Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียง (จีน: 諸葛亮北伐) เป็นชุดการทัพห้าครั้งซึ่งเปิดฉากโดยรัฐจ๊กก๊กเพื่อต่อต้านวุยก๊กรัฐอริตั้งแต่ ค.ศ. 228 ถึง ค.ศ. 234 ในยุคสามก๊กของจีน การบุกขึ้นเหนือทั้งห้าครั้งนำโดยจูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีและผู้สำเร็จราชการแห่งจ๊กก๊ก แม้ว่าการทัพไม่ประสบผลสำเร็จและจบลงด้วยภาวะคุมเชิงกัน แต่การบุกขึ้นเหนือได้กลายเป็นหนึ่งในการศึกที่เป็นรู้จักมากที่สุดในยุคสามก๊กและเป็นหนึ่งในการศึกไม่กี่ครั้งที่แต่ละฝ่าย (จ๊กก๊กและวุยก๊ก) รบด้วยกำลังพลนับนับแสนนาย ต่างจากยุทธการอื่น ๆ ที่ฝ่ายหนึ่งมีความได้เปรียบเชิงกำลังรบอย่างมาก
การบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียง | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามในยุคสามก๊ก | |||||||
ภาพวาดการบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียงจากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14 ฉบับตีพิมพ์ในยุคราชวงศ์ชิง | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
วุยก๊ก |
จ๊กก๊ก ชาวเกี๋ยง ชาวเซียนเปย์ | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
โจยอย โจจิ๋น สุมาอี้ เตียวคับ † เฮ็กเจียว อองสง † กุยห้วย ปีเอียว ไต้เหลง งิวขิ้ม เจี่ย ซื่อ งุยเป๋ง ซินผี แฮหัวหลิม จีนล่ง |
เล่าเสี้ยน จูกัดเหลียง อุยเอี๋ยน (พยายามก่อการกำเริบ) เตียวจูล่ง เตงจี๋ ม้าเจ๊ก ตันเซ็ก อองเป๋ง งออี้ งอปั้น โกเสียง เอียวหงี เกียงอุย ห่อปี |
การบุกขึ้นเหนือได้รับการเล่าและเสริมแต่งในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14 ซึ่งมักเรียกว่า "การทัพผ่านเขากิสานหกครั้ง" (六出祁山 ลิ่วชูฉีชาน) คำเรียกนี้ไม่ถูกต้อง เนื่องจากจูกัดเหลียงนำทัพบุกเหนือผ่านเขากิสานเพียงสองครั้ง (ครั้งแรกและครั้งที่ 4)
ในปี ค.ศ. 220 หลังการสิ้นสุดของราชวงศ์ฮั่น แผ่นดินจีนถูกแบ่งออกเป็นสามรัฐ ได้แก่ วุยก๊ก จ๊กก๊ก และง่อก๊ก แต่ละรัฐต่างพยายามจะรวบรวมแผ่นดินเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งภายใต้การปกครองของตน
ในจ๊กก๊ก แนวคิดเชิงยุทธศาสตร์เบื้องหลังการการบุกขึ้นเหนือมาจากแผนหลงจงของจูกัดเหลียงที่เคยเสนอต่อขุนศึกเล่าปี่ในปี ค.ศ. 207 ใจความสำคัญของแผนหลงจงคือการคาดการณ์การแบ่งแผ่นดินจีนเป็นไตรภาคีระหว่างอาณาเขตของขุนศึกเล่าปี่ โจโฉ และซุนกวน ตามแผนหลงจงเล่าปี่จะเข้ายึดครองมณฑลเกงจิ๋วและเอ๊กจิ๋วจากเจ้ามณฑลของแต่ละมณฑลคือเล่าเปียวและเล่าเจี้ยงตามลำดับ และสร้างรากฐานที่มั่นคงทางตอนใต้และตะวันตกของจีน จากนั้นเล่าปี่จะผูกพันธมิตรกับซุนกวนที่ปกครองอาณาเขตทางตะวันออกของจีน และทำศึกกับโจโฉผู้ปกครองอาณาเขตทางเหนือของจีนและกุมศูนย์กลางทางการเมืองของราชวงศ์ฮั่นในภาคกลางของจีน จากนั้นเล่าปี่จะนำทัพจากมณฑลเอ๊กจิ๋วเข้าโจมตีเตียงฮันผ่านเทือกเขาฉินหลิ่งและหุบเขาแม่น้ำอุยโห ให้ขุนพลระดับสูงคนหนึ่งของเล่าปี่นำอีกทัพจากมณฑลเกงจิ๋วเข้าโจมตีลกเอี๋ยง[1]
