คำถามยอดนิยม
ไทมไลน์
แชท
มุมมอง

ซัมเมอร์ วอร์ส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

Remove ads

ซัมเมอร์ วอร์ส (ญี่ปุ่น: サマーウォーズ; โรมาจิ: Samā Wōzu; อังกฤษ: Summer Wars; ราชบัณฑิตยสถาน: ซัมเมอร์วอส์) เป็นอนิเมะบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์และวีรคติซึ่งมะโมะรุ โฮะโซะดะ (Mamoru Hosoda) กำกับ ซะโตะโกะ โอะกุเดะระ (Satoko Okudera) เขียนเรื่อง บริษัทแมดเฮาส์ (Madhouse) ผลิต และบริษัทวอร์เนอร์ บราเธอร์ส พิกเจอร์ส (Warner Bros. Pictures) เผยแพร่ในปี 2552 มีเนื้อหาเกี่ยวกับนักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายคนหนึ่งซึ่งเดินทางกับนักเรียนหญิงรุ่นพี่ร่วมโรงเรียนไปฉลองวันครบรอบวันเกิดปีที่เก้าสิบของย่าทวดของเธอในฤดูร้อน แต่ต้องร่วมกับครอบครัวของเธอต่อต้านนักเลงคอมพิวเตอร์ในโลกออนไลน์

ข้อมูลเบื้องต้น ซัมเมอร์ วอร์ส, ชื่อภาษาญี่ปุ่น ...
Remove ads

อนิเมะเรื่องนี้ แมดเฮาส์สร้างสรรค์ขึ้นถัดจาก กระโดดจั๊มพ์ทะลุข้ามเวลา (The Girl Who Leapt Through Time) ซึ่งเป็นผลงานของโฮะโซะดะและโอะกุดะระเช่นกัน โดยเริ่มกระบวนการในปี 2549 และโยจิ ทะเกะชิเงะ (Yōji Takeshige) กำกับฝ่ายศิลป์ ในช่วงแรก ข่าวคราวเกี่ยวกับอนิเมะเป็นแต่เสียงลือเสียงเล่าอ้างปากต่อปากและทางอินเทอร์เน็ต กระนั้น ก็กระตุ้นความสนใจของสาธารณชนอย่างยิ่ง ต่อมาอีกสองปีจึงแถลงข่าวเปิดโครงการที่เทศกาลอนิเมะนานาชาติโตเกียว (Tokyo International Anime Fair) และเผยแพร่ตัวอย่างภาพยนตร์ครั้งแรกในเดือนเมษายน 2552[3] ในปีนั้นเอง จิตรกรอิกุระ ซุงิโมะโตะ (Iqura Sugimoto) ได้ดัดแปลงอนิเมะเป็นมังงะลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ด้วย

หลังจากฉายในโรงภาพยนตร์หนึ่งร้อยยี่สิบเจ็ดแห่งทั่วประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2552 อนิเมะเรื่องนี้ทำรายได้มากกว่าหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อสิ้นสัปดาห์แรก นับเป็นอนิเมะที่สร้างรายได้มากที่สุดเป็นอันดับที่เจ็ดในประเทศสำหรับสัปดาห์นั้น อนึ่ง ในภาพรวม อนิเมะนี้เป็นชื่นชอบของผู้ชมทั่วกัน ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในทางดี ได้รับรางวัลใหญ่หลายรางวัล และประสบความสำเร็จด้านรายได้ โดยรายได้รวมทั่วโลกอยู่ที่สิบแปดล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับประเทศไทย บริษัทดรีม เอกซ์เพรส (เดกซ์) นำอนิเมะนี้เข้ามาฉายในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 วันเดียว และ ณ กรุงเทพมหานครแห่งเดียว นับเป็นอนิเมะโรงเรื่องที่ห้าที่บริษัทนี้เผยแพร่ในราชอาณาจักร ต่อมา ได้ผลิตเป็นบลูเรย์และดีวีดีขายตั้งแต่เดือนเมษายน ปีนั้น[4]

Remove ads

เนื้อเรื่อง

สรุป
มุมมอง

ณ เวลาที่เรื่องดำเนินไปนั้น สังคมโลกทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนต่างพึ่งพาอาศัยระบบอินเทอร์เน็ตที่เรียก "อ็อซ" (OZ) เป็นอันมาก ครั้งนั้น เค็นจิ โคอิโสะ อายุสิบเจ็ดปี เป็นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีพรสวรรค์ด้านคณิตศาสตร์เกือบจะเป็นตัวแทนแข่งขันโอลิมปิกของประเทศญี่ปุ่น และทำงานนอกเวลาเป็นผู้ดูแลระบบอ็อซดังกล่าวพร้อมกับทาคาชิ ซาคุมะ เพื่อนสนิทของเขา

วันหนึ่ง นัตสึกิ ชิโนะฮาระ หญิงสาวอายุสิบแปดปี ซึ่งเป็นนักเรียนรุ่นพี่ของเค็นจิ ชักชวนให้เขาไปร่วมงานเลี้ยงฉลองวันครบรอบวันเกิดปีที่เก้าสิบของซากาเอะ จินโนะอุจิ ย่าทวดของเธอ โดยว่า ให้ถือเป็นการจ้างทำงานพิเศษ เค็นจิซึ่งหลงรักเธออยู่แล้วจึงรับคำ และพร้อมกันเดินทางไปยังที่พำนักของนางซากาเอะ ณ ชานเมืองอุเอะดะ จังหวัดนะงะโนะ เมื่อถึงแล้ว เขาพบว่า บ้านตระกูลจินโนะอุจิเป็นหมู่คฤหาสน์เก่าแก่ใหญ่โต ตั้งอยู่บนเขาทั้งลูกซึ่งเป็นของตระกูล และตระกูลนี้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของซามูไรซึ่งประจัญบานกับตระกูลโทะกุงะวะในปี 2158 จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของคนในสังคมนับแต่นั้นจนบัดนี้ นัตสึกิแนะนำเขาต่อย่าทวดว่า เขาเป็นคนรักของเธอ และตกลงใจจะสมรสกันในไม่ช้านี้ ซึ่งทำให้เขาตกใจเป็นอันมาก แต่นัตสึกิได้ร้องขอให้เขาเออออด้วย เพราะต้องการให้ย่าทวดเบาใจเรื่องความมั่นคงในชีวิตของเธอ

ระหว่างอาศัยอยู่ ณ บ้านตระกูลจินโนะอุจิ เค็นจิได้พบสมาชิกมากหน้าหลายตาของตระกูลนี้ หนึ่งในนั้นคือ วาบิสึเกะ จินโนะอุจิ ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งนางซากาเอะเก็บมาเลี้ยงเป็นหลานตั้งแต่ยังเล็ก แต่ภายหลังได้ละทิ้งนางไปอาศัยในสหรัฐอเมริกานานกว่าสิบปี

