Loading AI tools
ชุดเอกสารบันทึกเหตุการณ์อังกฤษสมัยกลางที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บันทึกเหตุการณ์ของชาวแองโกล-แซกซัน (อังกฤษ: Anglo-Saxon Chronicle) เป็นชุดหนังสือรายปีที่เขียนด้วยภาษาอังกฤษเก่า เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาวแองโกล-แซกซัน เขียนขึ้นราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 อาจจะที่เวสเซ็กซ์ในรัชสมัยของพระเจ้าอัลเฟรดมหาราช หลังจากนั้นต้นฉบับก็ถูกส่งไปตามอารามต่างๆ ทั่วอังกฤษ แต่ละอารามต่างก็แก้ไขเพิ่มเติมต่อมาเรื่อย ๆ ในกรณีหนึ่งบันทึกถูกเพิ่มเติมมาจนถึงปี ค.ศ. 1154
บันทึกเหตุการณ์ปีเตอร์บะระ | |
ผู้ประพันธ์ | อารามต่างๆ |
---|---|
ชื่อเรื่องต้นฉบับ | Anglo-Saxon Chronicle |
ภาษา | ภาษาอังกฤษเก่า |
หัวเรื่อง | ประวัติศาสตร์อังกฤษสมัยแองโกล-แซกซันที่บันทึกต่อเนื่องกันมาโดยอารามต่าง ๆ ที่ได้รับต้นฉบับ |
วันที่พิมพ์ | คริสต์ศตวรรษที่ 9 - กลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 |
หน้า | หลายฉบับ |
ในปัจจุบันบันทึกเหตุการณ์ของชาวแองโกล-แซกซันมีเหลืออยู่ 9 ฉบับทั้งสมบูรณ์และเหลือแต่บางส่วน คุณค่าของแต่ละฉบับก็ต่างกันใน 9 ฉบับนี้ไม่มีฉบับใดที่เป็นฉบับดั้งเดิมแท้ ๆ ฉบับที่เก่าที่สุดสันนิษฐานกันว่าเริ่มเขียนราวปลายรัชสมัยของพระเจ้าอัลเฟรดมหาราช และฉบับล่าสุดเป็นฉบับที่เขียนที่มหาวิหารปีเตอร์บะระหลังจากไฟใหม้อารามในปี ค.ศ. 1116 เนึ้อหาของบันทึกเป็นการบันทึกเหตุการณ์ประจำปี เหตุการณ์ปีแรกที่สุดที่บันทึกคือปี 60 ก่อนคริสต์ศักราชมาจนถึงปีที่เขียน ต่อจากนั้นเนื้อหาก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยของการเขียน บันทึกต่าง ๆ เหล่านี้เรียกรวมกันว่า “บันทึกเหตุการณ์ของชาวแองโกล-แซกซัน”
เนื้อหาของบันทึกไม่เป็นกลางนักในบางบันทึกเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเอกสารจากสมัยกลางอื่น ๆ จะพบว่าผู้เขียนละเว้นเหตุการณ์บางเหตุการณ์ หรือเขียงจากมุมมองของผู้เขียน หรือบางฉบับก็จะแตกต่างจากฉบับอื่นเมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์เดียวกันหรือข้อมูลที่บันทึกขัดแย้งกันเอง แต่เมื่อพิจารณาโดยทั่วไปแล้วพงศาวดารเป็นหลักฐานชิ้นที่สำคัญที่สุดทางประวัติศาสตร์ระหว่างสมัยโรมันหมดอำนาจในอังกฤษไปจนถึงการพิชิตอังกฤษของชาวนอร์มัน ข้อมูลที่บันทึกในพงศาวดารไม่พบในเอกสารอื่นใด นอกจากนั้นบันทึกยังเป็นเอกสารชิ้นสำคัญของประวัติศาสตร์ภาษาอังกฤษโดยเฉพาะฉบับที่เขียนที่ปีเตอร์บะระซึ่งเป็นตัวอย่างแรกที่สุดของภาษาอังกฤษสมัยกลาง
เจ็ดในเก้าฉบับปัจจุบันเก็บรักษาไว้หอสมุดแห่งชาติบริติช (British Library) อึกสองฉบับอยู่ที่หอสมุดบอดเลียนของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและวิทยาลัยคอร์พัสคริสติของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
บันทึกเหตุการณ์ของชาวแองโกล-แซกซันที่ยังเหลืออยู่ทุกฉบับเป็นฉบับสำเนา ฉะนั้นจึงไม่อาจจะทำให้ทราบอย่างแน่นอนว่าต้นฉบับแรกที่สุดเริ่มเขียนเมื่อใด แต่โดยทั่วไปแล้วเชื่อกันว่าเขียนในคริสต์ศตวรรษที่ 9 โดยผู้คัด (scribe) ในเวสเซ็กซ์[1] หลังจากต้นฉบับได้รับการรวบรวมเสร็จ สำเนาจากต้นฉบับดั้งเดิมก็ถูกส่งไปตามสำนักสงฆ์ต่างๆ สำเนาบางฉบับก็ได้รับการขยายเพิ่มเติมต่อมาอิสระจากฉบับอื่นๆ สำเนาฉบับหลังบางฉบับคือฉบับที่ยังเหลืออยู่จนถึงทุกวันนี้[2]
พงศาวดารฉบับที่เก่าที่สุด--พงศาวดารวินเชสเตอร์--ที่คัดโดยผู้คัดคนเดียวจนกระทั่งปี ค.ศ. 891 บรรทัดต่อมาผู้คัดบันทึกปีว่าเป็น “DCCCXCII” บนขอบหน้า หลังจากนั้นเนื้อหาก็ได้รับการบันทึกโดยผู้เขียนหลายคน[3] ซึ่งทำให้เชื่อว่าเนื้อหาเขียนก่อนปี ค.ศ. 892 เนื้อหาต่อมาเขียนโดยบิชอปแอสเซอร์ในงานชื่อ “พระราชประวัติของพระเจ้าอัลเฟรดมหาราช” ที่เขียนในปี ค.ศ. 893.[4] เป็นที่ทราบกันว่าพงศาวดารวินเชสเตอร์เป็นฉบับที่ห่างจากฉบับดั้งเดิมมาสองทอด ฉะนั้นจึงไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นบันทึกเหตุการณ์ที่รวบรวมในวินเชสเตอร์[5] และยากที่จะบ่งเป็นที่แน่นอนว่าเขียนเมื่อใดแต่เชื่อกันว่าเขียนขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอัลเฟรดมหาราช เพราะการทรงพยายามฟื้นฟูการศึกษาและวัฒนธรรม และการทรงส่งเสริมการเผยแพร่การใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาเขียน
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.