หลักระวังไว้ก่อน (อังกฤษ: precautionary principle) เป็นวิธีการจัดการความเสี่ยงที่มีหลักว่า ถ้าการกระทำหรือนโยบายมีข้อน่าสงสัยว่า จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณประโยชน์หรือต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ โดยไม่มีมติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ว่า การกระทำหรือนโยบายนั้นจะไม่ทำความเสียหาย การพิสูจน์ว่าจะไม่ก่อความเสียหาย ตกเป็นหน้าที่ของบุคคลที่ต้องการทำการนั้น ๆ ผู้ออกนโยบายได้ใช้หลักนี้เป็นเหตุผลการตัดสินใจ ในสถานการณ์ที่อาจเกิดความเสียหายเพราะการตัดสินใจบางอย่าง (เช่นเพื่อจะทำการใดการหนึ่ง หรืออนุมัติให้ทำการใดการหนึ่ง) ในกรณีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่ชัดเจน หลักนี้แสดงนัยว่า ผู้ออกนโยบายมีหน้าที่ทางสังคมที่จะป้องกันสาธารณชนจากการได้รับสิ่งที่มีอันตราย เมื่อการสืบสวนทางวิทยาศาสตร์ได้พบความเสี่ยงที่เป็นไปได้ และการป้องกันเช่นนี้จะสามารถเพลาลงได้ ก็ต่อเมื่อมีงานศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงหลักฐานที่ชัดเจนว่าจะไม่มีอันตรายเกิดขึ้น กฎหมายของเขตบางเขต เช่นในสหภาพยุโรป ได้บังคับใช้หลักนี้ในบางเรื่อง

ส่วนในระดับสากล มีการยอมรับใช้หลักนี้เป็นครั้งแรกในปี 2525 เมื่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติตกลงใช้กฎบัตรเพื่อธรรมชาติแห่งโลก (World Charter for Nature) แล้วต่อมาจึงมีผลเป็นกฎหมายจริง ๆ ในปี 2530 ผ่านพิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol) ต่อจากนั้นจึงมีการใช้หลักนี้ตามสนธิสัญญาที่มีผลทางกฎหมายต่าง ๆ เช่น ปฏิญญารีโอ (Rio Declaration) และพิธีสารเกียวโต

กำเนิดและทฤษฎี

คำภาษาอังกฤษว่า "precautionary principle" พิจารณาว่ามาจากภาษาเยอรมันว่า Vorsorgeprinzip ที่เกิดขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1980[1]:31 แต่ว่า แนวคิดนี้เกิดมานานก่อนการใช้คำนี้แล้ว ดังที่แสดงในคำไทยว่า "ปลอดภัยไว้ก่อน"

ในเศรษฐศาสตร์ มีการวิเคราะห์หลักนี้โดยเป็นผลของการตัดสินใจตามเหตุผล เมื่อมีองค์ประกอบเกี่ยวกับการผันกลับไม่ได้ (irreversibility) และความไม่แน่นอน (uncertainty) มีนักเศรษฐศาสตร์บางพวกที่แสดงว่า การผันกลับไม่ได้ของผลที่จะมีในอนาคต ควรจะชักจูงสังคมมนุษย์ที่ไม่ชอบเสี่ยง ให้ชอบใจการตัดสินใจในปัจจุบันที่ให้ความยืดหยุ่นในอนาคตได้มากที่สุด[2][3] ส่วนบางพวกก็สรุปว่า "ความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการกระจายตัวของความเสี่ยงในอนาคต คือการมีความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่ต่าง ๆ กันมาก ควรจะชักจูงสังคมมนุษย์ให้ทำการป้องกันที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นในปัจจุบัน"[4]

หลักและนิยาม

นิยามของหลักนี้มีหลายอย่าง และอาจจะเรียกชื่อเป็นอย่างอื่นเช่น ความระมัดระวังในบริบทของความไม่แน่นอน หรือความรอบคอบอย่างรอบรู้ แต่ก็ล้วนแต่มีแนวคิด 2 อย่าง คือ[5]:34

  1. ความจำเป็นของผู้ออกนโยบายที่จะต้องระวังอันตรายก่อนที่มันจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่กลับหน้าที่ของฝ่ายที่ต้องให้ข้อพิสูจน์ คือ กลายเป็นหน้าที่ของบุคคลที่สนับสนุนให้ทำการที่จะต้องพิสูจน์ว่า กิจกรรมที่เสนอจะไม่มีผล (หรือมีโอกาสน้อยมากที่จะ) เป็นอันตรายอย่างสำคัญ
  2. แนวคิดเรื่องความสมดุลระหว่างค่าใช้จ่ายและความเสี่ยง กับผลประโยชน์และความเป็นไปได้ของการกระทำที่เสนอ