คืนนั้น เค็นจิได้รับไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ส่งรหัสคณิตศาสตร์มาให้ทางโทรศัพท์มือถือ เขาจึงคำนวณจนแก้รหัสนั้นเป็นผลสำเร็จ ปรากฏว่า เขาถูกเลิฟแมชชีน (Love Machine) ปัญญาประดิษฐ์ตัวหนึ่งซึ่งอาศัยในระบบอ๊อซ ล่อลวงให้เผยรหัสผ่านสำหรับผู้ดูแลระบบอ๊อซของเขา เลิฟแมชชีนอาศัยชื่อบัญชีและอวตารของเขาเข้าสู่ระบบอ๊อซเพื่อบ่อนทำลาย ทำให้เจ้าพนักงานออกหมายจับเขาเป็นข่าวเกรียวกราว เค็นจิ ทาคาชิ และคาซึมะ อิเคซาว่า เด็กชายวัยสิบเก้าปีซึ่งเป็นญาติของนัตสึกิและเป็นสมาชิกระบบอ๊อซเช่นกันโดยใช้อวตารนามว่า คิงคาซม่า[5] (King Kazma) จึงพร้อมกันเผชิญหน้ากับเลิฟแมชชีน แต่หาอาจเอาชนะได้ไม่ เลิฟแมชชีนก่อกวนระบบต่อไปโดยอาศัยชื่อบัญชีของผู้อื่นที่ตนลักมา จนสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างในโลกจริง ทั้งการประปา การคมนาคม การสื่อสาร และการไฟฟ้า เป็นต้น ขณะนั้น โชตะ จินโนะอุจิ ญาติของนัตสึกิซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มาพบเค็นจิ จึงแสดงตัวเข้าจับกุมและนำพาเขาไปยังสถานีตำรวจ แต่เพราะการจราจรยุ่งเหยิงอยู่ โชตะจึงจำต้องพาเขากลับคฤหาสน์ตระกูลจินโจะอุชิดังเดิม

นางซากาเอะทราบเรื่องแล้วเห็นว่า สถานการณ์เป็นประหนึ่งสงคราม จึงอาศัยเส้นสายที่นางมีอยู่กับบุคคลสำคัญต่าง ๆ ในวงสังคม เป็นต้นว่า รัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เจ้าพนักงานหน่วยฉุกเฉินต่าง ๆ ทั้งในฐานะที่นางเป็นครูบาอาจารย์และเป็นญาติของพวกเขา และในฐานะที่ตระกูลนางเคยเป็นมูลนายของตระกูลพวกเขา สั่งการและกระตุ้นให้เขาเหล่านั้นทำหน้าที่อย่างแข็งขันที่สุดเพื่อป้องกันมนุษยชาติจากมหันตภัยครั้งนี้ เวลานั้น นางพบว่า เป็นวาบิสึเกะเองที่สร้างปัญญาประดิษฐ์เลิฟแมชชีนขึ้น นางเห็นว่า เป็นการทรยศต่อความไว้เนื้อเชื่อใจที่สังคมมีให้แก่ตระกูล ทั้งคู่มีปากเสียงกัน และวาบิสึเกะหนีออกคฤหาสน์ไปอีกครั้ง คืนนั้น นางซากาเอะชวนเค็นจิเล่นไพ่โคะอิโคะอิ (Koi-Koi) และบอกเขาว่า นางทราบดีว่าเขามิใช่คนรักของนัตสึกิ แต่ก็เห็นว่า เขามีความจริงใจและรับผิดชอบเพียงพอที่จะดูแลนัตสึกิได้ จึงฝากฝังนัตสึกิไว้กับเขา เช้ารุ่งขึ้น นางซากาเอะสิ้นลม เพราะเลิฟแมชชีนทำลายระบบซึ่งแพทย์ใช้ควบคุมการทำงานของหัวใจนาง มันซะกุ จินโนะอุจิ บุตรสุดท้องของนาง เผยว่า มารดามีอาการปวดเค้นหัวใจ (angina pectoris) และแพทย์ได้พึ่งพาระบบดังกล่าวเพื่อบำบัดรักษา

เหล่าชายชาวจินโนะอุจิตกลงร่วมกับเค็นจิสยบเลิฟแมชชีน ฝ่ายนัตสึกิและคนอื่น ๆ นั้นเตรียมงานศพนางซากาเอะ ตระกูลจินโนะอุจิวางแผนจัดการกับเลิฟแมชชีนโดยใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของตระกูล แต่เนื่องจากเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์ จึงต้องอาศัยน้ำแข็งจำนวนมากทำความเย็นให้ ระหว่างที่ตระกูลจินโนะอุจิสามารถจับกุมเลิฟแมชชีนได้นั้น โชตะขนน้ำแข็งออกไปแช่ร่างของนางซากาเอะ เป็นเหตุให้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ร้อนขึ้นจนทำงานผิดปรกติ เลิฟแมชชีนพ้นจากพันธนาการ และบังคับวิถีดาวเทียมอะระวะชิ (Arawashi) ให้มุ่งสู่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์บนพื้นโลก เวลานั้นเอง นัตสึกิพบพินัยกรรมของนางซากาเอะ จึงติดตามวาบิสึเกะกลับบ้านเป็นผลสำเร็จ มาริโกะ จินโนะอุจิ ธิดาคนโตของนางซากาเอะซึ่งสืบทอดหน้าที่ดูแลตระกูลต่อ เรียกประชุมและอ่านพินัยกรรมต่อหน้าคนทั้งปวง นางซากาเอะว่า อย่าได้ตื่นตระหนกกับความตาย นางไม่มีสมบัติอันใดจะให้เป็นแก่นสาร แต่ขอให้ทุกคนใช้ชีวิตและทำหน้าที่อย่างดีที่สุด นางหวังว่า วาบิสึเกะจะกลับบ้านบ้าง ถ้าเขากลับมาสักวันก็ให้ชวนรับประทานอาหารพร้อมหน้ากัน และไม่ว่าเผชิญความทุกข์ใจหรือกายประการใดก็ขอให้คงล้อมวงรับประทานอาหารกันฉันครอบครัว เพราะความเลวร้ายที่สุดในโลกนี้ คือ ความหิว และความอ้างว้าง วาบิสึเกะได้ฟังพินัยกรรมแล้วก็เข้าใจได้ว่า ย่ารักและให้อภัยตนเสมอ จึงร่วมมือกับคนอื่น ๆ กำราบเลิฟแมชชีน

