Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรคปอดบวม (อังกฤษ: pneumonia) หรือ โรคปอดอักเสบ (อังกฤษ: pneumonitis) เป็นโรคของระบบหายใจอย่างหนึ่งซึ่งมีการอักเสบของปอด โดยเฉพาะของถุงลม ทำให้มีไข้ มีอาการทางปอด มีการสูญเสียของพื้นที่แลกเปลี่ยนก๊าซ ซึ่งเห็นได้จากการเอกซเรย์ปอด[3][14] ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา หรือพยาธิ[15] เชื้อแบคทีเรียชื่อ "นิวโมคอคคัส" (Pneumococcal Disease) เป็นสาเหตุหลัก[16] แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ได้รับสารเคมีหรือการกระทบกระเทือนทางกายภาพก็ได้เช่นกัน[3]
ปอดบวม | |
---|---|
ชื่ออื่น | ปอดอักเสบ |
ภาพเอกซเรย์ปอดแสดงให้เห็นบริเวณของปอดที่กำลังอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นบริเวณสีขาวรูปลิ่มในปอดขวา | |
การออกเสียง |
|
สาขาวิชา | วิทยาปอด, โรคติดเชื้อ |
อาการ | ไอ, อาการหายใจลำบาก , หายใจเร็วกว่าปกติ , fever[1] |
ระยะดำเนินโรค | ไม่กี่สัปดาห์[2] |
สาเหตุ | แบคทีเรีย, ไวรัส, การสูดสำลัก[3][4] |
ปัจจัยเสี่ยง | ซิสติก ไฟโบรซิส, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคหืด, เบาหวาน, ภาวะหัวใจวาย, การสูบบุหรี่, สูงอายุ[5][6][7] |
วิธีวินิจฉัย | วินิจฉัยตามอาการ, การถ่ายภาพรังสีทรวงอก[8] |
โรคอื่นที่คล้ายกัน | ปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคหืด, ปอดบวมน้ำ, หลอดเลือดอุดตันในปอด[9] |
การป้องกัน | วัคซีน, การล้างมือ, ไม่สูบบุหรี่[10] |
ยา | ยาปฏิชีวนะ, ยาต้านไวรัส, oxygen therapy[11][12] |
ความชุก | 450 ล้านคนต่อปี (7%) [12][13] |
การเสียชีวิต | 4 ล้านคนต่อปี [12][13] |
ผู้ป่วยโรคปอดบวมจะมีอาการโดยทั่วไป ได้แก่ ไอ เจ็บหน้าอก มีไข้สูง และหายใจหอบ[17] การวินิจฉัยจะกระทำโดยการถ่ายภาพเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะ ปอดบวมบางชนิดมีวัคซีนป้องกัน ส่วนวิธีการรักษาจะขึ้นกับสาเหตุของโรค เช่น โรคปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรียจะรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ
ในอดีตปอดบวมเป็นโรคที่ร้ายแรงมากจนเคยมีคำกล่าวว่าปอดบวมเป็น "นายของสาเหตุการตายของมนุษย์" (ศตวรรษที่ 19 วิลเลียม ออสเลอร์) แต่หลังจากที่มีการคิดค้นการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะและวัคซีนในศตวรรษที่ 20 ทำให้ผลการรักษาปอดบวมดีขึ้นมาก อย่างไรก็ดีปอดบวมยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยอายุน้อย และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ป่วยในโลกที่สามด้วย[18]
วารสาร แลนเซ็ต ฉบับเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2007 เผยรายงานทีมแพทย์สหรัฐอเมริกาพบว่า วัคซีนไอพีดีที่ฉีดป้องกันโรคปอดอักเสบที่ติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ชื่อว่า นิวโมคอคคัส สามารถช่วยป้องกันโรคปอดอักเสบในเด็กเล็กได้[19] วัคซีนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมี 2 ชนิด คือ วัคซีนนิวโมคอคคัสแบบคอนจูเกต และวัคซีนนิวโมคอคคัสแบบโพลีแซคคาไรด์[16]