แผนระยะต้นสำเร็จในปี ค.ศ. 214 เมื่อเล่าปี่เข้ายึดครองมณฑลเกงจิ๋วทางใต้และมณฑลเอ๊กจิ๋ว ระหว่างปี ค.ศ. 217 ถึง ค.ศ. 219 เล่าปี่ยกทัพทำศึกเพื่อยึดครองเมืองฮันต๋งอันเป็น "ประตูทางเหนือ" ที่เปิดเข้าสู่มณฑลเอ๊กจิ๋ว และสามารถยึดฮันต๋งมาจากทัพโจโฉในสำเร็จ ในปี ค.ศ. 219 กวนอูขุนพลของเล่าปี่ที่เล่าปี่ให้อยู่รักษามณฑลเกงจิ๋ว เริ่มทำศึกกับทัพโจโฉในยุทธการที่อ้วนเสีย แต่พันธมิตรซุนกวน-เล่าปี่ที่จูกัดเหลียงมีบทบาทในการสร้างขึ้นก็ถูกทำลายลงเมื่อซุนกวนส่งทัพเข้าโจมตีและยึดครองอาณาเขตของเล่าปี่ในมณฑลเกงจิ๋วระหว่างที่กวนอูยกกำลังออกไปทำศึกในยุทธการที่อ้วนเสีย ต่อมากวนอูถูกจับและประหารชีวิตโดยทัพซุนกวน ระหว่างปี ค.ศ. 221 ถึง ค.ศ. 222 เล่าปี่เริ่มยกทัพเข้ารบกับซุนกวนในยุทธการที่อิเหลง/จูเต๋งเพื่อพยายามยึดมณฑลเกงจิ๋วคืนแต่ล้มเหลงและพ่ายแพ้ยับเยิน หลังเล่าปี่สวรรคตในปี ค.ศ. 223 พระโอรสเล่าเสี้ยนขึ้นสืบราชบัลลังก์ในฐานะจักรพรรดิแห่งจ๊กก๊ก โดยมีจูกัดเหลียงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในปีเดียวกันจูกัดเหลียงเจรจาสงบศึกกับง่อก๊กของซุนกวน และก่อตั้งพันธมิตรง่อก๊ก-จ๊กก๊กขึ้นใหม่เพื่อต่อต้านวุยก๊กซึ่งเป็นรัฐที่ก่อตั้งโดยโจผีบุตรชายและผู้สืบทอดของโจโฉ
ในปี ค.ศ. 227 จูกัดเหลียงสั่งระดมพลจากทั่วจ๊กก๊กและมารวมพลในเมืองฮันต๋งเพื่อเตรียมการสำหรับการทัพต่อวุยก๊กครั้งใหญ่ ก่อนที่จะยกทัพไป จูกัดเหลียงได้เขียนฎีกาที่เรียกว่าฎีกาออกศึก (出師表 ชูชือเปี่ยว) ถวายจักรพรรดิเล่าเสี้ยน ในฎีการะบุถึงเหตุผลของจูกัดเหลียงในการยกทัพรบกับวุยก๊ก และยังถวายคำแนะนำแก่เล่าเสี้ยนในประเด็นด้านการปกครอง[2] หลังจากที่เล่าเสี้ยนทรงอนุมัติ จูกัดเหลียงจึงสั่งให้ทัพจ๊กก๊กไปรักษาการณ์อยู่ที่อำเภอไกเอี๋ยง (沔陽 เหมี่ยนหยาง; ปัจจุบันคืออำเภอเหมี่ยน มณฑลฉ่านซี)[3]
แผนของจูกัดเหลียงเป็นการยกทัพขึ้นเหนือจากเมืองฮันต๋ง (ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางใต้ของมณฑลฉ่านซี)[4] ซึ่งอยู่ทางเหนือของมณฑลเอ๊กจิ๋ว ในศตววรรษที่ 3 เมืองฮันต๋งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรเบาบาง ล้อมรอบด้วยป่าดงดิบ ความสำคัญของเมืองฮันต๋งอยู่ที่การเป็นตำแหน่งทางยุทธศาสตร์บนที่ราบยาวและอุดมสมบูรณ์ตลอดแม่น้ำฮั่นซุย (漢水 ฮั่นฉุ่ย) อยู่ระหว่างเทือกเขาใหญ่สองเทือก คือเทือกเขาฉินหลิ่ง (秦嶺) ทางเหนือและเทือกเขาบิซองสัน (米倉山 หมี่ชางชาน) ทางใต้ ฮันต๋งเป็นศูนย์กลางการปกครองที่สำคัญของเขตชายแดนแถบภูเขาระหว่างแอ่งเสฉวนอันอุดมสมบูรณ์ทางใต้และหุบเขาแม่น้ำอุยโห (渭河 เว่ย์เหอ) ทางเหนือ พื้นที่นี้ยังสามารถเข้าถึงพื้นที่แห้งแล้งทางตะวันตกเฉียงเหนือและดินแดนด้ามกระทะกานซู่
ในทางภูมิศาสตร์ แนวป้องกันอันแข็งแกร่งของเทือกเขาฉินหลิ่งเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการยกไปยังเตียงฮัน เทือกเขาประกอบด้วยแนวสันเขาเรียงกันหลายแนว โดยทั้งหมดทอดตัวไปทางตะวันออกโดยเฉียงลงใต้เล็กน้อย คั่นด้วยหุบเขาสลับซับซ้อนที่แตกออกเป็นแขนง ซึ่งผนังหุบเขามักจะสูงชันขึ้นไปเหนือลำธารในหุบเขา ผลจากการเคลื่อนตัวจากแผ่นดินไหว ทำให้ลักษณะภูมิประเทศมีความซับซ้อนอย่างมาก