หนังสือ The China Study (แปลว่า งานวิจัยในเมืองจีน, พิมพ์ ค.ศ. 2005) มีผู้เขียน 2 คนคือ ศ. ดร. ที. คอลิน แคมป์เบลล์ ผู้เป็นศาสตราจารย์กิตติคุณ (Jacob Gould Schurman Professor Emeritus) ในสาขาวิชาโภชนชีวเคมี (Nutritional Biochemistry) ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลในประเทศสหรัฐอเมริกา และบุตรของเขาคือ น.พ. โทมัส เอ็ม แคมป์เบลล์ เป็นหนังสือที่สอบสวนความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ (รวมทั้งนม) และโรคเรื้อรังประเภทต่าง ๆ เช่นโรคหัวใจจากหลอดเลือดแดงแข็ง โรคเบาหวาน โรคมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งลำไส้[2] เป็นหนังสือที่มียอดขายกว่า 750,000 เล่มแล้วในเดือนมกราคม ค.ศ. 2013[3] จึงเป็นหนังสือโภชนาการที่ขายดีที่สุดเล่มหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา[4]

ข้อมูลเบื้องต้น The China Study: Startling Implications for Diet, Weight Loss, and Long-Term Health (งานวิจัยในเมืองจีน: ผลชี้ที่น่าตระหนักใจเกี่ยวกับไดเอ็ต การลดน้ำหนัก และสุขภาพในระยะยาว), ผู้ประพันธ์ ...
The China Study: Startling Implications for Diet, Weight Loss, and Long-Term Health
(งานวิจัยในเมืองจีน: ผลชี้ที่น่าตระหนักใจเกี่ยวกับไดเอ็ต การลดน้ำหนัก และสุขภาพในระยะยาว)
Thumb
ผู้ประพันธ์ที. คอลิน แคมป์เบลล์, Ph.D. และ โทมัส เอ็ม. แคมป์เบลล์ II, พ.บ.
ประเทศสหรัฐอเมริกา
หัวเรื่องโภชนศาสตร์ (Nutritional science)
สำนักพิมพ์BenBella Books
วันที่พิมพ์มกราคม ค.ศ. 2005[1]
หน้า417 (พิมพ์ครั้งที่ 1)
ISBN1-932100-38-5
ปิด

ชื่อหนังสือมาจากโพรเจ็กต์จีน-คอร์เนล-ออกซฟอร์ด ซึ่งเป็นงานวิจัยระยะเวลา 30 ปีที่เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1983 และเป็นงานร่วมกันระหว่างสถาบัน 3 สถาบัน คือ บัณฑิตยสถานเพื่อการแพทย์เชิงป้องกันแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Chinese Academy of Preventive Medicine), มหาวิทยาลัยคอร์เนล, และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด[5] ดร. แคมป์เบลล์เป็นผู้อำนวยการของโพรเจ็กต์คนหนึ่ง เป็นโพรเจ็กต์ที่หนังสือพิมพ์สหรัฐเดอะนิวยอร์กไทมส์เรียกว่า "Grand Prix of epidemiology (แปลว่า รางวัลสูงสุดของวิทยาการระบาด หรือ การแข่งขันสากลที่สำคัญในสาขาวิทยาการระบาด)" ในปี ค.ศ. 1990[6]

งานวิจัยตรวจสอบอัตราการตายที่เกิดขึ้นจากมะเร็งและโรคเรื้อรังอื่น ๆ ทั้งหมด 48 ประเภท ระหว่างปี ค.ศ. 1973–75 ในเทศมณฑล 65 มณฑลในประเทศจีน แล้วเทียบข้อมูลนั้นโดยสหสัมพันธ์ กับข้อมูลการสำรวจอาหารและการตรวจเลือดระหว่างปี ค.ศ. 1983-1984 จากประชากร 6,500 คน โดยแต่ละ 100 คนจะมาจากแต่ละเทศมณฑล (แต่ละคนให้ข้อมูลประมาณ 367 ประเภท แค่ข้อมูลอย่างเดียวก็จะเต็มหนังสือมีหน้า 920 หน้า[6]) และได้ผลสรุปว่า เทศมณฑลที่มีการบริโภคอาหารที่มาจากสัตว์ในระดับสูงในปี ค.ศ. 1983-84 มีโอกาสสูงกว่าที่จะมีอัตราความตายที่สูงกว่าในปี ค.ศ. 1973–75 จากโรค "ของชาวตะวันตก" ในขณะที่นัยตรงกันข้าม ก็เป็นความจริงเช่นกันสำหรับเทศมณฑลที่บริโภคอาหารที่มาจากพืชในระดับที่สูงกว่าในปี ค.ศ. 1983–84 ผู้วิจัยเลือกเทศมณฑลเหล่านั้นโดยเฉพาะในงานวิจัย เพราะว่า มีประชากรที่คล้ายคลึงกันที่มักจะใช้ชีวิตคล้าย ๆ กันในที่เดียวกัน และทานอาหารเฉพาะเขตพื้นที่ เป็นช่วงหลายชั่วตระกูล[7][8]

