Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คนเก็บของป่าล่าสัตว์[1] (อังกฤษ: hunter-gatherer, forager) หมายถึงมนุษย์ในสังคมที่ได้อาหารส่วนมากหรือทั้งหมด จากการเก็บพืชในป่าหรือล่าสัตว์ป่า เปรียบเทียบกับสังคมเกษตร ที่โดยหลักพึ่งพืชสัตว์พันธุ์ที่ปรับนำมาเลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร การหากินวิธีนี้เป็นการปรับตัวแบบแรกและที่ยืนยงที่สุดของคน โดยเป็นวิธีหากินในร้อยละ 90 ของประวัติศาสตร์มนุษย์[2] แต่ว่าหลังจากการเกิดขึ้นของสังคมเกษตรกรรมโดยมากในโลก สังคมเกษตรและสังคมเลี้ยงสัตว์ก็ได้แทนที่หรือพิชิตสังคมคนเก็บของป่าล่าสัตว์ โดยมีกลุ่มที่จัดเป็นคนเก็บของป่าล่าสัตว์เหลือเพียงไม่กี่สังคมในปัจจุบัน และหลายกลุ่มจริง ๆ ก็มีการปลูกพืชสวนและเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปด้วย
ในคริสต์ทศวรรษ 1950 มีนักโบราณคดีทรงอิทธิพลชาวอเมริกันท่านหนึ่งที่เสนอว่า มนุษย์ในยุคต้น ๆ ความจริงบริโภคซากสัตว์เป็นอาหาร ไม่ใช่ได้เนื้อโดยการล่า[3] คือมนุษย์ในต้นยุคหินเก่าได้อาศัยอยู่ในป่าโปร่ง จึงสามารถเก็บอาหารทะเล ไข่ ถั่ว และผลไม้ บวกกับการบริโภคซากสัตว์ได้ ตามทฤษฎีนี้ แทนที่จะฆ่าสัตว์ใหญ่ มนุษย์ได้เนื้อจากสัตว์ที่ถูกฆ่าโดยสัตว์ล่าเหยื่ออื่นหรือที่ตายด้วยเหตุธรรมชาติ[4] และข้อมูลทางโบราณคดีและพันธุกรรมก็แสดงนัยว่า กลุ่มบรรพบุรุษมนุษย์ปัจจุบันที่เป็นคนเก็บของป่าล่าสัตว์ในยุคหินเก่ามีชีวิตอยู่ในป่าโปร่ง และแพร่กระจายไปในเขตที่อุดมสมบูรณ์อื่น ๆ โดยหลีกเลี่ยงป่าทึบ[5]
ตามสมมติฐานวิ่งทน (endurance running hypothesis) การวิ่งระยะไกล ๆ เพื่อตามล่าสัตว์ ซึ่งยังเป็นวิธีที่คนเก็บของป่าล่าสัตว์ในปัจจุบันยังใช้อยู่ น่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนวิวัฒนาการของลักษณะมนุษย์บางอย่าง ซึ่งเป็นสมมติฐานที่ไม่ได้ขัดแย้งกับสมมติฐานบริโภคซากสัตว์ กลยุทธ์การดำรงชีวิตทั้งสองอาจจะได้ใช้ ไม่ว่าจะสืบต่อกัน สลับกัน หรือแม้แต่พร้อม ๆ กัน การเก็บของป่าล่าสัตว์เชื่อว่าเป็นกลยุทธ์พอดำรงชีวิตที่ใช้ในสังคมมนุษย์เริ่มตั้งแต่ 1.8 ล้านปีก่อน โดยมนุษย์พันธุ์ Homo erectus และเริ่มตั้งแต่ 200,000 ปีก่อนโดยมนุษย์พันธุ์ปัจจุบันคือ Homo sapiens เป็นวิธีการพอดำรงชีวิตอย่างเดียวจนกระทั่งที่สุดของยุคหินกลางประมาณ 10,000 ปีก่อน