นิยามที่ยอมรับกันทั่วโลกเป็นผลของงานประชุมรีโอ (Rio Conference) หรือว่างานประชุมสุดยอดโลก (Earth Summit) ในปี 2535 คือหลักที่ 15 ของปฏิญญารีโอ (Rio Declaration) กำหนดว่า "เพื่อที่จะป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อม ประเทศสมาชิกจะประยุกต์ใช้วิธีการแบบระวังไว้ก่อนอย่างกว้างขวางที่สุดตามความสามารถของตน เมื่อมีภัยที่หนักหรือว่าเสียหายแบบแก้ไม่ได้ การไม่มีความแน่นอนสมบูรณ์ทางวิทยาศาสตร์ จะไม่อาจใช้เป็นเหตุผลเพื่อผัดผ่อนปฏิบัติการที่คุ้มค่ากับต้นทุนเพื่อป้องกันความเสื่อมของสิ่งแวดล้อม"[6]

ส่วนงานประชุมนักวิชาการในปี 2541 (Wingspread Conference on the Precautionary Principle) สรุปหลักนี้ไว้ว่า "เมื่อกิจกรรมจะเพิ่มภัยหรืออันตรายต่อสุขภาพมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อม การป้องกันแบบระวังไว้ก่อนควรจะทำแม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลอาจจะยังไม่ชัดเจนทางวิทยาศาสตร์"[7]

ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2543 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้กล่าวถึงหลักการป้องกันไว้ก่อนว่า "หลักป้องกันไว้ก่อนไม่ได้นิยามไว้ในสนธิสัญญา ซึ่งกล่าวถึงมันเพียงแค่ครั้งเดียวโดยเป็นการเพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อม แต่ว่าปฏิบัติการจริงกว้างขวางยิ่งกว่านั้น โดยเฉพาะในกรณีเมื่อการประเมินทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นกลาง ๆ ในขั้นเบื้องต้นชี้ว่า มีเหตุผลที่จะเป็นห่วงว่า ผลอันตรายที่เป็นไปได้ต่อสิ่งแวดล้อม มนุษย์ สัตว์ หรือพืช อาจไม่สมกับการป้องกันในระดับสูงที่เลือกทำภายในประชาคม(ยุโรป)"[8]:10

ส่วนพิธีสารคาร์ทาเกนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Cartagena Protocol on Biosafety) ในวันที่ 29 มกราคม 2543 กล่าวในเรื่องข้อโต้เถียงของอาหารดัดแปรพันธุกรรมไว้ว่า "การไม่มีความแน่นอนทางวิทยาศาสตร์เนื่องจากมีข้อมูลวิทยาศาสตร์ในประเด็นไม่เพียงพอ จะไม่เป็นข้อห้ามต่อประเทศสมาชิก เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงและจำกัดโอกาสของผลที่ไม่พึงประสงค์ ให้ตัดสินใจตามสมควร ในเรื่องการนำเข้าสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมที่เป็นประเด็น"[9]:6

การประยุกต์ใช้

การประยุกต์ใช้หลักนี้จำกัดโดยการขาดความแน่วแน่ทางการเมือง และการตีความมากมายหลายอย่างเกี่ยวกับหลัก งานศึกษาหนึ่งพบการตีความของหลัก 14 อย่างในบทความทั้งที่เป็นสนธิสัญญาและไม่ใช่[10] ในปี 2545 นักวิชาการผู้หนึ่งแบ่งการตีความเหล่านี้ออกเป็นหลัก ๆ 4 อย่าง คือ[11]

  1. ความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เป็นตัวห้ามการควบคุมกิจกรรมที่เสี่ยงสร้างความเสียหายสำคัญอย่างอัตโนมัติ (Non-Preclusion PP - หลักไม่ห้ามการควบคุม)
  2. การควบคุมดูแลของรัฐควรจะมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย กิจกรรมต่าง ๆ ควรจะจำกัดให้อยู่ในระดับต่ำกว่าขีดที่สังเกตเห็นผลที่ไม่พึงประสงค์ หรือที่พยากรณ์ว่าจะมี (Margin of Safety PP - หลักส่วนเผื่อความปลอดภัย)
  3. กิจกรรมที่มีโอกาสอันตรายที่สำคัญแม้ไม่แน่นอน ควรจะอยู่ภายใต้กฎบังคับเทคโนโลยีที่เข้มงวดที่สุดที่มีอยู่ เพื่อจำกัดโอกาสอันตรายยกเว้นถ้าผู้เสนอการกระทำจะแสดงว่า ไม่มีความเสี่ยงเป็นอันตรายในระดับที่วัดได้ (BAT PP - หลักกฎบังคับที่เข้มงวด)
  4. กิจกรรมที่มีความเสี่ยงอันตรายที่สำคัญแม้ไม่แน่นอน ควรจะห้ามยกเว้นถ้าผู้เสนอการกระทำจะแสดงว่า ไม่มีความเสี่ยงเป็นอันตรายในระดับที่วัดได้ (Prohibitory PP - หลักห้าม)

ในการตัดสินใจว่าจะใช้หลักนี้อย่างไร อาจสามารถใช้การวิเคราะห์โดยค่าใช้จ่าย-ประโยชน์ (cost-benefit analysis) ที่รวมองค์ประกอบต่าง ๆ รวมทั้งค่าเสียโอกาส (opportunity cost) ที่จะไม่ทำอะไร และค่าใช้จ่ายเพื่อให้มีโอกาสทำในอนาคต (option value) ถ้ารอข้อมูลเพิ่มก่อนที่จะทำการใด ๆ ความยากลำบากในการประยุต์ใช้หลักนี้ในการออกนโยบายของรัฐก็คือ บ่อยครั้งเป็นเรื่องขัดแย้งที่ลงกันไม่ได้ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ทำให้การอภิปรายต้องอาศัยกระบวนการทางการเมือง ซึ่งอาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด

