เน่ย์เก๋อ (จีน: 內閣; พินอิน: Nèigé; อังกฤษ: Grand Secretariat) เป็นองค์กรในระบบราชการของจักรวรรดิจีนช่วงราชวงศ์หมิง ซึ่งโดยนิตินัยแล้วเป็นหน่วยประสานงาน แต่โดยพฤตินัยเป็นสถาบันสูงสุดในการปกครอง องค์กรนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อจักรพรรดิหงอู่ (洪武帝) ทรงยกเลิกตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี (丞相) ใน ค.ศ. 1380 แล้วองค์กรนี้ก็ค่อย ๆ พัฒนาเป็นหน่วยประสานงานที่มีประสิทธิภาพ มีสถานะเหนือหกกระทรวง (六部)[1] สมาชิกของเน่ย์เก๋อเรียกว่า ต้าเซฺว่ชื่อ (大學士; Grand Secretary) ซึ่งกำหนดให้มีหกตำแหน่ง แต่ไม่เคยมีผู้ดำรงตำแหน่งครบ[2] สมาชิกอาวุโสสุดเรียกกันทั่วไปว่า โฉวฝู่ (首輔; Senior Grand Secretary) โดยนิตินัยแล้วสมาชิกทั้งหมดมักเป็นข้าราชการชั้นกลาง ตำแหน่งต่ำกว่าเสนาบดีว่าการกระทรวง แต่เพราะมีหน้าที่กลั่นกรองเอกสารที่หน่วยงานราชการถวายต่อพระมหากษัตริย์ ทั้งมีอำนาจร่างราชหัตถเลขา สมาชิกบางคนของเน่ย์เก๋อจึงอาจครอบงำการปกครองไว้ได้ทั้งสิ้น ประหนึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีโดยพฤตินัย[3] เป็นเหตุให้ศัพท์ภาษาจีนว่า "เน่ย์เก๋อ" นี้ปัจจุบันใช้เรียกคณะรัฐมนตรี
พัฒนาการ
ต้นราชวงศ์หมิง การปกครองนั้นใช้ตามระบอบของราชวงศ์หยวน (大元) ที่ตั้งสำนักอัครมหาเสนาบดีไว้ประสานระหว่างกระทรวงหลักทั้งหก สำนักดังกล่าวมีหัวหน้าสองคน เรียกว่า "อัครมหาเสนาบดีทั้งสอง" คนหนึ่งเรียก "ฝ่ายซ้าย" อีกคนหนึ่งเรียก "ฝ่ายขวา" ทำหน้าที่ผู้นำหน่วยงานราชการทั่วแผ่นดิน[4] แต่จักรพรรดิหงอู่ทรงเกรงว่า การที่อำนาจการปกครองกระจุกอยู่ ณ อัครมหาเสนาบดีทั้งสอง จะเป็นภัยร้ายแรงต่อราชบัลลังก์ ฉะนั้น ใน ค.ศ. 1380 จึงรับสั่งให้ประหารอัครมหาเสนาบดีหู เหวย์ยง (胡惟庸) ด้วยข้อหากบฏ แล้วทรงยุบสำนักกับตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี โดยให้เจ้ากระทรวงทั้งหกขึ้นตรงต่อพระองค์[5]
แต่เพราะทรงต้องอาศัยความช่วยเหลือในทางธุรการ ใน ค.ศ. 1382 จักรพรรดิหงอู่จึงทรงเลือกราชบัณฑิตจากสำนักฮั่นหลิน (翰林院) มาเป็นต้าเซฺว่ชื่อ เพื่อถวายความช่วยเหลือในงานด้านเอกสาร[2] โดยทรงส่งเขาเหล่านั้นไปประจำหน้าที่ยังสำนักงานต่าง ๆ ภายในวัง สำนักงานดังกล่าวจึงเรียกรวมกันว่า "เน่ย์เก๋อ" (ศาลาใน) ชื่อนี้ปรากฏการใช้งานตั้งแต่รัชสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ (永樂帝)[6]
นับแต่รัชกาลจักรพรรดิเซฺวียนเต๋อ (宣德帝) เป็นต้นมา เน่ย์เก๋อเริ่มมีอำนาจเด็ดขาดมากขึ้น ในช่วงนี้ ฎีกาทั้งหลายที่ถวายต่อพระมหากษัตริย์จะต้องผ่านเน่ย์เก๋อก่อน เมื่อได้ฎีกาแล้ว เน่ย์เก๋อจะกลั่นกรอง แล้วลงมติตามสมควร ก่อนจะร่างหมายรับสั่งติดหน้าปกฎีกา แล้วถวายต่อพระมหากษัตริย์เพื่อทรงวินิจฉัยเป็นขั้นตอนสุดท้าย กระบวนการนี้เรียกว่า "ร่างหมาย" (票擬) ซึ่งทำให้เน่ย์เก๋อกลายเป็นสถาบันชั้นสูงสุดในการจัดทำนโยบายเหนือกระทรวงทั้งหกไปโดยปริยาย ทั้งส่งผลให้สมาชิกอาวุโสของเน่ย์เก๋อที่เรียก "โฉวฝู่" นั้นมีอำนาจเสมอเหมือนอัครมหาเสนาบดีแต่เก่าก่อน[7]
ตำแหน่ง
ในราชวงศ์หมิง ข้าราชการพลเรือนแบ่งเป็น 9 ชั้น แต่ละชั้นแบ่งเป็น 2 ขั้น: สูงสุด คือ ชั้น 1 ขั้น 1, ต่ำสุด คือ ชั้น 9 ขั้น 2[8] เช่น ขุนนางในกลุ่มซันกง (三公) อยู่ชั้น 1 ขั้น 1[9] ซึ่งเท่าเทียมอัครมหาเสนาบดี[10]
ตามระบบนี้ สมาชิกเน่ย์เก๋ออยู่เพียงชั้น 5 ขั้น 1 ซึ่งนับว่าด้อยกว่าเสนาบดีที่ภายหลังยุบตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีแล้วมียศอยู่ตั้งแต่ชั้น 3 ขั้น 1 ไปจนถึงชั้น 2 ขั้น 1 ทว่า สมาชิกเน่ย์ก๋อมักควบตำแหน่งสูงอย่างอื่นด้วย เช่น เป็นเสนาบดีหรือรองเสนาบดีในกลุ่มจิ่วชิง (九卿) หรือแม้กระทั่งเป็นไท่ชือ (太師) ซึ่งเป็นหนึ่งในซันกง[11] เพราะฉะนั้น ตลอดสมัยราชวงศ์หมิง สมาชิกเน่ย์เก๋อจึงมักมีอาวุโสยิ่งกว่าข้าราชการพลเรือนอื่นทั้งสิ้นทั้งปวง[11]
ดูเพิ่ม
- จฺวินจีชู่ (軍機處), หน่วยงานสูงสุดในการกำหนดนโยบายแผ่นดินสมัยราชวงศ์ชิง
- ซันกง (三公), ขุนนางชั้นสูงสุดสามตำแหน่งในการปกครองโบราณ
- จิ่วชิง (九卿), ขุนนางผู้ใหญ่เก้าคนซึ่งรองจากซันกง
- ยฺวี่ฉื่อไถ (御史台), ฝ่ายตรวจการ
- จงชูเฉิ่ง (中書省), สำนักตรวจฎีกากลาง
อ้างอิง
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.