การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม[1] (อังกฤษ: Cognitive behavioral therapy ตัวย่อ CBT) เป็นรูปแบบหนึ่งของจิตบำบัด (psychotherapy)[2] ซึ่งดั้งเดิมออกแบบเพื่อรักษาโรคซึมเศร้า แต่ปัจจุบันใช้รักษาความผิดปกติทางจิตอย่างอื่น ๆ ด้วย[3][4] ซึ่งมีประสิทธิผลโดยแก้ปัญหาปัจจุบันและเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมที่ไร้ประโยชน์[2]
ชื่อของวิธีบำบัดอ้างอิงถึงการบำบัดชนิดต่าง ๆ รวมทั้งการบำบัดพฤติกรรม (behavior therapy) การบำบัดความคิด (cognitive therapy) และการบำบัดที่รวมหลักต่าง ๆ ในการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมและจิตวิทยาประชาน[2] ผู้บำบัดคนไข้ที่มีปัญหาเรื่องโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า จะใช้วิธีที่รวมการบัดบัดทั้งทางพฤติกรรมและทางความคิด เป็นเทคนิคที่ยอมรับความจริงว่า อาจมีพฤติกรรมที่ไม่สามารถควบคุมได้โดยความคิดที่สมเหตุผล เพราะเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการปรับสภาวะ (conditioning) ในอดีตต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งเร้าทั้งภายในภายนอก เป็นเทคนิคที่เพ่งความสนใจไปที่ปัญหาโดยเฉพาะ ๆ และช่วยคนไข้ให้เลือกกลยุทธ์ในการรับมือปัญหาเหล่านั้น[5] ซึ่งต่างจากวิธีการรักษาแบบจิตวิเคราะห์ ที่ผู้รักษาจะสืบหาความหมายใต้สำนึกของพฤติกรรมของคนไข้เพื่อจะวินิจฉัยปัญหา คือ ในการบำบัดแบบพฤติกรรม ผู้รักษาเชื่อว่า ความผิดปกติที่มี เช่นความซึมเศร้า เกิดเนื่องมาจากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าที่กลัวกับการตอบสนองแบบหลีกเลี่ยง ซึ่งมีผลเป็นความกลัวที่มีเงื่อนไข เหมือนดังในการปรับสภาวะแบบดั้งเดิม (Classical Conditioning) และในการบำบัดความคิด ผู้รักษาเชื่อว่า ตัวความคิดเอง จะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคล ดังนั้น การบำบัดสองอย่างหลังนี้จึงรวมกันเป็น CBT[6]
CBT มีประสิทธิผลต่อความผิดปกติหลายอย่างรวมทั้งความผิดปกติทางอารมณ์ (mood disorder) โรควิตกกังวล ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ ความผิดปกติของการรับประทาน (Eating disorder) การติดสิ่งต่าง ๆ (addiction) การใช้สารเสพติด (substance dependence) ความผิดปกติที่มีอาการกล้ามเนื้อกระตุก (Tic disorder) และ psychotic disorder (รวมทั้งโรคจิตเภทและโรคหลงผิด) โปรแกรมการบำบัดแบบ CBT ได้รับประเมินสัมพันธ์กับการวินิจฉัยอาการ และปรากฏว่า มีผลดีกว่าวิธีการอื่น ๆ เช่น การบำบัดแบบ psychodynamic[7] แต่ว่าก็มีนักวิจัยที่ตั้งความสงสัยในความสมเหตุสมผลของข้ออ้างว่ามีผลดีกว่าวิธีการอื่น ๆ[8][9]
การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ยุคที่เน้นการปรับพฤติกรรมเป็นหลัก ผู้ที่ถือเป็นบิดาแห่งการบำบัดในรูปแบบที่เข้าใจและนิยมใช้ที่สุดในปัจจุบันคือ ศ. ดร. อารอน ที. เบ็ก คุณูปการที่สำคัญของเขาคือการนำการปรับความคิดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัด ซึ่งแตกต่างจากการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Behavior therapy) ซึ่งจะกล่าวถึงพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว โดยละเลยความคิดที่อยู่เป็นพื้นฐาน ลักษณะสำคัญของ CBT ก็คือใช้เวลาสั้นและเน้นปัญหาในปัจจุบัน ไม่ได้ค้นกลับไปยังปมที่มีมาตั้งแต่อดีต[1]
ลักษณะ
CBT ที่ทำโดยหลัก มีสมมติฐานว่า การปรับความคิดที่เป็นการปรับตัวผิด (maladaptive) จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ (affect) และพฤติกรรม[10] แต่ก็มีการบำบัดแบบใหม่ ๆ ที่เน้นการเปลี่ยนท่าทีต่อความคิดที่ปรับตัวได้ไม่ดี มากกว่าจะเปลี่ยนตัวความคิดเอง[11] จุดมุ่งหมายของ CBT ไม่ใช่เพื่อวินิจฉัยว่าคนไข้เป็นโรคอะไร แต่เพื่อที่จะดูคนไข้โดยองค์รวมและตัดสินว่าควรจะแก้อะไร ขั้นตอนพื้นฐานในการประเมินที่นักจิตวิทยาคู่หนึ่ง (Kanfer และ Saslow)[12] รวมทั้งได้พัฒนาคือ
- ระบุพฤติกรรมที่สำคัญ
- กำหนดว่าพฤติกรรมที่ว่าเกินไปหรือน้อยไป
- ประเมินพฤติกรรมที่ว่า ว่าเกิดบ่อยแค่ไหน นานเท่าไร และรุนแรงแค่ไหน (คือ หาอัตราพื้นฐานหรือ baseline)
- ถ้าพฤติกรรมเกินไป พยายามลดความถี่ ช่วงเวลาที่เกิด และความรุนแรงของพฤติกรรม และถ้าน้อยเกินไป พยายามเพิ่มด้านต่าง ๆ เหล่านั้น
หลังจากระบุพฤติกรรมที่จำเป็นต้องเปลี่ยน ไม่ว่าจะเกินไปหรือน้อยไป ก็จะสามารถเริ่มการบำบัดได้ นักจิตวิทยาต้องกำหนดว่า การบำบัดรักษาได้ผลหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น "ถ้าเป้าหมายก็คือการลดพฤติกรรม พฤติกรรมก็ควรจะลดเทียบกับอัตราพื้นฐาน แต่ถ้าพฤติกรรมสำคัญยังอยู่ที่หรือเหนืออัตราพื้นฐาน การบำบัดเรียกว่าล้มเหลว"[12] ผู้บำบัด หรือว่าอาจจะเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ใช้เทคนิคของ CBT เพื่อช่วยบุคคลให้ต่อต้านรูปแบบพฤติกรรมความคิดและความเชื่อ แล้วทดแทน "ความผิดพลาดทางความคิดเช่น คิดถือเอารวม ๆ กันมากเกินไป ขยายส่วนลบ ลดส่วนบวก และทำให้เป็นเรื่องหายนะ" ด้วย "ความคิดที่สมจริงและมีประสิทธิผลมากกว่า และดังนั้น จะลดอารมณ์ความทุกข์ และพฤติกรรมทำลายตัวเอง"[10] ความผิดพลาดทางความคิดเช่นนี้เรียกว่า ความบิดเบือนทางประชาน (cognitive distortions) ซึ่งอาจจะเป็นการเลือกเชื่อ หรืออาจจะเป็นการคิดถือเอารวม ๆ กันมากเกินไป[13] เทคนิคของ CBT อาจใช้ช่วยบุคคลให้เปิดใจ มีสติ ประกอบด้วยความสำนึก ต่อความคิดบิดเบือนเช่นนั้นเพื่อที่จะลดอิทธิพลของมัน[11] คือ CBT จะช่วยบุคคลทดแทน "ทักษะ ความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม ที่ปรับตัวไม่ดีหรือผิด ด้วยทักษะ ความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมที่ปรับตัวได้ดี"[14] โดยต่อต้านวิธีการคิดและวิธีการตอบสนองที่เป็นนิสัยหรือพฤติกรรมของตน[15]
ยังมีความเห็นที่ไม่ลงรอยกันถึงระดับที่การเปลี่ยนความคิดมีผลใน CBT นอกเหนือไปจากการเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น exposure therapy (การบำบัดความวิตกกังวลโดยแสดงสิ่งที่คนไข้กลัว) และการฝึกทักษะ[16] รูปแบบปัจจุบันของ CBT รวมเทคนิคที่ต่าง ๆ แต่สัมพันธ์กันเช่น exposure therapy, stress inoculation training, cognitive processing therapy, cognitive therapy, relaxation training, dialectical behavior therapy, และ acceptance and commitment therapy[17] ผู้บำบัดบางพวกโปรโหมตการบำบัดทางประชานที่ประกอบด้วยสติ คือ เน้นการสำนึกตนมากขึ้นโดยเป็นส่วนของกระบวนการรักษา[18] CBT มีขั้นตอน 6 ขั้น คือ[14][19]