แบบแข็งและแบบอ่อน

หลักแบบแข็งถือว่า การควบคุมเป็นเรื่องจำเป็นเมื่อมีโอกาสเสี่ยงต่อสุขภาพ ความปลอดภัย หรือสิ่งแวดล้อม แม้ว่า หลักฐานที่สนับสนุนว่าเสี่ยงอาจจะยังไม่ชัดเจน และค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจเพื่อควบคุมป้องกันสูง[12]:1295–96 ในปี 2525 กฎบัตรเพื่อธรรมชาติแห่งโลก (World Charter for Nature) ของสหประชาชาติให้การยอมรับหลักแบบแข็งในระดับสากลโดยกล่าวว่า "เมื่อโอกาสได้ผลที่ไม่พึงประสงค์ยังไม่ชัดเจน การกระทำเช่นนั้น ๆ ไม่ควรให้ดำเนินการต่อไป" ส่วนงานประชุมนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมในปี 2541 (Wingspread Declaration) ที่สื่อเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ก็ใช้หลักแบบแข็งเช่นเดียวกัน[13] หลักแบบแข็งอาจจะคิดได้ว่าเป็นหลัก "ไม่เสียใจภายหลัง" โดยที่ไม่สนใจเรื่องค่าใช้จ่ายในการป้องกัน

ส่วนหลักแบบอ่อนถือว่า การไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ห้ามการควบคุมป้องกันถ้าความเสียหายหนักและแก้ไขไม่ได้[14]:1039 และมนุษย์ก็มีปฏิบัติการแบบอ่อนทุก ๆ วัน ที่บ่อยครั้งมีค่าใช้จ่าย เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงอันตรายที่ไม่แน่นอน เช่น เราไม่ไปในที่เปลี่ยว ๆ เป็นอันตรายในเวลากลางคืน เราออกกำลังกาย เราใช้เครื่องตรวจควันไฟ และเราคาดเข็มขัดนิรภัย[13]

ตามกระทรวงการคลังของประเทศนิวซีแลนด์

แบบอ่อนของ[หลัก] มีข้อบังคับน้อยที่สุดและอนุญาตให้ทำการป้องกันเมื่อมีความไม่แน่นอน แต่ไม่ได้บังคับให้ทำ (เช่น ปฏิญญารีโอ 1992 และกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 1992) เพื่อที่จะแสดงว่าถึงขีดอันตราย ก็จะต้องมีหลักฐานเกี่ยวกับโอกาสเกิดและระดับความเสียหายที่จะเกิด บางรูปแบบแต่ไม่ใช่ทุกอัน ให้พิจารณาค่าใช้จ่ายของการป้องกันล่วงหน้า แบบอ่อนไม่ได้ห้ามการชั่งดุลระหว่างประโยชน์และค่าใช้จ่าย องค์ประกอบอื่น ๆ นอกจากความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์รวมทั้งสถานะทางเศรษฐกิจ อาจจะเป็นเหตุอันสมควรที่จะผัดผ่อนการกระทำ (การป้องกัน) ออกไป ในแบบอ่อน การต้องมีเหตุผลเพื่อที่จะทำ ตกเป็นหน้าที่ของผู้ที่เสนอให้ทำการป้องกัน และไม่มีการกำหนดความรับผิดชอบให้แก่กลุ่มต่าง ๆ เมื่อสิ่งแวดล้อมเสียหาย ... ส่วนแบบแข็งให้เหตุผลหรือบังคับให้ทำการป้องกัน และบางรูปแบบก็กำหนดความรับผิดชอบเมื่อสิ่งแวดล้อมเสียหายด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นรูปแบบแข็งของ "คนก่อพิษเป็นผู้รับผิดชอบ" ยกตัวอย่างเช่น กฎบัตรโลก (Earth Charter) กำหนดว่า "เมื่อความรู้จำกัดก็ให้ใช้วิธีแบบระวังไว้ก่อน ให้การพิสูจน์ตกเป็นหน้าที่ของผู้ที่อ้างว่า การกระทำที่เสนอจะไม่สร้างปัญหาเป็นสำคัญ และให้ความผิดตกเป็นของผู้ที่เป็นเหตุเมื่อเกิดความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม" การกลับหน้าที่การพิสูจน์ บังคับให้ผู้ที่เสนอการกระทำพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือเทคโนโลยี ปลอดภัยก่อนที่จะให้อนุมัติ การบังคับให้มีข้อพิสูจน์ว่าจะไม่มีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะให้ดำเนินการ แสดงนัยว่า สาธารณชนไม่ยอมรับความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมโดยประการทั้งปวง ไม่ว่าจะมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือสังคมเพียงไร (Peterson, 2006) ถ้าทำแบบสุด ๆ ข้อบังคับเช่นนี้อาจจะห้ามการกระทำและสารที่มีโอกาสเสี่ยงอันตรายอย่างเป็นหมวด ๆ (Cooney, 2005) ตามเวลาที่ผ่านไป หลักป้องกันไว้ก่อนที่พบในปฏิญญารีโอได้ค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นรูปแบบแข็ง ที่จำกัดการพัฒนาเมื่อไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าสิ่งนั้นจะไม่มีผลเป็นอันตราย[15]

