Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไวรัส RSV หรือ ไวรัสมวลเซลล์รวมระบบหายใจ[2] (อังกฤษ: respiratory syncytial virus (RSV), human respiratory syncytial virus (hRSV), human orthopneumovirus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบหายใจของมนุษย์ ไวรัสชนิดนี้พบได้บ่อยมาก มีลักษณะทางไวรัสวิทยาเป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอสายเดียวเซนส์ลบ เซลล์ที่ติดเชื้อจะหลอมรวมกันเป็นมวลเซลล์รวม (syncytial) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อไวรัสนี้[3][4]
Human orthopneumovirus | |
---|---|
ภาพไวรัสอาร์เอสวี ถ่ายด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน | |
การจำแนกชนิดไวรัส | |
ไม่ได้จัดลำดับ: | ไวรัส Virus |
Realm: | Riboviria Riboviria |
อาณาจักร: | Orthornavirae Orthornavirae |
ไฟลัม: | Negarnaviricota Negarnaviricota |
ชั้น: | Monjiviricetes Monjiviricetes |
อันดับ: | Mononegavirales Mononegavirales |
วงศ์: | Pneumoviridae Pneumoviridae |
สกุล: | Orthopneumovirus Orthopneumovirus |
สปีชีส์: | Human orthopneumovirus |
ชื่อพ้อง[1] | |
|
ไวรัส RSV เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยระบบหายใจที่รุนแรงถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่พบบ่อยที่สุดในทารก ผู้ป่วยที่หายแล้วยังสามารถเป็นซ้ำได้อีกหลายครั้งตลอดชีวิต และเป็นเชื้อก่อโรคที่สำคัญในคนทุกอายุ อัตราการติดเชื้อมักเพิ่มสูงขึ้นในฤดูหนาว ทารกที่ติดเชื้อจะมีอาการเป็นหลอดลมฝอยอักเสบ ส่วนผู้ใหญ่อาจเป็นไข้หวัดธรรมดา ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจมีอาการรุนแรงและเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ได้[5]
เชื้อนี้ติดต่อผ่านฝอยละออง สามารถทำให้เกิดการระบาดเป็นกลุ่มย่อยได้ทั้งในชุมชนและในสถานพยาบาล เมื่อเข้าสู่ร่างกายทางตาหรือจมูกแล้วเชื้อไวรัสจะติดเข้าไปในเซลล์เยื่อบุของทางหายใจได้ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ทำให้เกิดการอักเสบ เซลล์ตาย และเกิดการอุดกั้นทางหายใจ[3] วิธีตรวจทำได้หลายอย่าง เช่น การตรวจแอนติเจน การตรวจพันธุกรรม และการเพาะเชื้อไวรัส ฯลฯ[4] สถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกันไม่แนะนำให้ตรวจหาเชื้ออาร์เอสวีด้วยวิธีตรวจทางห้องปฏิบัติการในผู้ป่วยทุกราย เนื่องจากการรักษาโดยหลักเป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ[6] การป้องกันที่ดีที่สุดคือการล้างมือและการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย มีการใช้ยาพาลิวิซูแม็บเป็นการป้องกันก่อนสัมผัสสำหรับทารกที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีภาวะแทรกซ้อนจากการติดไวรัส RSV ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ แต่มีวัคซีนที่อยู่ระหว่างการทดลองหลายตัว[7]
การรักษาหลัก ๆ คือการรักษาตามอาการ ได้แก่ การให้ออกซิเจน การให้การช่วยหายใจ (เช่น การใช้ซีแพพ หรือการให้ออกซิเจนแรงดันสูงทางจมูก) เมื่อจำเป็น ในรายที่มีอาการรุนแรง เกิดภาวะหายใจล้มเหลว อาจจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ ยาต้านไวรัสที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนว่าใช้รักษาโรคนี้ได้คือไรบาไวริน แต่การใช้จริงก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่[8]
การติดไวรัสอาร์เอสวี (Human respiratory syncytial virus infection) | |
---|---|
ชื่ออื่น | Human respiratory syncytial virus |
ภาพเอกซเรย์ปอดของผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้ออาร์เอสวี แสดงให้เห็นส่วนทึบแสงบริเวณขั้วปอดทั้งสองข้าง | |
สาขาวิชา | กุมารเวชศาสตร์ |
การป้องกัน | การล้างมือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย[9] |
