เนปยีดอ[5] (พม่า: နေပြည်တော်; เอ็มแอลซีทีเอส: Nepranytau, ออกเสียง: [nèpjìdɔ̀] (เน-ปยี-ดอ); มีความหมายว่า "มหาราชธานี"[6][7] หรือ "ที่อยู่ของกษัตริย์")[8][9] เป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางการบริหารของประเทศพม่า ห่างจากย่างกุ้งซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าราว 320 กิโลเมตร[10] ปัจจุบันเนปยีดอเป็นเมืองใหญ่อันดับที่สามของประเทศรองจากย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ และเป็นหนึ่งในสิบเมืองเติบโตเร็วที่สุดในโลก[11]
เนปยีดอ နေပြည်တော် | |
---|---|
เมืองหลวง | |
พิกัด: 19°44′51″N 96°06′54″E | |
ประเทศ | พม่า |
เขตการปกครอง | ดินแดนสหภาพเนปยีดอ[1] |
หน่วยการปกครอง | 8 อำเภอ |
ตั้งรกราก | พ.ศ. 2548 |
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2551 |
การปกครอง[2] | |
• ประธาน | มโยออง |
พื้นที่[3] | |
• ทั้งหมด | 7,054.37 ตร.กม. (2,723.71 ตร.ไมล์) |
ความสูง | 115 เมตร (377 ฟุต) |
ประชากร | |
• ทั้งหมด | 924,608 คน |
• ความหนาแน่น | 131.1 คน/ตร.กม. (339.5 คน/ตร.ไมล์) |
เขตเวลา | UTC+06:30 (เวลามาตรฐานพม่า) |
รหัสพื้นที่ | 067 |
เนปยีดอตั้งอยู่ในหมู่บ้านจะปยีทางทิศตะวันตกของตัวเมืองปยี่นมะน่าในภาคมัณฑะเลย์ เชื่อว่าเหตุผลการย้ายเมืองหลวงมาจากคำทำนายของโหรของพลเอกอาวุโส ต้านชเว รวมถึงเชื่อว่าอาจจะเป็นการฟื้นฟูธรรมเนียมประเพณีเก่าของพม่าสมัยราชาธิปไตย[12] สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาโดยรอบ เมืองนี้อยู่ห่างย่างกุ้งไปทางเหนือประมาณ 320 กิโลเมตร
ปัจจุบันกรุงเนปยีดอมีการพัฒนาถนนทางหลวงหมายเลข 8 เพื่อเชื่อมต่อกับย่างกุ้ง มีโครงการสร้างสถานีรถไฟขึ้นอีก 1 แห่งในเนปยีดอ ถัดจากสถานีในปยี่นมะน่าที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2549 มีการสร้างเจดีย์อุปปาตสันติ ซึ่งจำลองแบบจากเจดีย์ชเวดากองในย่างกุ้ง[13] และทางการยังมีแผนการสร้างสวนสาธารณะ น้ำพุ สวนสัตว์ สวนบริเวณใจกลางเมือง และศูนย์การค้าแห่งใหม่อีก 42 แห่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนเมืองหลวงแห่งใหม่ นอกจากนี้ยังมีแผนการก่อสร้างอาคารทันสมัยต่าง ๆ สำหรับหน่วยงานรัฐ ส่วนที่พักอาศัย โรงพยาบาลเอกชน ธนาคาร อาคารสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพพม่า (UMFCCI) และโครงการศูนย์การค้าระดับนานาชาติ โดยเป็นโครงการที่จะดำเนินไปตลอดทศวรรษหน้า
ศัพทมูลวิทยา
เนปยีดอ มีความหมายว่า "เมืองหลวงของราชวงศ์"[6] "ที่ตั้งของกษัตริย์" หรือ "ที่พำนักของกษัตริย์"[3] เดิมคำนี้ถูกใช้เป็นคำต่อท้ายชื่อเมืองหลวงของราชวงศ์ เช่น มัณฑะเลย์ ได้ถูกเรียกว่า ยะดะนาโบนเนปยีดอ (ရတနာပုံနေပြည်တော်) ชื่อนี้แท้จริงแล้วแปลว่า "ที่พำนักของกษัตริย์" ในภาษาพม่า
ประวัติ
