Loading AI tools
นักการกุศลและนักประพันธ์ชาวอังกฤษ (เกิด: ค.ศ. 1965) จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โจแอนน์ "โจ" โรว์ลิง (อังกฤษ: Joanne "Jo" Rowling, OBE FRSL[1]) หรือนามปากกา เจ. เค. โรว์ลิง[2] และโรเบิร์ต กัลเบรธ (เกิด 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1965)[3] เป็นนักเขียนนวนิยายชาวอังกฤษ ผู้เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ประพันธ์วรรณกรรมแฟนตาซีชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งได้รับความความสนใจจากทั่วโลก ได้รับรางวัลมากมาย และมียอดขายกว่า 500 ล้านเล่ม[4] และยังเป็นหนังสือชุดที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์[5] ด้านภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือก็เป็นภาพยนตร์ชุดที่ทำรายได้มากที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์[6] โรว์ลิงอนุมัติบทภาพยนตร์ทุกภาค[7] และตลอดจนควบคุมงานฝ่ายสร้างสรรค์ภาพยนตร์ภาคสุดท้ายในฐานะผู้อำนวยการสร้าง[8]
เจ. เค. โรว์ลิง CH OBE FRSL | |
---|---|
โรว์ลิงที่ทำเนียบขาว ในปี ค.ศ. 2010 | |
เกิด | โจแอนน์ โรว์ลิง 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1965 เยตส์ กลอสเตอร์เชอร์ ประเทศอังกฤษ |
นามปากกา |
|
อาชีพ |
|
จบจาก |
|
ช่วงเวลา | ร่วมสมัย |
แนวs |
|
ช่วงปีที่ทำงาน | ค.ศ. 1997–ปัจจุบัน |
คู่สมรส |
|
บุตร | 3 คน |
ลายมือชื่อ | |
เว็บไซต์ | |
jkrowling |
โรว์ลิงเกิดที่เมืองเยตส์ มณฑลกลอสเตอร์เชอร์ เคยทำงานเป็นนักวิจัยและเลขานุการสองภาษาให้กับองค์การนิรโทษกรรมสากล ก่อนได้ความคิดสำหรับชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์บนขบวนรถไฟที่ล่าช้าจากแมนเชสเตอร์ไปลอนดอนเมื่อปี 1990[9] อีกเจ็ดปีถัดมา เธอเสียมารดา หย่าร้างกับสามีคนแรกและค่อนข้างยากจน จนโรว์ลิงเขียน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ เสร็จในปี 1997 มีภาคต่อหกเล่ม เล่มสุดท้ายคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ในปี 2007 จากนั้นโรว์ลิงเขียนหนังสือสำหรับผู้อ่านผู้ใหญ่สามเรื่อง ได้แก่ เก้าอี้ว่าง (2012) และนวนิยายสืบสวนสอบสวนชุดคอร์โมรัน สไตรก์ โดยใช้ชื่อปลอมในการเขียนว่า โรเบิร์ต กัลเบรธ[10] โดยในปี 2020 เธอยังได้เผยแพร่นิยายการเมืองสำหรับเด็กเรื่อง อิ๊กคาบ็อก ผ่านทางออนไลน์อีกด้วย[11]
ชีวิตของโรว์ลิงพลิกผันจากความยากจนไปสู่ความร่ำรวย จากเดิมที่เธอเคยต้องพึ่งเงินสงเคราะห์จากรัฐบาลเพื่ออยู่รอด เธอได้เปลี่ยนสถานะกลายเป็นมหาเศรษฐีในห้าปี โดย ซันเดย์ไทม์ริชลิสต์ ประจำปี 2008 ประเมินทรัพย์สินของโรว์ลิงไว้ 560 ล้านปอนด์ เป็นหญิงที่ร่ำรวยที่สุดอันดับที่สิบสองของสหราชอาณาจักร[12] ส่วนนิตยสารฟอบส์ได้จัดอันดับเมื่อปี 2007 ให้เธอเป็นคนดังที่ทรงอิทธิพลที่สุดในอันดับที่สี่สิบแปดของโลก[13] ในปีเดียวกันนิตยสารไทม์ยกเธอให้เป็นรองบุคคลแห่งปี 2007 จากการให้แรงบันดาลใจแก่แฟนคลับไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคม ศีลธรรม และการเมือง[14] และในเดือนตุลาคม 2010 โรว์ลิงยังได้เป็น "สตรียอดทรงอิทธิพลในบริเตน" จากการเสนอชื่อของบรรณาธิการนิตยสารชั้นนำต่าง ๆ[15] เธอยังให้การสนับสนุนองค์กรการกุศลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมมิครีลีฟ วันแพเรนต์แฟมิลีส์ สมาคมเพื่อผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งแห่งสหราชอาณาจักร และมูลนิธิลูมอส (ชื่อเดิมคือชิลเดรนส์ไฮเลเวลกรุ๊ป) ส่วนในทางการเมือง เธอสนับสนุนพรรคแรงงานและกลุ่มเบทเทอร์ทูเกเตอร์
แม้เธอจะเขียนหนังสือภายใต้นามปากกา “เจ. เค. โรว์ลิง”[16] แต่ชื่อของเธอก่อนที่จะแต่งงานใหม่นั้นคือ “โจแอนน์ โรว์ลิง” อย่างไรก็ตามสำนักพิมพ์ของเธอคาดว่าเด็กผู้ชายซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายอาจจะไม่อยากอ่านหนังสือที่เขียนโดยผู้หญิง จึงขอให้เธอใช้ตัวย่อสองตัวแทนชื่อเต็ม และเนื่องด้วยเธอไม่มีชื่อกลางเธอจึงเลือกตัว K (ย่อมากจาก แคทรีน) ชื่อย่าของเธอมาเป็นตัวย่อที่สองของนามปากกา[17] เธอมักจะเรียกตัวเองว่า “โจ”[18] ภายหลังการแต่งงาน ในบางครั้งที่ต้องติดต่อธุรกิจส่วนตัวเธอก็จะใช้ชื่อ โจแอนน์ เมอร์เรย์ ซึ่งเป็นนามสกุลของสามีแทน[19][20]
โรว์ลิงเกิดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1965[21][22] ที่เมืองเยตส์ มณฑลกลอสเตอร์เชอร์ 10ไมล์จากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบริสตอล[23][24] ประเทศอังกฤษ เธอเป็นลูกสาวคนโตของปีเตอร์ โรว์ลิง วิศวกรการบินของบริษัทโรลส์-รอยซ์[25] และแอนน์ โรว์ลิง (นามสกุลเดิม โวแลนท์) นักเทคนิควิทยาศาสตร์[26] ทั้งคู่พบกันบนขบวนรถไฟจากสถานีรถไฟคิงครอสไปเมืองอาร์บรอท เมื่อปี 1964[27] ก่อนจะแต่งงานกันในวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1965[27] ตาทวดของเธอชื่อดูกัล แคมป์เบลล์ เป็นชาวสก็อต เกิดที่เมืองแลมแลช บนเกาะอาร์ราน ประเทศสก็อตแลนด์[28][29] ตาของแม่เธอชื่อหลุยส์ โวแลนท์ เป็นชาวฝรั่งเศสและเคยได้รับรางวัลเหรียญกล้าหาญครัวเดอะแกร์ จากวีรกรรมการป้องกันหมู่บ้านคอร์แซลล์ เลอ คองต์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นอกจากนี้โรว์ลิงยังเชื่อว่าเขาเคยได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ในช่วงสงคราม ซึ่งเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์เดียวกันกับที่เธอได้ในปี 2009 ภายหลังเธอก็ได้รับการยืนยันหลังจากมีส่วนร่วมในตอนหนึ่งของรายการสารคดีชุด Who Do You Think You Are?[30][31]
โรว์ลิงมีน้องสาวหนึ่งคนชื่อว่าไดแอนน์[9] เกิดให้หลังเธอ 23 เดือน[24] เมื่อโรว์ลิงอายุสี่ขวบ ครอบครัวของเธอย้ายไปอยู่ที่วินเทอร์บอร์น ซึ่งเป็นหมู่บ้านละแวกใกล้เคียง[32] เธอเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนเซนต์ไมเคิล ที่ก่อตั้งโดยวิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซ นักการเมืองผู้เรียกร้องให้เกิดการเลิกทาสในอังกฤษและฮันนาห์ มอร์ นักปฏิรูปการศึกษาของอังกฤษ[33][34] อัลเฟรด ดันท์ ครูใหญ่ที่โรงเรียนแห่งนี้ภายหลังได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้เธอสร้างตัวละครอัลบัส ดัมเบิลดอร์ ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ขึ้น[35]
ในวัยเด็กโรว์ลิงมักจะเขียนเรื่องราวแฟนตาซี ซึ่งเธอมักจะอ่านให้น้องสาวฟังอยู่บ่อย ๆ[16] เมื่ออายุเก้าขวบ ครอบครัวเธอย้ายไปอยู่ที่บ้านกระต๊อบ ในหมูบ้านทัดชิล มณฑลกลอสเตอร์เชอร์ ใกล้กันกับเมืองเช็พสโตว์ ประเทศเวลส์[24] เธอเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไวย์ดีน ที่ที่แม่ของเธอทำงานอยู่ในหมวดวิชาวิทยาศาสตร์[26] ในช่วงวัยรุ่นตอนต้นโรว์ลิงได้รับหนังสือจากพี่สาวของปู่เป็นอัตชีวประวัติของเจสสิกา มิดฟอร์ด เรื่อง Hons and Rebels[36] โรว์ลิงอ่านหนังสือของเธอทุกเล่มและมิดฟอร์ดได้กลายเป็นวีรสตรีของโรว์ลิงไปในที่สุด[37]
โรว์ลิงเล่าถึงชีวิตในวัยรุ่นของเธอว่าไม่มีความสุข[25] เนื่องจากครอบครัวมีปัญหาหลายอย่าง ทั้งอาการป่วยของแม่และความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างเธอกับพ่อ ซึ่งปัจจุบันทั้งสองก็ไม่ยอมพูดด้วยกัน[25] โรว์ลิงกล่าวในภายหลังว่าเธอสร้างตัวละครเฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์ขึ้นโดยอิงจากนิสัยของเธอตอนอายุ 11 ปี[38] ในขณะที่สตีฟ เอ็ดดี ครูสอนภาษาอังกฤษของโรว์ลิงจดจำเธอได้ว่า"เธอเป็นเด็กที่ไม่ถึงกับโดดเด่น แต่ก็เป็นหนึ่งในนักเรียนเรียนหญิงที่ฉลาดและเก่งภาษาอังกฤษเอามาก ๆ"[25] โรว์ลิงมีเพื่อนสนิทชื่อณอน แฮร์ริส เจ้าของรถฟอร์ดแองเกลียสีเทอร์ควอยซ์ ที่ต่อมาก็ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอสร้างรถฟอร์ดแองเกลียบินได้ของพวกวิสลีย์ที่ปรากฏอยู่ใน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ ขึ้น[39] ในช่วงนั้นเธอชอบฟังเพลงของวงเดอะสมิธส์และเดอะแคลช[40] โรว์ลิงเลือกเรียนหลักสูตรเอเลเวลในวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาเยอรมัน เธอได้เกรดเอสองตัวและบีหนึ่งตัวตามลำดับ นอกจากนี้เธอยังเป็นประธานนักเรียนหญิงอีกด้วย[25]