ซึ่งหลังจากนี้สังคมเกษตรกรรมจึงค่อย ๆ แพร่กระจายออกไปทั่วโลก คือ เริ่มตั้งแต่ระหว่างยุคหินเก่าตอนกลางและตอนปลายประมาณ 70,000–80,000 ปีก่อน สังคมกลุ่มต่าง ๆ ก็เริ่มจะมีความชำนาญพิเศษในการล่าสัตว์ที่ใหญ่กว่าแต่เป็นจำนวนพันธุ์ที่น้อยกว่า และเก็บพืชผลเป็นจำนวนพันธุ์ที่น้อยกว่าด้วย ซึ่งมีผลให้สร้างอุปกรณ์เฉพาะงาน เช่น อวนปลา เบ็ดปลา ฉมวกที่ทำด้วยกระดูก[6] ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ยุคหินใหม่ต่อมา เป็นการพัฒนาเทคนิคทางเกษตรกรรมเบื้องต้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน สังคมเกษตรกรรมจึงเกิดขึ้นและกระจายไปจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ รวมทั้งในตะวันออกกลาง เอเชีย เมโสอเมริกา และเทือกเขาแอนดีส ซึ่งอาจเริ่มตั้งแต่ 12,000 ปีก่อน
นอกจากนั้นแล้ว การทำสวนป่า (forest gardening) ก็เป็นระบบผลิตอาหารที่ใช้ในที่ต่าง ๆ ของโลกยุคนี้ด้วย โดยมีกำเนิดก่อนประวัติศาสตร์ตามริมฝั่งแม่น้ำที่มีป่าไม้ปกคลุม และตามเนินตีนเขาในเขตมรสุม[ต้องการอ้างอิง] คือ เมื่อชนหมู่ต่าง ๆ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวอย่างต่อเนื่อง ก็มีการระบุ การป้องกัน และการปรับปรุงทั้งไม้และไม้เถา และการกำจัดพืชที่ไม่ต้องการ จนกระทั่งในที่สุด ก็จะรวมเอาพืชนอกพื้นที่ที่ดีกว่าเข้าไปในสวนด้วย[7]
แม้ว่ากลุ่มชนมากมายจะธำรงการดำรงชีวิตแบบคนเก็บของป่าล่าสัตว์ แต่จำนวนก็ได้ลดลงมาเรื่อย ๆ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของชุมชนเกษตรและเลี้ยงสัตว์ กลุ่มเหล่านี้โดยมากอาศัยอยู่ในเขตประเทศกำลังพัฒนา โดยถ้าไม่อยู่ในเขตแห้งแล้งก็อยู่ในป่าเขตร้อน แต่ว่า การตั้งถิ่นฐานของชุมชนเกษตรก็ได้ลุกล้ำที่อยู่อาศัยของชนเหล่านี้เข้าไปเรื่อย ๆ โดยเป็นผลจากการแข่งขันเพื่อใช้พื้นที่เช่นนี้ สังคมเก็บของป่าล่าสัตว์จึงต้องยอมรับเกษตรกรรมหรือต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น นอกจากนั้นแล้ว ศ. จาเร็ด ไดมอนด์ยังโทษการมีน้อยลงของอาหารป่า โดยเฉพาะสัตว์ป่า ยกตัวอย่างเช่น ในทวีปอเมริกา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่โดยมากได้สูญพันธ์ไปแล้วโดยที่สุดของสมัยไพลสโตซีน เพราะการล่าสัตว์มากเกินของมนุษย์[8] แม้ว่าสมมติฐานเกี่ยวกับการล่าสัตว์มากเกินไปของเขา จะเป็นเรื่องที่นักวิชาการบางท่านไม่เห็นด้วย[โดยใคร?]
