Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขนมตาล เป็นขนมไทยดั้งเดิม เนื้อขนมมีลักษณะเป็นแป้งสีเหลืองเข้ม นุ่ม ฟู มีกลิ่นตาลหอมหวาน ขนมตาลทำจากเนื้อตาลจากผลตาลที่สุกงอม แป้งข้าวเจ้า กะทิ และน้ำตาล ผสมกันตามกรรมวิธี ใส่กระทงใบตอง โรยมะพร้าวขูด และนำไปนึ่งจนสุก เนื้อลูกตาลยีที่เป็นส่วนผสมในการทำขนมตาล ได้จากการนำผลตาลที่สุกจนเหลืองดำ เนื้อข้างในมีสีเหลือง มีกลิ่นแรง ซึ่งส่วนมากจะหล่นจากต้นเอง มาปอกเปลือกออก นำมายีกับน้ำสะอาดให้หมดสีเหลือง นำน้ำที่ยีแล้วใส่ถุงผ้า ผูกไว้ให้น้ำตกเหลือแต่เนื้อลูกตาล
ขนมตาลโรยมะพร้าวทึนทึกขูดฝอยห่อด้วยใบตาล | |||||||
ประเภท | ของว่าง | ||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
แหล่งกำเนิด | ประเทศไทย | ||||||
ภูมิภาค | เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ | ||||||
ผู้สร้างสรรค์ | คนไทย | ||||||
ส่วนผสมหลัก | เนื้อลูกตาลยี, แป้งข้าวเจ้า, น้ำตาลทราย, กะทิ | ||||||
94.95 กิโลแคลอรี (398 กิโลจูล) | |||||||
| |||||||
ในภาษาไทย คำว่า ตาล เป็นคำยืมมาจากภาษาบาลีว่า ตาล ภาษาสันสกฤตว่า ตาละ (สันสกฤต: ताल, อักษรโรมัน: tāla, แปลตรงตัว 'ต้นตาล') ร่วมเชื้อสายกับภาษาไทยถิ่นเหนือ ว่า ต๋าน (อักษรธรรมล้านนา: ᨲᩣ᩠)[3]
สมัยโบราณเรียกต้นตาลว่า ต้นโหนด หรือ โตนด[4] คำว่า โตนด มีรากศัพท์จากคำเขมรว่า โตฺนต[5]
ขนมตาลเป็นขนมไทยขึ้นชื่อของเมืองเพชรบุรี (ขนมเมืองเพชร) มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยถึงสมัยอยุธยาตอนต้น
หลักฐานเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากต้นตาลที่เก่าแก่ที่สุด คือ ตราประทับดินเผารูปคนปีนต้นตาล สมัยทวารวดี พบที่เมืองโบราณจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ แสดงถึงการใช้ประโยชน์จากต้นตาลของผู้คนในดินแดนสุวรรณภูมิมาเนิ่นนานก่อนหน้านี้[6]
สมัยสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงปลูกต้นตาลไว้กลางเมืองสุโขทัยตามโบราณราชประเพณีของพระมหากษัตริย์เมื่อทรงขึ้นครองราชย์[7]: 93:เชิงอรรถที่ ๑๓๙ เมื่อปีมะโรง ศกที่ ๑๒๑๔ (พ.ศ. 1821) ขณะมีพระชนมายุ 14 พรรษา
จารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 ด้านที่ 3 บรรทัดที่ 10–13 (คำปริวรรต) ว่า:-
๑๒๑๔ ศกปีมะโรง พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยนี้ปลูกไม้ตาลได้สิบสี่เข้า จึงให้ช่างฟันขะดานหินตั้งหว่างกลางไม้ตาลนี้[8][9]
สมัยอยุธยา เรื่องราวขนมตาล พบใน คำสวดสุบินกุมาร ตำนานของจังหวัดเพชรบุรี[10] ว่า เมื่อ พ.ศ. 2134 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จประทับแรมทรงเบ็ด[11] ณ พระตำหนักโตนดหลวง (บ้านโตนดหลวง) เมืองพริบพรี (Pijprij) (คือเมืองเพชรบุรี) ทรงประพันธ์บทกวีว่า:-
๏ โตนดเต้าแลจาวตาล | เป็นเครื่องหวานเพชรบุรี | |
กินกับน้ำตาลยี | ของมากมีมาช่วยกัน[12] | |
— คำสวดสุบินกุมาร |
ในกรุงศรีอยุธยายังพบชื่อย่านหนึ่งว่า บ้านขนมตาล กล่าวถึงย่านแต่ละย่านในกรุงศรีอยุธยาว่ามีชาวบ้านจากหัวเมืองต่างๆ นำเรือบรรทุกสินค้ามาขายกันมากมายนับหมื่นลำ ขายข้าวของหลายชนิดและขนมชนิดต่าง ๆ[13] ปรากฎใน คําให้การขุนหลวงหาวัด ว่า:-
บ้านขนมตาลชาวบ้านนั้นรับเรือเถาเรือพ่วงไว้ขาย[14]
ขนมตาลจัดเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยเนื่องจากใช้ทะลายตาล (ลูกตาล) ซึ่งพบในพื้นที่ของประเทศไทยตั้งแต่สมัยโบราณ โดยมีการค้นพบบันทึกเกี่ยวกับตาลโตนดตั้งแต่ยุคทวารวดี เป็นส่วนผสมหลักของขนมตาล และไม่มีส่วนผสมของไข่ นับเป็นขนมไทยแท้ดั้งเดิมแตกต่างจากขนมไทยชนิดอื่นที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก[15]
ปัจจุบันขนมตาลรสชาติดีหารับประทานได้ยากเนื่องจากจำนวนต้นตาลลดลง ขนมตาลที่ขายตามท้องตลาดส่วนใหญ่ ผู้ประกอบการมักใส่เนื้อตาลน้อย เพิ่มแป้งและเจือสีเหลืองแทน ซึ่งทำให้ขนมตาลมีเนื้อกระด้าง ไม่หอมหวาน และไม่อร่อย
ขนมตาลโบราณ (ปุ หรือ ตะโหนดเต้า) เป็นขนมตาลดั้งเดิมของไทย ขนมตาลที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบุรี คือ ขนมตาลชุมชนถ้ำรงค์ ชุมชนนางสายัน และชุมชนกระทุ่มแก้ว จากแหล่งปลูกตาลอำเภอบ้านลาด เป็นขนมตาลรสชาติดั้งเดิมทำจากเนื้อตาลสุก มีลักษณะเนื้อนุ่ม เด้ง หนุบหนับ มีกลิ่นตาลหอมฟุ้งเตะจมูกคล้ายกลิ่นเหล้าหมักที่เป็นเอกลักษณ์และใช้ใบตาลห่อเป็นภาชนะ เป็นขนมตาลที่อร่อยที่สุด[16]: 23, 28
ขนมตาลราดกะทิ หรือ หนมอาโก คทิ (Nom Akor Ktis) เป็นขนมตาลพื้นบ้านพบทั่วไปในประเทศกัมพูชา เป็นขนมตาลไทยที่ชาวเขมรนำไปราดกะทิให้มีเนื้อนุ่มและมีรสเค็มนิดๆ[17]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.