- การประเมิน (psychological assessment)
- การเปลี่ยนความคิดที่ใช้อธิบายเหตุการณ์ (Reconceptualization)
- การฝึกทักษะ (Skills acquisition)
- การสร้างเสถียรภาพของทักษะ (Skills consolidation) และการฝึกประยุกต์ใช้ทักษะ (application training)
- การประยุกต์ใช้โดยทั่วไป (generalization) และการธำรงรักษา (maintenance)
- การประเมินหลังการบำบัดและการติดตาม
การเปลี่ยนความคิดเป็นส่วนของการบำบัดทางประชาน (หรือความคิด) ของ CBT[14] มีเกณฑ์วิธีหลายอย่างในการดำเนินการบำบัด แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันที่สำคัญ ๆ[20] แต่ว่า การใช้ศัพท์ว่า CBT อาจจะหมายถึงการบำบัดรักษาต่าง ๆ รวมทั้ง การฝึกตนเอง (self-instructions) เช่น โดยสนใจเรื่องอื่น จินตนาภาพ การให้กำลังใจตนเอง, การฝึกการผ่อนคลาย และ/หรือโดย biofeedback (การวัดสรีรภาพโดยมีจุดประสงค์ที่จะควบคุมมัน), การพัฒนาวิธีการรับมือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ปรับตัวได้ดี เช่น ลดความคิดเชิงลบหรือที่ทำลายตนเอง, การเปลี่ยนความเชื่อที่ปรับตัวไม่ดีเกี่ยวกับความเจ็บปวด, และการตั้งเป้าหมาย[14] การบำบัดบางครั้งทำโดยใช้คู่มือ โดยเป็นการบำบัดที่สั้น ทำโดยตรง และจำกัดเวลา สำหรับความผิดปกติทางจิตเฉพาะอย่าง ๆ โดยใช้เทคนิคที่เฉพาะ ๆ CBT สามารถทำทั้งกับบุคคลหรือกับกลุ่ม และมักจะประยุกต์ให้ฝึกได้ด้วยตัวเอง ผู้รักษาและนักวิจัยบางพวกอาจจะถนัดเปลี่ยนความคิด (เช่น cognitive restructuring) ในขณะที่พวกอื่น ๆ อาจจะถนัดเปลี่ยนพฤติกรรม (เช่น exposure therapy) มีการรักษาเช่น imaginal exposure therapy ที่ต้องอาศัยรูปแบบการรักษาทั้งสอง[21][22]
การใช้ในการแพทย์
สรุป
มุมมอง
ในผู้ใหญ่ มีหลักฐานว่า CBT มีประสิทธิผลและสามารถมีบทบาทในแผนการรักษาโรควิตกกังวล[23][24], โรคซึมเศร้า[25][26], ความผิดปกติของการรับประทาน (eating disorder)[27], การเจ็บหลังส่วนล่างแบบเรื้อรัง[14], ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ[28], โรคจิต (psychosis)[29], โรคจิตเภท[30], ความผิดปกติจากการใช้สารเสพติด (substance use disorder)[31], เพื่อช่วยในการปรับตัว แก้ความซึมเศร้า และแก้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคไฟโบรไมอัลเจีย[10], และเพื่อช่วยการปรับตัวเป็นต้นเกี่ยวกับความบาดเจ็บที่ไขสันหลัง[32] มีหลักฐานที่แสดงว่า CBT มีประสิทธิผลในการบำบัดโรคจิตเภท ดังนั้น นโยบาย/แนวทางการรักษาโดยมากในปัจจุบันจึงกำหนดเป็นวิธีการรักษา[30]
ในเด็กและวัยรุ่น CBT สามารถใช้อย่างมีประสิทธิผลโดยเป็นส่วนของแผนการรักษาโรควิตกกังวล[33], โรคคิดว่าตนเองมีรูปร่างหรืออวัยวะผิดปกติ[34], ความซึมเศร้าและความคิดจะฆ่าตัวตาย[35], ความผิดปกติของการรับประทาน และโรคอ้วน[36], โรคย้ำคิดย้ำทำ[37], และความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD)[38], รวมทั้งความผิดปกติที่มีอาการกล้ามเนื้อกระตุก (Tic disorder) โรคถอนผม (trichotillomania) และความผิดปกติทางพฤติกรรมแบบย้ำทำอย่างอื่น ๆ[39] ส่วน CBT-SP ซึ่งเป็นการปรับแปลง CBT เพื่อใช้ป้องกันการฆ่าตัวตาย (suicide prevention หรือ SP) ออกแบบโดยเฉพาะเพื่อรักษาเยาวชนที่ซึมเศร้าอย่างรุนแรง และได้พยายามฆ่าตัวตายภายใน 90 วันที่ผ่านมา เป็นการบำบัดที่มีประสิทธิผล ทำได้ และยอมรับได้[40]
งานศึกษาปี 2012 ทดสอบเกมกับวัยรุ่น 187 คนที่มีความซึมเศร้าแบบอ่อน (mild) จนถึงปานกลาง (moderate) โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้เล่นเกม และอีกกลุ่มหนึ่งให้รับการบำบัดทั่วไปจากผู้ให้คำปรึกษาที่ได้รับการฝึกที่โรงเรียนหรือคลินิกเยาวชน ในบรรดาเยาวชนที่เข้าร่วม 60 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิงโดยมีอายุเฉลี่ยที่ 16 ปี ในทั้งสองกลุ่ม ระดับความวิตกกังวลและความเศร้าซึมลดลงประมาณ 1/3 และเกมได้ช่วยเด็กอายุ 12-19 ปีให้หายจากความเศร้าซึมเป็นจำนวนมากกว่า คือ 43.7% เทียบกับ 26.4% ในการรักษาธรรมดา[41][42]
นอกจากนั้นแล้ว หลักฐานยังแสดงว่า CBT มีประสิทธิผลในการรักษาความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) ในเด็กเล็ก ๆ อายุ 3-6 ขวบ[43] และได้มีการประยุกต์ใช้ต่อความผิดปกติในวัยเด็กหลายอย่าง[44] รวมทั้งความซึมเศร้าและความวิตกกังวล
การทบทวนแบบคอเครนไม่พบหลักฐานว่า CBT มีผลต่อเสียงในหู (tinnitus) แม้ว่าจะมีผลต่อการบริหารความซึมเศร้าและต่อคุณภาพชีวิตสำหรับคนไข้[45] ส่วนการทบทวนแบบคอเครนงานอื่น ๆ ไม่พบหลักฐานว่า การฝึกให้เรียนรู้ CBT ช่วยบุคคลที่รับเลี้ยงดูเด็ก (foster care) ให้สามารถบริหารพฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็กที่อยู่ใต้การดูแล[46] ไม่ช่วยในการบำบัดชายที่ทารุณคู่ของตน[47] และหลักฐานยังมีไม่พอในการกำจัดโอกาสเสี่ยงที่การบำบัดทางจิตอาจจะมีอันตรายต่อหญิงที่มีมะเร็งเต้านมที่แพร่กระจายออกไปแล้ว[48] ตามงานปี 2004 ของสถาบันวิจัยสุขภาพและการแพทย์ฝรั่งเศส (INSERM) ที่ทบทวนการบำบัด 3 วิธี CBT อาจจะ "พิสูจน์แล้ว" หรือ "สมมุติได้" ว่าเป็นการบำบัดที่มีประสิทธิผลต่อความผิดปกติทางจิตโดยเฉพาะ ๆ หลายอย่าง[49] คืองานศึกษาพบว่า CBT มีประสิทธิผลในการบำบัดโรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคตื่นตระหนก ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) โรควิตกกังวล โรคหิวไม่หาย (bulimia nervosa) โรคเบื่ออาหารจากสาเหตุทางจิตใจ (anorexia nervosa) ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ และการติดเหล้า[49] งานวิเคราะห์อภิมานบางงานพบว่า CBT มีประสิทธิผลกว่าการบำบัดแบบ psychodynamic และเท่ากับการบำบัดแบบอื่น ๆ ในการรักษาความวิตกกังวลและความซึมเศร้า[50][51] แต่ว่า ในระยะยาวแล้ว การบำบัดแบบ psychodynamic อาจมีผลดีกว่า[52]
การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมและการทดลองแบบอื่น ๆ พบว่า CBT โดยใช้คอมพิวเตอร์ (CCBT) มีประสิทธิผลในการรักษาโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล[24][26][53][54][55][56][57] แม้แต่ในเด็ก[58] และโรคนอนไม่หลับ[59] ส่วนงานวิจัยอื่นพบประสิทธิผลเช่นเดียวกันผ่านการบำบัดแทรกแซงโดยให้ข้อมูลทางเว็บไซต์และโดยพูดคุยทางโทรศัพท์ทุกอาทิตย์[60][61] CCBT มีประสิทธิผลเท่ากับการบำบัดตัวต่อตัวสำหรับโรควิตกกังวลในวัยรุ่น[62] และโรคนอนไม่หลับ[59]