เมื่อสังคมเกษตรทั้งขยายจำนวนและขยายขนาด ก็จะลุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ที่กลุ่มคนเก็บของป่าล่าสัตว์เคยใช้สอย และกระบวนการขยายขนาดที่ขับเคลื่อนโดยเกษตรกรรม ก็นำไปสู่การพัฒนาระบบการปกครองในศูนย์กลางการเกษตร เช่น เขตพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์, อินเดียโบราณ, จีนโบราณ, อารยธรรมโอลเม็กในเม็กซิโก, แอฟริกาใต้สะฮารา, และอารยธรรมนอร์เตชิโกในเปรู ผลก็คือ มนุษย์เกือบทั้งหมดปัจจุบันต้องพึ่งการเกษตร โดยมีวัฒนธรรมคนเก็บของป่าล่าสัตว์เหลือไม่กี่ชุมชนที่ปกติจะอาศัยอยู่ในเขตที่ไม่เหมาะจะทำเกษตร
นักโบราณคดีได้ใช้หลักฐานเช่นเครื่องมือหินในการติดตามชีวิตของมนุษย์คนเก็บของป่าล่าสัตว์ รวมทั้งการอพยพไปในที่ต่าง ๆ[9]
คนเก็บของป่าล่าสัตว์โดยมากเป็นชนร่อนเร่หรือกึ่งร่อนเร่ และจะอยู่ในที่อยู่ชั่วคราว ชุมชนที่ย้ายไปเรื่อย ๆ มักจะสร้างที่อยู่โดยใช้วัสดุที่ไม่ถาวร หรืออาจจะใช้ที่กำบังตามธรรมชาติที่มีอยู่ แต่ก็มีวัฒนธรรมคนเก็บของป่าล่าสัตว์บางแห่ง เช่นที่พบในคนพื้นเมืองเดิมของชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐ (Pacific Northwest) ที่อยู่ในเขตอุดมสมบูรณ์จนกระทั่งว่าสามารถอยู่กับที่หรือกึ่งอยู่กับที่ได้
คนเก็บของป่าล่าสัตว์มักจะมีสังคมที่สมาชิกมีฐานะเท่าเทียมกัน แม้ว่า กลุ่มที่อยู่เป็นที่ (เช่นที่ชายฝั่งแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐ) จะเป็นข้อยกเว้น กลุ่มในแอฟริกาเกือบทั้งหมดมีฐานะเท่าเทียมกัน แม้แต่หญิงก็ยังมีอิทธิพลและมีอำนาจพอ ๆ กับชาย[10]
แม้ว่าความเท่าเทียมกันที่พบในกลุ่มคนเก็บของป่าล่าสัตว์จะไม่สมบูรณ์ แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าแปลกใจจากมุมมองทางวิวัฒนาการ สัตว์ที่เป็นญาติใกล้ชิดที่สุดของมนุษย์ในกลุ่มลิงใหญ่ คือลิงชิมแปนซี เป็นสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยแบ่งสังคมเป็นชั้น ๆ ที่มีลิงตัวผู้เป็นหัวหน้า (คือลิงอัลฟา) ซึ่งต่างจากกลุ่มมนุษย์คนเก็บของป่าล่าสัตว์มากจนกระทั่งมีนักบรรพมานุษยวิทยาที่อ้างว่า การไม่ยอมใครเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนวิวัฒนาการทางพิชาน ภาษา ระบบญาติพี่น้อง และการจัดกลุ่มทางสังคม ในหมู่มนุษย์[11][12]-[13] นักมานุษยวิทยาดำรงว่า คนเก็บของป่าล่าสัตว์จะไม่มีผู้นำถาวร แต่ใครเป็นผู้นำจะขึ้นอยู่กับสิ่งที่กำลังจะทำ[14][15][16] นอกจากจะมีความเท่าเทียมกันทางสังคมและเศรษฐกิจแล้ว บ่อยครั้งก็ยังมีความเท่าเทียมกันทางเพศด้วย แม้ว่าจะไม่เสมอไป[14]
คนเก็บของป่าล่าสัตว์บ่อยครั้งรวมกลุ่มโดยความเป็นญาติ (เป็นแบบ kinship หรือ band)[17] ชายมักจะอยู่กับครอบครัวของฝ่ายหญิงหลังจากการแต่งงาน อย่างน้อยก็ในเบื้องต้น[18] แม่อายุน้อยจะได้แม่ของตนเป็นผู้ช่วยเลี้ยงลูก โดยจะอยู่ใกล้ ๆ กัน[19] ระบบญาติและการสืบตระกูลในกลุ่มคนเก็บของป่าล่าสัตว์มีความแตกต่างกัน แม้ว่าจะมีหลักฐานว่า มนุษย์ยุคต้น ๆ มักจะสืบตระกูลทางสายมารดา[20]