ผู้เขียนสรุปว่า บุคคลที่ทานอาหารจากพืช (คือทานอาหารมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด) โดยที่หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากสัตว์เช่นเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา ไข่ ชีส และนม และโดยลดการทานอาหารที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตและคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการฟอกมาแล้ว จะพ้นจาก ลดโอกาส หรือมีอาการดีขึ้น จากการเกิดโรคมากมายหลายประเภท ผู้เขียนแนะนำให้มีการตากแดดให้เพียงพอเพื่อจะได้วิตามินดีพอ และให้เสริมอาหารด้วยวิตามินบี12ถ้าหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์สัตว์โดยสิ้นเชิง ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับไดเอ็ตมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ เช่น Atkins diet ซึ่งมีการจำกัดเปอร์เซ็นต์แคลอรีที่มาจากอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตแบบซับซ้อน[9]

ประเด็นเสนอและหลักฐาน

การเปิดโปงข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับโภชนาการ

ผู้เขียนตั้งประเด็นว่า "ความสับสนเกี่ยวกับโภชนาการโดยมากแม้ว่าจะไม่ทั้งหมด เกิดขึ้นอย่างเปิดเผยตามกฎหมาย แล้วมีการสื่อต่อ ๆ ไปโดยบุคคลที่มีเจตนาดี ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย นักการเมือง หรือสื่อ" และเนื่องจากว่า มีธุรกิจอุตสาหกรรมหลายอย่างที่มีอิทธิพลมาก ที่อาจจะได้รับความเสียหายอย่างหนักถ้าชาวอเมริกันหันไปทานอาหารจากพืช ผู้เขียนกล่าวถึงธุรกิจอุตสาหกรรมเหล่านั้นว่า "ย่อมทำทุกอย่างภายในอำนาจของตนเพื่อป้องกันผลกำไรของตนและของผู้ถือหุ้นบริษัท"[10]

ผู้เขียนตั้งประเด็นว่า งานวิจัยก่อน ๆ เกี่ยวกับโภชนาการ (โดยเฉพาะงานวิจัยมีชื่อเสียงที่รู้จักกันว่า Nurses' Health Study[11] ซึ่งเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1976) มีข้อบกพร่องเพราะว่าไปเพ่งความสนใจที่ผลที่เกิดจากการบริโภคอาหารต่าง ๆ กันของกลุ่มบุคคลผู้บริโภคอาหารจากสัตว์ที่มีความเสี่ยงสูงเหมือน ๆ กัน[12] ผู้เขียนกล่าวว่า "แทบจะไม่มีงานวิจัยอื่นเลยที่ทำความเสียหายให้กับทัศนคติทางโภชนาการยิ่งไปกว่า Nurses' Health Study" และว่า งานวิจัยนั้นควรที่จะ "เป็นอนุสรณ์สำหรับผู้ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ที่เหลือว่า อะไรไม่ควรทำ"[13]

หลัก 8 ประการในการบริโภคอาหารและการรักษาสุขภาพ

ผู้เขียนพรรณนาหลัก 8 ประการในการบริโภคอาหารและการรักษาสุขภาพ คือ

  1. โภชนาการเป็นการทำงานร่วมกันของสารอาหารหลายอย่างจนนับไม่ได้ และองค์รวมทั้งหมดมีผลมากกว่าองค์ย่อยแต่ละอย่าง ๆ
  2. วิตามินไม่ใช่ยาวิเศษรักษาได้สารพัดโรคในการรักษาสุขภาพให้ดี
  3. แทบไม่มีสารอาหารอะไรเลยจากสัตว์ที่ดีกว่าที่ได้มาจากพืช
  4. กรรมพันธุ์ (หรือยีน) ไม่ได้ก่อให้เกิดโรคโดยลำพัง ยีนจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อมีการแสดงออกของยีน และโภชนาการมีบทบาทวิกฤติในการกำหนดว่า ยีนชนิดไหน ไม่ว่าจะดีหรือร้าย จะมีการแสดงออก
  5. โภชนาการสามารถควบคุมผลร้ายจากสารเคมีอันตรายได้อย่างสำคัญ
  6. โภชนาการที่สามารถป้องกันโรคในขั้นเบื้องต้น ก็ยังสามารถระงับหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งโรคนั้นในขั้นเบื้องปลาย
  7. โภชนาการที่มีผลดีจริง ๆ ต่อโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง จะช่วยรักษาสุขภาพด้วยโดยองค์รวม
  8. โภชนาการที่ดีทำให้สุขภาพดีในทุก ๆ ด้าน และสุขภาพที่ดีทุก ๆ ด้านมีความสัมพันธ์เสริมกันและกัน[14]