การติดเชื้ออาร์เอสวีอาจทำให้มีอาการและอาการแสดงได้หลายระดับ ตั้งแต่การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนที่มีอาการเล็กน้อย ไปจนถึงการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและอาจต้องใช้การช่วยหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจ[10] เชื้อนี้สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ในผู้ป่วยทุกอายุ และเป็นการติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุดอันดับต้น ๆ ในบรรดาการติดเชื้อในเด็กทั้งหมด โดยผู้ป่วยจะมีอาการแตกต่างกันไปขึ้นกับปัจจัยด้านอายุและสถานะของระบบภูมิคุ้มกัน[5] ตลอดชีวิตอาจติดเชื้อซ้ำได้หลายครั้ง แต่ผู้ป่วยกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อแล้วมีอาการสูงสุดก็คือกลุ่มทารกและผู้สูงอายุ[10]
เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป เกือบทุกคนจะเคยติดไวรัส RSV มาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง[11] การติดเชื้ออาร์เอสวีในเด็กส่วนใหญ่จะค่อนข้างมีอาการไม่รุนแรงมากและหายได้เอง โดยมีรูปแบบการติดเชื้อเป็นอาการติดเชื้อในระบบหายใจส่วนบน ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ ไข้ต่ำ[5][11] เมื่อตรวจร่างกายอาจพบเยื่อจมูกอักเสบ คออักเสบ และตาแดงได้[12] ผู้ป่วยเด็ก 15-50 % จะมีอาการที่รุนแรงกว่า คือมีการติดเชื้อในระบบหายใจส่วนล่าง เช่น หลอดลมฝอยอักเสบ ปอดอักเสบ กล่องเสียงอักเสบอุดกั้น ฯลฯ[10][13] โดยเด็กทารกมีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะป่วยรุนแรง[12]
หลอดลมฝอยอักเสบเป็นโรคติดเชื้อระบบหายใจส่วนล่างชนิดหนึ่งซึ่งพบได้บ่อย ผู้ป่วยจะมีการอักเสบและบวมตันที่หลอดลมฝอยในปอด[14] โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสได้หลายชนิด แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือประมาณ 70 % เกิดจากการติดเชื้อไวรัส RSV[5] ผู้ป่วยมักมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลอยู่ 2-4 วัน จากนั้นจึงมีอาการไอ หายใจเสียงดัง หายใจเร็ว และหายใจมีเสียงหวีดที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ[11] ผู้ป่วยทารกที่มีอาการหายใจลำบาก (respiratory distress) จะพบว่ามีรอยบุ๋มขณะหายใจเข้า (retractions) ที่ใต้ชายโครงหรือระหว่างซี่โครง มีเสียงกลั้นคราง (grunting) ขณะหายใจออก และมีปีกจมูกบาน[10] ในระหว่างนี้หากไม่ได้รับอาหารและน้ำอย่างเพียงพออาจเริ่มมีภาวะขาดน้ำร่วมด้วย[11] ผู้ป่วยบางรายจะมีไข้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นไข้ต่ำ ๆ[10] การฟังตรวจปอดอาจได้ยินเสียงกรอบแกรบหรือเสียงหวีด และระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนอาจต่ำลงได้[14]
อาการที่พบในทารกอายุน้อย เช่น น้อยกว่า 6 สัปดาห์ โดยเฉพาะในทารกเกิดก่อนกำหนด อาจเป็นอาการแบบไม่จำเพาะ กล่าวคืออาจไม่มีอาการทางระบบหายใจโดดเด่นนัก ทารกที่ป่วยอาจมีอาการซึม ร้องกวน กินได้น้อย หรือหายใจลำบากได้บ้าง โดยเฉพาะการหยุดหายใจชั่วขณะ[5][15]
ผู้ใหญ่สามารถติดเชื้ออาร์เอสวีได้หลายครั้ง การติดเชื้อซ้ำมักทำให้มีอาการเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง แยกไม่ได้จากโรคหวัดทั่วไปหรือไซนัสอักเสบ[5] หรืออาจไม่มีอาการเลยก็ได้ อาการมักเป็นอยู่เฉพาะในระบบหายใจส่วนบน ได้แก่ น้ำมูกไหล เจ็บคอ มีไข้ อ่อนเพลีย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการคัดจมูกนำมาก่อนที่จะมีอาการไอ[12] สิ่งที่แตกต่างจากการติดเชื้อระบบหายใจส่วนบนที่เกิดจากเชื้ออื่น ๆ ก็คือผู้ป่วยที่ติดเชื้ออาร์เอสวีมีโอกาสทำให้เกิดมีอาการหายใจเสียงหวีดเป็นครั้งแรกในผู้ใหญ่ที่ไม่เคยมีอาการนี้มาก่อนได้มากกว่าการติดเชื้ออื่น[12] ผู้ป่วยเพียง 25 % เท่านั้นที่จะมีอาการลุกลามจนกลายเป็นการติดเชื้อในระบบหายใจส่วนตัว เช่น หลอดลมอักเสบ หรือท่อลมและหลอดลมอักเสบ[10]
ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีโดยทั่วไปแล้วจะมีโอกาสป่วยรุนแรงจากการติดเชื้ออาร์เอสวีน้อยมาก แต่ในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ที่มีโรคปอดหรือโรคหัวใจ อาจป่วยรุนแรงหรืออาจเสียชีวิตจากการติดเชื้ออาร์เอสวีได้ อาการของผู้สูงอายุจะคล้ายคลึงกับที่พบในผู้ใหญ่อายุน้อย แต่จะมีความรุนแรงมากกว่า และมีโอกาสเกิดการติดเชื้อระบบหายใจส่วนล่างได้มากกว่า กล่าวคือมีโอกาสเกิดปอดบวม การหายใจลำบาก และเสียชีวิต ได้มากกว่า[12]
