Loading AI tools
พระประมุขแห่งรัฐญี่ปุน จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จักรพรรดิญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น: 日本天皇) ทรงเป็นผู้นำราชวงศ์ญี่ปุ่นและประมุขแห่งรัฐของญี่ปุ่น รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1947 มาตรา 1 บัญญัติว่า "จักรพรรดิทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งญี่ปุ่นและสัญลักษณ์แห่งความสมัครสมานของชนชาวญี่ปุ่น ตำแหน่งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับความยินยอมของชนชาวญี่ปุ่นผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย"[1]
สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น | |
---|---|
天皇 | |
จักรวรรดิ | |
ธงจักรพรรดิ | |
อยู่ในราชสมบัติ | |
จักรพรรดินารูฮิโตะ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2019 | |
รายละเอียด | |
พระราชอิสริยยศ | สมเด็จพระจักรพรรดิ |
ทายาทโดยสันนิษฐาน | เจ้าชายฟูมิฮิโตะ |
กษัตริย์องค์แรก | จักรพรรดิจิมมุ (ตามตำนาน) |
สถาปนาเมื่อ | 11 กุมภาพันธ์ 660 ปีก่อนคริสตกาล (2684 ปีที่แล้ว) |
ที่ประทับ | พระราชวังหลวงโตเกียว (ที่ประทับอย่างเป็นทางการ) |
เว็บไซต์ | www |
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่ประมุขแห่งรัฐเรียกว่า "จักรพรรดิ" และราชวงศ์ญี่ปุ่นก็เป็นราชวงศ์เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน[2] ต้นกำเนิดในทางประวัติศาสตร์ของจักรพรรดิญี่ปุ่นนั้นปรากฏในปลายยุคโคฟุง (คริสต์ศตวรรษที่ 3–7) แต่เอกสารในทางประเพณีที่เรียกว่า โคจิกิ (เขียนเสร็จใน ค.ศ. 712) และ นิฮงโชกิ (เขียนเสร็จใน ค.ศ. 720) ระบุว่า จักรพรรดิจิมมุทรงสถาปนาประเทศขึ้นเมื่อ 660 ปีก่อนคริสตกาล และถือกันว่า ทรงสืบเชื้อสายโดยตรงมาจากอามาเตราซุ เทพธิดาแห่งดวงตะวัน[3][4] จักรพรรดิพระองค์ปัจจุบัน คือ จักรพรรดินารูฮิโตะ ผู้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2019 หนึ่งวันหลังจากจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระบิดา ทรงสละราชบัลลังก์
ในทางประวัติศาสตร์ บทบาทของจักรพรรดิญี่ปุ่นสลับไปมาระหว่างหน้าที่เชิงพิธีการกับหน้าที่ของผู้ปกครองอย่างแท้จริง เพราะนับแต่เกิดระบอบโชกุนเมื่อ ค.ศ. 1199 เป็นต้นมา โชกุน ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิ และบางสมัย เช่น ยุคคามากูระ (ค.ศ. 1203–1333) ก็มีชิกเก็งมาใช้อำนาจแทนโชกุนอีกทอดหนึ่ง ทำให้โชกุนและชิกเก็งเป็นผู้ปกครองประเทศโดยพฤตินัย แม้ว่าโดยนิตินัยแล้วจะได้รับแต่งตั้งจากจักรพรรดิอีกที กระทั่งมีการปฏิรูปเมจิเมื่อ ค.ศ. 1867 โชกุนโทกูงาวะ โยชิโนบุ ถวายอำนาจคืนจักรพรรดิเมจิ ทำให้พระองค์ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยโดยบริบูรณ์ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1889 แต่เมื่อมีการตรารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ ฉบับ ค.ศ. 1947 ก็กำหนดให้จักรพรรดิกลับไปเป็นประมุขแต่ในทางพิธีการดังเดิม ไม่มีแม้กระทั่งอำนาจการเมืองในทางนิตินัย
จักรพรรดิประทับ ณ เคียวโตะ เมืองหลวงเดิม มาเกือบ 11 ศตวรรษ จนกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงแปรพระราชฐานมายังพระราชวังหลวงในโตเกียว เมืองหลวงใหม่ นอกจากนี้ วันพระราชสมภพของจักรพรรดิ (พระองค์ปัจจุบัน คือ 23 กุมภาพันธ์) ยังเป็นวันหยุดราชการ
