Loading AI tools
หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายผ่านอำนาจรัฐ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตำรวจ คือหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายผ่านอำนาจรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์ในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้สามารถแน่ใจได้ว่าประชาชนจะมีความปลอดภัย ทั้งในส่วนของทรัพย์สินและสุขภาพ รวมถึงป้องกันอาชญากรรม การก่อความไม่สงบ[1][2]และการกระทำความผิดในทางแพ่ง[3] โดยมีอำนาจหน้าที่โดยชอบตามกฎหมาย
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
คำว่าตำรวจนั้น เกิดจากการแผลงคำมาจากคำว่า ตรวจ ในภาษาเขมร ซึ่งไทยรับเข้ามาใช้งาน โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ยุคที่มีการก่อสร้างนครธมใน พ.ศ. 1432 ซึ่งมีปรากฏในคำสัตย์สาบานของคนที่ทำหน้าที่เป็นตำรวจในจารึกบนประตูพระราชวังมนนครธม[4] โดยพบหลักฐานในประเทศไทยในศิลาจารึกที่เมืองลพบุรี ช่วงปี พ.ศ. 1565 - 1600 ในประชุมจารึกสยาม โดยเรียกในจารึกว่า ตมฺรฺวจวิษย (ตำรวจวิษัย) โดยนักวิชาการคาดเดาว่าเป็นตำรวจชนิดหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวกับงานด้านว่าราชการเมือง[5]
สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นมีทั้งในส่วนของงานป้องกันปราบปราม (ในเครื่องแบบ) และงานสืบสวน[6] โดยเรียกกันแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ซึ่งภารกิจหลักของตำรวจทั้งสองรูปแบบคือการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การบังคับใช้กฎหมายอาญา การสอบสวนคดีอาญา การควบคุมดูแลการจราจร การควบคุมฝูงชน ควบคุมดูแลความปลอดภัยของสาธารณชน ปกป้องพลเรือน การจัดการเหตุฉุกเฉิน การค้นหาผู้สูญหาย ค้นหาทรัพย์สินที่สูญหาย และภารกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยกองกำลังของตำรวจนั้นมักมีการจัดหน่วยในรูปแบบมีลำดับขั้นและสายการบังคับบัญชา มีโครงสร้างที่ชัดเจน โดยในแต่ละประเทศก็จะมีการแบ่งโครงสร้างและชั้นยศของตำรวจที่แตกต่างกันไป
เจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนใหญ่สวมเครื่องแบบในการปฏิบัติงาน ทั้งในการตอบสนองเหตุผ่านเบอร์โทรฉุกเฉิน การรับแจ้งเหตุที่สถานีตำรวจ[7] การออกลาดตระเวนเพื้อป้องกันการเกิดอาชญากรรม โดยการแต่งเครื่องแบบนั้นเป็นการแสดงออกถึงอำนาจทางกฎหมายในการรักษาความสงบเรียบร้อย[8] ทั้งในส่วนของการแสดงตัวเพื่อยับยั้งเหตุอาชญากรรม การรักษาที่เกิดเหตุหลังเกิดอาชญากรรมเพื่อรอการตรวจสอบ
นอกเหนือจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบนั้นอาจจะบ่งบอกถึงบทบาทหน้าที่อื่น ๆ ในการปฏิบัติงาน เช่น การจัดการจราจร การปฏิบัติการมวลชนสัมพันธ์ในชุมชน การค้นหาผู้สูญหาย และการรักษาความสงบเรียบร้อยในกิจกรรมสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบนั้นจะต้องมีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง[9] ตำรวจในเครื่องแบบจึงต้องแบ่งการทำงานเป็นกะการทำงาน[10]
ตำรวจสืบสวนมีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน โดยตำรวจในงานสืบสวนสอบสวนนั้นอาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน เช่น ตำรวจสอบสวน ตำรวจศาล และตำรวจอาชญากรรม ซึ่งตำรวจในงานสืบสวนสอบสวนนั้นคิดเป็นประมาณ 15 - 25 % ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยตำรวจในงานสืบสวนสอบสวนนั้นมักจะแต่งกายนอกเครื่องแบบ[11] ทั้งในรูปแบบของชุดสุภาพ เพื่อไม่แสดงออกถึงอำนาจในการทำงานมากเกินไปจนทำให้ผู้รับการสอบสวนไม่ให้ความร่วมมือ แต่ยังคงอำนาจในการสืบสวนสอบสวนอยู่ และในรูปแบบของเสื้อผ้าธรรมดาเพื่อให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของบุคคลทั่วไปในการซ่อนพรางและสืบสวนหาข่าว
หลายครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจมักได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจลับที่ไม่เปิดเผยตัว[12] เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนในองค์กรอาชญากรรม หรือเครือข่ายยาเสพติด ซึ่งไม่สามารถปฏิบัติงานในเครื่องแบบได้ โดยบางครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านั้นต้องเกี่ยวข้องกับเหตุอาชญากรรมพวกนั้นไปด้วย
ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ และเจ้าหน้าที่ตำรวจในงานสืบสวนสอบสวนแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยในสหรัฐ ตำรวจในงานสืบสวนสอบสวนจะถูกหมุนเวียนไปเรียนรู้งานของตำรวจในเครื่องแบบ เพื่อให้เข้าใจการปฏิบัติงานของตำรวจในเครื่องแบบ ในขณะที่บางประเทศแยกสายงานของตำรวจสืบสวนสอบสวน และตำรวจในเครื่องแบบออกจากกันอย่างสิ้นเชิง
ในบางประเทศ งานตำรวจเป็นงานนอกเวลาหรืองานอาสาสมัคร ซึ่งผู้ปฏิบัติงานบางคนมีอาชีพอื่นนอกเหนือจากการเป็นตำรวจ โดยตำแหน่งเหล่านี้มีทั้งแบบได้รับค่าจ้าง และเป็นงานอาสาสมัคร โดยตำรวจเหล่านี้เป็นที่รู้จักในชื่อต่าง ๆ เช่น ตำรวจสำรอง ผู้ช่วยตำรวจ หรือตำรวจพิเศษ
นอกจากนี้ยังมีองค์กรอาสาสมัครในการทำงานร่วมกับตำรวจ และช่วยปฏิบัติงานในเฉพาะด้าน เช่น โครงการอาสาสมัครตำรวจที่มาจากการเกษียณราชการในสหรัฐ อาสาสมัครรับมือเหตุฉุกเฉินในชุมชนในสหรัฐ อาสาสมัครตำรวจท่องเที่ยวพัทยา โครงการอาสาสมัครตำรวจท่องเที่ยวพัทยา ที่รับชาวต่างชาติเข้ามาเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน[13]
หน่วยเฉพาะทางคือหน่วยที่มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานเฉพาะด้าน พบได้ในหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายหลายแห่งทั่วโลก สำหรับจัดการเหตุอาชญากรรมเฉพาะด้าน เช่น การบังคับใช้กฎหมายจราจร การใช้สุนัขตำรวจ การสอบสวนอุบัติเหตุ การสอบสวนเหตุการฆาตกรรม การสอบสวนการทุจริต หรือหน่วยที่มีความสามารถเฉพาะทางทาง เช่น การค้นหาใต้น้ำ[14] การบิน การเก็บกู้วัตถุระเบิด อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์
ในขณะที่เหตุอาชญากรรมมีความรุนแรงและร้ายแรงมากขึ้น หน่วยเฉพาะทางของตำรวจที่ถูกฝึกฝนมาเพื่อปฏิบัติการในการควบคุมสถานการณ์ที่มีความรุนแรงเกินกว่าตำรวจท้องที่ หรือตำรวจตอบโต้เร็วในพื้นที่จะรับมือได้ มีหน้าที่ในการจัดการกับเหตุอาชญากรรมเหล่านั้น[15] รวมถึงการปิดล้อมจับกุมผู้ต้องหาที่มีความอันตรายสูง[16] และการคุ้มกันผู้ต้องหา โดยรู้จักกันในชื่อของ หน่วยสวาต หน่วยปฏิบัติการพิเศษ
ในภารกิจต่อต้านความไม่สงบที่ยังอยู่ในขอบเขตอำนาจการปฏิบัติการของตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะได้รับการคัดเลือกเพื่อเข้ารับการฝึกและประกอบกำลังเป็นหน่วยในการลาดตระเวน และปฏิบัติงานทั้งการหาข่าวและการซุ่มโจมตีในรูปแบบของกองกำลังกึ่งทหาร เพื่อรักษาความสงบในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูง[17]