โครงสร้างทางสังคมและการแบ่งงานทางเพศของคนเก็บของป่าล่าสัตว์ไม่เหมือนกับสังคมเกษตร ในสังคมนี้ หญิงเป็นผู้เก็บพืชผล และชายมุ่งล่าสัตว์ใหญ่โดยมาก แต่นี่ไม่ปรากฏว่าเป็นการกดขี่ผู้หญิง โดยให้อำนาจเพียงแค่เป็นแม่บ้าน คือ ตามผู้ที่ได้สังเกตปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพศในสังคมเช่นนี้ หญิงจะไม่เข้าใจแนวคิดว่าตนถูกกดขี่เพราะทำงานไม่เหมือนชาย เพราะว่า การเลี้ยงดูเด็กเป็นงานส่วนรวม ที่ทารกทุกคนจะมีแม่และชายที่ช่วยดูแลหลายคน ดังนั้น หน้าที่ในบ้านจึงไม่ได้ทำอย่างจำกัด[ต้องการอ้างอิง] ในสังคมเช่นนี้ทุกแห่ง หญิงล้วนแต่ยินดีที่จะได้เนื้อที่ชายหามาให้ ดังที่กล่าวไว้อย่างละเอียดในหนังสือเกี่ยวกับคนเผ่า Ju|'hoan ในแอฟริกาใต้[21]
นอกจากนั้นแล้ว งานโบราณคดีเมื่อราว ค.ศ. 2006 แสดงนัยว่า การแบ่งงานทางเพศเช่นนี้เป็นนวัตกรรมการจัดระเบียบสังคมขั้นพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์พันธุ์ Homo sapiens ได้เปรียบมนุษย์พันธุ์ Neanderthal ทำให้บรรพบุรุษของมนุษย์ปัจจุบันสามารถอพยพไปจากแอฟริกาแล้วกระจายไปทั่วโลก[22] จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ สังคมคนเก็บของป่าล่าสัตว์โดยมากก็ยังแบ่งงานระหว่างเพศแม้จะเพียงทำเป็นแค่พิธีเท่านั้น[23]
แต่ก็ยังจริงอยู่ว่าในบางสังคม หญิงก็จะล่าสัตว์พวกเดียวกันเหมือนกับชาย และบางครั้งทำด้วยกัน ตัวอย่างที่รู้จักกันดีที่สุดก็คือชนเผ่าไอตา (Aeta) ในประเทศฟิลิปปินส์ คือ ตามงานศึกษาหนึ่ง "ประมาณร้อยละ 85 ของหญิงไอตาในฟิลิปปินส์ล่าสัตว์ เป็นการล่าสัตว์พวกเดียวกันเหมือนกับชายด้วย โดยล่าเป็นกลุ่มมีสุนัขช่วย และประสบความสำเร็จในอัตราร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับชายที่ร้อยละ 17 อัตราความสำเร็จจะสูงขึ้นถ้าร่วมมือกับชาย กลุ่มล่าสัตว์รวมเพศมีอัตราความสำเร็จที่ร้อยละ 41 ในบรรดาชนไอตา"[15] ส่วนคนเผ่า Ju|'hoansi ในประเทศนามิเบีย หญิงจะช่วยชายสะกดรอยสัตว์[24] ส่วนหญิงเผ่า Martu ในประเทศออสเตรเลียล่าสัตว์เล็ก ๆ เช่นกิ้งก่า เป็นหลักเพื่อเลี้ยงลูกและเพื่อธำรงความสัมพันธ์กับหญิงอื่น ๆ[25]
ในงานประชุม ค.ศ. 1966 นักมานุษยวิทยาทรงอิทธิพลชาวอเมริกันและแคนาดาคู่หนึ่ง (Richard Borshay Lee และ Irven DeVore) เสนอว่า สมภาคนิยม (egalitarianism) เป็นลักษณะหลักอย่างหนึ่งของสังคมคนเก็บของป่าล่าสัตว์ที่อยู่ไม่ประจำที่ เพราะว่า การเคลื่อนย้ายบังคับให้มีวัตถุสิ่งของน้อยที่สุดในทั้งชุมชน ดังนั้น จึงไม่มีใครมีสมบัติมากกว่าคนอื่น ๆ ลักษณะอย่างอื่นที่นักวิชาการคู่นี้เสนอก็คือ อาณาเขตและความต่าง ๆ กันทางประชากรของเผ่า (demographic composition) ที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ
ในงานประชุมเดียวกัน นักโบราณคดีผู้หนึ่งเสนอประเด็นเรื่อง "สังคมที่มั่งมีดั้งเดิม" (original affluent society) ที่เขาคัดค้านทัศนคตินิยมว่า คนเก็บของป่าล่าสัตว์ใช้ชีวิตอย่าง "โดดเดี่ยว ยากจน ยากลำบาก โหดร้ายทารุณ และมีชีวิตสั้น" ดังที่โทมัส ฮอบส์ได้เสนอใน ค.ศ. 1651 ตามนักวิชาการท่านนี้ หลักฐานทางชาติพันธุ์วรรณนาแสดงว่า คนเก็บของป่าล่าสัตว์ทำงานน้อยกว่า และมีเวลาว่างมากกว่าสมาชิกในสังคมอุตสาหกรรม ทั้ง ๆ ที่ก็กินดีด้วย ส่วนคำว่า "มั่งมี" มาจากไอเดียว่า คนเหล่านั้นพอใจในวัตถุสิ่งของน้อยนิดที่ตนมี[26] ต่อมาใน ค.ศ. 1996 นักวิชาการอีกท่านหนึ่งทำงานวิเคราะห์อภิมาน 2 งานเพื่อพิสูจน์แนวคิดนี้ งานแรกตรวจสอบงานศึกษาเกี่ยวกับการใช้เวลาของสังคมชนิดนี้ และงานที่สองวิเคราะห์การใช้แรงงานของสังคม แล้วพบว่า ผู้ใหญ่ในสังคมที่เที่ยวหาอาหารและปลูกพืชสวนทำงานโดยเฉลี่ยประมาณ 6.5 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่คนในสังคมเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมทำงานโดยเฉลี่ย 8.8 ชั่วโมงต่อวัน[27] และงานวิจัย ค.ศ. 2007 ก็แสดงด้วยว่า อายุขัยโดยเฉลี่ยของคนกลุ่มนี้สูงกว่าที่คาดไว้[28]
การแลกเปลี่ยนและแบ่งสิ่งที่หาได้ (เช่นเนื้อจากการล่าสัตว์เป็นต้น) เป็นระบบเศรษฐกิจที่สำคัญของสังคมเช่นนี้[17]
สังคมคนเก็บของป่าล่าสัตว์มีความต่าง ๆ กันอย่างสำคัญ ขึ้นอยู่กับภูมิอากาศและสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในพื้นที่ เทคโนโลยีที่มี และโครงสร้างทางสังคม นักโบราณคดีจะตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องมือของชนเผ่าต่าง ๆ เพื่อวัดความแตกต่างกัน งานศึกษาใน ค.ศ. 2005 พบว่า อุณหภูมิเป็นปัจจัยอย่างเดียวที่มีผลสำคัญทางสถิติต่ออุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้[29] โดยใช้อุณหภูมิเป็นตัวแทนความเสี่ยง งานนี้แสดงนัยว่า สิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภูมิจัดเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญพอที่จะมีอุปกรณ์ที่ต่าง ๆ กันเพิ่ม ซึ่งสนับสนุนทฤษฎีที่เสนอใน ค.ศ. 1989 ว่า ความเสี่ยงต่อความล้มเหลวเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะกำหนดโครงสร้างของอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้[30]
วิธีการหนึ่งในการจัดหมวดหมู่ของสังคมชนิดนี้ก็คือโดยระบบผลตอบแทน มีนักวิชาที่จัดหมวดหมู่เป็น "ผลตอบแทนทันที" (immediate return) สำหรับสังคมที่มีฐานะเท่าเทียมกัน และ "ผลตอบแทนทีหลัง" (delayed return) สำหรับสังคมที่มีฐานะไม่เท่าเทียมกัน คือ ผู้เที่ยวหาอาหารแบบมีผลตอบแทนทันที จะบริโภคอาหารภายในวันหนึ่งหรือสองวันที่ได้มา ส่วนพวกผลตอบแทนทีหลัง จะเก็บอาหารที่เหลือไว้[31]: 31
แม้ว่าการเก็บของป่าล่าสัตว์จะเป็นวิธีการพอดำรงชีพของมนุษย์ทั่วยุคหินเก่า ถึงกระนั้น สังเกตการณ์ในกลุ่มคนเก็บของป่าล่าสัตว์ในปัจจุบันอาจจะไม่สะท้อนถึงสังคมในยุคหินเก่าจริง ๆ เพราะว่า สังคมเช่นนี้ที่ตรวจสอบในสมัยปัจจุบัน มีการติดต่อกับอารยธรรมอื่น ๆ และไม่ได้อยู่ในสถานะที่ "บริสุทธิ์" โดยขาดการติดต่อกับโลกปัจจุบัน[32]