ในปี 1982 โรว์ลิงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดแต่ไม่ผ่านการคัดเลือก[25] เธอจึงเข้าศึกษาในคณะศิลปศาสตร์สาขาภาษาฝรั่งเศสและวรรณกรรมคลาสสิค ที่มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์แทน[41] มาร์ติน ซอเรล อาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสที่มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์จดจำเธอได้ว่า "เธอเป็นเด็กที่มีความสามารถ ผมสีดำ ใส่แจ๊กเก็ตยีนส์ ในด้านการเรียนก็ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ควรทำ"[25] โรว์ลิงเล่าถึงช่วงนั้นว่าเธอทำงานพิเศษเล็กน้อย ชื่นชอบการฟังเพลงของวงเดอะสมิธส์ และอ่านงานเขียนของดิกคินส์และโทลคีน[25] หลังจากศึกษาที่ปารีสเป็นเวลาหนึ่งปี โรว์ลิงได้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ในปี 1986[25] จากนั้นจึงย้ายมาอยู่ที่ลอนดอน โดยทำงานเป็นนักวิจัยและเลขานุการสองภาษาให้กับองค์การนิรโทษกรรมสากล[42] ในปี 1988 โรว์ลิงได้เขียนบทความสั้นเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เธอเรียนวิชาวรรณกรรมคลาสสิค ในบทความเรื่อง "What was the Name of that Nymph Again? or Greek and Roman Studies Recalled" ตีพิมพ์โดยนิตยสารเพกาซัส นิตยสารข่าวของมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์[43]
โรว์ลิงตัดสินใจลาออกจากงานที่องค์การนิรโทษกรรมสากลที่ลอนดอน เธอและแฟนหนุ่มของเธอในขณะนั้นจึงได้ตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่เมืองแมนเชสเตอร์[24] เธอได้รับงานใหม่ที่หอการค้า[27] และในปี 1990 ระหว่างที่เธออยู่บนรถไฟขบวนจากแมนเชสเตอร์ไปลอนดอนซึ่งล่าช้าไปกว่า 4 ชั่วโมง ภาพของเด็กชายที่เข้าเรียนโรงเรียนพ่อมดก็ได้ “ประดัง” เข้ามาอยู่ในความคิดของเธอ[24][44][44]
เมื่อเดินทางกลับถึงแฟลตของเธอที่อยู่แถวสถานีรถไฟแคลปแฮมจังชั่น เธอจึงเริ่มลงมือเขียนในทันที[24][45] และในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน แอนน์ แม่ของเธอเสียชีวิตหลังจากทนทุกข์กับโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งมานานกว่า 10 ปี[24] โรว์ลิงไม่เคยบอกแม่ว่าในตอนนั้นเธอกำลังเขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์อยู่[20] และการตายของแม่ก็ส่งผลกระทบต่องานเขียนของโรว์ลิงเป็นอย่างมาก เธอจึงสามารถเพิ่มเติมรายละเอียดเรื่องการสูญเสียพ่อแม่ของแฮร์รี่ได้มากกว่าเดิมเนื่องจากเธอรู้ดีว่ามันรู้สึกอย่างไร[46]
โรว์ลิงย้ายไปทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศที่เมืองปอร์โต ประเทศโปรตุเกส[9][37] หลังเห็นโฆษณาในหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน[27] เธอสอนในเวลากลางคืนและเริ่มงานเขียนในเวลากลางวันพร้อมกับฟังไวโอลินคอนแชร์โตของไชคอฟสกีไปด้วย[25] 18 เดือนหลังย้ายมาอยู่ที่ปอร์โต เธอได้พบกับยอร์จ อารังชีส นักข่าวโทรทัศน์ชาวโปรตุเกส ที่บาร์แห่งหนึ่ง ก่อนจะแลกเปลี่ยนความสนใจกันเกี่ยวกับเจน ออสเตน[27] ทั้งคู่แต่งงานกันในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1992 และมีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคนชื่อเจสสิกา อิซาเบล โรว์ลิง อารังชีส (ตั้งชื่อตามเจสสิกา มิดฟอร์ด)[27] ซึ่งก่อนหน้านี้โรว์ลิงเคยแท้งบุตรมาแล้วหนึ่งครั้ง[27] ทั้งสองแยกทางกันในวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1993[27][47] แม้จะไม่ทราบรายละเอียดที่แน่ชัดแต่ผู้เขียนชีวประวัติของเธอได้ระบุว่าโรว์ลิงต้องพบเจอกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวตลอดช่วงชีวิตคู่ของเธอกับอารังชีส[27][48] ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1993 โรว์ลิงและลูกสาว ซึ่ง ณ ขณะนั้นยังเป็นทารก ได้ย้ายไปอยู่บ้านในละแวกใกล้กันกับบ้านของน้องสาวโรว์ลิงในเอดินบะระ ประเทศสก็อตแลนด์[24] พร้อมกับสามบทแรกของแฮร์รี่ พอตเตอร์ในกระเป๋าเดินทาง[25]
เจ็ดปีหลังจากจบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย โรว์ลิงมองดูตัวเองเป็นคนที่ประสบความล้มเหลวคนหนึ่ง[49] ชีวิตคู่ของเธอล้มเหลว เธอตกงานและมีลูกอีกหนึ่งคนที่ต้องดูแล แต่เธอได้อธิบายความล้มเหลวของเธอว่าเป็นการมอบอิสระและสามารถทำให้เธอมีเวลาจดจ่อกับการเขียนมากขึ้น[49] ในช่วงเวลานั้นโรว์ลิงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าและมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย[50] อาการป่วยของเธอได้เป็นแรงบันดาลใจให้เธอสร้างตัวละครผู้คุมวิญญาณ สิ่งมีชีวิตที่ดูดกินวิญญาณและความสุขซึ่งปรากฏตัวในเล่มที่สาม[51] และด้วยปัญหาทางการเงิน โรว์ลิงจึงได้ยื่นเรื่องเพื่อขอรับเงินสงเคราะห์ของรัฐบาล เธอได้อธิบายสถานภาพทางการเงินของเธอ ณ ตอนนั้นว่า “ไม่ได้ไร้บ้าน แต่ก็ยากจนเท่าที่มันจะเป็นได้ในประเทศอังกฤษสมัยปัจจุบัน”[25][49]
โรว์ลิงรู้สึกเป็นห่วงความปลอดภัยของตัวเองและลูกสาว หลังอารังชีสบินมาสก็อตแลนด์เพื่อตามหาเธอและลูก[27] ภายหลังเธอได้รับคำสั่งให้ได้รับการคุ้มครอง ทำให้อารังชีสต้องกลับโปรตุเกสไป จนกระทั่งเธอได้ยื่นฟ้องหย่าเขาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1994[27] หลังจากนั้นเธอเขียนนิยายเล่มแรกเสร็จโดยอาศัยเงินสงเคราะห์เพื่อยังชีพ[52] และในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1995 เธอเริ่มต้นเข้ารับการอบรมการสอนที่วิทยาลัยมอร์เรย์เฮ้าส์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอดินบะระ[53] เธอได้เขียนที่ร้านกาแฟหลายแห่งโดยเฉพาะร้านนิโคลสันส์คาเฟ่ (เจ้าของร้านเป็นน้องเขยของเธอเอง)[54][55] และร้านดิเอเลเฟ่นท์เฮ้าส์[56] ร้านกาแฟเป็นสถานที่ที่เธอสามารถทำให้เจสสิกายอมนอนได้[24][57] โรว์ลิงได้ให้การปฏิเสธข่าวลือในบทสัมภาษณ์ของบีบีซีเมื่อปี 2001 ที่ลือว่าเธอเขียนในร้านกาแฟละแวกบ้านเพื่อที่จะไม่ต้องอยู่ที่ห้องของเธอซึ่งอากาศในห้องไม่อบอุ่น เธอได้บอกว่าห้องของเธอนั้นมีฮีตเตอร์ โดยเหตุผลหนึ่งที่เธอเลือกเขียนในร้านกาแฟก็เป็นเพราะการพาลูกออกไปเดินเล่นข้างนอกเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะทำให้เจสสิกาหลับได้[57]
ในปี 1995 โรว์ลิงเขียนต้นฉบับของ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ เสร็จด้วยเครื่องพิมพ์ดีดรุ่นเก่า[59] เธอส่งต้นฉบับไปให้บริษัทตัวแทนคริสโตเฟอร์ ลิตเติ้ลในฟูแล่ม ภายหลังจากที่ได้อ่านสามบทแรกของต้นฉบับ ไบรโอนี่ อีแวนผู้พิจารณาต้นฉบับก็รู้สึกสนใจเป็นอย่างมาก ทางบริษัทจึงตกลงที่จะเป็นตัวแทนของโรว์ลิงในการหาผู้ตีพิมพ์ โดยส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์ 12 แห่งพิจารณา แต่ก็ได้รับการปฏิเสธทั้งหมด[27] ในที่สุดหนึ่งปีให้หลังเธอก็ได้รับการอนุมัติ (พร้อมเงินจ่ายล่วงหน้า 1,500 ปอนด์) จากแบร์รี คันนิงแฮม บรรณาธิการสำนักพิมพ์บลูมบิวส์รีในลอนดอน[27][60] การตัดสินใจตีพิมพ์หนังสือของโรว์ลิงถือเป็นหนี้บุญคุณของอลิซ นิวตัน ลูกสาววัยแปดขวบของประธานบริหารสำนักพิมพ์บลูมบิวส์รี ซึ่งได้ลองให้ลูกสาวอ่านบทแรกของหนังสือดูและปรากฏว่าเธอขออ่านบทต่อไปในทันทีที่อ่านบทแรกจบ[61] และแม้ว่าบลูมบิวส์รีจะตกลงที่จะตีพิมพ์หนังสือ แต่คันนิงแฮมแนะนำให้โรว์ลิงหางานช่วงกลางวันทำเนื่องจากเธอมีโอกาสน้อยมากที่จะทำเงินจากหนังสือเด็ก[62] ไม่นานหลังจากนั้น ในปี 1997 โรว์ลิงได้รับเงินจากสภาศิลปะสก็อตเป็นเงินจำนวน 8,000 ปอนด์เพื่อสนับสนุนเธอในงานเขียนครั้งต่อ ๆ ไป[63]