กรุงเนปยีดอเป็นเมืองหลวงใหม่ของประเทศพม่า โดยพลเอกอาวุโส ต้านชเว เป็นผู้ริเริ่มความคิดที่จะย้ายเมืองหลวงจากนครย่างกุ้ง มายังสถานที่แห่งใหม่ด้วยเหตุผลเพื่อความสะดวกในการบริหารงาน เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของกรุงเนปยีดอนั้นตั้งอยู่กลางประเทศพอดี และได้เริ่มสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่นี้ในปี พ.ศ. 2545 โดยกระทรวงกลาโหมพม่าได้ว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง 25 บริษัท มาก่อสร้างสิ่งก่อสร้างและสาธารณูปโภคต่าง ๆ จนเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2549 ก็ได้มีการเฉลิมฉลองเมืองหลวงแห่งใหม่และได้ตั้งชื่อทางการของเมืองว่า "เนปยีดอ" นับแต่นั้นมา
การแบ่งเขตการปกครอง
กรุงเนปยีดอเป็นดินแดนสหภาพซึ่งได้รับการบริหารโดยตรงจากประธานาธิบดี คำสั่งของประธานาธิบดีจะถูกดำเนินการในนามไปสู่นายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาของเนปยีดอ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี อันรวมไปถึงพลเรือนและกองทัพ[14]
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554 ประธานาธิบดีเต้นเซนได้แต่งตั้งให้เต้นหญุ่นเป็นนายกเทศมนตรีเมืองเนปยีดอ พร้อมด้วยสมาชิกอีก 9 คน คือ ต้านเท่, ต้านออง, พันเอก มหยิ่น-อองต้าน, กานชูน, ไปง์โซ่, ซอละ, มหยิ่นซเว, มหยิ่นชเว และมโยหญุ่น[15]
ดินแดนสหภาพเนปยีดอประกอบด้วยเขตเมืองและอำเภอที่อยู่ล้อมรอบอีกแปดอำเภอ[16] เขตเมืองถูกแบ่งออกเป็นสี่เขต อำเภอที่มีอยู่เดิมมีสามอำเภอ คือ อำเภอปยี่นมะน่า อำเภอแลเว่ และอำเภอตะโก้น ซึ่งเดิมขึ้นกับจังหวัดยะแม่ที่น และมีอำเภอใหม่ห้าอำเภอ คือ โอะตะระตีริ แดะคินะตีริ โปะบะตีริ ซะบูตีริ และเซยาตีริ ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 ได้มีการย้ายที่ทำการรัฐบาลมายังเมืองหลวงใหม่แห่งนี้ เหลือเฉพาะสำนักคณะกรรมการกระทรวงยังคงอยู่ในนครย่างกุ้ง[16]
- เขตเมือง
- อำเภอที่มีอยู่แต่เดิม
- อำเภอปยี่นมะน่า (ပျဉ်းမနားမြို့နယ်)
- อำเภอแลเว่ ( လယ်ဝေးမြို့နယ်)
- อำเภอตะโก้น (တပ်ကုန်းမြို့နယ်)
- อำเภอที่ถูกตั้งขึ้นใหม่
- อำเภอโอะตะระตีริ (ဥတ္တရသီရိ မြို့နယ်, บาลี: อุตฺตรสิริ)
- อำเภอแดะคินะตีริ (ဒက္ခိဏသီရိ မြို့နယ်, บาลี: ทกฺขิณสิริ)
- อำเภอโปะบะตีริ (ပုဗ္ဗသီရိ မြို့နယ်, บาลี: ปุพฺพสิริ)
- อำเภอซะบูตีริ (ဇမ္ဗူသီရိ မြို့နယ်, บาลี: ชมฺพุสิริ)
- อำเภอเซยาตีริ (ဇေယျာသီရိ မြို့နယ်, บาลี: เชยฺยสิริ)
ภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ
กรุงเนปยีดอตั้งอยู่ระหว่างทิวเขาพะโคกับทิวเขาชาน อยู่ทางทิศเหนือของนครย่างกุ้ง 323 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 7,054.37 ตารางกิโลเมตร นับเป็นเมืองหลวงที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ขนาดใหญ่กว่าประเทศสิงคโปร์ถึง 10 เท่า)[17] มีความสูงระหว่าง 90–200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