คนที่คัดค้าน CBT บางครั้งเพ่งความสนใจไปที่วิธีดำเนินการ (เช่นโครงการริเริ่มในสหราชอาณาจักร Improving Access to Psychological Therapies หรือ IAPT) ซึ่งในเบื้องต้นอาจจะมีคุณภาพที่ต่ำเพราะผู้รักษาไม่ได้รับการฝึกอบรมที่ดี[63][64] แต่ว่า หลักฐานได้ยืนยันประสิทธิผลของ CBT ในการรักษาโรควิตกกังวลและความซึมเศร้า[55] และก็มีหลักฐานที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยว่า การใช้การสะกดจิตบำบัด (hypnotherapy) เป็นตัวเสริม CBT สามารถเพิ่มประสิทธิผลในการแก้ปัญหาทางคลินิกหลายอย่าง[65][66][67] มีการประยุกต์ใช้ CBT ทั้งในคลินิกและนอกคลินิกเพื่อบำบัดความผิดปกติทางบุคลิกภาพและทางพฤติกรรม[68]
งานปริทัศน์เป็นระบบปี 2011 ที่ทบทวน CBT ที่ใช้ในโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลสรุปว่า "CBT ที่ทำในระดับปฐมภูมิ (primary care) โดยเฉพาะที่ทำโดยช่วยเหลือตนเองผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือทางอินเทอร์เน็ต อาจจะมีประสิทธิผลกว่าการรักษาธรรมดาทั่วไป และสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิผลโดยผู้ให้การรักษาพยาบาลระดับเบื้องต้น"[53] เริ่มมีหลักฐานที่แสดงนัยว่า CBT อาจมีบทบาทในการบำบัดโรคสมาธิสั้น (attention deficit hyperactivity disorder)[69], โรคไฮโปคอนดริเอซิส[70], การรับมือกับผลกระทบของโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง[71], การบำบัดปัญหาการนอนเนื่องจากอายุ[72], อาการปวดระดู (dysmenorrhea)[73], และโรคอารมณ์สองขั้ว[74] แต่ควรจะมีการศึกษาเพิ่มและผลที่มีควรตีความอย่างระมัดระวัง
CBT อาจช่วยอาการวิตกกังวลและความซึมเศร้าในคนไข้อัลไซเมอร์[75] มีการศึกษาที่ใช้ CBT เพื่อช่วยบำบัดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการติดอ่าง งานวิจัยเบื้องต้น ๆ แสดงว่า CBT มีประสิทธิผลในการลดความวิตกกังวลทางสังคมสำหรับผู้ใหญ่ที่ติดอ่าง[76] แต่ไม่สามารถลดความถี่การติดอ่าง[77][78]
มีหลักฐานบ้างว่า CBT มีผลในระยะยาวดีกว่าการใช้ยา benzodiazepine และ nonbenzodiazepine ในการบำบัดและบริหารโรคนอนไม่หลับ[79] CBT มีประสิทธิผลปานกลางในการบำบัดกลุ่มอาการล้าเรื้อรัง (chronic fatigue syndrome)[80]
ในสหราชอาณาจักร National Institute for Health and Care Excellence (ตัวย่อ NICE) ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่ออกแนวทาง/นโยบายในการรักษาสุขภาพ แนะนำให้ใช้ CBT ในแผนการบำบัดปัญหาทางสุขภาพจิต รวมทั้งความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคหิวไม่หาย (bulimia nervosa) และโรคซึมเศร้า[81]
โรควิตกกังวล
มีหลักฐานว่า CBT มีประสิทธิผลในการบำบัดโรควิตกกังวลในผู้ใหญ่[82] แนวคิดพื้นฐานสำหรับการบำบัดโรควิตกกังวลโดย CBT ก็คือ exposure therapy ซึ่งหมายถึงให้คนไข้เผชิญกับวัตถุ กิจกรรม หรือสถานการณ์ที่ตนกลัว ยกตัวอย่างเช่น หญิงคนไข้ PTSD ที่กลัวสถานที่ที่ตนถูกทำร้ายอาจจะช่วยได้ โดยให้ไปที่สถานที่นั้นแล้วเผชิญหน้ากับความกลัวนั้นโดยตรง และเช่นกัน บุคคลที่กลัวการพูดต่อหน้าสาธารณชนอาจจะได้คำแนะนำให้ให้มีปาฐกถา[83] วิธีการรักษาเช่นนี้มาจากแบบจำลองมีสองปัจจัยของ Orval Hobart Mowrer[84] คือ เมื่อมีการเปิดรับ (exposure) สิ่งเร้าที่สร้างปัญหา การปรับสภาวะที่ไม่มีประโยชน์เช่นนี้สามารถแก้คืนได้ (เป็นแนวคิดทางจิตวิทยาที่เรียกว่า extinction และ habituation) งานวิจัยได้แสดงหลักฐานว่า การใช้ฮอร์โมน glucocorticoids อาจจะทำให้ถึงสภาวะ extinction ได้ดีกว่าเมื่อใช้ในระหว่าง exposure therapy เพราะว่า glucocorticoids สามารถป้องกันการระลึกถึงความจำที่กลัว และช่วยเสริมความจำใหม่โดยช่วยสร้างปฏิกิริยาใหม่ต่อสถานการณ์ที่ไม่มีอะไรน่ากลัว ดังนั้น การใช้ glucocorticoids ร่วมกับ exposure therapy อาจจะเพิ่มประสิทธิผลของการบำบัดคนไข้โรควิตกกังวล[85]
โรคจิตเภท โรคจิต และความผิดปกติทางอารมณ์
CBT มีหลักฐานที่แสดงว่าเป็นการบำบัดที่มีประสิทธิผลต่อโรคซึมเศร้า[25] แนวทางปฏิบัติของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (American Psychiatric Association ตัวย่อ APA) ชี้ว่า ในบรรดาวิธีจิตบำบัดต่าง ๆ CBT และ interpersonal psychotherapy มีหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิผลที่ดีที่สุดต่อโรคซึมเศร้า (major depressive disorder)[86]
ทฤษฎีสมุฏฐานทางประชานของโรคซึมเศร้าของ ศ. ดร. อารอน ที. เบ็ก ชี้ว่า คนซึมเศร้าคิดอย่างที่คิดก็เพราะตนมีแนวโน้มในการตีความเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเชิงลบ ตามทฤษฎีนี้ คนซึมเศร้าได้ schema แบบลบเกี่ยวกับโลกในระหว่างวัยเด็กและวัยรุ่น โดยเป็นผลของเหตุการณ์ที่ก่อความเครียด และ schema เชิงลบนั้นก็จะออกฤทธิ์ภายหลังในชีวิตเมื่อบุคคลประสบเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน[87] ดร. เบ็กยังได้อธิบายถึงทฤษฎีความคิด 3 อย่าง (Beck's cognitive triad) ที่ประกอบไปด้วย schema เชิงลบ และความเอนเอียงทางประชานต่าง ๆ (cognitive bias) ของบุคคล โดยตั้งทฤษฎีว่า คนที่เศร้าซึมประเมินตัวเอง โลก และอนาคตในเชิงลบ ตามทฤษฎีนี้ คนเศร้าซึมจะมีความคิดเช่น "ฉันทำอะไรก็ไม่ดี" "เป็นไปไม่ได้ที่วันนี้จะเป็นวันที่ดี" หรือ "อะไร ๆ ก็จะไม่ดีขึ้น" เป็นความคิดเนื่องจาก schema เชิงลบช่วยให้เกิดความเอนเอียงทางประชาน และความเอนเอียงก็จะช่วยเสริมสร้าง schema เชิงลบ เพิ่มขึ้น ความคิดเกี่ยวกับตัวเอง โลก และอนาคตในเชิงลบเช่นนี้คือ Beck's cognitive triad ดร. เบ็กเสนอว่า คนเศร้าซึมมักจะมีความเอนเอียงต่าง ๆ รวมทั้ง arbitrary inference (การอนุมานตามอำเภอใจ), selective abstraction (การกำหนดสาระสำคัญแบบเลือก), over-generalization (การสรุปเหมาเกินไป), magnification (การทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่), และ minimization (การลดความสำคัญ)
