Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ความเอนเอียงเพื่อยืนยัน (ความคิดฝ่ายตน)[1] หรือ ความลำเอียงเพื่อยืนยัน (อังกฤษ: Confirmation bias, confirmatory bias, myside bias) เป็นความลำเอียงในข้อมูลที่ยืนยันความคิดหรือทฤษฎีหรือสมมติฐานฝ่ายตน[upper-alpha 1][2] เรียกว่ามีความลำเอียงนี้เมื่อสะสมหรือกำหนดจดจำข้อมูลที่เลือกเฟ้น หรือว่าเมื่อมีการตีความหมายข้อมูลอย่างลำเอียง
ความลำเอียงนี้มีอยู่ในระดับสูงในประเด็นที่ให้เกิดอารมณ์หรือเกี่ยวกับความเชื่อที่ฝังมั่น นอกจากนั้นแล้ว คนมักตีความหมายข้อมูลที่ยังไม่ชัดเจนว่าสนับสนุนความคิดเห็นของตนเอง มีการใช้การสืบหา การตีความหมาย และการทรงจำข้อมูลประกอบด้วยความลำเอียงเช่นนี้ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ รวมทั้ง
งานทดลองหลายงานในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 ส่อว่า มนุษย์มีความลำเอียงที่จะยืนยันความเชื่อที่มีอยู่ของตน ส่วนงานวิจัยต่อ ๆ มาตีความหมายของผลการทดลองเหล่านั้นใหม่ว่า เป็นความเอนเอียงที่จะทดสอบความคิดต่าง ๆ จากทางด้านเดียวเท่านั้น คือ ให้ความสนใจต่อข้อสันนิษฐานเพียงข้อเดียวโดยที่ไม่ใส่ใจข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้ข้ออื่น ๆ ในบางกรณี ความลำเอียงนี้สามารถทำลายความเป็นกลางของข้อสรุป เหตุที่ใช้ในการอธิบายความลำเอียงเช่นนี้รวมทั้งความอยากที่จะให้เป็นอย่างนั้น (wishful thinking) และสมรรถภาพที่จำกัดในการประมวลข้อมูลของมนุษย์ ส่วนคำอธิบายอีกอย่างหนึ่งก็คือมนุษย์มีความเอนเอียงเพื่อยืนยันความคิดฝ่ายตน เพราะคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเสียไปถ้าตนเองเป็นฝ่ายผิด แทนที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเป็นกลาง ๆ โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์
ความลำเอียงนี้ทำให้เกิดความมั่นใจมากเกินไปในความเชื่อส่วนตัวของตนและสามารถรักษาหรือแม้แต่ทำให้ตั้งมั่นยิ่งขึ้นซึ่งความเชื่อผิด ๆ แม้ว่าจะมีหลักฐานที่แสดงข้อเท็จจริงคัดค้านความเชื่อนั้น การตัดสินใจที่ไม่ดีเหตุความลำเอียงเหล่านี้ พบได้ทั้งในสถานการณ์ทางการเมืองและในองค์กรต่าง ๆ[upper-alpha 2]
ความลำเอียงเพื่อยืนยันเป็นปรากฏการณ์เกี่ยวกับการประมวลข้อมูลซึ่งต่างจากปรากฏการณ์ที่ยืนยันด้วยการกระทำ ที่เรียกว่า self-fulfilling prophecy (แปลว่า คำพยากรณ์ที่เป็นจริงในตัวเอง) ซึ่งพฤติกรรมที่เกิดจากความหวัง เป็นเหตุให้ความหวังนั้นกลายเป็นจริง[3] นักจิตวิทยาบางท่านใช้คำว่าความลำเอียงเพื่อยืนยัน เพื่อหมายถึงความโน้มน้าวที่จะหลีกเลี่ยงการยกเลิกความเชื่อเก่า ๆ ในขณะที่กำลังค้นหาหลักฐาน ตีความหมายหลักฐาน หรือระลึกถึงหลักฐานนั้น ๆ จากความจำ ส่วนนักจิตวิทยาพวกอื่นจำกัดการใช้คำนี้ในเรื่องการสั่งสมหลักฐานโดยเลือก (แต่สิ่งที่ยืนยันความเชื่อ)[4][upper-alpha 3]
งานทดลองต่าง ๆ พบเหมือน ๆ กันว่า มนุษย์มักตรวจสอบสมมติฐานจากทางด้านเดียว โดยค้นหาหลักฐานที่จะลงรอยกับสมมติฐานของตน[5][6] แทนที่จะสืบหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องกันทั้งหมด มนุษย์มักตั้งคำถามเพื่อที่จะได้รับคำตอบเชิงบวกที่สนับสนุนสมมติฐานของตน[7]คือมักค้นหาผลที่จะเกิดขึ้นถ้าสมมติฐานของตนตรงกับความจริง ไม่ค้นหาผลที่เกิดขึ้นถ้าสมมติฐานของตนไม่ตรงกับความจริง[7] ยกตัวอย่างเช่น สำหรับบุคคลที่ใช้คำถามแบบถูกไม่ถูกเพื่อจะสืบหาตัวเลขที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเลข 3 อาจตั้งคำถามว่า "เลขนี้เป็นเลขคี่ใช่ไหม" บุคคลมักนิยมคำถามชนิดนี้ ซึ่งเป็นคำถามที่เรียกว่า การทดสอบเชิงบวก (positive test) แม้ว่าการใช้คำถามเชิงลบว่า "เลขนี้เป็นเลขคู่ใช่ไหม" ความจริงแล้วก็จะได้ข้อมูลที่เหมือนกัน[8] แต่ว่า ไม่ใช่หมายความว่า แต่ละคนจะตรวจสอบที่จะได้คำตอบเป็นบวกเสมอไป ในงานทดลองที่ผู้ร่วมการทดลองสามารถเลือกการตรวจสอบเทียมหรือการตรวจสอบที่จะให้วินิจฉัยความจริงได้ ผู้ร่วมการทดลองชอบใจการตรวจสอบที่จะให้วินิจฉัยความจริงได้[9][10]
นอกจากนั้นแล้ว ความชอบใจในการทดสอบเชิงบวกไม่ใช่เป็นความเอนเอียงโดยตรง เนื่องจากว่าการทดสอบเช่นนี้สามารถให้ข้อมูลที่ดี[11] แต่ว่า เมื่อรวมเข้ากับพฤติกรรมอื่น ๆ วิธีเช่นนี้สามารถใช้เพื่อยืนยันความเชื่อหรือสมมติฐานของตน ไม่ว่าความเชื่อนั้นจะเป็นความจริงหรือไม่[12] ในชีวิตจริง หลักฐานข้อมูลต่าง ๆ มักซับซ้อนและปรากฏคละกัน ยกตัวอย่างเช่น ข้อคิดเห็นต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกันเองเกี่ยวกับบุคคลหนึ่ง แต่ละอย่างสามารถสนับสนุนได้โดยดูพฤติกรรมด้านหนึ่งของบุคคลนั้น[6] ดังนั้น การหาหลักฐานเพื่อที่จะสนับสนุนสมมติฐานหนึ่ง ๆ จึงมีโอกาสประสบผลสำเร็จสูง[12] ตัวอย่างหนึ่งก็คือ การตั้งคำถามสามารถมีผลต่อคำตอบได้โดยนัยสำคัญ[6] เช่นคำถามว่า "คุณมีความสุขในชีวิตสังคมของคุณหรือไม่" มักได้คำตอบเชิงบวกมากกว่าคำถามว่า "คุณไม่มีความสุขในชีวิตสังคมของคุณใช่ไหม"[13]
แม้แต่การเปลี่ยนแปลงคำถามเพียงเล็กน้อยสามารถมีผลต่อวิธีการที่ผู้ตอบเสาะหาข้อมูลเพื่อจะตอบและดังนั้น จึงมีผลต่อคำตอบ มีการแสดงให้เห็นอย่างนี้ โดยงานวิจัยที่สมมุติคดีฟ้องร้องเกี่ยวกับการปกครองของเด็ก[14] คือมีการให้ผู้ร่วมการทดลองอ่านความว่า ผู้ปกครอง "ก" มีความเหมาะสมพอประมาณในการเป็นผู้ปกครองเพราะเหตุหลายอย่างและผู้ปกครอง "ข" มีคุณสมบัติและคุณวิบัติที่เด่นหลายอย่าง เช่นมีความใกล้ชิดกับเด็กแต่มีอาชีพที่ต้องจากเด็กไปเป็นระยะเวลายาวนาน เมื่อถามว่า "ผู้ปกครองคนไหนควรจะได้รับสิทธิปกครองเด็ก" ผู้ร่วมการทดลองโดยมากเลือกผู้ปกครอง ข เพราะสืบหาแต่ลักษณะที่ดี ๆ แต่เมื่อถามว่า "ผู้ปกครองคนไหนไม่ควรจะได้รับสิทธิปกครองเด็ก" ผู้ร่วมการทดลองโดยมากก็เลือกผู้ปกครอง ข เช่นกัน เพราะสืบหาแต่ลักษณะที่เสีย ๆ ซึ่งโดยปริยายหมายความว่า ผู้ปกครอง ก ควรจะได้รับสิทธิปกครอง[14]
งานวิจัยที่คล้ายกันอื่น ๆ แสดงวิธีที่บุคคลต่าง ๆ เสาะหาข้อมูลประกอบด้วยความเอนเอียง แต่ว่า ความเอนเอียงสามารถจำกัดได้เพราะมนุษย์มีความชอบใจในข้อทดสอบที่เป็นกลางจริง ๆ ในการทดลองหนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนกับอีกคนหนึ่งว่าเป็นคนเปิดเผยหรือเป็นคนเก็บตัวโดยเลือกคำถามเพื่อสัมภาษณ์จากรายการที่ได้รับ ถ้าแนะนำผู้รับการสัมภาษณ์ว่าเป็นคนเก็บตัว ผู้ร่วมการทดลองก็จะเลือกคำถามที่ตั้งข้อสันนิษฐานว่าคนนั้นเป็นคนเก็บตัว เป็นต้นว่า "คุณไม่ชอบใจอะไรในงานปาร์ตี้ที่หนวกหู" แต่ว่าถ้าแนะนำว่า เป็นคนเปิดเผย คำถามที่เลือกเกือบทั้งหมดจะเป็นประเภทที่ตั้งข้อสันนิษฐานว่าคนนั้นเป็นคนเปิดเผยเป็นต้นว่า "คุณจะทำอย่างไรเพื่อจะเพิ่มสีสันให้กับงานปาร์ตี้ที่ไม่มีชีวิตชีวา" คำถามที่ชี้คำตอบอย่างนี้ไม่ได้ให้โอกาสผู้รับสัมภาษณ์ที่จะให้ข้อมูลที่พิสูจน์ว่าข้อสันนิษฐานนั้นผิดพลาด[15] ส่วนการทดลองนั้นอีกแบบหนึ่งให้คำถามที่เป็นกลาง ๆ มากกว่ากับผู้ร่วมการทดลองเพื่อให้เลือก เช่น "ปกติ คุณหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมหรือไม่"[16] ปรากฏว่าผู้ร่วมการทดลอชอบใจที่จะถามคำถามที่สามารถให้หลักฐานวินิจฉัยที่ดีกว่าโดยมีความเอนเอียงเล็กน้อยเพียงเท่านั้นต่อคำถามแบบบวกความเป็นไปเช่นนี้ ที่มีความชอบใจต่อข้อทดสอบที่เป็นกลาง ๆ และมีความชอบใจต่อคำถามเชิงบวกเพียงเล็กน้อยก็พบในงานวิจัยอื่น ๆ อีกด้วย[16]
