สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาอิตาลี (ภาษาอังกฤษ: Italian Renaissance) เป็นจุดแรกของการเริ่มสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาซึ่งเป็นช่วงเวลาของความเจริญทางวัฒนธรรมที่สูงสุดในยุโรปที่เริ่มตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 ไปจนสิ้นสุดลงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่เป็นช่วงเวลาที่เชื่อมระหว่างยุคกลางของยุโรปกับยุโรปสมัยใหม่ตอนต้น (Early Modern Europe)


คำว่า “เรอเนสซองซ์” เป็นคำสมัยใหม่ที่มาใช้กันในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในงานของนักประวัติศาสตร์เช่นเจคอป เบิร์คฮาร์ดท์ (Jacob Burckhardt) ที่มาของขบวนการฟื้นฟูศิลปวิทยาจะเริ่มจากการวิวัฒนาการทางวรรณกรรมของผู้ก่อตั้งในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 แต่ วัฒนธรรมด้านอื่น ๆ ของอิตาลีในขณะนั้นยังคงเป็นวัฒนธรรมของยุคกลาง ปรัชญาฟื้นฟูศิลปวิทยามิได้แพร่หลายอย่างเต็มที่จนกระทั่งปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 คำว่า “เรอเนสซองซ์” หรือ “Rinascimento” ในภาษาอิตาลีหมายความว่า “เกิดใหม่” และเป็นสมัยที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในการฟื้นฟูความสนใจในวัฒนธรรมของกรีกโรมันหลังจากสมัยที่นักมนุษย์วิทยาเรอเนสซองซ์ (Renaissance humanist) ตั้งชื่อว่ายุคมืด (Dark Ages) ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญแต่จำกัดอยู่แต่ในกลุ่มชนชั้นสูงและทิ้งให้ประชากรส่วนใหญ่ในยุโรปยังมีความเป็นอยู่ที่ไม่ต่างจากสมัยกลางที่ผ่านมา

สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของอิตาลีเริ่มในทัสเคนีโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ฟลอเรนซ์และเซียนา และต่อมาในเวนิสที่มีผลเป็นอันมาก เพราะงานต่าง ๆ ของกรีกโบราณถูกนำไปรวบรวมไว้ที่เวนิสซึ่งทำให้กลายเป็นแหล่งความรู้ต่าง ๆ ที่ใหม่ ๆ ให้แก่นักมนุษยนิยม ผู้คงแก่เรียนในเวนิสในขณะนั้น ต่อมาปรัชญาฟื้นฟูศิลปวิทยาก็มามีอิทธิพลในกรุงโรม ที่ทำให้เกิดการสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ ๆ มากมายที่ส่วนใหญ่โดยการอุปถัมภ์ของพระสันตปาปาในคริสต์ศตวรรษที่ 16 สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของอิตาลีรุ่งเรืองที่สุดในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 หลังจากนั้นก็ลดถอยลงหลังจากการรุกรานจากต่างประเทศที่ก่อสงครามในอิตาลี แต่การฟื้นฟูศิลปวิทยาของอิตาลีก็มิได้หยุดนิ่งลงแต่เผยแพร่ไปทั่วยุโรปและเริ่มสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาตอนเหนือของยุโรปและสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาอังกฤษและประเทศอื่น ๆ ในยุโรป

สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของอิตาลีเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในความสำเร็จทางด้านวัฒนธรรม วรรณกรรมฟื้นฟูศิลปวิทยาของอิตาลีรวมนักมนุษยนิยมผู้มีชื่อเสียงเช่นเปตรากที่รู้จักกันดีในงานซอนเน็ต “Il Canzoniere”; โจวันนี บอกกัชโช (Giovanni Boccaccio) ในงานเรื่องเล่า “Decameron” และนักมนุษย์วิทยาเรอเนสซองซ์เช่นโปลิซิอาโน (Poliziano), มาร์ซิลิโอ ฟิซิโน (Marsilio Ficino), โลเร็นโซ วาลลา (Lorenzo Valla), อัลโด มานูซิโอ (Aldo Manuzio), โพจจิโอ บราชชิโอลินิ (Poggio Bracciolini) นอกจากนั้นก็มีนักประพันธ์มหากาพย์เรอเนสซองซ์เช่นบัลดัสซาเร คาสติกลิโอเน (Baldassare Castiglione) (“The Book of the Courtier”), ลุโดวิโค อริโอสโต (Ludovico Ariosto) (“Orlando Furioso”) และทอร์ควาโท ทาสโซ (Torquato Tasso) (“Jerusalem Delivered”) และนักประพันธ์ร้อยแก้วเช่นนิคโคโล มาเคียเวลลี (“The Prince”) จิตรกรรมเรอเนสซองซ์อิตาลีเป็นจิตรกรรมที่มีอิทธิพลต่อจิตรกรรมตะวันตกต่อมาอีกหลายร้อยปี โดยมีจิตรกรเช่นไมเคิล แอนเจโล, ราฟาเอล, ซานโดร บอตติเชลลี, ทิเชียน และเลโอนาร์โด ดา วินชี และเช่นเดียวกันกับสถาปัตยกรรมฟื้นฟูศิลปวิทยา โดยมีสถาปนิกเช่นอันเดรอา ปัลลาดีโอ และงานเช่นมหาวิหารฟลอเรนซ์ และมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ในกรุงโรม ในขณะเดียวกันนักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันเห็นว่าเป็นสมัยของความหดตัวทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมามีความก้าวหน้ามากกว่าในวัฒนธรรมของโปรเตสแตนต์ในคริสต์ศตวรรษที่ 17

ที่มา

อิตาลีตอนเหนือในยุคกลาง

เมื่อมาถึงปลายสมัยกลางทางตอนกลางและอิตาลีตอนใต้ที่เป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิโรมันก็จนลงกว่าทางเหนือ โรมเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยซากสิ่งก่อสร้างโบราณและรัฐสันตะปาปา (Papal States) ก็เป็นบริเวณการปกครองอย่างหลวม ๆ ที่แทบจะไม่มีกฎหมายหรือระบบแต่อย่างใดเพราะสำนักพระสันตะปาปาย้ายไปอยู่ที่อาวินยองโดยความกดดันของพระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศส ทางด้านไต้เนเปิลส์, ซิซิลี และซาร์ดิเนียตกอยู่ภายใต้การปกครองของต่างประเทศมาระยะหนึ่งแล้วโดยอาหรับและต่อมาก็โดยนอร์มัน ซิซิลีมั่งคั่งขึ้นมาเป็นเวลาสองสามร้อยปีระหว่างการปกครองของเอ็มมิเรตแห่งซิซิลี (Emirate of Sicily) และเมื่อต้นสมัยราชอาณาจักรซิซิลีแต่มาเสื่อมโทรมลงเมื่อมาถึงปลายสมัยกลาง

ทางตอนเหนือกลายเป็นมั่งคั่งกว่าทางไต้โดยมีอาณาจักรต่าง ๆ ทางตอนเหนือที่เป็นอาณาจักรที่ร่ำรวยที่สุดในยุโรป สงครามครูเสดสร้างเส้นทางการค้าขายกับบริเวณลว้าน (Levant) และสงครามครูเสดครั้งที่ 4 ก็ทำลายจักรวรรดิไบแซนไทน์ผู้เป็นคู่แข่งทางการค้าขายชองเวนิสและสาธารณรัฐเจนัวเกือบหมดสิ้น เส้นทางการค้าขายหลักจากตะวันออกผ่านทะลุจักรวรรดิไบแซนไทน์หรือดินแดนอาหรับ และต่อไปยังเมืองท่าเจนัว, ปิซา และเวนิส สินค้าฟุ่มเฟือยที่หาซื้อได้จากบริเวณลว้านก็ถูกนำเช่นเครื่องเทศ, สีย้อมผ้า และไหมก็ถูกนำเข้ามายังอิตาลีและขายต่อไปยังยุโรป นอกจากนั้นนครรัฐ (city-state) ที่ไม่ได้อยู่ติดกับทะเลก็ได้รับผลประโยชน์จากการเกษตรกรรมในบริเวณลุ่มแม่น้ำโป

