Remove ads
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เวสาลี หรือ ไวศาลี (อักษรโรมัน: Vaishali; ฮินดี: वैशाली) เป็นนครที่ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งโบราณคดีอยู่ในรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย โดยเป็นเมืองหลักของวัชชีแห่งมหาชนบท ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างแรกของสาธารณรัฐประมาณศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสต์ศักราช พระโคตมพุทธเจ้าให้โอวาทครั้งสุดท้ายก่อนปรินิพพานใน ป. 483 ปีก่อนคริสต์ศักราช จากนั้นใน 383 ปีก่อนคริสต์ศักราช พระเจ้ากลาโศกจัดการสังคายนาครั้งที่สองขึ้นที่นี้ ทำให้เวสาลีกลายเป็นสถานที่สำคัญทั้งในศาสนาเชนกับศาสนาพุทธ[1][2] เมืองนี้ยังเป็นที่ตั้งของหนึ่งในเสาอโศกที่เก็บรักษาไว้ดีที่สุด บนเสามีสิงโตอินเดียตัวเดียว
เวสาลีอาจเป็นที่ตั้งของสถูปตัวอย่างแรกสุด นั่นคือ พระธาตุเจดีย์ที่กล่าวกันว่าบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ในนั้น[3][4]
นครนี้ได้รับการกล่าวถึงในบันทึกการเดินทางของฝาเสี่ยน (คริสตศตวรรษที่ 4) กับพระถังซัมจั๋ง (คริสต์ศตวรรษที่ 7) นักสำรวจชาวจีน ซึ่งภายหลังอเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม นักโบราณคดีชาวอังกฤษใน ค.ศ. 1861 เป็นบุคคลแรกที่ระบุที่ตั้งของเวสาลีว่าอยู่ในหมู่บ้านบสาร์ทในอำเภอเวสาลี รัฐพิหาร[5][6]
เวสาลีมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล โดยเป็นเมืองหลวงแห่งแคว้นที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากแคว้นหนึ่งในบรรดา 16 แคว้นของชมพูทวีป มีการปกครองด้วยระบบสามัคคีธรรมหรือคณาธิปไตย ที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบหนึ่ง คือไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขทรงอำนาจสิทธิ์ขาด มีแต่ผู้เป็นประมุขแห่งรัฐซึ่งบริหารงานโดยความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งจะประกอบไปด้วยเหล่าสมาชิกจากเจ้าวงศ์ต่าง ๆ วึ่งรวมเป็นคณะผู้ครองแคว้น ในคัมภีร์พระพุทธศาสนากล่าวว่าเจ้าวงศ์ต่าง ๆ มีถึง 8 วงศ์ และในจำนวนนี้วงศ์เจ้าลิจฉวีแห่งเวสาลีและวงศ์เจ้าวิเทหะแห่งเมืองมิถิลาเป็นวงศ์ที่มีอิทธิพลที่สุดในสมัยพุทธกาล
ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาที่เวสาลีหลายครั้ง แต่ละครั้งจะทรงประทับที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวันเป็นส่วนใหญ่ พระสูตรหลายพระสูตรเกิดขึ้นที่เมืองแห่งนี้ และที่กูฏาคารศาลานี่เอง ที่เป็นที่ ๆ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี พระน้านางของพระพุทธองค์ พร้อมกับบริวาร สามารถอุปสมบทเป็นภิกษุณีได้เป็นครั้งแรกในโลก และในการเสด็จครั้งสุดท้ายของพระพุทธองค์ พระองค์ได้ทรงรับสวนมะม่วงของนางอัมพปาลี นางคณิกาประจำเมืองเวสาลี ซึ่งนางได้อุทิศถวายเป็นอารามในพระพุทธศาสนา[8]
พระพุทธองค์ได้ทรงจำพรรษาสุดท้ายที่เวฬุวคาม และได้ทรงปลงอายุสังขารที่ปาวาลเจดีย์ และเมื่อหลังพุทธปรินิพพานแล้วได้ 100 ปี ได้มีการทำสังคายาครั้งที่ 2 ณ วาลิการาม ซึ่งทั้งหมดล้วนอยู่ในเมืองเวสาลี[9]
ในช่วงไม่นานหลังพุทธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เมืองเวสาลีได้ตกไปอยู่ในอำนาจของแคว้นมคธ โดยการนำของพระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์แห่งราชคฤห์ คัมภีร์พระพุทธศาสนากล่าวว่า สาเหตุของการเสียเมืองแก่แคว้นมคธเพราะความแตกสามัคคีของเจ้าวัชชี[10] เพราะการยุยงของวัสสการพราหมณ์[11] พราหมณ์ที่พระเจ้าอชาตศัตรูส่งเป็นไส้สึกเพื่อบ่อนทำลายภายใน เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูยกกองทัพมายึดเมืองจึงสามารถยึดได้โดยง่าย เพราะไม่มีเจ้าวัชชีองค์ใดต่อสู้ เพราะขัดแย้งกันเอง ทำให้แคว้นวัชชีล่มสลายและเมืองเวสาลีหมดฐานะเมืองหลวงแห่งแคว้นและตกไปอยู่ในอำนาจของแคว้นมคธ แต่จากเหตุการณ์ย้ายเมืองหลวงแห่งแคว้นมคธหลายครั้งในช่วง พ.ศ. 70 ที่เริ่มจากอำมาตย์และราษฎรพร้อมใจกันถอดกษัตริย์นาคทัสสก์แห่งราชวงศ์ของพระเจ้าพิมพิสารแห่งราชคฤห์ออกจากพระราชบัลลังก์ และยกสุสูนาคอำมาตย์ซึ่งมีเชื้อสายเจ้าลิจฉวีในกรุงเวสาลีแห่งแคว้นวัชชีเก่า ให้เป็นกษัตริย์ตั้งราชวงศ์ใหม่แล้ว พระเจ้าสุสูนาคจึงได้ทำการย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธไปยังเมืองเวสาลีอันเป็นเมืองเดิมของตน ทำให้เมืองเวสาลีมีความสำคัญในฐานะเมืองหลวงอีกครั้ง แต่ทว่าก็เป็นเมืองหลวงได้ไม่นาน เพราะกษัตริย์พระองค์ต่อมาคือพระเจ้ากาลาโศกราช ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุสูนาค ได้ย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธอีก จากเมืองเวสาลีไปยังเมืองปาตลีบุตร ทำให้เมืองเวสาลีถูกลดความสำคัญลงและถูกทิ้งร้าง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เมืองแห่งนี้ถูกทิ้งร้างอย่างสิ้นเชิงในช่วงพันปีถัดมา[12]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.