ภูมิหลังของโพรเจ็กต์จีน-คอร์เนล-ออกซฟอร์ด

โพรเจ็กต์จีน-คอร์เนล-ออกซฟอร์ด หรือ "งานวิจัยของจีน-คอร์เนล-ออกซฟอร์ดในเรื่องของอาหาร วิถีทางการดำเนินชีวิต และลักษณะเฉพาะของการตาย ในประชากรของเทศมณฑลจีนชนบท 65 มณฑล" ซึ่งในหนังสือเรียกว่า "งานวิจัยในเมืองจีน" เป็นงานวิจัยที่กว้างขวางครอบคลุมองค์ประกอบเกี่ยวกับอาหารและวิถีทางการดำเนินชีวิต ที่มีความสัมพันธ์กับอัตราการตายเพราะโรคในประเทศจีน ซึ่งเทียบผลของอาหารจากสัตว์กับอาหารที่มากไปด้วยพืช ต่อสุขภาพในระหว่างบุคคลที่มีพันธุกรรมคล้าย ๆ กัน[6]

ไอเดียสำหรับงานวิจัยเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1980–81 เมื่อมีการสนทนากันที่ห้องแล็บของมหาวิทยาลัยคอร์เนลระหว่าง ดร. แคมป์เบลล์ กับเช็นจุนชิ ผู้เป็นรองผู้อำนวยการของสถาบันเพื่อโภชนาการและสุขภาพอาหารของบัณฑิตยสถานเพื่อการแพทย์เชิงป้องกันแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และภายหลังจากนั้น ริชารด์ เปโต ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (ในปี ค.ศ. 2012 ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ สาขาสถิติการแพทย์และวิทยาการระบาด) และลีจุนเยาของสถาบันมะเร็งแห่งประเทศจีนจึงได้เข้ามาร่วมงานด้วย[8]

ในปี ค.ศ. 1983 หมู่บ้านสองหมู่บ้านได้รับเลือกอย่างสุ่มในแต่ละเทศมณฑลจีนชนบท 65 มณฑล และในแต่ละหมู่บ้าน ครอบครัว 50 ครอบครัวก็ได้รับเลือกแบบสุ่ม นิสัยการบริโภคอาหารของสมาชิกคนหนึ่งในครวบครัว (รวมกันครึ่งหนึ่งเป็นหญิง ครึ่งหนึ่งเป็นชาย) จะได้รับการสำรวจ และผลก็จะได้รับการเปรียบเทียบกับอัตราความตายจากโรคมะเร็งและโรคอื่น ๆ 48 อย่างของเทศมณฑลเหล่านั้นในช่วงปี ค.ศ. 1973–75

โรค"ชาวตะวันตก"มีสหสัมพันธ์กับคอเลสเตอรอลในเลือด

งานวิจัยทำการเปรียบเทียบความชุกของโรคชาวตะวันตก (โรคหัวใจ โรคเบาหวาน มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งในลำไส้ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งสมอง มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งตับเป็นต้น) ระหว่างเทศมณฑลต่าง ๆ โดยใช้อัตราความตายในปี ค.ศ. 1973–75 ผู้วิจัยรวบรวมข้อมูลตัวแปรเกี่ยวกับอาหารและวิถีทางการดำเนินชีวิต จากผู้อาศัยอยู่ในเทศมณฑลเหล่านั้นอีกประมาณ 10 ปีให้หลัง แล้วพบว่า เมื่อระดับของคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น ความชุกของโรคชาวตะวันตกก็เพิ่มขึ้นด้วย[15]

ผลงานวิจัยแสดงความสัมพันธ์ของระดับที่ต่ำกว่าของคอเลสเตอรอลในเลือด กับอัตราที่ต่ำกว่าของโรคหัวใจและมะเร็ง ผู้เขียนเล่าว่า ถ้าคอเลสเตอรอลในเลือดลดลงจาก 170 mg/dl ไปสู่ 90 mg/dl มะเร็งตับ มะเร็งไส้ตรง มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งหลอดอาหาร ก็ลดลงด้วย อัตราการเกิดขึ้นของมะเร็งแตกต่างกันเป็นร้อยเท่าจากเทศมณฑลที่มีอัตราสูงที่สุด เทียบกับเทศมณฑลที่มีอัตราต่ำที่สุด[15]