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1997 บลูมบิวส์รีตีพิมพ์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ โดยตีพิมพ์ครั้งแรกทั้งหมด 1,000 เล่ม หนังสือ 500 เล่มจากทั้งหมดได้ถูกแจกจ่ายให้กับห้องสมุดต่าง ๆ ในปัจจุบันหนังสือเหล่านี้มีมูลค่าอยู่ระหว่าง 16,000 ปอนด์ไปจนถึง 25,000 ปอนด์[64] ห้าเดือนให้หลัง ศิลาอาถรรพ์ ก็ได้รับรางวัลหนังสือเนสเล่สมาร์ตตีส์ จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ก็ได้รับรางวัลบริติชบุ๊คอวอร์ด สาขาหนังสือเด็กแห่งปีและตามด้วยรางวัลชิลเดรนส์บุ๊คอวอร์ด ต่อมาในช่วงต้นปี 1998 มีการจัดการประมูลขึ้นที่สหรัฐอเมริกา เพื่อยื่นซื้อลิขสิทธิ์ในการตีพิมพ์นิยายและสำนักพิมพ์สกอแลสติกชนะการประมูลด้วยค่าลิขสิทธิ์ 105,000 ดอลล่าร์ โรว์ลิงกล่าวว่าเธอ “แทบคลั่ง” เมื่อทราบข่าวนี้[65] ในเดือนตุลาคม ปี 1998 สำนักพิมพ์สกอแลสติกได้ตีพิมพ์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ และเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษจากคำว่า Philosopher's Stone เป็น Harry Potter and the Sorcerer's Stone การปรับเปลี่ยนในครั้งนี้โรว์ลิงได้บอกว่าเธอรู้สึกเสียดายและคงจะคัดค้านถ้าเธออยู่ในสถานะที่ดีกว่าที่เธอเป็น ณ ตอนนั้น[66] ภายหลังโรว์ลิงย้ายออกจากแฟลตของเธอมาอยู่ที่บ้านเลขที่ 19 ถนนฮาร์เซลแบงก์ เทอร์เรซ ในเอดินบะระ ด้วยเงินที่ได้จากการขายลิขสิทธิ์ให้สกอแลสติก[54]
จากนั้นหนังสือภาคต่อ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ ก็ได้รับการตีพิมพ์ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1998และเป็นอีกครั้งที่โรว์ลิงได้รับรางวัลหนังสือเนสเล่สมาร์ตตีส์[67] ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1999 แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน ก็ได้รับรางวัลดังกล่าวอีกครั้งและทำให้โรว์ลิงเป็นนักเขียนคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้สามครั้งติดต่อกัน[68] ภายหลังเธอถอนชื่อหนังสือเล่มที่สี่ของเธอออกจากการแข่งขันเพื่อเปิดโอกาสและให้ความยุติธรรมแก่นักเขียนคนอื่น แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน ยังได้รับรางวัลหนังสือวิตเบรดสาขาหนังสือเด็กแห่งปี แม้ว่าจะพลาดรางวัลสาขาหนังสือแห่งปีให้กับเบวูล์ฟฉบับแปลของเชมัส ฮีนีย์ก็ตาม[69]
หนังสือเล่มที่สี่ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี วางจำหน่ายพร้อมกันทั้งในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรในวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 2000 และทำลายสถิติยอดขายของทั้งสองประเทศ โดยสามารถขายได้ 372,775 เล่มในวันแรกที่อังกฤษ ซึ่งเกือบจะเท่ากับจำนวนยอดขายตลอดปีของ นักโทษแห่งอัซคาบัน[70] ส่วนที่อเมริกาก็สามารถขายได้กว่าสามล้านเล่มภายในเวลา 48 ชั่วโมงแรกและทำลายทุกสถิติ[70] โรว์ลิงกล่าวว่าเธอต้องเจอกับปัญหาใหญ่ระหว่างที่เขียนหนังสือเล่มนี้ และต้องเขียนบทนึงในหนังสือใหม่หลายครั้งเพื่อแก้ปัญหาของโครงเรื่อง[71] ในปีนั้นเองโรว์ลิงได้รับการระบุให้เป็นนักเขียนแห่งปี 2000 จากรางวัลบริติชบุ๊คอวอร์ด[72]
เป็นการรอคอยนานกว่าสามปีตั้งแต่การวางแผงของ ถ้วยอัคนี กับเล่มที่ห้า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ ระยะห่างนี้ได้นำไปสู่การคาดการณ์ของนักข่าวว่าเธอเจอเข้ากับภาวะเขียนต่อไม่ออก แต่เธอได้ออกมาปฏิเสธ[73] และกล่าวในภายหลังว่าการเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นงานที่น่าเบื่อ เนื่องจากมันควรที่จะสั้นกว่านี้ อีกทั้งเธอยังหมดทั้งแรงและเวลาทุกครั้งที่พยายามจะเขียนมันต่อให้จบ[74]
หนังสือเล่มที่หก แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม วางจำหน่ายในวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 2005 และทำลายทุกสถิติการขายเช่นกัน สามารถขายได้ถึง 9 ล้านเล่มภายในเวลา 24 ชั่วโมงแรกของการวางขาย[75] ต่อมาในปี 2006 เจ้าชายเลือดผสม ได้รับรางวัลหนังสือแห่งปีจากบริติชบุ๊คอวอร์ด[67]
ชื่อของหนังสือเล่มที่เจ็ดซึ่งเป็นภาคสุดท้ายของหนังสือชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้รับการประกาศในวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 2006 โดยใช้ชื่อว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต (Harry Potter and the Deathly Hallows)[76] และในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 มีการประกาศว่าโรว์ลิงได้เขียนข้อความลงบนรูปปั้นครึ่งตัวในห้องพักของเธอที่โรงแรมบัลโมรัล เมืองเอดินบะระ ว่าเธอได้เขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มที่เจ็ดเสร็จในห้องนี้เมื่อวันที่ 11 มกราคม ปี 2007[77] แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต วางจำหน่ายในวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 (เวลาเที่ยงคืนหนึ่งนาที)[78] และทำลายสถิติหนังสือที่ขายได้ไวที่สุดตลอดกาลที่ภาคก่อนเคยทำได้สำเร็จ[79] สามารถขายได้ถึง 11 ล้านเล่มในการวางขายวันแรกที่สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา[79] และบทสุดท้ายของหนังสือก็เป็นหนึ่งในบทที่เธอเขียนไว้ตั้งแต่ช่วงปี 1990 แล้ว[80]
ณ ตอนนี้ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ถือเป็นชื่อสินค้าระดับโลกที่มูลค่ามากกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[81] และหนังสือสี่เล่มสุดท้ายของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็สร้างสถิติเป็นหนังสือที่ขายได้ไวที่สุดติดต่อกัน[79][82] หนังสือทั้งเจ็ดเล่มมีจำนวนหน้าทั้งหมด 4,195 หน้า[83] และมีการนำไปแปลเป็นภาษาต่าง ๆ กว่า 73 ภาษา[84][85]
หนังสือชุด แฮร์ พอตเตอร์ ยังได้รับการยอมรับว่าสามารถสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่เยาวชนในยุคที่เด็ก ๆ ต่างออกห่างจากหนังสือไปหาคอมพิวเตอร์และโทรทัศน์แทน[86] อย่างไรก็ตามก็ได้มีรายงานว่า ถึงแม้หนังสือชุดนี้จะสร้างความสนใจได้อย่างมหาศาล แต่จำนวนนักอ่านรุ่นเยาว์ก็ยังคงลดลงต่อไป[87]
ในเดือนตุลาคม ปี 1998 วอร์เนอร์บราเธอร์สได้ซื้อลิขสิทธิ์หนังสือสองภาคแรกจากโรว์ลิงด้วยเงินจำนวนเจ็ดหลัก[88] หลังจากนั้นภาพยนตร์ภาคแรก แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ได้เข้าฉายในวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 2001 และตามด้วยภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ ฉายในวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002[89] ภาพยนตร์ทั้งสองภาคกำกับโดยคริส โคลัมบัส ต่อมาภาพยนตร์ของ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน เข้าฉายในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 2004 กำกับภาพยนตร์โดยอัลฟองโซ กัวรอง ส่วนภาพยนตร์ภาคที่สี่ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี กำกับโดย ไมค์ นิวเวลล์และฉายในวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 2005 จากนั้นภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ ออกฉายในวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 2007[89] มีเดวิด เยตส์เป็นผู้กำกับ และได้ไมเคิล โกลเดนเบิร์กมาเขียนบทภาพยนตร์แทนสตีฟ โคลฟที่เขียนบทสี่ภาคแรก หลังจากนั้นภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม ก็ได้เข้าฉายเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2009[90] อีกทั้งยังได้เดวิด เยตส์มากำกับภาพยนตร์เช่นเดิมและสตีฟ โคลฟก็ได้กลับมาเขียนบทภาพยนตร์อีกครั้ง[91] วอร์เนอร์บราเธอร์สแบ่งภาพยนตร์ภาคสุดท้าย แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ออกเป็นสองส่วน ภาคแรกเข้าฉายในวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 2010 และภาคสอง ฉายในวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2011 เดวิด เยตส์เป็นผู้กำกับทั้งสองภาค[92][93]