การปฏิบัติการหลายครั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องแยกผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงออกจากกลุ่มผู้ก่อเหตุในสถานการณ์รุนแรง ทำให้ตำรวจต้องติดอาวุธทางยุทธวิธีที่ไม่ก่อให้เกิดอันตาย อาทิ ระเบิดแฟลช กระสุนยาง
ตำรวจอาจมีอำนาจในทางปกครองที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ การออกใบอนุญาตอาวุธปืน การออกใบอนุญาตติดตั้งสัญญาณไฟฉุกเฉิน[18] โดยขอบเขตอำนาจในด้านนี้อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
ตำรวจในการทหารมีหลายความหมาย อาทิ
ในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการบังคับใช้กฎหมายอิสาม ชะรีอะฮ์ จะมีกองกำลังตำรวจศาสนาที่บังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดกฎข้อบังคับของกฎหมายศาสนา เช่น ในประเทศซาอุดีอารเบีย[20]
ในการปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจจะพกอาวุธ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปืนพกในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ[21] ในบางประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร[21] (ยกเว้นไอร์แลนด์เหนือ) ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ นิวซีแลนด์ และมอลตา เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่พกอาวุธ นอกจากหน่วยเฉพาะทางที่ได้รับอนุญาตให้ติดอาวุธ โดยตำรวจมักมีหน่วยเชี่ยวชาญการใช้อาวุธเฉพาะในการปฏิบัติการต่อผู้กระทำผิดที่ติดอาวุธ และสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงอื่น ๆ ซึ่งในบางสถานการณ์ที่ตำรวจไม่สามารถรับมือได้ ตำรวจสามารถร้องขอกำลังสนับสนุนจากทหารได้ ขึ้นอยู่กับกฎหมายในแต่ละประเทศ
นอกจากนี้ ตำรวจยังมีอาวุธที่ไม่ร้ายแรง (อาวุธที่ไม่รุนแรงถึงตาย) เอาไว้สำหรับการควบคุมการจลาจล เช่น กระบอง[21] แก๊สน้ำตา[22] กระสุนยาง[23] ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง[23] ตำรวจควบคุมฝูงชน โล่ปราบจลาจล และอาวุธปืนไฟฟ้า[21] โดยตำรวจจะพกกุญแจจมือเพื่อควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย[24] ในขณะที่อาวุธที่รุนแรงถึงชีวิตมักจะถูกใช้งานเป็นวิธีสุดท้ายเท่านั้นตามเงื่อนไขของข้อกฎหมายในแต่ละประเทศ เช่น บราซิลใช้ได้กับอาชญากรหลบหนี สหรัฐใช้ได้เพื่อป้องกันชีวิตของตนเอง[25][26]
ตำรวจสมัยใหม่มักมีการใช้งานวิทยุสื่อสารแบบสองทางอย่างแพร่หลาย ทั้งแบบวิทยุมือถือ วิทยุโมบายล์ติดรถยนต์ และวิทยุแบบติดตั้งประจำที่ เพื่อประสานงานในการทำงาน รายงานข้อมูลและการช่วยเหลือกันอย่างทันถ้วงที[27] ในปัจจุบันอุปกรณ์เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลในรถเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารของตำรวจ ในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน การตรวจสอบประวัติอาชญากรรมผู้ต้องสงสัยในเวลาอันสั้น และรายงานบันทึกประจำวันในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตามเวลาจริง อุปกรณ์การสื่อสารพื้นฐานอื่น ๆ ของตำรวจได้แก่ ไฟฉาย แท่งไฟ นกหวีด