เมื่อพบว่า เลิฟแมชชีนเห็นทุกสิ่งเป็นการละเล่น ตระกูลจินโนะอุจิจึงท้าทายให้เลิฟแมชชีนแข่งไพ่โคะอิโคะอิด้วยกัน แลกกับบัญชีผู้ใช้ที่เลิฟแมชชีนขโมยไป นัตสึกิลงแข่งและชนะเลิฟแมชชีนหลายรอบ แต่ในรอบหลังไขว้เขวจึงเสียแต้มเกือบสิ้น ผู้ใช้คนอื่น ๆ ทั่วโลกที่ได้รับบัญชีคืนแล้วจึงเข้าสู่ระบบอ๊อซและลงพนันข้างนัตสึกิ ทำให้เธอได้รับพลังใจจนเล่นไพ่ชนะเลิฟแมชชีน และเพื่อให้เลิฟแมชชีนสละการควบคุมดาวเทียมอะระวะชิ คิงคาซม่าเบี่ยงเบนความสนใจของเลิฟแมนชีน ขณะที่นัตสึกิพร้อมด้วยสมาชิกคนอื่น ๆ ของตระกูลช่วยกันปลดระบบป้องกันตนของเลิฟแมชชีน และทำลายองค์ของปัญญาประดิษฐ์เลิฟแมชชีนได้อย่างราบคาบ ฝ่ายเค็นจินั้นทะลวงเข้าระบบควบคุมดาวเทียมและผันวิถีไปทางอื่นที่ไม่ก่อความเสียหายแก่โลก ดาวเทียมอะระวะชิตกกระทบผิวโลกหน้าคฤหาสน์ตระกูลจินโนะอุจิแทน และยังให้ซุ้มประตูเข้าสู่คฤหาสน์ถึงแก่ความพินาศโดยสิ้นเชิง

ตระกูลจินโนะอุจิจัดงานฉลองชัยชนะและวันครบรอบวันเกิดของนางซากาเอะพร้อม ๆ กับพิธีศพของนาง มีแขกเหรื่อมาเป็นอันมาก ในโอกาสนี้ นัตสึกิจุมพิตเค็นจิหลังจากทั้งคู่บอกรักกัน คนทั้งสองจึงกลายเป็นคู่รักกันจริง ๆ

ผังครอบครัว

 
 
คาสึโอะ ชิโนะฮาระ (55)
 
 
 
 
 
 
นัตสึกิ ชิโนะฮาระ (18)
 
 
 
 
 
มันโซ จินโนะอุจิ
陣内 万蔵
 
ยูกิโกะ ชิโนะฮาระ (47)
 
 
 
 
 
 
 
ริกะ จินโนะอุจิ (42)
 
 
 
 
มาริโกะ จินโนะอุจิ (71)
 
 
 
 
 
 
 
 
ริอิจิ จินโนะอุจิ (41)
 
 
 
 
 
ทาสึเกะ จินโนะอุจิ (45)
 
โชตะ จินโนะอุจิ (21)
 
 
 
 
 
มันซุเกะ จินโนะอุจิ (70)
 
 
นาโอมิ มิวะ (42)
 
 
 
ซากาเอะ จินโนะอุจิ (89)
 
 
 
 
คิโยมิ อิเคซาว่า (39)
 
คาซึมะ อิเคซาว่า (13)
 
 
 
 
 
 
 
 
 
โยริฮิโกะ จินโนะอุจิ (45)
 
 
มาโอะ จินโนะอุจิ (9)
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
โนริโกะ จินโนะอุจิ (37)
 
 
ชินโกะ จินโนะอุจิ (6)
 
 
 
 
 
มันซากุ จินโนะอุจิ (68)
 
 
คุนิฮิโกะ จินโนะอุจิ (42)
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
คานะ จินโนะอุจิ (2)
 
 
 
 
 
 
 
 
นานะ จินโนะอุจิ (32)
 
 
 
 
 
คัตสึฮิโกะ จินโนะอุจิ (40)
 
 
เรียวเฮย์ จินโนะอุจิ (17)
 
 
 
โทะกุเอะ จินโนะอุจิ
陣内 徳衛
 
วาบิสึเกะ จินโนะอุจิ (41)
 
 
 
 
 
 
ยูเฮย์ จินโนะอุจิ (7)
 
 
 
 
 
 
 
ยูมิ จินโนะอุจิ (38)
 
 
เคียวเฮย์ จินโนะอุจิ (0)
 
Remove ads

ตัวละคร

สรุป
มุมมอง
ข้อมูลเพิ่มเติม ชื่อ, พากย์ ...
Remove ads

การผลิต

สรุป
มุมมอง
Thumb
ไฟล์:Summer Wars - 002.jpg
ปราสาทอุเอะดะ (Ueda Castle) แห่งเมืองอุเอะดะ จังหวัดนะงะโนะ เมื่อมองจากหน้าบันตะวันตก (บน) ซึ่งใช้เป็นฉากหมู่คฤหาสน์ของตระกูลจินโนะอุจิในเรื่อง (ล่าง)

หลังจากที่ กระโดดจั๊มพ์ทะลุข้ามเวลา ประสบความสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งความสำเร็จเชิงพาณิชย์และเชิงวิพากษ์ จึงมีการเสนอให้บริษัทแม็ดเฮาส์ผลิตอนิเมะโรงอีกเรื่อง[11] โดยโฮะโซะดะ ผู้กำกับ กำหนดให้เป็นเรื่องสำหรับทั้งผู้มีครอบครัวและผู้ไม่มีครอบครัว[3][11]

โครงการผลิต ซัมเมอร์ วอร์ส นั้นตั้งต้นขึ้นในปี 2549 ต่อมา จึงประกาศความคืบหน้าในเทศกาลอนิเมะนานาชาติโตเกียว (Tokyo International Anime Fair) ประจำปี 2551[12] ครั้นชุมนุมโอตาคอน (Otakon) ในปีถัดมา มะซะโอะ มะรุยะมะ (Masao Maruyama) ประธานแม็ดเฮาส์ แถลงว่า ครั้งหนึ่งที่สนทนากัน โฮะโซะดะกำชับเขาว่า ตัวละครหลักของอนิเมะเรื่องนี้ต้องเป็นสมาชิกจำนวนแปดสิบคนของตระกูลตระกูลหนึ่ง เขาจึงตีฝีปากกลับว่า เรื่องหน้าขอตัวละครหลักสองตัวก็พอ[13]

ฉากหลักของเรื่องนั้น เลือกใช้เมืองอุเอะดะ จังหวัดนะงะโนะ เพราะเมืองนี้เคยอยู่ในความปกครองของตระกูลซะนะดะ (Sanada clan) ซึ่งเป็นตระกูลที่นำมาเป็นต้นแบบตระกูลจินโนะอุจิ กับทั้งเมืองนี้ยังอยู่ติดเมืองโทะยะมะ จังหวัดโทะยะมะ บ้านเกิดของโฮะโซะดะด้วย[11]