บุคลิกภาพมีอิทธิพลและทำงานร่วมกับกระบวนการค้นหาหลักฐานแบบลำเอียง[17] มนุษย์มีความสามารถต่าง ๆ กันในการยืนยันความคิดเห็นฝ่ายตนเมื่อคนอื่นคัดค้านโดยนัยว่า "ใช้หลักฐานตามเลือก" "เป็นการค้นหาแต่ข้อมูลที่เข้ากัน" และ "ไม่หาข้อมูลที่ไม่เข้ากัน"[18] งานทดลองหนึ่งตรวจสอบขอบเขตที่บุคคลสามารถหักล้างข้อโต้แย้งที่คัดค้านความความเชื่อฝ่ายตน[17] บุคคลที่มีความมั่นใจสูงมักสืบหาข้อมูลคัดค้านความคิดเห็นฝ่ายตนได้อย่างเต็มใจกว่าส่วนบุคคลที่มีความมั่นใจต่ำมักไม่ค้นหาข้อมูลที่ไม่เข้ากันแต่จะชอบใจข้อมูลที่สนับสนุนความคิดเห็นฝ่ายตนโดยย่อก็คือ มนุษย์มักค้นหาและประเมินหลักฐานจากหลักฐานที่มีความเอนเอียงไปทางความเชื่อหรือความเห็นฝ่ายตน[19] แต่ระดับความมั่นใจที่สูงจะช่วยลดความชอบใจในข้อมูลที่สนับสนุนความเชื่อส่วนตัว
งานทดลองอีกงานหนึ่งทดสอบผู้ร่วมการทดลองโดยให้ค้นหากฎการเคลื่อนไหวของวัตถุที่ซับซ้อนโดยสังเกตการเคลื่อนไหวของวัตถุที่จำลองโดยคอมพิวเตอร์[20] คือ วัตถุบนจอคอมพิวเตอร์จะเคลื่อนไหวตามกฎระเบียบอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ร่วมการทดลองต้องทำความเข้าใจโดย "ยิง" วัตถุต่าง ๆ ข้ามจอคอมพิวเตอร์เพื่อที่จะทดสอบสมมติฐานของตนแม้ว่าจะทำความพยายามตลอด 10 ช.ม. ไม่มีใครเลยที่สามารถทำความเข้าใจกฎระเบียบของระบบผู้รับการทดลองมักพยายามหาหลักฐานเพื่อยืนยันสมมติฐานของตน แต่ไม่พยายามหาหลักฐานที่คัดค้านและมักลังเลในการพิจารณาสมมติฐานอื่น ๆ แม้ว่าจะได้เห็นหลักฐานที่คัดค้านสมมติฐานของตน แต่ก็มักพยายามทำการทดสอบอย่างเดียวกันต่อ ๆ ไปและถึงแม้ว่าผู้ร่วมการทดลองบางคนจะได้รับคำอธิบายเกี่ยวกับวิธีการทดสอบสมมติฐานที่ถูกต้อง แต่คำอธิบายเหล่านี้กลับแทบไม่มีผลอะไร[20]
—Michael Shermer[21]
ความลำเอียงเพื่อยืนยันไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การสั่งสมหลักฐาน แม้ว่าคนสองคนจะมีหลักฐานเดียวกัน แต่การตีความหมายอาจจะประกอบกับความเอนเอียง
คณะวิจัยที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดทำการทดลองกับผู้ร่วมการทดลองที่มีความเห็นชัดเจนเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต โดยที่ครึ่งหนึ่งเห็นด้วยอีกครึ่งหนึ่งคัดค้าน[22][23] ผู้ร่วมการทดลองแต่ละคนอ่านบทความงานวิจัยสองงาน งานแรกเป็นการเปรียบเทียบรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาที่มีและไม่มีโทษประหารชีวิตและงานที่สองเป็นกา เปรียบเทียบอัตราการฆ่าคนตายในรัฐหนึ่ง ๆ ก่อนและหลังการออกกฎหมายลงโทษประหารชีวิต หลังจากการอ่านข้อความสั้น ๆ ของแต่ละงานวิจัย ก็จะถามผู้ร่วมการทดลองว่ามีความเห็นที่เปลี่ยนไปหรือไม่ หลังจากนั้น ก็ให้ผู้ร่วมการทดลองอ่านรายละเอียดของวิธีการในงานวิจัย และให้ผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนว่า งานวิจัยนั้นทำได้ดีและน่าเชื่อถือแค่ไหน[22] แต่ว่าจริง ๆ แล้ว ผลงานวิจัยเหล่านั้นเป็นเรื่องกุขึ้น มีการบอกผู้ร่วมการทดลองครึ่งหนึ่งว่า มีงานวิจัยหนึ่งที่สนับสนุนว่ากฎหมายมีผลในการลดอัตราฆาตกรรม และงานวิจัยอีกงานหนึ่งแสดงว่ากฎหมายไม่มีผล ในขณะที่บอกผู้ร่วมการทดลองอีกครึ่งหนึ่งในนัยตรงกันข้าม[22][23]
ผู้ร่วมการทดลอง ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้านโทษประหารชีวิต รายงานว่าความเห็นได้เปลี่ยนไปเล็กน้อยตามหลักฐานที่แสดงในงานวิจัยแรก แต่หลังจากที่ได้อ่านรายละเอียดของงานวิจัยทั้งสอง เกือบทั้งหมดจะกลับไปที่ความคิดเห็นเดิมของตนโดยไม่ขึ้นกับหลักฐานที่ได้แล้วชี้รายละเอียดที่สนับสนุนข้อคิดเห็นของตนและทิ้งรายละเอียดอื่นที่คัดค้าน ผู้ร่วมการทดลองแสดงว่า งานวิจัยที่สนับสนุนความคิดเห็นของตนทำได้ดีกว่างานทดลองที่คัดค้าน โดยที่ผู้ร่วมการทดลองสามารถแสดงเหตุผลได้อย่างละเอียดและเฉพาะกรณี[22][24]
ผู้ที่สนับสนุนโทษประหารชีวิตกล่าวถึงงานวิจัยที่แสดงความที่กฎหมายไม่มีผลว่า "งานวิจัยสั่งสมข้อมูลในช่วงเวลาน้อยเกินไป" ในขณะที่ผู้คัดค้านโทษประหารชีวิตกล่าวถึงงานวิจัยเดียวกันว่า "ไม่มีหลักฐานสำคัญ (เพิ่มขึ้น) ที่จะมาคัดค้านผู้ทำงานวิจัย (ว่ากฎหมายมีผล)"[22] ผลงานวิจัยนี้แสดงว่า มนุษย์ใช้มาตรฐานที่สูงกว่าในการประเมินหลักฐานของสมมติฐานที่คัดค้านความคิดเห็นฝ่ายตน เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ความเอนเอียงเพื่อคัดค้าน (disconfirmation bias) เป็นความเอนเอียงซึ่งพบในงานทดลองหลายงาน[25]
มีการทำอีกงานวิจัยหนึ่งเกี่ยวกับการตีความหมายแบบบเอนเอียงในระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2004 ซึ่งทดสอบผู้ร่วมการทดลองผู้รายงานว่ามีความเห็นที่ชัดเจนเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ร่วมการทดลองได้รับข้อมูลคำแถลงเป็นคู่ ๆ ที่ขัดแย้งกันจากผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคริพับลิกัน จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และจากผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคเดโมแครต จอห์น เคอร์รี่ หรือจากคนมีชื่อเสียงอื่นที่เป็นกลางทางการเมือง นอกจากนั้น มีการให้คำแถลงอื่น ๆ ที่ทำให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกันดูเหมือนมีเหตุผลจากข้อมูล 3 อย่างเหล่านี้ ผู้ร่วมการทดลองต้องตัดสินใจว่า คำพูดของแต่ละคนขัดแย้งกันเองหรือไม่[26]: 1948 มีความแตกต่างกันอย่างสำคัญในข้อตัดสินของผู้ร่วมการทดลอง คือมีโอกาสมากกว่าที่จะตีความหมายของคำพูดจากผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ตนคัดค้านว่าขัดแย้งกันเอง[26]: 1951
ในการทดลองนี้ ผู้ร่วมการทดลองทำการตัดสินใจเมื่ออยู่ในเครื่องเอ็มอาร์ไอซึ่งตรวจดูการทำงานในสมอง เมื่อผู้ร่วมการทดลองกำลังประเมินคำพูดที่ขัดแย้งกันของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ตนสนับสนุน ศูนย์อารมณ์ในสมองจะเกิดการเร้า แต่จะไม่มีการเร้าเมื่อกำลังประเมินคำพูดของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ตนคัดค้านผู้ทำงานวิจัยอนุมานผลนี้ว่า ปฏิกิริยาที่แตกต่างกันต่อคำพูดที่ขัดแย้งกันไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดในการคิดหาเหตุผลอย่าง passive แต่ว่า ผู้ร่วมการทดลองต้องทำการลดระดับความขัดแย้งกันทางปริชาน (cognitive dissonance) ที่เกิดจากการรับรู้พฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลหรือหน้าไหว้หลังหลอกของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ตนสนับสนุนอย่างแอ๊กถีฟ
ความเอนเอียงในการตีความหมายเกี่ยวกับความเชื่อนั้นฝังแน่น ไม่ว่าจะฉลาดแค่ไหน ในการทดลองหนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองทำข้อทดสอบ SAT เพื่อตรวจสอบสติปัญญา หลังจากนั้น ก็ให้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถโดยสารที่นักวิจัยจะกุข้อมูลเกี่ยวประเทศกำเนิดของรถ ผู้ร่วมการทดลองชาวอเมริกันต้องให้คะแนนเป็น 6 แต้มว่ารถคันนั้นควรห้ามไม่ให้ใช้หรือไม่ โดย 1 คะแนนเป็นการ "ห้ามเด็ดขาด" และ 6 เป็นการ "ไม่ห้ามเด็ดขาด" ผู้ร่วมการทดลองต้องประเมินว่าจะให้ใช้รถเยอรมันอันตรายในถนนคนอเมริกัน และรถอเมริกันอันตรายในถนนคนเยอรมันหรือไม่ ปรากฏว่า ผู้ร่วมการทดลองเชื่อว่า ควรห้ามรถเยอรมันอันตรายในถนนคนอเมริกัน อย่างรวดเร็วกว่าควรห้ามรถอเมริกันอันตรายในถนนคนเยอรมันและไม่ปรากฏว่าระดับสติปัญญามีผลต่อคำตอบของผู้ร่วมการทดลอง[19]
การตีความหมายแบบเอนเอียงไม่ได้จำกัดอยู่ในประเด็นที่ทำให้เกิดอารมณ์เพียงเท่านั้น ในอีกการทดลองหนึ่ง ผู้วิจัยบอกผู้ร่วมการทดลองเกี่ยวกับการลักขโมยเหตุการณ์หนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองต้องกำหนดความสำคัญทางหลักฐานของข้อความที่เสนอว่า บุคคลหนึ่งเป็นขโมยหรือไม่ใช่ เมื่อผู้ร่วมการทดลองสันนิษฐานว่า บุคคลหนึ่งเป็นผู้มีความผิด ก็จะกำหนดข้อความที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานของตนว่ามีความสำคัญมากกว่าข้อความที่แสดงความขัดแย้ง[27]
