สตีเวน พอล จอบส์ (อังกฤษ: Steven Paul Jobs) หรือที่รู้จักในชื่อ สตีฟ จอบส์ (อังกฤษ: Steve Jobs); 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1955 - 5 ตุลาคม ค.ศ. 2011) เป็นผู้นำธุรกิจและนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ผู้ร่วมก่อตั้ง ประธาน อดีตประธานบริหารของแอปเปิลคอมพิวเตอร์ และยังเคยเป็นประธานบริหาร พิกซาร์แอนิเมชันสตูดิโอส์ และเป็นคณะกรรมการบริหารบริษัทเดอะวอลต์ดิสนีย์ใน ค.ศ. 2006 หลังดิสนีย์ซื้อกิจการพิกซาร์ ฟรัค
สตีฟ จอบส์ | |
---|---|
สตีฟ จอบส์ กับไอโฟน 4 ในการประชุมนักพัฒนาระดับโลก ปี พ.ศ. 2553 | |
เกิด | 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498[1] ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา[1] |
เสียชีวิต | 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554 (56 ปี)[2][3] แพโล แอลโต รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา |
สุสาน | สุสานอัลตาเมซา |
สัญชาติ | อเมริกัน |
อาชีพ | อดีตประธานบริหารและอดีตประธานบริษัทแอปเปิล |
มีชื่อเสียงจาก | ผู้พัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์แอปเปิล ซีรีส์ 2, เครื่องคอมพิวเตอร์แมค, ไอโฟนและไอแพด |
คู่สมรส | ลอเรนซ์ โพเวลล์ (1991-2011; สามีเสียชีวิต) |
บุตร | ลิซา เบรนแนน-จอบส์ รีด จอบส์ อีริน จอบส์ อีฟ จอบส์ |
บิดามารดา | อับดุลฟัตตะห์ จันดาลี โจแอน แคโรลด์ ชีเบิล |
ญาติ | โมนา ซิมป์สัน (น้องสาว) |
เว็บไซต์ | |
ลายมือชื่อ | |
เขาร่วมก่อตั้งแอปเปิลคอมพิวเตอร์กับสตีฟ วอซเนียก ใน ค.ศ. 1976 เป็นผู้มีส่วนช่วยทำให้แนวความคิดเรื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นที่นิยมขึ้นมา ด้วยเครื่อง Apple II ต่อมา เขาเป็นผู้แรกที่มองเห็นศักยภาพทางการค้าของส่วนประสานงานผู้ใช้แบบกราฟิกส์และเม้าส์ ที่ถูกพัฒนาขึ้นในศูนย์วิจัยซีร็อกซ์พาร์ค ของบริษัทซีร็อกซ์ และได้มีการผนวกเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าไว้ในเครื่องแมคอินทอช[4][5] หลังพ่ายแพ้ในการแย่งชิงอำนาจกับคณะกรรมการบริหารใน ค.ศ. 1984 [6] จอบส์ลาออกจากแอปเปิลและก่อตั้งเน็กซ์ บริษัทพัฒนาแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในการศึกษาขั้นอุดมศึกษาและตลาดธุรกิจ การซื้อกิจการเน็กซ์ของแอปเปิลใน ค.ศ. 1996 ทำให้จอบส์กลับเข้าทำงานในบริษัทแอปเปิลที่เขาร่วมก่อตั้งขึ้นนั้น และเขารับหน้าที่ CEO ตั้งแต่ ค.ศ. 1997 ถึง 2011 จอบส์ยังเป็นประธานบริหาร และผู้บริหารระดับสูงของพิกซาร์แอนิเมชันสตูดิโอส์ ผู้นำด้านการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ ทั้งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ 50.1% กระทั่งบริษัทวอลต์ดิสนีย์ซื้อกิจการไปใน ค.ศ. 2006[7] จอบส์เป็นผู้ถือหุ้นมากที่สุดของดิสนีย์ที่ 7% และเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารของดิสนีย์[8][9][10]
