Loading AI tools
ภาพยนตร์เรื่องแรกของคนไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โชคสองชั้น เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก ที่สร้างและผลิตโดยคนไทยทั้งหมด เป็นภาพยนตร์เงียบ ถ่ายทำด้วยฟิล์มขาว-ดำขนาด 35 มม. ผลิตโดย กรุงเทพ ภาพยนตร์ บริษัท (ต่อมา คือ บริษัท ภาพยนตร์ศรีกรุง ของมานิต วสุวัต ร่วมกับคณะนักหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ และศรีกรุง
โชคสองชั้น | |
---|---|
กำกับ | ขุนอนุรักษ์รัถการ (เปล่ง สุขวิริยะ) |
เขียนบท | หลวงบุณยมานพพานิช (อรุณ บุณยมานพ) |
อำนวยการสร้าง | มานิต วสุวัต |
นักแสดงนำ | หม่อมหลวงสุดจิตร์ อิศรางกูร มานพ ประภารักษ์ อุทัย อินทรวงษ์ มงคล สุมนนัฏ สำราญ วานิช อาเธอร์ ม่วงดี |
กำกับภาพ | หลวงกลการเจนจิต |
ตัดต่อ | กระเศียร วสุวัต |
ผู้จัดจำหน่าย | กรุงเทพ ภาพยนตร์ บริษัท |
วันฉาย | 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 |
ความยาว | 90 นาที (ปัจจุบันเหลือ 1 นาที) |
ภาษา | ไทย |
ภาพยนตร์ โชคสองชั้น เข้าฉายครั้งแรกเมื่อ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 ที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร[1] มีจำนวนผู้ชมสูงสุด 4 คืน กับ 1 วัน เท่ากับ 12,130 คน ทำลายสถิติเมื่อสี่ปีก่อนหน้า ของภาพยนตร์เรื่อง นางสาวสุวรรณ ปัจจุบันฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความเสียหายจากความเสื่อมสภาพ โดยหอสมุดแห่งชาติได้ค้นพบฟิล์มและพิมพ์สำเนาใหม่เอาไว้ได้เพียง 42 ฟุต คิดเป็นภาพนิ่งทั้งหมด 1,319 ภาพ รวมความยาวประมาณ 1 นาที[2]
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2555 เนื่องในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทยของหอภาพยนตร์ ขณะมีอายุเก่าแก่ที่สุด 85 ปี ในบรรดา 25 เรื่อง [3]
ในช่วงที่นายมานิต วสุวัติ เจ้าของหนังสือพิมพ์ศรีกรุง และเป็นเพื่อนสนิทด้วย ออกหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่ชื่อว่า Liberty แสงทองได้รับคำชวนให้ร่วมงานเขียนในค่ายหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2469 หลวงสุนทรอัศวราช ข้าราชการถูกดุลย์กับคณะ กำลังก่อตั้งบริษัทถ่ายภาพยนตร์ไทยและประกาศสร้างหนังไทยเรื่องแรก แต่ประสบปัญหาระหว่างการดำเนินการ หลวงกลการเจนจิต หัวหน้ากองภาพยนตร์เผยแพร่ข่าว กรมรถไฟที่หลวงสุนทรอัศวราชติดต่อวางตัวเพื่อจ้างให้เป็นทีมช่างถ่ายภาพยนตร์ที่รอความคืบหน้า หมดความอดทน จึงปรึกษากับคณะพี่น้องวสุวัตที่ประสงค์จะสร้างภาพยนตร์ไทย จึงรวมคนและเตรียมงานสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้
ก่อนการสร้างภาพยนตร์ พี่น้องวสุวัติเข้าปรึกษากับนายเซียวซองอ๊วน สีบุญเรือง ผู้จัดการใหญ่โรงภาพยนตร์ เพื่อตกลงความร่วมมือในการก่อตั้งบริษัทภาพยนตร์ขึ้นมา ชื่อ บริษัท กรุงเทพฯ ภาพยนตร์ มีทีมงานอ่าง หลวงกลการเจนจิต และนายกระเศียร วสุวัต แห่งกรมรถไฟหลวง รวมทั้งขุนอนุรักษ์รัถการ (เปล่ง สุขวิริยะ) ข้าราชการกรมรถไฟหลวง ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นเลขานุการของกรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้คอยตามเสด็จไปดูงานในต่างประเทศ รวมถึงการดูงานกิจการโรงถ่ายภาพยนตร์ในฮอลลีวูดมาแล้วด้วย ซึ่งมารับเป็นผู้กำกับการแสดง และได้แสงทอง หรือ หลวงบุณยมานพพานิช เป็นเจ้าของงานประพันธ์[4]
นายกมล มาโนช (แสดงโดยมานพ ประภารักษ์) พระเอกของเรื่อง เป็นนายอำเภอหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้รับมอบหมายให้ลงมาสืบจับผู้ร้ายคนหนึ่งซึ่งซ่อนตัวอยู่ในกรุงเทพ นายกมลเข้ามาพักอยู่ที่บ้านพระยาพิชัย (แสดงโดย อุทัย อินทร์วงศ์) และมีหลานชื่อว่า นางสาววลี ลาวัณยลักษณ์ (แสดงโดย หม่อมหลวงสุดจิตตร์ อิศรางกูร) ซึ่งทั้งสองได้พบรักกันโดยเร็ว แต่นายวิง ธงสี (แสดงโดย มงคล สุมนนัฏ) ซึ่งหมายปองนางสาววลีอยู่แล้วและชอบไปมาหาสู่พระยาพิชัยเป็นเนือง ๆ และนายวิงคนนี้ก็คือคนร้ายที่นายกมลกำลังสืบจับอยู่นั่นเอง นายวิงไหวตัวทันเรื่องที่นายกมลตามคนร้าย จากนั้นนายวิงก็วางแผนร้ายโดยส่งพรรคพวกลูกสมุนเข้ามาทำร้ายนายกมล แต่นายกมลมีความชำนาญในการระวังภัยจากโจรจึงต่อกรขัดขวางกำลังได้ จนนายวิงและพรรคพวกต้องหลบหนีไป นายกมลไล่ตามจับแต่เกิดหลงทาง
นายวิงได้วกกลับมาที่บ้านพระยาพิชัยและจับนางสาววลีไป แต่นายกมลมีเชาวน์ที่ดี เข้าใจว่าเป็นแผนลวง จึงวกกลับบ้านพระยาพิชัยและได้พบนายวิง นายกมลจึงตามล่านายวิงไปจนสุดทางและเกิดการต่อสู้ขึ้น จนกระทั่งตำรวจที่พระยาพิชัยโทรไปแจ้งมาสมทบร่วมจับนายวิงและสมุนได้ทันเวลา นายวิงจึงถูกตำรวจจับเข้าตะราง ส่วนนายกมลมีโชคสองชั้น นอกจากจะจับผู้ร้ายได้แล้วยังได้นางสาววลีมาเป็นภรรยาอีกด้วย
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.