Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดตั้งขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งคณะจิตวิทยาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 นับเป็นคณะที่ 18 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นคณะจิตวิทยาแห่งแรกของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2559 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะจิตวิทยา อันดับ 1 ของประเทศไทย จากการจัดอันดับของ QS World University Rankings by Subject 2016[2]
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University | |
ชื่อเดิม | ภาควิชาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์ |
---|---|
สถาปนา | 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 |
สังกัดการศึกษา | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
คณบดี | ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ |
ที่อยู่ | |
สี | สีน้ำเงินแก่อมม่วง[1] |
เว็บไซต์ | www |
คณะจิตวิทยามุ่งเน้นการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์ อันนำไปสู่แนวทางในการอธิบาย ทำนาย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน โดยเปิดสอนระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในกลุ่มรายวิชาต่าง ๆ อาทิ จิตวิทยาการปรึกษา จิตวิทยาสังคม จิตวิทยาพัฒนาการ และจิตวิทยาการทำงานและทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์จิตวิทยา (Joint International Psychology Program) ในระดับปริญญาตรีด้วย[2]
การศึกษาด้านจิตวิทยาในประเทศไทย เริ่มต้นจากการเรียนการสอนในโรงเรียนฝึกหัดครู เมื่อมีการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2459 การศึกษาด้านจิตวิทยาจึงมาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนของแผนกฝึกหัดครู คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และแผนกวิชาครุศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ ตามลำดับ ในช่วงแรกนั้นมีการเรียนการสอนวิชาจิตวิทยาอยู่ 2 รายวิชา ได้แก่ วิชาสุขวิทยาทางจิต และวิชาการแนะแนว โดยมีอาจารย์พูนทรัพย์ ไกรยง หัวหน้าแผนกวิชาครุศาสตร์เป็นผู้สอน[3]
ต่อมาเมื่อแผนกวิชาครุศาสตร์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นคณะครุศาสตร์ในปี พ.ศ. 2500 ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา คณบดีคนแรกของคณะครุศาสตร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของศาสตร์จิตวิทยา จึงได้สนับสนุนการพัฒนาการเรียนการสอนจิตวิทยามาตั้งแต่เริ่ม การเรียนการสอนวิชาจิตวิทยาจึงอยู่ในความรับผิดชอบของแผนกวิชาวิจัยการศึกษา คณะครุศาสตร์ เป็นต้นมา[4] และในปี พ.ศ. 2505 ได้เริ่มมีการเปิดสอนหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษาและแนะแนวขึ้น ซึ่งนับเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย การเรียนการสอนและการวิจัยทางจิตวิทยาจึงได้พัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วโดยมีขอบเขตกว้างขวางและลึกซึ้งมากขึ้น
ในปี พ.ศ. 2506 ได้มีการจัดตั้ง แผนกวิชาจิตวิทยา ขึ้นในสังกัดคณะครุศาสตร์ เพื่อรับผิดชอบการสอนในสาขาวิชาจิตวิทยาแขนงต่าง ๆ สำหรับนิสิตปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของคณะครุศาสตร์ ตลอดจนรับผิดชอบงานวิชาการด้านจิตวิทยาในหมวดการศึกษาทั่วไปและหมวดวิชาเลือกเสรีสำหรับนิสิตคณะต่าง ๆ ต่อมาแผนกวิชาจิตวิทยาจึงได้ยกฐานะเป็น ภาควิชาจิตวิทยา สังกัดคณะครุศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2522 มีหน้าที่รับผิดชอบการวิจัยทางด้านจิตวิทยาควบคู่ไปกับการเรียนการสอน รวมถึงการให้บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาสำหรับนิสิตและการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม
ความสนใจศาสตร์ด้านจิตวิทยาสอดคล้องกับความต้องการบุคลากรด้านจิตวิทยาที่เพิ่มมากขึ้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์ จรัส สุวรรณเวลา อธิการบดีในขณะนั้น ได้สนับสนุนการยกฐานะภาควิชาจิตวิทยา โดยบรรจุในแผนพัฒนาการศึกษาระยะที่ 7 (พ.ศ. 2535 – 2539) อนุมัติให้จัดตั้งคณะจิตวิทยาขึ้น โดยมีศาสตราจารย์ หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา และศาสตราจารย์ ดร.สุรางค์ โค้วตระกูล เป็นที่ปรึกษา ต่อจากนั้น ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ อธิการบดีลำดับต่อมา ได้มีนโยบายสนับสนุนและผลักดันการก่อตั้งคณะใหม่ด้วยการจัดสรรงบประมาณเป็นทุนตั้งต้น ให้กับคณะที่กำลังดำเนินการจัดตั้งในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งต่อมาคือ คณะจิตวิทยา คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา[5]
ภาควิชาจิตวิทยาจึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น คณะจิตวิทยา ตามพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งคณะจิตวิทยาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 ซึ่งนับเป็นคณะที่ 18 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[6] มีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ปราณี กุลละวณิชย์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการในขณะนั้น เป็นผู้รักษาราชการแทนคณบดีคณะจิตวิทยา จนกระทั่งรองศาสตราจารย์ ดร.พรรณทิพย์ ศิริวรรณบุศย์ ได้รับการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะจิตวิทยา โดยการจัดตั้งคณะจิตวิทยามีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ทางจิตวิทยาในลักษณะศาสตร์บริสุทธิ์และศาสตร์ประยุกต์ โดยเน้นการวิจัยวิทยาศาสตร์จิตวิทยาทางตะวันออก จิตวิทยาทางตะวันตก และการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคม
เมื่อแรกเริ่มก่อตั้ง คณะจิตวิทยาเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท 3 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม และสาขาวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ ต่อเนื่องจากการดำเนินงานสมัยเป็นภาควิชาจิตวิทยา ในสังกัดคณะครุศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 ได้เปิดหลักสูตรปริญญาโทเพิ่มอีก 1 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ และหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาจิตวิทยา ประกอบด้วย 3 แขนงวิชา ได้แก่ แขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา แขนงวิชาจิตวิทยาสังคม และแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2545 จึงได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรี สาขาวิชาจิตวิทยา
ปัจจุบัน คณะจิตวิทยาจัดอยู่ในคณะกลุ่มวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา โดยได้เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก นอกจากนี้คณะจิตวิทยายังได้เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติในระดับปริญญาตรี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์จิตวิทยา (Joint International Psychology Program: JIPP) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ The University of Queensland ประเทศออสเตรเลีย[7]
ศูนย์สุขภาวะทางจิต (Center for Psychological Wellness) เป็นศูนย์ให้บริการทางจิตวิทยา ที่มีจุดมุ่งหมายในการบูรณาการองค์ความรู้ทางจิตวิทยากับการให้บริการเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างสุขภาวะทางจิตให้กับสังคมไทย รวมถึงการเป็นศูนย์ด้านจิตวิทยาแห่งแรกในประเทศไทยที่ให้บริการทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการอย่างครบวงจร มีการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ รวมถึงให้ความสำคัญในการบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาอย่างเป็นมาตรฐานและตามจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยให้บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบรายบุคคล คู่รัก กลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยา การจัดอบรมให้ความรู้ และการร่วมพัฒนาโครงการการดูแลสุขภาวะทางจิตให้กับองค์กรต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบพบหน้าและออนไลน์[8]
ศูนย์ประเมินทางจิตวิทยา (Center for Psychological Assessment) เป็นศูนย์วิจัยและบริการวิชาการแบบครบวงจร จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ที่สามารถบูรณาการการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการตามแนวทางองค์การแห่งการเรียนรู้ มีส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพทางวิชาการ การบริการ ทั้งในศาสตร์จิตวิทยาและศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ศาสตร์ด้านการศึกษา การบริหารธุรกิจ การบริหารกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้คณะจิตวิทยาเป็นแหล่งอ้างอิงของศาสตร์การวัดและการประเมินทางจิตวิทยาในประเทศไทยและนำศาสตร์จิตวิทยาไปให้บริการแก่สังคม ส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการที่ทัดเทียมนานาชาติ โดยบริการของศูนย์ประเมินทางจิตวิทยาในปัจจุบัน ได้แก่ การพัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินทางจิตวิทยา การวัดและการประเมินทางจิตวิทยา การให้บริการปรึกษาเกี่ยวกับการวัดและการประเมินทางจิตวิทยา การอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการวัดและการประเมินทางจิตวิทยา และการตรวจและวิเคราะห์ข้อคำถามด้วยเครื่องตรวจข้อสอบ[9]
ศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย (Psychology Center for Life–Span Development and Intergeneration: Life Di) ได้รับทุนจากโครงการสร้างเสริมพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 มีวัตถุประสงค์หลักของโครงการ คือ เพื่อสร้างความเป็นเลิศด้านวิชาการให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากความแข็งแกร่งของศาสตร์ด้านจิตวิทยาพัฒนาการ โดยการผลิตงานวิจัยด้านจิตวิทยาพัฒนาการจากความร่วมมือกับนานาชาติ และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านจิตวิทยาที่มีคุณภาพสูงแก่สาธารณะในระดับชาติและนานาชาติ และเพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการด้านจิตวิทยาพัฒนาการแก่สังคมในระดับประเทศและระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการผลิตและเผยแพร่นวัตกรรมการให้บริการทางจิตวิทยาที่มีคุณภาพ มีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุน สร้างพันธมิตรเครือข่ายด้านงานจิตวิทยาพัฒนาการเพื่อสร้างประโยชน์และสอดรับกับความต้องการของสังคมได้อย่างยั่งยืน[10]
ระดับปริญญาตรี | ระดับปริญญาโท | ระดับปริญญาเอก |
---|---|---|
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)[11]
หลักสูตรปริญญาตรีร่วมนานาชาติ 2 ปริญญา
|
หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.)
|
หลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ศศ.ด.)
|
ทำเนียบคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | ||
รายนามคณบดี | ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง | |
---|---|---|
1. รองศาสตราจารย์ ดร.พรรณทิพย์ ศิริวรรณบุศย์ | พ.ศ. 2539 – พ.ศ. 2547 | |
2. รองศาสตราจารย์ ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต | พ.ศ. 2547 – พ.ศ. 2552 | |
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คัคณางค์ มณีศรี | พ.ศ. 2552 – พ.ศ. 2560 | |
4. รองศาสตราจารย์ ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ | พ.ศ. 2560 – พ.ศ. 2564 | |
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ | พ.ศ. 2564 – ปัจจุบัน | |
หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี เป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.