การเข้าถึงจากทางใต้จำกัดอยู่เพียงเส้นทางบนภูเขาไม่กี่เส้นทางที่เรียกว่าเป็น "สะพานเลียบเขา" หรือ "เจียงโต๋" (棧道 จ้านเต้า) สะพานเลียบเขาเหล่านี้ผ่านช่องทางหลัก ๆ และมีความโดดเด่นในด้านทักษะทางวิศวกรรมในการสร้าง สะพานเลียบเขาที่เก่าแก่ที่สุดคือทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองฮันต๋งและผ่านด่านซันกวน (散關 ส่านกวาน) เส้นทางเหลียนยฺหวิน (連雲 "เมฆประสาน") ถูกสร้างขึ้นที่นั่นเพื่อรองรับการสัญจรในสมัยราชวงศ์จิ๋นเมื่อศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสกาล ตามหุบเขาเจียหลิง (嘉陵) ปรากฏเส้นทางทางตอนเหนือซึ่งเป็นส่วนที่แม่น้ำอุยโหขยายอย่างมากบริเวณใกล้กับตันฉอง (陳倉 เฉินชาง; ปัจจุบันคือนครเป่าจี มณฑลฉ่านซี) อีกเส้นทางหนึ่งที่สำคัญคือเส้นทางเปาเสีย (褒斜) ซึ่งตัดผ่านด่านหุบเขาเสียดก๊ก (斜谷 เสียกู่) และไปสิ้นสุดที่ทางใต้ของอำเภอไปเซีย (郿縣 เหมย์เซี่ยน) มีเส้นทางรอง ๆ และเดินทางได้อย่างยากลำบากอีกจำนวนหนึ่งไปทางทิศตะวันออก โดยเฉพาะเส้นทางผ่านหุบเขาจูงอก๊ก (子午谷 จื๋ออู๋กู่) ซึ่งนำไปสู่ทางใต้ของเตียงฮันโดยตรง
เบ้งตัดอดีตขุนพลของจ๊กก๊กแปรพักตร์ไปเข้าด้วยวุยก๊กในปี ค.ศ. 220 รับราชการเป็นเจ้าเมืองซินเสีย (新城郡 ซินเฉิงจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลหูเป่ย์) ใกล้ของชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือของจ๊กก๊ก จูกัดเหลียงเกลียดเบ้งตัดจากพฤติกรรมที่เอาแน่เอานอนไม่ได้และกังวลว่าเบ้งตัดจะเป็นภัยคุกคามต่อจ๊กก๊ก[5] ราวปี ค.ศ. 227 เมื่อจูกัดเหลียงได้ข่าวว่าเบ้งตัดขัดแย้งกับซินหงี (申儀 เชิน อี๋) ที่เป็นเพื่อนขุนนางในวุยก๊ก จึงส่งสายลับไปก่อกวนเพิ่มความคลางแคลงใจระหว่างทั้งสองและแพร่ข่าวลือว่าเบ้งตัดวางแผนจะก่อกบฏต่อวุยก๊ก เบ้งตัดเริ่มหวาดกลัวจึงตัดสินใจที่จะก่อกบฏ[6] แต่เบ้งตัดก็ติดอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกหลังได้รับจดหมายจากสุมาอี้ขุนพลวุยก๊กซึ่งประจำการอยู่ที่อ้วนเซีย ในขณะเดียวกัน สุมาอี้รวบรวมกองกำลังอย่างรวดเร็วและมุ่งตรงไปยังซินเสียและไปถึงภายใน 8 วัน[7]
จ๊กก๊กและง่อก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กส่งทัพมาสนับสนุนเบ้งตัดแต่ถูกทัพวุยก๊กที่นำโดยผู้ใต้บังคับบัญชาของสุมาอี้ตีแตกพ่ายและถอยร่นไป[8] สุมาอี้สั่งให้กองกำลังเข้าล้อมเซียงหยง (上庸 ช่างยง) อันเป็นฐานที่มั่นของเบ้งตัดและโจมตีจากแปดทิศทาง ในขณะเดียวกันก็สามารถเกลี้ยกล่อมเตงเหียน (鄧賢 เติ้ง เสียน) หลานชายของเบ้งตัดกับลิจู (李輔 หลี ฝู่) ให้ทรยศเบ้งตัด หลังจากการล้อม 16 วัน เตงเหียนและลิจูเปิดประตูเมืองเซียงหยงและยอมสวามิภักดิ์ต่อสุมาอี้ เบ้งตัดถูกจับตัวและถูกประหารชีวิต[9][10][11] สุมาอี้และกองกำลังยกกลับไปยังอ้วนเซียหลังปราบปรามกบฏเสร็จสิ้น[12] จากนั้นจึงเดินทางไปยังลกเอี๋ยงนครหลวงของวุยก๊กและทูลรายงานจักรพรรดิโจยอย แล้วกลับไปยังอ้วนเซียหลังจากนั้น[13]
ลำดับเหตุการณ์การบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียง[14] | ||
---|---|---|
ช่วงเวลาโดยประมาณ | สถานที่ | เหตุการณ์ |