ส่วนอ็อซ โลกออนไลน์เสมือนจริงนั้น โฮะโซะดะเอานามห้างสรรพสินค้า "อ็อซ" (OZ) ที่เขาเคยไปสมัยทำงานอยู่กับบริษัทโทเอแอนิเมชัน (Toei Animation) มาตั้ง[11] เขายังว่า ในการกำหนดรายละเอียดระบบอ็อซ เว็บไซต์มิกุชี (mixi) เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่นและเขาเคยเป็นสมาชิก มีอิทธิพลต่อเขาเป็นอันมาก ส่วนสีสันและรูปลักษณ์ของระบบนั้น เขาได้แรงบันดาลใจมาจากเกมนินเทนโด (Nintendo)[14] เขากล่าวเสริมว่า แม้เขานิยมชมชอบศิลปกรรมของทาคาชิ มุระกะมิ (Takashi Murakami) ซึ่งขึ้นชื่อว่า "วิบวับและลายพร้อยจนหลอนประสาท" แต่เขาพอใจออกแบบให้ระบบอ็อซมี "ลักษณะสะอาดปราศจากความรกรุงรัง" มากกว่า นอกจากนี้ ระหว่างผลิตอนิเมะ เขาได้ท่องเที่ยวไปในเทศกาลภาพยนตร์หลายแห่ง ทั้งได้ไปมาหาสู่ครอบครัวของหญิงสาวซึ่งต่อมาได้หมั้นหมายและครองรักกัน เขาจึงนำประสบการณ์จากเทศกาลเหล่านั้น ตลอดจนความทรงจำจากครอบครัวดังกล่าวและชีวิตสมรส มาเป็นพื้นเรื่องอนิเมะ[11][14][15]

นอกจากโฮะโซะดะแล้ว ผู้ร่วมโครงการนี้ยังได้แก่ โอะกุเดะระ เขียนบท และโยะชิยุกิ ซะดะโมะโตะ (Yoshiyuki Sadamoto) ออกแบบตัวละคร คนทั้งสองนี้เคยร่วมงานกับโฮะโซะดะในเรื่อง กระโดดจั๊มพ์ทะลุข้ามเวลา มาก่อน[16] ซะดะโมะโตะนั้นใช้อากัปกิริยาของยุซะกุ มะสึดะ (Yusaku Matsuda) นักแสดงผู้ล่วงลับแล้ว มาเป็นต้นแบบตัวละครวาบิสึเกะ[11]

อนึ่ง ยังมีฮิโระยุกิ อะโอะยะมะ (Hiroyuki Aoyama) กำกับการเคลื่อนไหวของตัวละครในฉากโลกจริง และทะสึโซะ นิชิดะ (Tatsuzo Nishida) กำกับการเคลื่อนไหวทางต่อสู้ประจัญบานในฉากโลกออนไลน์[3][14] ทั้งคู่ทำงานโดยใช้ความสามารถพิเศษของแอนิเมชันดั้งเดิมและคอมพิวเตอร์แอนิเมชันประสมกัน[11] ขณะที่ห้องศิลป์ดิจิทัลฟรอนเทียร์ (Digital Frontier) รับหน้าที่สร้างสรรค์องค์ประกอบระบบอ็อซและอวตารในระบบ[14] และทะเกะชิเงะ อดีตสมาชิกสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) คอยกำกับฝ่ายศิลป์โดยรวม[16] นอกจากหน้าที่นี้แล้ว ทะเกะชิเงะยังได้รับมอบหมายจากโฮะโซะดะขณะเยือนเมืองอุเอะดะให้ร่างภาพอาคารบ้านเรือนญี่ปุ่นดั้งเดิมสำหรับใช้ในเรื่องด้วย[14]

อนึ่ง ในอนิเมะ จะได้เห็นยานอวกาศญี่ปุ่นนามว่า "ฮะยะบุซะ" (Hayabusa) ซึ่งมีศูนย์ควบคุมอยู่แถวเมืองซะกุ จังหวัดนะงะโนะ โฮะโซะดะให้เพิ่มยานอวกาศลำนี้เข้าไปเพราะเขามีใจสนับสนุนกิจการของรัฐในการสำรวจอวกาศ[3]

Remove ads

เพลง

สรุป
มุมมอง

เพลงประกอบอนิเมะ

ข้อมูลเบื้องต้น ซาวด์แทร็กอัลบั้มโดย อะกิฮิโตะ มะสึโมะโตะ (Akihiko Matsumoto), วางตลาด ...

อะกิฮิโกะ มะสึโมะโตะ (Akihiko Matsumoto) ประพันธ์เพลงประกอบอนิเมะเรื่องนี้ทุกเพลง ต่อมา บริษัทแว็ป (VAP) ทำเป็นอัลบัมชื่อ "'ซัมเมอร์ วอร์ส' ออริจินัลซาวด์แทร็ก" (「サマーウォーズ」 オリジナル・サウンドトラック, "Summer Wars Original Soundtrack") ออกวางขายตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2552 อัลบัมนี้ได้ขึ้นผังดนตรีของออริคอน (Oricon) ว่าขายดีเป็นอันดับที่หนึ่งร้อยสิบสองตลอดระยะเวลาสี่สัปดาห์แรกด้วย[17]

ข้อมูลเพิ่มเติม ลำดับ, ชื่อเพลง ...

โบะกุระโนะนะสึโนะยุเมะ

ข้อมูลเบื้องต้น ซาวด์แทร็กอัลบั้มโดย ทะสึโร ยะมะชิตะ (Tatsurō Yamashita), วางตลาด ...

ทะสึโร ยะมะชิตะ (Tatsurō Yamashita) เขียนและขับร้องเพลงหลักของอนิเมะนี้ คือ เพลง "โบะกุระโนะนะสึโนะยุเมะ" (僕らの夏の夢) แปลว่า "ความฝันของเราในหน้าร้อน" (Our Summer Dream) ต่อมา วอร์เนอร์มิวสิกญี่ปุ่น (Warner Music Japan) ทำเป็นแม็กซีซิงเกิลขายตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2552 และได้ขึ้นผังออริคอนว่า ขายดีเป็นอันดับที่แปด[18]

ซิงเกิลนี้ประกอบด้วยเพลง "โบะกุระโนะนะสึโนะยุเมะ" ดังกล่าว และเพลงแถมอีกสองเพลงซึ่งแต่งและร้องโดยยะมะชิตะเหมือนกันแต่ไม่เกี่ยวข้องกับอนิเมะ ในจำนวนเพลงแถมนี้ เพลงหนึ่งอัดจากการแสดงสดของยะมะชิตะ

ข้อมูลเพิ่มเติม ลำดับ, ชื่อเพลง ...
Remove ads

การตลาด

สรุป
มุมมอง

อนิเมะ ซัมเมอร์ วอร์ส นี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของแม็ดเฮาส์ในอันที่จะกวาดรายได้จากโรงภาพยนตร์โดยออกอนิเมะฤดูละเรื่องจนครบสี่ฤดู ฉะนั้น เมื่อเผยแพร่ ซัมเมอร์ วอร์ส ซึ่งว่าด้วยฤดูร้อนแล้ว จึงออกอนิเมะ ไมไมมิราเคิล (マイマイ新子と千年の魔法; Mai Mai Miracle) ซึ่งว่าด้วยฤดูใบไม้ผลิ ในฤดูนั้นของปี 2552, โยะนะโยะนะเพนกวิน (よなよなペンギン; Yona Yona Penguin) ซึ่งว่าด้วยฤดูหนาว ในฤดูนั้นของปี 2552, และ เรดไลน์ (レッドライン; Redline) ซึ่งว่าด้วยฤดูฝน ในฤดูนั้นของปี 2553 ตามลำดับ[13]