ปอดบวมเป็นโรคที่พบได้บ่อยและมีการบันทึกมาตลอดประวัติศาสตร์มนุษย์[20] มีการบรรยายอาการของโรคเอาไว้ตั้งแต่ช่วงหลายร้อยปีก่อนคริสตกาลโดยฮิปโปคราเตส (c. 460 BC - 370 BC)[20] ว่า "สามารถสังเกตเห็นผลที่เกิดกับเนื้อรอบปอดบวมและเยื่อหุ้มปอดได้ อาจมีไข้อย่างเฉียบพลัน มีอาการเจ็บทรวงอกข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง มีอาการไอ มีเสมหะสีเหลืองหรือไม่มีสี หรือพบมีเสมหะเหลว หรือเป็นฟอง หรือมีสีแดง หรือลักษณะอื่น ๆ ที่แตกต่างจากเสมหะปกติ หากเป็นมากเสียแล้วโรคนี้ไม่อาจรักษาได้ จะยิ่งแย่หากมีอาการเหนื่อย ปัสสาวะออกน้อยหรือมีกลิ่นแรง หากมีเหงื่อออกที่ศีรษะหรือที่คอนั้นยิ่งแย่ อาจกำเริบมากขึ้นจนหายใจไม่ออก หายใจมีเสียงกรอบแกรบ แสดงว่าโรคในระยะนั้นเป็นมากจนไม่อาจย้อนกลับได้แล้ว"[21][22] อย่างไรก็ดีแม้ฮิปโปคราเตสก็ยังระบุว่าปอดบวมเป็นโรคที่ "เป็นที่รู้จักมาแต่โบราณ" และยังบรรยายวิธีการระบายหนองออกจากทรวงอกเอาไว้ด้วย ไมโมนิเดส (1134-1204 AD) ได้บรรยายอาการของปอดบวมเอาไว้ว่า "อาการพื้นฐานของผู้ป่วยปอดบวมซึ่งต้องมีเสมอ คือ มีไข้ เจ็บสีข้าง หายใจสั้นเร็ว ชีพจรถี่ และไอ"[23][24] คำบรรยายอาการเช่นนี้คล้ายคลึงกับที่เขียนไว้ในตำราแพทย์สมัยใหม่ และสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาของวิชาแพทย์จากสมัยกลางจนถึงศตวรรษที่ 19
มีการค้นพบแบคทีเรียในทางเดินหายใจของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากปอดบวมใน ค.ศ. 1875 โดยเอดวิน เคลบส์[25] คาร์ล ฟรีดแลนเดอร์ ค้นพบ Streptococcus pneumoniae ใน ค.ศ. 1882[26] และอัลเบิร์ต ฟรานเคล ค้นพบ Klebsiella pneumoniae ใน ค.ศ. 1884[27] การศึกษาวิจัยในช่วงแรกของฟรีดแลนเดอร์เป็นรากฐานของการนำสีย้อมกรัมมาใช้ในการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นวิธีตรวจที่ยังมีการใช้แพร่หลายในปัจจุบัน บทความวิจัยของคริสเตียน กรัม ได้บรรยายวิธีการย้อมสีเช่นนี้เอาไว้ใน ค.ศ. 1884 ว่าสามารถแยกแบคทีเรียออกได้เป็น 2 กลุ่ม แสดงให้เห็นว่าปอดบวมอาจมีเชื้อก่อโรคมากกว่าหนึ่งชนิด[28]
เซอร์วิลเลียม ออสเลอร์ ผู้เป็นบิดาของการแพทย์สมัยใหม่ รู้ซึ้งดีถึงความตายและความพิการที่เกิดจากปอดบวม จนขนานนามปอดบวมว่าเป็น "นายแห่งสาเหตุการเสียชีวิตของมนุษย์" ("captain of the men of death") เอาไว้ใน ค.ศ.1918 จากการที่ในช่วงนั้นอัตราการเสียชีวิตของปอดบวมมีมากเหนือกว่าวัณโรค วลีนี้เสนอใช้ครั้งแรกโดยจอห์น บันแยน ในการอ้างถึงวัณโรค[29][30] นอกจากนี้ออสเลอร์ยังบรรยายว่าปอดบวมเป็น "เพื่อนของคนแก่" ("the old men's friend") ด้วยเห็นว่าปอดบวมทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วและไม่เจ็บปวด ในขณะที่ช่วงเวลานั้นยังมีสาเหตุการเสียชีวิตอื่น ๆ ที่เจ็บปวดทรมานและใช้เวลานานกว่ามาก[31]
ในศตวรรษที่ 19 มีการพัฒนาทางการแพทย์มากมายที่ทำให้ผลการรักษาปอดบวมดีขึ้นอย่างมาก จากการประดิษฐ์เพนนิซิลลินและยาปฏิชีวนะอื่นๆ เทคนิกการผ่าตัดสมัยใหม่ และการพัฒนาเวชบำบัดวิกฤตในศตวรรษที่ 20 อัตราการตายของปอดบวมในประเทศพัฒนาแล้วที่เคยสูงถึง 30 % ได้ลดลงอย่างมาก ค.ศ. 1988 เริ่มมีโครงการเสริมภูมิคุ้มกัน Haemophilus influenzae ชนิด B แก่ทารก ทำให้จำนวนผู้ป่วยปอดบวมยิ่งลดลงไปอีก[32] การให้วัคซีนต่อ Streptococcus pneumoniae ในผู้ใหญ่ที่เริ่มใน ค.ศ. 1977 และในเด็กที่เริ่มใน ค.ศ. 2000 ก็ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยลดลงในลักษณะเดียวกัน[33]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.