การเปลี่ยนรูปแบบจากสังคมคนเก็บของป่าล่าสัตว์ไปเป็นสังคมเกษตรกรรม ไม่ใช่เป็นได้แค่ทางเดียว คือมีการอ้างว่า การเก็บของป่าล่าสัตว์เป็นกลยุทธ์การปรับตัว ซึ่งอาจจะใช้เมื่อจำเป็น เช่นเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงทำให้อาหารขาดแคลนในสังคมเกษตร[33] และจริง ๆ แล้ว เป็นเรื่องยากที่จะแบ่งสังคมเกษตรและสังคมคนเก็บของป่าล่าสัตว์ออกจากกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะมีการยอมรับสังคมเกษตรกรรมและวัฒนธรรมที่ควบคู่กัน ที่กระจายไปอย่างกว้างขวางภายใน 10,000 ปีที่ผ่านมา[ต้องการอ้างอิง] และมุมมองทางมานุษยวิทยาเช่นนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1960[โปรดขยายความ][ต้องการอ้างอิง]
ในต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 มีกลุ่มนักมานุษยวิทยาและโบราณคดีกลุ่มเล็ก ๆ แต่พูดจาเปิดเผยกลุ่มหนึ่ง ที่พยายามแสดงว่า กลุ่มที่จัดว่าเป็นคนเก็บของป่าล่าสัตว์ในปัจจุบัน โดยมากไม่ได้มีประวัติการเป็นคนเก็บของป่าล่าสัตว์อย่างสืบเนื่อง คือมีหลายกลุ่มที่มีบรรพบุรุษเป็นเกษตรกรหรือคนเลี้ยงสัตว์[ต้องการอ้างอิง] ซึ่งเข้าไปอยู่ในเขตที่เพาะปลูกไม่ได้หรือเกือบไม่ได้โดยเป็นผลของการอพยพ การถูกฉวยผลประโยชน์ หรือจากความรุนแรง ความพยายามเหล่านี้มีอิทธิพลให้ยอมรับโดยทั่วไปว่า กลุ่มคนเก็บของป่าล่าสัตว์ได้มีอันตรสัมพันธ์กับกลุ่มอื่น ๆ เป็นพัน ๆ ปีแล้ว[ต้องการอ้างอิง]
นักวิชาการที่เสนอแนวคิดแบบ "ปรับปรุง" เช่นนี้แสดงนัยว่า เพราะว่า กลุ่มคนเก็บของป่าล่าสัตว์แท้ ๆ ได้หายไปจากโลกหลังจากการล่าอาณานิคม (หรือแม้ตั้งแต่การเกิดเกษตรกรรม) ไม่เท่าไร ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับกลุ่มคนเก็บของป่าล่าสัตว์ก่อนประวัติศาสตร์จากกลุ่มที่มีในปัจจุบัน[34]: 24–29 [35] แต่ก็มีนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วย[36][37][38] โดยอ้างว่า เราสามารถเรียนรู้วิถีชีวิตของกลุ่มคนเก็บของป่าล่าสัตว์ก่อนประวัติศาสตร์ โดยศึกษากลุ่มปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องความเท่าเทียมกันทางสังคมที่น่าทึ่งใจ[39] มีคนเก็บของป่าล่าสัตว์เป็นจำนวนมากที่บริหารพื้นที่รอบ ๆ ตัว โดยกำจัดหรือเผาพืชที่ไม่ต้องการและช่วยสนับสนุนพันธุ์ที่ต้องการ โดยบางพวกทำอย่างนี้ก็เพื่อสร้างที่อยู่ให้กับสัตว์ที่ล่า แม้ว่า การทำเช่นนี้จะต่างระดับเทียบกับที่ทำในสังคมเกษตร แต่ว่า นี้ก็เป็นการเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์โดยระดับหนึ่ง ทุกวันนี้ กลุ่มคนเก็บของป่าล่าสัตว์เกือบทั้งหมด ต้องอาศัยแหล่งอาหารที่ปลูกหรือเลี้ยงเองเป็นบางส่วน โดยทำเองแม้ไม่ได้ทำทั้งวัน หรือแลกมาด้วยสิ่งที่หาได้จากป่า
นอกจากนั้นแล้ว เกษตรกรบางพวกก็ล่าสัตว์และเก็บพืชผลเป็นปกติด้วย (เช่น ทำเกษตรนอกฤดูหนาว และล่าสัตว์ในฤดูหนาวที่มีน้ำค้างแข็ง) และก็มีคนล่าสัตว์ในประเทศพัฒนาแล้วด้วย โดยเป็นกิจกรรมเวลาว่าง