หลังจาก สตีฟ จอบส์ ประกาศแก่พนักงานแอปเปิลว่าตรวจพบมะเร็งตับอ่อนตั้งแต่กลางปี ค.ศ. 2004 จอบส์ ก็มีปัญหาทางสุขภาพเรื่อยมา จนตัดสินใจลาออกจากการเป็นประธานบริหารของแอปเปิล เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 2011 และ เสียชีวิตในวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 2011 หลังจากที่แอปเปิล ประกาศเปิดตัว ไอโฟน 4เอส ได้เพียงแค่วันเดียว[2][3]
ช่วงแรกของชีวิต
สตีฟ จอบส์ เกิดที่เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย[1] มีชื่อจริงว่า สตีเวน พอล จอบส์ เป็นบุตรบุญธรรมของพอล แรนโฮลด์ จอบส์ กับคลารา จอบส์ (สกุลเดิม ฮาโกเพียน[11]) ครอบครัวชาวอเมริกันเชื้อสายอาร์เมเนีย[12] ต่อมาพ่อแม่บุญธรรมก็รับผู้หญิงมาเป็นบุตรบุญธรรมอีกคน ชื่อ แพทรีเชีย "แพตตี" แอน จอบส์
บิดามารดาที่แท้จริงของจอบส์ เขามีบิดาชื่อ อับดุลฟัตตะห์ "จอห์น" จันดาลี (อาหรับ: عبدالفتاح جندلي) ชาวซีเรียมุสลิม[13] นักศึกษา (ในขณะนั้น) แต่ต่อมาได้ทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยสาขารัฐศาสตร์[14] กับโจแอน แคโรลด์ ชีเบิล (อังกฤษ: Joanne Carole Schieble) ที่มีเชื้อสายสวิสและนับถือคาทอลิก นักศึกษาในขณะนั้น[13] ต่อมาได้ทำงานเป็นวิทยากรในการบำบัด[15] ขณะที่จอบส์เกิด พ่อแม่ที่แท้จริงของเขายังมิได้สมรสกัน จันดาลี กล่าวว่า เขาไม่มีทางเลือกที่ยกทารกให้เป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่น เนื่องจากของครอบครัวของโจแอน ไม่ยอมรับความสัมพันธ์ของตน[16] ต่อมาภายหลังบิดามารดาได้สมรสกันและให้กำเนิดน้องสาวร่วมสายเลือดของจอบส์ คือ โมนา ซิมป์สัน นักแต่งนวนิยาย[17][18][19][20][21]
ในปีค.ศ. 1972 จอบส์จบการศึกษาจากโฮมสตีดไฮสคูล ในเมืองคิวเปอร์ทีโน รัฐแคลิฟอร์เนีย และได้สมัครเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยรีด (Reed College) ในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน แต่ก็ต้องลาพักการเรียนหลังจากเข้าเรียนได้เพียงหนึ่งภาคการศึกษา หลายปีต่อมา ในปาฐกถาครั้งหนึ่งในพิธีสำเร็จการศึกษาของบัณฑิตมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ปีค.ศ. 2005 จอบส์ได้กล่าวว่าเพราะเขาลาพักเรียนไป จึงมีเวลาเข้าชั้นเรียนคัดตัวหนังสือ "ถ้าผมไม่ได้เรียนวิชานั้นที่วิทยาลัยรีด เครื่องแมคอินทอชคงจะไม่มีรูปแบบอักษรหลากหลาย และปราศจากฟอนต์ที่มีการแบ่งระยะห่างอย่างถูกสัดส่วนเช่นนี้" จอบส์กล่าว
ก่อตั้งแอปเปิล
ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ปี ค.ศ. 1974 จอบส์ได้กลับมายังรัฐแคลิฟอร์เนีย และได้เริ่มเข้าประชุมชมรม"เครื่องคอมพิวเตอร์ทำเองที่บ้าน" กับ สตีฟ วอซเนียก จากนั้นก็สมัครเข้าทำงานในตำแหน่งช่างเทคนิคที่ อาตาริ ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และวิดีโอเกมส์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ตลอดช่วงเวลานี้ มีการค้นพบว่านกหวีดของเล่นที่แถมมาในกล่องอาหารเช้าทำจากธัญพืชยี่ห้อแคปแอนด์ครันช์ ทุกกล่อง เมื่อนำมาดัดแปลงเล็กน้อยแล้วจะสามารถทำเกิดเสียงความถี่ 2,600เฮิร์ทซ์ ที่ใช้ในระบบโทรศัพท์ทางไกลของเอทีแอนด์ทีได้ โดยไม่รอช้า ในปีค.ศ. 1974จอบส์กับวอซเนียกได้เริ่มธุรกิจผลิตกล่อง"บลูบ็อกซ์" จากแนวความคิดดังกล่าวอันทำเราสามารถโทรศัพท์ทางไกลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ในปีค.