ด้วยเหตุที่ กระโดดจั๊มพ์ทะลุข้ามเวลา ประสบความสำเร็จเป็นอันมาก สาธารณชนจึงตั้งความคาดหวังต่อ ซัมเมอร์ วอร์ส ไว้ค่อนข้างสูงเป็นเวลานานก่อนฉาย[13]

สำนักพิมพ์คะโดะกะวะ (Kadokawa Shoten) เผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์อนิเมะนี้ผ่านทางช่องทางการของตนบนเว็บไซต์ยูทูบ (YouTube) เพื่อกระตุ้นความสนใจทั้งในระดับท้องถิ่นและต่างประเทศ โดยวันที่ 8 เมษายน 2552 ได้เผยแพร่ตัวอย่างอนิเมะแบบคุณภาพสูงมีความยาวหนึ่งนาที[19] และวันที่ 16 มิถุนายน 2552 ได้เผยแพร่ตัวอย่างอนิเมะอีกฉบับซึ่งมีความยาวมากขึ้นเล็กน้อย[20] ต่อมา วันที่ 29 มิถุนายน 2552 ได้เผยแพร่เนื้อหาห้านาทีแรกของอนิเมะลงเว็บไซต์ยาฮู! มูวีส์ (Yahoo! Movies) ญี่ปุ่น[21] และอีกไม่กี่วันให้หลังได้เผยแพร่ภาพตัวอย่างจากอนิเมะลงช่องในยูทูบดังกล่าว[22] ในโอกาสเดียวกัน คะโดะกะวะยังเผยแพร่โฆษณาอนิเมะนี้สองฉบับลงในเว็บไซต์ต่าง ๆ โฆษณาทั้งสองฉบับเคยแพร่ภาพทางโทรทัศน์ และแต่ละฉบับมีความยาวสิบห้าวินาที[23] เมื่อสร้างกระแสความสนใจเช่นนี้แล้ว มะรุยะมะ ประธานแมดเฮาส์ จึงแสดงความมั่นอกมั่นใจว่า "ภาพยนตร์นี้คงได้รับความนิยมชมชอบพอสมควร เพราะขายตั๋วล่วงหน้าได้มากทีเดียว"[13]

ในเดือนมิถุนายน 2552 คะโดะวะกะได้เปิดตัวนิตยสารมังงะชื่อ ยังเอซ (Young Ace) ซึ่งลงตอนแรกของมังงะที่ดัดแปลงมาจากอนิเมะนี้ ใช้ชื่อเดียวกัน และเป็นผลงานของจิตรกรอิกุระ ซุงิโมะโตะ[24] ต่อมา จึงรวมตอนต่าง ๆ เข้าเป็นสองเล่มใหญ่ เล่มแรกวางขายในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2552 สิ้นสัปดาห์แรกขายได้ 51,645 ฉบับ ผังการ์ตูนของออริคอนจัดไว้ว่าขายดีเป็นอันดับที่ยี่สิบสาม[25][26] ส่วนเล่มสองนั้น วางขายตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 เมื่อพ้นสัปดาห์แรก ยอดขายอยู่ที่ 53,333 ฉบับ ชื่อว่าขายดีเป็นอันดับที่สิบสอง[27][28] นอกจากนี้ ซุงิโมะโตะยังทำมังงะตอนพิเศษอีกตอนหนึ่ง ดำเนินเนื้อหาคู่ขนานกับมังงะข้างต้น และลงพิมพ์ในนิตยสาร คอมป์เอซ (Comp Ace) ฉบับเดือนมิถุนายน 2553 ด้วย[29]

Remove ads

การเผยแพร่

สรุป
มุมมอง

ทวีปเอเชีย

ในประเทศญี่ปุ่น อนิเมะนี้ฉายครั้งแรก ณ โรงภาพยนตร์เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2552[22] ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2553 จึงวางขายในรูปแบบดีวีดีและบลูเรย์[30][31] ในสัปดาห์แรก บลูเรย์ขายได้ห้าหมื่นสี่พันชุด นับว่าขายดีเป็นอันดับหนึ่งในประเทศ และทำลายสถิติที่อนิเมะ อีวานเกเลียน: 1.0 กำเนิดใหม่วันพิพากษา (Evangelion: 1.0 You Are (Not) Alone) สร้างเอาไว้[30][31] ทุกวันนี้ ซัมเมอร์ วอร์ส ฉบับบลูเรย์เป็นสื่อบันเทิงที่ขายดีที่สุดเป็นอันดับสองในประเทศญี่ปุ่น รองจากบลูเรย์ภาพยนตร์ ไมเคิลแจ็กสันส์ดิสอิสอิต (Michael Jackson's This Is It)[32] ทั้งยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลกลุ่มสื่อบันเทิงดิจิทัลแห่งญี่ปุ่น (Digital Entertainment Group of Japan) สาขาปฏิสัมพันธ์ยอดเยี่ยม (Best Interactivity) ด้วย แต่พลาดรางวัล[33] ส่วนฉบับดีวีดีนั้น ในสัปดาห์แรกขายได้ห้าหมื่นห้าพันสามร้อยเจ็ดสิบห้าแผ่น ชื่อว่าขายดีที่สุดในประเทศตามผังดีวีดีอนิเมะของออริคอน[34]

ในประเทศเกาหลีใต้ บริษัทซีเจเอนเตอร์เทนเมนต์ (CJ Entertainment) นำอนิเมะไปฉายตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2552[35] ในประเทศสิงคโปร์ บริษัทแคเธย์ออร์แกไนเซชัน (Cathay Organisation) นำไปฉายตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 และในประเทศไต้หวัน บริษัทไมตีมีเดีย (Mighty Media) นำไปฉายตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2553[36]

สำหรับประเทศไทยนั้น บริษัทดรีม เอกซ์เพรส (เดกซ์) นำอนิเมะนี้เข้ามาฉายในวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 วันเดียว สองรอบ คือ รอบ 13:00 นาฬิกา และรอบ 15:15 นาฬิกา ณ โรงภาพยนตร์เอสเอฟเวิลด์ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร เพียงแห่งเดียว และฉายแบบพากย์ญี่ปุ่นบรรยายไทย นับเป็นอนิเมะโรงเรื่องที่ห้าที่บริษัทนี้เผยแพร่ในราชอาณาจักร ในโอกาสเดียวกับที่เปิดให้จองตั๋ว ยังเปิดให้จองบลูเรย์และดีวีดีอนิเมะดังกล่าวด้วย สื่อทั้งสองประเภทนี้มีพากย์ญี่ปุ่น พากย์ไทย และบรรยายไทยในฉบับเดียวกัน ออกจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2555[4][37]

ทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป

ในทวีปอเมริกาเหนือ อนิเมะนี้ฉายครั้งแรกเป็นฉบับพากย์ญี่ปุ่นบรรยายอังกฤษ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ณ เทศกาลภาพยนตร์เด็กนานาชาตินิวยอร์ก (New York International Children's Film Festival) โดยโฮะโซะดะ ผู้กำกับ ได้ร่วมเทศกาล และเมื่อฉายเสร็จแล้ว ก็ได้พบปะสนทนากับสาธารณชนผ่านล่ามด้วย[38] ต่อมา วันที่ 1 มีนาคม 2553 โฮะโซะดะได้ร่วมรายการศึกษาสื่อบันเทิงเปรียบเทียบ (Comparative Media Studies Program) ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซ็ตส์ (Massachusetts Institute of Technology) ซึ่งจัดฉายอนิเมะเรื่องนี้แก่สาธารณชนโดยไม่คิดค่าตอบแทน และจัดวงสนทนาระหว่างโฮะโซะดะกับสาธารณชนผู้มาชม[39] ส่วนฉบับพากย์อังกฤษนั้น ฉายหนแรกเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2553 ณ เทศกาลภาพยนตร์เด็กนานาชาตินิวยอร์ก[40] ต่อมา ในคราวชุมนุมโอตาคอนประจำปี 2553 ที่ศูนย์ภาพยนตร์เจนซิสเกล (Gene Siskel Film Center) บริษัทฟันนิเมชันเอนเตอร์เทนเมนต์ (Funimation Entertainment) ได้แถลงว่า จะเริ่มฉายอนิเมะนี้ในโรงภาพยนตร์ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2553 เป็นต้นไป[41][42]

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 ฟันนิเมชันเอนเตอร์เทนเมนต์ได้เริ่มเผยแพร่ดีวีดีและบลูเรย์อนิเมะนี้[43] โดยฉบับเผยแพร่ครั้งแรกนั้นแถมบัตรภาพด้วย แต่เมื่อบัตรดังกล่าวเป็นที่ต้องการมากขึ้นและมีไม่พอ ฟันนิเมชันเอนเตอร์เทนเมนต์จึงขายแผ่นก่อนแล้วตกลงว่า ภายหลังจะส่งให้ผู้ซื้อที่กรอกข้อมูลไว้บนเว็บไซต์บริษัท[44]

ในประเทศออสเตรเลีย อนิเมะนี้ฉายเป็นครั้งแรกที่เทศกาลภาพยนตร์ซิดนีย์ (Sydney Film Festival) วันที่ 14 มิถุนายน 2553 ต่อมา จึงฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมลเบิร์น (Melbourne International Film Festival) วันที่ 8 สิงหาคม 2553

ในประเทศฝรั่งเศส บริษัทยูโรซูม (Eurozoom) ได้นำอนิเมะนี้ออกฉายตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2553 และบริษัทกาเซ (Kazé) ได้เริ่มขายดีวีดีและบลูเรย์ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2553[45]

ในสหราชอาณาจักร บริษัทมังงะเอนเตอร์เทนเมนต์ (Manga Entertainment) ประกาศในเดือนมกราคม 2553 ว่า ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่อนิเมะนี้ ต่อมาในเดือนมีนาคม 2554 จึงจำหน่ายเป็นดีวีดีและบลูเรย์[46]

Remove ads

การตอบรับ

สรุป
มุมมอง

การตอบสนองเชิงวิพากษ์

นับแต่เผยแพร่ในปี 2552 เป็นต้นมา อนิเมะนี้ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในทางบวกเป็นการทั่วไป เว็บไซต์รอตเทนโทเมโทส์ (Rotten Tomatoes) กล่าวว่า นักวิจารณ์ร้อยละเจ็ดสิบหกวิจารณ์อนิเมะเรื่องนี้ในทางชื่นชมสรรเสริญ และคะแนนเต็มสิบให้เจ็ด[47] ขณะที่เว็บไซต์เมตาคริติก (Metacritic) ซึ่งจัดให้มีการวิจารณ์โดยใช้เกณฑ์มาตรฐาน ระบุว่า มีนักวิจารณ์กระแสหลักสิบสองคนร่วมวิจารณ์ และให้อนิเมะนี้ได้คะแนนหกสิบจากคะแนนเต็มหนึ่งร้อย จึงจัดว่า อนิเมะนี้ "เป็นที่พึงพอใจโดยทั่วกัน"[48]

มาร์ก ชิลลิง (Mark Schilling) จากเดอะเจแปนไทมส์ (The Japan Times) เขียนบทความชื่อ "เราอาจจะได้ราชาอนิเมะคนใหม่แล้ว โฮะโซะดะก้าวพ้นจากความครอบงำของมิยะซะกิพร้อมภาพยนตร์เรื่องใหม่อันชวนอัศจรรย์ใจ" ("The future king of Japanese animation may be with us; Hosoda steps out of Miyazaki's shadow with dazzling new film") โดยวิพากษ์วิจารณ์ว่า อนิเมะนี้ "มีองค์ประกอบอันชินตา กล่าวคือ เริ่มเรื่องด้วยวีรบุรุษอ่อนวัยมีอุปนิสัยช่างประหม่าและทะเล่อทะล่า แต่ได้ใช้องค์ประกอบเช่นว่านั้นไปในวิถีทางอันแปลกใหม่ ร่วมสมัย และชวนฝันใฝ่อย่างน่าพิศวง" เขายังว่า อนิเมะได้แฝงไว้ซึ่งข้อคิดเห็นของสังคมเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง "โลกเสมือน" กับ "โลกแห่งเครื่องมือทางดิจิทัล" และสดุดีซะดะโมะโตะ อะโอะยะมะ กับนิชิดะที่สร้างสรรค์ "ฉากเคลื่อนไหวอันวิจิตรตระการตา อาการที่ฉากเหล่านี้เคลื่อนไหวต่อเนื่องอย่างงามเลิศเลอ และได้รับการประดิดประดอยอย่างวิเศษโดยไร้ขีดจำกัดนั้น ยังให้อนิเมะแนวไซไฟ/จินตนิมิตบ้าน ๆ กลายเป็นมีลักษณะอย่างเด็กไม่ประสีประสาขึ้นมา" ในการนี้ จากคะแนนเต็มห้า เขาให้อนิเมะนี้ห้าเต็ม[49]