ผู้เขียนเล่าว่า "เมื่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของประชากรในเทศมณฑลจีนชนบทบางมณฑลสูงขึ้น การเกิดโรคชาวตะวันตกก็สูงขึ้นด้วย ที่น่าแปลกใจก็คือระดับคอเลสเตอรอลของชาวจีนนั้น ต่ำกว่าที่คิด คือมีค่าเฉลี่ยเพียงแค่ 127 mg/dl ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของชาวอเมริกันเกือบ 100 จุด (ที่ 215 mg/dl) ...และบางเทศมณฑลมีค่าเฉลี่ยต่ำถึง 94 mg/dl ...และในกลุ่ม 2 กลุ่มที่แต่ละกลุ่มมีผู้หญิง 25 คน ที่อยู่ในภูมิภาคส่วนในของประเทศ ค่าเฉลี่ยของคอเลสเตอรอลในเลือดอยู่ในระดับต่ำเป็นที่น่าอัศจรรย์ที่ 80 mg/dl[16]

คอเลสเตอรอลในเลือดมีสหสัมพันธ์กับการบริโภคอาหารโดยเฉพาะโปรตีนสัตว์

ผู้เขียนเล่าว่า "งานวิจัยหลายงานได้แสดงแล้วว่า การบริโภคโปรตีนสัตว์ทั้งของสัตว์ทดลองและทั้งของมนุษย์ เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในเลือด การบริโภคไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลที่มีอยู่ในอาหาร ก็เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในเลือดด้วย แต่ว่า ไม่มีผลเท่ากับการบริโภคโปรตีนสัตว์ โดยตรงกันข้ามกัน อาหารจากพืชนั้นไม่มีคอเลสเตอรอล และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลที่ร่างกายผลิตโดยผ่านกระบวนการหลายอย่าง" ผู้เขียนเล่าว่า "ความสัมพันธ์ของโรคกับคอเลสเตอรอลในเลือด น่าสนใจมาก เพราะว่า ทั้งระดับคอเลสเตอรอลและระดับการบริโภคอาหารจากสัตว์ (ของชาวจีน) ต่ำมากถ้าเทียบกับระดับมาตรฐานของชาวอเมริกัน ในชนบทจีน การบริโภคโปรตีนสัตว์มีค่าเฉลี่ยเพียงแค่ 7.1 กรัมต่อวัน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของชาวอเมริกันที่ 70 กรัมต่อวัน"[17]

ผู้เขียนสรุปว่า "ผลที่ได้จากงานวิจัยในประเทศจีนแสดงว่า เปอร์เซ็นต์ในการบริโภคอาหารจากสัตว์ยิ่งต่ำเท่าไร ก็มีผลดีต่อสุขภาพเท่านั้น แม้ว่าค่าเปอร์เซ็นต์จะเป็นการลดไปจาก 10% จนถึง 0% ของแคลอรีที่บริโภคก็ตาม"

กลไกการทำงาน

ผู้เขียนเสนอว่า พืชป้องกันร่างกายจากโรค เพราะพืชจำนวนมากมีสารต้านอนุมูลอิสระทั้งในระดับความเข้มข้นสูงทั้งมีมากมายหลายประเภท ซึ่งป้องกันร่างกายจากความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระ[18] โรคชาวตะวันตกมีสหสัมพันธ์กับร่างกายที่ขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งก็มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการเกิด การส่งเสริม และการทำให้เจริญ ซึ่งโรคต่าง ๆ และร่างกายที่ขยายใหญ่ขึ้นนั้น ก็มีสหสัมพันธ์กับการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนสัตว์สูง ผู้เขียนเสนอว่า การบริโภคโปรตีนสัตว์จะเพิ่มความเป็นกรดให้กับเลือดและเนื้อเยื่อต่าง ๆ และเพื่อที่จะขจัดความเป็นกรด ร่างกายจะต้องดึงแคลเซียม (ซึ่งเป็นด่างที่ใช้ได้ผลดีมาก) ออกมาจากกระดูก ผู้เขียนกล่าวว่า ความเข้มข้นที่สูงขึ้นของแคลเซียมในเลือด มีผลไปยับยั้งกระบวนการที่ร่างกายเปลี่ยนวิตามินดีไปเป็น calcitriol ซึ่งเป็นรูปแบบของวิตามินดีที่ช่วยควบคุมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