4 เม.ย. – 2 พ.ค. 227 | ฮั่นจง มณฑลฉ่านซี | จูกัดเหลียงเดินทางไปยังฮันต๋งเตรียมการบุกเหนือครั้งแรก จูกัดเหลียงร่างฎีกาออกศึกถวายเล่าเสี้ยน |
ลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน | ซุนจูทัดทานโจยอยไม่ให้เข้าโจมตีฮันต๋ง | |
2–30 ก.ค. 227 | หนานหยาง มณฑลเหอหนาน | สุมาอี้ได้รับมอบหมายให้ดูแลกิจการทหารในมณฑลเกงจิ๋วและอิจิ๋ว และไปประจำการที่อ้วนเซีย |
26 ธ.ค. 227 – 23 มี.ค. 228 | ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลหูเป่ย์ | กบฏซินเสีย: สุมาอี้ปราบปรามกบฏและประหารชีิวิตเบ้งตัดจากนั้นจึงเดินทางไปยังนครลกเอี๋ยงเข้าเฝ้าโจยอยและกลับไปยังอ้วนเซีัยหลังจากนั้น |
23 ก.พ. – 21 พ.ค. 228 | ทางตะวันตกของมณฑลฉ่านซีและทางตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลกานซู่ | การบุกขึ้นเหนือครั้งแรก:
|
29 พ.ค. 228 | ซีอาน มณฑลฉ่านซี | โจยอยเสด็จนิวัติจากเตียงฮันกลับไปลกเอี๋ยง |
17 ก.ย. – 15 ต.ค. 228 | อำเภอชูเฉิง มณฑลอานฮุย | ยุทธการที่เซ็กเต๋ง: ทัพง่อก๊กเอาชนะทัพวุยก๊ก |
14 ธ.ค. 228 – 12 ม.ค. 229 | ฮั่นจง มณฑลฉ่านซี | กล่าวกันว่าจูกัดเหลียงร่างฎีกาออกศึกฉบับที่สองถวายเล่าเสี้ยน |
13 ม.ค. – 10 ก.พ. 229 | เขตเฉินชาง นครเป่าจี มณฑลฉ่านซี | การบุกขึ้นเหนือครั้งที่สอง:
|
11 ก.พ. – 10 พ.ค. 229 | นครหล่งหนาน มณฑลกานซู่ | การบุกขึ้นเหนือครั้งที่สาม:
|
230 | อำเภออู่ชาน มณฑลกานซู่ | ยุทธการที่หยางซี: อุยเอี๋ยนเอาชนะกุยห้วยและปีเอียวในยุทธการ[15] |
28 ก.ค. – 26 ส.ค. 230 | ลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน | โจจิ๋นทูลโน้มน้าวโจยอยให้เปิดฉากการบุกจ๊กก๊กขนานใหญ่ โจยอยมีรับสั่งให้สุมาอี้นำทัพจากมณฑลเกงจิ๋วมาสมทบกับทัพของโจจิ๋นที่ฮันต๋ง |
27 ส.ค. – 24 ก.ย. 230 | ฮั่นจง มณฑลฉ่านซี | จูกัดเหลียงมอบหมายให้ลิเงียมนำกองกำลัง 20,000 นายไปหนุนช่วยฮันต๋ง ทัพวุยก๊กที่บุกมาไม่สามารถผ่านหุบเขาเสียดก๊กเนื่องจากสะพานเลียบเขาที่นำไปสู่จ๊กก๊กเสียหายเพราะฝนตกอย่างหนักเป็นเวลามากกว่า 30 วัน |
25 ก.ย. – 24 ต.ค. 230 | สฺวี่ชาง มณฑลเหอหนาน | โจยอยมีรับสั่งให้ทัพวุยก๊กที่กำลังบุกให้ยกเลิกภารกิจและกลับฐานที่ตั้ง |
21 มี.ค. – 15 ส.ค. 231 | ทางตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลกานซู่ | การบุกขึ้นเหนือครั้งที่สี่:
|
18 มี.ค. – 10 ต.ค. 234 | มณฑลฉ่านซี | การบุกขึ้นเหนือครั้งที่ห้า:
|
ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 228 จูกัดเหลียงเปิดฉากการบุกขึ้นเหนือครั้งแรกและนำทัพจ๊กก๊กไปยังเขากิสาน (祁山 ฉีชาน; พื้นที่ภูเขาบริเวณอำเภอหลี่ มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ในขณะเดียวกันก็มอบหมายให้เตียวจูล่งและเตงจี๋นำกองกำลังรบล่อไปยังหุบเขากิก๊ก (箕谷 จีกู่) แสร้งจะเตรียมเข้าตีอำเภอไปเซียเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของทัพวุยก๊กจากเขากิสาน ข่าวการบุกของจ๊กก๊กสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วภูมิภาคกวนต๋ง สามเมืองที่ขึ้นกับวุยก๊กอันได้แก่ ลำอั๋น (南安 หนานอาน), เทียนซุย (天水 เทียนฉุ่ย) และฮันเต๋ง (安定 อันติ้ง) แปรพักตร์ไปเข้าด้วยฝ่ายจ๊กก๊ก[16]
