Loading AI tools
ธงชัยประจำกองทหารอาสาสยามในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหารอาสาของสยามในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เป็นธงชัยประจำกองทหารอาสาของสยามในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2461 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานให้แก่กองทหารบกรถยนต์ และกองบินทหารบกของไทยที่ส่งไปร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในทวีปยุโรป
การใช้ | ธงชัย (ด้านหน้า) |
---|---|
สัดส่วนธง | 2:3 |
ประกาศใช้ | พ.ศ. 2461 (106 ปี) |
ลักษณะ | ธงชาติ กลางเป็นวงกลมสีแดง มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าเสา มีอักษรข้อความสีเหลืองที่แถบสีแดง ด้านบน : พาหุํสหัส์สมภินิม์มิตสาวุธน์ตํ, ค ๎รีเมขลํอุทิตโฆรสเสนมารํ. ด้านล่าง : ทานาทิธัม์มวิธินาชิตวามุนิน์โท, ตัน์เตชสาภวตุเมชยสิท์ธินิจ์จํ. |
ออกแบบโดย | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
การใช้ | ธงชัย (ด้านหลัง) |
สัดส่วนธง | 2:3 |
ประกาศใช้ | พ.ศ. 2461 (106 ปี) |
ลักษณะ | เช่นเดียวกับด้านหน้า แต่ภายในวงกลมสีแดงเปลี่ยนเป็นตราพระปรมาภิไธยย่อ รร๖ ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมี |
ออกแบบโดย | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ราชอาณาจักรสยามเป็นหนึ่งในประเทศเอเชียที่เข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สยามเริ่มมีบทบาทในสงครามหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้สยามประกาศสงครามกับจักรวรรดิเยอรมันและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี สยามส่งกองกำลังทหารไปร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่แนวหน้าตะวันตกโดยทั้งหมดประจำการอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส
กองทัพสยามที่ถูกส่งไปมีจำนวนทหารประจำการอยู่ทั้งหมด 1,248 นาย สยามเข้าร่วมสงครามในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 และส่งทหารไปร่วมรบในกลางเดือนกันยายนของปีเดียวกัน กองทัพสยามที่ถูกส่งไปได้ผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี พวกเขามีความสามารถในด้านการซุ่มโจมตีเนื่องจากมีกำลังพลที่ค่อนข้างน้อยแต่ก็เรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพสูงตามความเห็นของทหารสัมพันธมิตรชาติอื่น[1] หลังจากที่ฝ่ายสัมพันธมิตรและจักรวรรดิเยอรมันลงนามสงบศึกกันในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 กองทัพสยามก็เข้าร่วมการยึดครองดินแดนไรน์
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2460 มีการจัดตั้งกองทหารอาสาสยามที่ประกอบด้วยหน่วยขนส่งยานยนต์ บุคลากรทางการแพทย์ และกองบิน จำนวน 1,284 นาย[2] ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2461 กองทหารอาสาสยามเดินทางถึงมาร์แซย์ โดยกองบินถูกส่งไปฝึกที่เมืองอิสตร์ ส่วนหน่วยขนส่งยานยนต์ถูกส่งไปฝึกที่เมืองลียง[3] หน่วยขนส่งยานยนต์มีส่วนในการส่งกำลังพล ยุทธภัณฑ์และเสบียงในการรุกเมิซ–อาร์กอนทางตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส และภายหลังได้รับเหรียญครัวซ์เดอแกร์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีจากความชอบนี้[4]
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สร้างธงชัยเฉลิมพลจำนวน 2 ผืน สำหรับพระราชทานแก่กองทหารบกรถยนต์ และกองบินทหารบกสยามซึ่งไปร่วมรบช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรในทวีปยุโรประหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2460 เป็นธงที่สร้างขึ้นใช้ชั่วคราวในเหตุการณ์ ปัจจุบันไม่ได้ใช้ธงผืนนี้แล้ว
ธงชัยกองทหารอาสาสยามในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้ถูกนำไปใช้ในพิธีสวนสนามฉลองชัยชนะในประเทศ: วันที่ 14 กรกฏาคม พ.ศ. 2462 ร่วมสวนสนามฉลองชัยชนะผ่านประตูชัยที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พันโท พระอาสาสงคราม (ต๋อย หัสดิเสวี) ผู้บังคับกองทหารรถยนต์ เดินนำแถวทหารอัญเชิญธงชัยเฉลิมพล โดยในครั้งนี้รัฐบาลฝรั่งเศสได้มอบเหรียญกล้าหาญ ครัวซ์เดอแกร์ ประดับไว้บนยอดคันธงชัย เพื่อเป็นเกียรติยศแก่กองทหารบกรถยนต์สยาม, วันที่ 19 กรกฏาคม พ.ศ. 2462 ร่วมสวนสนามฉลองชัยชนะที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และวันที่ 22 กรกฏาคม พ.ศ. 2462 ร่วมสวนสนามฉลองชัยชนะที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2462 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีประดับไว้บนยอดคันธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหารอาสาของสยามในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ให้เป็นเกียรติแก่กองทหารอาสา ในวันที่เดินทางกลับถึงกรุงเทพมหานคร โดยทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า[5]: 432
“การที่ธงของกองเจ้าได้รับตราต่างประเทศมาแล้ว ย่อมเป็นพยานอยู่ในตัวแล้วว่านานาประเทศรู้สึกว่าทหารไทยทำการกล้าหาญน่าชมเชย ครั้นจะให้ตราทั้งหมดทุกคนก็เป็นการมากมายไม่ไหวอยู่เอง ส่วนตัวข้าเองข้าได้ตั้งใจไว้นานแล้วว่าจะต้องสแดงอย่างใดอย่างหนึ่งให้เจ้าทั้งหลายแลเห็นชัดว่า ข้าปลื้มปานใดในการที่พวกเจ้าได้ไปหาชื่อให้แก่ชาติไทยในครั้งนี้ ครั้นว่าข้าจะแจกตราให้แก่เจ้าทั้งหลายทุกคน ก็จะเป็นการมากมายนัก ข้าจึงได้คิดว่าจะให้ตราแก่ธงประจำกองของเจ้า ขอให้เจ้าถือว่าที่ข้าให้ตราแก่ธงนี้ เท่ากับให้แก่เจ้าทั้งหลายทุกคน เพราะธงเป็นเครื่องหมายสำหรับกอง เพราะฉะนั้นเมื่อธงได้รับตราไปแล้ว ขอเจ้าจงรู้สึกว่าทุก ๆ คนได้รับตรา และทุก ๆ คนต้องตั้งใจรักษาเกียรติยศให้สมแก่เป็นผู้ได้รับตรารามาธิบดีอันมีศักดิ์ ช่วยกันรักษาศักดิ์นี้ไว้ เพราะศักดิ์อันนี้ไม่ใช่ของเจ้าโดยเฉพาะตัว นับว่าเป็นศักดิ์ของกองทหาร และเป็นศักดิ์ของตัวข้าผู้เป็นประมุขแห่งเจ้าทั้งหลายด้วย”
โดยธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหารอาสาของสยามในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ถือเป็นธงไตรรงค์ที่นำไปประเดิมเป็นครั้งแรกในทวีปยุโรป[6]: 8 ดังตอนท้ายของคำประพันธ์ เครื่องหมายธงไตรรงค์ ที่ตีพิมพ์ในวารสารดุสิตสมิตว่า ทหารอวตารนำไป ยงยุทธวิชัย วิชิตชูเกียรติสยาม ในปัจจุบัน ผืนธงดังกล่าวถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร[7] และพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ[8]
ลักษณะธงเป็นธงสี่เหลี่ยม พื้นธงมีลักษณะสีเหมือนธงไตรรงค์ กลางธงด้านหน้าเป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ รร. และเลข ๖ ภายใต้พระมหามงกุฎและรัศมี รูปทั้งหมดอยู่ภายในวงสีแดง ที่แถบสีแดงตอนบนจารึกคาถาว่า "พาหุง สหสสมภินิมมิตสาวุธนัตํ ครีเมขลํ อุทิตโฆ รสเสนมารํ" แถบสีแดง ตอนล่างจารึกคาถาว่า "ทานาทิธมมวิธีนา ชิตวา มุนินโท ตนเตชสา ภวตุเต ชยสิทธินิจจํ" คาถาที่จารึกนี้เรียกว่า "คาถาพุทธชัยมงคล" หรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่า "พาหุง" ใช้คาถานี้เพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปรียบเทียบว่า ฝ่ายตรงข้ามเหมือนมารหรืออธรรมที่มุ่งมาโจมตีฝ่ายธรรม แต่ในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ไป ดุจที่พระพุทธเจ้าทรงมีชัยชนะแก่พระยามาร ฉะนั้น
อีกประการหนึ่ง คาถาบทนี้มักใช้สวดในพิธีเพื่อเป็นการอวยชัยให้พร การจารึกคาถาบนผืนธงจึงเท่ากับการอวยพร และเป็นนิมิตแห่งชัยชนะ และสวัสดิภาพของเหล่าทหารไทย[9]: 66
ยอดคันธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหารอาสาของสยามในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เป็นรูปพระครุฑพ่าห์สีทอง ใต้ครุฑ ลงมามีโบริ้ว สีเหลืองสลับดำ จำนวน 6 ริ้ว ตามยาวทิ้งชายยาวประมาณหนึ่งเท่าครึ่งของส่วนกว้างของผืนธง[10] แถบริ้วสีเหลืองสลับดำนี้เป็นสีแพรแถบของเหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.