แม้ว่า บุคคลหนึ่งอาจจะสั่งสมและตีความหมายหลักฐานโดยความเป็นกลาง แต่ก็อาจจะเลือกระลึกถึงหลักฐานเหล่านั้นเพื่อที่จะส่งเสริมความคิดเห็นฝ่ายตน[28] ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า การเลือกจำ (selective recall) ทฤษฎีทางจิตวิทยาต่าง ๆ มีพยากรณ์ที่แตกต่างกันในเรื่องการเลือกจำ ทฤษฏีโครงสร้างความรู้ (Schema theory) พยากรณ์ว่า ข้อมูลที่ตรงกับความคาดหมายที่มีมาก่อนจะสามารถจำและระลึกได้ดีกว่าข้อมูลที่ไม่ตรงกัน[29] ส่วนทฤษฎีอื่นบอกว่า ข้อมูลที่ทำให้ประหลาดใจจะเด่นกว่าและดังนั้นจึงจำได้ดีกว่า[29] คำพยากรณ์จากทั้งสองทฤษฎีที่กล่าวมานั้นได้รับการยืนยันจากการทดลองที่มีรูปแบบที่ต่างกัน ดังนั้นจึงไม่ปรากฏทฤษฎีที่ชนะโดยเด็ดขาด[30]
ในอีกงานวิจัยหนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองอ่านข้อความแสดงลักษณะของหญิงคนหนึ่งเป็นพฤติกรรมทั้งแบบเปิดเผยและเก็บตัว[31] หลังจากนั้น ก็จะต้องระลึกถึงตัวอย่างของความเป็นผู้เปิดเผยและความเป็นผู้เก็บตัว ผู้ร่วมการทดลองกลุ่มหนึ่งต้องประเมินหญิงนั้นสำหรับงานเป็นบรรณารักษ์ในขณะที่กลุ่มที่สองต้องประเมินหญิงนั้นเพื่องานเป็นนายหน้าขายที่ดิน สิ่งที่คนสองกลุ่มนี้ระลึกได้แตกต่างกันอย่างสำคัญคือ กลุ่มบรรณารักษ์ระลึกถึงตัวอย่างที่แสดงความเป็นคนไม่เปิดเผยได้มากกว่า ในขณะที่กลุ่มนายหน้าระลึกถึงตัวอย่างที่แสดงความเป็นคนเปิดเผยได้มากกว่า[31]
ผลของความจำเลือกสรรก็ปรากฏด้วยในงานทดลองต่าง ๆ ที่มีการกุความน่าปรารถนาของบุคลิกประเภทต่าง ๆ[29][32] ในงานทดลองหนึ่ง มีการแสดงหลักฐานกับผู้ร่วมการทดลองกลุ่มหนึ่งว่า ผู้มีบุคลิกเปิดเผยมีความสำเร็จในชีวิตมากกว่า ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งมีการแสดงข้อมูลตรงกันข้าม ในงานทดลองต่อมาอีกงานหนึ่งซึ่งไม่ทำเชื่อมต่อกัน มีการให้ผู้ร่วมการทดลองระลึกถึงเหตุการณ์ในชีวิตที่ตนแสดงพฤติกรรมเปิดเผยหรือเก็บตน ผู้ร่วมการทดลองในแต่ละกลุ่มระลึกถึงเหตุการณ์ที่เชื่อมตนเองกับบุคลิกภาพที่น่าปรารถนาได้มากกว่า และระลึกถึงเหตุการณ์เหล่านั้นได้เร็วกว่า[33]
การประเมินถึงเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไปสามารถมีผลต่อความทรงจำ[34] มีการให้ผู้ร่วมการทดลองลงคะแนนว่า ตนได้รู้สึกอย่างไรเมื่อรู้เป็นครั้งแรกว่า โอเจ ซิมป์สัน (อดีตนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลชื่อดังผู้ถูกกล่าวหาว่าฆ่าภรรยาของตน) ได้รับการตัดสินว่าไม่ผิดในข้อหาฆาตกรรม[34] ผู้ร่วมการทดลองได้พรรณนาถึงความรู้สึกและความมั่นใจของตนในข้อตัดสินในช่วงหนึ่งอาทิตย์ สองเดือน และหนึ่งปีหลังจากการตัดสินคดี ผลแสดงว่า การประเมินความผิดผู้ต้องหาของผู้ร่วมการทดลองเปลี่ยนไปตามเวลาและถ้าความคิดเห็นของผู้ร่วมการทดลองยิ่งเปลี่ยนไปเท่าไร ความทรงจำของของผู้ร่วมการทดลองเกี่ยวกับความรู้สึกที่มีในเบื้องต้นก็จะไม่มีเสถียรภาพยิ่งขึ้นเท่านั้น เมื่อผู้ร่วมการทดลองระลึกถึงปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นที่สองเดือนและที่หนึ่งปีให้หลัง ความทรงจำว่ามีความรู้สึกอย่างไรในอดีต ก็จะขึ้นอยู่กับการประเมินเหตุการณ์นั้น ๆ ในปัจจุบัน[34] มนุษย์แสดงความลำเอียงเพื่อยืนยันเมื่อกล่าวถึงความคิดเห็นฝ่ายตนในประเด็นที่มีความเห็นขัดแย้งกัน[19]
ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ความรู้สึกสามารถมีผลต่อความทรงจำ[35] ในการทดลองหนึ่ง มีการให้พ่อหม้ายและแม่หม้ายให้คะแนนความรู้สึกเศร้าหกเดือนและห้าปีหลังจากการเสียชีวิตของคู่ครอง ผู้ร่วมการทดลองบอกว่า มีความรู้สึกเศร้าที่ช่วงหกเดือนในระดับที่สูงกว่าช่วงห้าปี แต่ว่า เมื่อถามผู้ร่วมการทดลองหลังห้าปีไปแล้วว่า มีความรู้สึกอย่างไรหกเดือนหลังจากการเสียชีวิตของคู่ครอง การให้คะแนนระดับความรู้สึกเศร้าที่ระลึกได้มีสหสัมพันธ์ในระดับสูงกับความรู้สึกปัจจุบันคือ มนุษย์ดูเหมือนจะใช้อารมณ์ความรู้สึกปัจจุบันเพื่อวิเคราะห์ว่าตนรู้สึกอย่างไรในอดีต[34] นั่นก็คือ ความทรงจำในอดีตที่ประกอบด้วยอารมณ์เกิดการสร้างขึ้นใหม่อาศัยอารมณ์ความรู้สึกในปัจจุบัน
งานวิจัยหนึ่งอธิบายว่า ความจำเลือกสรรสามารถดำรงรักษาความเชื่อในการรับรู้นอกเหนือประสาทสัมผัส (extrasensory perception ตัวย่อ ESP) เช่นการอ่านใจของผู้อื่นได้[36] คือ มีการแสดงคำพรรณนาถึงการทดลองเกี่ยวกับ ESP ให้ทั้งคนเชื่อและไม่เชื่อมีการบอกคนกึ่งหนึ่งของแต่ละกลุ่มว่า มีผลการทดลองที่สนับสนุนว่า ESP นั้นมีจริงและบอกอีกกึ่งหนึ่งว่า ผลการทดลองไม่สนับสนุนความมีอยู่ของ ESP เมื่อสอบถามผู้ร่วมการทดลองภายหลัง ผู้ร่วมการทดลองโดยมากสามารถระลึกถึงข้อมูลที่ได้รับอย่างแม่นยำ ยกเว้นคนเชื่อที่อ่านข้อมูลที่ไม่สนับสนุน ผู้ร่วมการทดลองกลุ่มนี้ระลึกถึงข้อมูลได้น้อยกว่ากลุ่มอื่นและบางคนแถมจำผิดอีกด้วยว่า ข้อมูลการทดลองสนับสนุน ESP (ตรงกับความเชื่อของตนว่า ESP มีจริง)[36]
เมื่อกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นตรงกันข้ามกันตีความหมายข้อมูลหลักฐานใหม่ ๆ โดยมีความเอนเอียงความเห็นของกลุ่มคนเหล่านั้นสามารถเกิดความต่างที่ห่างกันยิ่งขึ้น นี้เรียกว่า "ความเห็นที่สุดโต่งเพิ่มขึ้น" (attitude polarization)[37] ปรากฏการณ์นี้เห็นได้โดยการทดลองที่เอาลูกบอลสีแดงและดำมาจากถุงหนึ่งหรือสองถุงที่ซ่อนอยู่ ผู้ร่วมการทดลองรู้ว่า ถุงหนึ่งมีลูกบอลสีดำ 60% สีแดง 40% และอีกถุงหนึ่งสีดำ 40% สีแดง 60% นักวิจัยได้ทำการตรวจดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าเอาลูกบอลมีสีสลับกันออกมา ซึ่งเป็นลำดับการเอาออกมาที่ไม่ให้สามารถระบุถุงใดถุงหนึ่งได้ หลังจากที่เอาลูกบอลแต่ละลูกออกมา ให้ผู้ร่วมการทดลองในแต่ละกลุ่มบอกทางวาจาว่า ตนคิดว่ามีความเป็นไปได้เท่าไรที่ลูกบอลเหล่านี้ได้นำออกมาจากถุงใดถุงหนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองมักเกิดความมั่นใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเอาลูกบอลแต่ละลูกออกมาก ไม่ว่าตอนแรกตนจะคิดว่ากำลังดึงลูกบอลออกมาจากถุงที่มีสีดำ 60% หรือสีแดง 60% ความน่าจะเป็นที่ผู้ร่วมการทดลองประเมินจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนในผู้ร่วมการทดลองอีกกลุ่มหนึ่ง นักวิจัยให้ประเมินค่าความน่าจะเป็นหลังจากเอาลูกบอลออกมาหมดชุดแล้วเท่านั้น ไม่ใช่ประเมินหลังจากเอาลูกบอลแต่ละลูกออกมาเหมือนกลุ่มแรก กลุ่มนี้ไม่เกิดปรากฏการณ์ความเห็นที่สุดโต่งเพิ่มขึ้นซึ่งบอกเป็นนัยว่าปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะว่าคนสองพวกมีความเชื่อที่ขัดแย้งกันเท่านั้นแต่ว่าเกิดขึ้นเมื่อตนได้แสดงออกมาแล้วว่าตนเป็นพวกไหน[38]
การทดลองในแนวนี้ที่เป็นรูปธรรมมากกว่าก็คือการทดลองตีความหมายของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ผู้ร่วมการทดลองผู้มีความเห็นที่ชัดเจนเกี่ยวการลงโทษประหารอ่านข้อความเกี่ยวกับข้อมูลหลักฐานการทดลองที่ผสมผเสกัน ผู้ร่วมการทดลอง 23% รายงานว่า ความเห็นของตนนั้นยิ่งมั่นคงเพิ่มขึ้น และความเปลี่ยนแปลงที่ผู้ร่วมการทดลองรายงานเองเช่นนี้ มีสหสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับความเชื่อในเบื้องต้น (คือยิ่งมีความเห็นเบื้องต้นที่ชัดเจนเท่าไร ระดับการเปลี่ยนแปลงความเห็นที่เพิ่มความมั่นคงก็มีมากขึ้นเท่านั้น)[22] ในงานวิจัยต่อ ๆ มา ผู้ร่วมการทดลองก็รายงานด้วยว่า ความเห็นของตนมั่นคงเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะได้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจน แต่ว่า การเปรียบเทียบความคิดเห็นโดยบททดสอบ (ที่เป็นปรวิสัย) ก่อนและหลังการรับข้อมูลใหม่ ไม่ได้แสดงความเปลี่ยนแปลงเป็นนัยสำคัญซึ่งบอกเป็นนัยว่า การเปลี่ยนแปลงที่เจ้าตัวรายงาน (ที่เป็นอัตวิสัย) อาจไม่ได้มีจริง ๆ[25][37][39]