ศ. 1976 สตีฟ จอบส์ในวัย 21 ปี กับสตีฟ วอซเนียก วัย 26 ปี ได้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิล คอมพิวเตอร์ขึ้น ในโรงรถที่บ้านของครอบครัวจอบส์ เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่จอบส์กับวอซเนียกได้นำเสนอออกสู่สายตาได้แก่เครื่องApple I ถูกตั้งราคาไว้ที่ 666.66 ดอลลาร์สหรัฐ โดยนำตัวเลขมาจากหมายเลขโทรศัพท์ของเครื่องตอบโทรศัพท์เล่าเรื่องตลกขบขันของวอซเนียก ที่มีเบอร์โทรลงท้ายด้วย -6666
ในปีค.ศ. 1977 จอบส์กับวอซเนียก ได้นำเครื่องApple IIออกสู่ตลาด และประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดคอมพิวเตอร์ใช้งานในบ้าน และทำให้แอปเปิลกลายเป็นผู้ผลิตรายสำคัญในวงการอุตสาหกรรมเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ในเดือนธันวาคม ปีค.ศ. 1980 แอปเปิลคอมพิวเตอร์ได้กลายมาเป็นบริษัทมหาชน และการเปิดขายหุ้นให้แก่สาธารณชนผู้สนใจร่วมลงทุน ทำให้สถานภาพส่วนตัวของจอบส์สูงส่งขึ้นเป็นอันมาก ในปีเดียวกันนี้เอง แอปเปิลคอมพิวเตอร์ได้นำเครื่องApple IIIออกวางตลาด แต่กลับประสบความสำเร็จน้อยกว่าเดิม
ในขณะที่ธุรกิจของแอปเปิลกำลังเติบโตต่อไป บริษัทได้เริ่มมองหาผู้มีความเชี่ยวชาญในการบริหารธุรกิจเพื่อมาช่วยในการขยายกิจการ ในปีค.ศ. 1983 จอบส์ได้ว่าจ้าง จอห์น สกัลลีย์ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเป็บซี่-โคล่า ให้มาดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของแอปเปิล โดยที่จอบส์ได้กล่าวท้าทายเขาว่า "คุณต้องการจะใช้ช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ไปกับการขายน้ำหวาน หรือว่าต้องการโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงโลกนี้กันแน่?" ในปีเดียวกัน แอปเปิลยังได้เปิดตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ลิซา ที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าแต่กลับไม่ประสบความสำเร็จทางการตลาดแต่อย่างใด
ในปีค.ศ. 1984 เราได้เห็นการเปิดตัวเครื่องแมคอินทอช เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นแรกที่มีส่วนประสานงานผู้ใช้แบบกราฟิกส์ที่ประสบความสำเร็จทางการค้า การพัฒนาเครื่องแมคริเริ่มขึ้นโดย เจฟ ราสคินและทีมงานที่ได้แรงบันดาลใจจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์วิจัยซีรอกซ์พาร์ก แต่ยังไม่มีการนำมาพัฒนาเพื่อการค้า ความสำเร็จของเครื่องแมคอินทอช ทำให้แอปเปิลเลิกพัฒนาเครื่องApple II เพื่อส่งเสริมสายการผลิตเครื่องรุ่นแมค ซึ่งยังคงยืนหยัดมากระทั่งทุกวันนี้
ออกจากแอปเปิล ก่อตั้งกิจการบริษัทเน็กซ์
ในขณะที่จอบส์กำลังผลักดันโครงการต่าง ๆ ของแอปเปิล ในปี ค.ศ. 1985 ภายหลังจากประสบปัญหาขัดแย้งเรื่องอำนาจภายในบริษัท จอบส์ก็ถูกคณะกรรมการบริหารของแอปเปิลถอดถอนออกจากภารกิจต่าง ๆ ที่เขาเป็นผู้รับผิดชอบ และได้ลาออกในที่สุด