ข้อตกลงและปฏิญญานานาชาติ

กฎบัตรเพื่อธรรมชาติแห่งโลก (World Charter for Nature) ซึ่งยอมรับโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 2525 เป็นการยอมรับอย่างเป็นสากลครั้งแรกของกฎระวังไว้ก่อน และมีผลในสนธิสัญญานานาชาติเป็นครั้งแรกในพิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol) ในปี 2530 และพบในสนธิสัญญาและปฏิญญานานาชาติอื่น ๆ รวมทั้ง ปฏิญญารีโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Rio Declaration on Environment and Development) ในปี 2535

โดยเป็นหลักหรือโดยเป็นวิธี

นักวิชาการท่านหนึ่งสรุปความแตกต่างของการใช้เป็นหลักหรือการใช้เป็นวิธีไว้ว่า

การแนะนำหลักระวังไว้ก่อนจะไม่สมบูร์ณถ้าไม่กล่าวถึงความแตกต่างกันระหว่าง "หลัก" หรือ "วิธี" ระวังไว้ก่อน หลักที่ 15 ของปฏิญญารีโอกำหนดว่า "เพื่อที่จะป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อม ประเทศสมาชิกจะประยุกต์ใช้วิธีการแบบระวังไว้ก่อนอย่างกว้างขวางที่สุดตามความสามารถของตน เมื่อมีภัยที่หนักหรือว่าเสียหายแบบแก้ไม่ได้ การไม่มีความแน่นอนสมบูรณ์ทางวิทยาศาสตร์ จะไม่อาจใช้เป็นเหตุผลเพื่อผัดผ่อนปฏิบัติการที่คุ้มค่ากับต้นทุนเพื่อป้องกันความเสื่อมของสิ่งแวดล้อม" ดังที่การ์เซีย (1995) ได้ชี้ "การเรียงความเช่นนี้ แม้ว่าจะคล้ายกับที่พบในหลัก แตกต่างอย่างละเอียดอ่อน คือ (1) ข้อความยอมรับว่าอาจจะมีความแตกต่างทางสมรรถภาพของประเทศในการประยุกต์ใช้วิธีนี้ และ (2) มันเรียกร้องให้มีการใช้ทุนอย่างมีประสิทธิผลในการประยุกต์ใช้วิธี คือ ให้พิจารณาค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจและทางสังคม" คำว่า "วิธีการ" พิจารณาว่าเป็นการผ่อนผันการใช้เป็น "หลัก" ... ดังที่ Recuerda ได้ตั้งข้อสังเกต ความแตกต่างระหว่าง "หลักระวังไว้ก่อน" และ "วิธีระวังไว้ก่อน" ซึมกระจายไปทั่ว และในบางบริบท เป็นเรื่องก่อความขัดแย้ง ในการต่อรองปฏิญญาสากล ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ต่อต้านการใช้คำว่า "หลัก" เพราะว่า คำนี้มีความหมายพิเศษในภาษากฎหมาย เพราะคำว่า "หลักกฎหมาย" หมายถึงตัวกฎหมาย ซึ่งหมายความว่า นี่เป็นเรื่องบังคับ ดังนั้น ศาลอาจจะยกเลิกหรือคงยืนการตัดสินใจโดยประยุกต์ใช้หลักระวังไว้ก่อน ในบริบทเช่นนี้ หลักระวังไว้ก่อนไม่ใช่เป็นแค่ไอเดียหรือสิ่งที่ต้องการเพียงเท่านั้น แต่เป็นตัวกฎหมายเอง และนี่ก็เป็นสถานะทางกฎหมายของหลักระวังไว้ก่อนในสหภาพยุโรปด้วย โดยเปรียบเทียบกันแล้ว "วิธีการ" ไม่มีความหมายเช่นเดียวกัน แม้ว่าในบางกรณี กฎหมายก็อาจจะบังคับให้ใช้วิธีการ

ดังนั้น วิธีระวังไว้ก่อนจึงเป็น "เลนส์" ส่องหาความเสี่ยงอันหนึ่ง ที่คนที่ระมัดระวังทุกคนมี[16]

คณะกรรมาธิการยุโรป

ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2543 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้เผยแพร่สารเกี่ยวกับหลักระวังไว้ก่อน[8] ที่คณะกรรมาธิการได้ยอมรับวิธีการประยุกต์ใช้แนวคิดเช่นนี้ แต่ไม่ได้ให้นิยามอย่างละเอียดเกี่ยวกับมัน คือ วรรคที่ 2 ของมาตรา 191 ของสนธิสัญญาลิสบอน (Lisbon Treaty) กำหนดว่า

นโยบายของสหภาพในเรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งเป้าเพื่อให้มีการป้องกันในระดับสูงโดยพิจารณาถึงความต่าง ๆ กันในสถานการณ์ในเขตต่าง ๆ ของสหภาพ นโยบายมีมูลฐานอยู่ที่หลักระวังไว้ก่อนและหลักที่ว่า การป้องกันควรจะทำ ว่าความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจะต้องแก้ที่แหล่งกำเนิดก่อน และบุคคลที่สร้างความเสียหายต้องรับผิดชอบ[17]

หลังจากที่คณะกรรมธิการยุโรปได้ยอมรับ นโยบายต่าง ๆ ก็เริ่มใช้หลักระวังไว้ก่อน รวมทั้งในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ในปี 2006 หลักได้รวมอยู่ในกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์โดยทั่ว ๆ ไป การใช้สารแต่งเติมในอาหารสัตว์ การเผาขยะ และการควบคุมสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม[18]:282–83 และเพราะเป็นการใช้ในระบบกฎหมายที่ถือเอาคำพิพากษาก่อนเป็นบรรทัดฐาน มันจึงกลายเป็น "หลักทั่วไปของกฎหมายสหภาพยุโรป"[18]:283

สหรัฐอเมริกา

ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 ซานฟรานซิสโกได้ผ่านข้อบัญญัติการจัดซื้อโดยหลักระวังไว้ก่อน[19] ซึ่งบังคับให้เทศบาลเมืองต้องชั่งดุลความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเมื่อจัดซื้อของทุกอย่าง เริ่มตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดไปจนถึงคอมพิวเตอร์

ญี่ปุ่น

ในปี 2540 ประเทศญี่ปุ่นพยายามใช้หลักระวังไว้ก่อนในการสู้คดีเกี่ยวกับสนธิสัญญา Agreement on the Application of Sanitary and Phytosanitary Measures คือมีการฟ้องคดีเรื่องการควบคุมของญี่ปุ่นที่บังคับให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์การเกษตรนำเข้าหลายอย่าง (รวมทั้งแอปเปิล เชอร์รี ลูกท้อ วอลนัต เอพริคอต สาลี่ พลัม และลูกควินซ์) เพื่อป้องกันไม่ให้มีผีเสื้อกลางคืนพันธุ์ "Cydia pomonella" (codling moth) เพราะว่า ผีเสื้อกลางคืนพันธ์นี้เป็นศัตรูพืชที่ไม่มีใประเทศ และการนำผีเสื้อเข้าประเทศอาจจะทำให้เกิดความเสียหายหนัก ส่วนสหรัฐอเมริกาอ้างว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องตรวจสอบผลไม้ทุกอย่างว่าได้รับการบำบัดที่มีประสิทธิผลแล้วหรือไม่ และข้อบังคับเช่นนี้เป็นภาระมากเกินไป

ออสเตรเลีย

คดีที่สำคัญที่สุดในศาลออเสตรเลียที่ผ่านมาเพราะมีการพิจารณาหลักระวังไว้ก่อนอย่างละเอียดลออที่สุด ผ่านการไต่สวนในศาลเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2549 ซึ่งศาลสรุปหลักโดยอ้างกฎหมายที่ออกในปี 2534 ที่มีนิยามของหลักระวังไว้ก่อนว่า

ถ้ามีความเสี่ยงความเสียหายหนักและแก้ไขไม่ได้ต่อสิ่งแวดล้อม การขาดความแน่นอนทางวิทยาศาสตร์แบบสมบูรณ์ไม่ควรใช้เป็นเหตุผลที่จะผัดผ่อนการกระทำเพื่อป้องกันความเสื่อมทางสิ่งแวดล้อม และในการประยุกต์ใช้หลักนี้... การตัดสินใจควรจะทำตามแนวทางนี้คือ (i) การประเมินที่ระมัดระวังเพื่อจะหลีกเลี่ยงเท่าที่ทำได้ ความเสียหายที่หนักหรือแก้ไขไม่ได้ต่อสิ่งแวดล้อม และ (ii) การประเมินผลของทางเลือกต่าง ๆ โดยดุลกับความเสี่ยง