เพื่อตอบโต้การบุกของจ๊กก๊ก โจยอยจึงเสด็จจากลกเอี๋ยงไปยังเตียงฮันเพื่อดูแลการป้องกันและจัดหากำลังสำรอง พระองค์มีรับสั่งให้เตียวคับเข้าโจมตีจูกัดเหลียงที่เขากิสาน และให้โจจิ๋นไปโจมตีเตียวจูล่งและเตงจี๋ที่หุบเขากิก๊ก[17] เตียวจูล่งและเตงจี๋พ่ายแพ้ในยุทธการที่กิก๊กเนื่องจากกำลังรบล่อนั้นประกอบด้วยทหารที่อ่อนแอกว่าในทัพหลักของจ๊กก๊ก จึงไม่อาจต้านทานโจจิ๋นและกองกำลังที่ฝึกมาเป็นอย่างดีได้ (จูกัดเหลียงสงวนกองกำลังที่แข็งแกร่งกว่าสำหรับโจมตีเขากิสาน) ในขณะเดียวกัน จูกัดเหลียงส่งม้าเจ๊กให้นำทัพหน้าไปรบกับเตียวคับที่เกเต๋ง (街亭 เจียถิง; ตั้งอยู่ทางตะวันออกของอำเภอฉินอาน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ม้าเจ๊กไม่เพียงแต่ฝ่าฝืนคำสั่งของจูกัดเหลียง แต่ยังดำเนินยุทธวิธีผิดพลาด ทำให้ทัพหน้าของจ๊กก๊กถูกตีแตกพ่ายยับเยิน หลังเตียวคับได้รับชัยชนะในยุทธการที่เกเต๋ง ก็ฉวยโอกาสนี้เข้าโจมตีและยึดลำอั๋น เทียนซุย และฮันเต๋งสามเมืองคืนมา[18][19]
เมื่อจูกัดเหลียงทราบเรื่องความพ่ายแพ้ที่หุบเขากิก๊กและเกเต๋ง จึงสั่งถอยทัพทั้งหมดกลับไปยังเมืองฮันต๋ง แม้ว่าการบุกขึ้นเหนือครั้งแรกจะล้มเหลวในภาพรวม แต่จูกัดเหลียงก็ยังได้ผลประโยชน์เล็กน้อยให้กับจ๊กก๊ก ผลประโยชน์ประการแรกคือการกวาดต้อนครอบครัวราษฎรบางส่วนของวุยก๊กซึ่งภายหลังกลายเป็นราษฎรของจ๊กก๊กและตั้งถิ่นฐานใหม่ในเมืองฮันต๋ง ผลประโยชน์ประการที่สองคือการแปรพักตร์ของเกียงอุย นายทหารระดับล่างของวุยก๊กซึ่งต่อมาได้กลายเป็นขุนพลคนสำคัญของจ๊กก๊ก หลังจูกัดเหลียงกลับมาถึงฮันต๋ง ได้สั่งประหารชีวิตม้าเจ๊กเพื่อบรรเทาความโกรธของมวลชน[20] แล้วเขียนฎีกาถึงเล่าเสี้ยน แสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อความล้มเหลวในการบุกขึ้นเหนือครั้งแรกและเสนอให้ตนถูกลงโทษโดยการลดตำแหน่ง[21] เล่าเสี้ยนอนุมัติตามฎีกาและให้ลดตำแหน่งของจูกัดเหลียงจากอัครมหาเสนาบดี (丞相 เฉิงเซี่ยง) ไปเป็นขุนพลทัพขวา (右將軍 โย่วเจียงจฺวิน) แต่ยังให้จูกัดเหลียงยังคงอำนาจรักษาการอัครมหาเสนาบดีต่อไป[22]
ในฤดูหนาว ค.ศ. 228–229 จูกัดเหลียงเปิดฉากการบุกขึ้นเหนือครั้งที่ 2 และนำทัพจ๊กก๊กเข้าโจมตีป้อมปราการของวุยก๊กที่ตันฉองผ่านทางด่านซันกวน เมื่อจูกัดเหลียงยกไปถึงตันฉองก็ต้องประหลาดใจที่เห็นว่าป้อมปราการมีการเสริมการป้องกันเป็นอย่างดีเกินกว่าที่คาดกว่า เนื่องจากเพราะหลังจากการบุกขึ้นเหนือครั้งแรก ขุนพลวุยก๊กโจจิ๋นคาดการณ์ว่าทัพจ๊กก๊กจะต้องโจมตีตันฉองในการบุกครั้งถัดไป จึงให้เฮ็กเจียวทำหน้าที่ป้องกันตันฉองและเสริมการป้องกัน[23][24]
จูกัดเหลียงออกคำสั่งให้กองกำลังเข้าล้อมตันฉองก่อน จากนั้นจึงส่งกิมเซียง (靳詳 จิ้น เสียง) สหายเก่าของเฮ็กเจียวไปเกลี้ยกล่อมเฮ็กเจียวให้ยอมจำนน เฮ็กเจียวปฏิเสธถึงสองครั้ง[25] แม้ว่าเฮ็กเจียวมีทหารเพียงแค่ 1,000 นายในการรักษาตันฉอง แต่ก็สามารถตั้งมั่นต้านทัพจ๊กก๊กได้ ในช่วงเวลา 20 วันที่ทัพจ๊กก๊กล้อมตันฉอง จูกัดเหลียงใช้ยุทธวิธีหลายอย่างในการโจมตีป้อมปราการ ทั้งบันไดพาด รถกระทุ้งประตู หอรบ และอุโมงค์ แต่เฮ็กเจียวก็สามารถหาทางโต้กลับแต่ละยุทธวิธีได้สำเร็จ[26] เมื่อจูกัดเหลียงทราบว่ากำลังเสริมของวุยก๊กกำลังมาถึงตันฉอง จึงถอนกำลังทั้งหมดกลับไปฮันต๋งทันที[27] อองสงนายทหารของวุยก๊กนำกำลังทหารไล่ตามตีทัพจ๊กก๊กที่ล่าถอย แต่ถูกกองกำลังของจ๊กก๊กซุ่มโจมตีและสังหาร[28]
ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 229 จูกัดเหลียงเปิดฉากการบุกขึ้นเหนือครั้งที่สามและมอบหมายให้ตันเซ็กนำกองกำลังจ๊กก๊กเข้าโจมตีเมืองปูเต๋า (武都 อู่ตู) และอิมเป๋ง (陰平 อินผิง) ที่อยู่ในอาณาเขตของวุยก๊ก กุยห้วยขุนพลวุยก๊กจึงนำกองกำลังไปต้านตันเซ็ก กุยห้วยล่าถอยหลังจากจูกัดเหลียงนำทัพจ๊กก๊กไปถึงเจี้ยนเวย์ (建威; ปัจจุบันคือนครหล่งหนาน มณฑลกานซู่) ทัพจ๊กก๊กจึงยึดได้เมืองปูเต๋าและอิมเป๋ง[29][30]
เมื่อจูกัดเหลียงกลับจากการทัพ เล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กมีพระราชโองการแสดงความยินดีในความสำเร็จของจูกัดเหลียงจากการพิชิตอองสงระหว่างการบุกขึ้นเหนือครั้งสอง, ทำให้กุยห้วยล่าถอย, ได้รับความไว้วางใจจากชนเผ่าท้องถิ่นกลับคืนมา และยึดได้เมืองปูเต๋ากับอิมเป๋งระหว่างการบุกขึ้นเหนือครั้งที่สาม พระองค์ยังตั้งให้จูกัดเหลียงกลับคืนมาอยู่ในตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี (丞相 เฉิงเซี่ยง)[30][31]
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 230[30] โจจิ๋นนำทัพจากเตียงฮันเข้าโจมตีจ๊กก๊กผ่านหุบเขาจูงอก๊ก (子午谷 จื๋ออู๋กู่) ในเวลาเดียวกัน กองกำลังวุยก๊กอีกกองหนึ่งนำโดยสุมาอี้ได้ทำตามคำสั่งของโจจิ๋นที่ให้รุกคืบเข้าแดนจ๊กก๊กทางจากมณฑลเกงจิ๋วโดยล่องเรือไปตามแม่น้ำฮั่นซุย (漢水 ฮั่นฉุ่ย) จุดบรรจบของกองกำลังของโจจิ๋นและสุมาอี้อยู่ที่อำเภอลำเต๋ง (南鄭縣 หนานเจิ้งเซี่ยน; อยู่ในนครฮั่นจง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) กองกำลังวุยก๊กอื่น ๆ ก็เตรียมเข้าโจมตีจ๊กก๊กจากทางหุบเขาเสียดก๊ก (斜谷 เสียกู่) หรือจากทางเมืองอู่เวย์ (武威)[32]
เมื่อจูกัดเหลียงทราบข่าวความเคลื่อนไหวของวุยก๊ก จึงมีคำสั่งถึงลิเงียมให้นำกำลังทหาร 20,000 นายไปยังเมืองฮันต๋งเพื่อป้องกันการบุกของวุยก๊ก ลิเงียมยอมรับคำสั่งอย่างไม่เต็มใจหลังการโน้มน้าวอย่างหนักของจูกัดเหลียง[33] ขณะที่แฮหัวป๋านำกองหน้าในการบุกครั้งนี้ผ่านเส้นทางจูงอก๊ก (子午道 จื๋ออู่เต้า) ที่มีระยะทาง 330 กิโลเมตร แฮหัวป๋าถูกชาวบ้านท้องถิ่นเห็นตัว ชาวบ้านจึงรายงานเรื่องการปรากฎตัวของแฮหัวป๋าแก่ทัพจ๊กก๊ก แฮหัวป๋าสามารถล่าถอยไปได้อย่างเฉียดฉิวหลังกำลังเสริมจากทัพหลักมาถึง[34]