หลังจากที่ลาออกจากแอปเปิล จอบส์ได้ก่อตั้งบริษัทคอมพิวเตอร์ขึ้นมาใหม่ ชื่อว่า เน็กซ์ เช่นเดียวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ลิซา เน็กซ์มีเทคโนโลยีล้ำยุค แต่ไม่เคยเข้าสู่กระแสความนิยมหลักได้เนื่องจากราคาที่สูงลิ่ว สำหรับผู้ที่มีเงินพอจะซื้อหามาเป็นเจ้าของได้นั้น เทคโนโลยีของเน็กซ์ทำให้มีกลุ่มผู้ติดตามจำนวนมากเนื่องจากความแข็งแกร่งทางเทคโนโลยี หนึ่งในผลิตภัณฑ์นั้นได้แก่ระบบพัฒนาซอฟต์แวร์เชิงวัตถุ จอบส์ได้ทำตลาดผลิตภัณฑ์ของเน็กซ์โดยเน้นไปที่สาขาวิทยาศาสตร์และสถาบันการศึกษา เนื่องจากได้ผนวกเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ในเชิงนวัตกรรม และทดลองค้นคว้ารวมอยู่ด้วย
เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นเน็กซ์คิวบ์ (NeXT Cube) ถือกำเนิดขึ้นจากแนวความคิดทางปรัชญาของจอบส์ในเรื่องของ "คอมพิวเตอร์ระหว่างบุคคล" ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นก้าวสำคัญหลังจากมีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเกิดขึ้น นั่นคือ หากคอมพิวเตอร์สามารถให้มนุษย์สื่อสารและประสานงานกันอย่างง่ายดายแล้ว จะสามารถแก้ปัญหามากมายที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเคยประสบมา จอบส์เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักที่เขาไม่ได้รวมเอาคุณลักษณะทางเครือข่ายเข้าไว้ในเครื่องแมคอินทอชรุ่นดั้งเดิม (และเรียกว่า "สายรกที่เชื่อมโยงเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ากับบริษัท") และเขาตั้งใจว่าจะไม่ทำพลาดเช่นนั้นอีก ในช่วงเวลาที่อีเมลสำหรับคนส่วนมากยังคงเป็นระบบตัวหนังสือล้วน จอบส์รักที่จะทำการแสดงการสาธิต "เน็กซ์เมล" ระบบอีเมลของบริษัทเน็กซ์เพื่อให้เห็นถึงปรัชญาของเครื่องคอมพิวเตอร์ระหว่างบุคคล เน็กซ์เมลเป็นอีเมลระบบแรก ๆ ที่สนับสนุนการมองเห็นกราฟิกส์และเสียงที่ฝังอยู่ในอีเมลได้จากทุกแห่ง และยังสามารถคลิกได้อีกด้วย
จอบส์บริหารงานที่บริษัทเน็กซ์โดยหวังผลประโยชน์สูงแม้ว่าจะมีใช้ค่าใช้จ่ายที่สูงก็ตาม การกระทำเหล่านี้ได้เป็นตัวบ่อนทำลายแผนกฮาร์ดแวร์ของเน็กซ์ในที่สุด แต่ในทางกลับกัน ยังเป็นการแสดงให้โลกได้รู้ว่าจอบส์สามารถออกแบบเครื่องแมคอินทอช ที่ดีกว่ารุ่นดั้งเดิมในแบบที่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ กล่องเครื่อง เน็กซ์คิวบ์ที่ทำจากแมกนีเซียมตัดด้วยเลเซอร์ได้ชื่อว่าเป็นความสวยงามที่ไม่ว่าจะจ่ายเท่าไรก็จะต้องได้มา เช่นเดียวกับที่จอบส์แข่งขันกับไอบีเอ็มในช่วงที่งานอยู่ที่แอปเปิล ต่อมา หลังจากที่แผนกฮาร์ดแวร์ของเน็กซ์ถูกปลด จอบส์กับสก็อตได้เปิดตัว OPENSTEP ด้วยกัน
ในช่วงที่จอบส์ทำงานอยู่ที่เน็กซ์นั้นมักจะไม่มีผู้กล่าวถึงในตำราประวัติศาสตร์ แต่จอบส์ได้อุทิศประโยชน์ไว้ในเหตุการณ์สำคัญยิ่งสองเหตุการณ์ด้วยกัน
- กำเนิดเวิลด์ไวด์เว็บ ซึ่งเป็นเบราว์เซอร์ตัวแรกของโลกกับ ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี ได้พัฒนาระบบต้นแบบของเวิลด์ไวด์เว็บของสถาบันวิจัยเซิร์นในสถานีวิจัยย่อยของเซิร์นโดยใช้เครื่องเน็กซ์ จุดยืนของจอบส์ที่ว่าคนธรรมดาน่าจะสามารถเขียนแอปพลิเคชันใด ๆ ที่ "จำเป็นยิ่งยวดต่อภารกิจ" ได้กลายเป็นหลักเบื้องต้นในการสร้าง Interface Builder อันเป็นโปรแกรมที่ทิม เบอร์เนอร์ส-ลีใช้เขียนโปรแกรมที่มีชื่อว่า "World-Wide Web 1.0"