โรคที่มีความสัมพันธ์กับอาหาร

โรคภูมิต้านตนเอง

ผู้เขียนเสนอว่า ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1 ของเด็กทารก มีสหสัมพันธ์ในระดับสูงกับการบริโภคนมวัว[19] โรคที่เกี่ยวกับภูมิต้านตนเอง (autoimmune diseases) เช่นโรคเบาหวานชนิดที่ 1, โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง, และโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ มีอาการคล้ายกันและอาจจะมีเหตุอย่างเดียวกัน ผู้เขียนกล่าวว่า โรคเกี่ยวกับภูมิต้านตนเองเกิดขึ้นมากกว่าในผู้ที่อาศัยอยู่ในระดับละติจูดที่เหนือกว่า และในผู้ที่บริโภคอาหารมีโปรตีนสัตว์สูงโดยเฉพาะนมวัว ผู้เขียนเสนอว่า วิตามินดีอาจเกี่ยวข้องกับสหสัมพันธ์ที่กล่าวไปทั้งสองอย่างนี้ เพราะว่า วิตามินดีมีความสำคัญในการควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน และสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในระดับละติจูดที่เหนือกว่า การขาดการตากแดดอาจจะมีผลเป็นการสร้างวิตามินดีที่ไม่พอ นอกจากนั้นแล้ว การบริโภคโปรตีนสัตว์ โดยเฉพาะเคซีนจากนมวัว อาจจะมีผลเป็นระดับแคลเซียมที่สูงขึ้นในเลือด ซึ่งเข้าไปห้ามกระบวนการที่ร่างกายเปลี่ยนวิตามินดีในไตไปเป็น calcitriol ซึ่งเป็นรูปแบบของไวตามินดีที่ช่วยยับยั้งการการเกิดขึ้นของโรคภูมิต้านตนเอง[20]

โรคในสมอง

ผู้เขียนกล่าวว่าความบกพร่องทางประชาน (cognitive impairment) และภาวะสมองเสื่อม รวมทั้งโรคอัลไซเมอร์ มีความสัมพันธ์กับความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลในเลือดสูง และความเสียหายที่มีเหล่านั้น มีเหตุจากอนุมูลอิสระ ซึ่งมีองค์ประกอบที่สามารถควบคุมได้ด้วยอาหาร[21]

มะเร็ง

ผู้เขียนเชื่อมการเกิดขึ้นของมะเร็งเต้านมกับการมีฮอร์โมนเพศหญิงในระดับที่สูงเป็นระยะเวลายาว ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเริ่มมีระดูตั้งแต่เยาว์วัย การมีวัยหมดประจำเดือนที่ล่าช้า และระดับที่สูงขึ้นของคอเลสเตอรอลในเลือด ผู้เขียนเสนอว่า องค์ความเสี่ยงเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับอาหารที่มีโปรตีนสัตว์สูง โดยเฉพาะเคซีนจากนมวัว คือ ผู้หญิงชาวจีนโดยเฉลี่ยมีระยะเวลาที่มีเอสโทรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิง) เพียงแค่ 35–40% ของผู้หญิงชาวอังกฤษและชาวอเมริกัน และอัตราการเกิดขึ้นของมะเร็งเต้านมในหญิงชาวจีนก็มีค่าเพียงแค่ 1/5 ของอัตราของหญิงชาวตะวันตก[22] ผู้เขียนยังเสนออีกด้วยว่า อัตราการเกิดขึ้นที่ต่ำกว่าของเนื้องอกร้ายของลำไส้ใหญ่ (colorectal cancer) มีความสัมพันธ์กับการบริโภคอาหารจากพืชที่มีใยอาหารสูงเช่นพืชวงศ์ถั่ว ผักมีใบ และเมล็ดจากพืชวงศ์หญ้า (เช่นข้าว) ที่ไม่ขัดสี[18]

โรคเบาหวาน

ผู้เขียนพรรณนางานวิจัยเกี่ยวกับอาหารของนายแพทย์เจมส์ ดี. แอนเดอร์สัน กับคนไข้ 50 คน โดยที่ 25 คนเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ 25 คนที่เหลือมีโรคเบาหวานชนิดที่ 2 คนไข้ทั้งหมดใช้ยาอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผู้เขียนรายงานว่า หลังจากที่คนไข้เปลี่ยนอาหารสไตล์อเมริกันที่สมาคมโรคเบาหวานอเมริกัน (American Diabetes Association) แนะนำ ไปเป็นอาหารจากพืชที่มีใยอาหารสูง มีไขมันต่ำ คนไข้ประเภท 1 สามารถลดระดับการใช้อินซูลินโดยเฉลี่ยประมาณ 40% ภายใน 3 อาทิตย์หลังจากการเปลี่ยนอาหาร และคนไข้ 24 คนใน 25 คนที่มีโรคเบาหวานประเภท 2 สามารถเลิกใช้อินซูลินโดยสิ้นเชิงภายในไม่กี่อาทิตย์[23]