ความเอนเอียงทางประชานเหล่านี้ว่องไวที่จะทำการอนุมานเชิงลบ ที่ทั่วไป และที่เป็นเรื่องตัวเอง และเพิ่มกำลังให้กับ schema แบบลบ[87] ในโรคจิต (Psychosis) ระยะยาว CBT ใช้เสริมการใช้ยาและจะปรับให้เข้ากับคนแต่ละคน การรักษาแทรกแซงที่มักจะใช้ในอาการเหล่านี้รวมทั้งการตรวจสอบว่ารู้ความจริงเท่าไหน การเปลี่ยนอาการหลงผิดและประสาทหลอน การตรวจสอบปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการอีก (relapse) และการบริหารจัดการอาการที่เกิดขึ้นอีก[29] มีงานวิเคราะห์อภิมานหลายงานที่เสนอว่า CBT มีประสิทธิผลกับโรคจิตเภท[30][88] และ APA รวม CBT ในแนวทางการบำบัดโรคจิตเภทว่าเป็นการบำบัดที่อ้างอิงหลักฐาน แต่ว่า มีหลักฐานจำกัดว่า CBT มีผลสำหรับโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder)[74] และโรคซึมเศร้าแบบรุนแรง[89]
แต่งานวิเคราะห์อภิมานปี 2009 พบว่า ไม่มีการทดลองแบบอำพรางและการควบคุมด้วยการรักษาหลอกที่แสดงว่า CBT มีผลต่อโรคจิตเภทหรือโรคอารมณ์สองขั้ว และผลต่าง (effect size) ของ CBT มีน้อยในโรคซึมเศร้า (major depressive disorder) และพบว่า ไม่มีหลักฐานที่สรุปได้ว่า CBT มีผลในการป้องกันการกำเริบของโรคอารมณ์สองขั้ว[90] หลักฐานว่า ความซึมเศร้าแบบรุนแรงลดระดับได้โดย CBT ก็ไม่มีด้วย โดยมองว่า การใช้ยาแก้โรคซึมเศร้ามีประสิทธิผลที่ดีอย่างสำคัญกว่า CBT[25] แม้ว่า ผลสำเร็จต่อโรคซึมเศร้าของ CBT จะพบเริ่มตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990[91]
ตามงานวิจัยปี 2012 CBT สามารถใช้ลดอคติ (prejudice) ต่อผู้อื่น เพราะว่าอคติต่อผู้อื่นสามารถทำให้คนอื่นเกิดความซึมเศร้าได้ หรือแม้แต่ตัวเองถ้ากลายมาเป็นพวกเดียวกันกับกลุ่มบุคคลที่ตนมีอคติ[92] ส่วนงานวิจัยปี 2012 อีกงานหนึ่งได้พัฒนาการบำบัดแทรกแซงคนมีอคติ (Prejudice Perpetrator intervention) โดยมีแนวคิดหลายอย่างที่คล้าย ๆ กับ CBT[93] และเหมือนกับ CBT วิธีการรักษาคือสอนให้คนที่มีอคติสำนึกถึงความคิดที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ และใช้วิธีการเปลี่ยนความคิดต่าง ๆ ต่อต้านความคิดแบบทั่วไปต่อกลุ่มสังคมที่เป็นเรื่องอัตโนมัติ[92]
ผลที่วัด | คำอธิบาย | ผลเป็นตัวเลข | คุณภาพของหลักฐาน |
---|---|---|---|
ผลทั่วไป | |||
ไม่มีความเปลี่ยนแปลงทางจิต | ไม่ดีกว่าจิตบำบัดอื่น ๆ เพื่อรักษาสภาวะจิต | RR 0.84 CI 0.64 - 1.09 | ต่ำมาก |
โรคกำเริบ | ไม่ลด | RR 0.91 CI 0.63 - 1.32 | ต่ำ |
การเข้า รพ. อีก | ไม่ลด | RR 0.86 CI 0.62 - 1.21 | |
Social functioning | ดีขึ้นในกลุ่ม CBT ที่ประมาณสัปดาห์ 26 แต่ไม่ชัดเจนว่ามีผลอย่างไรต่อชีวิตจริง ๆ | MD 8.80 higher CI 4.07 - 21.67 | ต่ำมาก |
คุณภาพชีวิต | ไม่เปลี่ยน | MD 1.86 lower CI 19.2 lower to 15.48 higher | |
ผลลบ | |||
ผลที่ไม่พึงประสงค์ (ภาย 24-52 สัปดาห์หลังเริ่มการบำบัด) | ไม่มีมากกว่า | RR 2 CI 0.71 - 5.64 | ต่ำมาก |
ในผู้สูงวัย
CBT สามารถช่วยบุคคลทุกอายุ แต่ว่า การบำบัดควรจะปรับเพราะอายุของคนไข้ เพราะว่า ผู้มีอายุโดยเฉพาะมีลักษณะบางอย่างที่ทำให้จำเป็นต้องเปลี่ยนการบำบัด[95] ปัญหาเกี่ยวกับ CBT ในเรื่องอายุรวมทั้ง
- ผลจากคนกลุ่มเดียวกัน (The Cohort effect)
- กาลเวลาที่บุคคลแต่ละรุ่นมีชีวิต จะเป็นตัวเปลี่ยนกระบวนการทางความคิดและค่านิยม ดังนั้น คนอายุ 70 ปีอาจจะมีปฏิกิริยาต่อการบำบัดแตกต่างจะคนอายุ 30 ปี เพราะว่า มีวัฒนธรรมที่ต่างกัน นอกจากนั้น เมื่อคนรุ่นต่าง ๆ ต้องปฏิสัมพันธ์กัน ค่านิยมที่ชนกันอาจจะทำให้การบำบัดนั้นยากขึ้น[95]
- บทบาทที่มีอยู่
- เมื่อถึงความสูงวัยแล้ว บุคคลจะมีไอเดียที่ชัดเจนว่าบทบาทชีวิตของตนเป็นอย่างไรและจะยึดอยู่กับบทบาทนั้น บทบาททางสังคมนี้อาจจะเป็นตัวกำหนดทำให้บุคคลนั้นรู้สึกว่าตนเป็นใคร และอาจจะทำให้ยากในการปรับตัวดังที่ต้องทำได้ใน CBT[95]
- ความคิดเกี่ยวการมีอายุ
- ถ้าผู้สูงอายุเห็นการมีอายุว่าเป็นเรื่องลบ นี้อาจจะเป็นตัวทำให้อาการที่พยายามแก้แย่ลง (เช่น ความซึมเศร้าหรือความวิตกกังวล)[95] ความคิดแบบเหมารวมเชิงลบหรืออคติต่อคนแก่ อาจจะก่อความเศร้าซึมเมื่อความแก่นั้นมาถึงตัว[92]
- การทำอะไรได้ช้าลง
- เมื่อเราแก่ขึ้น เราอาจจะใช้เวลามากขึ้นในการเรียนรู้ และดังนั้น อาจจะใช้เวลามากกว่าเพื่อที่จะเรียนรู้และจำวิธีการของจิตบำบัดได้ ดังนั้น ผู้รักษาพึงใช้เวลาเพิ่มขึ้นในการทำจิตบำบัด และอาจจะใช้วิธีการทีเป็นทั้งการเขียนและการพูดเพื่อช่วยให้คนไข้จำวิธีบำบัดได้[95]
การป้องกันโรคจิต
สำหรับโรควิตกกังวล (anxiety disorders) การใช้ CBT กับบุคคลเสี่ยงได้ลดจำนวนการออกอาการของโรค (episode) ของทั้งโรควิตกกังวลทั่วไป (generalized anxiety disorder) และอาการวิตกกังวลอื่น ๆ และช่วยวิธีการคิด ความรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ และทัศนคติที่ไม่มีประสิทธิผล ได้อย่างสำคัญ[55][96][97] ในงานศึกษาปี 2008 3% ของคนในกลุ่ม CBT เกิดโรควิตกกังวลทั่วไป 12 เดือนหลังจากการแทรกแซงเทียบกับ 14% ในกลุ่มควบคุม[98] นอกจากนั้นแล้ว ผู้ที่มีความตื่นตระหนกแบบยังไม่ถึงเกณฑ์เป็นโรค (Subthreshold) ได้รับประโยชน์อย่างสำคัญจาก CBT[99][100] การใช้ CBT ปรากฏว่าลดระดับความชุกของความวิตกกังวลทางสังคม (social anxiety)[101] สำหรับโรคซึมเศร้า การแทรกแซงรักษาเป็นขั้น ๆ (คือการดูอาการ, การบำบัดโดย CBT, และการให้ยาเมื่อสมควร) ได้ผลลดความชุกกว่า 50% สำหรับคนไข้ที่มีอายุ 75 หรือมากกว่านั้น[102]
ส่วนงานศึกษาความซึมเศร้าในปี 2012 ในเด็กวัยรุ่นพบผลว่างเทียบกับกลุ่มที่ควบคุมการใส่ใจและกลุ่มที่ใช้วิธีการบรรเทาปัญหาของโรงเรียนอื่น ๆ และผู้เขียนได้แสดงความเห็นว่า เด็กกลุ่ม CBT อาจจะสำนึกถึงตัวเองมากขึ้นและรายงานอาการซึมเศร้าที่สูงขึ้น แต่แนะนำให้มีการศึกษางานวิจัยเพิ่มขึ้นในเรื่องนี้[103] และก็มีงานวิจัยปี 1993 ที่เห็นผลว่างเช่นกัน[104]
ในงานวิเคราะห์อภิมานเกี่ยวกับคอร์ส "การรับมือกับความซึมเศร้า (Coping with Depression)" ซึ่งเป็นการแทรกแซงโดยการเปลี่ยนความคิดพฤติกรรม พบการลดความเสี่ยงต่อความซึมเศร้า (major depression) โดย 38%[105] ส่วนในโรคจิตเภท งานศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันด้วย CBT งานหนึ่งพบว่ามีผลบวก[106] แต่อีกงานหนึ่งพบผลว่าง[107]
ประวัติ
ทางปรัชญา
พื้นฐานบางอย่างของ CBT พบได้ในหลักปรัชญาโบราณต่าง ๆ รวมทั้งของลัทธิสโตอิก[108] นักปราชญ์ลัทธิสโตอิกเชื่อว่า สามารถใช้ตรรกศาสตร์ในการกำหนดและทิ้งความเชื่อผิด ๆ ที่นำไปสู่อารมณ์ที่เป็นอันตราย ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อผู้บำบัดทางความคิด-พฤติกรรมในปัจจุบัน ที่พยายามกำหนดความบิดเบือนทางความคิดที่มีส่วนต่อความซึมเศร้าและความวิตกกังวล[109] ยกตัวอย่างเช่น หนังสือคู่มือรักษาความซึมเศร้าดั้งเดิมของ ศ. ดร. อารอน ที. เบ็ก กล่าวไว้ว่า "จุดกำเนิดทางปรัชญาของการบำบัดทางความคิดสามารถสืบไปได้จนถึงนักปราชญ์ลัทธิสโตอิก"[110] นักปราชญ์สำคัญอีกคนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนา CBT ก็คือ John Stuart Mill[111]