- การกลับมาของแอปเปิล คอมพิวเตอร์: การที่แอปเปิลอิงกับซอฟต์แวร์ดั้งเดิม และการบริหารงานภายในที่ผิดพลาด ทำให้บริษัทเองเกือบจะล้มละลาย ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1990 จุดยืนของจอบส์ที่ยืนหยัดจะพัฒนาคอมพิวเตอร์จากระบบปฏิบัติการยูนิกซ์อย่างต่อเนื่อง ได้ถูกมองว่าทะเยอทะยานเกินไปและเป็นแนวคิดที่ล้าหลังในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 แต่ทางเลือกของจอบส์ได้กลายเป็นรากฐานที่สำคัญของระบบปฏิบัติการที่เสถียรและสามารถขยายตัวได้
กลับมาสู่แอปเปิล
ในปีค.ศ. 1996 แอปเปิลได้ซื้อกิจการบริษัทเน็กซ์ คอมพิวเตอร์ด้วยราคา 402ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำจอบส์กลับมาสู่บริษัทที่เขาก่อตั้งเอาไว้ ในปีค.ศ. 1997 เขาได้กลายเป็นผู้บริหารระดับสูง"ชั่วคราว"ของแอปเปิล หลังจากที่ผู้จัดการหลายคนเสียความเชื่อมั่นในตัว จิล อะเมลิโอ ผู้บริหารระดับสูงในขณะนั้นที่ถูกถอดออก ในช่วงที่กลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำของแอปเปิล จอบส์เรียกชื่อตำแหน่งของเขาว่า "ไอซีอีโอ" (iCEO)
ด้วยการซื้อกิจการของเน็กซ์ เทคโนโลยีหลายตัวของบริษัทได้แจ้งเกิดในผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Mac OS X ที่พัฒนามาจาก NeXTSTEP ภายใต้การนำของจอบส์ บริษัทสามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างมากด้วยการเปิดตัว ไอแมค (iMac) นับแต่นั้นเป็นต้นมา การออกแบบที่ดึงดูดใจ และยี่ห้อสินค้าที่มีพลังเป็นผลดีต่อแอปเปิลอย่างยิ่ง
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ บริษัทแอปเปิล คอมพิวเตอร์ ได้ขยายกิจการไปหลายสาขา ด้วยการเปิดตัวไอพ็อด เครื่องเล่นดนตรีขนาดพกพา ไอทูนส์ ซอฟต์แวร์สำหรับดนตรีดิจิทัล รวมไปถึงร้านดนตรีไอทูนส์ แสดงให้เห็นว่าบริษัทต้องการยึดหัวหาดด้านอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ส่วนบุคคล และร้านขายดนตรีออนไลน์ ด้วยแรงผลักดันทางนวัตกรรม จอบส์มักจะเตือนพนักงานของเขาว่า "ศิลปินที่แท้จริงต้องส่งงาน" ซึ่งหมายความว่าการจัดส่งผลิตภัณฑ์ให้ตรงเวลานั้น มีความสำคัญพอ ๆ กับนวัตกรรมและการออกแบบที่โดนใจผู้ใช้
จอบส์ทำงานที่บริษัทแอปเปิลเป็นเวลาหลายปีติดกันด้วยค่าจ้างรายปีเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐ และนั่นทำให้เขาได้ถูกบันทึกไว้ในสถิติโลกกินเนสส์ว่า เป็นผู้บริหารระดับสูงที่ได้รับค่าจ้างต่ำที่สุดในโลก ในการเป็นองค์นำปาฐกถาที่งานแมคเวิลด์เอกซ์โป (Macworld Expo) ในนครซานฟรานซิสโก บริษัทได้ตัดคำว่า "ชั่วคราว" ออกจากตำแหน่งของเขา แต่เงินค่าจ้างของเขาที่แอปเปิลก็ยังคงเป็น 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี แม้ว่าเขาจะได้รับของขวัญพิเศษจำนวนมากที่สร้างรายได้แก่เขาจากคณะกรรมการบริหารตามธรรมเนียม รวมถึงเครื่องบินเจ็ต Gulfstream V มูลค่า 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีค.ศ. 1999 และหุ้นมูลค่าเกือบ ๆ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากหุ้นปุริมสิทธิ์ในปีค.ศ. 2000 - ค.ศ. 2002 ดังนั้น จอบส์จึงได้รับค่าตอบแทนอย่างงามสำหรับความพยายามของเขาที่แอปเปิล แม้จะได้ชื่อว่ามีค่าจ้างเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐก็ตาม