จักรพรรดิญี่ปุ่นมิได้เป็นผู้บริหารสูงสุดในทางนิตินัยของประเทศ ซึ่งต่างจากพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญโดยส่วนใหญ่ เพราะรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1947 มาตรา 65 และ 66 ระบุไว้ชัดเจนว่า อำนาจบริหารเป็นของคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นซึ่งมีนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเป็นหัวหน้า[5] ทั้งจักรพรรดิก็มิใช่ผู้บัญชาการสูงสุดของกองกำลังป้องกันตนเอง เพราะตามกฎหมายแล้วเป็นบทบาทของนายกรัฐมนตรี
อำนาจของจักรพรรดิจำกัดอยู่แต่ทางพิธีการ รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1947 มาตรา 4 ระบุว่า "จักรพรรดิทรงปฏิบัติกิจที่เกี่ยวข้องกับราชการแผ่นดินตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้เท่านั้น และไม่ทรงมีอำนาจในราชการแผ่นดิน"[6] ส่วนมาตรา 3 ก็ระบุว่า "กิจของจักรพรรดิที่เกี่ยวเนื่องกับราชการแผ่นดิน ต้องเป็นไปตามคำแนะนำและความยินยอมของคณะรัฐมนตรี และให้คณะรัฐมนตรีรับผิดชอบกิจดังกล่าว"[7]
รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ระบุว่า "จักรพรรดิทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามที่สภานิติบัญญัติถวายชื่อ จักรพรรดิทรงแต่งตั้งประธานศาลสูงสุดตามที่คณะรัฐมนตรีถวายชื่อ"[8]
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ให้จักรพรรดิทรงปฏิบัติกิจดังต่อไปนี้ในนามของประชาชน แต่เมื่อทรงได้รับคำแนะนำและความยินยอมของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น[9]
ปรกติแล้ว พิธีการที่รัฐธรรมนูญกล่าวถึง คือ ชินนินชิกิ (การแต่งตั้งข้าราชการผู้ใหญ่ เช่น นายกรัฐมนตรี, ประธานศาลสูงสุด ฯลฯ) ซึ่งกระทำในพระราชวังหลวง และการเปิดประชุมวุฒิสภา ณ อาคารสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งสมัยสามัญและวิสามัญ[10]
ในภาษาญี่ปุ่น มีคำสองคำซึ่งเทียบเท่ากับคำว่า "จักรพรรดิ" (emperor) คือ คำว่า "เท็นโน" (天皇) แปลตรงตัวว่า "เจ้าฟ้า" (heavenly sovereign) ใช้เรียกจักรพรรดิญี่ปุ่น และ "โคเต" (皇帝) ซึ่งมาจากภาษาจีนว่า "หฺวังตี้" (ฮ่องเต้) ใช้เรียกจักรพรรดิชาติอื่น
ในภาษาญี่ปุ่นเก่า ก่อนใช้คำว่า "เท็นโน" นั้น เรียกขานพระมหากษัตริย์ญี่ปุ่นว่า "ยามาโตโอกิมิ" (大和大王) แปลว่า "มหาราชาแห่งยามาโตะ" (Great King of Yamato), "วาโอ" (倭王) แปลว่า "ราชาแห่งวะ" (King of Wa), หรือ "วาโกกูโอ" (倭国王) แปลว่า "ราชาแห่งรัฐวะ" (King of Wa State)
จักรพรรดิญี่ปุ่นพระองค์ปัจจุบัน มักเรียกขานว่า "เท็นโนเฮกะ" (天皇陛下) แปลว่า "สมเด็จพระจักรพรรดิ", หรือ "คินโจเฮกะ" (今上陛下) แปลว่า "สมเด็จพระองค์ปัจจุบัน", หรือสั้น ๆ ว่า "เท็นโน"
คำว่า "เท็นโน" นั้นใช้มาจนถึงยุคกลาง ก็เลิกใช้ไป แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 จวบจนปัจจุบัน[11]
ในภาษาอังกฤษ เคยเรียกจักรพรรดิญี่ปุ่นว่า "มิกาโดะ" (御門) แปลตรงตัวว่า "ประตูอันทรงเกียรติ" (honorable gate) หมายถึง ประตูพระราชวัง[12]
นับแต่สมัยจักรพรรดิเมจิ มีธรรมเนียมตั้งชื่อรัชศกสำหรับจักรพรรดิแต่ละพระองค์ และเมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว จะเรียกขานพระองค์ด้วยชื่อรัชศก เช่น จักรพรรดิอากิฮิโตะ มีชื่อรัชศกว่า "เฮเซ" และเป็นที่คาดหมายว่า เมื่อสวรรคตแล้ว พระนามจะเปลี่ยนไปเป็น "จักรพรรดิเฮเซ"