โรคตา

ผู้เขียนเสนอว่า งานวิจัยหลายงานแสดงว่า อาหารที่มีสารแคโรทีนอยด์[24] ซึ่งพบในผักผลไม้ที่มีสีสัน จะช่วยป้องกันโรคจุดภาพชัดของจอตาเสื่อม[25] ได้ ซึ่งเป็นโรคตาที่เป็นเหตุของตาบอด และอาหารที่มีสารลูทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบในผักขม จะช่วยป้องกันต้อกระจกได้[26]

โรคหัวใจและโรคอ้วน

ผู้เขียนกล่าวว่า งานวิจัยต่าง ๆ แสดงว่า การบริโภคโปรตีนพืชมีผลในการลดระดับคอเลสเตอรอลที่ดีกว่าการลดการบริโภคไขมันหรือคอเลสเตอรอลโดยตรง[21] ในช่วงเวลาที่ทำงานวิจัยในเมืองจีนนี้ อัตราความตายจากโรคหัวใจของชายชาวอเมริกันอยู่ที่ 17 เท่าของชายจีนชนบท[17] ผู้เขียนกล่าวว่า "การบริโภคแคลอรีโดยเฉลี่ยต่อน้ำหนักของชาวจีน ที่มีชีวิตแอ๊กถีฟน้อยที่สุด อยู่ที่ระดับ 30% สูงกว่าชาวอเมริกันโดยเฉลี่ย แต่ว่า น้ำหนักตัวกลับน้อยกว่าถึง 20%" (คือทานอาหารมีพลังงานมากกว่าแต่น้ำหนักตัวกลับน้อยกว่า ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ)

ผู้เขียนกล่าวเพิ่มขึ้นว่า "การบริโภคอาหารที่มีโปรตีนและไขมันสูงเปลี่ยนการใช้แคลอรีจากการทำความร้อนในร่างกาย ไปเป็นการเก็บเป็นไขมันในตัว (ยกเว้นในกรณีที่การอดอาหารนำไปสู่การลดน้ำหนักตัว)" ผู้เขียนเสนอว่า "การบริโภคอาหารอาจมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงของการเผาผลาญแคลอรีแม้จะเพียงเล็กน้อย แต่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงต่อน้ำหนักตัวที่มาก" และเพิ่มความเห็นว่า "การบริโภคอาหารอย่างเดียวกันนั่นแหละที่มีโปรตีนสัตว์น้อย มีไขมันต่ำ นอกจากจะช่วยป้องกันโรคอ้วนแล้ว ก็ยังให้แต่ละคนสามารถเติบโตขึ้นในระดับที่สูงสุดสำหรับบุคคลนั้น"[27]

นิ่วในไตและท่อไต

การบริโภคโปรตีนสัตว์มีความสัมพันธ์กับองค์ความเสี่ยงที่นำไปสู่โรคนิ่วในไตและท่อไต ผู้เขียนกล่าวว่า ระดับแคลเซียมและ oxalate[28] ในเลือดที่สูงขึ้นอาจะมีผลเป็นนิ่วในไตและท่อไต และว่า งานวิจัยเร็ว ๆ นี้พบว่า นิ่วในไตและท่อไตอาจเริ่มเกิดขึ้นเนื่องจากอนุมูลอิสระ[29]

โรคกระดูกพรุน

ผู้เขียนแสดงว่า โรคกระดูกพรุนมีความสัมพันธ์กับการบริโภคโปรตีนสัตว์เพราะว่า โปรตีนสัตว์เพิ่มความเป็นกรดในเลือดและในเนื้อเยื่อ ซึ่งไม่เหมือนโปรตีนพืช ผู้เขียนกล่าวเพิ่มว่า เพื่อที่จะลดความเป็นกรด ร่างกายก็จะนำแคลเซียม (ซึ่งเป็นสารด่างที่ได้ผลมาก) ออกมาจากกระดูก ทำให้กระดูกเหล่านั้นอ่อนแอลง และทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการหักมากขึ้น ผู้เขียนกล่าวเพิ่มอีกว่า "ในงานวิจัยในชนบทประเทศจีนของเรา ที่อัตราโปรตีนสัตว์ต่อโปรตีนพืชเป็น 1/10 อัตรากระดูกหักก็ลดลงเป็นเพียงแค่ 1/5 ของสหรัฐอเมริกา"[30]

