งในสนามฟุตบอลอังกฤษที่มีบรรยากาศดีที่สุด ในขณะที่อีกด้านหนึ่งแสดงความสนใจในเรื่องสนามที่ใหญ่กว่าและได้ย้ายกลับไปแมนเชสเตอร์ตะวันออก ที่ซึ่งสโมสรก่อตั้งขึ้น ปัจจุบันสโมสรอ้างว่าขายบัตรเข้าตลอดฤดูกาลได้ 33,000 ใบ[65] ในแต่ละฤดูกาล ซึ่งมากกว่าจำนวนจุสูงสุดของเมนโรด
จากการสำรวจในพรีเมียร์ลีกปี ค.ศ. 2007 พบว่าแฟนฟุตบอลเห็นว่าสนามแห่งนี้มีความสวยงามเป็นอันดับ 2 ในพรีเมียร์ลีก รองจากสนามเอมิเรตส์สเตเดียม[66] ขณะเดียวกับแฟนของทีมคู่แข่งต่างให้ความเห็นด้านบวก โดยให้เป็นรองจากโอลด์แทรฟฟอร์ด จากการสำรวจในปี ค.ศ. 2005 ในหัวข้อสนามที่ชื่นชอบที่สุดในสหราชอาณาจักร[67] ในปี ค.ศ. 2010 เป็นอันดับ 3 ของสนามที่มีการเยี่ยมชมจากต่างประเทศมากที่สุดรองจากโอลด์แทรฟฟอร์ดและแอนฟีลด์[68]
ในช่วงปีแรก แมนเชสเตอร์ซิตีประสบกับความหนักใจกับบรรยากาศที่แย่ จากปัญหาของสนามสมัยใหม่เมื่อเปรียบเทียบกับสนามดั้งเดิมอย่างเมนโรด ในปี ค.ศ. 2007 จากการสำรวจผู้สนับสนุนแมนเชสเตอร์ซิตีในพรีเมียร์ลีก ให้คะแนนสนามว่ามีบรรยากาศแย่ที่สุดในลีกเป็นอันดับ 2[66] แต่ต่อมาก็พัฒนาบรรยากาศของสนามเรื่อยมา[69]
สภาเทศบาลเมืองแมนเชสเตอร์เป็นเจ้าของสนามกีฬาโดยสโมสรฟุตบอลได้เช่าสนามกีฬา จนเมื่อปี ค.ศ. 2008 หลังจากที่เปลี่ยนเจ้าของ สโมสรแห่งนี้อันเป็นสโมสรที่ร่ำรวยที่สุดในโลก[70] ก็ได้พิจารณาข้อเสนอการซื้อสนามกีฬาแห่งนี้โดยทันที[71] แมนเชสเตอร์ซิตีได้เซ็นสัญญาตกลงกับสภาเทศบาลฯ เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2010 เป็นเงิน 1 พันล้านปอนด์ในการพัฒนาสนามแห่งนี้ โดยมีสถาปนิกคือ ราฟาเอล บีโญลย์[72][73]
ในช่วงปิดฤดูกาล 2010 ได้มีการบูรณะพื้นสนามฟุตบอลและพื้นที่อำนวยความสะดวกด้วยเงิน 1 ล้านปอนด์ โดยยังสามารถหารายได้เข้าสโมสรได้ โดยยอมให้มีการจัดคอนเสิร์ตหรืองานต่าง ๆ ที่ไม่เกิดความเสียหายต่อสนาม[74] ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2010 แมนเชสเตอร์ซิตีได้กลับมาต่อรองสัญญาเช่าของสนาม โดยจ่ายให้สภาเทศบาลฯ เป็นจำนวน 3 ล้านปอนด์ต่อปี โดยก่อนหน้านี้จะจ่ายเพียงรายได้ครึ่งหนึ่งของค่าบัตรเข้า ในนัดที่มีผู้ชมมากกว่า 35,000 คน[75] ข้อตกลงใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของการเช่าเดิมที่จะมีการพิจารณาค่าเช่าทุก 5 ปี และมีแนวโน้มว่าจะสภาเทศบาลฯ จะมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 1 ล้านปอนด์ต่อปี จากสนามกีฬาแห่งนี้[75]
ในฤดูกาลล่าสุดและก่อนหน้านี้ สโมสรได้ขายบัตรเข้าชมตลอดฤดูกาลจำนวน 36,000 ใบได้หมด[76] และปัจจุบันยังหาหนทางที่จะเพิ่มความจุสนาม ข้อตกลงของสโมสรกับสภาเทศบาลฯ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2010 อนุญาตให้พัฒนารอบสนามและขยับขยายสนามให้จุได้ 60,000 คน[73] การเพิ่มความจุสนามสามารถทำได้โดยการเพิ่มที่นั่งชั้น 3 ทางอัฒจันทร์ทิศเหนือและใต้ ให้เท่ากับอัฒจันทร์ทิศตะวันออกและตะวันตก การขยับขยายสนามนี้เชื่อมโยงไปถึงคำพูดที่สโมสรเคยกล่าวไว้ว่า "การพัฒนาสมรรถภาพเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการปฏิรูปแมนเชสเตอร์ตะวันออก"[75]