การบำบัดพฤติกรรม
รากฐานปัจจุบันของ CBT มาจากการพัฒนาการบำบัดพฤติกรรม (behavior therapy) ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20, การพัฒนาการบำบัดความคิด (cognitive therapy) ในคริสต์ทศวรรษ 1960, และการรวมวิธีการบำบัดทั้งสองเข้าด้วยกันต่อมา งานนวัตกรรมทางพฤติกรรมนิยม (behaviorism) เริ่มต้นด้วยงานเกี่ยวกับการวางเงื่อนไขแบบดั้งเดิม (classical conditioning) ของ ศ. ดร. จอห์น วัตสันในปี 1920[112] ส่วนวิธีการบำบัดพฤติกรรมเริ่มปรากฏตั้งแต่ปี 1924[113] โดยมีงานของนักจิตวิทยาหญิงที่อุทิศให้กับการบำบัดความกลัวให้แก่เด็ก[114] ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 เกิดงานของ นพ. โวลป์และวัตสัน ที่มีรากฐานบนงานของอีวาน ปัฟลอฟในเรื่องการเรียนรู้และการปรับสภาวะ (learning and conditioning) ที่มีอิทธิพลต่อการบำบัดพฤติกรรม (ของฮันส์ ไอเซงค์ และ Arnold Lazarus) ต่อมา โดยมีรากฐานอยู่ในแนวคิดของการวางเงื่อนไขแบบดั้งเดิม[112][115] ต่อมา เพื่อนร่วมงานของ ดร. Eysenck คือ ดร. เกล็นน์ วิลสัน แสดงว่า การวางเงื่อนไขความกลัวแบบดั้งเดิมในมนุษย์สามารถควบคุมได้โดยการเปลี่ยนความคาดหวังโดยใช้คำพูด[116] ดังนั้นจึงเป็นการเปิดตัวงานวิจัยที่สนับสนุนแนวคิดของการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม
ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 และ 1960 การบำบัดพฤติกรรมเป็นวิธีการที่ใช้อย่างกว้างขวางโดยนักวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และแอฟริกาใต้ ผู้ได้รับแรงจูงใจจากทฤษฎีการเรียนรู้แบบพฤติกรรมนิยมของปัฟลอฟ ของวัตสัน และของ ศ. คลาร์ก ฮัล[113] ในสหราชอาณาจักร นพ. โจเซฟ โวลป์ ได้ใช้สิ่งที่เขาพบในสัตว์ในการพัฒนาวิธีการบำบัดพฤติกรรมที่เรียกว่า systematic desensitization และได้ใช้ผลงานวิจัยทางพฤติกรรมของเขาในการรักษาคนไข้โรคประสาท (neurotic disorder)[112] ซึ่งเป็นกองหน้าของวิธีลดความกลัวที่ใช้ในปัจจุบัน[113] นักจิตวิทยาชาวอังกฤษ ฮันส์ ไอเซงค์ ได้เสนอใช้การบำบัดพฤติกรรมว่าเป็นวิธีบำบัดทางเลือกที่ได้ผลในปี 1952[113][117] ในช่วงเวลาเดียวกัน ศ. สกินเนอร์และเพื่อร่วมงานเริ่มมีอิทธิพลเพราะงานเกี่ยวกับเงื่อนไขจากตัวดำเนินการ (operant conditioning)[112][115] ซึ่งต่อมาเรียกว่า radical behaviorism ซึ่งเป็นศาสตร์ที่หลีกเลี่ยงแนวคิดทางประชาน (cognition) หรือความคิดโดยประการทั้งปวง[112] ถึงกระนั้น ก็ยังมีนักจิตวิทยาอีกคู่หนึ่ง (Julian Rotter และ Albert Bandura) ที่ต่อเติมการบำบัดพฤติกรรมที่เสริมทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (social learning theory) โดยแสดงหลักฐานว่า ความคิด (cognition) มีผลต่อการปรับเปลี่ยนการเรียนรู้และพฤติกรรม[112][115] และการเน้นปัจจัยทางพฤติกรรมเช่นนี้เรียกได้ว่าเป็น "คลื่นลูกแรก" ของ CBT[118]
การบำบัดความคิด
นักบำบัดแรกที่พยายามแก้ปัญหาเกี่ยวกับความคิดในจิตบำบัดก็คือ นพ. แอลเฟร็ด แอ็ดเลอร์ และแนวคิดเกี่ยวกับความผิดพลาดพื้นฐานที่เขาแสดงว่า ช่วยตั้งเป้าหมายพฤติกรรมหรือเป้าหมายชีวิตที่ไร้ประโยชน์[119] ผลงานของคุณหมอแอ็ดเลอร์มีอิทธิพลต่องานของ ศ. ดร. แอลเบิรต์ เอลลิส[119] ผู้พัฒนาจิตบำบัดแบบแรก ๆ ที่ช่วยเปลี่ยนความคิด ที่รู้จักทุกวันนี้ว่า Rational emotive behavior therapy (REBT)[120] ในช่วงเวลาเดียวกัน ดร. อารอน ที. เบ็ก ยังใช้เทคนิค Free association ในการรักษาโรคโดยจิตวิเคราะห์[121] แต่ในช่วงรักษาคนไข้ ดร. เบ็กสังเกตว่า ความคิดต่าง ๆ ไม่ใช่อยู่ใต้จิตสำนึกตามทฤษฎีที่ นพ. ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ได้ตั้งไว้ และความคิดบางอย่างอาจจะเป็นตัวการในปัญหาทางอารมณ์ของคนไข้[121] ซึ่งจากสมมติฐานนี้ ดร. เบ็กได้พัฒนาการบำบัดความคิด (cognitive therapy) และเรียกความคิดที่เป็นปัญหาเหล่านี้ว่า ความคิดอัตโนมัติ[121] และจากวิธีการบำบัดสองทั้งอย่างนี้เอง คือ REBT และการบำบัดความคิด ที่กลายเป็น "คลื่นลูกที่สอง" ของ CBT โดยเน้นปัจจัยทางความคิด[118]
การรวมกันของการบำบัดทางพฤติกรรมและทางความคิด
แม้ว่าวิธีการบำบัดพฤติกรรมจะได้ผลกับโรคประสาท (neurotic disorder) หลายอย่าง แต่ก็มีผลน้อยต่อโรคซึมเศร้า (Major depressive disorder)[112][113][122] พฤติกรรมนิยมก็เริ่มที่จะลดความนิยมในช่วงที่เรียกว่า "การปฏิวัติทางความคิด" (cognitive revolution) และวิธีการบำบัดของ ดร. เอลลิส และ ดร. เบ็ก ก็เริ่มรับความนิยมในหมู่นักบำบัดโดยพฤติกรรม แม้ว่าตอนแรกนักบำบัดจะได้ปฏิเสธแนวคิดเกี่ยวกับความคิดหรือประชานมาก่อน[112] ระบบทั้งสองอย่างเหล่านี้พุ่งความสนใจโดยหลักไปที่ปัญหาที่คนไข้มีในปัจจุบัน
ในงานศึกษาแรก ๆ การบำบัดความคิดมักจะนำมาเปรียบเทียบกับการบำบัดทางพฤติกรรมเพื่อจะดูว่าอะไรได้ผลกว่ากัน ต่อมาในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 และ 1990 เทคนิคทางความคิดและพฤติกรรมจึงรวมกันเป็นการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT) ซึ่งเกิดขึ้นได้โดยอาศัยการพัฒนาวิธีบำบัดโรคตื่นตระหนกที่สำเร็จผลของ ศ. ดร. เดวิด เอ็ม. คลาร์ก ในสหราชอาณาจักร และ ดร. เดวิด เอ็ช. บาร์โลว์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา[113] แต่เมื่อเวลาเริ่มผ่านไป CBT เป็นคำที่ไม่ใช่หมายเพียงแค่วิธีการบำบัดวิธีหนึ่ง แต่กลายเป็นคำรวม ๆ หมายถึงจิตบำบัดที่อาศัยการเปลี่ยนความคิดทั้งหมด[112] ซึ่งรวมทั้ง rational emotive therapy, cognitive therapy, acceptance and commitment therapy, dialectical behavior therapy, reality therapy/Glasser's choice theory, cognitive processing therapy, Eye movement desensitization and reprocessing (EMDR), และ multimodal therapy[112] และล้วนแต่เป็นการบำบัดที่ผสมผสานการเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม
การรวมตัวกันของทั้งพื้นฐานทางทฤษฎีและพื้นฐานทางเทคนิค ของทั้งการบำบัดพฤติกรรมและการบำบัดความคิด เรียกได้ว่าเป็น "คลื่นลูกที่สาม" ของ CBT[118] ซึ่งเป็นคลื่นลูกปัจจุบัน[118] โดยวิธีการบำบัดที่เด่นที่สุดที่เป็นส่วนของคลื่นลูกที่สามนี้คือ dialectical behavior therapy และ acceptance and commitment therapy[118]