รถยนต์ตำรวจถูกใช้งานในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการควบคุมตัวผู้ต้องหา[28] การลาดตระเวน และการเดินทาง[29] โดยทั่วไปรถตำรวจจะเป็นรถเก๋งสี่ประตูที่ได้รับการดัดแปลง ติดตราของหน่วยงานตำรวจในตำแหน่งที่เหมาะสม และติดตั้งสัญญาณไฟฉุกเฉินพร้อมด้วยเสียงไซเรน เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนรับรู้ถึงการมาถึงและปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจรถตำรวจหรือยานพาหนะอื่น ๆ ที่ไม่ติดเครื่องหมายถูกใช้งานในการปฏิบัติการสืบสวนและติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดโดยไม่ให้รู้ตัว
รถจักรยานยนต์ตำรวจถูกใช้งานในพื้นที่ที่รถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงได้ เพื่อเข้าระงับเหตุและควบคุมสถานการณ์รักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่[30] ใช้ในการปิดกั้นการจราจรในการคุ้มกันยานพาหนะเมื่อผ่านเส้นทางต่าง ๆ[31] โดยในตำรวจปราบจลาจลมีการใช้งานจักรยานยนต์เพื่อตั้งแนวขัดขวางชั่วคราวในการต่อต้านและปราบปรามผู้ประท้วง และอีกคุณสมบัติของจักรยานยนต์ก็คือความเงียบในการเข้าใกล้ผู้ต้องสงสัย และไล่ติดตามผู้กระทำผิดที่ใช้การเดินเท้าในการหลบหนี
นอกจากนี้ ตำรวจยังใช้ยานพาหนะอื่น ๆ ในการสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย เช่น เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบิน เรือลาดตระเวน รถบัญชาการเหตุการณ์เคลื่อนที่ จักรยานยนต์ และรถหุ้มเกราะ และภายในยานพาหนะเหล่านั้นอาจมีถังดับเพลิง หรือเครื่องกระตุ้นหัวใจสำหรับใช้งานในเหตุฉุกเฉินอีกด้วย
หลังจากการเข้ามาของการใช้รถตำรวจ วิทยุสื่อสาร และโทรศัพท์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ได้เปลี่ยนกลยุทธ์การทำงานของตำรวจ ที่เน้นการตรวจตราตั้งรับในพื้นที่เขตตรวจของตนเอง เปลี่ยนมาเป็นยุทธวิธีแบบโต้ตอบอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการควบคุมและสั่งการของตำรวจอย่างเป็นระบบที่มีศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น[32]
ภายในหน่วยงานตำรวจ มักจะมีหน่วยงานสำหรับตรวจสอบการทำงานภายในหน่วยงานของตนเอง โดยเป็นที่รู้จักในชื่อ หน่วยตรวจสอบภายใน[33] โดยในบางประเทศมีการแยกหน่วยงานนี้ออกมาจากหน่วยงานตำรวจเพื่อความอิสระในการตรวจสอบการทำงาน เช่น อังกฤษ ฮ่องกง
เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะถูกกล่าวหาว่าใช้กำลังเกินกว่าเหตุ และขอบเขตของกฎหมาย[34] โดยเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือการใช้ความรุนแรงในการจับกุมต่อจอร์จ ฟลอยด์ จนทำให้เขาเสียชีวิต[35] โดยความรุนแรงดังกล่าวอาจขยายไปถึงชีวิตหลังการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีอัตราการใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่สูง[36]
เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่หลักในการบังคับใช้กฎหมาย โดยไม่ได้มีหน้าที่ชัดเจนในการปกป้องบุคคลใด ๆ แต่ในทางกลับกัน ตำรวจมีหน้าที่ในการคุ้มครองและปกป้องพยานในกระบวนการชั้นศาล[37] เพื่อไม่ให้เกิดการแทรกแทรงกระบวนการยุติธรรม และการขมขู่พยานเพื่อให้เปลี่ยนแปลงหรือกลับคำให้การ[38]
ในขณะที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางหน่วยที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองบุคคลโดยเฉพาะ เช่น ตำรวจลับสหรัฐ
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.