จูกัดเหลียงยังให้อุยเอี๋ยนนำกำลังทหารลอบไปหลังแนวข้าศึกไปยังหยางซี (陽谿; อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภออู่ชาน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) เพื่อเกลี้ยกล่อมให้ชนเผ่าเกี๋ยงให้เข้าร่วมกับจ๊กก๊กในการรบกับวุยก๊ก อุยเอี๋ยนได้ชัยชนะอย่างใหญ่หลวงต่อทัพวุยก๊กที่นำโดยกุยห้วยและปีเอียว[35] หลังจากเหตุการณ์เหล่านี้ ทั้งสองฝ่ายก็มาอยู่ในภาวะคุมเชิงกันเป็นเวลานานและมีการต่อสู้เพียงเล็กน้อย หลังจากเวลาผ่านไปมากกว่าหนึ่งเดือนที่การทัพคืบหน้าอย่างช้า ๆ และด้วยความกลัวว่าจะสูญเสียทหารและสิ้นเปลืองทรัพยากร ขุนนางหลายคนจึงถวายฎีกาให้ยกเลิกการทัพ สถานการณ์การทัพไม่ได้ดีขึ้นเนื่องจากภูมิประเทศที่ทุรกันดารและสภาพอากาศมีฝนตกหนักต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 วัน โจยอยจึงตัดสินพระทัยให้ยกเลิกการทัพและมีรับสั่งเรียกตัวนายทหารทุกคนกลับมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 230[30][36]
ในปี ค.ศ. 231[37] จูกัดเหลียงเริ่มการบุกขึ้นเหนือครั้งที่สี่และโจมตีเขากิสานอีกครั้ง จูกัดเหลียงใช้โคยนตร์อุปกรณ์กลไกที่เขาประดิษฐ์ขึ้นในการขนส่งเสบียงไปยังแนวหน้า[38] ทัพจ๊กก๊กโจมตีเมืองเทียนซุย (天水郡 เทียนฉุ่ยจฺวิ้น) และเข้าล้อมเขากิสานที่รักษาโดยนายทหารของวุยก๊กคือเจี่ย ซื่อ (賈嗣) และงุยเป๋ง (魏平 เว่ย์ ผิง)[39] ที่เขากิสาน จูกัดเหลียงเกลี้ยกล่อมห่อปี (軻比能 เคอปี่เหนิง) ประมุขของชนเผ่าเซียนเปย์ให้ช่วยสนับสนุนจ๊กก๊กในการรบกับวุยก๊ก ห่อปีเดินทางไปที่เมืองเป่ย์ตี้ (北地郡 เป่ย์ตี้จฺวิ้น; อยู่บริเวณใจกลางมณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) เพื่อระดมกำลังคนท้องถิ่นในการสนับสนุนทัพจ๊กก๊ก[40]
เวลานั้นโจจิ๋นมหาขุนพลของวุยก๊กกำลังล้มป่วย โจยอยจักรพรรดิวุยก๊กจึงมีรับสั่งให้ขุนพลสุมาอี้เดินทางไปนครเตียงฮันเพื่อป้องกันอาณาเขตของวุยก๊กในภูมิคารกวนต๋งจากการบุกของจ๊กก๊ก หลังสุมาอี้ได้เตรียมพร้อมสำหรับการรบ สุมาอี้พร้อมด้วยผู้ใต้บังคับบัญชาคือเตียวคับ ปีเอียว ไต้เหลง และกุยห้วยจึงนำทัพวุยก๊กไปยังงอำเภอยฺหวีหมี (隃麋縣 ยฺหวีหมีเซี่ยน; อยู่ทางตะวันออกของอำเภอเชียนหยาง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) และตั้งมั่นอยู่ที่นั่น[41] จากนั้นสุมาอี้จึงมอบหมายให้ปีเอียวและไต้เหลงคุมทหาร 4,000 นายรักษาอำเภอเซียงเท้ง (上邽縣 ช่างกุยเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ในนครเทียนฉุ่ย มณฑลกานซู่) ตัวสุมาอี้นำคนอื่น ๆ ไปยังเขากิสารเพื่อช่วยเจี่ย ซื่อและงุยเป๋ง[42]
เมื่อจูกัดเหลียงทราบข่าวว่าทัพวุยก๊กยกมาถึง จึงแบ่งทัพของตนออกเป็นสองกองกำลัง กองกำลังหนึ่งยังอยู่ที่เขากิสาน ส่วนตัวจูกัดเหลียงนำอีกกองกำลังหนึ่งเข้าโจมตีอำเภอเซียงเท้ง จูกัดเหลียงเอาชนะกุยห้วย ปีเอียว และไต้เหลงได้ในยุทธการแล้วสั่งให้ทหารเก็บเกี่ยวข้าวสาลีในอำเภอเซียงเท้ง สุมาอี้จึงยกทัพจากเขากิสารมุ่งกลับไปยังอำเภอเซียงเท้งและไปถึงภายในสองวัน ถึงเวลานั้นจูกัดเหลียงและทหารก็เก็บเกี่ยวข้าวสาลีเสร็จสิ้นแล้วและเตรียมจะจากไป[43] จูกัดเหลียงเผชิญหน้ากับสุมาอี้ที่ฮันหยง (漢陽 ฮั่นหยาง) ทางตะวันออกของอำเภอเซียงเท้ง แต่ไม่ได้เข้ารบกัน จูกัดเหลียงสั่งทหารให้ใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศแล้วประจำตำแหน่งป้องกัน สุมาอี้สั่งทหารให้จัดกระบวนทัพและส่งงิวขิ้มให้นำหน่วยทหารม้าอาวุธเบาไปยังเขากิสาน การเผชิญหน้าสิ้นสุดลงเมื่อจูกัดเหลียงและทัพจ๊กก๊กล่าถอยไปยังโลเสีย (鹵城 หลู่เฉิง) เข้าคุมเนินเขาทางเหนือและใต้ และใช้แม่น้ำเป็นแนวป้องกันธรรมชาติ[44][45]