ในขณะที่ร่างสัญญาลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ วอร์เนอร์บราเธอร์สได้ยินยอมรับเงื่อนไขสำคัญล่วงหน้าตามความต้องการและความคิดของโรว์ลิง โดยหนึ่งในเงื่อนไขที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดก็คือ เธอต้องการให้ภาพยนตร์ถ่ายทำที่ประเทศอังกฤษและใช้นักแสดงอังกฤษทั้งหมด[94] ซึ่งวอร์เนอร์ก็ได้ปฏิบัติตามเป็นอย่างดี โรว์ลิงยังต้องการให้บริษัทโคคา-โคล่าที่ร่วมลงทุนผลิตในภาพยนตร์ชุดนี้ บริจาคเงินจำนวน 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่มูลนิธิรีดดิงอีสฟันดาเมนทอลรวมถึงโครงการการกุศลอื่น ๆ[95]
ภาพยนตร์สี่ภาคแรก ภาคหกและภาคเจ็ดได้รับการเขียนบทโดยสตีฟ โคลฟ ซึ่งโรว์ลิงได้ให้การช่วยเหลือเขาในขั้นตอนการเขียนบทภาพยนตร์ เพื่อให้แน่ใจว่าบทภาพยนตร์จะไม่ขัดแย้งกับเนื้อหาของหนังสือในอนาคต[96] เธอได้บอกความลับที่จำเป็นแก่อลัน ริคแมน (เซเวอรัส สเนป) และร็อบบี้ โคลทราน (รูเบอัส แฮกริด) เกี่ยวกับตัวละครของพวกเขาก่อนที่จะมีการเปิดเผยในหนังสือ[97] นอกจากนี้ผู้กำกับสตีเวน สปีลเบิร์ก ก็เกือบที่จะได้กำกับภาพยนตร์ภาคแรกแต่ก็ถอนตัวออกไป บรรดาสื่อมวลชนได้อ้างอยู่หลายครั้งว่าเป็นเพราะโรว์ลิงได้เข้าไปมีบทบาทต่อการถอนตัวของเขา แต่โรว์ลิงก็ได้กล่าวว่าเธอไม่เคยบอกว่าจะให้ใครมากำกับภาพยนตร์และจะไม่ขัดขวางสปีลเบิร์ก[98] โดยผู้กำกับที่เคยเป็นตัวเลือกแรกของโรว์ลิงคือเทอร์รี กิลเลียม อดีตสมาชิกคณะตลกมอนตี ไพทอน แต่ทางวอร์เนอร์ต้องการให้ภาพยนตร์ออกมาเป็นภาพยนตร์ที่เป็นมิตรกับครอบครัว จึงได้เลือกโคลัมบัสให้มากำกับแทน[99]
โรว์ลิงได้มีส่วนร่วมควบคุมงานฝ่ายสร้างสรรค์บางส่วนในภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบบทภาพยนตร์ทุกภาค[100] และรวมไปถึงการเป็นผู้อำนวยการสร้างในภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ทั้งสองภาคอีกด้วย[101]
หลังจากนั้นในปี 2011 ที่งานประกาศรางวัลบาฟตา โรว์ลิงกับโปรดิวเซอร์เดวิด เฮย์แมนและเดวิด แบรอน รวมทั้งผู้กำกับเดวิด เยตส์, ไมค์ นิวเวลล์ และอัลฟองโซ กัวรอง ได้รับรับรางวัลคุโณปการดีเด่นต่อวงการภาพยนตร์อังกฤษเพื่อเป็นเกียรติแก่ภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์[102]
วันที่ 12 กันยายน 2013 วอร์เนอร์บราเธอร์สประกาศว่า เจ.เค.โรว์ลิงตอบรับที่จะเขียนบทภาพยนตร์ซึ่งเป็นส่วนขยายของจักรวาลโลกเวทมนตร์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ โดยใช้ชื่อหนังสือเรียนที่แฮร์รี่และเพื่อน ๆ ใช้ในฮอกวอตส์ชื่อว่า สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ โดยเป็นการต่อยอดไอเดียของ เจ.เค.โรว์ลิงซึ่งได้มีการพูดคุยกับวอร์เนอร์บราเธอร์สมาตั้งแต่ปี 2011 ในครั้งนี้จะทำออกมาในรูปแบบภาพยนตร์ไตรภาค โดยมี เจ.เค.โรว์ลิงเป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์เองโดยตรง โดยเธอยังได้ย้ำกับทุกคนว่า นี่ไม่ใช่ภาคต่อหรือภาคก่อนหน้าของแฮร์รี่ พอตเตอร์ แต่มันคืออีกเรื่องราวหนึ่งในจักรวาลเดียวกัน โดยพระเอกของเรื่อง (นิวท์ สคามันเดอร์) จะเริ่มต้นเรื่องราวการผจญภัยก่อนหน้าที่แฮร์รี่ พอตเตอร์จะถือกำเนิด 70 ปี
ในตอนแรกภาพยนตร์ถูกวางไว้ให้เป็นภาพยนตร์ไตรภาค ก่อนที่ในเดือนตุลาคม 2016 เจ.เค.โรว์ลิงได้ออกมายอมรับด้วยตนเองว่าภาพยนตร์ชุดนี้จะกลายเป็นหนังชุดยาว 5 ภาคด้วยกัน
ในปี 2004 นิตยสารฟอบส์ ได้ระบุชื่อโรว์ลิงให้เป็นบุคคลแรกที่กลายเป็นเศรษฐีพันล้านจากการเขียนหนังสือ[103] โดยเป็นผู้หญิงในสื่อบันเทิงที่รวยเป็นอันดับที่สองและบุคคลที่รวยเป็นอันดับที่ 1,062 ของโลก[104] โรว์ลิงได้ออกมาโต้แย้งต่อการประเมินในครั้งนี้และกล่าวว่าเธอไม่ใช่เศรษฐีพันล้านแม้เธอจะมีเงินมากก็จริง[105] ต่อมาในปี 2008 นิตยสารซันเดย์ไทม์ริชลิสต์ ได้ระบุชื่อเธอให้เป็นบุคคลที่รวยเป็นอันดับที่ 144 ของเกาะอังกฤษ[12] หลังจากนั้นในปี 2012 นิตยสารฟอบส์ได้ลบชื่อโรว์ลิงออกจากรายชื่อเศรษฐีพันล้าน อ้างว่าเธอได้บริจาคเงินจำนวน 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่การกุศลและเนื่องจากภาษีที่เรียกเก็บสูงของอังกฤษทำให้โรว์ลิงไม่ใช่เศรษฐีพันล้านอีกต่อไป[106] ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2013 เธอได้รับการประเมินจากคลื่นวิทยุวูแมนอาวของสถานีวิทยุบีบีซีเรดิโอออนโฟร์ให้เป็นผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลอันดับที่ 13 ของสหราชอาณาจักร[107]
ในปี 2001 โรว์ลิงได้ซื้อคฤหาสน์สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งอยู่ติดชายฝั่งแม่น้ำเทย์ เมืองแอปเบอร์เฟลดี มณฑลเพิร์ทและคินรอสส์[108] อีกทั้งยังเป็นเจ้าของบ้านแบบสถาปัตยกรรมจอร์เจียนราคากว่า 4.5 ล้านปอนด์ ที่เค็นซิงตันในลอนดอนตะวันตก[109] ตัวบ้านอยู่ติดกับถนนและมีการรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง[110]
โรว์ลิงแต่งงานกับวิสัญญีแพทย์ นีล เมอร์เรย์ (เกิด 30 มิถุนายน ค.ศ. 1971) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 2001 ในพิธีแบบส่วนตัวที่คฤหาสน์ของเธอ ใกล้กันกับเมืองเมืองแอปเบอร์เฟลดี[111] หลังจากนั้นโรว์ลิงให้กำเนิดลูกชายชื่อเดวิด กอร์ดอน โรว์ลิง เมอร์เรย์ ในวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 2003[112] หลังจากที่เริ่มต้นเขียน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม ไม่นาน เธอได้หยุดการเขียนหนังสือไว้เพื่อมาดูแลเดวิดช่วงที่เขายังเป็นทารก[113]
นอกจากนี้โรว์ลิงยังเป็นเพื่อนกับซารา บราวน์ ภรรยาของอดีตนายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ ซึ่งพวกเขาพบกันในตอนที่ร่วมมือกันในโครงการการกุศล และเมื่อซารา บราว์นให้กำเนิดลูกชายเมื่อปี 2003 โรว์ลิงก็เป็นคนแรก ๆ ที่ไปเยี่ยมเธอที่โรงพยาบาล[114] ภายหลังโรว์ลิงให้กำเนิดลูกสาวคนสุดท้องชื่อแมคแคนซี จีน โรว์ลิง เมอร์เรย์ ในวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 2005 ซึ่งเธอก็ได้เขียนคำอุทิศในหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม ให้แก่ลูกสาวเธออีกด้วย[115]
เดือนตุลาคม ปี 2012 บทความของนิตยสารนิวยอร์กได้ระบุว่าครอบครัวโรว์ลิงได้พักอาศัยอยู่บ้านสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในเอดินบะระ มีต้นสนสูงล้อมและปกปิดหน้าบ้านไว้ ก่อนหน้านั้นโรว์ลิงเคยอาศัยอยู่ใกล้กันกับเอียน แรนคิน นักเขียนชาวสก็อต โดยเขาได้กล่าวถึงเธอว่า เธอเป็นคนเงียบ ๆ ชอบเหม่อลอยและดูเหมือนเธอจะเป็นคนสำคัญของลูก ๆ[25][116] จากข้อมูลล่าสุดในเดือนมิถุนายน ปี 2014 ได้ระบุว่าครอบครัวโรว์ลิงยังคงอาศัยอยู่ที่สก็อตแลนด์เช่นเดิม[117]
โรว์ลิงได้แยกทางกับคริสโตเฟอร์ ลิตเติล ตัวแทนคนเก่าในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2011 และได้ย้ายไปอยู่กับบริษัทตัวแทนแห่งใหม่ซึ่งก่อตั้งโดยนีล แบลร์ อดีตพนักงานของลิตเติล[25][118] ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012 บริษัทแบลร์พาร์ทเนอร์ชิพ บริษัทตัวแทนใหม่ของเธอ ได้ออกมาประกาศผ่านเว็บไซต์ว่าโรว์ลิงกำลังจะมีผลงานหนังสือสำหรับผู้ใหญ่เล่มใหม่ และจากการรายงานของนักข่าว โรว์ลิงได้บอกว่าหนังสือเล่มใหม่ของเธอจะแตกต่างจากแฮร์รี่ พอตเตอร์เป็นอย่างมาก ต่อมาในเดือนเมษายน ค.ศ. 2012 สำนักพิมพ์ลิตเติ้ลบราวน์ได้ประกาศชื่อหนังสือโดยใช้ชื่อว่า เก้าอี้ว่าง (The Casual Vacancy) และจะวางแผงในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 2012[119] โรว์ลิงได้ให้สัมภาษณ์และปรากฏตัวต่อสื่อมวลชนหลายครั้งเพื่อโฆษณาหนังสือของเธอ ไม่ว่าจะเป็นย่านเซาท์แบงค์ เซ็นเตอร์,[120] เทศกาลหนังสือนิยายเชลต์นัม,[121] รายการเดอะชาร์ลี โรสโชว์[122] และเทศกาลหนังสือเล็นนอกซ์เลิฟ[123] หลังการวางแผงได้สามสัปดาห์ เก้าอี้ว่าง สามารถขายได้มากกว่า 1 ล้านเล่มทั่วโลก