เด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปที่จะเกิดอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อไวรัส RSV นั่นคือมีโอกาสเกิดการติดเชื้อระบบหายใจส่วนล่างมากขึ้น มีช่วงเวลาของการปล่อยเชื้อไวรัสออกจากร่างกายนานขึ้น[16] ความรุนแรงของอาการขึ้นกับความรุนแรงของระดับการกดภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยที่ผ่านการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ยาเคมีบำบัดบางขนาน และการปลูกถ่ายปอด จะมีโอกาสเกิดโรครุนแรงมากเป็นพิเศษ[17][12] ผู้ป่วยที่รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจะมีโอกาสเสี่ยงมากที่สุดในขณะที่เพิ่งเข้ารับการปลูกถ่ายและเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดยังไม่เข้ากันดีกับร่างกาย โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่อติดเชื้อไวรัส RSV แล้วจะมีโอกาสเกิดปอดอักเสบและเสียชีวิตสูงถึง 80 %[12][18]
กลุ่มประชากร | ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไวรัส RSV |
---|---|
เด็ก | ภาวะแทรกซ้อนระยะสั้นของผู้ป่วยเด็กที่มีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ได้แก่:[5]
ภาวะแทรกซ้อนระยะยาว ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะเหล่านี้และอาจคงอยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่ได้ ได้แก่: |
ผู้ใหญ่ | ภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้จะพบได้บ่อยกว่าในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยโรคปอดหรือโรคหัวใจเรื้อรัง
|
ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง | ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องบางกลุ่มจะมีความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่างเพิ่มเติม ได้แก่ |
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อไวรัส RSV ในระบบหายใจส่วนล่างที่รุนแรงจะแตกต่างกันไปในแต่ละอายุ
กลุ่มประชากร | ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อในระบบหายใจส่วนล่างเมื่อติดเชื้อไวรัส RSV |
---|---|
เด็ก[21] | การคลอดก่อนกำหนด
ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย เพศชาย มีพี่ มารดาสูบบุหรี่ตอนตั้งครรภ์ มีประวัติภูมิแพ้ ไม่ได้กินนมแม่ ที่อยู่อาศัยแออัด โรคหัวใจหรือโรคปอดแต่กำเนิด |
ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ[5] | อายุมากกว่า 65 ปี
โรคหัวใจหรือโรคปอดเรื้อรัง (โดยเฉพาะโรคปอดอักเสบอุดกั้น) มีความพิการ อาศัยในสถานฟื้นฟู |
ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง[16][22] | ลิมโฟซัยต์ต่ำ
ภาวะอวัยวะปลูกถ่ายต่อต้านร่างกาย ผู้ป่วยที่ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ หรือยาเคมีบำบัดสูตรที่มีการกดไขกระดูก ผู้ป่วยที่เข้ารับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดมาไม่นาน |
RSV เป็นไวรัส RNA สายเดี่ยว เซนส์ลบ (negative-sense)[3] มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Human Orthopneumovirus และมีความหมายเดียวกันกับ Human Respiratory Syncytial Virus (hRSV) ซึ่งนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า RSV ดังที่ใช้ในบทความนี้[23] ไวรัสสปีชีส์นี้อยู่ในจีนัส Orthopneumovirus, แฟมิลี Pneumoviridae, ออร์เดอร์ Mononegavirales[3] ที่มาของชื่อ RSV มาจากการที่ผิวไวรัสมีโปรตีนชื่อว่า F protein ซึ่งจะทำให้เซลล์ที่ติดเชื้อหลอมรวมกับเซลล์ข้างเคียง กลายเป็นมวลเซลล์รวมมีหลายนิวเคลียสอยู่ภายใน[12]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
จีโนมของ RSV เป็น RNA สายเดี่ยว เซนส์ลบ[3] จีโนมทั้งหมดอยู่บนสาย RNA สายเดียวซึ่งมีความยาวประมาณ 15,000 นิวคลีโอไทด์[12] ต่างจากจีโนมของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่แยกออกเป็นท่อน ๆ ทำให้ RSV ไม่เกิดการเข้าชุดยีนใหม่จนเกิดเป็นการเลื่อนแอนติเจนได้ และเกิดการระบาดทั่วได้ยาก[5] เชื้อนี้มียีนทั้งหมด 10 ยีน ถอดรหัสออกมาเป็นโปรตีนได้ 11 ชนิด[5][3] ลำดับของยีนคือ NS1-NS2-N-P-M-SH-G-F-M2-L โดย NS1 และ NS2 เป็นยีนโปรโมเตอร์ ไม่ได้มีหน้าที่เป็นโครงสร้างของไวรัส[24]
