Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คลองหัวลำโพง เป็นคลองขุดในท้องที่เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร
เมื่อ พ.ศ. 2400 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการตั้งสถานกงสุล และตั้งห้างค้าขายมากขึ้น ทั้งกงสุลอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา และนายห้างต่างประเทศได้ร้องว่า เรือสินค้าที่ต้องขึ้นมาถึงกรุงเทพนั้นเสียเวลามาก เพราะแม่น้ำคดเคี้ยวและน้ำยังไหลเชี่ยวในฤดูน้ำหลาก หากลงไปตั้งห้างแถวปากคลองพระโขนง แล้วขุดคลองลัดมาเชื่อมกับคลองผดุงกรุงเกษมจะสะดวกขึ้นมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) เป็นแม่กอง ขุดคลองแยกจากคลองผดุงกรุงเกษม ผ่าทุ่งหัวลำโพงเป็นเส้นตรงไปบรรจบคลองพระโขนงที่ใกล้ปากคลอง แล้วนำดินขึ้นมาถมด้านเหนือเพียงด้านเดียว พูนดินเป็นถนนคู่ขนานกันไป เรียกกันว่า คลองตรง และ ถนนตรง แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า "คลองหัวลำโพง" และ "ถนนหัวลำโพง" ตามลำดับ อาจถือได้ว่าถนนตรง (ต่อมาคือถนนพระรามที่ 4) เป็นถนนเส้นแรกของไทยก่อนเปิดใช้ถนนเจริญกรุง 2 ปี[1]
ต่อมาในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีการขยายถนนพระรามที่ 4 และยกเลิกเส้นทางรถไฟสายปากน้ำ เป็นผลทำให้คลองหัวลำโพงที่ขนานอยู่ริมถนนต้องถูกถมทิ้งพร้อมกับทางรถไฟสายปากน้ำเพื่อขยายถนน ซึ่งทำให้ถนนพระรามที่ 4 มีขนาดกว้างใหญ่อย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้ และก่อให้เกิดถนนสายใหม่คือ ถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่บริเวณตลาดคลองเตย ไปบรรจบกับถนนสุขุมวิทบริเวณทางแยกต่างระดับพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ จังหวัดสมุทรปราการ
คลองหัวลำโพงในปัจจุบันเริ่มต้นตั้งแต่คลองไผ่สิงโตที่ไหลลงไปเชื่อมกับคลองหัวลำโพง ผ่านบริเวณตลาดคลองเตย ชุมชนพัฒนาใหม่ มีถนนเกษมราษฎร์ที่ตัดผ่าน เลียบไปกับถนนริมทางรถไฟปากน้ำ มีทางพิเศษเฉลิมมหานครคร่อมคลองอยู่ ไปบรรจบกับคลองพระโขนงบริเวณวัดสะพาน[2]
ในปี พ.ศ. 2565 คลองหัวลำโพง เป็นคลองที่มีปัญหาไม่สะอาดและมีกลิ่นเน่าเหม็นอย่างรุนแรง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เลือกคลองหัวลำโพง ระยะทาง 1 กิโลเมตร เป็นต้นแบบในการแก้ไขแม่น้ำลำคลองของกรุงเทพมหานคร[3]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.