โดยใช้ข้อมูลจากการทดลองเหล่านี้ ดีนนา คุห์น และโจเซ็ฟ ลาว สรุปว่า ความเห็นที่สุดโต่งเพิ่มขึ้นเป็นปรากฏการณ์ที่มีจริง ๆ แต่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือเลี่ยงไม่ได้ เพราะว่า เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีจำนวนน้อยพวกเขาพบว่า มันเกิดขึ้นไม่ได้มีเหตุจากการรับหลักฐานใหม่ แต่เกิดจากเพียงแค่คิดถึงประเด็นนั้นเท่านั้น[37]
ชาลส์ เทเบอร์ และมิลตัน ล็อดจ์ เสนอว่า ผลของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดทำซ้ำได้ยากเพราะว่าประเด็นที่ใช้ในการทดลองที่ทำภายหลังมีลักษณะเป็นนามธรรมมากเกิดไป หรือว่า เป็นเรื่องสับสนมากเกินไปกว่าที่จะให้เกิดปฏิกิริยาทางอารมณ์ ดังนั้น งานวิจัยของเทเบอร์และล็อดจ์จึงใช้ประเด็นที่ก่อให้เกิดอารมณ์คือเรื่องกฎหมายควบคุมการมีปืน และเรื่องการยืนยันสิทธิประโยชน์ของคนบางพวก (affirmative action)[25] พวกเขาวัดทัศนคติของผู้ร่วมการทดลองเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ก่อนและหลังการอ่านข้อโต้แย้งจากทั้งสองฝ่าย มีกลุ่มผู้ร่วมการทดลอง 2 กลุ่มที่เกิดความเห็นที่สุดโต่งเพิ่มขึ้น คือพวกที่มีความคิดเห็นที่มั่นคงมาก่อน และบุคคลที่มีความรู้ด้านการเมือง ในส่วนหนึ่งของงานวิจัยนี้ ผู้ร่วมการทดลองสามารถเลือกแหล่งกำนิดของหลักฐานที่จะอ่าน จากรายการที่นักวิจัยเป็นคนเตรียมขึ้น ยกตัวอย่างเช่นสามารถเลือกที่จะอ่านข้อมูลหลักฐานของสมาคมไรเฟิลแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อต้านกฎหมายควบคุมการมีปืน) หรือของคณะต่อต้านปืนพกเบรดี (ซึ่งสนับสนุนกฎหมายควบคุม) แม้ว่าจะได้รับคำสั่งว่าให้มีใจเป็นกลาง ผู้ร่วมการทดลองมักอ่านหลักฐานข้อมูลที่สนับสนุนทัศนคติที่ตนมีอยู่มากกว่าที่คัดค้าน การแสวงหาข้อมูลที่มีความเอนเอียงเช่นนี้มีสหสัมพันธ์สูงกับความเห็นที่สุดโต่งเพิ่มขึ้น[25]
ปรากฏการณ์ผลตรงกันข้าม (backfire effect) เป็นชื่อของปรากฏการณ์ที่เมื่อได้รับหลักฐานที่คัดค้านความเชื่อฝ่ายตน มนุษย์กลับปฏิเสธหลักฐานนั้นแล้วตั้งมั่นอยู่ในความเชื่อนั้นเพิ่มขึ้น[40][41]
สามารถจะอยู่รอดพ้นและอาจจะเพิ่มความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นแม้มีหลักฐานที่คนอื่นที่เป็นกลางจะต้องกล่าวว่า เป็นเหตุผลพอเพียงที่จะลดความเชื่อนั้นลง
สามารถจะอยู่รอดได้แม้หลักฐานที่เป็นที่ตั้งของความเชื่อนั้นจะถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง"—ลี รอส และเครก แอนเดอร์สัน[42]
ความลำเอียงเพื่อยืนยันสามารถใช้อธิบายว่าทำไมความเชื่อบางอย่างสามารถที่จะอยู่รอดได้แม้ว่าหลักฐานที่เป็นที่ตั้งถูกหักล้างหมดแล้ว[43] ความทนทานของความเชื่อได้รับการแสดงในการทดลองเป็นชุด ๆ ใช้วิธีที่เรียกว่าการเปิดเผยหลังเหตุการณ์ (debriefing paradigm) คือ จะให้ผู้ร่วมการทดลองอ่านหลักฐานปลอมของสมมุติฐานหนึ่ง ๆ หลังจากนั้น ความเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติจะได้รับการวัด ต่อจากนั้น ก็จะแสดงอย่างละเอียดว่าหลักฐานนั้นเป็นเรื่องปลอมแปลง จากนั้น ทัศนคติของผู้ร่วมการทดลองก็จะได้รับการวัดอีกครั้งหนึ่งเพื่อเช็คดูว่า ความเชื่อในเรื่องนั้นจะกลับไปสู่ระดับเดิมก่อนแสดงหลักฐานปลอมหรือไม่[42]
สิ่งที่พบโดยสามัญก็คือความเชื่อที่เกิดขึ้นเพราะหลักฐานปลอมนั้นไม่หมดไปแม้หลังจากมีการเปิดเผยอย่างละเอียด[44] ในการทดลองหนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองต้องแยกแยะระหว่างจดหมายฆ่าตัวตายที่เป็นของจริงและของปลอม ผู้วิจัยให้คะแนนความแม่นยำโดยสุ่ม คือบอกบางคนว่าทำได้ดี และบอกคนอื่นว่าทำได้แย่มาก แม้ว่าหลังจากที่เปิดเผยวิธีการทดลองนี้อย่างละเอียด ผู้ร่วมการทดลองก็ยังอยู่ใต้อิทธิพลของคะแนนที่ให้แบบสุ่มนั้น คือ ยังคิดว่าตนเองเก่งกว่าหรือแย่กว่าคนอื่นโดยเฉลี่ยในการทำงานประเภทนั้น ขึ้นอยู่กับว่านักวิจัยกล่าวว่าได้คะแนนเท่าไร[45]
ในอีกงานวิจัยหนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองอ่านเรื่องผลประเมินการทำงานของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงสองคน รวมถึงผลข้อทดสอบเกี่ยวกับการเลี่ยงความเสี่ยง[42] ผลการทดลองที่กุขึ้นนี้ แสดงความสัมพันธ์ไม่ลบก็บวกคือ มีการบอกผู้ร่วมการทดลองพวกหนึ่งว่า เจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่เสี่ยงอันตรายมีผลงานดีกว่า และบอกอีกพวกหนึ่งว่า เจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่เสี่ยงอันตรายมีผลงานด้อยกว่าผู้เลี่ยงความเสี่ยง[46] จริง ๆ แล้ว แม้ถ้าผลประเมินเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่กุขึ้น แต่หลักฐานที่ให้ก็ไม่ใช่หลักฐานที่ได้มาตรฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อจะสรุปประเด็นเกี่ยวกับผลงานของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง อย่างไรก็ดี ผู้ร่วมการทดลองกลับเห็นว่าผลประเมินนั้นน่าเชื่อถือ[46]
เมื่อบอกผู้รับการทดลองว่า ผลประเมินเหล่านี้เป็นเรื่องปลอมแปลง ความเชื่อของผู้ร่วมการทดลองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ข้อมูลแสดงก็ลดลง แต่ว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของผลทางความคิดที่เกิดจากผลประเมินกุนั้นกลับดำรงอยู่ได้[42] การสัมภาษณ์ผู้ร่วมการทดลองหลังจากนั้นแสดงว่า ผู้ร่วมการทดลองเข้าใจถึงเรื่องที่เปิดเผยและเชื่อว่าเป็นความจริง แต่กลับเห็นว่าหลักฐานที่ถูกหักล้างนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อของตน ๆ (ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วเหตุผลที่หลักฐานนั้นกุขึ้นมีผลต่อความคิดของผู้ร่วมการทดลอง)[46]
งานทดลองหลายงานพบว่า ข้อมูลต้น ๆ จากข้อมูลเป็นชุด ๆ มีน้ำหนักมากกว่าต่อมนุษย์ แม้ว่าลำดับข้อมูลจะไม่มีความสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น บุคคลมักมีความประทับใจเชิงบวก กับบุคคลที่กล่าวว่ามีลักษณะ "ฉลาด ขยัน หุนหันพลันแล่น ปากร้าย ดื้อ มักริษยา" มากกว่าบุคคลที่มีลักษณะแบบเดียวกันแต่กล่าวถึงโดยลำดับกลับกัน[47] การให้ความสำคัญในอันดับแรกที่ไร้เหตุผล (irrational primacy effect) เป็นอิสระจากปรากฏการณ์ความสำคัญในลำดับของความทรงจำ (serial position effect) ซึ่งข้อมูลส่วนต้น ๆ ในลำดับสามารถระลึกถึงได้ดีกว่า[47] การตีความหมายแบบเอนเอียงสามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้คือเมื่อเห็นข้อมูลส่วนเบื้องต้น มนุษย์จะตั้งสมมติฐานที่มีผลต่อการตีความหมายข้อมูลที่เหลือ[43]
งานวิจัยที่แสดงการให้ความสำคัญในอันดับแรกที่ไร้เหตุผลใช้ชิปสีที่บอกว่าจะมาจากอ่างสองใบ มีการบอกผู้ร่วมการทดลองว่า ชิปสีต่าง ๆ มีสัดส่วนเท่าไรในอ่างทั้งสอง และผู้ร่วมการทดลองจะต้องประมาณความน่าจะเป็นของชิปที่นำมาจากอ่างใบหนึ่ง[47] แต่จริง ๆ แล้วนักวิจัยแสดงชิปตามลำดับที่จัดไว้แล้ว ชิป 30 อันแรกดูเหมือนจะระบุอ่างใบหนึ่ง และ 30 อันต่อไประบุอ่างอีกใบหนึ่ง[43] โดยรวม ๆ แล้ว ชิปที่นำออกมาทั้งหมดเป็นกลาง ๆ ฉะนั้น โดยเหตุผลแล้ว อาจจะมาจากอ่างทั้งสองใบใดใบหนึ่งก็ได้ แต่หลังจากการแสดงชิป 60 อัน ผู้ร่วมการทดลองชอบใจอ่างที่ชิป 30 อันแรกดูเหมือนจะระบุ[47]
อีกการทดลองหนึ่งแสดงภาพสไลด์ชุดของวัตถุหนึ่งที่เป็นภาพมัวไม่ชัดตอนต้น ๆ และชัดขึ้นเรื่อย ๆ ในภาพต่อ ๆ มา[47] หลังจากแสดงแต่ละภาพ ผู้ร่วมการทดลองต้องเดาว่าวัตถุนั้นคืออะไรผู้ร่วมการทดลองที่เดาผิดตอนต้น ๆ กลับเดาเหมือนกันต่อไปเรื่อย ๆ แม้ว่า ภาพจะชัดจนกระทั่งคนอื่นสามารถบอกได้โดยง่ายว่าวัตถุนั้นคืออะไร[43]