RSV เป็นไวรัสขนาดเล็ก (ประมาณ 150 นาโนเมตร) มีเปลือกหุ้ม ตัวไวรัสส่วนใหญ่มีรูปร่างเป็นทรงกลม แต่ชนิดที่เป็นเส้นก็มีพบเช่นกัน[3][12] จีโนมของไวรัสจะอยู่ในนิวคลีโอแคปซิดซึ่งมีรูปร่างเป็นเกลียว ล้อมรอบด้วยโปรตีนเมทริกซ์และเปลือกหุ้มที่ทำจากกลัยโคโปรตีนของไวรัส[25] โปรตีนส่วนประกอบของไวรัสนี้มีทั้งหมด 11 ชนิด ตามตารางต่อไปนี้
ตำแหน่งในตัวไวรัส | โปรตีน | ชื่ออื่น | หน้าที่ | ข้อมูลเพิ่มเติม |
---|---|---|---|---|
Lipid envelope (transmembrane surface proteins) | G | Glycoprotein | ช่วยให้ตัวไวรัสยึดติดกับเซลล์ที่มีซิเลียบนทางหายใจของผู้ป่วย | F and G glycoproteins are the two major surface proteins that control viral attachment and the initial stages of infection. F and G proteins are also the primary targets for neutralizing antibodies during natural infection. |
F | Fusion protein | หลอมรวมเยื่อหุ้มเซลล์ของไวรัสและเซลล์ร่างกายและสร้างมวลเซลล์รวม | ||
SH | Small hydrophobic protein | เป็น viroporin และไอออนแชนเนล | Participates in cell fusion, but no known neutralizing epitope | |
Inner envelope face | M | Matrix protein | เป็นส่วนประกอบของตัวไวรัส | |
Ribonucleocapsid | N | Nuceloprotein | RNA-binding | Involved in genome transcription, RNA replication, and particle budding |
P | Phosphoprotein | Phosphorylation | ||
L | "Large" protein | RNA-dependent RNA polymerase | ||
M2-1 | - | Transcription processivity factor | ||
Regulatory | M2-2 | - | Regulation of transcription / RNA replication | |
Nonstructural | NS-1 | - | Involved in evasion of the innate immune system | Act by inhibiting apoptosis & inhibiting Type I IFN signaling |
NS-2 | - |
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
โปรตีน G (glycoprotein) อยู่บนผิวเซลล์ มีบทบาทสำคัญในการทำให้ตัวไวรัสสามารถยึดติดกับเซลล์ผู้ป่วยได้[26] โปรตีนนี้มีลักษณะแตกต่างกันได้หลายแบบขึ้นกับสายพันธุ์ของเชื้อ[18] พบได้ทั้งแบบยึดติดกับเยื่อหุ้มเซลล์ (membrane-bound form) และแบบที่ถูกหลั่งออกมา (secreted form)[12][26] โดยแบบที่ยึดติดกับเยื่อหุ้มเซลล์จะทำหน้าที่ยึดติดกับสารกลุ่มกลัยโคซามิโนกลัยแคน (GAGs) เช่นเฮพาแรนซัลเฟตบนผิวของเซลล์ผู้ป่วย[12][5][3] ส่วนแบบที่ถูกหลั่งออกมาทำหน้าที่เป็นตัวหลอกให้เซลล์เสนอแอนติเจนของร่างกายมาพบเพื่อยับยั้งการป้องกันแบบอาศัยแอนติบอดี[12][26]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
เมื่อผนังหุ้มของไวรัสหลอมรวมเข้ากับเยื่อหุ้มเซลล์แล้ว นิวคลีโอแคปซิดของไวรัส (ซึ่งมีจีโนมของไวรัสอยู่ภายใน) และเอนไซม์โพลีเมอเรสของไวรัสจะถูกส่งเข้าไปในซัยโตพลาสซึมของเซลล์ที่ติดเชื้อ การถอดรหัสและการแปลรหัสพันธุกรรมของไวรัสจะเกิดขึ้นในซัยโตพลาสซึมของเซลล์ที่ติดเชื้อนี้เอง เอนไซม์อาร์เอ็นเอโพลีเมอเรสแบบอาศัยอาร์เอ็นเอ (RNA-dependent RNA polymerase) จะถอดรหัสจีโนมของไวรัสออกมาเป็นเอ็มอาร์เอ็นเอ 10 ชิ้น ซึ่งต่อมาจะถูกแปลรหัสโดยโปรตีนกลไกของเซลล์ที่ติดเชื้อเพื่อสร้างออกมาเป็นโปรตีนโครงสร้างของไวรัส ในระหว่างที่กำลังมีการสร้างจีโนมของไวรัสซึ่งเป็นเซนส์ลบนั้น เอนไซม์อาร์เอ็นเอโพลีเมอเรสแบบอาศัยอาร์เอ็นเอจะสังเคราะห์คู่สมที่เป็นเซนส์บวกของจีโนมออกมา เรียกว่า แอนไทจีโนม (antigenome) สายคู่สมนี้จะถูกใช้เป็นแม่แบบในการสร้างอาร์เอ็นเอเซนส์ลบซึ่งเป็นจีโนมตามปกติของไวรัส ซึ่งจะถูกห่อหุ้มด้วยนิวคลีโอแคปซิด ส่งต่อไปสู่เยื่อหุ้มเซลล์เพื่อประกอบกับโปรตีนและแยกตัวเป็นตัวไวรัสตัวใหม่ต่อไป[25]
ไวรัส RSV ติดต่อจากคนสู่คนได้ง่ายมากและทำให้เกิดการระบาดเป็นหย่อม ๆ ในโรงพยาบาลหรือในชุมชนได้บ่อยครั้ง[12] ผู้ป่วยแต่ละคนจะส่งต่อโรคไปยังผู้ป่วยรายใหม่ได้ 5-25 คน โดยเฉลี่ย[27] เชื้อนี้ติดต่อผ่านฝอยละอองจากการไอหรือการจาม เมื่อฝอยละอองที่มีเชื้อเหล่านี้เข้าไปถึงยา จมูก หรือปากของคนอื่น จะสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นได้[28] เชื้อไวรัส RSV สามารถคงอยู่บนผิวหนังที่ปนเปื้อน (เช่น บนมือ) ได้เป็นเวลานานที่สุดถึง 25 นาที และอยู่บนผิววัตถุอื่น ๆ (เช่น บนโต๊ะ หรือลูกบิดประตู) ได้หลายชั่วโมง[12][27] เมื่อได้รับเชื้อแล้วผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเมื่อเวลาผ่านไป 2-8 วัน[12] ผู้ป่วยจะมีระยะติดต่อที่สามารถส่งต่อเชื้อไปยังผู้อื่นได้อยู่ 3-8 วัน แต่ในทารกหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ช่วงเวลาของการส่งต่อเชื้ออาจนานได้สูงสุดถึง 4 สัปดาห์ (แม้จะไม่มีอาการแล้วก็ตาม)[28]