จอบส์ได้รับทั้งคำชื่นชมและวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับทักษะด้านการขายและดึงดูดใจผู้บริโภคของเขา ซึ่งถูกแทนที่ด้วยคำว่า "พื้นที่ที่ความจริงถูกบิดเบือน" ซึ่งเห็นได้ชัดอย่างยิ่งระหว่างที่เขากล่าวปราศรัยในงานแมคเวิลด์เอกซ์โป เกราะกำบังด้วย "พื้นที่ที่ความจริงถูกบิดเบือน" เป็นคำเปรียบเปรย ที่ใช้กับแอปเปิลด้วยในช่วงที่ราคาสินค้าไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ ในขณะที่เครื่อง G4 cube มีราคาแพงเกินไป บริษัทก็ยังตัดสินใจสวนกระแสความต้องการของตลาด ด้วยการกำจัดเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ลอกแบบจากเครื่องแมคอินทอช การตัดสินใจของจอบส์ไม่ได้รับฉันทมติจากคนส่วนใหญ่ไปเสียทุกเรื่อง เป็นต้นว่า ความพยายามทางการตลาดของแอปเปิลในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 ที่เป็นเลิศในแง่เทคนิค แต่กลับเป็นแนวคิดแปลกแยกในหมู่นักลงทุนที่เล่นหุ้นของบริษัท ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้หันไปซื้อหุ้นของไอบีเอ็ม ส่งผลให้ราคาหุ้นของแอปเปิลตกลงฮวบฮาบ ไมโครซอฟท์ก็ซ้ำเติมการเสียตำแหน่งผู้นำของแอปเปิลด้วยการพัฒนาส่วนประสานผู้ใช้แบบกราฟิกส์ของตัวเองขึ้นมา ใช้ชื่อว่า ไมโครซอฟท์วินโดวส์ ซึ่งก็บดบังความร้อนแรงของหุ้นแอปเปิลและครองส่วนแบ่งทางการตลาดได้ในที่สุด
ร่วมก่อตั้งพิกซาร์
ในปีค.ศ. 1986 จอบส์ได้ร่วมกับเอ็ดวิน แคทมัลล์ก่อตั้งพิกซาร์ ซึ่งเป็นสตูดิโอสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันด้วยคอมพิวเตอร์ ตั้งอยู่ที่เมืองเอเมอรีวิลล์ รัฐแคลิฟอร์เนีย บริษัทนี้ก่อตั้งขึ้นจากแผนกคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ของบริษัทลูคัสฟิล์มเดิม ซึ่งจอบส์ได้ซื้อกิจการต่อมาจากจอร์จ ลูคัส ผู้ก่อตั้ง ด้วยราคา 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหนึ่งในสามของราคาที่ตั้งไว้
พิกซาร์ได้กลายเป็นบริษัทที่โด่งดังและประสบความสำเร็จในอีกหนึ่งทศวรรษให้หลัง ด้วยภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องยาวแหวกแนว เรื่อง"ทอย สตอรี่" และจากนั้นก็ได้ผลิตภาพยนตร์ที่ชนะรางวัลประกวดหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น "ตัวบั๊กส์ หัวใจไม่บั๊กส์" ในปีค.ศ. 1998 "ทอย สตอรี่ 2" ในปีค.ศ. 1999 "มอนสเตอร์ส อิงค์ บริษัทรับจ้างหลอน(ไม่)จำกัด" ในปีค.ศ. 2001 "นีโม่...ปลาเล็กหัวใจโต๊...โต" ในปีค.ศ. 2003 และ "รวมเหล่ายอดคนพิทักษ์โลก" ในปีค.ศ. 2004 ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องล่าสุดของพิกซาร์คือเรื่อง "Cars2" มีกำหนดออกฉายในต้นเดือนกันยายน ปีค.ศ. 2011
นีโม่...ปลาเล็กหัวใจโต๊...โต และ รวมเหล่ายอดคนพิทักษ์โลก ต่างได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม
เมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 2006 บริษัทเดอะวอลต์ดิสนีย์ได้เข้าซื้อกิจการของพิกซาร์ด้วยวิธีแลกหุ้น การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้มีมูลค่า 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ในปีเดียวกัน
ชีวิตส่วนตัว