สหสัมพันธ์ลวง (Illusory correlation) เป็นความโน้มน้าวที่จะเห็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีจริง ๆ ในเซตข้อมูล[48] ความโน้มน้าวอย่างนี้ได้มีการแสดงเป็นครั้งแรกในชุดการทดลองในปลายคริสต์ทศวรรษ 1960[49] ในงานทดลองหนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองอ่านเค้สทางจิตเวชชุดหนึ่ง รวมทั้งปฏิกิริยาต่อแบบทดสอบภาพหยดหมึกรอร์ชัค ผู้ร่วมการทดลองสรุปว่า ชายรักร่วมเพศในกรณีเหล่านั้นมีโอกาสสูงกว่าที่จะเห็นก้น รูทวารหนัก หรือรูปคลุมเครือทางเพศต่าง ๆ ในรูปหมึกจุดเหล่านั้น แต่ว่าจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องกุขึ้น แถมในการทดลองหนึ่ง กรณีเหล่านั้นกุขึ้นโดยที่ชายรักร่วมเพศมีโอกาสน้อยกว่าที่จะเห็นภาพเป็นอย่างนั้น[48] ในการสำรวจอีกงานหนึ่ง (ที่ไม่มีการให้อ่านกรณีต่าง ๆ ที่กุขึ้น) นักจิตวิทยามีประสบการณ์สูงกลุ่มหนึ่งถึงกับรายงานความสัมพันธ์เทียมแบบนี้กับคนรักร่วมเพศ แม้ว่าความสัมพันธ์แบบนี้ไม่มีจริง ๆ[48][49]
งานวิจัยอีกงานหนึ่งบันทึกอาการของคนไข้ข้ออักเสบและสภาพภูมิอากาศในช่วงเวลา 15 เดือน คนไข้เกือบทั้งหมดรายงานว่า ความเจ็บปวดของตนมีความสัมพันธ์กับสภาพภูมิอากาศ ทั้งที่จริง ๆ แล้วระดับสหสัมพันธ์อยู่ที่ศูนย์[50]
ปรากฏการณ์นี้เป็นรูปแบบหนึ่งของการตีความหมายแบบเอนเอียง คือตีความหมายหลักฐานที่เป็นกลาง ๆ หรือมีผลลบว่าสนับสนุน (คือมีผลบวก) กับความเชื่อที่มีอยู่ของตน และมีความเกี่ยวข้องกับความเอนเอียงแบบอื่น ๆ ในการทดสอบสมมติฐาน[51]
ในการตัดสินว่าเหตุการณ์สองอย่าง เช่นความเจ็บป่วยและอากาศที่ไม่ดี มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ มนุษย์มักให้น้ำหนักกับหลักฐานเชิงบวก ซึ่งในตัวอย่างที่ผ่านมานี้ เป็นความเจ็บปวดและอากาศที่ไม่ดี แต่ไม่ใส่ใจสังเกตการณ์อย่างอื่น ๆ (เช่นไม่เจ็บในวันที่อากาศไม่ดี หรือเจ็บในวันที่อากาศดี)[52] นี้มีความคล้ายกันกับการให้น้ำหนักกับการตรวจสอบสมมติฐานเชิงบวก[51] นี่อาจจะเกี่ยวข้องกับความจำเลือกสรรอีกด้วย คือ มนุษย์อาจจะมีความรู้สึกว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กันเพราะว่าง่ายที่จะระลึกถึงวันที่เหตุการณ์ทั้งสองอย่างเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน[51]
จำนวนวัน | มีฝน | ไม่มี |
---|---|---|
มีอาการข้ออักเสบ | 14 | 6 |
ไม่มี | 7 | 2 |
ในตัวอย่างข้างบน ความจริงแล้ว อาการข้ออักเสบเกิดขึ้นบ่อยกว่าในวันที่ไม่มีฝน (คือใน 8 วันที่ไม่มีฝน มี 6 วันมีอาการข้ออักเสบเป็นอัตราส่วน 75%) แต่บุคคลมักให้ความสนใจกับจำนวนวันที่สูงโดยเปรียบเทียบที่มีทั้งฝนตกและเกิดอาการ (แต่มีอาการเพียงแค่ 67% ของวันที่ฝนตก) โดยไปใส่ใจเพียงแค่ช่องเดียวในตารางแทนที่จะใส่ใจในทั้งสี่ช่อง บุคคลสามารถสร้างความสัมพันธ์ผิด ๆ ซึ่งในกรณีนี้ เป็นการสัมพันธ์วันที่ฝนตกกับวันที่มีอาการข้ออักเสบ[53]
ในอดีตเคยเชื่อกันว่า ความเอนเอียงเพื่อยืนยันมีความสัมพันธ์เชิงผกผันกับสติปัญญาที่สูงกว่า แต่ว่า งานวิจัยต่าง ๆ กลับพบว่า ทักษะในการคิดอย่างมีเหตุผลมีอิทธิพลต่อความเอนเอียงมากกว่าระดับสติปัญญา[54] ความเอนเอียงนี้อาจเป็นเหตุให้ไม่สามารถทำการประเมินแนวคิดตรงกันข้ามอย่างมีประสิทธิภาพและประกอบด้วยเหตุผล งานวิจัยต่าง ๆ เสนอว่า ความเอนเอียงนี้เป็นความปราศจาก "การเปิดใจกว้าง" ซึ่งหมายถึงการเสาะหาอย่างจริง ๆ จัง ๆ ว่า แนวคิดเบื้องต้นนั้นอาจจะผิดพลาดได้[55] โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ความเอนเอียงนี้เกิดขึ้นในการศึกษาเชิงประสบการณ์ โดยเป็นการใช้หลักฐานสนับสนุนความคิดของตนเป็นจำนวนมากกว่าหลักฐานที่คัดค้าน[56]
งานวิจัยหนึ่งพบความแตกต่างระหว่างบุคคลเกี่ยวกับความเอนเอียงนี้ โดยตรวจสอบความแตกต่างระหว่างบุคคลที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ในวัฒนธรรม ซึ่งเป็นความแตกต่างที่เปลี่ยนไปได้ นักวิจัยพบความแตกต่างกันที่สำคัญในระหว่างบุคคลเกี่ยวกับความสามารถในการโต้แย้ง (วิธีการให้เหตุผล) งานวิจัยต่าง ๆ เสนอว่า ความแตกต่างในระหว่างบุคคลเช่น ความสามารถในการหาเหตุผลเชิงนิรนัย (deductive) ความสามารถในการเอาชนะความเอนเอียงเพราะความเชื่อ ความเข้าใจทางญาณวิทยา (เกี่ยวกับความรู้และฐานของความรู้เป็นต้น) และอัธยาศัยในการคิด เป็นตัวพยากรณ์สำคัญในการคิดหาเหตุผลและอ้างเหตุผล ในการโต้ตอบด้วยเหตุผล (counterargument) และในการพิสูจน์ความไม่จริง (rebuttal)[57][58][59]
งานวิจัยโดยคริสโตเฟอร์ วูลฟ์ และแอนน์ บริตต์ ตรวจสอบว่า ความเห็นของผู้รับการตรวจสอบว่า "อะไรเป็นวิธีการโต้แย้งที่ดี" สามารถเป็นต้นกำเนิดของความเอนเอียงเพื่อยืนยัน ที่มีอิทธิพลต่อวิธีที่บุคคลสร้างคำโต้แย้ง[56] คือ งานวิจัยตรวจสอบความแตกต่างของวิธีการโต้แย้งระหว่างบุคคลและกำหนดให้ผู้รับการทดลองเขียนบทความ โดยมีการจัดโดยสุ่มให้ผู้ร่วมการทดลองเขียนบทความสนับสนุนหรือคัดค้านข้อโต้แย้งฝ่ายตนโดยมีกำหนดให้เขียนบทความที่สมดุลหรือไม่มีกำหนดคือคำสั่งสมดุลบอกให้ผู้ร่วมการทดลองเขียนข้อโต้แย้งที่สมดุลที่กล่าวถึงทั้งข้อความที่สนับสนุนและข้อความที่คัดค้านและคำสั่งไม่มีกำหนดไม่กำหนดว่าควรจะเขียนข้อโต้แย้งอย่างไร
โดยรวม ๆ แล้ว ผลแสดงว่า คำสั่งสมดุลเพิ่มการใช้ข้อมูลคัดค้านในข้อโต้แย้งของผู้ร่วมการทดลองอย่างมีนัยสำคัญนอกจากนั้นแล้ว ข้อมูลงานวิจัยยังแสดงว่า ความเชื่อส่วนตัวไม่ใช่แหล่งกำเนิดของความลำเอียงเพื่อยืนยันคือ ผู้ร่วมการทดลองที่เชื่อคำพูดว่า ข้อโต้แย้งที่ดีต้องมีฐานจากความจริงมักปรากฏความเอนเอียงนี้มากกว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับคำพูดนี้ หลักฐานนี้สอดคล้องกับข้อเสนอในบทความของบารอนว่า ความเห็นในเรื่องการหาเหตุผลที่ดีมีอิทธิพลต่อการสร้างคำโต้แย้ง[56]
ก่อนที่จะมีการศึกษาทางจิตวิทยาในเรื่องความลำเอียงเพื่อยืนยัน มีนักเขียนหลายท่านที่ได้สังเกตเห็นปรากฏการณ์นี้รวมทั้งนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกทิวซิดิดีส (460– 395 ก่อนคริสต์ศักราช), กวีชาวอิตาเลียนดันเต อาลีกีเอรี (ค.ศ. 1265–1321), นักปราชญ์และนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษฟรานซิส เบคอน (ค.ศ. 1561–1626),[60] และนักเขียนชาวรัสเซียเลโอ ตอลสตอย (ค.ศ. 1828–1910) ทิวซิดิดีสเขียนในหนังสือสงครามเพโลพอนนีส ว่า "...มันเป็นนิสัยมนุษย์ที่จะวางใจไว้ในความหวังที่ไร้เหตุผลที่ตนต้องการ และใช้เหตุผลเป็นผู้พิพากษาในการผลักไสสิ่งที่ตนไม่ชอบใจออกไป"[61] ในหนังสือดีวีนากอมเมเดีย ทอมัส อไควนัสเตือนดันเตเมื่อพบกันในสวรรค์ว่า "ความเห็น...ที่หุนหันพลันแล่น...มักเอนเอียงไปในข้างที่ผิด หลังจากนั้นความรักใคร่ในความเห็นของตนก็จะมัดและกักตัวความคิดไว้ (ในความเห็นผิดนั้น ๆ)"[62] ส่วนเบคอนเขียนไว้ว่า
ความเข้าใจของมนุษย์เมื่อได้ลงความเห็นแล้ว
ก็จะดึงทุกสิ่งทุกอย่างอื่นเพื่อที่จะสนับสนุนและปรับให้เข้ากับความเห็นนั้น และแม้ว่าจะมีหลักฐานมากกว่าโดยทั้งจำนวนและทั้งน้ำหนักของความเห็นด้านตรงกันข้าม
แต่ว่า ความเห็นนั้นก็จะถูกมองข้ามหรือดูถูก หรือว่าถูกวางเอาไว้ก่อนหรือปฏิเสธโดยอ้างเหตุผลบางอย่าง[63]
เบคอนกล่าวไว้ว่า การประเมินหลักฐานแบบเอนเอียงนำไปสู่ "ความเชื่อไร้เหตุผลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโหราศาสตร์ ความฝัน ลาง การตัดสินของพระเจ้า หรือเรื่องที่คล้ายกันอื่น ๆ"[63]
ในบทความชื่อว่า "What Is Art? (อะไรเรียกว่าศิลปะ)" ตอลสตอยได้เขียนไว้ว่า
ผมรู้ว่าคนโดยมาก ไม่ใช่เพียงแต่ผู้ที่คนถือว่าฉลาด แต่แม้แต่ผู้ที่ฉลาดมาก ๆ