การติดเชื้อไวรัส RSV จะเกิดขึ้นที่เซลล์เยื่อบุแบบคอลัมน์ชนิดมีซิเลีย (ciliated columnar epithelium) ของระบบหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง[12] ไวรัสจะเพิ่มจำนวนอยู่ในเซลล์เหล่านี้เป็นเวลาประมาณ 8 วัน[3] เมื่อเวลาผ่านไปเซลล์ที่ติดเชื้อจะมีรูปร่างเปลี่ยนเป็นรูปกลม และหลุดออกมาอยู่ในหลอดลมฝอย[3] การหลุดออกนี้เชื่อว่าเป็นหนึ่งในกลไกที่ทำให้เกิดการลุกลามของเชื้อจากระบบหายใจส่วนบนมายังระบบหายใจส่วนล่าง[3]
มีเทคนิกการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่สามารถช่วยวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัส RSV ได้หลายวิธี แม้สถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน (เอเอพี) จะไม่แนะนำให้ใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการในการวินิจฉัยภาวะหลอดลมฝอยอักเสบจากอาร์เอสวีเป็นประจำในผู้ป่วยทุกราย เนื่องจากการรักษาเป็นการรักษาตามอาการ[6] แต่การตรวจยืนยันการติดเชื้ออาร์เอสวีก็ยังมีประโยชน์อยู่ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ผลการตรวจจะถูกนำไปประกอบการตัดสินใจในการเลือกแนวทางการรักษา วิธีตรวจที่ใช้กันอยู่ทั่วไปได้แก่ การตรวจแอนติเจน การตรวจพันธุกรรม และการเพาะเชื้อไวรัส[12]
การตรวจแอนติเจนคือการตรวจหาชิ้นส่วนแอนติเจนของไวรัส RSV ซึ่งเป็นชิ้นส่วนโครงสร้างของตัวไวรัส จากสิ่งส่งตรวจซึ่งอาจได้จากการป้ายคอหอยหรือการดูดเสมหะ อาจใช้เทคนิกการส่องตรวจการเรืองแสงฟลูออเรสเซนส์โดยตรง (DFA) โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ หรือใช้ชุดตรวจแอนติเจนแบบรวดเร็ว (RADT) ที่ทำขายเชิงพาณิชย์ก็ได้[12] วิธีตรวจเหล่านี้โดยทั่วไปแล้วจะมีความไวสูงเมื่อใช้ตรวจกับผู้ป่วยเด็ก (80-90 %) แต่จะมีความน่าเชื่อถือต่ำลงมากหากใช้ตรวจกับเด็กโตหรือผู้ใหญ่ซึ่งจะปล่อยเชื้อไวรัสออกมาให้ตรวจได้น้อยกว่า[12] นอกจากนี้แล้วหากนำชุดตรวจเหล่านี้ไปตรวจนอกฤดูการระบาดยังอาจให้ผลบวกลวงได้มาก
การตรวจหาพันธุกรรมของไวรัสด้วยการเพิ่มจำนวนกรดนิวคลิอิก (nucleic acid amplicitation test, NAAT) เป็นวิธีที่ทำให้สามารถตรวจหาไวรัสปริมาณน้อยในสิ่งส่งตรวจที่ได้จากการป้ายโพรงจมูกหรือการดูดเสมหะได้ วิธีการเหล่านี้ เช่น การทำพีซีอาร์สามารถตรวจสารพันธุกรรมที่มีความจำเพาะต่อไวรัสได้ ซึ่งต่างจากการตรวจชิ้นส่วนแอนติเจน วิธีนี้มีความไวและความจำเพาะสูงเกือบ 100 %[30] อย่างไรก็ดีมักมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าและต้องการเครื่องมือที่ซับซ้อนกว่าการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ ทำให้ใช้จริงได้ยากในพื้นที่ที่มีทรัพยากรจำกัด
การเพาะเชื้อไวรัสด้วยวิธีปกติทำได้โดยนำไวรัสเข้าไปยังสายพันธุ์เซลล์มาตรฐานแล้วปล่อยให้ไวรัสเพิ่มจำนวนเพื่อนำไปตรวจ ขอดีของวิธีนี้คือสามารถจำแนกประเภททางพันธุกรรมของไวรัสได้ จำแนกชนิดย่อย (strain) ได้ และตรวจความไวต่อยาต้านไวรัสได้ อย่างไรก็ดีข้อเสียคือใช้เวลาทำนาน คือต้องใช้เวลา 3-7 วันในการเพาะเชื้อไวรัส ทำให้มีที่ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยน้อย ส่วนใหญ่จะใช้ประกอบการศึกษาวิจัยมากกว่า[12]
ไม่ค่อยมีการใช้การตรวจภูมิคุ้มกันในเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัส RSVมากนัก เนื่องจากร่างกายต้องใช้เวลาระยะหนึ่งก่อนที่จะสร้างสารภูมิคุ้มกันในเลือดขึ้นให้มากพอที่จะตรวจได้ ระยะเวลานี้นานเกินกว่าที่จะสามารถนำผลตรวจไปใช้ประกอบการรักษาได้[3] ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส RSV ประมาณ 30 % จะมีผลตรวจภูมิคุ้มกันเป็นลบ[30] ดังนั้นวิธีตรวจนี้จึงยังมีที่ใช้แค่เพียงในการศึกษาวิจัยและการศึกษาเพื่อเฝ้าระวังโรคเท่านั้น[3]