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2011 ได้มีการเปลี่ยนชื่อสนามมาเป็น สนามกีฬาอัลติฮัด (หรือเอทิฮัด) ตามชื่อผู้สนับสนุน คือ สายการบินอัลติฮัด[21] แผนพัฒนาต่อมาคือได้เชื่อมต่อสนามเข้ากับมหาวิทยาลัยอัลติฮัด แผนพัฒนานี้เปิดเผยขึ้นในกลางเดือนกันยายน ค.ศ. 2011 สโมสรยังสร้างภาพลักษณ์สถาบันศึกษาของคนรุ่นใหม่นำสมัย และมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการฝึกซ้อม โดยมีสนามกีฬาขนาดเล็กจุได้ 7,000 คน บริเวณพื้นที่ทิ้งร้างในสปอร์ตซิตี[77][78]
สนามกีฬาตั้งอยู่ทางตะวันออกของศูนย์กลางเมืองแมนเชสเตอร์ สถานีรถไฟที่ใกล้ที่สุดคือ แอชเบอรีส์ ใช้เวลาเดิน 20 นาทีจากสนามกีฬา อย่างไรก็ตามการให้บริการมีอย่างจำกัด สถานีแมนเชสเตอร์พิกแคดิลลี ที่มีเส้นทางเดินรถไฟจากลอนดอน เบอร์มิงแฮม และเอดินบะระ ใช้เวลาเดินจากสนาม 30 นาที โดยมีป้ายไฟส่องสว่างตลอดทางเดิน ยังมีผู้ดูแลใกล้กับสนามอีกด้วย ส่วนสถานีอัลติฮัดแคมปัสเมโทรลิงก์ บนเส้นทางแมนเชสเตอร์เมโทรลิงก์ ใกล้กับทางเดินโจเมอร์เซอร์เวย์ จะเปิดให้บริการในฤดูกาล 2012–13[79]
มีเส้นทางรถประจำทางหลายสายจากศูนย์กลางเมือง ที่จอดที่สปอร์ตซิตีหรือบริเวณใกล้เคียง โดยในนัดวันแข่งขันจะมีรถประจำทางพิเศษจากศูนย์กลางเมืองมายังสนามกีฬา[80] สนามมีที่จอดรถ 2,000 คัน และอีก 8,000 คันในบริเวณใกล้เคียงที่ดำเนินงานโดยธุรกิจเอกชนท้องถิ่น และโรงเรียนที่เป็นพันธมิตรกับสโมสรฟุตบอล[81]
ภายใต้สัญญาเช่า แมนเชสเตอร์ซิตีสามารถนำสนามมาใช้จัดงานอื่นที่นอกเหนือจากฟุตบอลได้ เช่น คอนเสิร์ต มวย และรักบี้[82]
นอกเหนือจากฟุตบอลแล้ว สนามยังใช้ในการจัดคอนเสิร์ตในบางโอกาส และเป็นหนึ่งในสถานที่จัดงานดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร โดยสามารถรองรับคนได้มากสุด 60,000 คน[83]
ฤดูร้อนปี | ศิลปิน |
---|---|
2004 | เรดฮ็อตชิลิเป็ปเปอร์ส |
2005 | โอเอซิส, ยูทู |
2006 | เทกแดต, บองโจวี |
2007 | จอร์จ ไมเคิล, ร็อด สจ๊วต |
2008 | ฟูไฟเตอร์ส, บองโจวี |
2009 2010 |
ไม่มีการจัด – เนื่องจากคำนึงถึง เรื่องการพังของพื้นสนามแข่ง[84] |
2011 | เทกแดด |
2012 | โคลด์เพลย์,[85] บรูซ สปริงส์ทีน[86] |
ถือเป็นสนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดที่ใช้ในการจัดคอนเสิร์ตในอังกฤษ ก่อนที่เวมบลีย์ใหม่จะสร้างขึ้น[83][87]
คอนเสิร์ตแรกที่จัดขึ้นคือคอนเสิร์ตของเรดฮ็อตชิลิเป็ปเปอร์ส ร่วมด้วยเจมส์ บราวน์ในปี ค.ศ. 2004[34] คอนเสิร์ตของโอเอซิสที่จัดที่นี่ก็มีออกเป็นดีวีดี ในชื่อ Lord Don't Slow Me Down คอนเสิร์ตนี้ที่จัดในปี ค.ศ. 2005 มีผู้ชมสูงเป็นสถิติถึง 60,000 คน[4] เทกแดดก็ออกดีวีดีคอนเสิร์ตที่แสดงที่นี่ในปี ค.ศ. 2006 ในชื่อชุด Take That: The Ultimate Tour[88]
ส่วนศิลปินอื่นที่เคยมาเล่นที่สนามนี้ได้แก่ ยูทู, ร็อด สจ๊วต, ฟูไฟเตอร์ส, แมนิกสตรีตพรีชเชอร์ส, เดอะฟิวเจอร์เฮดส์, ซูกาเบบส์, บองโจวี, จอร์จ ไมเคิล และโซฟี เอลลิส-เบ็กซ์เตอร์[84]