เดิมเชื่อกันจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองว่า จักรพรรดิญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้ร่ำรวยที่สุดในโลก[13] กฎหมายพระราชทรัพย์ (Imperial Property Law) ที่มีผลใช้บังคับในเดือนมกราคม ค.ศ. 1911 แยกพระราชทรัพย์ของจักรพรรดิออกเป็นสองประเภท คือ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (crown estate) กับทรัพย์สินส่วนพระองค์ (personal property) และให้เสนาบดีกระทรวงวัง (Imperial Household Minister) รับผิดชอบคดีความเกี่ยวกับพระราชทรัพย์ กฎหมายดังกล่าวยังให้เก็บภาษีจากพระราชทรัพย์ได้ตราบที่ไม่มีบทบัญญัติว่าไว้เป็นอื่น และให้นำทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกใช้เพื่อกิจการสาธารณะหรือกิจการที่ได้รับพระราชานุญาตได้ ส่วนพระราชทรัพย์ของพระราชวงศ์ เช่น จักรพรรดินีม่าย, จักรพรรดินี, มกุฏราชกุมาร, มกุฏราชกุมารี, ราชนัดดา, และคู่ครองของราชนัดดา ได้รับการยกเว้นภาษี[14] ดังนั้น เมื่อประสบปัญหาทางการเงินใน ค.ศ. 1921 ราชวงศ์จึงขายที่ดินส่วนพระมหากษัตริย์ 289,259.25 เอเคอร์ (ร้อยละ 26 ของทั้งหมด) ไปให้เอกชน หรือโอนให้รัฐบาล ต่อมาใน ค.ศ. 1930 ยังบริจาคปราสาทนาโงยะให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมขายและบริจาคพระตำหนักอีกหกหลังออกไปจากความครอบครองของราชวงศ์[14] ครั้น ค.ศ. 1939 มีการบริจาคปราสาทนิโจ ที่พำนักเก่าของโชกุนตระกูลโทกูงาวะในเคียวโตะ ให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเช่นกัน
ปลาย ค.ศ. 1935 รัฐบาลคำนวณว่า ที่ดินในกรรมสิทธิ์ของราชสำนักถือมีราว 3,111,965 เอเคอร์ โดย 2,599,548 เอเคอร์เป็นที่ดินส่วนพระองค์ของจักรพรรดิ และราว 512,161 เอเคอร์เป็นที่ดินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ดินทำนองนี้ประกอบด้วย หมู่พระราชวัง, ป่า, ไร่, และสถานที่ใช้ประทับหรือใช้เพื่อการพาณิชย์ จึงประเมินมูลค่าพระราชทรัพย์ประเภทที่ดินทั้งหมดไว้ที่ 650 ล้านเยน (195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)[14][15] ส่วนทรัพย์สินส่วนพระองค์ในรูปมรดก, เครื่องเรือน, ปศุสัตว์สายพันธุ์แท้, และการลงทุนในหน่วยงานใหญ่ เช่น ธนาคารแห่งญี่ปุ่น, บรรษัทโรงแรมหลวง, และบรรษัทนิปปงยูเซ็ง มีมูลค่ารวมหลายร้อยล้านเยน[14]
เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง เกิดการปฏิรูปรัฐธรรมนูญซึ่งบีบให้ราชวงศ์ขายสินทรัพย์ให้แก่เอกชนหรือรัฐบาล เจ้าหน้าที่ในราชสำนักก็ตัดจำนวนลงจากราว 6,000 คนเป็นประมาณ 1,000 คน ส่วนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์ ซึ่งประเมินไว้ที่ 17.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็โอนไปยังเอกชนหรือรัฐบาล เหลือไว้แต่ที่ดินเพียง 6,810 เอเคอร์ ส่วนค่าใช้จ่ายของราชวงศ์นั้น รัฐบาลจะอนุมัติงบสนับสนุนเป็นรายปี[16]
ใน ค.ศ. 2017 มีการประเมินว่า จักรพรรดิอากิฮิโตะมีพระราชทรัพย์เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[17] แต่มูลค่าที่แท้จริงของพระราชทรัพย์และค่าใช้จ่ายของจักรพรรดิและราชวงศ์นั้นไม่ทราบแน่ชัด เพราะปกปิดจากสาธารณะมาตั้งแต่ ค.ศ. 2003 หลังเกิดกรณีที่นักข่าวของ ไมนิจิชิมบุง นาม โมริ โยเฮ (Mori Yohei) ไปได้เอกสารราชการ 200 ฉบับ แล้วนำมาเขียนเป็นหนังสือเปิดเผยรายละเอียดของเงินปีที่รัฐบาลอนุมัติให้ราชวงศ์ โดยระบุว่า เงินปีสำหรับ ค.ศ. 2003 อยู่ที่ 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[18] ทั้งยังเปิดเผยว่า ราชวงศ์จ้างคนมาใช้งานเป็นเจ้าหน้าที่มากกว่า 1,000 คน นอกเหนือไปจากข้อมูลอื่น ๆ[19]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.