ข้อมูลภูมิอากาศของเนปยีดอ | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เดือน | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. | ทั้งปี |
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) | 32 (90) |
35 (95) |
38 (100) |
39 (102) |
37 (99) |
34 (93) |
33 (91) |
33 (91) |
34 (93) |
35 (95) |
34 (93) |
32 (90) |
34.5 (94.1) |
อุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละวัน °C (°F) | 23 (73) |
25 (77) |
29 (84) |
32 (90) |
31 (88) |
29 (84) |
29 (84) |
28 (82) |
29 (84) |
29 (84) |
27 (81) |
24 (75) |
27.9 (82.2) |
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) | 16 (61) |
17 (63) |
21 (70) |
25 (77) |
26 (79) |
26 (79) |
25 (77) |
25 (77) |
25 (77) |
24 (75) |
22 (72) |
18 (64) |
22.5 (72.5) |
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) | 5 (0.2) |
2 (0.08) |
9 (0.35) |
33 (1.3) |
154 (6.06) |
160 (6.3) |
198 (7.8) |
229 (9.02) |
186 (7.32) |
131 (5.16) |
37 (1.46) |
7 (0.28) |
1,151 (45.31) |
วันที่มีหยาดน้ำฟ้าโดยเฉลี่ย | 1 | 0 | 1 | 3 | 14 | 21 | 23 | 24 | 19 | 12 | 4 | 1 | 123 |
แหล่งที่มา: Weather2Travel.com. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2013 |
การคมนาคม
การเดินทางจากนครย่างกุ้งมุ่งสู่กรุงเนปยีดอระยะทาง 323.3 กิโลเมตร มีความสะดวกและรวดเร็วโดยใช้ถนน 8 เลน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองย่างกุ้ง–เนปยีดอ–มัณฑะเลย์ ระยะทางกว่า 563 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันทางหลวงสายนี้ยังไม่ถูกใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ ดังจะเห็นได้จากจำนวนรถยนต์ที่วิ่งมีน้อย ส่วนระบบขนส่งสาธารณะยังจำกัดอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น โดยรัฐบาลพม่ามีการวางแผนจะสร้างระบบรถไฟใต้ดินระยะทางกว่า 50 กิโลเมตร ซึ่งมีการร่วมทุนกับบริษัทของรัสเซีย ถนนบางเส้นทางในกรุงเนปยีดอห้ามรถจักรยานยนต์วิ่ง
กรุงเนปยีดอมีท่าอากาศยานนานาชาติเนปยีดอซึ่งตั้งอยู่ห่างจากใจกลางเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 16 กิโลเมตร เดิมเป็นสนามบินขนาดเล็กใช้ในการคมนาคมภายในประเทศเท่านั้น แต่หลังจาก พ.ศ. 2552 ทางรัฐบาลพม่ามีแผนจะขยายสนามบินให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 3.5 ล้านคนต่อปี และในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2554 สายการบินฮ่องกงแอร์ไลน์เป็นสายการบินต่างชาติสายแรกที่เปิดให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศคือ ฮ่องกง–เนปยีดอ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ให้บริการเส้นทางบินโดยเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556[18]
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.