หลังจากนั้นได้มีการประกาศในวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 2012 ว่า เก้าอี้ว่าง จะได้รับการดัดแปลงเป็นละครซีรีส์โทรทัศน์ทางสถานีบีบีซีวัน ได้นีล แบลร์ ตัวแทนของโรว์ลิงมารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้าง ผลิตโดยบริษัทผลิตสื่ออิสระของเขาร่วมกับริก ซีแนท ผู้อำนวยการสร้างพิเศษ กำกับซีรีส์โดยจอห์นี แคมป์เบลล์ เป็นมินิซีรีส์ความยาวทั้งหมด 3 ตอนจบและได้ออกอากาศในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2015[124]
ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาโรว์ลิงได้พูดถึงการเขียนนวนิยายบันเทิงคดีอาชญากรรมอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งในงานเทศกาลหนังสือเอดินบะระปี 2007 เอียน แรนคินได้อ้างว่าภรรยาของเขาเห็นโรว์ลิงเขียนนวนิยายแนวนักสืบไว้อย่าง "ลวก ๆ" ที่ร้านกาแฟ[125] ภายหลังแรนคินได้ออกมาถอนคำพูดพร้อมกับบอกว่ามันเป็นเพียงแค่มุกตลกของเขาเท่านั้น[126] แต่ข่าวลือก็ยังคงมีอยู่ต่อไปหลังมีรายงานในปี 2012 หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนได้ออกมาคาดการณ์ว่าหนังสือเล่มต่อไปของโรว์ลิงจะเป็นนวนิยายแนวบันเทิงคดีอาชญากรรม[127] และจากการให้สัมภาษณ์กับสตีเวน ไฟรเมื่อปี 2005 ที่โรว์ลิงได้บอกว่าเธออยากจะเขียนหนังสือเล่มต่อ ๆ ไปด้วยชื่อปลอม แต่เธอเองก็ได้ยอมรับกับเจเรมี แพ็กซ์แมนไว้ตั้งแต่ปี 2003 ว่าหากเธอเขียนด้วยชื่อปลอมนักข่าวอาจจะรู้ได้ในทันที[128]
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2013 สำนักพิมพ์ลิตเติ้ล บราวน์ได้ตีพิมพ์หนังสือ เสียงเพรียกจากคักคู ซึ่งเป็นหนังสือเล่มเปิดตัวของนักเขียนชื่อโรเบิร์ต กัลเบรธ โดยสำนักพิมพ์ได้กล่าวถึงประวัติของกัลเบรธว่าเป็น “อดีตตำรวจสอบสวนนอกเครื่องแบบของกรมตำรวจ เขาลาออกจากกรมเมื่อปี 2003 เพื่อเข้าทำงานในบริษัทคุ้มครองสิทธิมนุษยชน”[129] หนังสือ เสียงเพรียกจากคักคู เป็นเรื่องราวของคอร์โมรัน สไตร์ก นักสืบเอกชนที่ได้รับการว่าจ้างให้ไขคดีการตายของนางแบบสาวซึ่งตำรวจสันนิษฐานว่าเธอฆ่าตัวตาย หนังสือขายไปได้เกือบ 500 เล่มในรูปแบบปกแข็งจากยอดพิมพ์ทั้งหมด 1,500 เล่ม[130] และได้รับคำชื่นชมจากทั้งนักวิจารณ์[131] และนักเขียนบันเทิงคดีอาชญากรรมอีกหลายคน[129] นิตยสารพับลิชเชอร์ส วีคลีย์ได้วิจารณ์หนังสือเล่มนี้ว่าเป็น “การเปิดตัวที่เจิดจรัส”[132] ในขณะเดียวกันหมวดนิยายลึกลับของไลบรารี เจอร์เนิล ได้ยกย่องหนังสือเล่มนี้ให้เป็น “การเปิดตัวแห่งเดือน”[133]
อินเดีย ไนท์ นักเขียนนิยายและคอลัมนิสต์จากนิตยสารซันเดย์ ไทมส์ได้ออกมาทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่าเธอได้อ่าน เสียงเพรียกจากคักคู และคิดว่ามันเป็นนวนิยายที่ดีสำหรับการเปิดตัวครั้งแรก หลังจากนั้นได้มีผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ชื่อจู๊ด คาลิคการี (Jude Callegari) ได้ตอบกลับเธอไปว่าผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ “โรว์ลิง” ไนท์ได้ถามเกี่ยวกับรายละเอียดของเรื่องนี้แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับ[134] ไนท์จึงได้แจ้งต่อไปยังริชาร์ด บรู๊ค บรรณาธิการฝ่ายศิลป์ของซันเดย์ ไทมส์ซึ่งก็ได้เริ่มหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้[134][135] หลังจากนั้นเขาพบว่าโรว์ลิงและกัลเบรธต่างมีทั้งตัวแทนและบรรณาธิการเป็นคนเดียวกัน จึงได้ส่งหนังสือไปให้นักภาษาศาสตร์ตรวจสอบ ซึ่งพบความเหมือนทางภาษาหลายอย่าง จากนั้นเขาได้ติดต่อตัวแทนของโรว์ลิงก่อนจะได้รับการยืนยันว่ากัลเบรธคือชื่อปลอมของโรว์ลิง[135] ไม่กี่วันหลังการเปิดเผยว่าว่าโรว์ลิงคือผู้เขียน ยอดขายหนังสือได้พุ่งขึ้นกว่า 4,000 เปอร์เซ็นต์[134] สำนักพิมพ์ลิตเติ้ล บราวน์จึงได้ตีพิมพ์หนังสือเพิ่มอีก 140,000 เล่มเพื่อตอบรับความต้องการของผู้อ่านที่เพิ่มขึ้น[136] ในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 2013 หนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรกพร้อมลายเซ็นที่ได้ขายออกไปในราคา 4,453 ดอลลาร์สหรัฐ และมีการเสนอราคาไว้กว่า 6,188 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรกพร้อมลายเซ็นซึ่งเหลือเป็นเล่มสุดท้าย[130]
โรว์ลิงได้กล่าวว่าเธอรู้สึกสนุกกับการเขียนหนังสือภายใต้ชื่อปลอม[137] โดยเธอได้อธิบายที่มาของชื่อนี้วไว้ในเว็บไซต์โรเบิร์ต กัลเบรธของเธอว่าชื่อมีที่มาจากโรเบิร์ต เคนเนดี ซึ่งเป็นหนึ่งในวีรบุรุษของเธอและจากชื่อเอลล่า กัลเบรธ ชื่อที่เธอเคยอยากให้คนอื่นเรียกเธอเมื่อตอนยังเป็นเด็ก[138]
ไม่นานหลังการเปิดเผย บรู๊คคิดว่าจู๊ด คาลิคการีอาจเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของโรว์ลิง เพื่อเรียกความสนใจของสาธารณชนต่องานเขียนของเธอ[134] โดยจูดี้ “จู๊ด” คาลิคการี เป็นเพื่อนสนิทกับภรรยาของคริส กอสเซจ ผู้ร่วมหุ้นของบริษัททนายความรัสเซลล์และตัวแทนด้านกฎหมายของโรว์ลิง[139][140] โรว์ลิงก็ได้ออกคำแถลงกล่าวว่าเธอรู้สึกโกรธและผิดหวัง[139] ภายหลังรัสเซลจึงได้ออกมาขอโทษเรื่องข่าวหลุดและยืนยันว่าไม่ใช่แผนการตลาด[136] และได้บริจาคเงินให้กับมูลนิธิทหารในนามของโรว์ลิงเพื่อเป็นค่าชดใช้ทางกฎหมายแก่โรว์ลิง[141] ในวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 2013 สำนักงานควบคุมระเบียบทนายความ (SRA) ได้ออกมาตำหนิกอสเซจผ่านทางจดหมายและปรับเงินเขาอีก 1,000 ปอนด์ เนื่องจากการละเมิดกฎสิทธิส่วนบุคคลของลูกความ[142]
ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014 โรว์ลิงได้ประกาศว่าหนังสือเล่มที่สองของชุดนวนิยายคอร์โมรัน สไตรก์จะวางแผงในเดือนมิถุนายน ปี 2014 และจะใช้ชื่อเรื่องว่า หนอนไหม เนื้อหาเกี่ยวข้องกับการสืบหาการหายตัวไปของนักเขียนที่เป็นที่จงเกลียดจงชังของเพื่อน ๆ จากการที่เขาได้เย้ยหยันเพื่อน ๆ ลงไปในนิยายเล่มใหม่ของเขา[143] ในปี 2015 โรว์ลิงได้กล่าวผ่านเว็บไซต์โรเบิร์ต กัลเบรธว่าหนังสือเล่มที่สามของชุดนวนิยายคอร์โมรัน สไตรก์ ว่า "จะมีแผนการวิกลจริตจำนวนมาก มากที่สุดตั้งแต่ที่ฉันเคยเขียนหนังสือมา"[144] หลังจากนั้นในวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 2015 โรว์ลิงได้ประกาศว่าเธอเขียนจบแล้วและหนังสือจะวางแผงในช่วงปลายปี 2015 ใช้ชื่อเรื่องว่า Career of Evil[145] ก่อนที่หนังสือภาคต่ออย่าง Lethal White, Troubled Blood, The Ink Black Heart และ The Running Grave จะวางจำหน่ายในปี 2018, 2020, 2022 และ 2023 ตามลำดับ
โรว์ลิงเคยพูดไว้ว่าคงเป็นไปได้ยากที่เธอจะเขียนหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มใหม่อีก[146] ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2007 เธอได้บอกว่างานเขียนในอนาคตของเธอคงจะไม่ใช่แนวแฟนตาซี[147] และถึงแม้เธอจะเคยให้สัมภาษณ์กับโอปราห์ วินฟรีย์ในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2010 ว่ามีความเป็นไปได้ที่หนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มใหม่จะเกิดขึ้น[148] แต่จากการสัมภาษณ์ล่าสุดกับรายการเดอะทูเดย์โชว์ เธอกล่าวว่าเธอไม่ได้กำลังเขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มใหม่และคิดว่าหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มที่แปดคงจะไม่เกิดขึ้น[149]
ในปี 2007 โรว์ลิงกล่าวว่า เธอมีแผนที่จะเขียนหนังสือสารานุกรมเกี่ยวกับโลกเวทมนตร์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งรวบรวมเนื้อหาสาระและข้อความสำคัญต่าง ๆ ที่ยังไม่เคยได้ตีพิมพ์[150] โดยกำไรจากการขายทั้งหมดจะมอบให้แก่การกุศล[151] ในระหว่างงานแถลงข่าวที่โรงละครโกดักเธียเตอร์เมื่อปี 2007 โรว์ลิงได้ถูกถามถึงสารานุกรมของเธอว่ามีความคืบหน้าไปถึงไหนบ้างแล้ว เธอได้ตอบกลับไปว่า “มันยังไม่ได้คืบหน้าไปถึงไหน และฉันก็ยังไม่เริ่มเขียน ฉันไม่เคยบอกว่ามันจะเป็นสิ่งต่อไปที่ฉันจะทำ”[152] ปลายปี 2007 โรว์ลิงได้บอกว่า สารานุกรมเล่มนี้อาจต้องใช้เวลากว่า 10 ปีจึงจะเขียนเสร็จ[153]