กิลเลม รอสเซ็ต (Guillem Rosset) เขียนบทวิจารณ์ซึ่งทวิตช์ฟิล์ม (Twitch Film) เผยแพร่ ชื่นชมโฮะโซะดะว่าเป็น "ราชาองค์ใหม่ผู้เล่าขานเรื่องราวโดยอาศัยการทำงานภายใต้สื่อเคลื่อนไหวได้อย่างเอกอุในประเทศญี่ปุ่น และจะรวมถึงในโลกก็ได้" กับทั้งสรรเสริญอนิเมะว่า "ลงรายละเอียดได้ดีและเขียนเรื่องได้อย่างงดงาม...จึงเจริญตาน่าชมดู" และ "มากไปด้วยตัวละครกลุ่มใหญ่ซึ่งมีรายละเอียดแสนพิสดารและบริสุทธิ์" รอสเซ็ตสรุปว่า "โฮะโซะดะถ่วงดุลความต้องการสร้างความบันเทิงผ่านทัศนียภาพ กับงานสร้างตัวละครอันมากหลายและเป็นที่น่าพึงพอใจ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เป็นเหตุให้เขาไม่ถูกกลืนไปด้วยเหล่านักเทคนิคผู้มากฝีมือที่มีอยู่เป็นจำนวนมหึมา ส่งผลให้เขาได้เป็นนักบอกเล่าเรื่องราวผู้เป็นเลิศโดยแท้จริง"[50] รอสเซ็ตยังว่า "ข้อดีเด่นยิ่งนักข้อหนึ่งของอนิเมะนี้ คือ กลุ่มตัวละครที่เลอเลิศ" และเน้นย้ำเกี่ยวกับอ็อซ นครเสมือน ว่า "ณ นครนี้ เหล่าผู้มีจิตใจสร้างสรรค์ในบริษัทแมดเฮาส์สามารถปล่อยปละให้จินตนาการของพวกเขาโลดแล่นไปโดยมิต้องควบคุม" ส่วนในประเด็นทางวิชาการนั้น เขาว่า อนิเมะนี้เป็น "รายการโสตทัศน์ชั้นสูงสุด" และว่า "มะโมะรุ โฮะโซะดะ สมควรจะเป็นที่หนึ่งในบรรดาชาวญี่ปุ่นนักสร้างภาพเคลื่อนไหวร่วมสมัยแถวหน้าได้ และเป็นการดียิ่งนักที่ได้ตระหนักทราบว่า เมื่อถึงคราวซึ่งมิยะซะกิต้องแขวนนวม (หวังว่ามิใช่เร็ว ๆ นี้!) ก็ยังมีคนที่สามารถเจริญรอยตามเขาได้อยู่"[50]

หนังสือพิมพ์เฮรอลด์บีซีเนส (Herald Business) ของสาธารณรัฐเกาหลีมองว่า แก่นเรื่องแนวจินตนิมิตและภาพเคลื่อนไหวอันบรรเจิดของอนิเมะนี้ยังให้อนิเมะมีความแตกต่างจากผลงานของเหล่าสตูดิโอในฮอลลิวูด[35]

แพทริก ดับเบิลยู. กัลเบรธ (Patrick W. Galbraith) แห่งโอะตะกุ2.คอม (Otaku2.com) ว่า รูปลักษณ์ของอ็อซ นครเสมือนจริง มีส่วนคล้ายคลึงกับงานศิลป์ของจิตรกรมุระกะมิ ส่วนเนื้อเรื่องและตัวละครนั้น กัลเบรธว่า "ฉากเช่นครอบครัวใหญ่มาพร้อมหน้าและโอภาปราศรัยกันหลังมื้อเย็นนั้นช่างยังให้ใจชื้นและครื้นเครงดี" โดยเปรียบอนิเมะนี้ว่าเป็นประหนึ่ง "สมุดภาพอันเคลื่อนไหวได้ สมุดที่เก็บภาพครอบครัวย้อนหลังไปหลายทศวรรษ" เขายังอ้างว่า หลายคนชมอนิเมะแล้วก็ตัดสินใจย้ายไปตั้งถิ่นฐานในเมืองนะงะโนะถึงเพียงนั้น และกล่าวว่า "งานชิ้นนี้มีความบริสุทธิ์และหมดจดอันชวนให้หวนคำนึงถึงฮะยะโอะ มิยะซะกิ (Hayao Miyazaki) และสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) ขึ้นมา กับทั้งฉากหลังอันระยิบระยับนั้นก็นำพาให้ใคร่ครวญถึงมะโกะโตะ ชินไก (Makoto Shinkai)"[51]

จัสติน เซวาคิส (Justin Sevakis) จากเครือข่ายข่าวอนิเมะ (Anime News Network) ให้คะแนน 'ก' ('A') แก่อนิเมะนี้ และเขียนว่า "ในอีกหลายสิบปีจากนี้ไป ซัมเมอร์ วอร์ส จะเป็นเครื่องสำแดงว่า มะโมะรุ โฮะโซะดะ ได้ก้าวย่างมาถึงดินแดนแห่งบรรดาผู้กำกับอนิเมะที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้วอย่างเป็นทางการ" เซวาคิสยังว่า อนิเมะนี้ "เกลี่ยการแดกดันสังคมและบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ให้กลืนกันได้เกือบดีเยี่ยมโดยสอดคล้องกับกาลสมัยแต่ไม่จำกัดอยู่กับวารโอกาสใด ๆ เป็นเชิงเย้ยหยันอยู่ในทีและก็ตั้งอยู่บนทัศนคติที่ดี" และชมเชยตัวละครอันเป็นผลงานการออกแบบของซะดะโมะโตะกับเน้นย้ำทัศนียภาพทั้งหลายว่า "หลักแหลมและเยี่ยมยอดอย่างสอดรับกัน" เซวาคิสกล่าวตอนท้ายว่า อนิเมะนี้ "สนุกสนานอย่างเหลือเชื่อ และประเทืองปัญญาน่าใฝ่ใจ สามารถเข้าใจได้และดำเนินเรื่องเร็วดี หาที่ติไม่ค่อยจะได้"[52]

ราเชล ซอลซ์ (Rachel Saltz) แห่งเดอะนิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) เป็นนักวิจารณ์อีกหนึ่งคนที่ยกย่องอนิเมะนี้ ซอลซ์ว่า โฮะโซะดะกำกับได้ดี และว่า การกำกับของเขานั้น "ลงรอยกับภาพลักษณ์ในชีวิตภายนอกของเขาที่มีความสะอาดและสงบตามแบบฉบับ" เธอยังสดุดีทัศนียภาพและแก่นของเรื่อง กับทั้งเปรียบเทียบสิ่งเหล่านี้กับบรรดาที่ผู้กำกับยะซุจิโร โอะซุ (Yasujirō Ozu) สร้างสรรค์ด้วย[53]

ปีเตอร์ เดบรูจ (Peter Debruge) เขียนบทความให้แก่นิตยสารวาไรอิตี (Variety) ว่า ผลงานนี้ของโฮะโซะดะ "จะเป็นที่สนใจของเหล่าวัยรุ่นซึ่งเอาใจยาก โดยจะช่วยลบคติที่มีผลกระทบต่อจิตใจและช่วยให้พวกเขาเจริญวัยอยู่ภายในสภาพแวดล้อมร่วมสมัยที่เกี่ยวข้อง" เขายังชื่นชมการสร้างภาพเคลื่อนไหวด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกและฉากในอ็อซด้วย[54]