การตอบสนองต่อหนังสือ

วิลเฟร็ด นีลส์ อาร์โนล์ด ผู้เป็นศาสตราจารย์สาขาชีวเคมีที่ศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแคนซัสเขียนบทปฏิทัศน์ของหนังสือนี้ในวารสารลีโอนาโด[31]ในปี ค.ศ. 2005 ไว้ว่า

การท้าทายต่อ "อาหารแบบอเมริกัน" อย่างจริงจัง (เช่นนี้) ย่อมก่อให้เกิดการต่อต้านทั้งจากนักวิชาการ ทั้งจากบุคคลทั่ว ๆ ไป และทั้งจากอุตสาหกรรมอาหาร... แต่ผู้เขียนได้คาดการต่อต้านและความเป็นปฏิปักษ์อย่างนั้นไว้ตั้งแต่ต้น แล้วดำเนินการเขียนไปด้วยความกระตือรือร้นที่ไม่มีการลดถอย และได้สร้างสมมติฐานเบื้องต้นที่นำไปใช้งานได้และมีคุณค่า เป็นความจริงว่า ข้อมูลที่น่าประหลาดใจเหล่านี้ ยากที่จะอธิบายได้โดยสมมุติฐานอย่างอื่น

จากวารสารลีโอนาโด[32]

ฮัล แฮร์ริส ผู้เป็นบุคลากรในคณะเคมีและชีวเคมีของมหาวิทยาลัยมิสซูรีที่เซนต์หลุยส์ ได้แนะนำหนังสือเล่มนี้ใน "Journal of Chemical Education (วารสารการศึกษาในสาขาเคมี)" ในปี ค.ศ. 2006 ไว้ว่า

ใจความสำคัญของงานวิจัยที่มีข้อมูลละเอียดถ้วนถี่นี้ก็คือ โปรตีนสัตว์ไม่ดีสำหรับพวกเรา แม้แต่นม ซึ่งโฆษณากันว่า "เป็นอาหารไร้ตำหนิ"

จาก Journal of Chemical Education[33]

นอกจากนั้นแล้ว ในปี ค.ศ. 2006 ผู้ปฏิบัติงานในแพทย์ทางเลือกแดเนียล เร็ดวูด และนายแพทย์นอร์แมน ชีลลี ได้เขียนไว้ว่า หนังสือเล่มนี้ต่างจากหนังสือโภชนาการที่ได้รับความนิยมอื่น ๆ เพราะได้ให้คำอธิบายที่ประกอบด้วยหลักฐานที่น่าเชื่อถือในประเด็นที่เสนอ[34] คือ ได้เขียนว่า "...ผู้เขียนได้ให้คำอธิบายที่ประกอบด้วยหลักฐานที่น่าเชื่อถือต่อทุก ๆ ประเด็นที่เสนอ"

แต่ว่าในการอภิปรายเป็นลายลักษณ์อักษรกับผู้เขียนในปี ค.ศ. 2008 ศ. ดร. ลอเร็น คอร์เดน ผู้เป็นศาสตราจารย์ในคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพและการออกกำลังกายที่มหาวิทยาลัยรัฐโคโลราโด (และเป็นผู้แนะนำการบริโภคอาหารอีกวิธีหนึ่งที่เรียกว่า Paleolithic Diet ซึ่งเลียนแบบการบริโภคอาหารของบรรพบุรุษย์มนุษย์เมื่อ 2.5 ล้านปีก่อน) ได้ค้านว่า "แนวคิดพื้นฐานที่เป็นฐานของสมมุติฐานของคอลิน (ว่าอาหารมีโปรตีนสัตว์ในระดับต่ำทำสุขภาพมนุษย์ให้ดีขึ้น) ไม่มีความหนักแน่น และไม่สอดคล้องกับวิวัฒนาการของมนุษย์" และว่า "หลักฐานจากการทดลองเป็นจำนวนมากได้แสดงแล้วว่า การบริโภคโปรตีนไขมันต่ำในระดับที่สูงขึ้น ลดความเสี่ยงต่อโรคเกาต์ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง dyslipidemia (คือความผิดปกติของเมแทบอลิซึมของไลโพโปรตีนและภาวะไขมันในเลือด) โรคอ้วน โรคดื้ออินซูลิน และโรคกระดูกพรุน โดยที่ไม่มีผลเสียหายต่อการทำงานของไต" และว่า "หลักฐานจากการทดลองเป็นจำนวนมากได้แสดงแล้วว่า การบริโภคโปรตีนไขมันต่ำในระดับที่สูงขึ้น ลดความเสี่ยงต่อโรคเกาต์ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง dyslipidemia (คือความผิดปกติของเมแทบอลิซึมของไลโพโปรตีนและภาวะไขมันในเลือด) โรคอ้วน โรคดื้ออินซูลิน และโรคกระดูกพรุน โดยที่ไม่มีผลเสียหายต่อการทำงานของไต" ดร. แคมป์เบลล์ได้โต้ตอบโดยแสดงความไม่น่าเชื่อถือในผลอนุมาน (จากหลักฐาน) ที่ ดร. คอร์เดนได้อ้างไว้ และเสนอว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและโรคที่เห็นได้ในปัจจุบันสำคัญยิ่งกว่าสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงวิวัฒนาการของมนุษย์ที่ผ่านมาแล้ว 2.5 ล้านกว่าปีก่อน"[35]