ประเด็นที่สำคัญที่สุดของการตัดสินของศาลก็คือ

  1. หลักและความจำเป็นที่จะทำการเพื่อป้องกัน จะลั่นไกเมื่อเกิดสถานการณ์สองอย่างก่อนคือ ภัยของความเสียหายหนักหรือแก้ไขไม่ได้ และความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์ว่าจะเสียหายแค่ไหน
  2. และเมื่อลั่นไกแล้ว "การทำการป้องกันไว้ก่อนที่ควรแก่เหตุ สามารถทำได้เพื่อหลีกเลี่ยงภัยความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่คาดหวัง แต่ต้องทำให้สมกับเหตุ"
  3. ภัยของความเสียหายที่หนักหรือแก้ไขไม่ได้ต้องพิจารณาองค์ 5 คือ ขอบเขตของภัย (เช่นเฉพาะพื้นที่ ทั้งภูมิภาค เป็นต้น) คุณค่าของสิ่งแวดล้อมที่มีภัยตามที่รู้ได้ ผลกระทบที่ว่าสามารถบริหารจัดการได้หรือไม่ ระดับความเป็นห่วงของสาธารณชน และมีมูลทางทางวิทยาศาสตร์หรือเหตุผลหรือไม่สำหรับความเป็นห่วงในเรื่องนั้น
  4. การพิจารณาระดับความแน่นอนทางวิทยาศาสตร์ควรจะมีองค์การตัดสินรวมทั้ง อะไรเป็นหลักฐานที่เพียงพอ ระดับและประเภทของความแน่นอน และความเป็นไปได้ที่จะลดความไม่แน่นอน
  5. หลักนี้จะกลับหน้าที่ในการพิสูจน์ คือถ้าหลักผ่านเกณฑ์ให้ประยุกต์ใช้ หน้าที่การพิสูจน์จะเปลี่ยน คือ "ผู้ตัดสินใจต้องสมมุติว่า ภัยของความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่หนักหรือแก้ไขไม่ได้เป็น...ความจริง [และ]หน้าที่แสดงว่าภัยเช่นนี้...มีแค่เล็กน้อยกลับตกเป็นของผู้ที่เสนอ"
  6. หลักนี้ เรียกร้องให้ทำการป้องกัน คือ "หลักอนุญาตให้ทำการป้องกันโดยไม่ต้องรอให้รู้จักภัยหรือความสาหัสของภัยอย่างเต็มที่"
  7. หลักระวังไว้ก่อนไม่ควรใช้เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทุกอย่าง
  8. การป้องกันแบบระวังไว้ก่อนที่สมควรขึ้นอยู่กับผลรวมของ "ระดับความเสียหายกับระดับการแก้ไม่ได้ของภัย และระดับความไม่แน่นอน... ภัยยิ่งหนักเท่าไรหรือไม่แน่นอนเท่าไร... การป้องกันก็จะต้องมีเพิ่มขึ้นเท่านั้น... การป้องกันควรทำ... ให้สมควรกับภัยที่มีโอกาสเสี่ยง"

ฟิลิปปินส์

ในปี 2556 กลุ่มกรีนพีซเอเชียอาคเนย์และกลุ่มเกษตรกร-นักวิทยาศาสตร์ Masipag ได้ร้องขอให้ศาลอุทธรณ์หยุดการปลูกมะเขือยาวดัดแปรพันธุกรรมแบบ Bt ในแปลงทดสอบ โดยอ้างว่า ผลของพืชทดสอบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อพืชธรรมดา และต่อสุขภาพมนุษย์ยังไม่ชัดเจน ศาลอุทธรณ์ตกลงให้ตามคำเรียกร้อง โดยอ้างหลักระวังไว้ก่อนคือ "เมื่อกิจกรรมของมนุษย์อาจเป็นภัยเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่หนักหรือแก้ไขไม่ได้ ที่เป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์แม้จะไม่แน่นอน ควรจะปฏิบัติการเพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดทอนภัยนั้น"[20]

ส่วนฝ่ายตรงข้ามก็ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่สองครั้งในปีเดียวกัน แต่ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้การตัดสินใจเบื้องต้นคงยืนโดยกล่าวว่า แปลงทดสอบละเมิดสิทธิบุคคลตามรัฐธรรมมนูญที่จะมี "ระบบนิวเวศน์ที่สมดุลและดี"[21][22] ต่อมาศาลสูงสุดจึงตัดสินในปี 2558 ให้หยุดการทดสอบมะเขือยาว Bt อย่างถาวร ให้ข้อตัดสินของศาลอุทธรณ์คงยืน[23] โดยเป็นศาลแรกในโลกที่ใช้หลักนี้ในการตัดสินคดีเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม

บริษัท

มีบริษัทเครื่องสำอางในสหราชอาณาจักรบริษัทหนึ่งที่เริ่มใช้หลักนี้ในการใช้สารเคมีในผลิตภัณฑ์ในปี 2549[24]

สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ประเด็นปัญหาต่าง ๆ ในโลกที่อาจจะเกี่ยวข้องกับหลักระวังไว้ก่อนรวมทั้ง

หลักระวังไว้ก่อนมักจะใช้ในด้านชีวภาพเพราะว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่สามารถจำกัดได้ง่ายและมีโอกาสที่จะมีผลต่อทั้งโลก แต่จำเป็นน้อยกว่าในบางสาขาเช่นทางอากาศยานศาสตร์ ที่คนไม่กี่คนที่เสี่ยงได้ให้ความยินยอมที่ประกอบด้วยความรอบรู้แล้ว (เช่น นักบินทดสอบ) ในเรื่องของนวัตกรรมทางเทคโนโลยี การจำกัดผลที่เกิดอาจจะยากขึ้นถ้าเทคโนโลยีนั้นสามารถสร้างก๊อปปี้ของตนเองได้ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทซันไมโครซิสเต็มส์บิล จอย เน้นอันตรายของเทคโนโลยีพันธุกรรม นาโนเทคโนโลยี และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่สร้างก๊อปปี้ของตนเองได้ในบทความของเขาว่า "ทำไมอนาคตไม่จำเป็นต้องมีเรา (Why the future doesn't need us)" การประยุกต์ใช้หลักนี้สามารถเห็นได้ในนโยบายของรัฐ ที่บังคับให้บริษัทผลิตยาทำการทดลองทางคลินิกเพื่อที่จะแสดงว่า ยาใหม่นั้นปลอดภัย นักปรัชญาประจำมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดกล่าวถึงสิ่งมีชีวิตซูเปอร์ฉลาดในอนาคต และความเสี่ยงที่เรามีถ้ามันพยายามที่จะควบคุมสสารระดับอะตอม[25]