การเข้าถึงการบำบัด (ในประเทศตะวันตก)
ผู้บำบัด
โปรแกรม CBT ปกติจะเป็นการพบกันเป็นส่วนตัวระหว่างคนไข้กับนักบำบัด โดยพบกัน 6-18 ครั้งแต่ละครั้งประมาณ 1 ชม. นัดพบกันโดยเว้นระยะ 1-3 อาทิตย์ หลังจากที่สำเร็จโปรแกรมนี้แล้ว อาจจะมีการติดตามอีกหลายครั้ง เช่น ที่ 1 เดือนและ 3 เดือน[123] CBT ยังมีผลสำเร็จด้วยถ้าทั้งคนไข้และนักบำบัดสามารถพิมพ์ข้อความสดให้แก่กันและกันได้โดยใช้คอมพิวเตอร์[124][125]
การบำบัดที่ได้ผลขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ (Therapeutic relationship) ระหว่างผู้บำบัดและคนไข้[2][126] เพราะว่าไม่เหมือนกับจิตบำบัดแบบอื่น ๆ คนไข้ต้องมีส่วนร่วมอย่างยิ่ง[127] ยกตัวอย่างเช่น อาจจะให้คนไข้วิตกกังวลคุยกันคนแปลกหน้าเป็นการบ้าน แต่ถ้านั่นยากเกินไป อาจจะต้องทำงานที่ง่ายกว่านั้นก่อน[127] ผู้บำบัดต้องยืดหยุ่นได้และสนใจฟังคนไข้แทนที่จะทำการเป็นคนมีอำนาจ[127]
การรักษาผ่านคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ต
องค์กรของรัฐที่ออกแนวทางในการรักษาสุขภาพ (National Institute for Health and Clinical Excellence ตัวย่อ NICE) แห่งสหราชอาณาจักรอธิบาย "การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมโดยคอมพิวเตอร์" (Computerized cognitive behavioral therapy ตัวย่อ CCBT) ว่าเป็น "คำที่หมายถึงการให้ CBT ผ่านโปรแกรมเชิงโต้ตอบผ่านคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต หรือระบบโต้ตอบผ่านเสียง (interactive voice response system)"[128] แทนที่จะพบกับผู้บำบัดตัวต่อตัว หรือรู้จักอีกอย่างหนึ่งว่า internet-delivered cognitive behavioral therapy (ICBT)[129] CCBT มีโอกาสช่วยให้คนไข้ได้รับการบำบัดที่อ้างอิงหลักฐาน และแก้ปัญหาการรักษาที่แพงมากหรือไม่มีถ้าต้องใช้ผู้บำบัดจริง ๆ[130]
งานวิเคราะห์อภิมานหลายงานพบว่า CCBT คุ้มราคาและบ่อยครั้งถูกกว่าการรักษาตามปกติ[131][132] รวมทั้งโรควิตกกังวล[133] มีงานหลายงานที่พบว่าบุคคลที่มีความวิตกกังวลทางสังคม (social anxiety) และความซึมเศร้าดีขึ้นเมื่อบำบัดโดย CBT แบบออนไลน์[134] งานทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับผลงานวิจัยใน CCBT ในการบำบัดโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive disorder ตัวย่อ OCD) ในเด็กพบว่า โปรแกรมมีอนาคตที่สดใสในการบำบัด OCD ในเด็กและวัยรุ่น[135] CCBT ยังอาจใช้บำบัดความผิดปกติทางอารมณ์ (mood disorder) ในกลุ่มประชากรต่าง ๆ ที่ไม่ใช่คนรักต่างเพศ ที่อาจจะหลีกเลี่ยงการมาพบตัวต่อตัวเพราะกลัวมลทินทางสังคม แต่ว่า โปรแกรม CCBT ปัจจุบันยังไม่ได้จัดให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้[136]
ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของการใช้ CCBT ก็คือมีคนสมัครใช้น้อยและทำจนเสร็จน้อย ๆ ทั้ง ๆ ที่บอกว่ามีให้ใช้และอธิบายให้ฟังเป็นอย่างดี[137][138] งานวิจัยบางงานพบว่า อัตราการทำจนเสร็จและประสิทธิผลในการรักษาเมื่อใช้ CCBT โดยมีบุคคลที่คอยช่วยสนับสนุน และไม่ใช่แต่สนับสนุนผู้ทำการบำบัดเท่านั้น สูงกว่าเมื่อให้คนไข้ใช้แต่ CCBT ด้วยตนเอง[131][139]
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2006 ในสหราชอาณาจักร NICE แนะนำให้มี CCBT ใช้ภายในระบบการดูแลสุขภาพของรัฐบาลทั่วประเทศอังกฤษและประเทศเวลส์ สำหรับคนไข้ที่มีความเศร้าซึมแบบอ่อนจนถึงปานกลาง แทนที่จะเริ่มใช้ยาแก้ความซึมเศร้าทันที[128] และยังมีองค์กรสุขภาพอื่น ๆ ในประเทศอังกฤษที่มี CCBT ให้ใช้ด้วย[140] แต่ว่า แนวทางของ NICE ยอมรับว่า น่าจะมีโปแกรม CBT หลายโปรแกรมที่ช่วยเหลือคนไข้ได้ จึงไม่มีการรับรองโปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่งโดยเฉพาะในปัจจุบัน[141]
ส่วนงานวิจัยที่เริ่มเปิดใหม่ เป็นเรื่องการใช้ CCBT ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) คือมีการเสนอให้ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อสร้าง CCBT ที่ทำเสมือนการบำบัดที่ทำตัวต่อตัว ซึ่งอาจทำได้ใน CBT สำหรับโรคบางอย่างโดยเฉพาะ และใช้ความรู้ที่กว้างขวางครอบคลุมในเรื่องนั้น[142] ปัญหาที่ได้พยายามแล้วก็คือความวิตกกังวลทางสังคม (social anxiety) และบุคคลผู้ติดอ่าง[143]
การอ่านหาข้อมูลเอง
งานวิจัยบางงานพบว่า การให้คนไข้อ่านวิธีการทาง CBT เองมีประสิทธิผล[144][145][146] แต่ว่าก็มีงานหนึ่งที่พบผลลบในคนไข้ที่มักจะคิดวนเวียน (ruminate)[147] และงานวิเคราะห์อภิมานหนึ่งพบว่า ประโยชน์จะมีระดับสำคัญก็ต่อเมื่อมีคนช่วยแนะนำ (เช่น โดยผู้พยาบาลรักษา)[148]
การสอนเป็นกลุ่ม
การให้คนไข้เข้าคอร์สทำเป็นกลุ่มพบว่ามีประสิทธิผล[149] แต่ว่างานวิเคราะห์อภิมานที่ทบทวนการรักษา OCD ในเด็กแบบอ้างอิงหลักฐาน แสดงว่า CBT แบบบุคคลมีผลกว่าแบบกลุ่ม[135]
แบบ
Brief CBT
Brief cognitive behavioral therapy (BCBT) เป็นรูปแบบของ CBT ที่พัฒนาขึ้นเพื่อสถานการณ์ที่มีเวลาจำกัดในการบำบัด[150] และอาจทำโดยนัดพบกันเพียงแค่ 2 ครั้งแต่อาจใช้เวลารวมกันถึง 12 ชม. เป็นวิธีที่พัฒนาและทำเป็นครั้งแรกเพื่อทหารที่ปฏิบัติการอยู่นอกประเทศเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย[150] ขั้นตอนการบำบัดรวมทั้ง [150]
- การกำหนดเป้าหมาย (Orientation)
- การตกลงสัญญาเพื่อรับการบำบัดรักษา (Commitment to treatment)
- การวางแผนการตอบสนองต่อวิกฤติการณ์และเพื่อความปลอดภัย (Crisis response and safety planning)
- การจำกัดวิธี (Means restriction)
- ชุดอุปกรณ์เพื่อรอดชีวิต (Survival kit)
- บัตรเหตุผลเพื่อจะมีชีวิตอยู่ (Reasons for living card)
- แบบจำลองของการฆ่าตัวตาย (Model of suicidality)
- บันทึกการรักษา (Treatment journal)
- สิ่งที่ได้เรียนรู้ (Lessons learned)
- เรื่องทักษะ (Skill focus)
- ตารางการพัฒนาทักษะ (Skill development worksheets)
- บัตรเพื่อเผชิญรับปัญหา (Coping cards)
- การแสดง (Demonstration)
- การฝึกหัด (Practice)
- การขัดเกลาทักษะ (Skill refinement)
- การป้องกันการกำเริบ (Relapse prevention)
- การใช้ทักษะในเรื่องอื่น ๆ (Skill generalization)
- การขัดเกลาทักษะ (Skill refinement)
Cognitive emotional behavioral therapy