จอบส์เข้าพิธีสมรสกับลอเรนซ์ พาวเวลล์ เมื่อวัน18 มีนาคม ค.ศ. 1991 และมีบุตรด้วยกันสามคน จอบส์ยังมีลูกสาวหนึ่งคน ชื่อลิซา จอบส์ ที่เกิดจากสตรีผู้หนึ่งซึ่งเขาไม่ได้แต่งงานด้วย
มีอยู่ช่วงหนึ่งที่จอบส์ได้คบหาดูใจอยู่กับโจอาน แบเอซ ผู้ซึ่งถูกเจฟฟรีย์ ยัง ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของจอบส์ "iCon Steve Jobs" กล่าวถึงว่า จอบส์รู้สึกติดตรึงใจสนใจหล่อน เนื่องจากโจอาน แบเอซเคยเกี่ยวพันกับ บอบ ดีแลน นักดนตรีขวัญใจของเขา และยังเกี่ยวพันกับ วัฒนธรรมฮิปปี้ (Beat Generation) เจฟฟรีย์ ยัง บอกเป็นนัย ๆ ว่า บิล แอตคินสัน เคยได้ยินจอบส์พูด (แล้วเอาไปพูดต่อ) ว่าเขาคงจะแต่งงานกับแบเอซไปแล้ว หากเขาไม่มีความคิดว่าหล่อนซึ่งขณะนั้นมีอายุ 41 ปี มากเกินไปที่จะมีบุตร
จอบส์เป็นมังสวิรัติที่ยังรับประทานปลา (ไม่ใช่มังสวิรัติ หรือ มังสวิรัติเคร่งครัด ตามที่มีมักจะอ้างกัน) — แม้ว่าเขาจะไม่กินเนื้อสัตว์ มีรายงานว่าเขากินปลาในบางครั้ง
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 2004 จอบส์ได้เข้ารับการผ่าตัดเอาเนื้องอกมะเร็งออกจากตับอ่อน เขาเป็นโรคมะเร็งในตับอ่อนซึ่งในแบบที่พบได้น้อยมาก ที่เรียกว่า "เนื้องอกในเซลล์ที่ผลิตอินซูลินอันส่งผลต่อระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย " (islet cell neuroendocrine tumor) ซึ่งเป็นเนื้องอกที่ไม่ต้องการเคมีบำบัด หรือรังสีบำบัดแต่อย่างใด ระหว่างที่เขาป่วย ทิม คุก ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานขายและปฏิบัติการทั่วโลกของแอปเปิล เป็นผู้บริหารงานแทน
ในปีค.ศ. 2005 สตีฟ จอบส์ได้สั่งห้ามมิให้จำหน่ายหนังสือทุกเล่มที่มาจากสำนักพิมพ์วิลลีย์ในร้านหนังสือขายปลีกของแอปเปิล เพื่อตอบโต้ที่สำนักพิมพ์นี้ได้ตีพิมพ์ชีวประวัติฉบับที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเขา ที่มีชื่อว่า "iCon Steve Jobs: The Greatest Second Act in the History of Business" เขียนโดยเจฟฟรีย์ ยัง และ วิลเลียม แอล. ไซมอน หลายคนเชื่อว่าการสั่งห้ามหนังสือดังกล่าวมาจากชื่อที่มีนัยยะในแง่ลบ มากกว่าจะมาจากเนื้อหาซึ่งออกจะกล่าวถึงในแง่บวกเสียมากกว่า
การเสียชีวิต
ในวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 2011 หลังจากที่แอปเปิล ประกาศเปิดตัวไอโฟน 4เอส ได้เพียงแค่วันเดียว แอปเปิลคอมพิวเตอร์ประกาศว่า สตีฟ จ็อบส์ เสียชีวิตอย่างสงบแล้วจากโรคมะเร็งตับอ่อนรุมเร้ามาตั้งแต่กลางปี ค.ศ. 2004 ด้วยวัยเพียง 56 ปี โดยในวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 2011 แอปเปิลได้จัดงานรำลึกถึงสตีฟ จอบส์ขึ้นมา โดยมีทิม คุก พูดถึงชีวิตของจอบส์ในแง่ต่าง ๆ และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับความสำเร็จที่ผ่าน ๆ มาของจอบส์ ณ Apple Campus เมืองคูเปอร์ทิโน รัฐแคลิฟอร์เนีย
ความหลักแหลม กระตือรือร้น และพลังงานของสตีฟ เป็นที่มาของนวัตกรรมนับไม่ถ้วน ซึ่งเพิ่มคุณค่าและพัฒนาชีวิตของพวกเราให้ดีขึ้น โลกดีขึ้นอย่างสุดประมาณเพราะสตีฟ[22]
— คณะกรรมการบริหารของแอปเปิลระบุในแถลงการณ์