เป็นผู้สามารถที่จะเข้าใจปัญหาทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และปรัชญาที่ยากที่สุด น้อยครั้งสามารถจะแยกแยะความจริงที่ง่ายที่สุดที่ชัดที่สุด ถ้าการกระทำอย่างนั้นบีบบังคับคนเหล่านั้นให้ต้องยอมรับความผิดพลาดของข้อสรุปที่ตนเป็นคนตั้ง ซึ่งอาจจะตั้งขึ้นด้วยความยากยิ่ง เป็นข้อสรุปที่ตนมีความภูมิใจ ที่ตนสอนให้กับคนอื่น
เป็นฐานที่ตนได้สร้างชีวิตของตนขึ้น[64]
นักจิตวิทยาชาวอังกฤษปีเตอร์ วาสันได้บัญญัติคำว่า confirmation bias ไว้[65] คือในผลงานทดลองที่พิมพ์ในปี ค.ศ. 1960 เขาได้ท้าทายให้ผู้ร่วมการทดลองระบุสูตรที่กำหนดระเบียบของตัวเลขชุดละสาม ในเบื้องต้น เขาบอกว่า (2,4,6) มีระเบียบนี้ หลังจากนั้น ก็ให้ผู้ร่วมการทดลองตั้งเลขสามตัวขึ้นเพื่อให้ผู้ทำการทดลองบอกว่า อยู่ในระเบียบนี้หรือไม่[66][67]
ในขณะที่สูตรจริง ๆ ที่ใช้เป็นสูตรง่าย ๆ ว่า "เป็นลำดับเลขที่เพิ่มขึ้น" ผู้ร่วมการทดลองกลับประสบความยากลำบากอย่างยิ่งในการกำหนดสูตรนั้นและมักหาสูตรที่มีความเฉพาะเจาะจงเป็นอย่างยิ่ง เช่น "เลขตัวกลางเป็นค่าเฉลี่ยของเลขต้นและเลขปลาย"[66] ดูเหมือนว่า ผู้ร่วมการทดลองจะทดสอบตัวอย่างในเชิงบวกเท่านั้น คือตั้งเลขสามตัวที่ใช้สูตรที่ตนตั้งขึ้นเป็นสมมติฐาน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคิดว่าสูตรคือ "เลขแต่ละตัวบวกสองจากเลขตัวก่อน" ก็จะให้เลขสามตัวที่เข้ากับสูตรนี้เช่น (11,13,15) แต่ไม่ให้เลขสามตัวที่ไม่เข้ากัน เช่น (11,12,19)[68]
วาสันเป็นผู้ยอมรับความคิดเรื่อง falsificationism ซึ่งแสดงว่า การทดสอบสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นความพยายามที่จริงจังที่จะพิสูจน์ว่าสมมติฐานนั้นผิด เขาตีความหมายของผลการทดลองนี้ว่า มนุษย์ชอบใจที่จะยืนยันความเห็นฝ่ายตนมากกว่าที่จะพิสูจน์ว่าผิด ดังนั้นจึงบัญญัติคำว่า "ความเอนเอียงเพื่อยืนยัน (confirmation bias)"[upper-alpha 4] [69]
วาสันยังใช้ปรากฏการณ์ความเอนเอียงเพื่อยืนยันเพื่ออธิบายผลของการทดลองที่ใช้วิธี Wason selection task (แปลว่า งานเลือกของวาสัน) อีกด้วย[70] ในงานนี้ มีการให้ข้อมูลบางส่วนแก่ผู้ร่วมการทดลองเกี่ยวกับวัตถุจำนวนหนึ่งและผู้ร่วมการทดลองต้องกำหนดว่า มีข้อมูลอะไรอีกที่ต้องการเพื่อที่จะบอกว่ากฎมีเงื่อนไขเช่น "ถ้า ก ต้องเป็น ข" นั้น ถูกต้องมีการพบอย่างซ้ำ ๆ กันว่า มนุษย์ไม่สามารถทำงานแบบนี้ได้ดีคือโดยมากแล้ว มักไม่สนใจข้อมูลที่อาจจะพิสูจน์กฎนั้นว่าผิด[71][72]
ในบทความปี ค.ศ. 1987 โจชัว เคลย์แมน และยังวอนฮา เสนอว่างานทดลองของวาสันไม่ได้แสดงความเอนเอียงเพื่อยืนยันจริง ๆ แต่ว่าพวกเขาอธิบายผลการทดลองของวาสันว่า มนุษย์มักทำการทดลองที่เข้ากับสมมติฐานที่ใช้งานอยู่[73] พวกเขาเรียกวิธีนี้ว่า "กลวิธีทดสอบเชิงบวก" (positive test strategy)[6] ซึ่งเป็นตัวอย่างของวิธีการศึกษาโดยทดลอง (heuristic) ซึ่งเป็นทางลัดในการหาเหตุผลที่ไม่สมบูรณ์แต่ง่ายที่จะทดสอบ[2]
เคลย์แมนและฮาใช้ความน่าจะเป็นแบบเบส์ (Bayesian probability) และทฤษฎีสารสนเทศ (information theory) เป็นมาตรฐานในการทดสอบสมมติฐาน แทนที่หลัก falsificationism ซึ่งต้องพยายามพิสูจน์ว่าสมมติฐานนั้นผิดตามที่วาสันใช้ แต่ว่าตามเคลย์แมนและฮา คำตอบของแต่ละคำถามให้ข้อมูลมากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับความคิดความเชื่อที่มีอยู่ก่อนดังนั้น การทดสอบสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์จึงเป็นวิธีการทดสอบที่หวังว่าจะได้ข้อมูลมากที่สุดและการทดสอบเชิงบวกอาจจะให้ความรู้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความน่าจะเป็นเบื้องต้นเคลย์แมนและฮาเสนอว่า เมื่อบุคคลกำลังขบปัญหาจริง ๆ ในโลก นั่นเป็นการหาคำตอบเฉพาะที่มีความน่าจะเป็นเบื้องต้นต่ำ (คือกฎธรรมชาติหรือคำอธิบายของธรรมชาติเป็นกฎเกณฑ์เฉพาะที่ไม่ได้เป็นกฎเกณฑ์แบบกว้าง ๆ) และในกรณีเช่นนี้ การทดสอบเชิงบวกจะให้ความรู้มากกว่าการทดสอบเชิงลบ (ดูแผนภาพเวนน์ภาพที่ 2 และ 3)[11]
แต่ว่า ในงานหาสูตรของวาสันซึ่งก็คือ เลขสามตัวที่เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ เป็นกฎที่กว้างมาก (คือมีความน่าจะเป็นเบื้องต้นสูง ดูแผนภาพเวนน์ด้านซ้ายสุด) ดังนั้น โอกาสที่การทดสอบเชิงบวกจะให้ความรู้ที่ดีก็มีน้อย เคลย์แมนและฮาสนับสนุนการวิเคราะห์ของตนโดยอ้างงานทดลองที่ใช้ป้าย "DAX" และ "MED" สำหรับสูตรสองสูตรที่ผู้รับการทดลองต้องหา แทนที่ป้าย "เข้ากันกับสูตร" และ "ไม่เข้ากันกับสูตร" ซึ่งเป็นการป้องกันการบอกผู้รับการทดลองเป็นนัยว่า จุดมุ่งหมายก็เพื่อจะเสาะหาสูตร ๆ หนึ่งที่มีความน่าจะเป็นต่ำ ผลปรากฏว่า ผู้รับการทดลองประสบผลสำเร็จดีกว่าในรูปแบบนี้ของการทดลอง[74][75]
เพราะคำวิจารณ์นี้และอื่น ๆ จุดสนใจของงานวิจัยได้เปลี่ยนไปจากการทดสอบเชิงยืนยันและเชิงปฏิเสธไปเช็คดูว่า มนุษย์ตรวจสอบสมมติฐานโดยวิธีที่ให้เกิดความรู้ หรือว่าเป็นวิธีที่ไม่ทำให้เกิดความรู้แต่ว่าเป็นการทดสอบเชิงบวก การค้นหาความลำเอียงเพื่อยืนยัน "แท้" เป็นประเด็นทำให้นักจิตวิทยาทำการตรวจสอบปรากฏการณ์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อแสดงกระบวนการประมวลข้อมูลของมนุษย์[76]
บ่อยครั้งมีการอธิบายว่าความลำเอียงเพื่อยืนยันเป็นผลของกลยุทธ์อัตโนมัติ ที่ไม่ได้ประกอบด้วยความตั้งใจ และไม่ใช่เป็นการหลอกลวงโดยจงใจ[12][77] ตามนักวิจัยรอเบิรต์ แม็คคูน การประมวลผลแบบเอนเอียงโดยมากเป็นผลของการผสมผเสนกันของกลไกทางประชาน (cognitive) และกลไกเกี่ยวกับแรงจูงใจ (motivation)[78]
คำอธิบายความลำเอียงเพื่อยืนยันโดยกลไกทางประชาน มีฐานจากสมรรถภาพที่จำกัดของมนุษย์ในการทำงานที่ซับซ้อน และการใช้ทางลัดที่เรียกว่าวิธีการศึกษาโดยทดลอง (heuristic) ของมนุษย์[79] ยกตัวอย่างเช่น บุคคลอาจจะตัดสินความน่าเชื่อถือของหลักฐานโดยใช้ ฮิวริสติกโดยความเข้าถึงได้ง่าย คือว่า บุคคลคิดถึงสิ่งนั้นได้โดยง่าย ๆ แค่ไหน[80] และก็เป็นไปได้ด้วยที่ว่า มนุษย์สามารถใส่ใจในความคิดเดียวในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ เท่านั้น ดังนั้น จึงยากที่จะทดสอบสมมติฐานหลาย ๆ อย่างไปพร้อม ๆ กัน[81] วิธีการศึกษาโดยทดลองอีกวิธีหนึ่งก็คือ กลยุทธ์ในการทดสอบเชิงบวกที่เคลย์แมนและฮาได้กล่าวถึง ที่มนุษย์ทดสอบสมมติฐานโดยเช็คกรณีที่หวังว่าจะเห็นลักษณะหรือเหตุการณ์ (เกี่ยวข้องกับสมมติฐานนั้น ๆ) การใช้วิธีการศึกษาโดยทดลองเป็นการเลี่ยงการต้องพิจารณาว่า คำถามแต่ละคำถามจะสามารถให้ข้อมูลได้เท่าไร ซึ่งเป็นเรื่องยากหรือเป็นไปไม่ได้แต่ว่า เพราะว่า ไม่ใช่เป็นวิธีที่ใช้ได้ดีเสมอไป ดังนั้น มนุษย์จึงอาจจะมองข้ามข้อมูลที่คัดค้านความเชื่อฝ่ายตน[11][82]
คำอธิบายโดยกลไกเกี่ยวกับแรงจูงใจเป็นการอธิบายถึงความหวังเกี่ยวกับความเชื่อนั้น ซึ่งบางครั้งเรียกว่า "ความคิดประกอบด้วยความหวัง" (wishful thinking)[83][84] เป็นที่รู้กันว่า มนุษย์ชอบใจความคิดที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี มากกว่าความคิดที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดี[85] เมื่อใช้กับการโต้แย้งและกับแหล่งกำเนิดหลักฐาน ก็จะสามารถอธิบายได้ว่าทำไมข้อสรุปที่ต้องการจึงมีโอกาสที่จะเกิดความเชื่อถือได้มากกว่า[83] ตามการทดลองที่จัดการเปลี่ยนแปลงความน่าปรารถนาของข้อสรุป มนุษย์มีมาตรฐานในการพิจารณาหลักฐานเกี่ยวกับความคิดที่กลืนไม่ลงที่สูงกว่าความคิดที่น่าชอบใจ[86][87]
แม้ว่า ความสม่ำเสมออาจจะเป็นคุณสมบัติที่น่าต้องการอย่างหนึ่งสำหรับการมีทัศนคติ แต่ว่า แรงผลักดันเพื่อความสม่ำเสมอมากเกินไปอาจจะเป็นแหล่งกำเนิดของความเอนเอียงอีกอย่างหนึ่ง เพราะว่า เป็นสิ่งที่ป้องกันบุคคลไม่ให้วางตัวเป็นกลางในการประเมินข้อมูลใหม่ ๆ ที่ไม่ตรงกับทัศนคตินั้น[83] นักสังคมจิตวิทยาซีวา คุนดา รวมทฤษฎีทางประชานและแรงจูงใจเข้าด้วยกันเพื่ออธิบายความเอนเอียงเพื่อยืนยัน โดยเสนอว่า แรงจูงใจนั้นนำไปสู่ความเอนเอียง แต่มีองค์ทางประชานที่กำหนดขนาดของความเอนเอียงนั้น[88]