Cognitive emotional behavioral therapy (CEBT) เป็นรูปแบบของ CBT ที่ได้พัฒนาในเบื้องต้นสำหรับบุคคลที่มีความผิดปกติในการรับประทาน (eating disorder) แต่ในปัจจุบันใช้กับปัญหาหลายอย่างรวมทั้งโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) และปัญหาเกี่ยวกับความโกรธ เป็นการรวมส่วนต่าง ๆ ของ CBT และ Dialectical Behavioural Therapy มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มความเข้าใจและความอดทนต่ออารมณ์ต่าง ๆ เพื่ออำนวยกระบวนการรักษา ซึ่งบ่อยครั้งใช้เป็น การรักษาเบื้องต้น (pretreatment) เพื่อเตรียมพร้อมให้ทักษะต่อคนไข้ในการเข้าบำบัดรักษาในระยะยาว
Structured cognitive behavioral training
Structured cognitive behavioral training (SCBT) เป็นกระบวนการเปลี่ยนความคิดที่มีหลักปรัชญามาจาก CBT คือ SCBT ยืนยันว่า พฤติกรรมสัมพันธ์กับความเชื่อ ความคิด และอารมณ์ SCBT ยังต่อเติมปรัชญาของ CBT โดยรวมวิธีการอื่น ๆ ที่รู้จักกันดีในสาขาสุขภาพจิตและจิตวิทยา หรือที่เด่นที่สุดก็คือจาก Rational Emotive Behavior Therapy ของ ศ. แอลเบิรต์ เอลลิส SCBT ต่างจาก CBT หลัก ๆ 2 อย่าง จุดแรกก็คือ SCBT มีรูปแบบที่เข้มงวดกว่า จุดที่สองก็คือ SCBT เป็นกระบวนการที่กำหนดล่วงหน้าและมีลำดับการฝึกที่ชัดเจน ที่เปลี่ยนให้เข้ากับบุคคลโดยสิ่งที่ได้จากผู้รับการบำบัด SCBT ออกแบบตั้งใจจะให้ได้ผลต่อผู้รับการบำบัดโดยเฉพาะอย่างหนึ่งภายในเวลาที่กำหนดไว้ SCBT ได้ใช้เพื่อแก้พฤติกรรมเสพติด โดยเฉพาะสารเสพติดเช่นบุหรี่ เหล้า หรืออาหาร และเพื่อบริหารจัดการโรคเบาหวานและเอาชนะความเครียดและความวิตกกังวล SCBT ยังได้ใช้กับอาชญากรด้วย เพื่อที่จะป้องกันการทำผิดอีก
Moral reconation therapy
Moral reconation therapy เป็นรูปแบบ CBT ใช้เพื่อช่วยอาชญากรให้เอาชนะความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม (Anti-Social Personality Disorder) และช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำผิดอีกได้เล็กน้อย[151] มักจะทำเป็นกลุ่มเพราะว่า การให้การบำบัดเป็นส่วนบุคคล อาจจะเพิ่มลักษณะพฤติกรรมแบบหลงตัวเอง (narcissistic) และสามารถใช้ในทั้งเรือนจำหรือในที่รักษาพยาบาล โดยกลุ่มจะพบกันทุกอาทิตย์เป็นเวลา 2-6 เดือน[152]
Stress Inoculation Training
Stress Inoculation Training เป็นการบำบัดที่ใช้การฝึกความคิด พฤติกรรม และหลักมนุษยนิยม เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้คนไข้เครียด คือช่วยให้รับมือปัญหาความเครียดความวิตกกังวลได้ดีกว่าหลังจากที่เกิดเหตุการณ์เครียด[153] มีกระบวนการ 3 ขั้นตอนที่ฝึกให้คนไข้ใช้ทักษะที่มีอยู่แล้วเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสิ่งก่อความเครียดปัจจุบันได้ดีขึ้น ขั้นแรกเป็นการสัมภาษณ์ ซึ่งรวมทั้งการทดสอบทางจิตวิทยา การตรวจดูตัวเองของคนไข้ และการให้อ่านข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้ผู้บำบัดปรับกระบวนการฝึกให้เหมาะสมกับคนไข้โดยเฉพาะ ๆ[153] คนไข้เรียนรู้ที่จะจัดหมวดหมู่ปัญหาออกเป็นเรื่องที่ต้องจัดการทางอารมณ์ และเรื่องที่ต้องการจัดการกับปัญหา เพื่อที่จะแก้สถานการณ์ให้ดีขึ้น ขั้นตอนนี้ในที่สุดเป็นการเตรียมพร้อมคนไข้ให้เผชิญหน้าและพิจารณาปฏิกิริยาของตนเองในปัจจุบันต่อสิ่งก่อความเครียด ก่อนที่จะหาวิธีเปลี่ยนปฏิกิริยาและอารมณ์เพราะเหตุสิ่งก่อความเครียด จุดหลักคือการสร้างมโนทัศน์ (conceptualization)[153]
ขั้นตอนที่สองเน้นการเรียนรู้ทักษะและการฝึกซ้อมที่สืบมาจากการสร้างมโนทัศน์ของขั้นตอนที่แล้ว จะมีการฝึกคนไข้ให้รู้ทักษะที่ช่วยรับมือกับสิ่งที่ก่อความเครียด แล้วจะให้ฝึกหัดในช่วงการบำบัด ทักษะที่ฝึกรวมทั้ง การควบคุมตัวเอง การแก้ปัญหา ทักษะการสื่อสารกับผู้อื่น เป็นต้น[153]
ขั้นตอนที่สามสุดท้ายเป็นการประยุกต์ใช้ทักษะที่ได้เรียนรู้ ซึ่งให้โอกาสกับคนไข้เพื่อใช้ทักษะที่เรียนรู้กับสิ่งที่ก่อความเครียดอย่างกว้างขวาง กิจกรรมรวมทั้งการเล่นละคร (role-playing) การจินตนาการ การสร้างสถานการณ์เทียม เป็นต้น ในที่สุด คนไข้ก็จะได้การฝึกที่เป็นการป้องกันสิ่งที่ก่อความเครียดที่เป็นส่วนตัว ที่เรื้อรัง และที่มีในอนาคตโดยแบ่งสิ่งก่อความเครียดให้เป็นปัญหาย่อย ๆ แล้วใช้วิธีรับมือทั้งที่เป็นแบบระยะยาว ระยะสั้น และระยะปานกลาง[153]
ข้อคัดค้าน
งานวิจัยเกี่ยวกับ CBT ได้เป็นเรื่องขัดแย้งอย่างไม่ยุติเป็นระยะเวลานาน มีนักวิจัยบางพวกที่เขียนว่า CBT มีประสิทธิผลดีกว่าการบำบัดอื่น ๆ[154] แต่ก็มีนักวิจัยอื่น ๆ[8][155][156] และผู้ที่ทำการบำบัดจริง ๆ[157][158] ได้ตั้งความสงสัยในความสมเหตุสมผลของข้ออ้างเช่นนั้น ยกตัวอย่างเช่น งานศึกษาหนึ่ง[154] กำหนดว่า CBT ดีกว่าการบำบัดอื่น ๆ ในการรักษาโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า แต่ว่า นักวิจัยที่แย้งงานศึกษานั้นโดยตรง ได้วิเคราะห์ข้อมูลใหม่แต่ไม่พบหลักฐานว่า CBT ดีกว่าวิธีการบำบัดอื่น ๆ แล้วยังได้วิเคราะห์งานทดสอบทางคลินิกของ CBT อีก 13 งานแล้วพบว่า งานทั้งหมดไม่ได้ให้หลักฐานว่า CBT มีประสิทธิผลที่ดีกว่า[8]
นอกจากนั้นแล้ว งานวิเคราะห์อภิมานปี 2015 ยังพบว่า ผลบวกของ CBT ต่อโรคเศร้าซึมได้ลดลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 1977 โดยพบลักษณะการลดผลต่างที่ได้ (effect size) 2 แบบ คือ (1) การลดขนาดโดยทั่วไปในระหว่างปี 1977-2014 และ (2) การลดลงในอัตราที่สูงกว่าในช่วงปี 1995-2014 ส่วนการวิเคราะห์ที่ทำย่อยต่อ ๆ มาพบว่า งานศึกษา CBT ที่ให้ผู้บำบัดในกลุ่มทดลองติดตามระเบียบในคู่มือ CBT ของเบ็กมีระดับการลดลงของผลต่างตั้งแต่ปี 1977 มากกว่างานศึกษาที่ให้ผู้บำบัดใช้ CBT โดยไม่ใช้คู่มือ ผู้เขียนงานรายงานว่า พวกตนไม่แน่ใจว่าทำไมผลต่างจึงลดลง แต่ก็ทำรายการต่อไปนี้ว่าอาจเป็นเหตุผล คือ ผู้บำบัดไม่มีการฝึกหัดที่เพียงพอ ความล้มเหลวในการทำตามคู่มือ ผู้บำบัดมีประสบการณ์น้อยเกินไป และความหวังความเชื่อของคนไข้ว่าการรักษามีผลมีระดับลดลง แต่ผู้เขียนก็ได้แจ้งด้วยว่า ผลงานศึกษานี้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น[159]
ยังมีนักวิจัยอื่น ๆ ที่แจ้งว่า งานศึกษาแบบ CBT มีอัตราถอนตัวกลางคัน (drop-out rate) สูงกว่าวิธีบำบัดแบบอื่น ๆ[155] และบางครั้ง อาจสูงกว่าถึง 5 เท่า ยกตัวอย่างเช่น นักวิจัยให้สถิติว่ามีผู้ร่วมการทดลองในกลุ่ม CBT 28 คนถอนตัวกลางคัน เทียบกับ 5 คนในกลุ่มที่รับการบำบัดแบบแก้ปัญหา หรือ 11 คนในกลุ่มที่รับการบำบัดแบบ psychodynamic[155] และอัตราการถอนตัวกลางคันเช่นนี้ ก็พบด้วยในการรักษาโรคอื่นต่าง ๆ รวมทั้งโรคเบื่ออาหารเหตุจิตใจ (anorexia nervosa) ซึ่งเป็นความผิดปกติในการรับประทานที่มักจะบำบัดด้วย CBT คือ บุคคลที่มีโรคนี้แล้วบำบัดด้วย CBT มีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะเลิกการบำบัดกลางคันแล้วกลับไปมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาเช่นเดิม[160]