การใช้หลักนี้เปลี่ยนสถานะของนวัตกรรมและการประเมินความเสี่ยง คือมันไม่ใช่ความเสี่ยงเองที่ต้องแก้หรือหลีกเลี่ยง แต่แม้โอกาสของความเสี่ยงก็จะต้องป้องกัน ดังนั้น ในกรณีเรื่องการควบคุมงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มันไม่ใช่เรื่องแค่ระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับผู้ควบคุม มันยังมีบุคคลที่สามร่วมด้วยก็คือผู้บริโภค

ในประเด็นการประยุกต์ใช้หลักระวังไว้ก่อนกับนาโนเทคโนโลยี นักวิชาการคู่หนึ่งเสนอว่ามีหลักอยู่สองแบบ ซึ่งพวกเขาเรียกว่า "แบบเข้ม" และ "แบบเชิงรุก" แบบเข้ม "บังคับให้ไม่ทำอะไรถ้าการกระทำเป็นความเสี่ยง" ในขณะที่แบบเชิงรุกหมายถึง "การเลือกทางเลือกที่เสี่ยงน้อยกว่าถ้ามี และการมีผู้รับผิดชอบต่อความเสี่ยงที่มี"[26] มีนักวิชาการที่เสนอให้ประยุกต์ใช้หลักระวังไว้ก่อนแบบเข้มสำหรับองค์กรที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับสารเคมีและเทคโนโลยีสุขภาพ โดยเฉพาะในเรื่องการใช้อนุภาคนาโนของ Ti02 และ ZnO ในสารกันแดด การใช้เงินนาโนในแหล่งน้ำ และการใช้ผลิตภัณฑ์ที่การผลิต การจัดการ หรือการแปรใช้ใหม่ จะทำให้มนุษย์เสี่ยงต่อการได้รับท่อนาโนคาร์บอนทางลมหายใจ[27]

การจัดการทรัพยากร

Thumb
สัญนิยมที่ใช้สีของไฟจราจร แสดงแนวคิดของกฎควบคุมการตกปลา (Harvest Control Rule) ที่กำหนดว่าเมื่อไรถึงจุดที่ต้องฟื้นสภาพประชากรของปลาใหม่โดยใช้หลักระวังไว้ก่อน แนวตั้งแสดงมวลชีวภาพ และแนวนอนแสดงอัตราการตายของปลา

ทรัพยากรธรรมชาติหลายอย่างเช่นประชากรปลา ปัจจุบันเริ่มมีการจัดการโดยใช้วิธีระวังไว้ก่อน เช่นกฎควบคุมการตกปลา (Harvest Control Rules) ภาพแสดงหลักที่ใช้ในการจัดการควบคุมการตกปลาค็อด ดังที่เสนอโดยสภาการสำรวจทะเลนานาชาติ (International Council for the Exploration of the Sea)

ในการจัดหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ การใช้หลักระวังไว้ก่อนหมายความว่าถ้าสงสัยว่าสิ่งมีชีวิตเช่นนี้มีสถานะการอนุรักษ์เช่นไร ก็ควรจะใช้ระดับการป้องกันสูงสุดสำหรับสิ่งมีชีวิตนั้น ดังนั้น สปีชีส์เช่นนกเขาพันธุ์ Columba argentina (silvery pigeon) ซึ่งอาจจะมีจริง ๆ เป็นจำนวนหนึ่ง เพียงแต่มีการบันทึกจำนวนน้อยเกินไป หรืออาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว จะไม่จัดว่า "ข้อมูลไม่พอ" หรือ "สูญพันธุ์ไปแล้ว" (ซึ่งหมวดทั้งสองไม่ต้องทำการป้องกันอะไร) แต่จัดว่า "เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์" (ซึ่งเป็นสถานะอนุรักษ์ที่ต้องทำการป้องกันระดับสูงสุด) เปรียบเทียบกับนกกิ้งโครงพันธุ์ Lamprotornis iris (emerald starling) ที่จัดว่า "ข้อมูลไม่พอ" เพราะว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องทำงานวิจัยเพื่อเคลียร์สถานะของมันแทนที่จะทำการป้องกันไม่ให้สูญพันธุ์[ต้องการอ้างอิง]

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ถ้ามีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่คนจำนวนมากใช้เป็นน้ำดื่ม แล้วเกิดปนเปื้อนด้วยเชื้อโรค (เช่น e-coli 0157 H7) และแหล่งกำเนิดการปนเปื้อนสงสัยอย่างสำคัญว่ามาจากวัวนม แต่ว่ายังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ให้ข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน ก็ควรจะเอาวัวออกจากสิ่งแวดล้อมเช่นนั้นจนกระทั่งอุตสาหกรรมนมวัวพิสูจน์ได้ว่า วัวไม่ใช่แหล่งกำเนิด หรือจนกระทั่งอุตสาหกรรมทำการให้มั่นใจได้ว่า การปนเปื้อนจะไม่มีอีกในอนาคต