ส่วนการอธิบายความเอนเอียงโดยใช้การวิเคราะห์ต้นทุน-ผลกำไร (cost-benefit analysis) ตั้งสมมติฐานว่า มนุษย์ไม่ได้ทดสอบสมมติฐานโดยไม่ได้คิดถึงผลประโยชน์ แต่จะประเมินถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาด (ของสมมติฐาน)[89] โดยใช้หลักจิตวิทยาวิวัฒนาการ (evolutionary psychology) เจมส์ ฟรีดริคเสนอว่า มนุษย์ไม่ได้ทดสอบสมมติฐานเพื่อหาความจริง แต่เพื่อจะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่เกิดความเสียหายมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ผู้ว่าจ้างอาจจะถามคำถามในแนวทางเดียวในการสัมภาษณ์งาน เพราะว่า ต้องโฟกั๊สในการที่จะกำจัดผู้สมัครที่ไม่เหมาะสมออกไป[90]
ยาคอฟ โทรป และอะกิวา ลีเบอร์แมนพัฒนาทฤษฎีนี้ขึ้นโดยตั้งสมมติฐานว่า บุคคลจะทำการเปรียบเทียบความผิดพลาดสองประเภท คือ การยอมรับสมมติฐานที่ผิด หรือการปฏิเสธสมมติฐานที่ถูก ยกตัวอย่างเช่น คนที่ตั้งค่าความซื่อสัตย์ของเพื่อนต่ำไปอาจจะมีการปฏิบัติกับเพื่อนด้วยความสงสัย ซึ่งเป็นการทำลายมิตรไมตรีนั้นส่วนการตั้งค่าสูงไปอาจจะเกิดความเสียหาย แต่ก็ไม่เท่ากับตั้งค่าต่ำไป ดังนั้นในกรณีนี้ จึงมีเหตุผลที่จะสืบหา ประเมิน และทรงจำหลักฐานที่แสดงความซื่อสัตย์อย่างมีความเอนเอียง[91]
เมื่อบุคคลหนึ่งปรากฏในเบื้องต้นว่าเป็นคนเปิดเผยหรือเป็นคนเก็บตัว การถามบุคคลนั้นโดยคำถามที่ตรงกับบุคลิก จะปรากฏว่า เป็นการเห็นใจผู้อื่น[92] นี้บอกเป็นนัยว่า เวลาคุยกับคนที่ดูเหมือนกับคนเก็บตัว อาจจะเป็นนิมิตว่ามีทักษะดีทางสังคมถ้าถามบุคคลนั้นว่า "คุณรู้สึกอึดอัดใจเวลาเข้าสังคมไหม" ที่ดีกว่าถ้าถามว่า "คุณชอบไปงานสังคมที่มีคนมาก ๆ ไหม"ความสัมพันธ์ระหว่างความลำเอียงเพื่อยืนยันและทักษะสังคมพบในงานทดลองที่ศึกษาวิธีการที่นักศึกษามหาวิทยาลัยทำความรู้จักกับคนอื่น ๆ คือ นักศึกษาที่เข้าใจตนเองดี ผู้มีความรู้สึกไวต่อสิ่งแวดล้อมและกฏเกณฑ์ของสังคม จะถามคำถามเมื่อสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยผู้มีฐานะสูง ที่เข้ากับผู้รับคำถามได้ดีกว่าเมื่อกำลังทำความรู้จักกับนักศึกษาด้วยกัน[92] (เพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยมีความประทับใจในผู้ถาม)
นักจิตวิทยาเจ็นนิเฟอร์ เลอร์เนอร์ และฟิลิป เท็ทล็อก แบ่งกระบวนการคิดหาเหตุผลออกเป็นสองอย่าง คือ ความคิดแบบสำรวจ (exploratory thought) ที่พิจารณาแนวคิดต่าง ๆ อย่างเป็นกลาง ๆ โดยพยายามค้นหาข้อขัดแย้งต่อแนวคิดเหล่านั้นเท่าที่จะเป็นไปได้ ในขณะที่ความคิดเพื่อยืนยัน มีจุดประสงค์เพื่อจะหาหลักฐานสนับสนุนแนวคิดอย่างหนึ่ง เลอร์เนอร์และเท็ทล็อกกล่าวว่า เมื่อบุคคลคิดว่าจะต้องให้เหตุผลในจุดยืนของตนกับผู้อื่น ผู้มีทัศนคติที่บุคคลรู้แล้ว บุคคลมักถือเอาจุดยืนที่คล้ายกันกับของคนเหล่านั้น แล้วใช้ความคิดเพื่อยืนยันเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของบุคคล แต่ถ้าว่า ผู้อื่นนั้น มีความคิดรุนแรงหรือปากร้าย บุคคลจะเลิกคิดถึงเรื่องนั้น แล้วกล่าวเพียงแต่ความเห็นส่วนตัวของตนโดยไม่หาข้อยืนยัน[93] เลอร์เนอร์และเท็ทล็อกกล่าวว่า บุคคลจะกดดันให้ตนเองคิดอย่างรอบคอบอย่างมีเหตุผล เมื่อรู้ว่าจะต้องอธิบายความคิดของตนต่อผู้อื่น ที่รู้เรื่องดี สนใจในความจริง และมีทัศนคติที่บุคคลยังไม่รู้[94] แต่ว่า เพราะว่า เหตุการณ์ที่มีองค์ประกอบอย่างนี้มีน้อย ดังนั้น บุคคลจึงใช้ความคิดแบบยืนยันโดยมาก[95]
ความลำเอียงเพื่อยืนยันอาจนำให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากเกินไป โดยไม่ใส่ใจในหลักฐานว่ายุทธวิธีของตนจะทำให้ขาดทุน[96][97] ในงานวิจัยตลาดหลักทรัพย์เลือกตั้ง (จุดประสงค์เพื่อจะพยากรณ์ว่าใครจะได้รับเลือกตั้ง) นักลงทุนจะทำกำไรได้ดีกว่าถ้าพยายามฝืนความเอนเอียง ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนที่ประเมินผลการอภิปรายของผู้รับสมัครเลือกตั้งอย่างเป็นกลาง ๆ ไม่ใช่ตามแนวพรรคของตน มีโอกาสที่จะได้กำไรมากกว่า[98] เพื่อที่จะต่อต้านความเอนเอียงเพื่อยืนยัน นักลงทุนสามารถลองเปลี่ยนทัศนคติไปในแนวตรงกันข้ามเพื่อที่จะพัฒนาเหตุผลในทางความคิด[99] เทคนิคหนึ่งให้นักลงทุนจินตนาการว่า การลงทุนของตนเองจะล้มเหลวแล้วให้ถามตนเองว่า ทำไมเหตุการณ์นี้จึงเกิดขึ้น[96]
นักจิตวิทยา เรย์มอนด์ นิกเกอร์สัน โทษความลำเอียงเพื่อยืนยันว่าเป็นเหตุของวิธีการรักษาทางการแพทย์ที่ไร้ผลที่ใช้มาเป็นศตวรรษก่อนที่จะเริ่มวิธีการแพทย์แบบวิทยาศาสตร์[100] คือ ถ้าคนไข้ฟื้นตัวขึ้น ผู้ปฏิบัติการทางแพทย์ก็เก็บคะแนนว่าการรักษามีผลแทนที่จะหาคำอธิบายอื่น ๆ เป็นต้นว่า โรคนั้นได้ดำเนินไปถึงที่สุดโดยธรรมชาติแล้ว[100] การรับข้อมูลแบบเอนเอียงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความดึงดูดใจของการแพทย์ทางเลือก ที่ผู้สนับสนุนมีความพอใจต่อหลักฐานโดยเรื่องเล่าที่แสดงผลดีของการรักษาแบบทางเลือก แต่ปฏิบัติต่อหลักฐานทางวิทยาศาสตร์โดยใช้มาตรฐานการประเมินที่สูงกว่า[101][102][103]
การบำบัดโดยประชาน (Cognitive therapy) เป็นวิธีการที่พัฒนาโดยจิตแพทย์ อารอน เบ็ก ในต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 และได้กลายมาเป็นวิธีบำบัดรักษาที่นิยม[104] ตามความคิดของเบ็ก การประมวลข้อมูลแบบเอนเอียงเป็นองค์ประกอบของภาวะซึมเศร้า[105] เขาจึงสอนให้คนไข้พิจารณาชีวิตของตนอย่างเป็นกลาง ๆ ไม่ให้เลือกคิดแต่ในส่วนที่ไม่ดี[60] โรคกลัวและโรคคิดว่าตนป่วย มีความสัมพันธ์กับความลำเอียงเพื่อยืนยันข้อมูลที่น่ากลัว[106]
นิกเกอร์สันเสนอว่า การคิดหาเหตุผลในระบบการเมืองและระบบศาลบางครั้งมีความเอนเอียงแบบไม่รู้ตัว ไปในข้อสรุปที่ผู้พิพากศา ลูกขุน หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ถึงความตัดสินใจแล้ว[107] เนื่องจากว่า หลักฐานในคดีที่มีลูกขุนอาจจะมีความซับซ้อนและลูกขุนบ่อยครั้งลงเอยทำการตัดสินใจตั้งแต่ต้น ๆ ในการฟังคดีในศาลจึงสามารถสรุปอย่างสมควรว่า จะเกิดความเห็นที่สุดโต่งเพิ่มขึ้นในการว่าคดีที่เหลือ คำพยากรณ์ว่า ลูกขุนจะมีความเห็นสุดโต่งเพิ่มขึ้น เมื่อเห็นหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นจริงในงานทดลองด้วยคดีจำลอง[108][109] ความเอนเอียงเพื่อยืนยันมีอิทธิพลในกระบวนการยุติธรรมของคดีอาญาทั้งระบบไต่สวนและระบบกล่าวหา[110]
ความเอนเอียงเพื่อยืนยันเป็นองค์ในการให้กำเนิดการต่อสู้หรือทำให้การต่อสู้กันยาวนานยิ่งขึ้น เริ่มตั้งแต่การอภิปรายที่เกิดอารมณ์สูงจนกระทั่งถึงศึกสงคราม โดยตีความหมายอย่างเอนเอียงว่าหลักฐานสนับสนุนเหตุผลฝ่ายตน แต่ละฝ่ายอาจจะมีความมั่นใจมากเกินไปว่าจุดยืนฝ่ายตนดีกว่า[111] ในนัยตรงกันข้าม ความเอนเอียงเพื่อยืนยันอาจมีผลเป็นการไม่ใส่ใจหรือตีความหมายผิดซึ่งนิมิตว่าความขัดแย้งหรือการสงครามกำลังจะเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น นักจิตวิทยาสต๊วร์ต ซัธเธอร์แลนด์และโทมัส กิดา ต่างเสนอว่า พลเรือเอกสหรัฐฮัสแบนด์ กิมเมล มีความเอนเอียงเพื่อยืนยันเมื่อตัดความสำคัญของหลักฐานว่า ประเทศญี่ปุ่นจะโจมตีท่าเรือเพิร์ล[71][112]
ในงานวิจัยเกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองเป็นเวลา 2 ทศวรรษ เท็ทล็อกได้พบว่า โดยรวม ๆ แล้ว คำพยากรณ์ของผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นไม่แม่นเกินความบังเอิญ คือ เท็ทล็อกแบ่งพวกนักเชี่ยวชาญออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่ม "สุนัขจิ้งจอก" ที่มีสมมติฐานหลายอย่าง และกลุ่ม "เฮดจ์ฮอก" ที่หัวรั้นมากกว่าโดยทั่ว ๆ ไปคำพยากรณ์ของกลุ่มเฮดจ์ฮอกจะแม่นน้อยกว่าเท็ทล็อกโทษความล้มเหลวของผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้ว่าเกี่ยวกับความลำเอียงเพื่อยืนยัน ซึ่งโดยเฉพาะก็คือ ความไม่สามารถที่จะใช้ข้อมูลใหม่ ๆ ที่ขัดแย้งกับทฤษฎีของตน[113]