ปีเตอร์ ฮาร์ตโลบ (Peter Hartlaub) จาก ซานฟรานซิสโกโครนิเคิล (San Francisco Chronicle) ว่า รูปแบบของโฮะโซะดะ "เพิ่มมิติให้แก่ตัวละครของเขาและฉากโรมรันพันพัวได้ถึงขนาดที่โลกจริงอันสงบราบคาบนั้นดูคล้ายดินแดนความฝัน" แต่เห็นว่า บุคลิกลักษณะของตัวละครเค็นจินั้น "ตอนต้นเหมือนพวกติดยาลงแดงไปสักนิด" ฮาร์ตโลปสรุปว่า อนิเมะนี้เป็น "ภาพยนตร์ประเภทสนุกและแปลกประหลาดซึ่งคุณจะไม่เจอบ่อยในสำนักศิลปะไหน ๆ ในช่วงปีนี้"[55]

ขณะที่ไท เบอร์ (Ty Burr) แห่งเดอะบอสตันโกลบ (The Boston Globe) ให้อนิเมะนี้สามคะแนนจากคะแนนเต็มสี่[56]

รายได้

ในประเทศญี่ปุ่น หลังฉายได้หนึ่งสัปดาห์ อนิเมะเรื่องนี้ทำรายได้ 1,338,772 ดอลลาร์สหรัฐ นับว่ามากเป็นอันดับที่เจ็ด[22][57] เมื่อลาโรงแล้ว รายได้สุทธิอยู่ที่ 4,742,592 ดอลลาร์สหรัฐ[2]

ในประเทศเกาหลีใต้ อนิเมะได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ 118 แห่ง ในสัปดาห์แรกทำรายได้ทั้งสิ้น 369,156 ดอลลาร์สหรัฐ จัดว่ามากเป็นอันดับที่แปด[58] เมื่อฉายแล้วสิ้น สร้างรายได้รวม 783,850 ดอลลาร์สหรัฐ[2]

ในประเทศสิงคโปร์ อนิเมะนี้เข้าฉาย ณ โรงภาพยนตร์สามแห่ง และรายได้ในสัปดาห์แรกอยู่ที่ 14,660 ดอลลาร์สหรัฐ ชื่อว่ามากเป็นอันดับที่สิบเจ็ด[59] และรายได้รวมอยู่ที่ 29,785 ดอลลาร์สหรัฐ[2]

ส่วนในสหรัฐอเมริกา อนิเมะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เพียงบางแห่ง รายได้สัปดาห์แรกคือ 1,412 ดอลลาร์สหรัฐ ถือว่ามากเป็นอันดับที่เจ็ดสิบหก ครั้นพ้นกำหนดฉายแล้ว ทำรายได้รวม 86,708 ดอลลาร์สหรัฐ[1]

ในการนี้ รายได้ทั่วโลกคำนวณเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 ได้ 18,353,560 ดอลลาร์สหรัฐ[2]

รางวัล

ซัมเมอร์ วอร์ส เป็นอนิเมะเรื่องแรกที่ได้เข้าชิงรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโลการ์โน (Locarno International Film Festival) ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์[60][61] โดยได้รับการเสนอให้ได้รางวัลเสือดาวทองคำ (Golden Leopard award) ประจำปี 2552[62] แต่ไม่ชนะ กระนั้น หนังสือพิมพ์ ตรีบูนเดอเฌแนฟ (Tribune de Genève) ของสวิตเซอร์แลนด์ว่า "เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่สุดที่มีอยู่ [ในบรรดาซึ่งเข้าร่วมชิงรางวัลนั้น]"[63] อนิเมะนี้ยังเปิดตัวต่อนานาชาติ ณ งานฉลองมังงะ (celebration of manga) ในเทศกาลดังกล่าว เพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงบทบาทของมังงะในโลกอุตสาหกรรมแอนิเมชันด้วย[61]

ต่อมาวันที่ 24 ตุลาคม 2552 กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry) ของญี่ปุ่นมอบรางวัลสื่อใหม่ (award for new media) ให้แก่อนิเมะเรื่องนี้ในการประชุมประจำปีของสมาคมสาระดิจิทัลแห่งญี่ปุ่น (Digital Content Association of Japan)[64]

ในปลายปี 2552 อนิเมะนี้ได้รับรางวัลเกอร์ตีว่าด้วยภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม (Gertie Award for Best Animated Feature Film) ณ เทศกาลภาพยนตร์ซิตเจส (Sitges Film Festival) ประเทศสเปน[65][66] ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเอเชียแปซิฟิกสกรีน (Asia Pacific Screen Awards) สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม แต่ชวด[67][68] กับทั้งได้รับรางวัลสาขาแอนิเมชันยอดเยี่ยม (Animation Division Grand Prize) ณ เทศกาลศิลปะสื่อญี่ปุ่น ครั้งที่ 13 (13th Japan Media Arts Festival) ซึ่งโฮะโซะดะเคยได้รับสำหรับอนิเมะ กระโดดจั๊มพ์ทะลุข้ามเวลา เมื่อปี 2543 ครั้งหนึ่งแล้ว ตามลำดับ[69][70]

ครั้นเดือนกุมภาพันธ์ 2553 อนิเมะเรื่องนี้ได้รับการฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ครั้งที่ 60 (60th Berlin International Film Festival) โดยเป็นส่วนหนึ่งของรายการสำหรับ วัยสิบสี่ปีขึ้นไป (Generation 14plus)[71][72] ต่อมา อนิเมะนี้ได้รับรางวัลแห่งความเป็นเลิศในแอนิเมชัน (Award of Excellence in Animation) ณ งานประกาศผลรางวัลอะแคเดมีญี่ปุ่น ครั้งที่ 33 (33rd Japan Academy Prizes) ที่บ้านเกิดเมืองนอน เป็นเหตุให้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแอนิเมชันแห่งปี (Animation of the Year Prize) และชนะเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2553[73][74] อนิเมะนี้ยังได้รับรางวัลผู้ชม (Audience Award) สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแอนะไฮม์ (Anaheim International Film Festival) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดในเดือนตุลาคม 2553 และอีกสองเดือนให้หลัง โฮะโซะดะก็ได้รับรางวัลแอนนี (Annie Award) สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม นับเป็นชาวญี่ปุ่นคนที่สามที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแอนนีในสาขาดังกล่าว ทั้งนี้ สองคนก่อนหน้า คือ ฮะยะโอะ มิยะซะกิ และโจ ฮิไซชิ (Joe Hisaishi)[75]

อนึ่ง ฟันนิเมชันและจีคิดส์ (GKIDS) ได้ร่วมกันส่งอนิเมะนี้เข้าชิงรางวัลแอนิเมชันยอดเยี่ยมในงานประกาศผลรางวัลอะแคเดมี ครั้งที่ 83 (83rd Academy Awards) ด้วย แต่พ่าย[43][76][77]

Remove ads

อ้างอิง

Loading content...

แหล่งข้อมูลอื่น

Loading related searches...

Wikiwand - on

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Remove ads