ในเดือนมิถุนายน ปี 2011 โรว์ลิงได้ประกาศว่าโครงการในอนาคตของแฮร์รี่ พอตเตอร์และการดาวน์โหลดทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด จะปรากฏอยู่บนเว็บไซต์พอตเตอร์มอร์เป็นหลัก[154] ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลของตัวละคร, สถานที่และสิ่งของในจักรวาลแฮร์รี่ พอตเตอร์ไว้กว่า 18,000 คำ[155]
เมื่อปี 2006 โรว์ลิงประกาศว่าเธอกำลังเขียนหนังสือเทพนิยายการเมืองสำหรับเด็กเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับปีศาจ โดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็นผู้อ่านที่อายุน้อยกว่าผู้อ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์[156] ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2007 เธอได้ระบุว่า “หนังสือสำหรับเด็กที่ตอนนี้เขียนเสร็จไปกว่าครึ่งก็อาจเป็นหนังสือเล่มต่อไปที่ฉันจะตีพิมพ์”[157] ต่อมาในเดือนมีนาคม ปี 2008 โรว์ลิงกล่าวในบทสัมภาษณ์ว่าเธอได้กลับไปเขียนหนังสือที่ร้านกาแฟในเอดินบะระอีกครั้ง[158] และตั้งใจจะเขียนนิยายสำหรับเด็กเรื่องใหม่ ซึ่งเธอยังยืนยันว่าเทพนิยายการเมืองสำหรับเด็กของเธอใกล้ที่จะสมบูรณ์แล้ว[159]
อย่างไรก็ตาม โรว์ลิงตัดสินใจเก็บร่างนิยายเรื่องดังกล่าวไว้ในห้องใต้หลังคาและไม่ได้นำมันออกมาตีพิมพ์จนกระทั่งเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงกลางปี 2020[11] เธอได้นำตัวร่างนิยายมาปรับปรุงและเผยแพร่ให้อ่านฟรีทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 2020 ถึงวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 2020 ภายใต้ชื่อเรื่อง อิ๊กคาบ็อก ก่อนที่นิยายเรื่องดังกล่าวจะได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 ซึ่งภาพประกอบที่ถูกนำมาใช้ร่วมกับตัวบทนั้นยังเป็นภาพที่ผ่านการคัดเลือกจากการประกวดออนไลน์ทั้งหมดอีกด้วย[11]
โรว์ลิงก่อตั้งมูลนิธิเดอะโวแลนท์ชาร์ลิตีทรัสขึ้น มีเงินในกองทุนกว่า 5.1 ล้านปอนด์เพื่อต่อต้านปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมในสังคม กองทุนนี้ยังมอบเงินให้แก่องค์กรที่ช่วยเหลือเด็ก ครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวและผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งอีกด้วย[160][161]
โรว์ลิงซึ่งครั้งหนึ่งก็เคยเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ณ ตอนนี้เธอรับตำแหน่งเป็นประธานของมูลนิธิคอมมิครีลิฟ (ชื่อเดิมคือ วันแพเรนท์แฟมิลี) เธอได้เป็นผู้แทนของมูลนิธิคนแรกเมื่อปี 2000[162][163] โรว์ลิงร่วมมือกับซาร่า บราวน์ ในการเขียนหนังสือเด็กเพื่อให้ช่วยเหลือความช่วยเหลือแก่มูลนิธิวันแพเรท์แฟมิลีส์[164]
ในปี 2001 ณ งานระดมทุนต่อต้านความยากจนของมูลนิธิคอมมิครีรีฟได้เชิญสามนักเขียนหนังสือขายดีชาวอังกฤษ ได้แก่ ดีเลีย สมิธ นักเขียนหนังสือทำอาหาร, เฮเลน ฟีลดิง และโรว์ลิง เพื่อการนำเสนอผลงานที่เกี่ยวข้องกับงานเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดของพวกเขาแก่สาธารณะ[165] โรว์ลิงเขียนหนังสือเล่มเล็กสองเล่มคือ สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ และ ควิดดิชในยุคต่าง ๆ โดยออกแบบให้ดูเหมือนหนังสือในห้องสมุดฮอกวอตส์ นับตั้งแต่การวางขายในเดือนมีนาคม ปี 2001 หนังสือทั้งสองเล่มสร้างรายได้เข้ากองทุนกว่า 15.7 ล้านปอนด์และอีกกว่า 10.8 ล้านปอนด์จากการขายนอกสหราชอาณาจักร รายได้ได้นำไปมอบให้กับกองทุนนานาชาติเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ประสบภัยพิบัติ[166] ในปี 2002 โรว์ลิงได้เขียนคำนำให้หนังสือเรื่อง เมจิก หนังสือรวมบทประพันธ์ที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บลูมบิวส์ลีเพื่อมอบรายได้ให้แก่สภานานาชาติเพื่อพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว[167]
ในปี 2005 โรว์ลิงและสมาชิกสภายุโรป เอ็มมา นิโคลสัน ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิชิลเดรนไฮเลเวลกรุ๊ป (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ลูมอส)[168] นอกจากนั้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 2006 โรว์ลิงเดินทางไปที่บูคาเรสต์เพื่อเน้นย้ำถึงการใช้เตียงลูกกรงกับเด็กในโรงพยาบาลจิตเวช[169] และเพื่อเป็นการสนับสนุนแก่มูลนิธิชิวเดรนไฮเลเวลกรุ๊ป โรว์ลิงเปิดให้ประมูลหนึ่งในเจ็ดเล่มของหนังสือนิทานของบีเดิลยอดกวี ซึ่งเป็นผลงานรวมนิทานที่มีการกล่าวถึงในแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต โดยเธอได้เขียนและวาดภาพประกอบด้วยมือเธอเอง และถูกซื้อไปในราคา 1.95 ล้านปอนด์จากการซื้อผ่านเว็บไซต์อเมซอน.คอมเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 2007 เป็นหนังสือที่มีราคาแพงที่สุดตลอดกาลจากการประมูล[170][170][171] โรว์ลิงมอบหนังสืออีกหกเล่มที่เหลือคนที่ใกล้ชิดกับหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์[170] จากนั้นในปี 2008 โรว์ลิงตกลงให้มีการตีพิมพ์หนังสือ ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะมอบให้กับมูลนิธิลูมอส[116] ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2013 โรว์ลิงส่งมอบรายได้ทั้งหมดจากการขายหนังสือนิทานของบีเดิลยอดกวีแก่มูลนิธิลูมอสเป็นจำนวนเงินกว่า 19 ล้านปอนด์[172]
โรว์ลิงได้มอบเงินและให้การสนับสนุนแก่งานวิจัยและการรักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ซึ่งเป็นโรคที่แม่ของเธอป่วยก่อนที่จะเสียชีวิตลงในปี 1990 จากนั้นในปี 2006 โรว์ลิงบริจาคเงินจำนวนมากเพื่อการสร้างศูนย์ปฏิรูปทางการแพทย์แห่งใหม่ที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ ภายหลังใช้ชื่อว่าคลินิคแอนน์ โรว์ลิงเพื่อการปฏิรูปประสาทวิทยา[173] ในปี 2010 เธอบริจาคเงินให้กับศูนย์เพิ่มอีก 10 ล้านปอนด์[174] นอกจากนี้ประเทศสก็อตแลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่โรว์ลิงให้การดูแลอยู่ยังมีอัตราผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งมากที่สุดในโลกอย่างไม่ทราบเหตุผลแน่ชัด ในปี 2003 โรว์ลิงได้เข้าร่วมการรณรงค์เพื่อสร้างมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการดูแลผู้ปวยโรคนี้[175] อย่างไรก็ตามในปี 2009 เธอประกาศขอถอนตัวออกจากการเป็นผู้อุปถัมภ์ของสมาคมผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งในสก็อตแลนด์หรือเอ็มเอสเอสเอส พร้อมระบุว่าเธอไม่สามารถแก้ไขปัญหาความบาดหมางกันระหว่างองค์กรทางเหนือกับสาขาทางใต้ที่มีอย่างไม่หยุดยั้งได้ เป็นการบั่นทอนกำลังใจและนำไปสู่การลาออกในที่สุด[175]
ในเดือนพฤษภาคม ปี 2008 ร้านหนังสือวอเทอร์สโตนส์ได้เสนอให้โรว์ลิงและนักเขียนอีกสิบสองคน (อาทิ ดอริส เลสซิง, นิก ฮอร์นบี, มาร์กาเร็ต แอทวูด เป็นต้น) เพื่อให้เขียนเรื่องสั้นของพวกเขาลงบนกระดาษการ์ดขนาด A5 ซึ่งจะมีการนำไปประมูลเพื่อช่วยเหลือมูลนิธิดิสเล็กเซียแอคชันเพื่อผู้ป่วยภาวะเสียการอ่านเข้าใจและสมาคม PEN ของอังกฤษ งานเขียนของโรว์ลิงคือพรีเควลแฮร์รี่ พอตเตอร์ ความยาว 800 คำ เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของเจมส์ พอตเตอร์กับซีเรียส แบล็ก พ่อและพ่อทูนหัวของแฮร์รี่ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นสามปีก่อนแฮร์รี่เกิด พรีเควลได้ถูกนำออกแสดงและขายเพื่อการกุศลในรูปแบบหนังสือเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2008[176]