จากฝรั่งเศส, เยอรมนี และกลุ่มประเทศต่ำโดยเทศกาลสินค้าแชมเปญ (Champagne fairs), ทางบก และทางเรือ ก็นำสินค้าเช่นขนแกะ, ข้าวสาลี และโลหะมีค่าเข้ามาในอิตาลี บริเวณการค้าขายตั้งแต่อียิปต์ไปจนถึงบริเวณบอลติคทำให้อิตาลีเป็นแหล่งสินค้าที่เกินเลยที่ทำให้สามารถมีอำนาจในการลงทุนในการทำเหมืองและทำการอุตสาหกรรมได้ ฉะนั้นแม้ว่าทางเหนือของอิตาลีจะไม่ร่ำรวยทางทรัพยากรเมื่อเทียบกับส่วนอื่นของยุโรปแต่การพัฒนาที่เกิดจากการค้าขายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความมั่งคั่ง ฟลอเรนซ์กลายเป็นเมืองที่มั่งคั่งที่สุดทางตอนเหนือของอิตาลีเพราะการผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าภายใต้การควบคุมของสมาคมพ่อค้าผ้า “Arte della Lana” ขนแกะนำเข้าจากทางเหนือของยุโรปและในคริสต์ศตวรรษที่ 16 จากสเปน[1] โดยใช้สีย้อมผ้าจากตะวันออกที่ทำให้ผลิตผ้าที่มีคุณภาพสูงได้

นอกจากนั้นเส้นทางการค้าขายของอิตาลีที่รวมบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนและไกลไปจากนั้นก็ยังเป็นที่มาของวัฒนธรรมและความรู้ ในสมัยกลางงานที่เป็นการศึกษาคลาสสิกของกรีกเริ่มเข้ามาสู่ยุโรปตะวันตกโดยงานแปลจากภาษาละตินเป็นภาษาอาหรับจากโทเลโดในสเปน และจากพาเลอร์โมในอิตาลีโดยเฉพาะในช่วงที่เรียกว่าสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของคริสต์ศตวรรษที่ 12 หลังจากที่สเปนได้รับชัยชนะต่ออาหรับ (Reconquista) ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ก็ทำให้งานแปลจากภาษาอาหรับในสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์, ปรัชญา, และคณิตศาสตร์เผยแพร่เข้ามายังทางตอนเหนือของอิตาลี หลังจากการเสียเมืองคอนสแตนติโนเปิล (Fall of Constantinople) ในปี ค.ศ. 1453 ก็มีผู้คงแก่เรียนกรีกจำนวนมากที่ลี้ภัยเข้ามายังอิตาลีซึ่งเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความสนใจในการศึกษาทางภาษาศาสตร์ระหว่างสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาและช่วยฟื้นฟูสถาบันการศึกษาในฟลอเรนซ์และเวนิส นักมนุษยนิยมเที่ยวค้นหาในห้องสมุดของสำนักสงฆ์เพื่อหาหนังสือโบราณและพบงานของนักประพันธ์ภาษาละตินสำคัญ ๆ มากมายเช่นแทซิทัส นอกจากนั้นก็ยังพบทฤษฎีพื้นฐานทางสถาปัตยกรรมของวิทรูเวียส สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ความเจริญทางวัฒนธรรมในด้านต่าง ๆ รุ่งเรืองขึ้น

การพัฒนา

วัฒนธรรม

อ้างอิง

ดูเพิ่ม

Wikiwand in your browser!

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.

Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.