อดีตประธานาธิบดีอเมริกันบิล คลินตัน ได้กลายมาเป็นผู้สนับสนุนหนังสือเล่มนี้อย่างออกปากออกเสียง คือในปี ค.ศ. 2010 หลังจากที่ได้มีชีวิตอยู่กับโรคหัวใจอยู่หลายปี คลินตันได้เปลี่ยนการทานอาหารไปทานพืชวงศ์ถั่ว ผัก ผลไม้ และอาหารเสริมโปรตีนทุก ๆ เช้า คือเปลี่ยนมาเป็นผู้บริโภคอาหารมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดโดยปริยาย[2] และภายในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ คลินตันลดน้ำหนักได้ถึง 24 ปอนต์ (ประมาณ 10.9 ก.ก.) ทำให้เขากลับมีน้ำหนักเท่ากับสมัยที่เป็นเด็กมหาวิทยาลัย[36] นายแพทย์สัญชัย คุปตะ ผู้เป็นนักข่าวแพทย์คนหลักของซีเอ็นเอ็น กล่าวในภาพยนตร์สารคดี "The Last Heart Attack (หัวใจล้มเหลวครั้งสุดท้าย)" ที่เริ่มฉายในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 2011 ไว้ว่า หนังสือเล่มนี้ได้เปลี่ยนวิถีการบริโภคอาหารของคนทั่วโลก รวมทั้งตัวคุณหมอคุปตะเองด้วย[37]

นักเขียนบล็อกในเรื่องอาหารผู้นิยมบริโภคอาหารไม่สุก ดีนีส มิงเกอร์ ได้เขียนบล็อกคำวิจารณ์ของเธอไว้ในเว็บไซต์[38] ซึ่งเธอเสนอว่า หลักฐานจากงานวิจัยโดยตรงไม่สอดคล้องกับข้อสรุปที่ ดร. แคมป์เบลล์ได้พูดถึงและส่งเสริมในหนังสือ เป็นการวิจารณ์ที่ได้คำโต้ตอบจาก ดร. แคมป์เบลล์เอง[39] โดยที่ ดร. แคมป์เบลล์ ในที่สุดก็สรุปเป็นข้อความว่า

ผมอยากจะสรุปโดยให้สังเกตคำแนะนำของนักวิทยาการระบาดมืออาชีพที่กล่าวไว้แล้วข้างบน ผู้ได้ให้คำแนะนำว่า ในทีสุดแล้ว ดีนีสควรจะตีพิมพ์ข้อมูลของเธอในวารสารที่มีการปฏิทัศน์โดยผู้เชี่ยวชาญในสาขา (เช่นในวารสารวิทยาศาสตร์) แต่เขาเอง(นักวิทยาการระบาด)รู้สึกมั่นใจในตอนนี้ว่า ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันจะไม่ได้รับการยอมรับ (โดยผู้ที่ทำการปฏิทัศน์) ผม(ก็)เห็นด้วย (ในเรื่องนี้)[40]

ดูเพิ่ม

แพทย์ นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์

  • ศ. น.พ. ดีน ออร์นิช - แพทย์วิจัยผู้ทำการทดลองรักษาคนไข้โรคหัวใจและโรคต่อมลูกหมากด้วยการเปลี่ยนอาหาร
  • น.พ. คอลด์เวลล์ เอสเซลเตน - แพทย์คลินิกผู้รักษาคนไข้โรคหัวใจด้วยการเปลี่ยนอาหาร
  • ศ. ดร. ที. คอลิน แคมป์เบลล์ - ศาสตราจารย์ผู้ทำงานวิจัยที่สัมพันธ์โภชนาการและอัตราของโรคในประเทศจีน

นักเขียน

แนวคิด

เชิงอรรถและอ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

Wikiwand in your browser!

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.

Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.