ในวันที่ 1 และ 2 สิงหาคม ค.ศ. 2006 เธอได้อ่านหนังสือร่วมกับสตีเฟน คิงและจอห์น เออร์วิงในงานที่เรดิโอซิตี้ มิวสิกฮอลล์ในนครนิวยอร์ก โดยกำไรจากงานได้นำไปบริจาคให้กับองค์การแพทย์ไร้พรมแดนและมูลนิธิเดอะเฮเว่น ซึ่งเป็นมูลนิธิที่มุ่งช่วยเหลือศิลปินและนักแสดงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองหรือทำงานได้[177] ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2007 โรว์ลิงได้สัญญาที่จะบริจาคเงินมากกว่า 250,000 ปอนด์ (ตามรายงานของนิวส์ออฟเดอะเวิลด์) เพื่อเป็นเงินรางวัลตอบแทนหากแมเดลีน แม็คเคนน์ เด็กสาววัยสามขวบที่หายตัวไปที่ประเทศโปรตุเกสกลับมาได้อย่างปลอดภัย[178] โรว์ลิงยังได้ร่วมกับเนลสัน แมนเดลา, อัล กอร์ และอลัน กรีนสแปน ในการเขียนคำนำแก่บทรวมสุนทรพจน์ของกอร์ดอน บราวน์ เพื่อนำรายได้ไปมอบให้กับห้องปฏิบัติการวิจัยของเจนิเฟอร์ บราวน์[179] และหลังจากที่มีการเปิดเผยว่าเธอคือผู้เขียนหนังสือเสียงเพรียกจากคักคู ยอดขายหนังสือก็ได้พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โรว์ลิงจึงได้ประกาศว่าเธอจะบริจาคเงินค่าลิขสิทธิ์ของเธอให้กับกองทุนการกุศลกองทัพ โดยบอกว่าเธอตั้งใจที่จะทำมาตลอดแต่ไม่เคยคิดว่าหนังสือจะขายดี[180]
โรว์ลิงยังให้การสนับสนุนมูลนิธิแชนนอนทรัสต์ ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ดำเนินโครงการโทลบายโทลรีดดิงและโครงการเดอะแชนนอนรีดดิงในคุกของเกาะอังกฤษ ให้การช่วยเหลือและให้ความรู้แก่นักโทษที่ไม่สามารถอ่านหนังสือออก[181]
โรว์ลิงได้ระบุชื่อเจสสิกา มิดฟอร์ด นักเขียนผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ให้เป็นนักเขียนที่มีอิทธิพลต่อเธอมากที่สุด เธอกล่าวว่า "เจสสิกา มิดฟอร์ดได้กลายเป็นวีรสตรีของฉันตั้งแต่ฉันอายุ 14 ปี ในตอนที่ฉันบังเอิญได้ยินพี่สาวของปู่ที่น่ายำเกรงของฉันเล่าว่ามิดฟอร์ดหนีออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 19 เพื่อร่วมต่อสู้กับสาธารณรัฐสเปนในสงครามกลางเมืองสเปนได้อย่างไร" และพร้อมกับเสริมว่าสิ่งที่ให้แรงบันดาลใจต่อเธอมากที่สุดก็คือการที่มิดฟอร์ดเป็น "คนหัวขบถอย่างที่ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้และเป็นโดยกำเนิด กล้าหาญ ชอบผจญภัย ตลกและไม่เลื่อมใสต่อสิ่งใด เธอไม่ชอบอะไรมากไปกว่าการได้ต่อสู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนขี้อวดและหลอกลวง"[182] โรว์ลิงได้บอกว่าเจน ออสเตนคือนักเขียนคนโปรดของเธอ[183] เธอได้บอกกับนิตยสารโอแมกกาซีนว่า เอ็มมา คือหนังสือที่เธอชอบที่สุด[184] ส่วนในช่วงวัยเด็ก โรว์ลิงได้กล่าวว่าแรงบันดาลใจแรก ๆ ของเธอคือหนังสือเรื่อง ตู้พิศวง ของซี. เอส. ลิวอิส, ม้าน้อยสีขาว ของเอลิซาเบ็ธ กูดจ์ และ หนูกระเบื้อง ของพอล กาลลิโก[185]
ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2008 หนึ่งวันก่อนการประชุมใหญ่ประจำปีของพรรคแรงงาน โรว์ลิงประกาศว่าเธอได้บริจาคเงินจำนวน 1 ล้านปอนด์ให้แก่พรรคแรงงานและมอบเช็คเงินอย่างเปิดเผยให้กับกอร์ดอน บราวน์ หัวหน้าพรรคแรงงานในการลงชิงตำแหน่งกับเดวิด แคเมรอน ผู้ชิงตำแหน่งจากพรรคอนุรักษ์นิยม เธอยังกล่าวชื่นชมนโยบายแก้ปัญหาความยากจนในเด็กของพรรคแรงงานอีกด้วย[186]
โรว์ลิงได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ปี 2008กับหนังสือพิมพ์เอล ปาอิสของสเปนในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 โดยกล่าวว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้จะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อประเทศอื่นทั่วโลกและยังกล่าวว่าบารัก โอบามาและฮิลลารี คลินตันจะกลายเป็นบุคคลที่ "ไม่ธรรมดา" ของทำเนียบขาว ในบทสัมภาษณ์เดียวกันโรว์ลิงยังได้ระบุว่าโรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดีคือวีรบุรุษของเธอ[187]
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2010 โรว์ลิงได้ตีพิมพ์บทความลงในนิตยสารไทม์ เธอได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของเดวิด แคเมรอนที่สนับสนุนให้คู่สามีภรรยาที่แต่งงานแล้วอยู่ร่วมกันพร้อมเสนอเงินลดหย่อนภาษี 150 ปอนด์ต่อปี โรว์ลิงได้กล่าวว่า "ไม่มีคนที่เคยพบเจอกับความยากจนคนไหนจะพูดว่า 'มันไม่เกี่ยวกับเงิน แต่เกี่ยวกับประเด็นที่ส่งออกไป' เมื่อแฟลตของคุณโดนงัดแล้วคุณไม่มีเงินจ่ายให้ช่างทำกุญแจนั่นก็เกี่ยวกับเงิน หรือเมื่อคุณพบว่าคุณกำลังคิดจะขโมยผ้าอ้อมในร้านค้า นั่นก็เพราะเงิน ถ้าคุณแคเมรอนแค่แนะนำในภาคปฏิบัติให้ผู้หญิงที่อยู่อย่างยากจน เลี้ยงลูกลำพังให้ 'แต่งงานสิแล้วเราจะลดหย่อนให้คุณ 150 ปอนด์' เขาก็คงเปิดเผยตัวเองว่าเป็นคนที่ไม่ได้รับรู้ถึงสถานการณ์ของพวกเขาอย่างแท้จริง"[188][189]
เนื่องจากเธออาศัยอยู่ในประเทศสก็อตแลนด์ โรว์ลิงจึงมีสิทธิ์ลงประชามติในการลงประชามติเอกราชสกอตแลนด์ ค.ศ. 2014และได้รณรงค์ให้ลงมติ "คัดค้าน"[190] เธอบริจาคเงินจำนวน 1 ล้านปอนด์ให้แก่กลุ่มเบทเทอร์ ทูเกเตอร์ที่ต่อต้านการแบ่งแยกประเทศ (ก่อตั้งโดยอลิสแตร์ ดาร์ลิง อดีตเพื่อนบ้านของเธอ)[117] ซึ่งเป็นเงินบริจาคที่มากที่สุด ณ ตอนนั้น โรว์ลิงยังได้เปรียบเทียบกลุ่มชาตินิยมสก็อตแลนด์กับผู้เสพความตาย กลุ่มตัวละครจากแฮร์รี่ พอตเตอร์ที่รังเกียจผู้คนทุกคนที่ไม่ใช่สายเลือดบริสุทธ์[191]
เป็นเวลาหลายปีที่กลุ่มคนนับถือศาสนาโดยเฉพาะคริสต์ศาสนิกชน ได้ประณามหนังสือของโรว์ลิงว่าส่งเสริมเรื่องเวทมนตร์คาถาว่าเป็นเรื่องจริง โรว์ลิงระบุว่าเธอเป็นคริสต์ศาสนิกชน[192] และเข้าคริสตจักรแห่งสก็อตแลนด์ในระหว่างที่เธอเขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เจสสิกา ลูกสาวของเธอเข้ารับพิธีล้างบาป[192][193] เธอเคยบอกไว้ครั้งหนึ่งว่า "ฉันเชื่อในพระเจ้า ไม่ใช่เวทมนตร์"[194] ในช่วงแรกเธอเคยรู้สึกว่า หากผู้อ่านทราบถึงความเชื่อในศาสนาคริสต์ของเธอก็อาจจะสามารถเดาเนื้อเรื่องของเธอออกได้[195]
ในปี 2007 โรว์ลิงเล่าว่าในวัยเด็กเธอเข้าคริสตจักรแห่งอังกฤษและเป็นคนเดียวในครอบครัวที่ไปโบสถ์เป็นประจำ จนกระทั่งในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยเธอรู้สึกรำคาญความเชื่อส่วนบุคคลของคนที่นับถือศาสนาจึงเข้าโบสถ์น้อยครั้งลง แต่ภายหลังเธอก็หันกลับมาเข้าโบสถ์อีกครั้งที่โบสถ์นิกายโปรแตสแตนต์ในเอดินบะระ[196]
ในบทสัมภาษณ์กับนิตยสารแท็ทเลอร์เมื่อปี 2006 โรว์ลิงระบุว่า "ฉันก็เหมือนกับเกรแฮม กรีน บางครั้งศรัทธาของฉันก็อยู่ที่ว่าถ้ามันจะกลับมามันก็ต้องสำคัญต่อฉัน"[20] เธอกล่าวว่าเธอได้ต่อสู้กับข้อสงสัยที่ว่าเธอเชื่อในชีวิตหลังความตาย[197] และความเชื่อส่วนตัวของเธอที่มีบทบาทในหนังสือ[198][199][200] ในบทสัมภาษณ์ทางวิทยุเมื่อปี 2012 เธอได้บอกว่าเธอเป็นสมาชิกของคริสตจักรสกอตติชอีปิสโคปัล ซึ่งเป็นคริสตจักรหนึ่งของแองกลิคันคอมมิวเนียน[201]
โรว์ลิงมีความสัมพันธ์ที่ยากลำบากกับนักข่าวมาโดยตลอด เธอยอมรับว่าเธอเป็นคนประเภท "ขี้หงุดหงิด" และไม่ชอบความไม่แน่นอนของการรายงานข่าว โรว์ลิงได้ตอบโต้ความมีชื่อเสียงของเธอด้วยการเป็นคนรักสันโดษที่เกลียดการโดนสัมภาษณ์[202]
ในช่วงปี 2011 โรว์ลิงได้แสดงอาการต่อหน้านักข่าวกว่า 50 ครั้ง[203] ในปี 2001 คณะกรรมการการร้องทุกข์นักข่าวได้รับการร้องทุกข์ของโรว์ลิงเกี่ยวกับชุดภาพถ่ายที่ถ่ายโดยช่างภาพนิรนามซึ่งถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสารโอเค!แมกกาซีน เป็นภาพของเธอกับลูกสาวที่นั่งอยู่บนม้านั่งในประเทศมอริเชียส[204] ต่อมาในปี 2007 เดวิด ลูกชายของโรว์ลิงซึ่งโรว์ลิงและสามีของเธอให้การช่วยเหลือ โดยได้รับคำตัดสินของศาลให้แพ้คดีจากการฟ้องร้องเพื่อสั่งระงับสิ่งพิมพ์ที่ตีพิมพ์รูปถ่ายของเดวิด ซึ่งรูปถูกถ่ายด้วยกล้องเลนส์ยาวและต่อมาได้มีการตีพิมพ์ลงในนิตยสารซันเดย์เอกซ์เพรสส์ในบทความที่เขียนถึงชีวิตครอบครัวของโรว์ลิงและความเป็นแม่ของเธอ อย่างไรก็ตามในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 ศาลได้กลับคำตัดสินให้เป็นความชอบธรรมของเดวิดในที่สุด[205]