แม้ว่าผู้ใต้บังคับบัญชาของสุมาอี้เสนอให้สุมาอี้โจมตีทัพจ๊กก๊กหลายครั้ง แต่สุมาอี้รีรอที่จะโจมตีเมื่อเห็นลักษณะการตั้งค่ายของจ๊กก๊กบนเนินเขา ในที่สุดสุมาอี้ก็ยอมเคลื่อนไหวเมื่อเจี่ย ซื่อและงุยเป๋งกล่าวว่าหากสุมาอี้ไม่โจมตีจะเป็นที่เยาะเย้ยของทั้งแผ่นดิน [46] สุมาอี้จึงส่งเตียวคับไปโจมตีค่ายจ๊กก๊กทางใต้ที่รักษาโดยอองเป๋ง ตัวสุมาอี้เองนำคนอื่น ๆ เข้าโจมตีโลเสีย[47] จูกัดเหลียงโต้กลับโดยการสั่งให้อุยเอี๋ยน งอปั้น และโกเสียงให้ต้านทานข้าศึกอยู่นอกโลเสีย ทัพวุยก๊กประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่อย่างคาดไม่ถึง ทหารวุยก๊กถูกสังหาร 3,000 นาย ชุดเกราะ 5,000 ชุดและหน้าไม้ 3,100 อันถูกทัพจ๊กก๊กยึดไปได้[48] แม้ว่าความเสียหายจะหนักหน่วง แต่สุมาอี้ยังคงมีกำลังทหารจำนวนมากซึ่งนำกลับไปยังค่ายของตน
แม้ว่าจูกัดเหลียงจะได้ชัยชนะ แต่ก็ไม่สามารถใช้ความได้เปรียบนี้ในการบุกต่อไปเพราะเสบียงที่เหลือน้อย สภาพอากาศที่เลวร้ายทำให้การขนส่งเสบียงของจ๊กก๊กไม่สามารถทำได้ตามกำหนด ลิเงียมขุนพลจ๊กก๊กผู้รับผิดชอบดูแลการขนส่งเสบียงไปยังแนวหน้า จึงแจ้งความเท็จไปถึงจูกัดเหลียงว่าจักรพรรดิเล่าเสี้ยนมีรับสั่งถอยทัพ จดหมายเหตุจิ้นชูอ้างว่าสุมาอี้เปิดฉากการโจมตีกำลังทหารรักษาของจ๊กก๊กในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้และยึด "ค่ายกำบัง" ของจ๊กก๊กสำเร็จ จูกัดเหลียงทิ้งโลเสียและล่าถอยไปในเวลากลางคืน แต่สุมาอี้ไล่ตามตีทำให้ทัพจ๊กก๊กเสียทหารไปประมาณ 10,000 นาย[49] เรื่องราวนี้ในจิ้นชูถูกโต้แย้งโดยนักประวัติศาสตร์[50][51] และไม่ถูกรวมอยู่ในจือจื้อทงเจี้ยนซึ่งเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ตามลำดับเวลาที่โดดเด่นในศตวรรษที่ 11[52]
ทั้งสามก๊กจี่และจือจื้อทงเจี้ยนระบุว่าจูกัดเหลียงถอยทัพกลับจ๊กก๊กเพราะเสบียงขาดแคลน ไม่ใช่เพราะความพ่ายแพ้[53][54] แล้วทัพวุยก๊กก็ไล่ตามตี แต่การไล่ตามตีไม่ได้ราบรื่นสำหรับวุยก๊ก สุมาอี้สั่งให้เตียวคับไล่ตามตีข้าศึกเพื่อพยายามฉวยโอกาสจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปนี้ บันทึกเว่ย์เลฺว่ระบุว่าเตียวคับปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งของสุมาอี้และแย้งว่าตามหลักการทางการทหารควรหลีกเลี่ยงการไล่ตามตีข้าศึกที่ล่าถอยกลับไปอาณาเขตของตน แต่สุมาอี้ไม่ฟังคำและบังคับให้เตียวคับปฏิบัติตามคำสั่ง เตียวคับจึงถูกทัพจ๊กก๊กซุ่มโจมตีที่เส้นทางบอกบุ๋น (木門道 มู่เหมินเต้า; ใกล้กับหมู่บ้านมู่เหมิน เมืองหมู่ตาน เขตฉินโจว นครเทียนฉุ่ย มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ที่ซึ่งจูกัดเหลียงสั่งให้ทหารมือเกาทัณฑ์ซ่อนตัวบนที่สูงและยิงไปที่กองกำลังของข้าศึกที่เข้ามาใกล้และเข้ามาในทางแคบ เตียวคับเสียชีวิตหลังถูกลูกเกาทัณฑ์ยิงเข้าที่ต้นขา กองกำลังของวุยก๊กได้รับความเสียหายอย่างมากจากการโจมตีของทหารจ๊กก๊กซึ่งกำลังล่าถอย แตกต่างจากบันทึกที่ระบุไว้ในจิ้นชู[55]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.