แอปเปิลได้สูญเสียอัจฉริยบุคคลผู้มีวิสัยทัศน์และมีความคิดสร้างสรรค์ โลกสูญเสียบุคคลอันน่าทึ่ง ผู้ที่มีโอกาสได้รู้จักและร่วมงานกับสตีฟก็สูญเสียเพื่อนผู้เป็นที่รักและผู้นำที่สร้างแรงบรรดาลใจ สตีฟคงเหลือไว้ซึ่งบริษัทที่มีเขาเพียงผู้เดียวที่สามารถสร้างขึ้นมาได้ จิตวิญญาณของเขาจะยังคงเป็นรากฐานของแอปเปิลตลอดไป [23]
— ข้อความไว้อาลัยบนหน้าเว็บของแอปเปิล ประเทศไทย
ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับบุคลิกของจอบส์
บุคลิกก้าวร้าวและชอบเรียกร้องของสตีฟ จอบส์ถูกกล่าวถึงและเขียนถึงเป็นอันมาก โดยมีหนังสือชีวประวัติที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเขาหลายต่อหลายเล่ม เป็นต้นว่า "The Little Kingdom" โดย ไมเคิล โมริทซ์ "Steve Jobs: The Journey Is the Reward" โดย เจฟฟรีย์ เอส. ยัง "The Second Coming of Steve Jobs" โดย อลัน ดอยช์แมน และ "iCon Steve Jobs" โดย เจฟฟรีย์ เอส. ยัง และ วิลเลียม แอล. ไซมอน
ในสารคดี ชัยชนะของพวกเนิร์ด คนจำนวนมากกล่าวถึงเหตุการณ์อันโด่งดังเมื่อสตีฟ จอบส์ถูก ผู้บริหารระดับสูง จอห์น สกัลลีย์ และ คณะกรรมการผู้จัดการของแอปเปิลไล่ออก:
- คริส เอสปิโนซา: "แผนการมโหฬารที่จะให้แมคอินทอชเป็นอย่างไรในอนาคตนั้น ช่างห่างไกลจากความจริงที่สินค้าชิ้นนี้เป็นอยู่ และความจริงที่สินค้านี้เป็นอยู่ก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร ยังสามารถกู้สถานการณ์ได้ แต่ช่องว่างระหว่างสิ่งทั้งสองนั้นมีมากเหลือเกิน จนต้องมีใครสักคนหนึ่งทำอะไรกับมัน และใครคนนั้นในตอนนั้นก็คือจอห์น สกัลลีย์"
- จอห์น สกัลลีย์: "คณะกรรมการจะต้องตัดสินใจเลือก และผมพูดว่า เอาละ บริษัทของสตีฟ ผมมาที่นี่เพื่อช่วย ถ้าคุณต้องการให้เขาบริหารงาน ผมก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่อย่างน้อยที่สุดเราต้องตัดสินใจว่าเราจะทำอะไร และทุกคนต้องหนุนหลังมันอยู่ ... และในที่สุดแล้วเมื่อคณะกรรมการได้พูดกับสตีฟ และกับผม เราตัดสินใจที่จะเดินหน้าแผนการของผมต่อไป และสตีฟก็จากไป"
- สตีฟ จอบส์: "ผมจะพูดอะไรได้? ผมจ้างคนผิด เขาทำลายทุกสิ่งที่ผมสร้างไว้ด้วยการทำงานยาวนานถึง 10 ปี ทุกอย่างเริ่มที่ตัวผมเอง แต่นั่นไม่ใช่ส่วนที่น่าเศร้าที่สุด ผมคงจะยินดีออกจากแอปเปิลหากว่าแอปเปิลยอมทำอย่างที่ผมต้องการ"
- แลรี เทสเลอร์: "คนในบริษัทรู้สึกกันไปต่าง ๆ นานากับเรื่องนี้ ทุกคนต่างเคยถูกสตีฟ จอบส์เล่นงานมาไม่ว่าช่วงใดช่วงหนึ่ง ดังนั้นพวกเขาก็โล่งใจที่ผู้ก่อการร้ายจะไปเสียที แต่อีกแง่มุมหนึ่ง ผมคิดว่าคนเดียวกันมีความเคารพในตัวจอบส์อย่างมาก และเราทุกคนต่างเป็นกังวลอย่างมากว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทนี้ต่อไปเมื่อปราศจากวิสัยทัศน์ ปราศจากผู้ก่อตั้ง ปราศจากผู้มีบุคลิกโดดเด่น"
- แอนดี เฮิร์ทซเฟลด์: "เขาถือว่าเป็นการจู่โจมส่วนบุคคล โดยเริ่มจากการโจมตีสกัลลีย์ ซึ่งทำให้เขาจนมุม เพราะเขาแน่ใจว่าคณะกรรมการจะสนับสนุนเขา ไม่ใช่สกัลลีย์...แอปเปิลไม่เคยฟื้นตัวจากการสูญเสียสตีฟ สตีฟเป็นหัวใจ จิตวิญญาณ และแรงขับเคลื่อน ที่นั่นคงเป็นที่ ๆ ต่าง ๆ ไปจากนั้นในเวลานี้ พวกเขาได้สูญเสียจิตวิญญาณของพวกเขาไป"
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.