ในคดีฆาตกรรมปี ค.ศ. 2013 ของนายตำรวจรัฐอินดีแอนาเดวิด แคมม์ ฝ่ายผู้ต้องหาเสนอว่า แคมม์ถูกโจทก์ว่าฆ่าภรรยาและลูกทั้งสองของตน เพราะเหตุแห่งความลำเอียงเพื่อยืนยันของผู้สอบสวนคดีเท่านั้น[114] คือ แคมม์ถูกจับ 3 วันหลังจากฆาตกรรมโดยอาศัยหลักฐานที่ผิดพลาด แม้ว่าจะพบภายหลังว่า หลักฐานที่ให้ในการออกหมายจับล้วนแต่ผิดพลาดหรือเชื่อถือไม่ได้ แต่ว่าฝ่ายโจทก์ก็ไม่ยอมถอนการฟ้อง[115][116] นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการพบเสื้อแขนยาวในที่เกิดเหตุที่ภายหลังพบว่ามีดีเอ็นเอของผู้กระทำผิดคดีอาญาอีกคนหนึ่ง แถมเสื้อยังมีชื่อเล่นในคุกและเลขนักโทษของเขาบนเสื้ออีกด้วย[117] และเจ้าหน้าที่สอบสวนคดีได้สืบหาดีเอ็นเอของแคมม์บนเสื้อ แต่ไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานอื่น ๆ ที่มีบนเสื้อ ไม่ได้เช็คดีเอ็นเออื่นผ่านระบบฐานข้อมูลของสำนักงานสอบสวนกลางจนกระทั่ง 5 ปีให้หลังจากเหตุเกิด[118][119] หลังจากพบผู้ต้องสงสัยคนที่สอง ฝ่ายโจทก์กลับกล่าวหาผู้ต้องสงสัยทั้งสองว่ารวมหัวกันในการฆาตกรรม แม้ว่าจะไม่ได้พบหลักฐานอะไร ๆ ที่เชื่อมชายทั้งสอง[120][121] แต่สุดท้ายนายตำรวจแคมม์ก็หลุดจากคดี[122]
องค์ประกอบอย่างหนึ่งที่จูงใจคนให้เชื่อหมอดูทั้งหลายก็คือ คนฟังมีความลำเอียงเพื่อยืนยันโดยทำสิ่งที่หมอดูพูดให้เข้ากับชีวิตของตน[123] คือ เพราะว่ามีการกล่าวคำที่ไม่ชัดเจนเป็นจำนวนมากในการดูหมอแต่ละครั้ง หมอดูให้โอกาสแก่คนฟังเพื่อที่จะหาเรื่องที่เข้ากันกับตน นี้เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งของการดูหมอแบบอ่านใจคน (cold reading) ที่หมอดูสามารถกล่าวคำที่ตรงกับผู้ฟังอย่างน่าอัศจรรย์ใจโดยที่ไม่มีข้อมูลอะไร ๆ ของคนฟังมาก่อนเลย[123]
นักตรวจสอบเจมส์ แรนดี้ (ผู้มีชื่อเสียงในการแสดงเรื่องเหนือธรรมชาติว่าไม่เป็นจริงหรือเป็นเรื่องหลอกลวง) เปรียบเทียบบันทึกการดูหมอกับสิ่งที่คนให้ดูบอกว่า หมอบอกว่าอะไร แล้วพบว่า ผู้ให้ดูมีความทรงจำแบบเลือกสรรในระดับสูงในข้อความที่ถูก (แต่จำไม่ได้ถึงข้อความที่ผิด)[124]
โดยใช้เป็นตัวอย่างที่เด่นเกี่ยวกับความเอนเอียงในโลกจริง ๆ นิกเกอร์สันกล่าวถึงความเชื่อเกี่ยวกับพีระมิดที่มักหาความหมายในสัดส่วนต่าง ๆ ชองพีระมิดชาวอียิปต์[125] คือ มีขนาดต่าง ๆ มากมายที่วัดได้ในพีรามิดหนึ่ง ๆ เช่นมหาพีระมิดแห่งกีซา และมีวิธีมากมายที่จะรวมหรือดัดแปลงขนาดต่าง ๆ เหล่านั้น ดังนั้น จึงเกือบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คนที่เสาะหาดูเลขต่าง ๆ เหล่านี้โดยเลือก จะพบตัวเลขที่ตรงกับเลขอะไรอย่างหนึ่งที่เป็นความจริง เช่นขนาดของโลก[125]
ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งในการหาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ก็คือการเสาะหาหลักฐานที่พิสูจน์ความผิดและหลักฐานที่ยืนยันความถูกต้องของสมมติฐาน[126] แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ในประวัติวิทยาศาสตร์ ที่นักวิทยาศาสตร์ต่อต้านการค้นพบใหม่ ๆ โดยตีความหมายแบบเลือกและไม่สนใจในข้อมูลที่คัดค้านความคิดที่มีอยู่ก่อน[126] งานวิจัยได้พบว่า งานประเมินคุณภาพของงานวิจัยวิทยาศาสตร์มีจุดอ่อนโดยเฉพาะต่อความเอนเอียงเพื่อยืนยัน คือ ได้พบว่า มีหลายครั้งหลายคราวที่นักวิทยาศาสตร์ให้คะแนนกับงานวิจัยที่พบผลที่เข้ากับความเชื่อฝ่ายตนดีกว่างานวิจัยที่พบผลที่ไม่เข้ากัน[77][127][128] อย่างไรก็ดี ถ้าสมมุติว่า คำถามที่ต้องการจะหาคำตอบนั้นมีความสำคัญ การออกแบบการทดลองก็ใช้ได้ และข้อมูลที่ได้มีการพรรณนาไว้อย่างชัดเจนและสมบูรณ์ ผลงานนั้นก็ควรจะมีความสำคัญกับวงการวิทยาศาสตร์และไม่ควรจะเกิดการพิจารณาตัดสินโดยไม่ใช้หลักฐานอย่างเป็นกลาง ๆ ไม่ว่าผลจะเข้ากันกับพยากรณ์ของทฤษฎีปัจจุบันหรือไม่[128]
ในวงการวิจัยวิทยาศาสตร์ ความเอนเอียงเพื่อยืนยันสามารถผดุงชีวิตของทฤษฎีหรือโปรแกรมงานวิจัยไว้ แม้ว่าจะมีเหตุผลที่ไม่พอเพียง หรือแม้แต่มีเหตุผลที่คัดค้าน[71][129] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สาขาปรจิตวิทยา (parapsychology) ได้รับอิทธิพลจากความเอนเอียงนี้เป็นอย่างยิ่ง[130]
ความเอนเอียงเพื่อยืนยันในนักวิจัยสามารถมีผลต่อข้อมูลหลักฐานที่รับการรายงาน ข้อมูลที่ไม่เข้ากับความคาดหวังของนักวิจัยอาจจะมีการทิ้งไปโดยอ้างว่า เชื่อถือไม่ได้ ซึ่งนำไปสู่ความเอนเอียงที่เรียกว่า ความเอนเอียงในการตีพิมพ์ เพื่อที่จะต่อต้านความโน้มน้าวเช่นนี้ การฝึกหัดนักวิทยาศาสตร์ต้องสอนวิธีป้องกันความเอนเอียง[131] ยกตัวอย่างเช่น งานทดลองควรจะเป็นการทดลองแบบมีกลุ่มควบคุมและเลือกผู้รับการทดลองแบบสุ่ม (randomized controlled trial) และมีการปริทัศน์ของงานทั้งระบบ (systematic review) เพื่อที่จะลดความเอนเอียงต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุด[131][132] นอกจากนั้นแล้ว กระบวนการปริทัศน์ของผู้ชำนาญในสาขาเดียวกัน (peer review) เชื่อกันว่าช่วยลดความเอนเอียงในส่วนบุคคลด้วย[133] ถึงแม้ว่า กระบวนการปริทัศน์เองก็ยังอาจจะมีความเอนเอียงอะไรบางอย่างได้[128][134]
ดังนั้น ความลำเอียงเพื่อยืนยันอาจจะก่อความเสียหายให้กับกระบวนการประเมินผลที่ควรเป็นกลาง ๆ เมื่อมีผลงานทดลองที่ไม่สอดคล้องกับความคิดที่เคยมีมาก่อน เนื่องจากว่า บุคคลที่มีความเอนเอียงอาจจะมองว่า หลักฐานที่คัดค้านไม่มีน้ำหนักและไม่ให้การพิจารณาอย่างเป็นจริงเป็นจังเพื่อที่จะแก้ความคิดเห็นฝ่ายตน[127] ดังนั้น ผู้ที่ค้นพบหลักการวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ มักประสบแรงต่อต้านจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และงานวิจัยที่แสดงผลที่ไม่สอดคล้องกับความคิดที่มีอยู่มักได้รับการปริทัศน์ที่รุนแรง[135]
นักสังคมจิตวิทยาได้ระบุถึงความโน้มน้าวสองอย่างที่มนุษย์สืบหาและตีความหมายข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง คือ การยืนยันตน (Self-verification) เป็นแรงกระตุ้นที่จะยืนยันภาพพจน์ของตน และการยกตน (self-enhancement) เป็นแรงกระตุ้นที่จะหาคำชม แรงกระตุ้นทั้งสองเกิดจากความเอนเอียงเพื่อยืนยัน[136] ในงานทดลองที่ผู้ร่วมการทดลองได้รับคำวิจารณ์ที่ขัดแย้งกับภาพพจน์ของตนเอง พวกเขามักไม่ค่อยใส่ใจหรือจะระลึกคำวิจารณ์เหล่านั้นไม่ได้เมื่อเทียบกับคำชม[137][138][139] พวกเขาจะลดแรงกระทบของข้อมูลเช่นนั้นโดยกล่าวว่า เชื่อถือไม่ได้[137][140][141] งานทดลองคล้าย ๆ กันพบความชอบใจในคำชม และคนที่กล่าวคำชมมากกว่าคำวิจารณ์ (และคนวิจารณ์)[136]
การหลอกลวงตนเองโดยความมีหัวแข็งมีบทบาทสำคัญใน (การตัดสินใจของ) รัฐบาล เป็นการประมวลเหตุการณ์หนึ่ง ๆ โดยใช้ความคิดเห็นตายตัวที่มีอยู่เดิม ๆ โดยไม่สนใจหรือแม้แต่ปฏิเสธหลักฐานที่ขัดแย้ง เป็นการทำการตามความหวังและเป็นการขัดขวางตนเองไม่ให้กลับความคิดได้แม้มีหลักฐานความจริง ยอดตัวอย่างในเรื่องนี้ ก็คือ คำที่นักประวัติศาสตร์กล่าวไว้เกี่ยวกับพระเจ้าเฟลีเปที่ 2 แห่งสเปน ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินที่มีหัวแข็งมากที่สุดพระองค์หนึ่งว่า “ไม่มีประสบการณ์แสดงความล้มเหลวของนโยบายของพระองค์ ที่จะสั่นคลอนความเชื่อในความยอดเยี่ยมโดยธรรมชาติ (ของนโยบาย)”ทัคแมนเสนอว่า ความโง่เขลาเป็นการหลอกตัวเองแบบหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็น "การยืนหยัดอยู่ในรากฐานอันหนึ่ง แม้ว่าจะมีหลักฐานที่ขัดแย้งก็ตาม" (หน้า 209)
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.