โรว์ลิงเกลียดแท็บลอยด์ของอังกฤษโดยเฉพาะเดลิเมล์ จากการที่นำเสนอบทสัมภาษณ์ของสามีเก่าของเธอ ทำให้นักข่าวคนหนึ่งได้กล่าวว่า "เวอร์นอน ลุงของแฮร์รี่ เป็นคนป่าเถื่อนอย่างพิดารและไร้สมองอย่างน่าประหลาด มันจึงไม่ยากเลยที่จะคาดเดาว่าโรว์ลิงเขียนให้เขาอ่านหนังสือพิมพ์เล่มไหน (ใน ถ้วยอัคนี)" นับจากเดือนมกราคม ค.ศ. 2014 โรว์ลิงพยายามเรียกร้องค่าเสียหายจากเดลิเมลล์ที่ได้เขียนโจมตีเธอผ่านบทความเกี่ยวกับช่วงที่เธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว และทำให้มีการคาดเดากันว่าความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยปัญหาระหว่างโรว์ลิงกับนักข่าวเป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังตัวละครริต้า สกีตเตอร์ นักข่าวซุบซิบคนดังที่ปรากฏตัวครั้งแรกในแฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี แต่โรว์ลิงก็ได้ระบุในปี 2008 ว่าเธอสร้างตัวละครนี้ขึ้นก่อนที่เธอจะมีชื่อเสียง
ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2011 โรว์ลิงได้รับการระบุชื่อโดยคณะกรรมการสอบสวนเลเวอสันเพื่อการปฏิรูปทางวัฒนธรรมและจริยธรรมของนักข่าวอังกฤษว่าเธอจัดเป็นหนึ่งในสิบสองคนดังที่อาจตกเป็นเหยื่อของการดักฟังทางโทรศัพท์[206] ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 2011 โรว์ลิงได้ให้หลักฐานก่อนการสอบสวนแม้เธอจะไม่สงสัยว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อของการดักฟังทางโทรศัพท์ก็ตาม[207] โดยหลักฐานที่เธอให้การสอบปากคำอาทิเช่น กรณีที่นักข่าวได้ตั้งค่ายที่หน้าบ้านของเธอ[207], กรณีนักข่าวเขียนข้อความและใส่ลงในกระเป๋าของลูกสาวเธอและการที่เดอะซันพยายามจะแบล็กเมลล์เธอด้วยรูปถ่ายเพื่อแลกเปลี่ยนกับต้นฉับงานเขียนที่โดนขโมยไป[208] เป็นต้น โรว์ลิงได้อ้างว่าเธอย้ายออกจากบ้านเดิมที่เมอชีสตันก็เพราะการโดนล่วงล้ำจากนักข่าว ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2012 โรว์ลิงเขียนบทความลงในเดอะการ์เดียนเพื่อเป็นการตอบโต้การตัดสินใจของเดวิด แคเมรอนที่ไม่ให้คำแนะนำที่เต็มรูปแบบแก่คณะสอบสวนเลเวอสัน เธอยังกล่าวว่าเธอรู้สึก "โกรธและเหมือนโดนหลอก"[209]
ในปี 2014 โรว์ลิงได้ยืนยันที่จะให้การสนับสนุนต่อแคมเปญ "แฮกออฟ" เพื่อการกำกับตัวเองของนักข่าว ด้วยการเซ็นคำแถลงการณ์ร่วมกับคนดังชาวอังกฤษคนอื่น ๆ ซึ่งคำแถลงการณ์มีจุดประสงค์เพื่อ "คุ้มครองนักข่าวจากการแทรกแซงทางการเมืองพร้อมกับให้การป้องกันที่จำเป็นต่อกลุ่มที่เสี่ยง"[210]
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2019 โรว์ลิงได้ทวีตข้อความสนับสนุนมายา ฟอร์สเตเทอร์ ลูกจ้างชาวอังกฤษผู้แพ้คดีที่เธอฟ้องร้ององค์กร Center for Global Development ที่ไม่ยอมต่อสัญญาจ้างงานให้แก่เธอหลังจากที่เธอได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบุคคลข้ามเพศ[211][212][213] ศาลได้ระบุว่าคำกล่าวที่ฟอร์สเตเทอร์อ้างถึงบุคคลข้ามเพศ ซึ่งครอบคลุมไปถึงการไม่ยอมปฏิบัติตัวกับกลุ่มคนข้ามเพศตามเพศวิถีที่บุคคลดังกล่าวเลือกนั้นเป็นพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงการข่มขู่ ไม่เป็นมิตร ลดทอนคุณค่า เหยียดหยาม หรือรังเกียจ และเป็นความเชื่อที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของพระราชบัญญัติความเท่าเทียมปี 2010[214][215] เป็นเหตุให้เธอยืนอุธรณ์ต่อศาลในเวลาต่อมา[216]
โรว์ลิงได้ทวีตข้อความวิจารณ์ถึงการใช้คำว่า “คนที่มีประจำเดือน” ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 2020[217] และได้เสริมว่า “หากคุณมองว่าเพศคือเรื่องสมมติ"[218] เรื่องจริงที่ผู้หญิงทั่วโลกเผชิญในชีวิตก็จะถูกลบเลือนหายไปด้วย ฉันรู้จักและรักคนที่เป็นคนข้ามเพศ แต่การจะลบล้างแนวคิดเรื่องเพศนั้นมันทำให้คนจำนวนมากหมดโอกาสที่จะพูดถึงชีวิตของพวกเขาได้อย่างจริงจัง”[219] โดยคำว่า “คนที่มีประจำเดือน” นั้นเป็นคำที่ใช้เพื่อครอบคลุมถึงกลุ่มผู้ชายข้ามเพศ รวมไปถึงกลุ่มนอน-ไบนารี่ที่มีประจำเดือนด้วย[220][221] ข้อความในทวิตเตอร์ของโรว์ลิงทำให้องค์กรแกลด (GLAAD) ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าสิ่งที่เธอกล่าวนั้น “ชั่วร้าย” และ “เกลียดชังคนข้ามเพศ”[222][223] เช่นเดียวกันกับนักแสดงบางส่วนจากภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์อย่าง แดเนียล แรดคลิฟฟ์, เอ็มมา วัตสัน, รูเพิร์ท กรินท์, บอนนี่ ไรท์ และเคธี เหลียง ที่ได้ออกมาตำหนิทัศนคติของโรว์ลิงหรือเลือกแสดงจุดยืนว่าตนสนับสนุนสิทธิของคนข้ามเพศ รวมไปถึงนักแสดงนำจากภาพยนตร์ชุดสัตว์มหัศจรรย์อย่าง เอดดี เรดเมน และเว็บไซต์แฟนคลับแฮร์รี่ พอตเตอร์อย่าง MuggleNet และ The Leaky Cauldron อีกด้วย[224][225][226] ในขณะเดียวกัน โนมา ดูเมซเวนี ที่รับบทเป็นเฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์ในละครเวทีแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเด็กต้องคำสาปนั้นก็ได้ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนโรว์ลิงในช่วงแรก ก่อนจะเปลี่ยนใจหลังจากที่เห็นท่าทีตอบโต้ของโรว์ลิง[227]
ในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 2020 โรว์ลิงได้เผยแพร่เรียงความยาว 3,600 คำบนเว็บไซต์ส่วนตัวของเธอเพื่อตอบโต้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว[228][229] เธอระบุว่าเธอคือผู้ที่เคยพบเจอกับความรุนแรงในครอบครัวและการคุกคามทางเพศ พร้อมทั้งเสริมว่า "เมื่อคุณเปิดประตูห้องน้ำและห้องลองเสื้อผ้าให้ผู้ชายทุกคนที่เชื่อหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิงเข้าไปได้ ... ก็เท่ากับว่าคุณได้เปิดประตูให้กับชายทุกประเภทเข้าไปได้นั่นเอง" แต่เธอก็ได้กล่าวว่าบุคคลข้ามเพศนั้นเปราะบางและควรที่จะได้รับการปกป้อง เธอยังได้เขียนอีกว่าผู้หญิงหลายคนมองคำว่า “ผู้ที่มีประจำเดือน” เป็นคำที่ลดทอนคุณค่าผู้หญิง[230] ซึ่งเรียงความนี้ก็ถูกวิจารณ์จากบุคคลหลายกลุ่ม รวมไปถึงองค์กรการกุศลเด็กอย่าง องค์กรเมอร์เมด ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนคนข้ามเพศและเด็กกับผู้ปกครองที่ปฏิเสธเพศกำเนิดของตน[231][232] มีหลายครั้งที่โรว์ลิงถูกมองว่าเป็นพวกผู้นิยมสิทธิสตรีหัวรุนแรงที่กีดกันบุคคลข้ามเพศ (เทิร์ฟ) แม้เธอจะปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว[233] อย่างไรก็ตาม เธอก็ได้รับการสนับสนุนจากนักแสดงอย่าง ร็อบบี้ โคลทราน[234] และไบรอัน ค็อกซ์[235] รวมไปถึงนักสิทธิสตรีบางคน อาทิ อยาอัน ฮีร์ซี อาลี[236] และจูลี บินเดล นักสิทธิสตรีถึงรากเหง้า[237]
ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2020 โรว์ลิงได้คืนรางวัลสิทธิมนุษยชนโรเบิร์ต เอฟ เคนเนดีที่เธอได้รับให้แก่ เคอร์รี เคนเนดี ที่ได้ออกมากล่าวว่าเธอ “รู้สึกผิดหวังอย่างยิ่ง” ต่อ “การกล่าวร้ายต่อสังคมคนข้ามเพศ” ของโรว์ลิง ซึ่งเคนเนดีได้เรียกสิ่งที่เธอทำว่าเป็น “การกระทำที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อและค่านิยมพื้นฐานของรางวัลสิทธิมนุษยชนโรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี และถือเป็นการปฏิเสธวิสัยทัศน์ของพ่อฉันด้วย”[238][239][240] โดยโรว์ลิงได้กล่าวว่าข้อความของเคนเนดีนั้นทำให้เธอรู้สึก “เสียใจอย่างถึงที่สุด” แต่เธอได้ยืนยันว่าไม่มีรางวัลใดที่จะทำให้เธอยอม “ละทิ้งสิทธิ์ในการเชื่อในสำนึกที่อยู่ภายในจิตใจของตัวเองได้”[238]
โรว์ลิงได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์, มหาวิทยาลัยเอดินบะระ, มหาวิทยาลัยเอดินเบอระเนเปียร์, มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์,[241] มหาวิทยาลัยแอเบอร์ดีน[242][243] และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเธอได้ขึ้นการสุนทรพจน์ในวันสำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2008[244] ต่อมาในปี 2009 โรว์ลิงได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์จากนีกอลา ซาร์กอซี[30]
รางวัลอื่นที่ได้รับ ได้แก่:[67]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.