ปัจจุบัน ก็ยังมีกลุ่มคนเก็บของป่าล่าสัตว์ที่แม้ว่าจะได้ติดต่อกับสังคมวัฒนธรรมอื่น ๆ ก็ยังธำรงวิถีชีวิตของตนโดยปราศจากอิทธิพลจากสังคมภายนอก กลุ่มหนึ่งก็คือคน Pila Nguru (หรือคน Spinifex) ของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียที่อยู่ในทะเลทรายเกรตวิกตอเรียซึ่งเป็นที่ไม่เหมาะกับทั้งเกษตรกรรมแบบยุโรปหรือการเลี้ยงสัตว์[ต้องการอ้างอิง] อีกกลุ่มหนึ่งก็คือชาวเกาะเซนทิเนลเหนือที่หมู่เกาะอันดามันซึ่งยังดำรงชีวิตของตนอย่างอิสระ โดยปฏิเสธที่จะติดต่อกับผู้อื่น[ต้องการอ้างอิง]
หลักฐานแสดงนัยว่า มนุษย์นักล่าสัตว์ใหญ่ได้ข้ามช่องแคบเบริงจากเอเชียเข้าไปในอเมริกาเหนือ ผ่านสะพานแผ่นดินที่มีระหว่าง 47,000–14,000 ปีก่อน[41] และเมื่อประมาณ 18,500–15,500 ปีก่อน กลุ่มคนเก็บของป่าล่าสัตว์เหล่านี้เชื่อว่าได้ตามล่าฝูงสัตว์ใหญ่ (megafauna) ในสมัยไพลสโตซีน ตามช่องทางปราศจากน้ำแข็งระหว่างพืดน้ำแข็ง Laurentide และ Cordilleran[42] หรืออีกทางที่มีการเสนอก็คือ ไม่ว่าจะเดินหรือว่าใช้เรือแบบง่าย ๆ มนุษย์เหล่านี้ได้อพยพตามชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกไปจนถึงอเมริกาใต้[43][44]
กลุ่มคนเก็บของป่าล่าสัตว์ในที่สุดก็เจริญรุ่งเรืองไปทั่วทวีปอเมริกา โดยหลักอยู่ที่เขตเกรตเพลนส์ของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา และมีกิ่งก้านสาขาแตกไปถึงคาบสมุทรกัสเป ทางชายฝั่งตะวันออกของแคนาดา และไปทางใต้จนถึงประเทศชิลี[ต้องการอ้างอิง] เนื่องจากกระจายไปทั่วในเขตอันกว้างไกล จึงมีวิถีชีวิตแตกต่างกันตามเขต แต่ว่า ทุกกลุ่มได้ผลิตเครื่องมือหินในแนวเดียวกัน ระบุได้โดยรูปแบบการเคาะหิน (knapping) และลำดับการทำเครื่องมือ เป็นแบบการทำเครื่องมือที่พบไปทั่วทวีปอเมริกา เป็นเครื่องมือที่ใช้โดยคนเก็บของป่าล่าสัตว์ที่อยู่รวมเป็นกลุ่ม ๆ ประมาณ 25–50 คนที่เป็นญาติสายเลือดกัน[45]
แต่ต่อมาระหว่าง 8,000–2,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช สิ่งแวดล้อมก็ได้เปลี่ยนไปเป็นภูมิอากาศที่อุ่นขึ้นแห้งขึ้น และมีการสูญพันธุ์ของสัตว์ใหญ่พันธุ์สุดท้าย[46] ประชากรโดยมากในทวีปนี้ในเวลานี้ก็ยังเป็นกลุ่มคนเก็บของป่าล่าสัตว์ที่ย้ายที่ไปเรื่อย ๆ ถึงกระนั้นแต่ละกลุ่มก็เริ่มที่จะให้ความสนใจกับทรัพยากรที่มีอยู่รอบ ๆ ตัว และดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไปจึงมีรูปแบบประเพณีเฉพาะ ๆ ตัวดังที่พบในกลุ่ม Southwest, Arctic (Paleo-Arctic), Poverty Point, Dalton และ Plano การปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่จึงกลายเป็นเรื่องสามัญ โดยอาศัยการเก็บของป่าล่าสัตว์น้อยลง แต่อาศัยสัตว์เล็ก ปลา ผักป่าตามฤดู และพืชที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น[47][48]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.