ส่วนนักวิจัยอื่น ๆ ที่ได้วิเคราะห์การรักษาเยาวชนที่ทำร้ายตัวเองพบอัตราการถอนตัวกลางคันที่คล้ายกันทั้งในการบำบัดด้วย CBT และ Dialectical behavioral therapy (DBT) ในงานศึกษานี้ ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลจากงานทดลองทางคลินิกหลายงานที่วัดประสิทธิผลของ CBT ต่อเยาวชนที่ทำร้ายตัวเอง (self-injure) นักวิจัยสรุปว่า ไม่มีงานไหนที่แสดงประสิทธิผลเลย[156] และข้อสรุปนี้ทำโดยกลุ่ม Division 12 Task Force on the Promotion and Dissemination of Psychological Procedures ของ APA ที่ทำหน้าที่กำหนดศักยภาพของการแทรกแซงต่าง ๆ[161]
แต่ว่าวิธีการที่ใช้ในงานวิจัย CBT ไม่ใช่เรื่องเดียวที่ถูกคัดค้าน นักวิชาการท่านอื่นตั้งข้อสงสัยทั้งในทฤษฎีและการบำบัดของ CBT ยกตัวอย่างเช่น นักเขียนท่านหนึ่งกล่าวว่า CBT ไม่ได้ให้โครงสร้างของการคิดแบบที่ชัดเจนและถูกต้อง[158] คือ เขากล่าวว่า มันแปลกมากที่นักทฤษฎีเกี่ยวกับ CBT จะได้พัฒนาโครงสร้างเพื่อกำหนดความคิดที่บิดเบือน โดยไม่พัฒนาโครงสร้างของความคิดที่ชัดเจน หรืออะไรที่เป็นความคิดที่ถูกสุขภาพและปกติ นอกจากนั้นแล้ว ยังกล่าวว่า การคิดที่ไม่สมเหตุผล (irrational) ไม่อาจจะเป็นแหล่งให้เกิดทุกข์ทางใจหรือทางอารมณ์ เมื่อไม่มีหลักฐานว่าความคิดที่สมเหตุผลเป็นเหตุให้มีสุขภาพทางใจที่ดี และข้อมูลจากจิตวิทยาสังคมก็ได้แสดงแล้วด้วยว่า ความคิดปกติของบุคคลทั่วไปบางครั้งไม่สมเหตุผล แม้บุคคลที่จัดว่ามีสุขภาพจิตดี นักเขียนยังกล่าวอีกด้วยว่า ทฤษฎี CBT ไม่เข้ากับหลักพื้นฐานและผลงานวิจัยเกี่ยวกับความสมเหตุสมผล (rationality) และแม้แต่ไม่สนใจกฎหลายอย่างทางตรรกศาสตร์ เขาอ้างว่า CBT ได้ทำเรื่องความคิดให้กลายเป็นเรื่องใหญ่และจริงเกินกว่าความคิดจริง ๆ เป็น คำค้านอื่น ๆ ของเขารวมทั้ง การดำรงสถานะเดิม (status quo) ตามที่โปรโหมตโดย CBT, การสนับสนุนคนไข้ให้หลอกลวงตัวเอง, วิธีการวิจัยที่ไม่ดี และหลักการบางอย่างของ CBT รวมทั้ง "หลักอย่างหนึ่งของการบำบัดความคิดก็คือ ยกเว้นวิธีการที่คนไข้คิด ทุกอย่างดีหมด"[162]
ส่วนนักเขียนอีกคู่หนึ่งกล่าวว่า ข้อสมมุติที่ซ่อนเร้นอย่างหนึ่งของ CBT ก็คือ หลักนิยัตินิยม (หลักว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่ไม่สามารถทำให้เหตุการณ์อย่างอื่นเกิด) หรือการไม่มีเจตจำนงเสรี[157] โดยอ้างว่า CBT อ้างความเป็นเหตุและผลของอะไรบางอย่างเกี่ยวกับความคิด และว่า CBT แสดงว่า สิ่งเร้าในสิ่งแวดล้อมที่เข้ามาในใจ เป็นเหตุก่อความคิดต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะทางอารมณ์ต่าง ๆ ทฤษฎีของ CBT ไม่กล่าวถึงเจตจำนงเสรี หรือผู้กระทำ (agency) เลย คือข้อสมมุติพื้นฐานที่สุดของ CBT ก็คือ มนุษย์ไม่มีเจตจำนงเสรี และถูกกำหนดโดยกระบวนการความคิด (cognitive process) ที่เกิดขึ้นเนื่องจากสิ่งเร้าภายนอก
ข้อคัดค้านทฤษฎี CBT อีกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า (MDD) ก็คือ มีการสับสนอาการกับเหตุของโรค[163] แต่ข้อคัดค้านสำคัญเกี่ยวกับงานศึกษาทางคลินิกของ CBT (หรือของจิตบำบัดทั้งหมด) ก็คือไม่มีการอำพรางทั้งสองทาง (คือทั้งผู้ร่วมการทดลองและนักบำบัดในงานศึกษา ไม่ได้รับการอำพรางว่า ผู้ร่วมการทดลองกำลังได้รับการบำบัดแบบไหน) แม้ว่าอาจจะมีการอำพรางผู้ตรวจให้คะแนนผลที่ปรากฏ คือผู้ให้คะแนนอาจจะไม่รู้ว่าคนไข้ได้รับการบำบัดอย่างไร แต่ว่าทั้งคนไข้และผู้บำบัดรู้ว่าคนไข้กำลังได้รับการบำบัดแบบไหน แต่เพราะคนไข้ต้องทำงานร่วมอย่างสำคัญในการแก้ความคิดบิดเบือนเชิงลบ คนไข้จึงรู้ตัวดีว่าตนกำลังได้รับการบำบัดเช่นไร[163]
งานวิเคราะห์อภิมานหนึ่งแสดงความสำคัญของการอำพรางสองด้าน เมื่อตรวจสอบประสิทธิผลของ CBT เมื่อพิจารณากลุ่มควบคุมด้วยการรักษาหลอก (placebo control) และการอำพรางในการทดลอง[164] งานได้วิเคราะห์ข้อมูลรวมกันจากการทดลอง CBT ในโรคจิตเภท โรคซึมเศร้า และโรคอารมณ์สองขั้ว ที่ใช้กลุ่มควบคุมที่ได้รับการบำบัดที่ไม่ได้เจาะจง (non-specific) งานสรุปว่า CBT ไม่ได้ดีกว่าการแทรกแซงที่ไม่ได้เจาะจงของกลุ่มควบคุมในการบำบัดโรคจิตเภท และไม่ได้ลดการกำเริบของโรค, ผลการบำบัด MDD มีขนาดน้อยมาก, และไม่เป็นกลยุทธ์การบำบัดที่ดีเพื่อป้องกันการกำเริบของโรคอารมณ์สองขั้ว สำหรับ MDD ผู้เขียนให้ข้อสังเกตว่า ผลต่าง (effect size) ที่ได้รวมกันน้อยมาก อย่างไรก็ดี ก็มีนักวิชาการอื่นที่ตั้งข้อสงสัยในระเบียบวิธีการเลือกงานวิจัยเพื่อใช้วิเคราะห์ในงานวิเคราะห์อภิมานนี้ และในคุณค่าของผลที่ได้[165][166][167]
สังคมและวัฒนธรรม
กรมดูแลสุขภาพของประเทศอังกฤษ (National Health Service) ได้ประกาศในปี 2008 ว่า จะฝึกเพิ่มผู้บำบัด CBT มากขึ้นเพื่อให้บริการโดยเป็นส่วนงบประมาณของรัฐ[168] และเป็นส่วนของโครงการเพิ่มการเข้าถึงการบำบัดทางจิต (Improving Access to Psychological Therapies ตัวย่อ IAPT)[169] NICE ได้กล่าวว่า CBT จะใช้เป็นวิธีการรักษาหลักของโรคซึมเศร้าที่ไม่รุนแรง และจะใช้ยาก็ในกรณีที่ CBT ปรากฏว่าล้มเหลว[168] แต่ผู้บำบัดก็บ่นว่า ข้อมูลที่มีอยู่ไม่ได้รองรับความสนใจและงบประมาณที่ CBT ได้ นักจิตบำบัดและนักเขียนผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งได้กล่าวว่า นี้เป็น "การปฏิวัติ การใช้อำนาจทางการเมืองของชุมชนที่เกือบจะขังคอกเงินจำนวนมหาศาลไว้ได้... ทุกคนถูกวางเสน่ห์โดยค่าใช้จ่ายที่ถูกที่ CBT ดูเหมือนจะมี"[168][170] ส่วนองค์กรอาชีพ UK Council for Psychotherapy ออกข่าวในปี 2012 โดยกล่าวว่า นโยบายของ IAPT กำลังบั่นทอนวิทยาการจิตบำบัดทั่วไป และคัดค้านข้อเสนอที่จะจำกัดจิตบำบัดที่ได้รับการอนุมัติให้เป็นเพียงแค่ CBT[171] โดยอ้างว่า เป็นการจำกัดคนไข้กับ "CBT ที่ละลายน้ำ บ่อยครั้งทำโดยเจ้าหน้าที่ที่รับการฝึกน้อยมาก"[171] NICE ยังแนะนำให้ให้ CBT แก่บุคคลที่เป็นโรคจิตเภท และบุคคลที่มีโอกาสเสี่ยงต่ออาการวิกลจริต[172]
เชิงอรรถและอ้างอิง
อ่านเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand - on
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.