การถ่ายภาพรังสีทรวงอกในผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคหลอดลมฝอยอักเสบจากไวรัส RSV มักมีลักษณะที่ไม่จำเพาะ ลักษณะเหล่านี้ เช่น รอยโรคที่ขั้วปอด รอยปื้นในเนื้อปอด ลมคั่งในปอด และปอดแฟบบางส่วน เป็นต้น[11] อย่างไรก็ดี สถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน (เอเอพี) ไม่แนะนำให้ส่งตรวจถ่ายภาพรังสีทรวงอกในผู้ป่วยเด็กที่สงสัยเป็นโรคหลอดลมฝอยอักเสบจากไวรัส RSV เป็นประจำ เนื่องจากผลที่ได้ไม่เปลี่ยนแปลงผลการรักษา และมักเพิ่มการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น[11][6] การถ่ายภาพรังสีทรวงอกอาจมีประโยชน์ในกรณีที่อาการไม่ชัดเจนว่าเป็นโรคหลอดลมฝอยอักเสบ หรือผู้ป่วยมีอาการทรุดลงโดยไม่ได้คาดไว้ก่อน[6] การถ่ายภาพรังสีทรวงอกในผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัส RSV มักให้ผลปกติหรือมีลักษณะแบบไม่จำเพาะที่เข้าได้กับปอดบวมไวรัส เช่น การมีปื้นฝ้าขาวที่ปอดทั้งสองข้าง ฯลฯ[31]
การวินิจฉัยแยกโรคในผู้ป่วยที่มีอาการและอาการแสดงของการติดเชื้อระบบหายใจไม่ว่าจะส่วนบนหรือส่วนล่างประกอบด้วย การติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ (เช่น ไรโนไวรัส เมตานิวโมไวรัส และไวรัสไข้หวัดใหญ่) และปอดบวมแบคทีเรีย ภาวะอื่นที่ต้องนึกถึงในผู้ป่วยเด็ก ได้แก่ การสูดสำลักสิ่งแปลกปลอม โรคที่เป็นแต่กำเนิดบางโรค (เช่น ซิสติกไฟโบรซิส หรือโรคหืด) เป็นต้น[12]
วิธีหลักในการป้องกันโรคคือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย การล้างมืออย่างถูกต้องจะช่วยลดการแพร่กระจายของโรคในชุมชนหรือในสถานรับเลี้ยงได้ ในสถานพยาบาลการปฏิบัติตามมาตรการการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัดจะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อไวรัส RSV ไปยังผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูงได้ น้ำยาล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ใช้ได้ผลดีในการฆ่าเชื้อที่มือ[6]
ถึงแม้ว่าการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัส RSV ด้วยวัคซีนจะยังอยู่ระหว่างการพัฒนา แต่การให้สารภูมิคุ้มกันต่อไวรัส RSV เพื่อทำให้เกิดภูมิคุ้มกันแบบรับมาก็ทำได้แล้วในปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายหลัก ๆ คือเพื่อให้การป้องกันแก่ทารกที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรครุนแรงเมื่อติดเชื้อไวรัส RSV แต่เดิมการให้สารภูมิคุ้มกันนี้ทำได้โดยการให้อิมมูโนโกลบูลินทางหลอดเลือดดำโดยใช้อิมมูโนโกลบูลินที่จำเพาะต่อไวรัส RSV วิธีการนี้ทำได้โดยแยกเอาแอนติบอดีต่อไวรัส RSV จากเลือดของผู้บริจาคที่เคยป่วยติดเชื้อไวรัสนี้มาก่อนแล้ว แล้วนำมาให้กับผู้รับเป็นรายเดือน วิธีการนี้ได้ผลดีพอสมควร สามารถทำให้ผู้รับมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัส RSV ได้ชั่วคราว แต่ยังมีข้อจำกัดเนื่องจากวิธีการให้ที่ต้องให้ทางหลอดเลือดดำ และราคาที่ยังสูง[32]
ปัจจุบันการใช้สารภูมิคุ้มกันแบบโมโนโคลน (monoclonal antibody, MAb) ซึ่งสามารถให้ด้วยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อได้เข้ามาแทนที่การใช้ IVIG ต่อไวรัส RSV แบบดั้งเดิม มีสารภูมิคุ้มกันแบบโมโนโคลนหลายชนิดที่ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV แต่พาลิวิซูแม็บ (ชื่อการค้า ซีนาจิส) เป็นตัวที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด พาลิวิซูแม็บเป็นสารภูมิคุ้มกันแบบโมโนโคลนที่จำเพาะต่อโปรตีน F ที่ผิวของไวรัส RSV ยานี้ได้รับอนุญาตให้จดสิทธิบัตรเมื่อ ค.ศ. 1998 และมีผลป้องกันไวรัส RSV ทั้งชนิดเอและชนิดบีได้ชั่วคราว วิธีให้ยานี้ทำได้โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อเดือนละครั้ง โดยมักเริ่มให้ก่อนเข้าฤดูการระบาดของไวรัส RSV และมักให้ต่อเนื่องกันเป็นเวลาห้าเดือน มีหลักฐานว่ายานี้ลดอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและลดอัตราตายรวมทุกสาเหตุได้ในเด็กกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กที่ป่วยโรคปอดเรื้องรัง โรคหัวใจแต่กำเนิด และเด็กเกิดก่อนกำหนด[27][33] ยานี้ยังมีราคาแพง การใช้ในบางประเทศจึงยังมีข้อจำกัดอยู่ มีการพัฒนายารุ่นที่มีความแรงมากกว่านี้อยู่ เช่น โมทาวิซูแม็บ แต่ก็มีผลข้างเคียงมากกว่า[34]
สถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน (เอเอพี) ออกคำแนะนำเมื่อ ค.ศ. 2014 ว่าด้วยการให้ยาพาลิวิซูแม็บในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ในช่วงที่มีการระบาด โดยแนะนำให้ผู้ป่วยดังต่อไปนี้ควรได้รับยาเพื่อป้องกันโรค[6]
นอกจากนี้แล้ว เอเอพียังแนะนำว่าอาจพิจารณาใช้ยาป้องกันในทารกกลุ่มที่มีโรคต่อไปนี้อีกด้วย[6]
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนตัวใดผ่านการรับรองว่าสามารถใช้ป้องกันไวรัส RSV ได้ ทั้งนี้เนื่องจากผลกระทบจากการติดเชื้อไวรัสนี้มีความรุนแรง และยังไม่มีวิธีรักษาจำเพาะ ทำให้มีความสนใจที่จะวิจัยและพัฒนาวัคซีนนี้ให้สำเร็จอย่างมาก ถึงกระนั้นก็ยังมีอุปสรรคที่ขัดขวางอยู่ เช่น ปัจจัยขัดขวางที่เป็นผลมาจากฝั่งทารก ทั้งระบบภูมิคุ้มกันที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ และการมีแอนติบอดีที่ได้รับจากมารดาอยู่ในตัว ต่างมีผลให้การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนทารกเป็นไปได้อย่างยากลำบาก[12]
ความพยายามในการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัส RSV มีขึ้นตั้งแต่ช่วงคริสตทศวรรษ 1960s โดยมีการพัฒนาวัคซีนจากเชื้อไวรัสที่ถูกทำให้หมดสภาพด้วยฟอร์มาลีนเพื่อนำมาใช้ในทารกและเด็กเล็ก วิธีการนี้เคยถูกนำมาใช้เป็นผลสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนโปลิโอ แต่เมื่อนำวิธีการเดียวกันนี้มาใช้ผลิตวัคซีนอาร์เอสวีกลับทำให้เกิดโรคระบบหายใจที่ถูกทำให้รุนแรงขึ้นโดยวัคซีน (vaccine-associated enhanced respiratory disease, VAERD) โดยทารกที่ได้รับวัคซีนเมื่อติดเชื้อจะมีอาการทางระบบหายใจที่รุนแรงกว่าทารกที่ไม่ได้รับวัคซีนอย่างมาก ผู้ป่วยราว 80 % มีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (ต่างจากในกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนซึ่งมีเพียง 5 %) และมีผู้ป่วยเสียชีวิตไปสองราย เหตุการณ์นี้ทำให้การพัฒนาวัคซีนในระยะต่อมามีมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างล่าช้าต่อเนื่องมาหลายปี[12][32]
การวิจัยเพื่อผลิตวัคซีนไวรัส RSV มีความก้าวหน้าไปตามลำดับ โดยรายงานเมื่อ ค.ศ. 2019 พบว่ามีวัคซีนที่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยในระยะต่าง ๆ รวมแล้วกว่า 30 ชนิด[7] และคาดการณ์ไว้ว่าจะมีวัคซีนป้องกันไวรัส RSV ออกใช้ได้ภายใน 10 ปี[7] วัคซีนที่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทหลัก ๆ คือ วัคซีนเชื้อเป็น วัคซีนโปรตีนซับยูนิต วัคซีนอาศัยเวคเตอร์ และวัคซีนพาร์ติเคิล วัคซีนแต่ละชนิดมีเป้าหมายของกระตุ้นการตอบสนองทางระบบภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกันไป ดังนั้นอาจจะเหมาะสมกับกลุ่มผู้รับวัคซีนคนละกลุ่มกัน วัคซีนเชื้อเป็นชนิดหนึ่งพบว่าได้ผลระดับหนึ่งในทารกที่ไม่เคยป่วยติดไวรัส RSV มาก่อน ส่วนอีกชนิดหนึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์ในกลุ่มอื่น ๆ เช่น หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้สูงอายุ[12][7]
สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาการติดเชื้ออาร์เอสวีคือการรักษาตามอาการ ประกอบด้วยการเฝ้าสังเกตการหายใจของผู้ป่วย การระบายเสมหะจากระบบหายใจส่วนบน การให้ออกซิเจน (อาจให้ผ่านสายให้ออกซิเจนทางจมูกหรือผ่านหน้ากาก) และในกรณีที่มีการหายใจล้มเหลวอาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อต่อกับเครื่องช่วยหายใจ หากมีอาการขาดน้ำอาจต้องให้สารน้ำเพิ่มเติมผ่านการกินหรือให้ทางหลอดเลือดดำ[32]
ในทารกที่เป็นโรคหลอดลมฝอยอักเสบอาจต้องได้รับการรักษาประคับประคองเพิ่มเติม ได้แก่
ยาขยายหลอดลมเป็นยาที่ใช้บ่อยในการรักษาผู้ป่วยโรคหืด และบางครั้งสามารถนำมาใช้รักษาอาการหายใจมีเสียงหวีดที่พบในผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส RSV ได้ ยาเหล่านี้ เช่น อัลบูเทอรอล (หรือซัลบูทามอล) เป็นยากระตุ้นตัวรับเบต้า ช่วยคลายกล้ามเนื้อของทางหายใจที่ตีบตัน ทำให้อากาศไหลผ่านได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าการใช้ยาขยายหลอดลมกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส RSV จะช่วยลดความรุนแรงทางคลินิกหรือช่วยลดอัตราการนอนโรงพยาบาล นอกจากนี้ยานี้ - เช่นเดียวกันยาอื่น ๆ - ก็มีผลข้างเคียง จึงยังไม่แนะนำให้ใช้เป็นประจำในผู้ป่วยโรคหลอดลมฝอยอักเสบจากไวรัส RSV ทุกคน[40][32]
การใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคหลอดลมฝอยอักเสบหรือปอดอักเสบจากไวรัส RSV ถือเป็นการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม[42] ทั้งนี้เพราะยาปฏิชีวนะจะใช้ได้ผลกับเชื้อก่อโรคที่เป็นแบคทีเรีย ไม่ใช่เชื้อก่อโรคที่เป็นไวรัส อย่างไรก็ดี การใช้ยาปฏิชีวนะอาจมีประโยชน์ในกรณีที่มีหลักฐานว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ทารกบางรายที่ป่วยโรคหลอดลมฝอยอักเสบจากไวรัส RSV อาจมีภาวะแทรกซ้อนเป็นหูชั้นกลางอักเสบ ซึ่งอาจรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ[32]
ทั่วโลกพบว่าไวรัส RSV เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่ทำให้เกิดหลอดลมฝอยอักเสบและปอดบวมในทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือนมีความเสี่ยงสูงที่สุดที่จะเกิดโรครุนแรง เด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV 2-3 % จะเกิดอาการหลอดลมฝอยอักเสบ ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล[43] ไวรัส RSV ทำให้มีเด็กเจ็บป่วยระบบหายใจแบบเฉียบพลันประมาณ 30 ล้านคนต่อปีทั่วโลก และทำให้เด็กเสียชีวิตปีละมากกว่า 60,000 คน เด็กอายุ 18 เดือนราว 87 % จะเคยป่วยจากการติดเชื้ออาร์เอสวีมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เมื่ออายุ 3 ปี เด็กแทบทุกคนจะเคยติดเชื้อมาแล้ว ในสหรัฐพบว่าไวรัส RSV เป็นสาเหตุของการป่วยติดเชื้อระบบหายใจแบบเฉียบพลันจนต้องนอนโรงพยาบาลของเด็กอายุไม่เกิน 5 ปี ประมาณ 20 % อย่างไรก็ดี เด็กที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส RSV ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและยังขาดแคลนการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน[12]
ฤดูกาลที่จะมีการระบาดของไวรัส RSV จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของโลก ในพื้นที่เขตอบอุ่น (temperature climate) ไวรัส RSV มักระบาดมากที่สุดในช่วงฤดูหนาว โดยเชื่อว่าปัจจัยที่ส่งผลคือการที่ผู้คนอยู่รวมกันในบ้าน และไวรัสมีความคงทนในสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในอุณหภูมิต่ำ ส่วนในเขตร้อนและเขตภูมิอากาศอาร์กติกความรุนแรงของการระบาดในแต่ละฤดูจะไม่แตกต่างกันชัดเจนเท่าที่พบได้ในเขตอบอุ่น แต่พบว่าจะมีผู้ป่วยมากขึ้นในฤดูฝน[12][3] การระบาดประจำปีมักไม่ได้เกิดจากไวรัสสายพันธุ์เดียว โดยมักพบว่ามีทั้งสายพันธุ์เอและสายพันธุ์บีระบาดพร้อม ๆ กัน แต่มักพบเป็นสายพันธุ์เอมากกว่า[18]
ไวรัส RSVถูกค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1956 โดยมอร์ริส, เบลานท์, และซาเวจ ซึ่งสามารถแยกเชื้อไวรัสนี้ได้จากลิงชิมแปนซีกลุ่มหนึ่งที่ป่วยโรคระบบหายใจ ในตอนนั้นพวกเขาได้ตั้งชื่อไวรัสนี้ว่าซีซีเอ (Chimpanzee Coryza Agent, CCA)[44] ต่อมาจึงพบว่าชิมแปนซีเหล่านี้ติดเชื้อมาจากผู้ดูแล ต่อมาเมื่อ ค.ศ. 1957 ไวรัสเดียวกันนี้ถูกค้นพบอีกครั้งโดยโรเบิร์ต เอ็ม ชาน็อค ในผู้ป่วยเด็กที่มีอาการระบบหายใจ[45] การศึกษาวิจัยแอนติบอดีในทารกและเด็กเล็กทำให้พบว่าการติดเชื้อไวรัสนี้พบได้บ่อยในเด็ก[46] ต่อมาไวรัสนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นฮิวแมนอาร์เอสวี (hRSV, "อาร์เอสวีในมนุษย์") หรือออร์โธนิวโมไวรัส[47]
ยังมีเชื้อไวรัสในกลุ่มออร์โธนิวโมไวรัสอื่น ๆ อีกหลายชนิดที่มีความคล้ายคลึงกับไวรัส RSV ในมนุษย์ ที่สำคัญที่สุดชนิดหนึ่งคือไวรัส RSV ในวัว (bovine RSV, bRSV) ซึ่งมีจีโนมเหมือนกันกับไวรัส RSV ในมนุษย์ถึง 80 % อีกอย่างที่เหมือนกันคือมักทำให้เกิดโรคร้ายแรงในลูกวัวอายุน้อยกว่า 6 เดือน การที่ไวรัส RSV ในวัวทำให้เกิดโรคในลูกวัวและมีอาการคล้ายคลึงกับการติดไวรัส RSV ในมนุษย์อย่างมากทำให้ไวรัสนี้เป็นตัวแบบของการติดเชื้อในสัตว์ที่มีประโยชน์อย่างมากในการศึกษาไวรัส RSV เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้กับมนุษย์[10]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.