การจัดคอนเสิร์ตและมวยได้ทำลายพื้นสนามไป ในปี ค.ศ. 2008 หลังจบฤดูกาลได้มีการปรับปรุงพื้นสนาม และเมื่อนัดอุ่นเครื่องก่อนเปิดฤดูกาลเริ่มขึ้น สนามก็ไม่พร้อมจะเป็นสนามเหย้า ซึ่งสนามใช้จัดการแข่งขันยูฟ่าคัปนัดคัดเลือกรอบแรก จึงได้ไปจัดที่สนามกีฬาโอกเวลล์ของสโมสรฟุตบอลบาร์นสลีย์แทน[89]
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2010 สโมสรหารายได้ในการปรับปรุงสนามแข่งใหม่[74][90] และจึงได้มีการมาจัดคอนเสิร์ตในช่วงฤดูร้อนอีกครั้งในปี ค.ศ. 2011 โดยเทกแดดได้จัดคอนเสิร์ตเป็นเวลา 7 คืน มียอดขายตั๋วราว 400,000 ปอนด์
ยูฟ่าจัดสนามนี้อยู่ในประเภท 4 นอกจากจะเป็นสนามเหย้าของสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีแล้ว ยังเป็นสนามฟุตบอลลำดับที่ 50 ที่จัดการแข่งขันระดับนานาชาติในอังกฤษ โดยการแข่งขันระหว่างฟุตบอลทีมชาติอังกฤษกับฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2004 และในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2005 ยังจัดนัดเปิดยูฟ่าแชมเปียนชิปหญิงที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพ[91] สร้างสถิติมีผู้ชมเข้าชมมากที่สุดสำหรับการแข่งขันนี้ ด้วยจำนวนคน 29,092 คน[92] นอกจากนั้นยังจัดการแข่งขันยูฟ่าคัปนัดตัดสินในปี ค.ศ. 2008[91] ที่สโมสรฟุตบอลเซนิตเซนต์ปีเตอส์เบิร์กชนะเรนเจอส์ 2–0
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2011 สนามได้จัดการแข่งขันฟุตบอลคอนฟีเรนซ์เนชันนอล รอบเพลย์ออฟนัดตัดสินระหว่างสโมสรฟุตบอลวิมเบิลดันกับสวินดันทาวน์ โดยวิมเบิลดันสามารถเลื่อนชั้นสู่ฟุตบอลลีก ด้วยการยิงจุดโทษชนะลูตันทาวน์ไปได้[93] ยังมีการใช้สนามในการแข่งรอบเพลย์ออฟยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกนัดตัดสิน ปี ค.ศ. 2011 แทนที่จัดที่เวมบลีย์ในวันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 2011 เนื่องจากทางยูฟ่าได้ได้กำหนดว่าสนามที่ใช้จัดแชมเปียนส์ลีกนัดตัดสินจะต้องไม่ใช้จัดการแข่งขันใดก่อนหน้านี้ 2 อาทิตย์[94]
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2004 สนามจัดการแข่งขันรักบี้ลีกนัดระหว่างประเทศระหว่างบริเตนใหญ่กับออสเตรเลีย ในรักบี้ลีกไตรเนชันส์ 2004 มีผู้เข้าชมเกือบ 40,000 คน[95] สนามยังจะใช้ในการจัดเมจิกวีกเอนด์ ในวันที่ 26 และ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 2012 ในการแข่งขันนี้มีทีม 14 ทีมจากซูเปอร์ลีกแข่งขันตลอดทั้งสุดสัปดาห์[96]
ในวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 2008 ริกกี้ แฮตตัน ผู้เกิดในสต็อกพอร์ต นักมวยเจ้าของแชมป์รุ่นซูเปอร์ไลท์เวททั้งจากสหพันธ์มวยนานาชาติและสมาคมมวยโลก ชนะควน ลัซกาโน ใช้ชื่อรายการแข่งขันว่า "แฮตตันส์โฮมคัมมิง" โดยมีผู้เข้าชม 56,337 คน สร้างสถิติผู้เข้าชมมากที่สุดของวงการมวยอังกฤษนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง[5]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.