ข้อวิจารณ์

ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์หลักนี้ใช้ข้ออ้างแบบเดียวกับที่ใช้ต่อต้านแนวคิดอนุรักษนิยมทางเทคโนโลยีในรูปแบบอื่น ๆ

ความไม่สอดคล้อง - การใช้หลักนี้แบบแข็งอาจมีโทษ

หลักนี้ในรูปแบบแข็ง ถ้าไม่ใส่ใจเงื่อนไขพื้นฐานว่าควรใช้หลักเมื่อความเสี่ยงมีโอกาสสูงและคำนวณได้ไม่ง่ายเท่านั้น แล้วประยุกต์ใช้ต่อตัวหลักเองเพื่อตัดสินใจว่าควรใช้หลักเป็นนโยบายหรือไม่ อาจจะห้ามไม่ให้ใช้หลักนี้เอง[14]:26ff สถานการณ์ที่อาจเป็นไปได้จริง ๆ ก็คือ การห้ามไม่ให้ใช้นวัตกรรมหมายความว่าให้ใช้แต่เทคโนโลยีที่มีอยู่ และเทคโนโลยีที่มีอยู่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่มีประโยชน์พอเพียง ดังนั้น จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะก่ออันตรายโดยห้ามไม่ให้ใช้นวัตกรรม[28][29] ดังที่นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดังคนหนึ่งเขียนไว้ในบทประพันธ์ของเขาว่า "หลักระวังไว้ก่อน ถ้าประยุกต์ใช้อย่างถูกต้อง ก็จะห้ามใช้หลักระวังไว้ก่อนเอง"[30] ยกตัวอย่างเช่น การห้ามใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพราะว่าโอกาสเสี่ยง ก็จะหมายความว่าให้ใช้โรงงานไฟฟ้าที่เผาเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ต่อไป ซึ่งก็จะปล่อยแก๊สเรือนกระจกเข้าสู่สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ[14]:27 อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือกฎหมายห้ามปล่อยสารเคมีบางอย่างสู่อากาศในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2533 เป็นการใช้หลักระวังไว้ก่อนที่ผู้ปล่อยจะต้องพิสูจน์ว่าสารเคมีที่อยู่ในรายชื่อนั้นไม่มีโทษ แต่เนื่องจากว่า ไม่มีการแยกแยะว่าสารเคมีในรายการอันไหนมีโอกาสเสี่ยงสูงหรือโอกาสเสี่ยงต่ำ ดังนั้น ผู้ปล่อยสารเคมีก็เลยเลือกปล่อยสารเคมีที่ไม่ค่อยมีข้อมูลแต่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อ[31]

การห้ามนวัตกรรมและความก้าวหน้าโดยทั่วไป

หลักนี้แบบแข็งอาจใช้ห้ามนวัตกรรมที่เป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์เพราะโอกาสมีผลลบ ทำให้ไม่ได้ประโยชน์ที่ควรจะได้[32][33]:201 ดังนั้น หลักนี้จึงสร้างประเด็นเชิงจริยธรรมว่า การใช้หลักอาจระงับความก้าวหน้าในประเทศกำลังพัฒนาได้[34]

ความคลุมเครือและความเป็นไปได้

หลักนี้เรียกร้องให้ไม่ทำการเมื่อมีความไม่ชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ แต่รูปแบบที่ใช้บางอย่างไม่กำหนดขีดตายที่โอกาสความเสี่ยงจะลั่นไกการใช้หลักนี้ ดังนั้น เครื่องชี้ทุกอย่างว่าผลิตภัณฑ์หนึ่งอาจมีผลลบต่อสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม ก็เป็นเรื่องเพียงพอที่จะใช้หลักนี้[35][36] ในปี 2551 ในสหรัฐอเมริกา ศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้องคดีเกี่ยวกับเรื่องกังวลยอดนิยม ว่าเครื่องชนอนุภาคแฮดรอนขนาดใหญ่จะทำลายโลกด้วยหลุมดำ โดยกล่าวว่า[37]

ความเสียหายจะต้องมี "ภัยหรืออันตรายที่น่าเชื่อถือ" [Cent. Delta Water Agency v. United States, 306 F.3d 938, 950 (9th Cir. 2002)] อย่างมากที่สุด แว็กเนอร์ (ผู้ฟ้อง) ก็เพียงอ้างว่า การทดลองทำที่เครื่องชนอนุภาคแฮดรอนขนาดใหญ่ (หรือว่า "เครื่องชน") มี "ผลที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจเป็นไปได้" (แต่ว่า) ความกลัวแบบลม ๆ แล้ง ๆ เกี่ยวกับภัยในอนาคตไม่ใช่เป็นความเสียหายจริง ๆ เพียงพอที่จะได้จุดยืนจากศาล (Mayfield, 599 F.3d at 970)[38]

ดูเพิ่ม

เชิงอรรถและอ้างอิง

สิ่งตีพิมพ์อื่น ๆ

แหล่งข้อมูลอื่น

Wikiwand in your browser!

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.

Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.